ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 8)

17
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ผู้เขียนแต่อย่างใด
  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 8 เสนอว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี บิดเบือนในประเด็นสำคัญคือ มีการแต่งเรื่องว่าในหลวงทรงรับสั่งถึงการไม่มีพระราชโอรส ฯลฯ ในวันที่ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้า
  • บทความนี้นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 3 ชิ้นเพื่อนำมาหักล้างข้อเท็จในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ ได้แก่ พระราชหัตถเลขาลงวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร, บันทึกเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 และหนังสือกราบบังคมทูลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2475 และคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

8.3

พล.ท. ประยูรฯ แต่งเรื่องว่าในหลวงทรงรับสั่งถึงการไม่มีพระราชโอรส ฯลฯ ในวันที่ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้า

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้ทรงต้อนรับด้วยพระอาการอันปกติ ครั้นแล้วได้ทรงปรารภว่าพระองค์ไม่เคยคิดที่จะมาได้เป็นพระมหากษัตริย์เพราะเป็นราชโอรสอยู่ในอันดับที่ 4 คงจะไม่มีโอกาสจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงไม่ได้เตรียมที่จะมาขึ้นครองราชย์พระองค์จึงมีพระราชประสงค์เจตจํานงอันแรงกล้าอย่างจริงใจที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอันเป็นรากฐานเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบไป ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์ของพระราชวงศ์จักรีและของพระองค์ด้วย..

นักศึกษาได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ดังต่อไปนี้

(1) ตามบันทึกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่จดไว้ซึ่งหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพฯ เดลิเมล์” ได้ลงพิมพ์ดังกล่าวในประการที่ 2 แล้วนั้นปรากฏว่า “เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่าน(ธรรมนูญ) ถวายสิ้นกระแสความแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดํารัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นนี้มีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยังไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตรเองอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้นแล้ว เวลา 12.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งแก่ผู้แทนคณะราษฎรที่เข้าเฝ้าครั้งนั้นเพียงเท่าที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานนั้น พระองค์มิได้ทรงรับสั่งอย่างอื่นตามที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งเรื่องนั้น

(2) พระราชปรารภเรื่องไม่มีพระราชโอรสนั้นเป็นเรื่องกระเซ็นกระสายที่บางคนเก็บเอามาผสมผเสเสริมแต่งจากเอกสารทางราชการ ดังต่อไปนี้

(ก) พระราชหัตถเลขาลงวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความเต็มดังต่อไปนี้

 

สวนไกลกังวล หัวหิน

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

ด้วยได้ทราบความตามสําเนาหนังสือที่ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธร คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่า ได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมืองและความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทํานองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิดนานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความยากลําบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์ตระกูลสกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถ ที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ

(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.

 

หมายเหตุ

ท่านผู้ปรารถนาสัจจะย่อมเห็นว่าพระกระแสรับสั่งนั้นมิใช่พระราชทานแก่ผู้แทนคณะราษฎรในวันขอเฝ้าเพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

(ข) บันทึกเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 (คือภายหลัง 3 วัน ต่อจากวันพระราชทานธรรมนูญฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475) มีความดังต่อไปนี้

 

บันทึกเจ้าพระยามหิธร

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.15

โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าที่วังสุโขทัย มีพระราชดํารัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อ และบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติทรงนึกว่าถูกเลือกทําไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ ทําอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง…

ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ INTERVIEW ว่าจะได้ให้ CONSTITUTION เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ปรึกษานายสตีเวนส์ นายสตีเวนต์กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่งก็ INFLUENCE ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารฯ และนายสตีเวนส์ขัดข้อง เสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร 150 ปีแล้ว เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วยที่ประชุมก็ขัดข้องว่ากำลังเป็นเวลาโภคกิจตกต่ํา ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดํารัสที่ให้มี PRIME MINISTRE ให้มีสภา INTERPELLATE เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าตละอย่าง ๆ จะเป็นไปได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นได้ว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ได้ทําการมานานทั้ง 20 ปีก่อนพระองค์

 

(ค) หนังสือกราบบังคมทูลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2475 และคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรลงวันเดียวกันนั้น มีความดังต่อไปนี้

 

หนังสือกราบบังคมทูลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2475

สภาผู้แทนราษฎร พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2475

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยเมื่อวันที่ 1 นี้ คณะราษฎรได้ออกคําแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง แถลงความถึงพระทัยดีของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อคณะราษฎร และได้โฆษณาคำแถลงการณ์นั้นให้ราษฎรได้ทราบทั่วกันแล้ว ทั้งโดยทางวิทยุกระจายเสียงและให้หนังสือพิมพ์นําออกประกาศ จึงขอพระราชทานถวายสําเนาคําแถลงการณ์นั้นมาเพื่อทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ประธานคณะกรรมการราษฎร

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร

เนื่องจากคณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทําของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอํานาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดําริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่น ๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทําก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยใหม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อํานาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน มาได้สมรู้ร่วมคิดได้ไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎรโดยเป็นประมูลของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร

ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2475

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ
ต่อหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :