ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ป้อมค่ายแห่งความปราชัย

18
กันยายน
2565

 

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 9
ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : นิ้วมือทั้งห้า

ป้อมค่ายฝ่ายฝรั่งเศสมีมาตรการป้องกันแน่นหนา ทุกจุดที่คาดว่าฝ่ายเวียดมินห์จะบุกเข้าโจมตีมีการวางทุ่นระเบิดนานาชนิด ผสมผสานกับรั้วลวดหนาม พร้อมด้วยรังปืนกลที่จัดวางไว้ตามแบบฉบับวิชาทหารที่เล่าเรียนมาจากโรงเรียนทหารอันลือชื่อของฝรั่งเศส เรียกได้ว่าเกือบไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง

พลันหน่วยปืนใหญ่เปิดฉากระดมยิงในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1954 อันเป็นการเปิดฉากเข้าตีที่มั่นฝรั่งเศสในศึกเดียนเบียนฟูอย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายเวียดมินห์มอบหมายให้กองพล 308 อันประกอบด้วยกรมทหารราบ 4 กรม บุกเข้าโจมตีป้อมกาเบรียลล์ แนวป้องกันด้านเหนือสุดของฝรั่งเศส

ฝ่ายฝรั่งเศสส่งสัญญาณขอปืนใหญ่ของพวกตนยิงโต้ตอบ ซึ่งเท่ากับเผยที่ตั้งหน่วยปืนใหญ่ให้เวียดมินห์ทราบและปรับพิกัดยิงถล่มได้แม่นยำ ปรากฏว่าปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถูกทำลายจนไม่สามารถใช้การได้ อันเป็นเหตุให้พันเอกปิโรตต์ (Colonel Piroth) ผู้บังคับการที่เคยอวดอ้างว่าจะถล่มปืนใหญ่เวียดมินห์ให้สิ้นซาก ต้องอับอายขายหน้า ผิดหวัง และเสียใจขนาดหนัก ถึงขั้นปลดสลักระเบิดมือประจำกายฆ่าตัวตาย

 

กลุ่มควันคาวเลือดที่ป้อมเอเลน เนิน A1 และที่เนิน C1
กลุ่มควันคาวเลือดที่ป้อมเอเลน
เนิน A1 และที่เนิน C1

 

ทำลายสนามบิน
ทำลายสนามบิน

 

กองพล 312 อันประกอบด้วยทหารราบ 4 กรม ได้รับมอบหมายให้เข้าโจมตีป้อมค่ายแอนน์-มารี ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของแนวป้องกันเช่นเดียวกับกาเบรียลล์ ทหารฝรั่งเศสส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่ในที่กำบัง ยิงตอบโต้เมื่อเวียดมินห์บุกเข้าใกล้ และส่งกำลังออกตีโต้บ้างเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา กองพันทหารต่างด้าวและกองพันชาวแอฟริกาเหนือผู้มีความสามารถในการรบพอตัวก็ไม่อาจต้านความเด็ดเดี่ยวในการสู้รบของเวียดมินห์

พลแม่นปืนเวียดมินห์มีความสามารถใช้ปืนเล็กยาวสปริงฟิลด์ (Springfield Rifle) ซึ่งเป็นปืนเล็กยาวธรรมดา ยิงได้ทีละนัด มีความแม่นยำสูงมากในระยะ 400 เมตร ปืนนี้ผลิตในอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อเมริกาส่งมาช่วยเหลือฝรั่งเศส แต่เวียดมินห์ยึดเอามาอีกต่อหนึ่ง กรณีนี้ทำเอาทหารฝรั่งเศสเสียขวัญไม่กล้าออกจากที่กำบัง เพราะเป็นเป้านิ่งให้พลแม่นปืนฝ่ายตรงข้ามทำลายชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ กระทั่งการตักน้ำในลำธารบางแห่งต้องใช้เชือกผูกถังโยนลงไปแล้วค่อยๆ สาวดึงขึ้นมา แม้กระนั้นถังน้ำก็ถูกยิงทะลุจนใช้การไม่ได้

การขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์เสบียงอาหารซึ่งก็คือการส่งกำลังบำรุงฝรั่งเศสใช้การขนส่งทางอากาศ เนื่องจากเดียนเบียนฟูตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายตรงกันข้าม ไม่สามารถขนส่งทางบกได้อีก นอกจากนี้เครื่องบินทิ้งระเบิดนาปาล์มโจมตีก็ไม่ปรากฏว่าเวียดมินห์ได้รับความเสียหาย เพราะแนวรบประชิดปราการป้องกันฝรั่งเศสเข้าไปทุกที

หน่วยต่อสู้อากาศยานพร้อมด้วยปืนขนาด 37.5 ม.ม. อันทรงประสิทธิภาพได้เคลื่อนเข้าคุมพื้นที่ทางวิ่ง ทำให้เครื่องบินฝรั่งเศสไม่สามารถขึ้นลงและโฉบต่ำได้ ต้องไต่เพดานบินสูง ใช้ร่มชูชีพทิ้งสัมภาระลงมา ทำให้ยุทธปัจจัยต่างๆ ตกลงไปในแนวยึดครองของเวียดมินห์

หน่วยต่อสู้อากาศยานเวียดมินห์สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกจำนวนไม่น้อย เครื่องบินส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกา อาทิเช่น เครื่องแบร์แคท เครื่องบินทิ้งระเบิด B26 และเครื่องบินลำเลียง C47 เป็นต้น ครั้งหนึ่งพบนักบินอาสาของอเมริกันที่มาช่วยฝรั่งเศสรบเสียชีวิตในซากเครื่องบิน ถือว่าเป็นครั้งแรกที่อเมริกาถลำเข้าสู่สงครามเวียดนามแล้ว

ทหารราบเวียดมินห์นำอาวุธหนักของเหล่า อันได้แก่ ปืนครก ค.80 ม.ม. และ ค.120 ม.ม. ปืนไร้แรงสะท้อน 57 ม.ม. และ 75 ม.ม. ทางเวียดนามเรียกว่าปืน เดกาแซด (DKZ) ยิงถล่มแนวป้องกันของฝรั่งเศสพร้อมกับรุกคืบหน้า หลายครั้งหลายหนห้ำหั่นประจัญบานกันด้วยดาบปลายปืน

 

หลุมระเบิดพลีชีพ ถล่มฐานที่มั่นศัตรูด้วยอาวุธหนัก
หลุมระเบิดพลีชีพ
ถล่มฐานที่มั่นศัตรูด้วยอาวุธหนัก

 

ป้อมค่ายบางแห่งใช้เวลาไม่นานก็ตีแตก แต่บางแห่งการต่อสู้ยืดเยื้อ เช่น บริเวณป้อมเอเลน ที่เนิน A1 ทางเวียดมินห์ขุดสนามเพลาะเข้าประชิดเป็นระยะทางยาวร่วมหนึ่งกิโลเมตร ทางฝ่ายตั้งรับก็ขุดสนามเพลาะยันไว้ การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด บางครั้งข้าศึกรุกกลับเข้ามาในสนามเพลาะ เวียดมินห์ต้องยันกลับไป ขนาดปืนเดกาแซด 75 ม.ม. ยังไม่สามารถถล่มทำลายป้อมปราการที่เป็นรังปืนของฝรั่งเศส ในที่สุดทหารกล้าต้องเป้ระเบิดทีเอ็นที่น้ำหนักหนึ่งตันบุกประชิดแล้วจุดชนวน ผู้แบกรับภารกิจต้องเสียสละชีวิตจึงสามารถตีหักเข้าไปทำลายและยึดป้อมค่ายสำเร็จ แต่กระนั้นฉากสัประยุทธ์นี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายวันจึงนับศพกันได้

ยุทธวิธีเข้าตีของเวียดมินห์ส่วนใหญ่ใช้เวลากลางคืนเพราะมีความชำนาญในภูมิประเทศ พอฟ้าสางก็เข้ายึดยุทธภูมิเป้าหมายไว้ แม้ระยะนั้นทางฝรั่งเศสมีกล้องส่องทางไกลระบบ “อินฟราเรด” ของอเมริกาไว้ประจำการแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ใช้งานให้เกิดมรรคผลอะไร

 

ธงแห่งชัยชนะโบกสะบัดเหนือกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส
ธงแห่งชัยชนะโบกสะบัดเหนือกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส

 

การเข้าตีป้อมค่ายต่างๆ นอกจากกองพล 304 และ 308 เข้าโจมตีทางด้านเหนือดังกล่าว กองพล 312, 316 และ 325 ก็ได้รับมอบหน้าที่ให้เข้าตีป้อมค่ายที่เหลืออยู่ทั้งหมด โดยจัดกำลังให้แต่ละกรมของกองพลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่

การสู้รบอันดุเดือดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม นับชั่วโมงนับวันยิ่งทำให้เวียดมินห์มั่นใจชัยชนะ ถึงแม้ว่าจะประสบความยากลำบาก แต่ขวัญกำลังใจของนักรบที่เข้าทำสงครามกอบกู้เอกราชดียิ่ง ตรงข้ามกับฝ่ายรุกรานที่มองเห็นแต่ความหายนะคืบคลานเข้ามา และเพื่อบำรุงขวัญของผู้บัญชาการพันเอกเดอกัสตรีย์ ทางกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสจึงอนุมัติเลื่อนชั้นให้ยศนายพลตรีเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้เครื่องบินทิ้งร่มชูชีพนำส่งให้เดอกัสตรีย์ แต่ปรากฏว่าเครื่องหมายยศจดหมายภรรยา และหนังสือนวนิยาย 2 เล่ม ที่เธอฝากให้สามีปลิวไปตกอยู่ในมือกองกำลังเวียดมินห์ หวอเหงียนย้าป มีบัญชาให้ส่งมอบของทั้งหมดคืนแก่เดอกัสตรีย์ เพราะถือเป็นของใช้ส่วนตัว มิใช่สินสงครามเวลาติดต่อขอคืนสิ่งของเหล่านี้ทหารฝรั่งเศสถือธงขาวมารับเอาไป

ป้อมอิซาเบลล์เป็นปราการสุดท้ายที่ยอมจำนนในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 ภายหลังที่เดอกัสตรีย์ถูกจับเป็นเชลย พร้อมด้วยนายทหารยศพันเอก, พันโท และเชลยศึกอีกหลายพันคน ในจำนวนนี้มีสตรีเสนารักษ์รวมอยู่ด้วยคนหนึ่งเธอคือ เจเนเวียฟ เดอกูลารด์ หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาฝรั่งเศส เช่น เลอฟิกาโร (Le Figaro) สดุดีความกล้าหาญของเสนารักษ์ผู้นี้เสียเลิศลอย ถึงกับเทียบเทียมนางพยาบาลชาวอังกฤษที่ชื่อฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ได้รับการยกย่องในสงครามกับรัสเซียที่แหลมไครเมียบนฝั่งทะเลดำ ซึ่งสงครามครั้งนั้นพวกปฏิกิริยาสุดขั้วกลุ่มประเทศ “พันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์” ทำสงครามแย่งชิงผลประโยชน์กันเองฉันใดก็ดี ถึงแม้เจเนเวียฟจะทำหน้าที่ดูแลรักษาทหารบาดเจ็บ แต่ก็ยากจะเข้าใจว่าทำไมฝรั่งเศสจึงส่งสตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบเยี่ยงนี้

ก่อนพันเอกลางกเลย์ และพันเอกลาแลนด์ ผู้รับหน้าที่ป้องกันป้อมอิซาเบลล์จะยอมปลดอาวุธกองกำลังของตนเอง ได้ขอต่อรองเวียดมินห์ให้เปิดทางหลบหนีเข้าลาวผ่านแขวงพงสาลี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดทหารฝรั่งเศสชุดสุดท้ายก็ถูกจับเป็นเชลยหมดสิ้น

ตลอดระยะเวลาที่กำลังทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกันอย่างดุเดือด ผลัดกันรุกผลัดกันรับ สลับกันบุกเข้าโจมตีและตีโต้กลับ ทั้งกลางเปลวแดดและค่ำคืนมืดมิดเหน็บหนาว ทำให้สูญเสียกำลังพลทั้งสองฝ่าย เวียดนามผู้ชนะก็ดูจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝรั่งเศส

 

 

นายพลเดอกัสตรีย์และคณะที่ปรึกษาออกมายอมจำนน พร้อมด้วยทหารฝรั่งเศสกว่า 10,000 นายถูกจับเป็นเชลย
นายพลเดอกัสตรีย์และคณะที่ปรึกษาออกมายอมจำนน
พร้อมด้วยทหารฝรั่งเศสกว่า 10,000 นายถูกจับเป็นเชลย

 

เวียดนามสังหารและจับเชลยทหารข้าศึกได้กว่า 16,200 นาย นายทหารฝรั่งเศสที่ถูกจับประกอบด้วยระดับพลตรี 1 นาย (เดอกัสตรีย์) พันเอก 16 นาย และนายทหารระดับรองอีกมากโดยทางเวียดนามอนุมัติเครื่องบินทหารลำเลียงผู้บาดเจ็บสาหัสกลับฮานอย รวมทั้งเจเนเวียฟ เดอกูลารด์ สตรีเสนารักษ์ส่วนที่เหลือเดินเท้าจนถึงจุดที่ทางการฝรั่งเศสสามารถรับตัวกลับกรมกองของตนได้

ก่อนศึกเดียนเบียนฟูจะปิดฉาก ฝ่ายฝรั่งเศสเล็งเห็นแล้วว่าคงไม่อาจใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามได้อีกต่อไป ตรงกันข้าม เริ่มเห็นลางแห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายตน ต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1954 นั้น ฝรั่งเศสจึงขอเปิดเจรจากับเวียดนามขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นแรกฝรั่งเศสตกลงให้เวียดนามได้รับสิทธิปกครองประเทศบางประการ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส ลูกคู่ของฝ่ายฝรั่งเศสคือ นายแอนโทนี อีเด็น ร.ม.ต. ต่างประเทศอังกฤษ, นายจอนห์ ฟอสเตอร์ ดัลเลส ร.ม.ต. ต่างประเทศอเมริกา ส่วนเวียดนามได้มอบหมายให้นายฟ่ามวันด่ง นายกรัฐมนตรี และ ร.ม.ต. ต่างประเทศเข้าประชุม โดยมีนายโมโลตอฟ ร.ม.ต. ต่างประเทศสหภาพโซเวียต และนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี และ ร.ม.ต. ต่างประเทศของจีนเข้าร่วมประชุม

ก่อนหน้านี้ นายพลนาวารร์ ผู้บัญชาการสูงสุดฝรั่งเศสในอินโดจีนได้เสนอแนะทางรัฐบาลว่า ฝรั่งเศสต้องไม่ลงนามรับรองใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าสถานการณ์ทางทหารยังไม่เป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะถ้าทหารฝรั่งเศสยังไม่สามารถเอาชนะกองกำลังเวียดมินห์ที่เดียนเบียนฟูได้ แล้วถึงที่สุดการศึกครั้งนี้จบลงด้วยความปราชัยของฝรั่งเศส ทำให้การประชุมที่เจนีวาดำเนินไปอย่างเร่งรีบ

หลังจากศึกเดียนเบียนฟูสิ้นสุดลง 4 เดือน “การเจรจาเจนีวา” ก็บรรลุข้อตกลง แต่เป็นที่สังเกตว่าอเมริกาไม่ยอมลงนามในข้อตกลงครั้งนี้

ความจริงปรากฏให้ประจักษ์ในเวลาต่อมาจาก “ข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1954” มีสาระสำคัญกำหนดให้บริเวณเหนือเส้นขนานที่ 17 เป็นดินแดนในความปกครองอันมีเอกราชสมบูรณ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ส่วนใต้เส้นขนานที่ 17 ลงมานั้นให้ฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่เวียดนามที่ฝรั่งเศสแต่งตั้ง จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศใน 2 ปีข้างหน้า

11 ตุลาคม ค.ศ. 1954 เป็นวันที่ชาวเวียดนามในนครฮานอยมีโอกาสต้อนรับทหารแห่งกองทัพประชาชนเวียดนามที่ได้ถอนตัวออกจากเมืองไปเมื่อ 8 ปีก่อน

นักรบกองพลที่ 308 ผู้เข้าตีค่ายเดียนเบียนฟูกองพลแรก ได้รับเกียรติให้นำทัพเดินทางเข้าฮานอยจากด้านสะพานลองเบียน ที่ทอดข้ามแม่น้ำแดงแห่งแรก สะพานนี้สร้างขึ้นสมัยฝรั่งเศสปกครองเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1899 - 1900 อำนวยการสร้างโดยนายปอล ดูแมร์ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสขณะนั้น

ทหารแห่งกองทัพประชาชนเวียดนามได้รับการต้อนรับด้วยความปรีดาปราโมทย์ ธงชาติเวียดนามพื้นแดงดาวทองตรงกลาง ปลิวสะบัดพร้อมป้ายคำขวัญ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยวียดนาม จงเจริญ” “โฮจิมินห์จงเจริญ” ปรากฏอยู่ทั่วเมือง ในขณะทหารฝรั่งเศสถอนตัวไปลงเรือที่เมืองท่าไฮฟอง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กิโลเมตรอย่างเงียบๆ

 

ธงชาติผู้รุกรานถูกชักลงที่ท่าเรือไฮฟอง
ธงชาติผู้รุกรานถูกชักลงที่ท่าเรือไฮฟอง

 

หวอเหงียนย้าป ร.ม.ต. กระทรวงป้องกันประเทศและแม่ทัพผู้พิชิตเดียนเบียนฟู ในชุดทหารธรรมดา สวมหมวกกะโล่สีเขียว ไม่มีเครื่องหมายยศใดๆ นั่งรถจี๊ปเคลื่อนเข้าฮานอยท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับและเชิดชู

การที่หวอเหงียนย้าปสามารถเอาชนะฝรั่งเศสได้ ทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรขจายเป็นที่รู้จักทั่วโลก โซ่ตรวนแห่งลัทธิล่าอาณานิคมถูกทำลายลงด้วยการต่อสู้กู้เอกราชของชาวเวียดนาม และส่วนหนึ่งยังผลให้ทหารชาวแอลจีเรียในกองทัพฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยในการศึกครั้งนี้ เกิดจิตสำนึกทางความคิดการเมือง เมื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตนจึงหันปากกระบอกปืนเข้าต่อสู้กับฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยประเทศ จนได้รับเอกราชในเวลาต่อมา รวมทั้งบรรดาอาณานิคมในแอฟริกา ฝรั่งเศสได้มอบคืนเอกราชให้ประเทศเหล่านั้นเพราะเกรงประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

อนึ่ง ในห้วงเวลาแห่งชัยชนะครั้งนี้ ภรรยาของหวอเหงียนย้าปได้ให้กำเนิดบุตรชาย ท่านจึงตั้งชื่อเป็นที่ระลึกว่า “หวอเดียนเบียน”

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), ป้อมค่ายแห่งความปราชัย, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 90 - 99.

บทความที่เกี่ยวข้อง :