ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดีกับศาลปกครอง* (1)

18
พฤศจิกายน
2563

บทนำ

ท่านปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านริมคลองเมืองฝั่งเหนือ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า (อำเภอพระนครศรีอยุธยา) จังหวัดพระนครศรีนครอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คนของนายเสียงและนางลูกจันทน์ ซึ่งมีอาชีพทำนา  ท่านปรีดีเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกเมื่ออายุ 5 ขวบ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอีก 6 เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนาใน พ.ศ. 2460 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้เมื่อ พ.ศ. 2462 ขณะมีอายุได้ 19 ปี

ในระหว่าง พ.ศ. 2463-2469 ได้รับทุนนักเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับปริญญาแห่งรัฐเป็น “นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต” (Docteur en Droit) และ ได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplome d'Etudes Superieures d'Ecomomie Politique) จากมหาวิทยาลัยปารีส

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวางรากฐานการศึกษาวิชากฎหมายปกครองและแนวคิดของท่านปรีดีเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองในเวลาต่อมา อันเป็นการสานต่อพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในเรื่องสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งได้ทรงริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417

หลังจากจบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2470 ท่านเริ่มรับราชการในตําแหน่งผู้พิพากษาชั้น 6 กระทรวงยุติธรรม ในระหว่างที่ทํางานอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ท่านได้รวบรวมกฎหมายไทยซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจาย ให้มารวมเป็นเล่มเดียวใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” ต่อมาได้เข้าทํางานในตําแหน่งเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (พ.ศ. 2470) และในปีเดียวกันนี้ได้เป็นผู้สอนกฎหมาย ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสอนวิชาห้างหุ้นส่วน บริษัท และสมาคม ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองอํามาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (พ.ศ. 2471) และเลื่อนเป็นอํามาตย์ตรีในปีต่อมา

ใน พ.ศ. 2474 ท่านได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองและวิชากฎหมายปกครอง ซึ่งนับเป็นผู้สอนคนแรก  ลูกศิษย์ของท่านในช่วงนั้น ได้แก่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์  นายจิตติ ติงศภัทิย์  นายดิเรก ชัยนาม  นายเสริม วินิจฉัยกุล  นายเสวต เปี่ยมพงษ์ศานต์  นายไพโรจน์ ชัยนาม  นายจินดา ชัยรัตน์  และนายประยูร กาญจนดุล เป็นต้น[1]

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านปรีดีได้ร่วมกับข้าราชการ ทหาร และ พลเรือนในนามของ “คณะราษฎร” ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ท่านเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดวางรูปแบบการปกครองระบอบใหม่ และเนื่องจากเป็นคนไทยคนแรกที่สําเร็จดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่านจึงให้ความสําคัญกับงานด้านนิติบัญญัติและการปกครองเป็นพิเศษ

นอกจากจะเป็นผู้ร่างแถลงการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว ท่านยังเป็นผู้หนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ที่มีเนื้อหาจัดรูปแบบการปกครองออกเป็นส่วนกลาง ส่วน ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น[2]  และพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเป็นองค์กรที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลและให้มีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านปรีดีได้ดํารงตําแหน่งสําคัญ ๆ เช่น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (คนแรก) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการราษฎรให้เป็นผู้ร่างหลักการเศรษฐกิจประจําชาติ (เค้าโครงเศรษฐกิจ)  ในทางการเมืองท่านดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้ดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการ “เสรีไทย” เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ถึงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489

ต่อมาเกิดรัฐประหารซึ่งส่งผลกระทบต่อท่านปรีดีอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ ท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปพํานักอยู่ที่ประเทศจีน  และใน พ.ศ. 2513 ได้ย้ายไปพํานักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

การวางรากฐานการศึกษากฎหมายปกครองและการจัดตั้งศาลปกครอง

หากจะกล่าวว่า ท่านปรีดีผู้วางรากฐานการศึกษากฎหมายปกครองและการจัดตั้งศาลปกครองของไทย ก็คงจะไม่เกินความเป็นจริง เพราะท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องดังกล่าวและดําเนินการต่าง ๆ เพื่อนําความคิดนั้นมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายปกครอง หรือเป็นผู้ผลักดันให้จัดตั้งองค์กรที่คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้มีอํานาจชี้ขาดข้อพิพาททางปกครอง ซึ่งทั้งสองบทบาทนี้มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน

