ปรีดี พนมยงค์ : นักปฏิวัตินักชาตินิยม
ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526/1900- 1983) เกิดและเติบโตขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจใหม่ เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กับ มหาอำนาจใหม่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย กำลังแผ่ขยายอำนาจคุกคามแทบทุกมุมโลก โดยอาศัยพลังความก้าวหน้าทางวิทยาการที่เหนือกว่า รุกรานประเทศที่ล้าหลังในแถบอัฟริกา ลาตินอเมริกา และ เอเชีย
ขณะเดียวกัน ต้นศตวรรษที่ 20 ก็ถือว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของขบวนการปฏิวัติและขบวนการชาตินิยม ซึ่งเติบโตขึ้นในแทบทุกที่ที่มีการคุกคามของมหาอำนาจ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำขบวนการชาตินิยมคนสำคัญหลายคนถือกำเนิดขึ้น นำการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยประเทศของตนให้เป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก เช่น ซูการ์โน (2444-2513 1901-1970) แห่งอินโดนีเชีย, อองซาน (2458-2490/1915-1947) แห่งพม่า และโฮจิมินห์ (2433-2510/1890-1967) แห่งเวียดนาม ถึงแม้ว่าผู้นำเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือ ในวัยหนุ่มพวกเขาเติบโตด้วยภูมิปัญญาแบบตะวันตก และ เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึกรักชาติ
ซูการ์โน
เมื่อซูการ์โนอายุ 10 ปี (2454/1911) เขามีส่วนร่วมกับสมาคมชาตินิยม Sarekat Islam ได้เข้าเป็นนักศึกษาด้านวิศวกรรมเมื่ออายุ 19 ปื (2463/1920) เริ่มก่อตั้งพรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย หรือ Indonesia Nationalist Party : PNI เมื่ออายุ 25 ปี (2468/1925) ซึ่งพรรคดังกล่าวมีบทบาทอย่างมากในการนำการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งประสบผลสำเร็จในปี 2492/1949 และ ซูการ์โน ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียด้วยวัยเพียง 38 ปี
อองซาน
เมื่ออองซานอายุ 15-20 ปี (2473-2478/1930-1935) ก่อตั้งกลุ่มการเมืองต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ เขาจบปริญาตรีด้านอักษรศาสตร์และนิติศาสตร์ในปี 2481/1938 ขณะอายุ 23 ปี แต่ปริญญาบัตรดังกล่าวภายหลังเขาส่งคืนรัฐบาลอังกฤษโดยกล่าวว่าเป็น "ปริญญาจักรวรรดินิยมอันไม่พึงปรารถนา" อายุ 25 ปื (2483/1940) เขาเดินทางไปรับการฝึกทหารที่ไหหลำกับกองทัพญี่ปุ่น หลังจากกลับคืนสู่พม่าในปีถัดมา อองซานกับพวกเริ่มก่อตั้งกองทัพปลดแอกแห่งชาติ โดยมีเขาเป็นผู้บัญชาการในขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี (2484/1941) หลังจากกองกำลังติดอาวุธชาวพื้นเมืองถูกก่อตั้งขึ้น อองซานก็ใช้ชีวิตเป็นนายทหารมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช อองซานถูกลอบสังหารเสียชีวิตในปี 2490/1947 ขณะที่มีอายุ 32 ปี อย่างไรก็ตามจากความเสียสละของเขา ยังผลให้ชาวพม่าในปัจจุบันต่งขนานนามเขาว่า "บิดาแห่งเอกราช"
โฮจิมินห์
เขาเกิดในครอบครัวนักชาตินิยมทั้งพ่อ พี่สาว และ พี่ชาย ขณะที่อายุ 22 ปี (2455/1912) โฮจิมินหออกเดินทางไปยุโรป ที่นั่นระหว่างปี 2455-2467/1912-1924 นอกจากทำงานหาเลี้ยงชีพแล้ว เขาใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือ, การถกเถียงด้านทฤษฎีทางสังคมการเมือง, เข้าร่วมขบวนการสังคมนิยม และ ขบวนการคอมมิวนิสต์ อายุ 35 ปี (2468/1925) เขาเริ่มก่อตั้งสมาคมปฏิวัติเวียดนาม หรือที่รู้จักในนาม Thanh Nien ต่อมาในปี 2472/1929 เขากับพรรคพวกใน Thanh Nien ได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิตแห่งอินโดจีน แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ต่อมาปี 2484/1941 ขณะอายุ 51 ปี โฮจิมินห์ก่อตั้งสันนิบาตเพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม หรือเวียดมินห์ (Viet Minh) ขึ้น ทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา และทำสงครามเอกราชกับฝรั่งเศส ระหว่าง 2489-2497/1946-1954 จนได้รับชัยชนะ โฮจิมินห์เสียชีวิตในปี 2510/1967 ขณะที่มีอยุ 77 ปี ก่อนที่เวียดนามจะสามารถรวมประเทศและขับไล่กองทัพสหรัฐ ออกจากประเทศได้เป็นผลสำเร็จในปี 2518/1975
ปรีดี พนมยงค์ : คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475/1932
ในวัยเด็ก ปรีดี พนมยงค์ได้ยินว่า ประเทศอังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร ที่ผู้ใดมีความเดือดร้อนก็แจ้งผ่านผู้แทนของตนให้ไปร้องขอต่อรัฐบาลได้, ต่อมาเขาได้เรียนประวัติศาสตร์โลก, ระบบการเมืองในประเทศต่าง ๆ, รับรู้เหตุการณ์การปฏิวัติจีน (2454/1911) เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 (2455/1912) ที่เรียกร้องให้สยามมีรัฐสภาและให้ราษฎรมีเสียงทางการเมือง เรื่องราวเหตุการณ์เหล่นี้ มีผลอย่างมากต่อความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของปรีดีในช่วงแรกเริ่ม (ปรีดี พนมยงค์, "ประสบการณ์ และความคิดเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส")
ในวัยหนุ่ม ปรีดี พนมยงค์เป็นนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย (2460-1/1917-8) ต่อมามีโอกาสใช้ชีวิตเป็นนักศึกษากฎหมายในฝรั่งเศสนานถึง 7 ปี (2463-70/1920-27) ขณะนั้น ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ทั้งด้านศิลปะและวิทยาการของศตวรรษที่ 20 ในทางการเมือง รัสเซีย เกิดการปฏิวัติโค่นล้มระบบชาร์ (2460/1917), เยอรมนีกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ (246 1/1918) พร้อม ๆ กับการเติบโตขึ้นของอุดมการณ์ชาตินิยม, สังคมนิยม, เสรีนิยม และคอมมิวนิสต์
กล่าวได้ว่า ชีวิตในต่างประเทศ ปรีดีเข้าไปอยู่ท่ามกลางการปะทะสังสรรค์ทางความคิดใหม่ ๆ บรรยากาศในยุโรปที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในสยาม มีผลอย่างมากต่อความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของปรีดีในวัยหนุ่ม ณ ที่นั่น ปรีดีกับมิตรสหายได้ก่อตั้งสมาคม สามัคยานุเคราะห์สมาคม ขึ้นในปี 2467/1924 ปรีดีพยายามดำเนินกิจกรรมปลุกจิตสำนึกทางการเมืองของสมาชิกในสมาคมฯ และพยายามแปลงสมาคมฯ จากที่เคยเป็นเพียงที่พบปะสังสรรค์กันธรรมดา ให้เป็นองค์กรตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของนักเรียนไทย ต่อมาปรีดีกับมิตรสหายได้เริ่มก่อตั้ง คณะราษฎร ขึ้นในปี 2469/1927 ซึ่งในอีก 7 ปีต่อมาคณะราษฎรก็สามารถนำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเป็นผลสำเร็จในปี 2475/1932 โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย และดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ" (ปรีดี พนมยงค์, "บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะรามฎร และระบบประชาธิปไตย")
ปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงความตั้งใจของเขาในระหว่างที่เป็นนักเรียนกฎหมายว่า "...ขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็สังเกตความเป็นไปของราชสำนักรวมทั้งการบริหารงานภายใต้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และตั้งความปรารถนาไว้ว่า จักต้องก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของข้าพเจ้าให้ได้ แม้ในตอนนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร" (ปรีดี พนมยงค์, "ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ21ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน")
ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงยุโรปในทัศนะเขาว่า "ราษฎรของประเทศในยุโรปอื่น ๆ ก็ได้ต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ของตน และเพื่อรายฎรได้สิทธิต่างๆ อย่างอังกฤษ โปรดสังเกตว่าในปี พ.ศ. 2424 (1881) อันเป็นปีที่ 100 นับตั้งแต่สถาปนาพระราชวงศ์จักรีนั้น ประเทศยุโรปจำนวนมากได้ปกครองโดยระบบกษัตริย์อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และราษฎรได้มีสิทธิหลายประการดังได้กล่าวแล้วนั้น จึงทำให้ประเทศในยุโรปมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศที่ปกครองตามระบบสมบูรณาฯ" (ปรีดี พนมยงค์ สัมภาษณ์วิทยุ BBC, 24 มิถุนายน 2525/1982)
ปรีดี พนมยงค์ : การดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ
- ปรีดีได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้เป็นผู้ร่าง ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ 27 มิถุนายน 2475/1932 ในธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ปรีดีได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากแต่เดิม อำนาจการปกครองสูงสุดของประเทศเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาเป็น "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"
- ขณะที่มีการร่าง รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475/1932 ปรีดีเสนอให้ญญัติ มาตรา 12 ขึ้นเพื่อแสดงให้ชัดว่า ฐานันดรศักดิ์ใด ๆ ไม่ทำให้เกิดเอกสิทธิ์พิเศษ ดังที่เคยเป็นมาในอดีต
- 12 มีนาคม 2476/1933 เสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ไม่ปล่อยให้ราษฏรอดอยาก
- 27 มิถุนายน 2477/1934 สถาปนา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้การศึกษาขั้นสูงอย่างเต็มที่แก่ราษฎร โดยไม่จำกัดเพศ, และจำนวน
- 2477-2480/1934-1937 จัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามตาม พระราชบัญญัติเทศบาล เพื่อให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นรากฐานในการพัฒนาประชาธิปไตย
- 2477-2483/1934-1940 ดำเนินการเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สำเร็จครบทุกประเทศ
- 7 มีนาคม 2481/1938 เสนอร่าง พระราชบัญญัติปรับปรุงภาษีเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร ภาษีใด ๆ ที่เสียอยู่โดยไม่เป็นธรรมได้ยกเลิกไป เช่น เงินรัชชูปการ (เป็นการเก็บภาษีรายหัวกับไพร่ในระบบศักดินาโบราณที่ตกทอดมาจากอดีตสมัยอยุธยและรัตนโกสินทร์ ซึ่งเก็บเอากับคนมีเงินและคนจน ในอัตราเท่ากัน), ภาษีสมพัส และอากรค่านา ในอดีต ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาษีเหล่านี้เป็นราษฎรสามัญ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจน
- 2484-2488/1941-1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อเอกราชสมบูรณ์ของชาติ
ที่มา: คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์. "ปรีดี พนมยงค์" ใน ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน +1 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), น. 1-16.
- หลัก 6 ประการ
- ปรีดี พนมยงค์
- ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช
- ขบวนการคอมมิวนิสต์
- จักรวรรดินิยม
- สังคมนิยม
- ชาตินิยม
- ซูการ์โน
- อองซาน
- โฮจิมินห์
- Thanh Nien
- Viet Minh
- สงครามมหาเอเชียบูรพา
- คณะราษฎร
- การอภิวัฒน์ 2475
- 24 มิ.ย. 2475
- ปฏิวัติจีน
- กบฏ ร.ศ. 130
- สามัคยานุเคราะห์สมาคม
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- ระบบศักดินา
- ภาษีสมพัส
- อากรค่านา
- รัฐธรรมนูญ
- เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- พระราชบัญญัติเทศบาล
- ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
- พระราชบัญญัติปรับปรุงภาษี
- ขบวนการเสรีไทย
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- สี่รัฐมนตรีอีสาน