ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 9)

24
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 9 เสนอว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี มีการบิดเบือนใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การแต่งเรื่องของพล.ท.ประยูรฯ เกี่ยวกับพระราชกระแสถามพระยาทรงฯ และคํากราบบังคมทูลของพระยาทรงฯ และการสําแดงฤทธิ์ของพระยาทรงฯ ในพระราชฐาน 2. ในหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งขอทอดพระเนตรธรรมนูญฯ อีกครั้งหนึ่ง 3. พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้เองว่าในหลวงทรงอ่านธรรมนูญอย่างพินิจพิเคราะห์ 4. คําแถลงของพระยามโนปกรณ์แสดงว่าในหลวงมิได้ทรงปรารถนารัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ และ 5. พระยาทรงฯ รักษาเกียรติชายชาติทหาร ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ได้อรรถาธิบายถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องและหักล้างการบิดเบือนไว้ได้อย่างละเอียด 
  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ผู้เขียนแต่อย่างใด

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ข้อ 9.

 

ข้อ 9.

การแต่งเรื่องของพล.ท.ประยูรฯ เกี่ยวกับพระราชกระแสถามพระยาทรงฯ และ

คํากราบบังคมทูลของพระยาทรงฯ และการสําแดงฤทธิ์ของพระยาทรงฯ ในพระราชฐาน

 

ข้อสังเกต

เอกสารหลักฐานปรากฏชัดแจ้งในข้อ 8.1, 8.2. ว่าพระยาทรงสุรเดชมิได้ไปเฝ้าในหลวงวันนั้น ฉนั้นข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ที่อ้างถึงพระยาทรงดังกล่าวข้างบนนั้นจึงเกิดขึ้นไม่ได้

แต่นักศึกษาหลายคนแจ้งมายังข้าพเจ้า(ปรีดี)ว่ายังมีบุคคลที่หลงเชื่อว่าการแต่งเรื่องนั้นของพล.ท.ประยูรฯ เป็นสารคดี ฉนั้นนักศึกษาจึงขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงว่า ถ้าหากสมมติพระยาทรงฯ ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้นเหตุการณ์ดังที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในวรรค 2 แห่งข้อความภายใต้หัวเรื่อง “การนํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ” นั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงตามที่นักศึกษาต้องการทราบโดยสมมติว่าพระยาทรงฯ ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้นตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ดังต่อไปนี้

และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ นำรัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย

ได้ทรงพิจารณารู้สึกพระองค์สนใจทรงอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์ ครั้นแล้วรู้สึกว่าทรงอ้ำอึ้งในข้อความบางประการ ซึ่งในที่สุดก็ทรงรับสั่งถามพระยาทรงสุรเดชว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง พระยาทรงสุรเดชก็กราบทูลว่ายังมิได้อ่าน แล้วหันมาถามข้าพเจ้าว่า คุณประยูรได้อ่านมาบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่ายังไม่ได้อ่านเพราะไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะ แต่ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชได้ประชุมกําชับหลวงประดิษฐ์ฯ ไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้ว ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เรื่องอะไรกันจึงต้องใช้คําแทนเสนาบดีว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย แบบคอมมิวนิสต์

พระยาทรงสุรเดชรู้สึกตะลึงอึ้งอยู่ครู่หนึ่งแล้วลุกขึ้นถวายคํานับว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพผิด ข้าพระพุทธเจ้ามิได้อ่านมาก่อน ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง น้ำพระเนตรขุ่น รู้สึกอัดอั้นพระทัยเป็นอย่างยิ่ง แล้วรับสั่งว่าถ้าพระยาทรงสุรเดชรับรองว่าจะไปแก้กันใหม่ ฉันก็ยอมเชื่อพระยาทรงฯ แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่ยอมเซ็น ขอให้เป็นวันที่ 27 แล้วก็เสด็จขึ้น พวกเราทุกคนต่างก็ตะลึงพรึงเพริด ทยอยกันออกไปยืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงฯ ชี้หน้าหลวงประดิษฐ์ฯ ว่า “คุณหลวงทําป่นปี้ ไม่ยอมทําตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทําอะไรนอกเรื่อง”

พระยาทรงฯ ชี้หน้าและพูดอย่างเคืองแค้น แล้วรีบเดินไปขึ้นรถ เป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่าง พระยาทรงฯ กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้แตกสลายไปอย่างไม่มีทางจะประสานกันได้

ข้าพเจ้า(ปรีดี) ขอชี้แจงว่า แม้จะสมมติว่าพระยาทรงฯ ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้นก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่พล.ท.ประยูร แต่งไว้นั้นไม่อาจเป็นไปได้ เพราะเหตุดังต่อไปนี้

 

9.1.

ในหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งขอทอดพระเนตรธรรมนูญฯ อีกครั้งหนึ่ง

เอกสารหลักฐานของพระยาฤทธิ์ฯ ก็ดี และบันทึกเจ้าหน้าที่ราชสํานักซึ่งหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพเดลิเมล์” ฉบับ 28 มิถุนายน 2475 ได้นํามาลงพิมพ์ไว้นั้นก็ดี ปรากฏชัดว่า

“ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนขึ้นอ่านพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับฟัง และพะยักพระพักตร์ เป็นคราว ๆ ด้วยความพอพระราชหฤทัยยิ่ง เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่านถวายสิ้นกระแสร์ความแล้วจึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน พระบรมนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดํารัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้มีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยังไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตร์เองอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้นแล้วเวลา 12.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้น

ครั้นเวลา 12.40 นาฬิกา พระยาอิศราธิราชเสวีได้นําพระราชกระแสและพระบรมราชโองการมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้คําตอบในวันที่ 27 เดือนนี้เวลา 17 นาฬิกาตามทางราชการ”

ฉนั้นเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้นั้นจึงไม่เป็นสารคดี

 

9.2.

พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้เองว่าในหลวงทรงอ่านธรรมนูญอย่างพินิจพิเคราะห์

ถ้าสมมติว่าความจริงเป็นสิ่งที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า “และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ นำรัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงพิจารณารู้สึกพระองค์สนใจทรงอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์” พระองค์ก็ต้องทอดพระเนตรเห็นธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ถวายมีความดังต่อไปนี้

มาตรา 31 ให้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคําสั่งหรือระเบียบการของคณะกรรมการราษฎร หรือกระทําไปโดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทําได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 35 การตั้งการถอนตําแหน่งเสนาบดี ย่อมเป็นพระราชอํานาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจนี้จะทรงใช้แต่โดยคําแนะนําของคณะกรรมการราษฎร

 

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะรับสั่งแก่พระยาทรงและแก่รองอํามาตย์เอกประ อกประยูรฯ ว่า “เรื่องอะไร มันจึงต้องใช้คําแทนเสนาบดีว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย แบบคอมมิวนิสต์”

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอให้ข้อสังเกตแก่บางท่านที่พอใจนวนิยายที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้เพื่อใส่ความปรีดีก็ตาม แต่ท่านเหล่านั้นถ้าจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ควรพิจารณาอีกด้านหนึ่งว่า การที่พล.ท.ประยูรอ้างเอาเองว่าในหลวงพระองค์นั้นรับสั่ง แต่ความจริงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะรับสั่งเช่นนั้น จะเป็นการทําให้ในหลวงพระองค์นั้นเสื่อมเสียพระเกียรติยศหรือไม่ เพราะถ้าท่านสนับสนุนว่าคําอ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นสารคดีแล้ว ผู้อ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ จํานวนหนึ่งที่หลงเชื่อคำอ้างของท่านนั้นว่าเป็นความจริงแล้ว คนอ่านหนังสือนั้นก็จะเข้าใจผิดในหลวงพระองค์นั้นว่าพระองค์ทรงอ่านธรรมนูญอย่างพินิจพิเคราะห์ย่อมทอดพระเนตรเห็นมาตรา 31 และ 35 แห่งธรรมนูญนั้นแล้ว แต่พระองค์ยังรับสั่งตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้

 

9.3.

คําแถลงของพระยามโนปกรณ์แสดงว่าในหลวงมิได้ทรงปรารถนารัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ

คําแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ฉบับ 10 ธันวาคม 2475) ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2475 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

อนึ่งข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่า ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทําการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมกันทําข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความกราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสกล่าวถึงข้อความในรัฐธรรมนูญนี้บ้างเพียงเป็นข้อความนำความคิดของท่านทั้งหลายที่จะไปพิจารณาและจะได้มาโต้เถียงกันในวันหน้า

ความเบื้องต้นอนุกรรมการได้ตรึกตรองอยู่หนักหนาคือรัฐธรรมนูญของเรานี้ควรจะบัญญัติให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาล่าง กับสถาบันอีกสภาหนึ่ง หรือควรจะมีสภาเดียว เมื่อได้ตรึกตรองโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า เราจะตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ไม่มีประเพณีที่จะบังคับเรา การมีสภาเดียวนั้นกิจการดําเนิรได้รวดเร็ว การมีสองสภานั้นอาจต่างกันชักช้าโตงเตง และกล่าวว่าที่ข้าพเจ้า ได้สังเกตและได้พบได้ยินมาบางประเทศที่มี 2 สภา กิจการเดินช้านัก แต่ว่ามีบางประเทศที่ต้องมี 2 สภาเพราะเป็นประเพณีบังคับ แต่ในรัฐธรรมนูญใหญ่ที่เกิดขึ้นสมัยเร็ว ๆ นี้มักจะมีแต่สภาเดียว เมื่อตกลงใจดังนี้จึงได้ดําเนิรการในทางให้มีสภาเดียว อันเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว

ท่านที่ปรารถนาสัจจะย่อมใช้สามัญสํานึกวินิจฉัยได้โดยไม่ยากว่า เอกสารหลักฐานดังกล่าวนั้นเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้มีพระบรมราชประสงค์ให้สยามมีรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษตามที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างไว้เอง หากเป็นความประสงค์ของ พล.ท.ประยูรฯ ที่สอดคล้องกับความดําริของจอมพลพิบูลฯ เมื่อ พ.ศ. 2484 ซึ่งท่านผู้นี้ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิมโดยให้มีฐานันดรศักดินาเทียบได้กับฐานันดรเจ้าศักดินาอังกฤษ แต่ข้อเสนอของจอมพลพิบูลฯ ตกไปเพราะถูกคัดค้านจากรัฐมนตรีส่วนมากที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร

 

9.4.