บทบาทของผู้วางรากฐานการศึกษากฎหมายปกครอง เริ่มจากการที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเปิดสอนวิชากฎหมายปกครองเมื่อ พ.ศ. 2474 ท่านปรีดีได้เป็นผู้จัดทําคําอธิบายกฎหมายปกครองและบรรยายวิชานี้เป็นคนแรก ท่านกำหนดเค้าโครงการสอนโดยอธิบายถึงหลักการแบ่งอำนาจอธิปไตย หลักการบริหารราชการ หลักการกระทำการทางปกครอง รวมทั้งลักษณะของคดีปกครอง ซึ่งการสอนลักษณะนี้เป็นการนำเอาแนวคิดกฎหมายปกครองของประเทศฝรั่งเศสมาปรับใช้ และในการบรรยายยังแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดในเรื่อง “ศาลปกครอง” ของท่านที่ต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้และมีสิทธิ์ในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง[3] และเมื่อได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 ท่านปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การ เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย วิชากฎหมายปกครองได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรภาคที่ 6 ของชั้นปริญญาตรี และเมื่อได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  วิชากฎหมายปกครองก็ถูกจัดเข้าเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรวิชานิติศาสตร์ด้วย ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนได้เปิดสอนวิชากฎหมายมหาชนเพิ่มมากขึ้น

กล่าวกันว่า วิชากฎหมายปกครองนี้เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านปรีดีเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะสาระของวิชาเป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชนที่อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งท่านปรีดีต้องอาศัยความกล้าหาญและความมุ่งมั่นทางการเมืองเป็นอย่างมากที่รับหน้าที่สอนวิชานี้ เพราะขณะนั้นประเทศไทยยังปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[4]  การสอนวิชากฎหมายปกครองดังกล่าวจึงเป็นการวางรากฐานการศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและคดีปกครองให้เจริญงอกงามและสร้างนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ ซึ่งท่านเหล่านั้นได้มีบทบาทสําคัญต่อการจัดตั้งศาลปกครองในเวลาต่อมา

จุดเริ่มต้นของศาลปกครองนั้นเริ่มจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2417 โดยกําหนดให้ “เคาน์ซิลออฟสเตท” (Council of State) หรือ “สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เป็น “เปรสซิเดนท์” (President) และ “เคาน์ซิลเลอร์ออฟสเตด” (Councillors of State) จํานวน 10-20 คน มีอํานาจหน้าที่ สองประการ คือ เป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างกฎหมายกับพิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน[5] ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวตรงกับสถาบันที่เรียกว่า สภาแห่งรัฐ (Conseil d' Etat หรือ Council of State) ในประเทศฝรั่งเศส และในอีกหลายประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก อิตาลี กรีซ อียิปต์ ตุรกี โคลัมเบีย เป็นต้น

อํานาจหน้าที่ส่วนหนึ่งของ “สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ก็คือ ภารกิจของศาลปกครอง[6] แต่เนื่องจากข้าราชการไทยในสมัยนั้นยังไม่มีความรู้และความเข้าใจในหน้าที่และวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงของ “สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” การดําเนินงานของคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินยังไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงทําให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีทํางานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเห็นว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรก็จะมีพระราชหัตถเลขาและพระราชดําริไปยังเสนาบดีโดยตรง จนกระทั่ง ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) และตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรีสภา ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ขึ้น ซึ่งยังคงมีอํานาจหน้าที่แบบเดิม เพียงแต่จํานวนและบุคคลแตกต่างไปจากเดิม ส่วนการร้องทุกข์เรื่องในกระทรวงหรือที่เรียกว่าคดีปกครองยังคงให้ ว่ากล่าวในกระทรวงนั้น ๆ เช่นเดิม[7] จึงอาจกล่าวได้ว่า การวางรากฐานศาลปกครองในประเทศไทยได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2417 ในรูปของสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ท่านปรีดีเห็นถึงความจําเป็นที่ต้องมีศาลปกครองแยกจากศาลยุติธรรมด้วย ดังปรากฏในข้อความเบื้องต้นของคําอธิบายกฎหมายปกครองว่า “...เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าทําสัญญาในกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์ (เช่น การตัดถนน สร้างสะพาน) หรือสั่งเหมาให้ส่งของที่ต้องการเหล่านี้ ฝ่ายธุรการมิอาจถูกฟ้องต่อศาลยุติธรรมในเรื่องหน้าที่อันเกิดมีแก่ตนจากสัญญานั้น ๆ เพื่อจะวินิจฉัยคดีเหล่านี้ จึงได้มีศาลปกครองขึ้น ประกอบด้วยผู้พิพากษาซึ่งไม่เป็นตุลาการในศาลยุติธรรม แต่เป็นตุลาการของฝ่ายปกครองดังนี้จึงเป็นฝ่ายปกครองมิใช่ฝ่ายตุลาการที่จะวินิจฉัยการอันฝ่ายปกครองกระทําไป และถ้าคําพิพากษาของศาลปกครองบังคับให้ฝ่ายปกครองกระทําการใด ๆ แล้ว ก็เท่ากับฝ่ายปกครองได้รับคําสั่งจากตนเองและมิใช่จากฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม”

อนึ่ง กฎหมายปกครองอนุญาตให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้เพิกถอนคําสั่ง บางอย่างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ คําสั่งเพิกถอนนี้มีแต่ศาลปกครองเท่านั้นที่จะสั่งได้ ศาลยุติธรรมไม่มีอํานาจจะสั่งได้เลย”[8] แนวคิดดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานและพัฒนาความคิดที่จะจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลอีกระบบหนึ่งแยกจากระบบศาลยุติธรรม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลในขณะนั้นโดยดําริของท่านปรีดี ประสงค์ให้มีการจัดองค์กรที่มีหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลและเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนตามรูปแบบของ “สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านปรีดีจึงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกําหนดแนวคิดและหลักการให้พระสารสาสน์ประพันธ์เป็นผู้ยกร่างโดยปรึกษาหารือกับนายอาร์ กียอง ที่ปรึกษากรมร่างกฎหมาย โดยยกฐานะของกรมร่างกฎหมายเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” เพื่อทําหน้าที่ร่างกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายแผ่นดิน และทําหน้าที่ “ศาลปกครอง” เพื่อชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับเอกชนอีกด้วย[9] ซึ่งปรากฏแนวคิดและหลัก การดังกล่าวจากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2476 (วิสามัญ) วัน พุธที่ 6 ธันวาคม 2476 ดังนี้

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงว่า เรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกานี้เป็นเรื่องค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นภายหลังพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วว่า เราจะยกฐานะของกรมร่างกฎหมายให้มีสภาพเป็นศาลปกครองอย่างที่เขาได้กระทํามาแล้วหลายประเทศ ความคิดอันนั้นมาภายหลังนี้เราก็ได้กลับนํามาใช้อีกในเวลาปัจจุบันนี้ คือ เรามีประสงค์อยากให้มีคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งให้มีหน้าที่จัดทําร่างกฎหมายสําหรับหน้าที่อื่น ๆ ทั่วไปจะให้มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ข้อนี้เป็นปัญหาสําคัญอยู่ อะไรที่เราเรียกว่า คดีปกครอง เวลานี้เรายังไม่มีกฎหมายวางไว้ เราเพียงแต่ทําเช่นนี้ให้เป็นรูปขึ้นว่า ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นคดีปกครองที่จะให้ว่ากล่าวทางคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีหน้าที่ต่อไป ถ้ายังไม่มีกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ทําหน้าที่จัดทําร่างกฎหมาย หน้าที่พิจารณาคดีปกครองจะทําเมื่อมีกฎหมายอีกอันหนึ่ง ตลอดจนวิธีการพิจารณาที่ศาลปกครอง ที่เราใช้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ก็เพราะสัญญาทางพระราชไมตรีวางอํานาจศาล ถ้าเราเรียกศาลปกครองแล้วอาจเปิดช่องให้เขามีหนทางเกี่ยวข้องได้แต่ความจริงถึงแม้ว่าจะเรียกตรง ๆ ก็เกี่ยวข้องไม่ได้ แต่เพื่อป้องกันไม่เปิดโอกาสให้เขายื่นมือเข้ามา เราจึงให้นามว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา” วิธีนี้เราประสงค์อยากให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมจริง ๆ ถ้าคําสั่งการปกครองเป็นคําสั่งผิดแล้ว มีหนทางร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมันเขาทํากัน คือ เขาไม่เกรงขามอันใด ทําผิดแล้วยอมรับผิด นอกจากนั้น มีรายละเอียดที่ว่า ควรมีกรรมการชนิดใดบ้าง และผู้ที่จะตั้งเป็นกรรมการนั้น จะมีคุณสมบัติอย่างไร…” [10]

