ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประชาธิปไตยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (?) ตอนที่ 2 : รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7

2
เมษายน
2567


บทความนี้จะเสนอเอกสารการปกครองสำคัญสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีการเปรียบเทียบว่าคือ รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 หรือรัฐธรรมนูญสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีหลักการและเนื้อหาสำคัญที่ให้อำนาจการปกครองหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแก่ชนชั้นสูง ซึ่งเอกสารแสดงความคิดทางการเมืองและรัฐธรรมนูญสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 7 มีจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

  1. พระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง Problem  of Siam, 23rd July, 1926[1]
  2. พระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง Democracy in Siam, 8th June, 1927[2]
  3. An Outline of Preliminary, 1926
  4. เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครอง เรื่อง An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927[3]

เอกสารข้างต้นได้สร้างข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของสยามไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว แต่จากงานศึกษาทางวิชาการของเบนจามิน เอ. บัทสัน[4] และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์[5] ชี้ให้เห็น โดยเฉพาะในเอกสารสำคัญชิ้นที่ 4 An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927 ที่ทรงให้พระยาศรีวิสารวาจา[6] และเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens)[7] จัดทำขึ้นว่า ถึงแม้เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครองชิ้นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับธรรมนูญการปกครอง แต่ก็เป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจการปกครองทางสถาบันการเมืองและในระบบรัฐสภาแก่ชนชั้นสูง จึงมีคำเรียกรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 7 ว่ารัฐธรรมนูญสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันหมายถึง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตยหลังการอภิวัฒน์สยาม

“อ่าน” เอกสารการปกครองสมัยสมบูรณญาสิทธิราชย์ในสยาม : “Outline of Preliminary Draft” ค.ศ. 1926 และ  An Outline of Changes in the Form of Government” ค.ศ. 1927

 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469
ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 


พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre)

 


พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)

 

1 ปี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรี ในเดือนกรกฎาคม 2469 ทรงมีพระราชปุจฉาว่าด้วยสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ดังทรงมีพระราชปรารภว่า

“พระเจ้าแผ่นดินของสยามสืบทอดตามการสืบเชื้อสายที่มีตัวเลือกที่เป็นไปได้ค่อนข้างจำกัดอย่างมาก ในกรณีนี้จึงไม่แน่นอนว่า เราจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีอยู่เสมอ ฉะนั้น พระราชอำนาจเด็ดขาดจึงอาจจะกลายเป็นอันตรายที่แท้จริงต่อประเทศ” โดยพระยากัลยาณไมตรีเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะมีการปกครองในระบบรัฐสภา[8] โดยทูลเกล้าฯ ถวาย Outline of Preliminary Draft เค้าโครงของรัฐธรรมนูญที่ยังคงความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ดังต่อไปนี้

 

An Outline of Preliminary ค.ศ. 1926[9]

มาตรา 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบ ต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา 5 ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้ แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี 5 นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใด อันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใด ตลอดจนเสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9 ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่ง เป็นทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององค์มนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท

มาตรา 10 ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราว ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

มาตรา 11 อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 12 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้ โดยพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา

 

 

OUTLINE OF PRELIMINARY DRAFT

ARTICLE I.

The Supreme Power throughout the Kingdom shall be vested in His Majesty the King.

ARTICLE II.

The King shall appoint a Premier who shall be responsible to the King for the entire executive work of the Government. He may be dismissed by the King at any time.

ARTICLE III.

The Premier shall appoint and may remove on his own responsibility the Ministers of State at the heads of the various Government Ministries. He shall be responsible to the King for the entire work of each Ministry. He shall also be charged with the duty of carrying out the general Policies of the Government as directed by the King and of co-ordinating for this purpose the work of the Separate Ministries.

ARTICLE IV.

Each Government Minister shall be responsible directly to the Premier for the work of his own Ministry. He shall assist in carrying out the general policies directed by the Premier.

ARTICLE V.

The Cabinet shall be called together and presided over by the Premier, and shall be composed of all the Ministers of state. It may discuss matters of common interest, but the responsibility for all decisions shall rest with the Premier.

ARTICLE VI.

The Premier will refer to the King for decision all questions of large general policy. In all matters he shall be subject to the direct control by the King.

ARTICLE VII.

The King shall appoint a Supreme Council of five members. The Premier shall be a member ex officio, but no other Cabinet officer shall be a member. The Supreme council shall exercise no executive power whatsoever. Its function shall consist solely in giving to the King when called upon to do so advice on questions of general policy or on questions other then the detailed executive work of the Government. It shall have no power to advise as to appointments nor as to details of administration. It shall however have the power to interpolate the Premier or any Cabinet officer.

ARTICLE VIII.

The King shall appoint and may remove at any time the members of the Privy Council.

ARTICLE IX.

Within three days of ascending the throne the heir apparent shall be provisionally chosen by the King with the advice and consent of the Privy Council. The choice shall be limited to sons of a King and a Queen or those of Royal Blood, but shall not be otherwise limited either by rank or seniority. The choice of heir apparent shall not be irrevocable, but shall be freshly made by the King with the advice and consent of the Privy Council at the end of each five year period thereafter. (Note: Or perhaps a period longer than five years may be desired). Should the King die before any choice has been made, the heir apparent shall be chosen immediately after the King's death by the Privy Council. In all cases three quarters of the members of the Privy Council then within the Kingdom shall be necessary to elect.

ARTICLE X.

The judicial power, subject to the supreme power of the King, shall be vested in the Supreme or Dike Court and in such inferior Courts as the King may from time to time create.

ARTICLE XI.

The supreme legislative power shall rest in the King.

ARTICLE XII.

Change in this fundamental law may be made only by the King with the advice and consent of three quarters of the member of the Privy council.

 

An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927

 


เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครอง
An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927

 

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนรัฐนิวแฮมเชียร์ สังกัดพรรคเดโมแครต รองประธานคณะกรรมการเดินเรือแห่งสหรัฐ และเป็นผู้แทนอเมริกันในสภาการขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งสองร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 (9 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) โดยใช้ชื่อว่า An Outline of Changes in the Form of Government หรือ เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

ร่างเอกสารการปกครองฉบับนี้มีลักษณะของการปกครองรัฐบาลแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ชนชั้นนำเป็นการปกครองจากบนลงล่างหรือยังให้อำนาจสถาปนาการปกครองหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ โดยพระยาศรีวิสารวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ได้มอบร่างดังกล่าวให้แก่อภิรัฐมนตรี ในวันที่ 12 มีนาคม 2474 (หรือ 12 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) เพื่อประชุมพิจารณาในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาฯ แต่มีปรากฏหลักฐานชั้นต้นของการประชุมในครั้งนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะ ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475[10]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 หรือราวหนึ่งเดือนก่อนการอภิวัฒน์สยามในบริบทการเมืองในสังคมยังมีเอกสารการปกครองที่สำคัญอีกชิ้นคือ เรื่อง นโยบายและอุปสรรคแห่งการศึกษาของอิตาลีโดยมุสโสลินี ผู้นำชาวอิตาเลียน ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งพระองค์ทรงอภิปรายและสรุปว่า

“บางทีจะดีและจะเป็น Way out ที่ดีที่สุด แต่จะทำได้หรือ?

ถ้าทำไม่ได้ก็ควรเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็น Constitutional Monarchy โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องให้การศึกษาไปในทางนั้นละกระมัง”[11]


บริบทการเมืองข้างต้นทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ และการตื่นขึ้นทางความคิดของประชาชนรวมทั้งการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้ชนชั้นนำจัดทำเอกสารการปกครองแต่ในท้ายที่สุดก็มิได้ประกาศใช้บังคับ ซึ่ง An Outline of Changes in the Form of Government หรือเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองก็เป็นเอกสารการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้รับการกล่าวถึงจากชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม โดยมักจะนำเสนอว่าเป็นเสมือนดั่งรัฐธรรมนูญสมัยรัชกาลที่ 7 นี้มีใจความหลักคือ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์และสภานิติบัญญัติ และทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของราษฎรและมีอภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์โดยระบบสภาฯ ตามเอกสารการปกครองของรัชกาลที่ 7 มีดังนี้

(1) พระมหากษัตริย์
(2) อภิรัฐมนตรีสภา
(3) คณะรัฐมนตรี
(4) สภานิติบัญญัติ

จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับพระปกเกล้าฯ ทั้ง 2 ร่างฯ พบว่ายังมิใช่รัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตยที่ให้หลักของอำนาจการปกครองในระบบรัฐสภาที่มาจากราษฎรในภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสิริราชสมบัติได้ 1 ปี พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรีไว้ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินของสยามสืบทอดตามการสืบเชื้อสายที่มีตัวเลือกที่เป็นไปได้ค่อนข้างจำกัดอย่างมาก ในกรณีนี้จึงไม่แน่นอนว่าเราจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีอยู่เสมอ ฉะนั้นพระราชอำนาจเด็ดขาดจึงอาจจะกลายเป็นอันตรายที่แท้จริงต่อประเทศ”[13]

นอกจากทัศนะทางวิชาการข้างต้นที่มักเสนอว่ารัฐธรรมนูญสมัยพระปกเกล้าเป็นแนวทางของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ในทัศนะอีกมุมหนึ่งของนายเสน่ห์ จามริก นักวิชาการรัฐศาสตร์สรุปผลจากปฏิกิริยาต่อต้านแนวพระราชดำริก้าวหน้าของรัชกาลที่ 7 ว่า

“สรุปรวมความ ก็คือ วิสัยทัศน์และพระราชดําริที่ก้าวหน้าเตรียมวางพื้นฐานรับกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้องมีอันเป็นหมันไปด้วยพลังปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งจะมีบทบาทอิทธิพลสําคัญ ทําให้สังคมการเมืองไทยจําต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และถดถอย แล้วก็พลังกระแสปฏิกิริยาต่อต้านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้นี่เอง ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศและวัฒนธรรมทางการเมืองในแบบแผนที่ยึดถืออารมณ์ความ ริษยาเกลียดชังและมุ่งร้ายหมายขวัญเอาตัวบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าเป็นที่ตั้งสืบ ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่ ดร. เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า “สังคมไทย...เป็นที่ๆ ไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัย สําหรับอุดมคติและการเปลี่ยนแปลง””[14]

การเทศบาลของสมัยคณะราษฎร

การเทศบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 ในประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือในงานวิชาการของเชิงอนุรักษนิยมชิ้นหนึ่งชี้ไปในทิศทางว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฯ ไม่ได้ประกาศใช้บังคับเป็นเพราะแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนคือ นายปรีดี พนมยงค์ และเสนอราวกับว่าร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฯ มีความสำคัญในระดับเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายปรีดีชี้แจงกลับมาประการนี้ว่า

 

ผมในฐานะผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะประกาศใช้ พ.ร.บ.เทศบาลแล้ว ผมเร่งให้คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน หรือผมรู้เรื่องนั้น แล้วปิดบังสมาชิกคนอื่นฯ ของคณะราษฎร...ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้นมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน หากเป็นเพียงกฎหมายปกครองท้องถิ่น

ผมจึงไม่มีเหตุใดที่จะปิดบังเพื่อให้คณะราษฎรถึงพระราชดําริที่ให้มี พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนี้ซึ่งมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน[15]

 


บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในทศวรรษแรกของรัฐบาลคณะราษฎร

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์

 

และการเสนอว่าเอกสารการปกครองต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 คือรัฐธรรมนูญหากเมื่อพิจารณาหลักการในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับในทัศนะของชนชั้นนำข้างต้นแล้วจะพบว่ายังไม่มีเป้าหมายในแนวทางประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับการเทศบาลในสมัยดังกล่าวซึ่งแตกต่างจากหลักการและแนวคิดการเทศบาลของคณะราษฎรและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์ ดังนี้

 

หลักการและแนวคิดในการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2
วันพุธที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

การร่างพระราชบัญญัติเทศบาลเริ่มต้นจากการแถลงของนายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงให้เห็นหลักการเบื้องต้นของการเทศบาลไว้ว่า

หลวงประดิษฐมนูธรรม: กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลที่รัฐบาลได้เสนอมานี้ รัฐบาลได้มอบให้คณะกรรมาธิการพิจารณา และยกร่างพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมาธิการนี้พิจารณาเรื่องนี้เห็นว่ามีข้อที่ควรคำนึงอยู่หลายอย่าง ด้วยเหตุว่าการเทศบาลนั้น เราจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจการหลายอย่าง ไม่ใช่แต่การสุขาภิบาลอย่างในครั้งก่อน ซึ่งทำกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือ เราจะต้องพิจารณาตลอดจนกระทั่งในเรื่องภาษีอากรที่จะแบ่งสันปันส่วน ในระหว่างรัฐบาลกับเทศบาลอย่างหนึ่ง เราจะต้องพิจารณาถึงในเรื่องกิจการที่เทศบาลจะตองกระทำเช่นเดียวกัน กับในเรื่องสาธารณสุขก็ดี ในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยในพระราชอาณาจักรก็ดี และในกรณีย์อื่นๆ ดังที่ได้เห็นแล้วในร่างพระราชบัญบัติฉะบับนี้ แต่การที่เราจะทำพระราชบัญญัติให้ครบถ้วนเช่นนั้น ก็จะต้องเสียเวลาอีกนาน เหตุฉะนั้นกรรมาธิการของรัฐบาลจึงได้หยิบเอารูปการของเทศบาลนั้นขึ้น ร่างเป็นพระราชบัญญัติและเสนอรัฐบาลเสียชั้นหนึ่งก่อน ขอให้เทศบาลได้มีโอกาสที่จะเริ่มจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นได้ ในปีหน้า คือใน พ.ศ. ๒๔๗๗ และในต้นปี ๒๔๗๗ นี้ ก็คงจะได้เริ่มการได้บ้าง แต่ว่าการที่จะกระทำกิจการให้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ เราก็จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายอีกหลายฉะบับ กฎหมายที่จะออกต่อไปในชั้นต้นนี้ แต่ภายหลังพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีอากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะแบ่งภาษีอากรในระหว่างเทศบาลกับรัฐบาลนั้นอย่างหนึ่ง และเราจะต้องมีร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ อีกที่บัญญัติถึงว่าทรัพย์สินชนิดใดบ้าง ที่เราจะให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาล ดั่งเช่นกับที่ๆ เป็นที่หลวงอยู่ในปัจจุบันนี้ และได้กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ นี้ เราก็อาจพิจารณาได้เหมื่อนกันว่าที่เหล่านั้น แทนที่จะให้เป็นที่อยู่ในกรรมสิทธิของรัฐบาล เราอาจมอบที่นั้นให้เป็นกรรมสิทธิแก่เทศบาลเสียทีเดียว ในการนี้เราจำเป็นต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติอีกอันหนึ่ง และจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ละเอียดต่อไปอีกว่า ที่ชะนิดใดบ้างเราจะยกให้เป็นที่ของเทศบาลและนอกจากนั้น เรายังจำเป็นที่จะต้องออกพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานี้การปกครองหัวเมือง ที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร เราก็อาศัยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยลักษณการปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่การที่เราได้มีระเบียบการปกครองใหม่ และทำรูปเป็นไปในทำนองที่ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร และนอกจากนั้นเรายังต้องออกพระราชบัญญัติซึ่งว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่หมายความแค่จะรักษาทางเดียวเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น เรายังมีวิธีการต่างๆ ดังเช่นวิธีการออมสินวิธีการของโรงจำนำ และวิธีการของเทศบาล เราจำเป็นต้องจัดให้มีระเบียบด้วยเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่ง พระราชบัญญัติที่จะควบคุมอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องทำอีกเช่น กฎกระทรวง ที่เราจะต้องออกตามพระราชบัญญัตินี้ วิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวแก่เทศบาล หรือวิธีการที่เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติที่จะออกในภายหน้า ตามที่ได้แถลงไปแล้วนั้น เป็นแต่ข้อความสังเขปเท่านั้นและการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อปรารถนาที่จะให้ท่านสมาชิกทั้งหลาย ลงมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้เท่านั้น และราชการที่เราจะดำเนินต่อไปนี้ว่า เราจะวางรูปตามนี้ คือดำเนินตามคล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญพระราชอาณาจักรสยามเหมือนกัน กล่าวคือ จะเห็นได้จากเทศบาลตำบล คณะมนตรีตำบล และสภาตำบล เพื่อให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางเห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยามไปในตัว คือราษฎรจะได้ฝึกการปกครองในตำบลย่อมๆ ของตน และเพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภาฯ นี้ต่อไป และถ้าหากว่าท่านได้รับหลักการของพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลแล้ว สภาฯ ก็จะได้ให้กรรมาธิการประจำหรือกรรมาธิการวิสามัญ สุดแท้แต่เห็นเป็นการสมควรในการที่จะไปพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้อีกชั้นหนึ่ง”

ในการเสนอร่างกฎหมายหรือการจัดการปกครองต่างๆ สมัยคณะราษฎรนั้นต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการถกถาม ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นอันเป็นรูปแบบของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยดังเช่นการเสนอความคิดของขุนวรสิษฐดรุณเวทย์ว่า

“ขุนวรสิษฐดรุณเวทย์: ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้อ่านร่างพระราชบัญญัติเทศบาลตลอดแล้ว การจัดการปกครองบ้านเมืองของเราเท่าที่เป็นมาแล้ว รัฐบาลนี้คือว่า จะเรียกว่ารัฐบาลกลางก็ได้ จัดแต่ฝ่ายเดียว ที่นี้กิจการทั้งหลายและทั่วทั้งประเทศย่อมมีมากด้วยกัน คือว่าเพียงแต่ท้องที่ก็ย่อมมีมาก และเหตุการณ์ต่างๆ หรือความเป็นอยู่ของท้องถิ่นต่างๆ ก็หาเหมือนกันไม่ เพราะฉะนั้นการที่เราจัดการปกครองอย่างที่เป็นมาแล้ว ความเจริญรุ่งเรื่องของตำบลต่างๆ หรือของท้องถิ่นต่างๆ จึงดำเนินไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นมณฑลอุดร จังหวัดต่างๆ เรียกว่ามณฑลอุดรแต่เดิมมานั้น รัฐบาลได้เก็บเงินรัชชูปการ ซึ่งเมื่อก่อนนี้เรียกว่าเสียส่วยเป็นจำนวนหลายๆ ล้านบาท แต่ว่าในมณฑลอุดรนั้น รัฐบาลไม่ได้สงเคราะห์ให้แก่พลเมืองอย่างจริงจัง ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจะถามว่ารัฐบาลได้ทำถนนหนทางให้เดินสะดวกได้หรือเปล่า ก็จะตอบว่าเปล่า และถ้าจะถามว่าได้ทำการประปาบ้างหรือไม่ เพื่อให้ราษฎรได้รับประทานน้ำจืด ก็คงตอบว่าเปล่า ถ้าจะถามอีกว่ารัฐบาลได้ตั้งโรงพยาบาลเพื่อรักษาไข้เจ็บบ้างหรือไม่ ก็คงตอบว่าเปล่า การที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่า รัฐบาลกลางได้จัดการเสียคนเดียว ไม่มีโอกาสที่จะจัดการได้ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้จัดตั้งพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นแล้ว รูปเกณฑ์ในพระราชบัญญัติเทศบาลนี้ ก็เหมือนหนึ่งเราแบ่งรัฐบาลกลางนี้ออกเป็นส่วนย่อยๆ คือ ส่วนของจังหวัด ส่วนของอำเภอ และก็ส่วนตำบล ในทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อส่วนย่อยๆ ได้ช่วยกันทำทุกมุม ทุกแง่ ทุกแห่ง ทุกหน ก็ต้องแน่ใจว่ากิจการของเราหรือบ้านเมืองเรา คงจะเจริญเร็วขึ้นยิ่งกว่าเก่าเป็นแน่ข้อหนึ่งอีกประการหนึ่ง ในการที่จะโต้เถียงเรื่องความเจริญหรือว่าในความเป็นไปของท้องถิ่น ก็คงจะต้องให้เป็นไปเอง เพราะเหตุว่าเมื่อตำบลใดที่สามารถจัดการได้เพียงใดนั้น ความเจริญก็ย่อมก้าวไปได้เพียงนั้น โดยเหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะรับร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ แต่ว่ายังมีข้อที่ปริวิตกอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า ตัวมนตรีต่างๆ ที่จะทำงานนั้น ดูเหมือนจะต้องประกอบด้วยความรู้ความคิดดีๆ จึงจะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในเรื่องชะนิดนี้จึงอยากจะทราบว่า เรามีทางอย่างไรอยู่แล้วหรือ

หลวงประดิษฐมนูธรรม: กล่าวตอบว่า ในเรื่องนี้กรรมาธิการที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นได้พิจารณาเหมือนกัน ถึงบุคคลที่จะให้ไปจัดการเทศบาลในบางแห่งตามหัวเมือง และได้คิดไว้ว่า ถ้าหากว่าเราได้มีวิธีอบรมกล่าวคือเราได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจที่จะสมัครไปในทางนี้ ให้เขามาอบรมอย่างหนึ่ง หรือเราพร้อมที่จะสะสมเอกสารให้ผู้ที่สนใจในทางนี้ได้ ฝึกฝนและอบรมตนเองได้อย่างหนึ่ง ก็จะเป็นการที่จะทำให้พระราชบัญญัติเทศบาลนี้ ได้สำเร็จไปสมกับท่านสมาชิกได้แถลงมาแล้ว คือเราอยากจะให้มีการจัดการอบรมขึ้น”

ส่วนในด้านงบประมาณของการจัดทำเทศบาลและการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นนั้นนายปรีดีแถลงไว้ดังนี้

หลวงประดิษฐมนูธรรม: กล่าวว่า คือถ้าหากว่าสภาฯ นี้ได้รับหลักการแล้วและกรรมาธิการได้ตรวจร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้เสนอสภาฯ ทันในสมัยประชุมนี้แล้ว และสภาฯ ได้ลงมติใช้ในสมัยประชุมนี้แล้ว ก็เชื่อว่าใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เราจะเริ่มการได้ ข้อที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปอีกคือว่า ในเรื่องคลังเงินของเทศบาลเราจะได้คลังเงินนี้มาจากไหน ในข้อนี้ทางคณะกรรมาธิการที่ได้พิจารณางบประมาณอยู่ ได้เคยคำนึงถึงเรื่องนี้เหมือนกัน และข้าพเจ้าเองได้เคยแถลงกับท่านครั้งหนึ่งแล้ว ในเรื่องเงินที่ใช้จ่ายในตอนต้นนี้ กรรมาธิการได้เคยเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการคลังพร้อมทั้งที่ปรึกษาและหัวหน้ากรมในกระทรวงการคลังมาเพื่อพิจารณาถึงหลักการอันนี้และเห็นกันว่าในต้นปีนี้ เราจะออกพระราชบัญญัติยังไม่ทนเราจะออกพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีอากรยังไม่ทัน เราจะได้แบ่งงบประมาณส่วนที่จะต้องใช้จ่ายในจังหวัดนั้นเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อได้ประกาศใช้เทศบาลในท้องที่ใดแล้ว ในท้องที่นั้นซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงิน ซึ่งเวลานี้ก็ใช้จ่ายอยู่ในงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น เงินจำนวนนี้ก็จะได้คัดไปตั้งให้เป็นงบประมาณของจังหวัดนั้น และอีกอย่างหนึ่งเมื่อกี้นี้เอง คือในการที่พิจารณางบประมาณ ก็ได้ถามความเห็นของผู้แทนรัฐบาลผู้หนึ่ง คืออธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ถ้าหากว่าเราจะใช้พระราชบัญญัติเทศบาลในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว เราจำเป็นจะต้องขอจ่ายเงินมาลงทุนในเทศบาลนี้อีก ท่านรับว่าท่านอาจจะพิจารณาหาทางให้ได้เงินก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าเงินส่งเสริมการเทศบาล และนอกจากนั้น เรายังมีทางที่จะตกลงกับรัฐบาลได้อีก เมื่อเราได้ใช้พระราชบัญญัติเทศบาลในกรุงเทพฯ แล้ว เราก็อาจจะออกใบกู้ และใบกู้นั้นรัฐบาลก็อาจจะพิจารณารับซื้อใบกู้นั้นได้ โดยที่เราจะต้องจัดการทำแปลนให้ดี หรือชี้แจงผลได้ผลเสียให้ดีในการนี้ ก็เชื่อว่าคงจะสมความปราถนาของท่านสมาชิกที่ได้แถลงไว้เมื่อวันก่อนๆ ก็คงจะทำได้ การออกใบกู้เราได้วางแบบแผนไว้ให้ดีๆ แล้วเพราะฉะนั้นเชื่อว่าใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ เราคงจะได้เห็นอะไรบางอย่างไม่มากก็น้อยเป็นแน่”

จากคำถามสำคัญคือ การยกท้องถิ่นนั้นเป็นรูปแบบเทศบาลมีหลักอย่างไรมีการถกถามกันว่า

นายไสว อินทรประชา: ผู้แทนราษฎรจังหวัดสวรรคโลก กล่าวว่าตามความในพระราชบัญญัตินี้เห็นได้ว่า การที่จะยกท้องถิ่น ให้มีฐานะเป็นเทศบาลนั้น ต้องออกพระราชกฤษฎีกา ข้าพเจ้ามีความสงสัยอยากจะเรียนถามกรรมาธิการว่า การที่ท้องถิ่นใดจะใช้แบบเทศบาลได้นั้น จะต้องมีสภาพและฐานะอย่างไร

หลวงประดิษฐมนูธรรม: กล่าวว่า ในเรื่องนี้ก็ต้องเข้าเกณฑ์หลายอย่าง ความจริงทางรัฐบาลที่ได้มอบให้กรรมาธิการมาพิจารณา รัฐบาลมีความประสงค์อย่างเต็มที่ อยากจะให้มีเทศบาลมิใช่อยากจะหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้าไว้ก็หามิได้ แต่ว่าจะต้องพิจารณาหลายอย่าง คือพิจารณาถึงท้องที่นั้นว่า มีคนที่จะอบรมและเพื่อที่จะจัดการเทศบาลนั้นได้พอเพียงดีแล้วหรือยัง และการเงินที่เราคิดว่าใช้จ่ายบำรุงเทศบาลนั้นได้พอสมควรแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นต้น เป็นข้อที่จะควรคำนึง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความประสงค์ที่อยากจะให้มีเทศบาลทั่วด้วยกันนั้น เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ การที่จะเป็นไปไม่ได้ก็ด้วยอุปสรรคอย่างอื่น หาใช่อุปสรรคที่เกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลนั้นเลย”

และนายปรีดีได้กล่าวถึงหลักการเรื่องเทศบาลสยามว่า

หลวงประดิษฐมนูธรรม: กล่าวว่า ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าอาศัยหลักการหลายอย่าง เราได้เทียบอย่างในประเทศออสเตรเลีย หรือในสหปาลีรัฐอเมริกาเป็นต้น เรื่องกำหนดพลเมืองและกำหนดความแน่นอนไว้อย่างหนึ่ง เราได้พิจารณาหลายอย่าง ถ้าหากว่าจะถือเกณฑ์อย่างเขาแล้ว ก็ไม่ได้ เราได้ขยับขยายหลักการหลายอย่างเท่าที่ตัวเลขปรากฏว่า ในกองควบคุมเทศบาลเวลานี้ เช่นเชียงใหม่ก็อาจจะเป็นนครบาลได้ หรือภูเก็ต อีกแห่งหนึ่ง ก็สามารถจะเป็นนครบาลได้ ต้องอาศัยหลักการเช่นนั้นๆ ไม่ อยากจะให้มีนครบาลแต่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียวเท่านั้น”

ในที่สุดได้มีการขอให้ลงมติรับหลักการแห่งพระราชบัญญัติเทศบาลโดยมีสมาชิกยกมือรับรองพร้อมเพรียงกันและส่งไปให้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาโดยมีการตั้งขึ้นและมีรายชื่อดังนี้

 

แจ้งความสภาผู้แทนราษฎร
เรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖

ด้วยที่ประชุมแห่งสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมปรึกษาในคราวประชุมดำสามัญสมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๒๙/๒๔๗๖ วันพุธที่ ๒๑ มีนาคม ศกนี้ ลงมติตั้งผู้มีนามต่อไม่นี้เป็นกรรมาธิการวิสามัญตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ คือ

๑. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
๒. หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ
๓. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
๔. พระสารสาสน์พลขันธ์
๕. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ มองซิเออร์ กียอง เป็นที่ปรึกษา

แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖
พระยาศรยุทธเสนี
ประธานสภาผู้แทนราษฎร

 


ศาลาเทศบาล ตำบลโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดตั้งเทศบาลขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475
ที่มาของภาพ: โคราชในอดีต

 

สรุป บทความนี้ชี้ให้เห็นวาทกรรมประชาธิปไตย (?) สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านรัฐธรรมนูญ (?) ของรัชกาลที่ 7 และเปรียบเทียบให้เห็นในมุมของการสร้างประชาธิปไตยของคณะราษฎรผ่านการร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งทางหนึ่งได้มีการเสนอบิดเบือนในด้านรูปแบบว่าการเทศบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือจุดตั้งต้นของการนำไปสู่ประชาธิปไตยแต่มีการอภิวัฒน์สยามเสียก่อนหรือเป็นวาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม แต่เมื่อศึกษาทั้งเรื่องเอกสารการปกครองทั้งสองฉบับในสมัยรัชกาลที่ 7 และการเทศบาลในสมัยคณะราษฎรแล้วจะเห็นได้ว่าเอกสารการปกครองดังกล่าวมิใช่รัฐธรรมนูญที่มีหลักการแบบประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกันการเทศบาลในสมัยคณะราษฎรก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในแนวคิดตั้งต้นที่มาจากการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ประชาชนและท้องถิ่น

ขณะที่รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ทั้งสองฉบับก็ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นชัดเจนว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการปกครองตามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ สถาบันกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง และยังถูกใช้เป็นประจักษ์พยานเพื่อสนับสนุนวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตย เช่น ในแบบเรียนวิชาสังคมศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (หลักสูตรปี พ.ศ. 2551) โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีการกล่าวถึงกำเนิดของประชาธิปไตยว่า

“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

และวาทกรรมดังกล่าวเปลี่ยนรูปแปรร่างเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ลดทอนบทบาทของคณะราษฎรจนถึงและกลายเป็นวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามที่ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน[16]

 

ภาพประกอบ:  สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

ภาคผนวก:

คำอธิบายรัฐธรรมนูญสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของนายปรีดี พนมยงค์[17]

ครั้นแล้วทรงสรุปว่า : เพราะเหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่าราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกําหนดตามแบบเดิม รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปรับปรุงราชการบริหารแผ่นดินและราชการฝ่ายตุลาการ แต่ยังมิได้ทรงพระกรุณา

โปรดเกล้าฯ จํากัดพระราชอํานาจและให้ราษฎรมีสิทธิตามเยี่ยงระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกระทั่งพระองค์ได้เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) หรือปี ร.ศ. ๑๒๙

๒.๒

ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๖) ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากรัชกาลที่ ๕ เป็นเวลา ๑๕ ปีเศษ (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) นั้น ก็ยังมิได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

๒.๓

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๗) ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕) นั้น พระองค์ได้ทรงดําริที่จะให้มีระบบปกครองเทศบาล อันเป็นระบบปกครองท้องถิ่น ส่วนพระราชดําริเกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่พระองค์เรียกทับศัพท์อังกฤษว่า “Constitution” นั้น ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว ๖ วันคือ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีพระราชกระแสให้พระยามโนปกรณ์ฯ, พระยาศรีวิศาลวาจา, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา กับผมหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าเฝ้าที่วังศุโขทัยเพื่อแสดงความในพระราชหฤทัยหลายประการ เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เป็นผู้จดบันทึกนั้น ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับพระราชดําริที่จะพระราชทาน Constitution นั้นมีความสําคัญต่อไปนี้

“...เมื่อทรงรับราชสมบัติก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยาณไมตรี (F.B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี…ครั้นเสด็จอเมริกา ก็ได้ให้ interview ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ นายสตีเวนส์กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา (รับสั่งซ้ำ ๒ หน) ฝ่ายพระยาศรีวิศาลฯ ที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่งก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิศาลฯ และนายสตีเวนส์ขัดข้องเสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี เพราะจะเป็น ขี้ขลาด รอว่า พองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่าเป็นเวลาโภคกิจ ตกต่ํา เมื่อได้รับสั่งถึงแผนของพระองค์แล้ว รับสั่งว่า “แต่ว่าตละอย่างๆ จะเป็นไปได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยพระองค์ยากที่จะขัด ผู้ใหญ่ที่ได้ทํางานมานานตั้ง ๒๐ ปีก่อนพระองค์”

ผมหวังว่าท่านผู้ถามและท่านผู้ฟังคงจะพอเข้าใจว่าเหตุใดคณะราษฎรเห็นความจําเป็นต้องทําการอภิวัฒน์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

บรรณานุกรม :

เอกสารชั้นต้น:

  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2 วันพุธที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.

