ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 : การถวายธรรมนูญฯ ของคณะราษฎรต่อพระปกเกล้าฯ

27
มิถุนายน
2565
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

 

เนื่องในวาระ 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกเป็นผลงานสำคัญ หากแทบจะไม่มีการเล่าถึงในวันที่ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแพร่หลายนัก ดังนั้นบทความนี้จึงขอเสนอแง่มุมเล็กๆ ของการกำเนิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ถูกละเลย จากในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง[1] ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475  จดหมายเหตุของคณะราษฎร และหนังสืออนุสรณ์งานศพที่รวบรวมเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด และสดใหม่ภายหลังเหตุการณ์เพียงไม่นาน

 

เอกสารเกี่ยวกับแนวคิดรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 7

เอกสารแสดงความคิดรัฐธรรมนูญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 7 มีจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

  1. พระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง Problem  of Siam, 23rd July, 1926 
  2. พระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง Democracy in Siam, 8th June, 1927
  3. เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครอง เรื่อง An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927

 

เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครอง An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927[2]
เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครอง
An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927[2]

 

เอกสารข้างต้นได้สร้างข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของสยามไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว แต่จากงานศึกษาของเบนจามิน เอ. บัทสัน[3] และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์[4] ชี้ให้เห็นโดยเฉพาะในเอกสารสำคัญชิ้นที่ 3 An Outline of Changes in the form of Government, 9th March, 1927 ที่ทรงให้พระยาศรีวิสารวาจา[5] และเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens)[6] จัดทำขึ้นว่า แม้เค้าโครงการเปลี่ยนรูปการปกครองชิ้นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับธรรมนูญการปกครอง แต่ก็เป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจการปกครองทางสถาบันการเมืองและในระบบรัฐสภาแก่พระมหากษัตริย์เป็นหลัก

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 หรือหนึ่งเดือนก่อนการอภิวัฒน์สยาม ยังมีเอกสารการปกครองที่สำคัญอีกชิ้นคือ เรื่อง นโยบายและอุปสรรคแห่งการศึกษาของอิตาลีโดยมุสโสลินี ผู้นำชาวอิตาเลียน ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งพระองค์ทรงอภิปรายและสรุปว่า

 

“บางทีจะดีและจะเป็น Way out ที่ดีที่สุด แต่จะทำได้หรือ?

ถ้าทำไม่ได้ก็ควรเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็น Constitutional Monarchy โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องให้การศึกษาไปในทางนั้นละกระมัง”[7]

 

ความตื่นตัวทางแนวคิดธรรมนูญการปกครองยังปรากฏในราษฎรสยามยุคนั้น เช่น จดหมายของนายภักดีกับนายไทยที่ขอพระราชทานคอนสติตูชั่นต่อพระปกเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นจดหมายที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างจึงขอคัดข้อความสำคัญซึ่งสะกดตามต้นฉบับไว้ ดังนี้

 

“จังหวัดพระนคร
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบข่าวเล่าลือกันทั่วไปว่า ในรัชกาลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เมื่อแรกขึ้นครองแผ่นดินนี้ จะทรงตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น เปนปฐมราชกิจอันสำคัญยิ่ง เพื่อให้ราชการแผ่นดำเนินในแบบแผนดียิ่งขึ้น แลให้นานาประเทศทั้งหลายไว้ใจนับถือยิ่งขึ้น ให้นานาประเทศรู้สึกว่า ประเทศสยามก็มิได้นิ่งนอนใจ มีหูตากว้างพอที่จะแลดูโลก ได้พยายามก้าวหน้าไปในทางเจริญโดยเต็มกำลัง อย่างประเทศเอกราชทั้งหลายในโลก มิได้งมงายอยู่ในสิ่งที่พ้นสมัยแล้ว

ปฐมราชกิจนี้เปนกิจสำคัญจำเปนต้องมีตามแบบของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนฯ ซึ่งเมื่อแรกขึ้นครอง ก็ได้กระทำมาแล้ว เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชรัชกาลที่ 5 แรกขึ้นครองแผ่นดินได้ทรงตั้งกฎหมายเลิกทาษ เปนปฐมราชกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงตั้งกองลูกเสืออันนานาประเทศนิยมกันทั่วโลก ยกจรรยาของชาติให้สูงขึ้น เปนปฐมราชกิจสำคัญ เหตุฉะนั้นมาในรัชกาลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงสมควรยิ่งนักที่จะทรงตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่นเปนปฐมราชกิจ เพราะจะหากิจการอย่างอื่นดียิ่งกว่าหรือเท่ากับกฎหมายชนิดนี้ก็ไม่มี แลเปนชิ้นอันสำคัญที่อวดนานาประเทศได้เต็มที่ แลเป็นความปรารถนาของทวยนาครทั่วไปที่เล่าลือกันเซงแซ่ในบัดนี้…