เนื่องจากสภาพการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้นยังไม่อํานวยดังที่ท่านปรีดีได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร  ดังนั้น ท่านจึงได้เสนอให้จัดตั้งองค์กรใหม่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา” แทนที่จะเป็น “ศาลปกครอง” เพื่อทําหน้าที่วางรากฐานและพัฒนาคดีปกครองไปพลางก่อน จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 กําหนดให้มีคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีอํานาจหน้าที่และโครงสร้างเช่นเดียวกับ “สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” และสภาแห่งรัฐ” (Conseil d'Etat) ของประเทศฝรั่งเศส คณะกรรมการกฤษฎีกานี้ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรรมการ คณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งกรรมการออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 กรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่จัดทําร่างกฎหมาย รับปรึกษาให้ความเห็นในทางกฎหมายแก่ทบวงการเมืองของรัฐบาล และมีอํานาจพิจารณาคดีปกครอง และประเภทที่ 2 กรรมการร่างกฎหมายมีหน้าที่จัดทําร่างกฎหมายและรับปรึกษาให้ความเห็นในทางกฎหมายแก่ทบวงการเมืองของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงคณะกรรมการกฤษฎีกามิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครองแต่อย่างใด เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อกำหนดว่าอะไรเป็นคดีปกครองและกำหนดวิธีพิจารณาคดีปกครองเสียก่อน

ในส่วนการเตรียมการยกร่างกฏหมายเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นศาลปกครองนั้น ได้มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการกฤษฎีกาและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองเสร็จตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2478 แต่ก็มิได้มีการตรากฎหมายดังกล่าว ภายหลังจากนั้นได้มีความพยายามในการตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาพิพากษาคดีปกครองและการจัดตั้งศาลปกครองอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ดังนั้น ความประสงค์ของท่านปรีดีที่ต้องการให้มีคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองจึงไม่สัมฤทธิ์ผล

 

...จบตอนแรก…

อ่านต่อ "ท่านปรีดีกับศาลปกครอง (2)" ตอนจบ

 

ที่มา: "ท่านปรีดีกับศาลปกครอง," ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2544, น. 64-70.

*บทความนี้เป็นการสรุปย่อจากบทความเรื่องท่านปรีดีกับศาลปกครอง ซึ่งจะลงพิมพ์ในวารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 1 เล่มที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2544

**รองประธานศาลปกครองสูงสุด


[1] มหาวิทยาลัยศาสตร์ “ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์”, 2526, หน้า 77-79

[2] คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสืองานฉลอง 100 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 145/2541, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2543, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543, หน้า 17.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 24.

[4] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ้างแล้ว 1, หน้า 79.

[5] สำนักวิจัยและวิชาการสำนักงานศาลปกครอง,“ความเป็นมาของศาลปกครอง”, วารสารวิชาการศาลปกครอง (ปีที่ 1 เล่มที่ 1), พ.ศ.2544

[6] อักขราทร จุฬารัตน, “สารจากประธานศาลปกครองสูงสุด”, วารสารวิชาการปกครอง (ปีที่ 1 เล่มที่ 1), พ.ศ.2544 หน้า 2

[7] สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง, “ความเป็นมาของศาลปกครอง”, พ.ศ.2544, หน้า 8.

[8] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “อ้างแล้ว 1 หน้า 146.

[9] คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือระลึกงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 145/2541, คือ วิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์, 2543, หน้า 24

[10] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2476 (วิสามัญ) วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2476, หน้า 784-785 “ความเป็นมาของศาลปกครอง”, วารสารวิชาการ