ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 13 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : “เดียนเบียนฟู” กลางอากาศ
นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1965 เป็นต้นมา การแทรกแซงของอเมริกาเป็นไปอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการส่งทหารอเมริกันเข้ามาปฏิบัติการรบ และได้มีการแต่งตั้งให้พลเอก เวสต์ มัวร์แลนด์ เป็นผู้บัญชาการ สำหรับนายพลอเมริกันผู้นี้ก็ดูเหมือนไม่มีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ นอกจากเรียกร้องให้ทางประธานาธิบดีส่งทหารเพิ่มเติมเข้ามาตลอดเวลา
ส่วนทหารเวียดนามใต้ที่ตกเป็นเครื่องมือของอเมริกานั้น ส่วนหนึ่งเป็นทหารที่ทางฝรั่งเศสได้กะเกณฑ์จัดตั้งขึ้นในสมัยสู้รบกับเวียดมินห์ ส่วนใหญ่เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศส ต่อมาเมื่ออเมริกาเข้ามาแทนที่ก็ชุบเลี้ยงเป็นมือเป็นเท้า เพราะคนท้องถิ่นย่อมมีความรู้ความชำนาญในภูมิประเทศมากกว่าทหารอเมริกัน ทหารเหล่านี้ถูกส่งไปฝึกอบรมในอเมริกา และได้รับการเลื่อนชั้นยศตามลำดับขึ้นเป็นนายพลก็มีอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ก็มีความเหี้ยมโหดทารุณต่อพี่น้องชาวเวียดนามผู้รักชาติ เนื่องจากการปลุกปั่นยุยงจากอเมริกาเจ้านายของตน
การบัญชาการรบของหวอเหงียนย้าปในสมรภูมิเวียดนามใต้ ย่อมแตกต่างจากการบัญชาการรบในสมรภูมิเดียนเบียนฟูในปี ค.ศ. 1954 ทั้งนี้เพราะการรบในเวียดนามใต้มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ นับตั้งแต่เส้นขนานที่ 17 ลงมาทางภาคใต้ มีพื้นที่ร่วมครึ่งหนึ่งของเวียดนามทั้งประเทศ รูปแบบของการรบแต่ละท้องที่ก็ได้พัฒนาขึ้นตามสภาพความเหมาะสม เช่น การต่อสู้กับกองพลบินเฮลิคอปตอร์ของสหรัฐ การยกระดับหน่วยจรยุทธ์เข้าเป็นกองกำลังประจำการ
สมรภูมิเวียดนามใต้ไม่มีเขตแดนแบ่งไว้อย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ เป็นสมรภูมิทุกหนทุกแห่ง ทหารอเมริกันจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเลยในทุกเวลาและทุกสถานที่ ถึงกับกล่าวกันว่า “เวียดกง” มีอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งที่พัก ทั้งในและนอกค่าย สภาพการณ์เหล่านี้อธิบายได้ว่า “สงครามประชาชน” เป็นสงครามที่เป็นธรรม พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วม
ภาระหน้าที่ในการบัญชาการรบในสมรภูมิเวียดนามใต้ของหวอเหงียนย้าป จึงมีประชาชนร่วมสู้ทุกหนแห่ง อาศัยผู้บัญชาการหน่วยรบที่คัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี ได้รับความไว้วางใจในฐานะสหายร่วมรบในยุทธการต่างๆ มาแล้ว จึงทำให้การจัดวางกำลังมีประสิทธิภาพ บรรดาแม่ทัพนายกองเองก็ให้ความเชื่อมั่นซึมซับรายละเอียดความรอบคอบทุกด้านในการวางแผนสู้รบ ที่ทำให้ได้รับความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งนอกเหนือไปจากการทำสงครามที่เป็นธรรมเพื่อปลดปล่อยเวียดนามภาคใต้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ทัพหวอเหงียนย้าปกับบรรดาแม่ทัพนายกองผู้รับผิดชอบ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ชัยชนะ