อนึ่ง กฎหมายคอนสติตูชั่นนี้ จะไม่ตัดทอนอำนาจพระเจ้าแผ่นดินแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย กิจการทุกอย่างคงดำเนินเปนกระแสพระบรมราชาโองการนั้นเองแปลกแต่มีหลักถานมั่นคงยิ่งขึ้น และมีพลาดน้อยเข้า เพราะทำด้วยความเห็นชอบของคนส่วนมากซึ่งมีความสามารถทั้งนั้น และทั้งต้องผ่านสภาอภิรัฐมนตรีอีกชั้น ๑ ในที่สุดจึงเป็นพระบรมราชโองการ ใช้ได้ทีเดียว

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นายภักดี ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายไทย ขอเดชะ”[8]

 

ไทยใหม่ ฉบับวันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ไทยใหม่ ฉบับวันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

จากเอกสารการปกครอง และจดหมายของราษฎรสามัญ สะท้อนว่าชนชั้นนำสยามได้ตระหนักถึงการปรับตัวจากระบอบเก่ามาตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 2470 หากก็ไม่ทันกาลเพราะอวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามได้มาถึงโดยคณะราษฎรที่ดำเนินการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2469 (ตามปฏิทินเก่า) และยึดอำนาจสำเร็จในตอนเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

พระปกเกล้าฯ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ในวันถวายธรรมนูญการปกครองฯ

“ปฐมรัฐธรรมนูญ” ฉบับที่นำมาถวายพระปกเกล้านี้มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ร่างฯ ขึ้น[9] ซึ่งเป็นเอกสารการปกครองประเทศฉบับสำคัญของคณะราษฎร  และเป็นธรรมนูญการปกครองที่มีหลักการประชาธิปไตยโดยมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ราษฎรดังประกาศเจตนารมณ์ไว้ตั้งแต่มาตราแรกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

บันทึกในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475  เวลา 9.00 นาฬิกา เล่าไว้ว่า มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้เชิญคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475[10] และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม[11] ณ วังศุโขทัย[12] ดังรายนามได้แก่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  ผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรี หลวงวีระโยธา  หลวงประดิษฐ์มนูธรรม[13] ร.อ. ประยูร ภมรมนตรี นายจรูญ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์[14]

บรรยากาศในวันนั้นยังถูกบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ของคณะราษฎรปกครองแผ่นดินว่า

 

“นอกจากคณะราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 7 ยังมีนักเรียนนายร้อย 2 หมวด และรถหุ้มเกราะ 2 คัน เคลื่อนขะบวนจากพระที่นั่งอนันตสมาคมสู่พระราชวังสุโขทัย[15] โดยพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ สมุหพระราชมณเฑียร ได้เชื้อเชิญคณะราษฎรให้พัก ณ ท้องพระโรงก่อน

ครั้งได้เวลา 11.15 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกเสด็จออก พระยาสุริยวงศ์วิวัฒน์นำนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พร้อมด้วยคณะทั้งมวล…เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท”[16]

 

ศรีกรุง ฉบับวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ศรีกรุง ฉบับวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

และในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง[17] หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอความคิดประชาธิปไตยมาตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลที่ 7 ได้เสนอข่าวสนับสนุนคณะราษฎรโดยลงรายละเอียดในการเข้าเฝ้าฯ เริ่มตั้งแต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกราบบังคมทูลขอพระราชทานกำหนดนิรโทษกรรมฯ ครั้งนี้ว่า

 

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยักพระพักตร์บ้างเล็กน้อย แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ท้วงติง ทรงรับมาลงพระบรมนามาภิธัยด้วยดี…”[18]

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคืนพระราชกำหนดนิรโทษกรรมมาแล้ว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้อ่านพระราชบัญญัติธรรมนูญกรปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ถวาย ครั้นอ่านจบแล้วพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

 

“ข้อความในพระราชบัญญัตินั้นมาก พระองค์ยังไม่สู้จะเข้าพระทัยดี ใคร่จะขอร่างพระธรรมนูญนี้ไว้ดูก่อน”

 

แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้น ต่อมาพระยาสุริยวงศ์วิวัฒน์ได้ให้เจ้าหน้าที่นำสมุดลงนามเฝ้ามาให้ผู้แทนคณะราษฎรเซ็นทุกคน ราว 30 นาที พระยาอิศราฯ ได้นำร่างธรรมนูญการปกครองกลับมาหาคณะราษฎรซึ่งคอยอยู่และแจ้งว่า

