ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : “เดียนเบียนฟู” กลางอากาศ

23
ตุลาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 12 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ผู้บัญชาการสูงสุดในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

ฤดูหนาว เดือนธันวาคม ค.ศ. 1973 ที่กรุงฮานอย อากาศเย็นชื้นจัดกว่าทุกปี ทางการมีคำสั่งอพยพโยกย้ายผู้คนออกจากเมืองหลวง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และยังยากที่จะคาดเดา 

ขณะการเจรจาเวียดนาม-อเมริกาที่กรุงปารีสอยู่ในภาวะวิกฤต นิกสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ชาวอเมริกันที่คัดค้านการทำสงครามในเวียดนามมีจำนวนมากขึ้น การเดินขบวนประท้วงและปะทะกับเจ้าหน้าที่แผ่ขยายไปในวงกว้าง ชายหนุ่มอเมริกันหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารเพราะกลัวว่าจะถูกส่งไปรบในเวียดนาม

 

พิธีลงนามในสนธิสัญญาปารีส ปี 1973
พิธีลงนามในสนธิสัญญาปารีส ปี 1973

 

เหวียนวันเถี่ยว ออกโรงคัดค้านการเจรจาเวียดนาม - อเมริกาอย่างสุดฤทธิ์ เพราะอ่านเกมว่าในที่สุดแล้วตนก็จะถูกลอยแพ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นักการทูตมือเอกวิ่งรอกไปมาหาลู่ทางให้เกิดสันติภาพ และหาทางไม่ให้อเมริกาต้องเสียเกียรติภูมิ อเมริการีบส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เหวียนวันเถี่ยวมากเป็นพิเศษ เพื่อให้คนเวียดนามเข่นฆ่ากันเอง ในขณะที่อเมริกามองเห็นแล้วว่าไม่อาจเอาชนะฝ่ายเวียดนามเหนือจึงได้หาวิธีถอนทหารของตนออกไป โดยใช้การประชุมที่ปารีสต่อรองให้เกิดผลดีแก่ตน

ต้นปี ค.ศ. 1968 ประธานโฮจิมินห์ได้กล่าวขณะตรวจเยี่ยมกองบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศว่า “ไม่ช้าไม่นานจักรวรรดินิยมอเมริกาจะส่งฝูงบิน B52 มาทิ้งระเบิดฮานอย ถ้าพวกเขาทำไม่สำเร็จก็จักนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในสงคราม”

 

รองประธานตนดึ๊กถัง ติดตามดูเครื่องบินข้าศึกบนจอภาพ โดยมีหวอเหงียนย้าปร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
รองประธานตนดึ๊กถัง ติดตามดูเครื่องบินข้าศึกบนจอภาพ โดยมีหวอเหงียนย้าปร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

 

B52 เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนาดหนัก กองทัพสหรัฐภาคภูมิใจในอานุภาพยิ่งนัก มันมีเพดานบินสูงจนภาคพื้นดินไม่สามารถมองเห็น มีพิสัยบินระยะไกล รับการเติมน้ำมันกลางอากาศได้ โดยทางเครื่องบินบรรทุกเชื้อเพลิง KC135 นอกจากตั้งฐานบิน B52 ที่เกาะกวม กลางมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ยังส่งมาประจำการ ณ สนามบินอู่ตะเภาในประเทศไทย

B52 ถูกใช้ทิ้งระเบิดโจมตีทางภาคใต้ของเวียดนามก่อน รวมทั้งเส้นทางโฮจิมินห์ จากนั้นจึงจัดส่งไปทิ้งระเบิดที่ฮานอยและเวียดนามเหนือในปลายปี ค.ศ. 1973

เดือนกันยายน ค.ศ. 1991 คณะมิตรสหายชาวไทยมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ นายพล หวอเหงียนย้าป ที่กรุงฮานอย ท่านนายพลบอกเล่าเกี่ยวกับการโจมตีของ B52 ว่า เราสามารถรู้ได้ทันทีเมื่อเครื่องบิน B52 เริ่มบินออกจากสนามบิน ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ผู้มาเยือน แต่เมื่อได้มาค้นคว้าและติดตามข่าวสารก็จะทราบถึงประสิทธิภาพของกรมข่าวกรองทางทหาร ผู้ทำหน้าที่สืบหาความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงกันข้าม และได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศแห่งค่ายสังคมนิยม

หวอเหงียนย้าป มีประสบการณ์ในการทำสงครามกับฝรั่งเศส กับสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับ B52 ฉะนั้นจำต้องเร่งศึกษาปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีให้เหมาะสม สิ่งแรกก็คือ การจัดตั้งกรมต่อสู้อากาศยานขีปนาวิถีจากพื้นดินสู่อากาศ ทางสหภาพโซเวียตจัดส่งขีปนาวุธ SAM ซึ่งมีเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถยิง B52 ตกได้มาให้ซึ่งปืนต่อสู้อากาศยานทั่วไปอาจไม่สามารถทำได้ ในเวลาต่อมา เวียดนามผลิตตัวจรวดนำวิถีเองได้ ส่วนฐานยิงนั้นยังรับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต

การบัญชาการโดยตรงอย่างใกล้ชิด พร้อมชี้แนะปรับปรุงยุทธวิธีในการต่อสู้ของนายพลหวอเหงียนย้าป ทำให้กำลังพลของหน่วยมีกำลังใจ มั่นใจ กล้าหาญในการต่อสู้

 

ทหารยิงตอบโต้อากาศยาน
ทหารยิงตอบโต้อากาศยาน

 

เดือนพฤษภาคม 1966 กรมต่อสู้อากาศยานขีปนาวิถีที่ 238 ถูกส่งเข้าประจำการที่เขตเมืองวินภ์ลินห์ เตรียมพร้อมใช้วิธีการใหม่สำหรับรับมือกับ B52 และหนึ่งปีให้หลัง คือเดือนกันยายน 1967 กรมทหารนี้ก็สอย B52 ร่วงเป็นลำแรก

นับตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา การรับมือ B52 ได้จัดเตรียมอย่างมีระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1972 นิกสันสั่งเครื่องบิน B52 ทิ้งระเบิดเส้นทางโฮจิมินห์ เพื่อสกัดกั้นการส่งกำลังบำรุงเข้าสู่เวียดนามภาคใต้ ถึงแม้จะทำความเสียหายให้แก่เส้นทางและผู้คนไปบ้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้สามารถศึกษาบทเรียน จุดเด่นจุดด้อยของ B52 เพื่อประยุกต์ยุทธวิธีในการป้องกันนครหลวงฮานอย กระทั่งเดือนสิงหาคม 1972 การเตรียมงานต่อสู้ B52 มีความพร้อมเต็มที่

 

เครื่องบิน B52 ของข้าศึกถูกทำลาย

 


เครื่องบิน B52 ของข้าศึกถูกทำลาย
เครื่องบิน B52 ของข้าศึกถูกทำลาย

 

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1972 กรมขีปนาวุธที่ 263 ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดเหงะอาน ได้ยิง B52 ไปตกที่เขตจังหวัดนครพนม (คำยืนยันของสำนักข่าว UPI สหรัฐ) แสดงให้เห็นว่า การประสานงานด้านทฤษฎีได้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ มีการพิมพ์คู่มือให้ผู้ปฏิบัติการ รวมทั้งการปรับปรุงระบบเรดาร์ เพื่อส่งสัญญาณเข้าไปก่อกวนเรดาร์ของเครื่องบิน B52 ให้หลงทิศหลงทาง

 

ซากเครื่องบิน
ซากเครื่องบิน

 

ต่อมา วันที่ 18 ธันวาคม เวลา 19.00 น. สหายที่รับผิดชอบด้านสืบสารได้รายงานว่า เครื่องบิน B52 บินออกจากเกาะกวมและอู่ตะเภามุ่งหน้าผ่านแม่น้ำโขงมาหลายฝูง หลังจากนั้นไม่นานได้รับรายงานว่า B52 เข้าทิ้งระเบิดสนามบินชานกรุงฮานอย เช่นที่ยาลัม และนอยไบ อเมริกายังใช้เครื่องบิน F111 เข้าร่วมโจมตีฮานอยด้วย ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่นิกสัน, คิสซิงเจอร์ นายพลเฮกเห็นชอบร่วมกัน และใช้เรือบรรทุกเครื่องบินในบริเวณอ่าวตังเกี๋ยทำการกดดันเวียดนามเหนือทุกวิถีทาง

 

นักบินที่ถูกจับกุม
นักบินที่ถูกจับกุม

 

การต่อสู้กับเครื่องบิน B52 เป็นไปอย่างดุเดือดตลอดวันที่ 18 - 21 ธันวาคม ปรากฏว่ายิง B52 ตก 7 เครื่อง หวอเหงียนย้าปไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและชมเชยหน่วยขีปนาวิถี และขอให้พยายามยิงให้ตกมากขึ้น

การทิ้งระเบิดปูพรมเริ่มอีกหลังคริสต์มาส วันที่ 26 ธันวาคม เครื่องบิน B52 นับร้อยเครื่องมุ่งเข้าโจมตีเป้าหมาย แม้กระทั่งโรงพยาบาล ที่พักอาศัยของพลเรือน สร้างความเสียหายมากมาย ผู้คนล้มตายเกินกว่า 1,000 คน และในวันที่ 26 - 27 ธันวาคม เครื่องบิน B52 ถูกยิงตกอีกถึง 8 ลำ ซึ่งเป็นสถิติที่สหรัฐอเมริกาสูญเสียมากที่สุดในช่วงเวลา 2 วัน B52 ลำหนึ่งถูกยิงตกในใจกลางกรุงฮานอย บนถนนไฮ่บาจรึง (สองพี่น้องวีรสตรีจรึงจั๊ด, จรึงหงี่)

การสูญเสียชีวิตของพลเรือนชาวเวียดนามนำความเศร้าสลดใจให้แก่ผู้นำ ซึ่งต่างก็ไปเยี่ยมเยียนผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาล และประชาชนเวียดนามล้วนผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวเข้าต่อกรกับข้าศึกศัตรูอย่างไม่ท้อถอย “ไม่มีอะไรที่มีค่ายิ่งไปกว่าเอกราชและเสรีภาพ”

การสู้รบที่ผ่านมา 12 วันนั้น อเมริกาใช้ B52 ประมาณ 200 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีทางยุทธวิธีชนิดต่างๆ กว่า 1,000 ลำ เข้าโจมตีฮานอยและไฮฟอง ได้ใช้ลูกระเบิดกว่า 100,000 ตัน ทิ้งใส่โรงเรียน, โรงพยาบาล และถนนหนทางที่มีประชากรหนาแน่น ถือเป็นอาชญากรรมซ้ำซ้อนที่กระทำต่อเหยื่อครั้งแล้วครั้งเล่า

อนึ่ง ในวันที่ 27 ธันวาคม สหายฟ่ามตวน (Pham Tuan) นักบินขับไล่มิก 21 (MIG21) ได้นำเครื่องจากสนามบินเยนไบ๋ (Yen Bai) ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เข้าจู่โจม B52 ชนิดสายฟ้าแลบ และสามารถยิง B52 ตก ทำให้ฝูงบินอเมริกาต้องเสียขบวน และเป็นโอกาสให้หน่วยต่อสู้อากาศยานเขตฮานอยยิงเครื่อง B52 ตกได้อีก

ช่วงเวลาโจมตีทางอากาศต่อฮานอยและเวียดนามเหนือในปลายเดือนธันวาคม 1972 ปรากฏว่า B52 ถูกยิงตกจำนวน 33 ลำ, F111 ถูกยิงตกจำนวน 5 ลำ เครื่องบินขับไล่อันทันสมัยของกองทัพเรือสหรัฐถูกยิงตกจำนวน 24 ลำ นอกจากนี้ยังยิงเครื่องบินตรวจการณ์และเฮลิคอปเตอร์ตกอีกจำนวนหนึ่ง

 

นักบินที่ถูกจับกุม

 

นักบินที่ถูกจับกุม
นักบินที่ถูกจับกุม

 

เวียดนามได้ทำให้ B52 ของสหรัฐที่อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ทรงพลานุภาพและดีที่สุดในโลก ต้องตกเป็นง่อยแทบไร้สมรรถภาพไปเลย และอเมริกาก็ไม่กล้าโอ้อวดเจ้า B52 อีกต่อไป

นักข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์ในเวียดนาม ได้เปรียบเทียบชัยชนะบนท้องฟ้าเหนือฮานอยและเวียดนามภาคเหนือว่าเป็น “เดียนเบียนฟู” กลางอากาศอีกครั้งหนึ่งของนายพลหวอเหงียนย้าป ผู้พิชิตศึก “เดียนเบียนฟู” ภาคพื้นดินมาแล้ว

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), “เดียนเบียนฟู” กลางอากาศ, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 114 - 120.

บทความที่เกี่ยวข้อง :