ขณะกองทหารอเมริกันถูกส่งเข้ามารบในเวียดนามใต้ ฝูงบินอเมริกันก็ได้เข้าทิ้งระเบิดเวียดนามภาคเหนือ กองกำลังกองทัพประชาชนเวียดนามได้ทยอยส่งกำลังเข้ามาในเวียดนามภาคใต้เพื่อช่วยแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ ที่ได้ลุกขึ้นสู้กับฝ่ายอเมริกาและลูกสมุนเวียดนามใต้ ในการนี้หน่วยแรกๆ ที่ได้ทยอยเข้าสู่เวียดนามใต้ก็คือ อดีตกองกำลังเวียดมินห์ภาคใต้ที่โยกย้ายขึ้นไปรวมพลทางเหนือตามข้อตกลงเจนีวา 1954
การเดินทัพได้อาศัยทิวเขา “เจรื่องเซิน” แนวเขายาวเหยียดกั้นพรมแดนเวียดนามทางทิศตะวันตก ลดเลี้ยวผ่านเขตแดนลาวตอนใต้ และวกเข้าไปในกัมพูชา จนลงมาจรดที่ภาคใต้สุดของเวียดนาม ประชิดด้านตะวันตกของไซ่ง่อน
การเสนอให้พิจารณาใช้เส้นทางนี้ ทั้งในด้านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ การเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่เวียดนามใต้ก็เพื่อเป็นหลักประกันหนทางสู่ชัยชนะในการปลดปล่อย หวอเหงียนย้าปพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการให้ความเห็นชอบ เพราะได้เน้นถึงความยากลำบากในการส่งกำลังบำรุงสร้างเส้นทางที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับป้องกันภัยทางอากาศจากเครื่องบิน B52 รวมทั้งการเคลื่อนย้ายรถถัง T54 และปืนใหญ่ ซึ่งก็นับว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าการลากปืนใหญ่ 105 ม.ม. ขึ้นสู่เขารายล้อมเดียนเบียนฟู
ในที่สุดถึงแม้ว่าต้องมีความยากลำบากและสูญเสียกำลังไปบ้าง หวอเหงียนย้าปได้ผ่านการเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยเน้นเรื่องการส่งกำลังบำรุงให้มีประสิทธิภาพ และแล้วเส้นทางนี้จึงได้รับการขนานนามต่อมาว่า “เส้นทางโฮจิมินห์”
ความเหี้ยมโหดของสงครามที่อเมริกาใช้อย่างไร้มนุษยธรรมที่สุดคือ การทำสงครามเคมี โดยหว่านโปรยสารเคมีที่เรียกว่า “ฝนเหลือง” ทำให้ป่าไม้พืชพรรณรวมทั้งผู้คนล้มตาย ที่ดินถูกทำลายไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีก ประจักษ์พยานยังหลงเหลือให้เห็นในเวียดนามจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้กระทั่งในบ้านเรา ทหารอเมริกันได้เอาถังบรรจุอาวุธเคมีเหล่านี้ไปทิ้งซุกซ่อนอยู่ใกล้สนามบินบ่อฝ้าย หัวหิน และถูกค้นพบเมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงร่วม 30 ปีมาแล้ว และก็ไม่อาจหาผู้รับผิดชอบได้
ทหารแห่งกองทัพประชาชนเวียดนามที่เข้าสู่สมรภูมิในเวียดนามใต้ก็ได้ทำการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังแนวร่วมปลดปล่อยและประชาชนผู้รักชาติ โดยมีศัตรูร่วมกันคือ จักรวรรดินิยมอเมริกาและทหารหุ่น การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดต่อเนื่องทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ทหารอเมริกันถูกส่งเข้ามาทำการรบในต้นปี ค.ศ. 1965
กองพล 308 ของเวียดนามเหนือที่มีเกียรติประวัติมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมัยยุทธการชายแดนตอนเหนือและในศึกพิชิตเดียนเบียนฟู ได้ประจัญบานกับกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วของอเมริกา ที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงพล ผลปรากฏว่า ฝ่ายอเมริกาเมื่อลงสู่พื้นดินไม่มีความชำนาญในภูมิประเทศ ก็ถูกทหารแห่งกองพล 308 ที่ขุดหลุมซ่อนตัวอยู่โจมตีจนแตกพ่ายไป
การบุกโจมตีในเทศกาลวันเต็ดปี ค.ศ. 1968
เวียดนามถือปฏิทินตามจันทรคติเช่นเดียวกับจีน มีวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษเช่นเดียวกันคือ ตรุษจีน หรือ เต็ดเวียดนาม ระหว่างช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของแต่ละปีตามจันทรคติ การเฉลิมฉลองของเวียดนามมีความสำคัญไม่แพ้จีน ถือเป็นวันของครอบครัว ครอบครัวที่อยู่ห่างไกลก็ต้องกลับมาบ้านเพื่อร่วมรับประทานอาหาร พบปะกันทั่วหน้า และเข้าทำนองเดียวกับวันสงกรานต์ของเรา ในหลายท้องที่มีการฉลองวันเต็ดหรือปีใหม่นี้ถึง 7 วัน 7 คืนทีเดียว ผู้คนไม่ต้องทำงานทำการอะไร
ด้วยเหตุนี้ทางทหารเวียดนามใต้รวมทั้งทหารอเมริกัน หลังจากสู้รบมาเป็นเวลานาน เหน็ดเหนื่อยและประสบแต่ความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงได้รับการอนุญาตให้ลาพักผ่อนในวันเต็ดเป็นเวลาหลายวัน และตั้งอยู่ในความประมาทสูงสุด โดยมิได้เฉลียวใจว่าอะไร จะเกิดขึ้นในวันเต็ดแห่ง ปี 1968
ฝ่ายเวียดนามเหนือตระหนักถึงจุดอ่อนของข้าศึก จึงได้กำหนดแผนยุทธการเข้าโจมตีตามตัวเมืองสำคัญของเวียดนามภาคใต้ รวมทั้งไซ่ง่อนที่ตั้งเมืองหลวง เว้อดีตเมืองหลวงของจักรพรรดิเวียดนาม และตามเมืองสำคัญอีกหลายแห่ง
การบุกโจมตีอย่างฉับพลันเริ่มขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 1968 ขณะกำลังป้องกันของข้าศึกหละหลวม เพราะกำลังพลได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้าน
ที่ไซ่ง่อนเอง กองทัพประชาชนเวียดนามบุกเข้าไปสถานทูตอเมริกันและตรึงกำลังไว้ระยะหนึ่ง ก่อนที่ทหารอเมริกันจะเข้ามาแย่งชิงคืนไป แต่กระนั้นก็ตาม การบุกโจมตีเข้าไปในสถานทูตอเมริกันก็ถือเป็นการแสดงให้โลกเห็นแล้วว่า อเมริกาไม่สามารถรักษาตัวเองได้แม้กระทั่งสถานทูตของตน
สำหรับที่เมืองเว้ กองกำลังเวียดนามเหนือได้เข้ายึดเมืองไว้แล้ว ต่อมานาวิกโยธินอเมริกันเสริมกำลังเข้าตีโต้ มีการรบขั้นแตกหักอยู่เป็นเวลาเกือบสองเดือน ถึงขนาดการสู้รบชนิดตัวต่อตัวในบริเวณพระราชวัง ก่อนที่กองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือจะถอนตัวออกมา
การบุกโจมตีอย่างฉับพลันในวันเต็ด สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตทหารทั้งสองฝ่าย หวอเหงียนย้าปในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดกับคณะกรรมาธิการทหารได้สรุปประเมินผล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเกิดการสูญเสียอันเนื่องจากการสบทบจังหวะระหว่างทหารหลักกับฝ่ายจรยุทธ์ยังขาดประสบการณ์พอสมควร ทำให้ฝ่ายจรยุทธ์และประชาชนถูกเข่นฆ่าไปเป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังที่กองกำลังประจำการถอนตัวออกไปแล้ว ฝ่ายอเมริกาโดยเฉพาะนายพล เวสต์ มัวร์แลนด์ ที่ขวัญหนีดีฝ่อได้แลเห็นลางแห่งความพ่ายแพ้เด่นชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งการหมดสิ้นเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองด้วย