พระยาทรงฯ รักษาเกียรติชายชาติทหาร

พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงอ่าน(ธรรมนูญฯ) ด้วยความพินิจพิเคราะห์ ครั้นแล้วรู้สึกว่าทรงอ้ำอึ้งในข้อความบางประการ ซึ่งในที่สุดก็ทรงรับสั่งถามพระยาทรงสุรเดชว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง พระยาทรงสุรเดชก็กราบทูลว่ายังมิได้อ่าน” นั้น

(1)

ท่านที่ปรารถนาสัจจะก็ใช้สามัญสํานึกวินิจฉัยได้ไม่ยากว่า พระยาทรงฯ ซึ่งอยู่ในระดับหัวหน้าคณะราษฎร รองจากพระยาพหลฯ และเป็น “ชายชาติทหาร” ที่รักษาเกียรติของทหารที่ดีนั้น ถ้าไปเฝ้าในหลวงในครั้งนั้นจะกล้าปฏิเสธต่อในหลวงว่าพระยาทรงฯ มิได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมาก่อนซึ่งจะเป็นการเสียเกียรติแก่พระยาทรงฯ เองได้หรือ เพราะพระยาทรงฯ ก็ต้องทราบก่อนแล้วว่าการไปเฝ้าในหลวงในวันนั้นก็เพื่อขอถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินให้ทรงพิจารณาพระราชทาน เหตุใดพระยาทรงฯ จึงไม่อ่านร่างธรรมนูญที่จะทูลเกล้าฯ ถวายนั้นเสียก่อน และสมมติว่าพระยาทรงฯ ปฏิเสธต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นนอกจากจะทําให้พระยาทรงฯ เสียหายแก่ตนเองแล้ว ก็เป็นการแสดงว่าพระยาทรงฯ ยอมให้ข้าพเจ้าจูงท่านไปได้ง่าย ๆ และเมื่อเห็นว่าในหลวงไม่พอพระทัยก็แสดงว่าพระยาทรงฯ ปลีกเอาตัวรอด ซึ่งเป็นการผิดวิสัยพระยาทรงฯ ที่จะทําได้

(2)

ถ้าหากสมมติว่าพระยาทรงฯ ได้ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้นและสมมติว่าพระยาทรงฯ กล้าปฏิเสธต่อในหลวงตามที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างไว้ ข้าพเจ้าของให้ท่านผู้ปรารถนาสัจจะใช้สามัญสำนึกว่า เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่ธรรมนูญซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานในวันนั้นผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎร 3 คน คือ พระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, จะไม่เห็นชอบด้วยก่อนเข้าเฝ้าในหลวงพระองค์นั้น

อันที่จริงธรรมนูญฉบับที่ทูลเกล้าถวายฯ ในวันนั้น พระยาพหลฯ ได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเชิญพระยามโนปกรณ์ฯ และพระยานิติศาสตร์ฯ มาช่วยพิจารณาตั้งแต่คืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 แล้วได้นำเสนอพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, เห็นชอบด้วยก่อนแล้วที่นำมาถวายในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ถ้ากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังเก็บแฟ้มธรรมนูญฉบับนั้น ก็จะเห็นลายมือของพระยามโนฯ ที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูฯ นั้น 

(3)

ถ้าหากสมมติว่าพระยาทรงฯ กราบทูลในหลวงตามที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ ข้าพเจ้าก็จะไม่นิ่งเฉยให้พระยาทรงฯ กราบทูลเอาตัวรอดอย่างที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ เพราะข้าพเจ้ามิใช่ข้าทาสของพระยาทรงฯ ที่จะยอมให้พระยาทรงฯ ทําแก่ข้าพเจ้าได้ตามชอบใจ ข้าพเจ้าก็จะกราบทูลในหลวงในวันนั้นว่าพระยาทรงฯ, พระยาพหลฯ, พระยาฤทธิ์ฯ เห็นชอบด้วยกันในร่างธรรมนูญฯ นั้นก่อนที่จะนํามาทูลเกล้าฯ ถวาย

(4)

การที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างเรื่องที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับพระยาทรงฯ ดังกล่าวนั้นเพื่ออาศัยพระยาทรงฯ ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นพยาน คำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ อีกหลายแห่งนั้น ซึ่งนอกจากผิดความจริงหลายประการแล้ว ยังจะทําให้คนเข้าใจผิดถึงเกียรติของพระยาทรงฯ อีกด้วย

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :