ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ผู้บัญชาการสูงสุดในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

9
ตุลาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 11
ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : เส้นขนานที่ 17

จากชัยชนะศึกเดียนเบียนฟู นำมาซึ่งข้อตกลงเจนีวา ปี ค.ศ. 1954 นั้น มีการระบุไว้ว่าปี ค.ศ. 1956 ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเวียดนามภาคใต้ เพื่อตัดสินว่าจะเข้ารวมประเทศเป็นเอกภาพกับเวียดนามภาคเหนือ หรือจะให้เวียดนามภาคใต้ดำเนินรูปแบบการปกครองอย่างหนึ่งอย่างใด

อเมริกาซึ่งมิได้ลงนามในข้อตกลงเจนีวา และเข้ามามีอำนาแทนที่ฝรั่งเศส จัดการให้โงดินเดียมผู้เป็นลูกสมุนเต็มตัว ทำการละเมิดข้อตกลงโดยไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะทางฝ่ายอเมริกาประเมินแล้วว่า ถ้ามีการเลือกตั้งฝ่ายสนับสนุนการรวมประเทศจะชนะอย่างท่วมท้น อันจะทำให้เวียดนามทั้งประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ เรื่องดังกล่าวอเมริกายอมไม่ได้เด็ดขาด

สรุปการรวมประเทศโดยสันติวิธีไม่มีทางเป็นไปได้ อนึ่ง ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี นักวิเคราะห์สถานการณ์จากประเทศตะวันตกหลายสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาคาดการณ์ว่า หากจัดเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1956 เมื่อฝ่ายโฮจิมินห์ได้รับชัยชนะก็จะดำเนินการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เวียดนามก็สามารถปรับตัวพัฒนาประเทศไปได้ในยามสันติ อเมริกาจะไม่ต้องสูญเสียชีวิตทหารลูกหลานคนอเมริกันจำนวนมาก เสียเงินมหาศาล และเสียเกียรติภูมิต่อประชาคมโลก

การทำตัวเป็นตำรวจโลกของอเมริกาในยุคนั้นก็เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ โดยมิได้คำนึงถึงความชอบธรรมของประชาชนในประเทศต่างๆ เลย

 


ประธานาธิบดีจอห์นสัน กล่าวประกาศสงคราม เมื่อเดือน 7 ปี 1963

 


OSS.

 


CIA.

 

ซีไอเอ หรือ สำนักข่าวกรองกลางอเมริกา เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวียดนามใต้ด้วยวิธีการอันแยบยล ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย จนสามารถเข้าควบคุมผู้ปกครองฝ่ายเวียดนามใต้ทั้งทหารและพลเรือน นอกจากนี้ ซีไอเอ และกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกันจัดจ้าง บริษัท แรนด์ (RAND CORPORATION) ให้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าวางแผนเสนอแนะอเมริกา ในการจัดวางยุทธศาสตร์ต่อสู้กับเวียดนามเหนือ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ เข้ามาร่วมทำงาน

ทั้งนี้และทั้งนั้นย่อมเป็นภาวะอันสุดแสนจะทนทานได้ของผู้รักชาติเวียดนาม ที่ถูกศัตรูฝ่ายตรงข้ามปราบปรามเข่นฆ่าอย่างทารุณ จนในที่สุดจึงได้ร่วมกันจัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติขึ้น โดยมีมติเลือกให้ นายเหวียนฮือถ่อ (Nguyen Huu Tho) นักกฎหมาย-ทนายความอาวุโสจากไซ่ง่อนเป็นประธานฯ บุคคลผู้นี้มิได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ท่านต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติวิธีเพื่อการรวมประเทศเป็นเอกภาพ ทั้งเคยถูกโงดินเดียมจับขังคุกมาแล้ว

 


โฮจิมินห์มอบเหรียญกล้าหาญให้ทหารเรือ ทหารอากาศที่ได้รับชัยชนะวันที่ 2 และ 5-8-1964

 

 

แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นในต้นทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1960 อเมริกาและพวกปฏิกิริยาเวียดนามใต้ โฆษณากล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของพวกเวียดนามเหนือ และเรียกผู้ต่อต้านว่าเป็นพวก “เวียดกง” ซึ่งเป็นคำเรียกอย่างย่อว่า “พวกคอมมิวนิสต์เวียดนาม” เท่ากับการสบประมาทและดูถูก คล้ายกับเรียกผู้รักชาติสมัยต่อสู้กับฝรั่งเศสว่า “เวียดมินห์” อันที่จริงแล้ว ภายหลังชัยชนะในการปลดปล่อย ผู้ปฏิบัติงานในเวียดนามใต้ก็กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า พวกเขาเป็น "เวียดกง" มาก่อน

กองกำลังแนวร่วมขยายตัวออกไป สามารถสร้างฐานที่มั่นในชนบทได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตทางทิศตะวันตก มีพื้นที่ปฏิบัติการรายล้อมหัวเมืองต่างๆ เพลงปลุกใจ ปลดปล่อยเวียดนามใต้ มีเนื้อร้องและท่วงทำนองฮึกเหิม ดังใจความท่อนหนึ่งว่า “จงลุกขึ้น ประชาชนชาวเวียดนามผู้องอาจกล้าหาญ” เสียงเพลงนี้กระหึ่มไปทั่วประเทศ และกระทุ้งหัวใจบรรดากรมกองทหารที่อพยพมาจากภาคใต้ให้ร้องเข้าจังหวะการเดินแถว สั่นสะเทือนอารมณ์ความมุ่งมั่น พร้อมร่วมกับพี่น้องทางภาคใต้สู้รบปลดปล่อยประเทศ

 

 


แสนยานุภาพของจักรวรรดิอเมริกา

 


จุดจบผู้รุกราน

 

ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเวียดนาม ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประธานโฮจิมินห์และพรรค หวอเหงียนย้าปได้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการกลางแห่งกิจการทหาร ให้มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์เพื่อเสนอรายงานต่อคณะกรรมการกลางแห่งกรมการเมืองของพรรค ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุด ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ทั้งนี้ฝ่ายการนำของพรรค เห็นพ้องเป็นเอกฉันท์แล้วว่า หนทางแห่งการรวมประเทศโดยสันติวิธีตามข้อตกลงเจนีวา 1954 นั้นเป็นไปไม่ได้ และอเมริกาก็เข้ามาแทนที่ฝรั่งเศสเต็มตัว จึงต้องสู้ศึกกับอเมริกาในสงครามที่ไม่มีการประกาศตามแบบฉบับโดยทั่วไป

หน้าที่ของคณะกรรมาธิการกลางแห่งกิจการทหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับสูงผู้เคยสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับหวอเหงียนย้าปนอกเหนือจากสรุปรายงานต่อคณะกรรมการแห่งกรมการเมืองแล้วก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์สงคราม รับทราบผลปฏิบัติการสู้รบในแนวหน้า และให้ข้อเสนอแนะด้านการปรับปรุงยุทธวิธีให้เหมาะสม

หวอเหงียนย้าปมีผู้ช่วยที่ทำงานใกล้ชิดคือ นายพลวันเตี่ยนหยง (Van Tien Dune) นายทหารท่านนี้เคยเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 320 ในศึกเดียนเบียนฟู รับหน้าที่ต้านยันกองทหารฝรั่งศสมิให้บุกฝ่าเข้ามาช่วยพวกของตน ปฏิบัติการได้รับความสำเร็จจนทำให้ฝรั่งเศสต้องถอยร่นเข้าคุ้มกันเมืองใหญ่ เช่น ฮานอย ไฮฟอง เป็นต้น นายพลวันเตี่ยนหยง เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ยุทธวิธี “บัวบาน” กล่าวคือ เมื่อทำการปิดล้อมข้าศึกได้แล้วให้หาทางมุ่งโจมตีเข้าสู่กองบัญชาการข้าศึก ทำลายภายในให้แตกพ่ายแล้วขยายวงออกมายังแนวป้องกันรอบนอก ประดุจกลีบดอกบัวที่คลี่บาน นายพลวันเตี่ยนหยงได้รับความไว้วางใจจากหวอเหงียนย้าป มีความรับผิดชอบสูงขึ้น และเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการใหญ่กองทัพ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

หวอเหงียนย้าปเสนอต่อกรมการเมืองของพรรคแต่งตั้งให้วันเตี่ยนหยงเป็นแม่ทัพแนวหน้าในสงครามปลดปล่อยจนประสบชัยชนะในที่สุด

แผนยั่วยุของอเมริกาเพื่อหาเหตุอ้างความชอบธรรม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1965 เมื่ออเมริกาสั่งให้เรื่อพิฆาต “แมคคอกซ์” รุกล้ำน่านน้ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม ทั้งนี้เพื่อชิมลางดูว่าทางเวียดนามเหนือจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร เพราะเวียดนามไม่มีกองเรือรบอันเกริกไกรเช่นกองเรือที่ 7 ของสหรัฐ ที่ทำหน้าที่เป็นนักเลงโตอยู่ในย่านแปซิฟิก เวียดนามคงมีแต่เรือยามฝั่งขนาดเล็ก น้ำหนักไม่เกิน 100 ตัน แต่ก็เข้าต่อกรกับเรือรบอเมริกาอย่างกล้าหาญสุดฤทธิ์ ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีจอห์นสัน มีคำสั่งให้กองทัพอากาศสหรัฐเข้าโจมตีทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือทันทีเป็นครั้งแรก ด้วยเครื่องบินไอพ่นที่ทันสมัยที่สุด