เมื่ออเมริกาเริ่มมองเห็นแล้วว่า ไม่อาจชนะกองทัพและประชาชนเวียดนาม จึงตกลงเจรจากับทางเวียดนามเหนือ ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่กรุงปารีสตั้งแต่นั้นมา แต่การเจรจาเป็นไปอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายปี ถึงแม้ว่ามติมหาชนอเมริกันจะเรียกร้องรุนแรงขึ้นทุกที ให้ยุติศึก ให้ถอนทหารอเมริกันกลับบ้านเสียที ชายหนุ่มอเมริกันหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หนีหมายเกณฑ์โยกย้ายไปแคนาดา แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีคลินตันสมัยวัยหนุ่มก็หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตาม อเมริกายังพยายามสร้างเงื่อนไขเอาเปรียบ และใช้การขู่โจมตีทางอากาศเวียดนามเหนือมาต่อรอง โดยอ้างว่าจะหยุดโจมตีทางอากาศถ้าเวียดนามเหนือยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขของตน ซึ่งก็มิได้ทำให้เวียดนามเหนือหวาดกลัวแต่อย่างใด
2 กันยายน 1969 — วันประกาศเอกราชสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ครบปีที่ 24 เวียดนามต้องสูญเสียปูชนียบุคคลอันเป็นบิดาของประเทศ คือ ประธานโฮจิมินห์ หรือ “ลุงโฮ่” ที่คนเวียดนามทั้งประเทศเรียกขานด้วยความสนิทสนมเคารพรักใคร่มาตลอด
นอกจากความเศร้าโศกเสียใจแล้ว ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ประธานโฮจิมินห์ยังไม่มี โอกาสกลับไปเยี่ยมไซ่ง่อน ถิ่นเก่าที่ท่านได้ออกเดินทางไปเพื่อแสวงหาหนทางกอบกู้เอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1911 ขณะมีอายุเพียง 21 ปี ทั้งที่ในปีท่านถึงแก่อสัญกรรมนั้น ชัยชนะในการปลดปล่อยเวียดนามใต้และการรวมประเทศเป็นเอกภาพ อยู่เพียงแค่เอื้อม คืออีกเพียง 6 ปีเท่านั้น
หวอเหงียนย้าป และสหายฝ่ายนำของพรรค รายล้อมเตียงที่รองรับร่างท่านโฮจิมินห์ พร้อมทั้งแปรเปลี่ยนความเศร้าโศกเป็นกำลังใจในการต่อสู้จนถึงที่สุด ด้วยกำหนดยุทธการอันมีชื่อต่อจากนี้ไปว่า “ยุทธการโฮจิมินห์”
การเจรจาเพื่อให้สันติภาพกลับคืนสู่เวียดนามใต้ เริ่มขึ้นที่กรุงปารีสในวันที่ 11 พฤษภาคม 1968 ประกอบด้วยคู่กรณีอันได้แก่ รัฐบาลเวียดนามเหนือ, แนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ และรัฐบาลเวียดนามใต้
สำหรับผู้แทนแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้เป็นสุภาพสตรี ชื่อมาดามเหวียนธิบิ่นห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานแนวร่วมปลดปล่อย มาดามเหวียนธิบิ่นห์ สุภาพสตรีชาวเวียดนามใต้ในวัย 40 เศษผู้นี้ มีท่วงท่าอันสง่างาม จริงใจ การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นไปอย่างมั่นคงชัดแจ้งไม่บิดเบือน จนทำให้บุคคลทั่วไปยอมรับนับถือ ภายหลังการรวมประเทศเป็นเอกภาพ ท่านได้รับตำแหน่งรองประธานประเทศจนเกษียณอายุ และก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับส่วนงานที่มีความสำคัญในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
นายคิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ สมัยประธานาธิบดีนิกสันในขณะนั้น ก็มีบทบาทสำคัญในการเจรจา ด้วยการเป็นนักต่อรองชั้นเยี่ยม ใช้วิธีการทูตแบบวิ่งรอก บินไปมาระหว่าง วอชิงตัน-ปารีส, ปารีส-ไซ่ง่อน มีทั้งการเจรจานอกรอบในรอบ ครบวงจร แต่ก็ไม่อาจใช้ชั้นเชิงของตนเอาเปรียบรัฐบาลเวียดนามเหนือ ผู้ยึดถือหลักการแห่งความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด
สหายเลอดุ๊กโธ่ว์ สมาชิกอาวุโสกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ตัวแทนรัฐบาลเวียดนามเหนือ ได้ใช้ความหนักแน่นสงบนิ่งในการเจรจา และขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการกรมการเมืองเพื่อบรรลุมติเป็นเอกฉันท์ในแต่ละขั้นตอนของการเจรจา ที่น่าสนใจก็คือว่า เมื่อการเจรจาสันติภาพตกลงกันได้แล้ว ทั้งสหายเลอดุ๊กโธ่ว์และนายคิสซิงเจอร์ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพร่วมกัน
ส่วนผู้แทนรัฐบาลเวียดนามใต้ที่เข้าร่วมประชุมนั้นไม่มีบทบาทอะไรเลย เพราะอยู่ภายใต้การบงการของอเมริกา การเข้าร่วมประชุมก็เท่ากับเป็นไม้ประดับ รัฐบาลเวียดนามใต้เริ่มรู้ดีว่าอเมริกากำลังลอยแพพวกตน จึงพยายามยื้อดึงไม่ให้ถูกทอดทิ้ง
นายพลหวอเหงียนย้าปได้กำหนดวิธีปฏิบัติงานให้เกิดการสอดคล้องกันทุกด้าน โดยให้ฝ่ายสารนิเทศและการข่าวกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามผลการประชุมทุกระยะอย่างใกล้ชิด เพื่ออ่านท่าทีของอเมริกาจะดำเนินการรูปใด แล้วประมวลผลประกอบการวางแผนสู้รบ
การโจมตีทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B52 ต่อนครหลวงฮานอย ที่เป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อนและหลังวันคริสต์มาส ปี 1972 ก็เท่ากับการแสดงฤทธิ์เดชของอเมริกาที่ใกล้ถึงจุดจบแล้ว ทั้งนี้หลังจากนั้นเพียง 1 เดือน คือในวันที่ 28 มกราคม 1973 การเจรจาที่กรุงปารีสก็สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อสันติภาพในเวียดนามใต้ ทหารอเมริกาต้องถอนออกไปจากเวียดนามภายใน 60 วัน ทำให้ลูกน้องระดับสูงของคิสซิงเจอร์คนหนึ่งถึงกับกล่าวด้วยความไม่พอใจว่า “เราไปทิ้งระเบิดฮานอยเต็มที่ เหตุไฉนจึงมายอมให้มีการตกลงกันได้”
เหวียนวันเถี่ยว ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ ที่อเมริกาดึงเอาตัวเข้ามาดำรงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายแห่งรัฐบาลเวียดนามใต้ ได้แสดงอาการเกรี้ยวกราดต่อสหรัฐ ที่ไปทำข้อตกลงที่เขาถือว่ายอมอ่อนข้อต่อเวียดนามเหนือ ทั้งเขายังหาทางทำลายข้อตกลงดังกล่าวแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะกำลังฝ่ายเหนือเข้มแข็งมากกว่า และทหารเวียดนามใต้ก็ไม่มีขวัญกำลังใจสู้รบ ขณะที่อเมริกาเองก็สนับสนุนเวียดนามใต้ในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้คนเวียดนามรบกันเอง จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรอเมริกาไม่เอาด้วยอีกแล้ว อีกทั้งมติมหาชนอเมริกันเรียกร้องให้ถอนทหารกลับบ้านอย่างสิ้นเชิงโดยเร็วที่สุด
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), สมรภูมิเวียดนามใต้, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 121 - 132.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ถิ่นกำเนิดปฐมวัย
- ตอนที่ 2 - นักอภิวัฒน์หนุ่ม
- ตอนที่ 3 - แรกพบโฮจิมินห์
- ตอนที่ 4 - จัดตั้งกองทัพประชาชน
- ตอนที่ 5 - ควบรวมกระทรวงกลาโหม - มหาดไทย
- ตอนที่ 6 - ถอยเพื่อรุก
- ตอนที่ 7 - “รุก” ยุทธการชายแดน
- ตอนที่ 8 - เดียนเบียนฟู
- ตอนที่ 9 - นิ้วมือทั้งห้า
- ตอนที่ 10 - ป้อมค่ายแห่งความปราชัย
- ตอนที่ 11 - เส้นขนานที่ 17
- ตอนที่ 12 - ผู้บัญชาการสูงสุดในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้