หนังสือ บทความ และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์:

  • Francis Bowes Sayre, Sr." Draft Constitution of King Prajadhipok (1926). https://en.wikisource.org/wiki/Draft_Constitution_of_King_Prajadhipok_(1926)/Part_3
  • กษิดิศ อนันทนาธร. (1 ธันวาคม 2563). ร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน 2475. https://pridi.or.th/th/content/2020/12/518
  • โคราชในอดีต. (30 มกราคม 2560). ศาลาเทศบาล ตำบลโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่ 7. https://web.facebook.com/korat.in.the.past/photos/a.954420064626759/1257236547678441/?type=3&_rdc=1&_rdr
  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. กรุงเทพฯ: สถาบันสยามศึกษา, 2532.
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2542.
  • ธนพงษ์ โสดานา. “ร่างรัฐธรรมนูญของนาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ. 2474, An outline of changes in the form of government”. Academia.edu
  • ประสิทธิ์ โกมลมาย์. “โครงการจัดตั้งเทศบาลและสุขาภิบาล”, เทศาภิบาล 50 : 24 สิงหาคม 2498.
  • ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/10/465
  • พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., พระราชบันทึก “Democracy in Siam”. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระราชบันทึก_“Democracy_in_Siam
  • รวินทร์ คำโพธิ์ทอง. (4 สิงหาคม 2566). ปรีดี พนมยงค์ และ คณะราษฎร : ผู้วางรากฐานการกระจายอำนาจในท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2475-2477. https://pridi.or.th/th/content/2023/08/1629
  • วัลยา. (27 มิถุนายน 2565). ปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 : การถวายธรรมนูญฯ ของคณะราษฎรต่อพระปกเกล้าฯ. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1151
  • วัลย์วิภา จรูญโรจน์, ม.ล., แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2548. 
  • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์, วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535.
  • วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสวงสุทธิการพิมพ์, 2523.
  • พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล,  wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (23 กรกฎาคม 2564). เทศบาลกับแนวความคิดเมืองของราษฎร หลังปฏิวัติสยาม 2475. https://pridi.or.th/th/content/2021/07/771
  • สถาบันดำรงราชานุภาพ. เอกสารประวัติศาสตร์ : การบริหารการปกครองกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ พิมพ์ดี, 2540.
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 มิถุนายน 2565). ทัศนะ “ชิงสุกก่อนห่าม” : วาทกรรมโต้กลับการอภิวัฒน์เพื่อราษฎร. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1138
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (27 มีนาคม 2567). ประชาธิปไตยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (?) ตอนที่ 1 : ดุสิตธานี การเทศบาล และเมือง. https://pridi.or.th/th/content/2024/03/1901

สื่ออิเล็กทรอนิกส์:

 


[1] ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. 2469 Problems of Siam ใน วัลย์วิภา จรูญโรจน์, ม.ล. 2548. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า. หน้า 142-143.

[2] พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., พระราชบันทึก “Democracy in Siam”. wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระราชบันทึก_“Democracy_in_Siam

[3] การปกครองทูลเกล้าถวาย ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 รวมทั้ง Outline of Preliminary Draft ใน วัลย์วิภา จรูญโรจน์, ม.ล., 2548. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า. หน้า 144-159.

[4] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม พิมพ์ครั้งที่ 4, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 190-199.

[5] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 286-292.

[6] ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ

[7] ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ

[8] กษิดิศ อนันทนาธร. (1 ธันวาคม 2563). ร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน 2475. https://pridi.or.th/th/content/2020/12/518

[9] วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสวงสุทธิการพิมพ์, 2523.

[10] กษิดิศ อนันทนาธร. (1 ธันวาคม 2563). ร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน 2475. https://pridi.or.th/th/content/2020/12/518

[11] วัลยา. (27 มิถุนายน 2565). ปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 : การถวายธรรมนูญฯ ของคณะราษฎรต่อพระปกเกล้าฯ. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1151

[12] ธนพงษ์ โสดานา. “ร่างรัฐธรรมนูญ ของนาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ. 2474, An outline of changes in the form of government”. Academia.edu

[13]  สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 มิถุนายน 2565). ทัศนะ “ชิงสุกก่อนห่าม” : วาทกรรมโต้กลับการอภิวัฒน์เพื่อราษฎร. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1138

[14] เสน่ห์ จามริก. ปาฐกถานำเรื่อง เรียนรู้อะไรจาก “ปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕”?. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543. หน้า 9.

[15] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (27 มีนาคม 2567). ประชาธิปไตยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (?) ตอนที่ 1 : ดุสิตธานี การเทศบาล และเมือง. https://pridi.or.th/th/content/2024/03/1901

[16] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 มิถุนายน 2565). ทัศนะ “ชิงสุกก่อนห่าม” : วาทกรรมโต้กลับการอภิวัฒน์เพื่อราษฎร. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1138

[17] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2542. หน้า 101-102.