เนื่องจากเวียดนามไม่เคยมีประสบการณ์การต่อสู้ทางอากาศยาน จึงได้สะสมบทเรียน พร้อมทั้งได้รับการช่วยเหลืออาวุธทันสมัยจากประเทศค่ายสังคมนิยม ส่วนใหญ่ก็คือจีนและสหภาพโซเวียต รวมทั้งขีปนาวุธพื้นดินสู่อากาศ ที่สามารถสอยเครื่องบิน B52 ลงได้ ซึ่งในเวลาต่อมาเครื่องบินอเมริกาถูกยิงตกบริเวณเวียดนามเหนือจำนวนไม่น้อย ทำให้นักบินอเมริกันจากฐานบินตาคลี, โคราช, นครพนม, อุดรธานี ต่างขยาดไม่ค่อยอยากเข้าไปปฏิบัติงาน เล่าลือกันว่านักบินได้สลัดลูกระเบิดทิ้งในลาวแล้วบินกลับ อ้างว่าได้ไปทำการทิ้งระเบิดเรียบร้อยแล้ว เครื่องบินอเมริกันหลายลำเมื่อถูกยิงตก นักบินใช้ร่มชูชีพช่วยชีวิตรอดมาได้ก็ถูกชาวบ้านชาวเวียดนามจับตัวไป ปรากฏภาพถ่ายเผยแพร่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั่วโลก

นักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและจับได้นั้น ทางเวียดนามควบคุมตัวไว้ยังคุกใจกลางกรุงฮานอย โดยให้การดูแลตามสมควรแห่งมนุษยธรรม ทั้งๆ ที่อเมริกาทำสงครามที่ไม่ประกาศ เพราะฉะนั้นนักบินอเมริกันก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเชลยศึกตามอนุสัญญาว่าด้วยเชลยศึก ทางเวียดนามมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด แม้กระทั่งประหารชีวิตในฐานะโจรที่ทำลายล้างและฆ่าฟันประชาชน แต่กระนั้นก็ตามเวียดนามก็ไม่ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าไร้มนุษยธรรม

 

 


ส่วนหนึ่งของนักบิน B52 ที่ถูกจับ

 

คุกคุมขังนักบินอเมริกันตั้งอยู่ใจกลางกรุงฮานอย เป็นคุกที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นเมื่อคราวปกครองเวียดนามและก็เคยใช้คุมขังนักอภิวัฒน์ชาวเวียดนามมาแล้วหลายคน ในสมัยหนุ่ม หวอเหงียนย้าปก็เคยถูกคุมขังมาแล้วในข้อหากบฏ คุกนี้ได้รับการขนานนามเสียโก้หรูว่า “ฮานอย ฮิลตัน” ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสันติภาพกลุ่มผู้ลงทุนโรงแรมฮิลตันตัวจริงก็ได้มาก่อสร้าง “ฮานอย ฮิลตัน” เป็นโรงแรมระดับห้าดาว แต่ไม่ใช่บริเวณคุกเดิมซึ่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว “ฮานอย ฮิลตัน” ตัวจริงตั้งอยู่ห่างจากที่คุมขังเดิมเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร

มีแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในบรรดาผู้ถูกจับคุมขังที่ “ฮานอย ฮิลตัน” มีนักบินชื่อนายปีเตอร์สัน ต่อมาเมื่อทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต รัฐบาลสหรัฐได้แต่งตั้งให้เขามาเป็นเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำเวียดนาม ซึ่งดูไปแล้วทางอเมริกาก็เข้าใจเล่น และในระหว่างทำหน้าที่เอกอัครรัฐทูต นายปีเตอร์สันมีผลงานเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศเป็นอย่างดี มีคราวหนึ่งเขายังเดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านผู้จับกุมเขา จนเป็นข่าวน่ารักเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก เมื่อครบวาระนายปีเตอร์สันเดินทางกลับสหรัฐพร้อมภรรยาที่พบรักกันในฮานอย และภรรยาก็เป็นสาวออสเตรเลียนเชื้อสายเวียดนามเสียด้วย

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), ผู้บัญชาการสูงสุดในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 107 - 113.

บทความที่เกี่ยวข้อง :