ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ

15
ธันวาคม
2565

 

“การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญของประชาชน” คือ การสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมาย อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การมี “รัฐธรรมนูญ” ไม่ได้หมายความว่าเราเป็น “ประชาธิปไตย” แต่ถ้าเรามีระบอบประชาธิปไตย เราต้องมี “รัฐธรรมนูญ” เฉกเช่นเดียวกับ “นิติรัฐ” ไม่เพียงเป็นแค่การปกครองโดยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องเป็น “กฎหมาย” ที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและมีที่มาจากประชาชน

การมีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจำเป็นต้องมี “รัฐธรรมนูญ” ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน สปิริตของกฎหมายรัฐธรรมนูญและระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความมั่นคงและยั่งยืน

การบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทย เราคงเห็นปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ในสังคมซึ่งมีอิทธิพลนอกกฎหมายหรืออำนาจนอกระบบดำรงอยู่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง แต่ปัญหาที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งกฎเกณฑ์และกติกาสูงสุดจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารหรือเป็นผลพวงของรัฐประหาร

กฎเกณฑ์นั้นมีปัญหาในแง่ความยุติธรรม ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะพรรคการเมืองที่ได้รับจำนวนเสียงมากที่สุดได้รับฉันทามติจากประชาชนนั้น ไม่มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีเสียงของ ส.ว. 250 คนเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศ

กติกาสูงสุดพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานคุณค่าแห่งความยุติธรรม ย่อมสร้างปัญหาได้ตลอดเวลา การบังคับใช้กฎหมายก็จะกลายเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ และต้องฟ้องคดีกันในศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยคดีต่างๆ ด้วยคุณค่าพื้นฐานในเรื่องความยุติธรรมได้ ก็จะสามารถขจัดความอยุติธรรมจำนวนหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกไปได้

ฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่พวกเราทั้งหลาย ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย จะต้องช่วยกันรณรงค์หยุดยั้งอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ได้รับการสรรหาแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน หรือสมาชิกวุฒิสภาพิจารณางดเว้นการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในการที่จะเกิดการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าก็จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่หลายประเทศจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ โครงสร้างสังคมการเมืองของประเทศส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความเชื่อบางอย่าง เช่น ลัทธิเทวสิทธิ์ ผู้นำ หรือกษัตริย์จะอ้างว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์บ้าง ผู้นำบางประเทศอ้างว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์บ้าง ผู้นำได้รับอาณัติจากพระผู้เป็นเจ้าบ้าง เป็นสมมติเทพบ้าง

ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “กษัตริย์” จะเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเชื่อว่า “กษัตริย์” เป็นที่มาของความยุติธรรมต่างๆ การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการปกครองในแง่ของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับระบอบดังกล่าวและไม่อาจเป็นไปได้ ต่อมาเมื่อหลายประเทศมีการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยขึ้น ทำให้ “กษัตริย์” อยู่ภายใต้กฎหมาย จึงเกิดระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญบ้าง ระบอบประชาธิปไตยแบบมี “กษัตริย์” เป็นประมุขบ้าง หรือ บางประเทศก็มีการเปลี่ยนแปลงไปไกลกว่านั้น คือ ยกเลิกระบอบกษัตริย์เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขที่มาจากการเลือกของประชาชน

ในบางกรณีในหลายประเทศเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แทนที่จะได้ระบอบที่ดีกว่าเดิมปรากฏว่าก็เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จในรูปแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งในบางประเทศก็เกิดสภาวะอนาธิปไตย ภาวะความไร้เสถียรภาพได้ ซึ่งหลายประเทศจะเกิดขึ้นในบางช่วงของประวัติศาสตร์ เราสามารถหลีกเลี่ยงสภาวการณ์อันไม่พึงประสงค์ ความขัดแย้ง ความไร้เสถียรภาพ ความวุ่นวายเดือดร้อน จะไม่เกิดขึ้นถ้าพวกเราทั้งหลายช่วยพัฒนาสร้างสรรค์การปกครองโดยกฎหมาย หรือ สถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญของประชาชน” ให้เกิดขึ้นนั่นเอง

โลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 การสถาปนาและการจัดทำรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศจึงต้องมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรก เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนรวมถึงสิทธิด้านอื่นๆ

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเชิงโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง หน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันการเมืองต่างๆ ภายในประเทศ ความสัมพันธ์และหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองต่อประชาชนและประชาชนต่อสถาบันการเมือง

การมีรัฐธรรมนูญที่ดีเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นที่ประเทศจะมีความเจริญก้าวหน้า มีระบอบการเมืองที่ดีและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี การจะมีหลักประกันความสำเร็จของระบอบการเมืองยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และคุณภาพแห่งการเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ รวมทั้งพัฒนาการความเป็นมาแห่งการก่อร่างสร้างประเทศขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งเกี่ยวโยงกับอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ หรืออำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และอำนาจที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ

กรณีของไทย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2557 ซึ่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชนแต่อย่างใด แม้มีความพยายามให้มีการทำประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้อำนาจสถาปนามาอยู่ที่ประชาชน แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการลงประชามติภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนไม่ได้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่

เมื่อการสถาปนากฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญแสดงผ่านอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้มาจากประชาชนแต่มาจากคณะรัฐประหาร ทีนี้เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จะเห็นได้ชัดว่าเรามีตุลาการแบบไทยๆ เราไม่ได้มีตุลาการเหมือนประเทศตุรกี เหมือนประเทศกรีซ ซึ่งสองประเทศนี้ก็เคยเป็นประเทศที่มีรัฐประหารบ่อย ตุลาการเขายืนหยัดในจุดยืนที่บอกว่าการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่ถูกต้อง เป็นการล้มล้างการปกครองด้วยกฎหมาย แต่ในกรณีของไทยตุลาการเคยตัดสินว่าคณะรัฐประหารเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” เมื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็สามารถที่จะมีอำนาจได้โดยไม่มีความผิดในการล้มล้างการปกครองโดยกฎหมาย จึงเท่ากับว่าศาลไทยเซ็นรับรองอำนาจการล้มล้างการปกครองโดยกฎหมาย และรับรองการฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบอบประชาธิปไตยได้อย่างชอบธรรม สถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมขึ้นมาแทนที่ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดระยะเวลา 90 ปีของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว รัฏฐาธิปัตย์ คือ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งผู้ใดไม่อาจละเมิดได้ และกฎหมายอื่นไม่อาจจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ รัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารย่อมไม่ชอบธรรม ในระบบการปกครองแบบโบราณ รัฏฐาธิปัตย์ คือ เจ้าผู้ปกครองดินแดน ในยุคประชาธิปไตย รัฏฐาธิปัตย์ คือ ผู้ชอบธรรมที่เป็นที่มาของอำนาจทั้งหมด คือประชาชนทั้งหลายที่ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกลไกต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ

ปัญหาของประชาธิปไตยไทยจึงขึ้นอยู่กับสถาบันกองทัพและสถาบันตุลาการที่ยังไม่มีจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยมากพอ การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับพลวัตพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศ บางประเทศเกิดความรุนแรง บางประเทศใช้การเจรจาต่อรองอย่างสันติ บางประเทศใช้เวลายาวนานกว่าจะสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมาย บางประเทศใช้เวลาสั้นกว่า รัฐธรรมนูญอาจเกิดจากการอภิวัฒน์ลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน เป็นกรณีการอภิวัฒน์ลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของลัทธิเทวสิทธิ์

ในขณะที่บางประเทศยาวนานกว่า สงบกว่า สูญเสียน้อยกว่า เช่นประเทศในยุโรปเหนือ ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ หรือแม้กระทั่งกรณีของอังกฤษใช้เวลายาวนานก็มีการสูญเสียบ้าง แต่ก็รุนแรงน้อยกว่าฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย กรณีของอังกฤษเป็นการต่อสู้ยาวนานระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และสามัญชน ประเทศอังกฤษเริ่มจากการประกาศใช้กฎบัตรแมกนาคาร์ตาที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ ศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายจาก “กษัตริย์” ไปอยู่ที่ “รัฐสภา” อังกฤษจึงถือหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (The Supremacy of Parliament) การสถาปนารัฐธรรมนูญอาจเป็นผลผลิตต่อเนื่องจากขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของอินเดีย เป็นต้น

การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ อาจเกิดจากประเทศผู้ยึดครองได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญแล้วมอบให้ประเทศที่ถูกยึดครอง เช่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งมีแมคอาเธอร์เป็นหัวเรือใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญแล้วจำกัดอำนาจกษัตริย์ ทำให้ประเทศปกครองด้วยกฎหมายมากขึ้น

กรณีของสยามหรือไทยนั้น มีการก่อรูปของความพยายามในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญช่วง ร.ศ. 103 หรือปี พ.ศ. 2428 ตามด้วยการเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนอย่างเทียนวรรณ ก.ศ.ร. กุหลาบ และพระยาสุริยานุวัตร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีขบวนการประชาธิปไตย ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ของคณะทหารหนุ่ม จนกระทั่งมาสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้โดยคณะราษฎรได้ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้ 3 วัน เกิด “ปฐมรัฐธรรมนูญ” 27 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนหลักหมุดของการปกครองจากการปกครองโดยบุคคล มาเป็นการปกครองโดยกฎหมาย มีการร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับแรก ซึ่งเรียกว่า "ปฐมรัฐธรรมนูญ" ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ร่าง

ธรรมนูญการปกครองฉบับแรก หรือ ปฐมรัฐธรรมนูญ ได้แสดงเจตนารมณ์ของคณะราษฎร รวมทั้งเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยอย่างชัดเจนไว้ในมาตราแรก โดยระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

บันทึกในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 9.00 น. เล่าไว้ว่าเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้เชิญคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม ณ วังศุโขทัย ดังรายนามได้แก่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร, นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี, นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ, นายพันตรี หลวงวีระโยธา, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ร.อ.ประยูร ภมรมนตรี, นายจรูญ ณ บางช้าง และนายสงวน ตุลารักษ์ หลังจากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่และมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดย รัชกาลที่ 7 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดการปกครองโดยกฎหมาย หรือ ระบบที่ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้อยู่ดีๆ ไม่ได้เกิดขึ้น มันจะต้องมีการรณรงค์เรียกร้องต่อสู้ของประชาชน ถ้าผู้ปกครองมีจิตใจหรืออุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ก็ไม่มีปัญหา จะเกิดการปฏิรูปใหญ่และหลีกเลี่ยงการสูญเสียไปได้

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผลแห่งการประนีประนอมกันระหว่าง “คณะเจ้านาย” และ “คณะราษฎร” ทำให้สยามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่สูญเสียชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะในปี 2475 แทบจะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเลย แต่ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นในภายหลังจึงเกิดกรณีกบฏบวรเดชขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหลายประเทศที่เวลามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่จะมีคนเห็นต่าง การที่จะทำให้ผู้คนที่มีความเห็นต่าง ได้ต่อสู้กันบนเวทีรัฐสภา ต่อสู้กันด้วยเหตุและผล ต่อสู้กันด้วยเวทีของการใช้กฎหมาย จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยึดถือแนวทางสันติวิธี และมีพระทัยความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการจัดงานวันนี้ก็มุ่งที่จะยกย่องเชิดชู พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษ ผู้เสียสละกระทำการเพื่อประเทศชาติ เพื่อรำลึกความดีคุณูปการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้ยึดถือแนวทางภราดรภาพนิยม รวมทั้งแกนนำคณะราษฎร 2475 ท่านอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด

การเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7 เป็นสัญลักษณ์และจุดยืนที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือปัญหาอะไรก็ตาม ถ้าเรามีผู้นำที่ดี มีจิตใจเพื่อปฏิรูป มีประชาชนที่จะกระตือรือร้นในการที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น ก้จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

จุดสูงสุดของคณะราษฎรในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย หรือ ระบบการปกครองโดยกฎหมายให้กับประเทศไทย คือ การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2489 15 ปีหลังจากคณะราษฎรบริหารประเทศ แต่เป็น 15 ปีที่มีความผันผวน วุ่นวายอย่างมาก เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 หากมองด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่สามารถบอกได้ว่าคณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ แต่ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก หากไปค้นดู 15 ปีที่มีอำนาจจริงๆ ของคณะราษฎร เป็นอำนาจที่ได้เริ่มต้นหลายอย่างให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ระบบการศึกษากระจายทั่วประเทศ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูปกองทัพให้เป็นสมัยใหม่ การปฏิรูปสาธารณสุข การทำคลัง หน่วยงานหลายอย่างถูกจัดตั้งในระยะเวลา 15 ปี

แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จาก การรัฐประหารขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสูงสุดของคณะราษฎรโดยการสถาปนาระบบการปกครองโดยกฎหมายต้องล่มสลายลง 

หลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยอย่างยาวนาน มีการรัฐประหาร มีการแย่งชิงอำนาจอยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งประเทศไทยขึ้นอันดับหนึ่งในสามของประเทศที่รัฐประหารบ่อยที่สุด และฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยที่สุด ประเทศไหนที่ฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายและไม่ถือเป็นประเทศที่ปกครองโดยนิติรัฐและนิติธรรม

การสถาปนา “รัฐธรรมนูญของประชาชน” จะทำให้ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความมั่นคง สามารถป้องกันตัวเองได้จากการรัฐประหาร หรือ ปกป้องตัวเองจากการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มองค์กรทางการเมืองหรือพรรคการเมืองได้

ข้อเสนอสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต คือ

ประการแรก เสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ที่มาจากการเลือกของประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยความมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคม ให้คนไทยทุกฝ่ายได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล บนความรู้สึกนึกคิดว่าเป็น ‘คนพวกเดียวกัน’ ที่เหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ถ้าเรือเกิดล่มลง ทุกคนก็ต้องจมน้ำเหมือนกันหมด แต่หากทุกคนหันหน้ามาปรึกษาหารือจนมีความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ปัญหาต่างๆ แล้วร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรือสามารถแล่นไปจนถึงฝั่งแห่งจุดหมาย ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์สุขร่วมกัน ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 1 ของรัชกาลที่ 9 ได้แก่ “การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน” สอดคล้องกับ แนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และ ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

ประการที่สอง ใช้โอกาสในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุดนี้เป็นเครื่องมือแสวงหา “จุดหมายร่วม” ในเรื่องหลักๆ เพื่อให้คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน แล้วเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุด ฉะนั้นองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรประชาธิปไตยต้องรณรงค์ให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีนโยบายว่าคิดเห็นอย่างไรที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน

ประการที่สาม ให้เขียนรัฐธรรมนูญแค่ “หลักการใหญ่ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นตรงกัน”

ประการที่สี่ ให้มี “องค์กรอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการทำงาน” ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กองทัพ รวมถึงองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ

ประการที่ห้า หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานว่าด้วยความยุติธรรมได้ สังคมก็จะมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต ความรู้สึกไม่ยุติธรรมจะเกิดขึ้นกับคนที่ได้รับผลร้ายจากการใช้อำนาจดังกล่าวทันที รัฐธรรมนูญใหม่จึงต้องกำหนดที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้ยึดโยงกับอำนาจประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน มีระบบการสรรหาที่ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตและดำรงความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ความเป็นกลางทางการเมืองและความซื่อสัตย์สุจริตอย่างที่ ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างชัดเจน และ

ประการที่หก ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมทางการเมือง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรมสังคม แต่ปัญหาเรื่องความยุติธรรมทางการเมือง ถือเป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหาทั้งปวงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในเวลานี้ ความยุติธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างแท้จริงตามแนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่เคยเสนอเอาไว้ เพราะความยุติธรรมนั้นต้องอาศัยกระบวนการประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงความเห็นต้องเปิดกว้าง ระบบกฎหมายจึงต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดและมีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด

หากไม่มีความยุติธรรมทางการเมืองอันเป็นเรื่องพื้นฐานย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและเกิดอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจได้ ปิดกั้นการแข่งขันอย่างเสรี การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น การจัดสรรสวัสดิการสังคมและการเข้าถึงทรัพยากรก็จะไม่เท่าเทียม

ความคิดที่ถือว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีใครอ้างชาติกำเนิด อ้างเส้นสายระบบอุปถัมภ์ ให้ตนเองได้สิทธิที่เหนือกว่าผู้อื่น หากค่านิยมนี้ คือค่านิยมที่มองทุกคนเท่ากัน เสมอภาคกัน กลายเป็นค่านิยมหลักของสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต กรณีหลายมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่เกิดได้ และยากที่จะเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกรณีบอส อยู่วิทยา กรณีตู้ห่าว กรณีถูกจับติดคุกแล้วก็ถูกลดโทษแบบชนิดที่ว่าไม่สามารถอธิบายได้ หรือแม้กระทั่งมีชื่อว่าติดคุกแต่ออกมาเดินอยู่ข้างนอก แบบนี้จะไม่มี เพราะว่าทุกคนต้องเสมอภาคกันโดยกฎหมาย ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องสถาปนาการปกครองให้ยึกกฎหมาย แล้วต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแน่นอนว่าต้องมีความเห็นต่าง คนไทยบางกลุ่มมองประชาธิปไตยแบบที่ว่ายึดอำนาจประชาชน แล้วมองว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองทั้งหมด แต่จะมีคนบางกลุ่มที่มองว่าประชาธิปไตยจะต้องมีคุณธรรม ประชาธิปไตยจะต้องมี Good Governance ไม่ใช่ว่ามาจากประชาชนแล้วจะทุจริตอย่างไรก็ได้ ฉะนั้นจะมีคนที่เห็นต่างกันอยู่และให้นำ้หนักที่ต่างกัน จะต้องมาคุยกันว่าอะไรคือแนวทางที่ดีที่สุดของประเทศ

แต่เราจะไม่มีอนาคตเลยถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 4 - 6 เดือนข้างหน้ากลายเป็นว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใช้วิธีการแบบซื้อเสียง ซื้อ ส.ส. ซื้อพรรค แล้วปัญหา Money Politics คณาธิปไตยจะทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ ทั้งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วจะเป็นข้ออ้างของฝ่ายนิยมในระบอบอำนาจนิยมครั้งแล้วครั้งเล่า และรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะไม่ใช่รัฐประหารครั้งสุดท้าย ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันคือว่า ต้องทำให้ Money Politics ลดลง ประชาชนไปเลือกพรรคการเมืองจากนโยบาย จากความรู้ความสามารถ จากการที่ประชาชนเห็นว่านักการเมืองเป็นคนดีพอที่จะมาเป็นผู้นำของเรา จะต้องให้เกิดสภาวะแบบนั้น แต่ต้องใช้เวลา เพราะจะมาโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปไตยไทย 90 ปีแล้วแต่ไปไม่ถึงไหน แต่ต้องทำความเข้าใจว่า 90 ปีประชาธิปไตยไทยที่เราบอกนั้น ประชาธิปไตยจริงๆ ที่ถูกสถาปนาขึ้นในไทยจริงๆ มีไม่ถึง 20 ปี ฉะนั้น 20 ปี ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ดีว่า 20 ปี ได้ขนาดนี้ก็ดีแล้ว แล้วเราก็ยังดีกว่าประเทศอื่น แม้เราจะมีเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ยังรุนแรงน้อยกว่าบางประเทศ

ขอให้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ระลอกใหม่ ผมใช้คำว่าระลอกใหม่เพราะว่า เรารณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาหลายระลอกแล้ว หลังจากมีความพยายามมาหลายครั้ง ครั้งนี้จะต้องทำให้สำเร็จ และจะต้องสถาปนาการปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนให้ได้ อันจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเรา

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ที่มา : รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, “การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์