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งมาว่า พระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองนี้ยาวมาก บางตอนยังไม่เข้าพระทัยดี ครั้นจะประทานพระบรมนามาภิธัยลงทันทีก็ดูไม่งามนัก

 

ขอผลัดว่าจะส่งคืนไปตามทางการในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.00 น. คณะราษฎรจะยอมตามได้หรือประการใด”

คณะราษฎรตอบกลับว่า

 

“พระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองนี้ยืดยาวอยู่ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอิดโรยมาก เป็นการสมควรที่จะผ่อนตามพระราชประสงค์ตามที่พระองค์แจ้งมา”

 

จากนั้น พระยาอิศราฯ จึงลงบันทึกพระบรมราชโองการขอผัดลงนามมอบให้แก่คณะราษฎรไว้เป็นหลักฐาน และคณะราษฎรก็ได้กลับไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม[19]

ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช  2475 ที่มี 39 มาตรา คืนมายังคณะราษฎร โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติฯ ว่า “ชั่วคราว” โดยทรงมีพระประสงค์หมายถึงว่า การจัดรูปการปกครองของระบอบใหม่นี้จะต้องดำเนินด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่มีข้อตกลงร่วมกันของหลายฝ่ายต่อไป[20]

ต่อมานักกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น หลวงประเจิดอักษรลักษณ์  ไพโรจน์ ชัยนาม  รวมถึงข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ เสนอไว้สอดรับกันว่า ธรรมนูญการปกครองฉบับแรกนี้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร[21]

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ทรงมีพระราชบันทึกต่อมาว่า

 

“ครั้งเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องต้องกันเสียแล้ว

…ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะพยายามรักษาความสงบไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนพันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย…”[22] 

 

หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ลงประวัติของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรภายหลังการภิวัฒน์[23]
หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ลงประวัติของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรภายหลังการภิวัฒน์[23]

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก คือ อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามที่คณะราษฎรมีเจตนาให้ธรรมนูญการปกครองฯ เป็นฉบับถาวร ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้ว่าธรรมนูญฯ ที่ตนยกร่างขึ้นมานั้นเพื่อให้คณะราษฎรใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก

 

“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ 27 มิถุนายน 2475 นั้น ผมในนามคณะราษฎรเป็นผู้ยกร่างขึ้น เดิมไม่มีคำว่า “ชั่วคราว”

ครั้นเมื่อผมนำไปทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย พระองค์ได้ขอให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” แล้วก็ทรงเขียนลายพระหัตถ์เองเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ โดยรับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อนแล้วจึงตั้งกรรมการและให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น”[24]

 

ดังนั้น การที่ปฐมรัฐธรรมนูญมีสถานะชั่วคราวจึงเป็นเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิใช่ตามเจตจำนงแรกเริ่มของคณะราษฎร[25]

ส่วนข้ออ้างว่าธรรมนูญการปกครองฯ ร่างกันด้วยความเร่งรีบนั้น ปรากฏว่าในปัจจุบันมีหลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งบันทึกความทรงจำและปากคำประวัติศาสตร์ชี้ว่า ปรีดีร่างธรรมนูญฯ ไว้ล่วงหน้าก่อนการอภิวัฒน์สยามแล้วจึงนำมาให้ชุบ ศาลยาชีวิน เป็นผู้พิมพ์ดีดในเรือจ้างกลางแม่น้ำเจ้าพระยา[26]

 

ชุบ ศาลยาชีวิน มือพิมพ์ดีดปฐมรัฐธรรมนูญของสยาม[27]
ชุบ ศาลยาชีวิน มือพิมพ์ดีดปฐมรัฐธรรมนูญของสยาม[27]

 

พระยาศรยุทธเสนี ผู้พาปรีดี และคณะราษฎร ถวายธรรมนูญการปกครองฯ

พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี หรือ กระแส ประวาหะนาวิน เป็นนายทหารเรือที่รับราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรในวันที่อภิวัฒน์สยามโดยการชักชวนของปรีดี พนมยงค์ และต่อมาได้เป็นหนึ่งในผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 คนแรก ของรัฐบาลคณะราษฎร ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี เล่าถึงวันที่อภิวัฒน์สยาม  การได้สนทนากับปรีดี พนมยงค์ เรื่องปฐมรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา ละเอียดทั้งในแง่วันเวลา ฤกษ์ยาม และมีชีวิตชีวา ที่สำคัญ คือ ท่านเป็นผู้นัดวัน และเวลาให้คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองฯ

 

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี

 

พระยาศรยุทธเสนี เล่าตั้งแต่เวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่าตนเองได้ออกเดินทางไปทำงานตั้งแต่ 5.00 น. พอย่ำรุ่งเศษก็มีวนิช ปานะนนท์ ขับรถตามมาบอกว่ามีการยึดอำนาจการปกครอง จนกระทั่งสายได้ไปทำงานตามปกติที่กรมเสนาธิการ แต่ยังไม่ทันถึงที่ทำงานก็มี ร.อ. หลวงศุภชลาสัย และวนิช ปานะนนท์ เชิญไปพบพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งได้ไปพบกับปรีดี พนมยงค์ ที่นั่น ต่อมาปรีดีส่งประกาศคณะราษฎรให้อ่าน และได้สนทนากัน

 

“ข้าพเจ้าพยายามอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์เสร็จแล้ว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถามข้าพเจ้าว่า ถ้าเจ้าคุณเห็นด้วยใคร่จะขอเชิญให้นำคณะผู้ก่อการจำนวนหนึ่งไปเฝ้าในหลวงเพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พวกผมไม่ใคร่เคยเข้าเฝ้า ส่วนเจ้าคุณเคยเป็นราชองครักษ์เคยเข้าเฝ้าอยู่เสมอ

ข้าพเจ้าขออ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน…”

 

สาเหตุของการเข้าร่วมอภิวัฒน์ของพระยาศรยุทธเสนี น่าสนใจว่ามาจากการอ่านปฐมรัฐธรรมนูญสยาม และความรู้เรื่องหลักปกครองจากสังคมตะวันตกจากประสบการณ์ประกอบกัน

 

“...อ่านเฉพาะคำปรารภและหัวข้ออื่นๆ พอเลาๆ ก็เห็นว่าเป็นปกครองบางประเทศส่วนมากเขามีอยู่ เพราะข้าพเจ้าเคยไปต่างประเทศหลายครั้ง เคยสนใจซื้อหลักปกครองบางประเทศมาอ่าน

เมื่ออ่านพอสมควรแล้วก็ตอบว่าจะให้ไปเฝ้าเมื่อใดและมีใครบ้าง เมื่อทราบชื่อผู้ที่จะไปแล้วก็นัดวันเวลาจะไปเฝ้า…”

 

บันทึกฉบับนี้เล่าถึงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ได้พาปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรไปเฝ้าพระปกเกล้า ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นโดยเฉพาะการย้ำความสำคัญของปฐมรัฐธรรมนูญว่า

 

“ราววันที่ 26 มิถุนายน เวลาประมาณ 10 นาฬิกา พวกที่จะไปมารวมกันที่ลานหลังพระบรมรูปทรงม้า มีรถยนต์หุ้มเกราะตามไปด้วย มุ่งหน้าไปยังวังสุโขทัย [28]ซึ่งทราบว่าคณะราษฎรได้เชิญ…รัชกาลที่ 7 มาประทับอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ผู้ที่ไปด้วยราว 10 คน เท่าที่จำได้ขณะเขียนนี้ 1. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 2. นายจรูญ ณ บางช้าง 3. นายสงวน ตุลารักษ์ 4. นายจรูญ สืบแสง คนอื่นๆ อีกจำไม่ได้

เมื่อรถเข้าไปจอดหน้าพระราชวังที่ทรงประทับอยู่ ซึ่งมีสมุหราชองครักษ์ พลเอกเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุุฒิไกรยืนรอรับอยู่ พอลงจากรถ ท่านเจ้าคุณกระซิบว่า เจ้าคุณเข้าร่วมกับเขาด้วยหรือ ก็กระซิบตอบว่า ไม่ได้ร่วมก่อการกับเขา แต่เขาขอร้องให้นำพวกที่มาด้วยเข้าเฝ้าขอพระราชทานรัฐธรรมนูญปกครองปกครองประเทศเยี่ยงประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย…”

 

พระยาศรยุทธเสนีเป็นผู้กราบทูลต่อพระปกเกล้าฯ ถึงความประสงค์ที่มาเข้าเฝ้า และยังเล่าขั้นตอนต่างๆ จากภาพจำในมุมมองของตนว่า

 

“...หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นถวาย ทรงพลิกๆ อยู่สักครู่แล้วรับสั่งว่า ขอเวลาฉันอ่านสักอาทิตย์สองอาทิตย์ หลวงประดิษฐ์ฯ กราบทูลว่า ทรงอ่านแล้วทรงตอบให้ทราบเร็วที่สุดได้จะเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ อย่างยิ่ง แล้วจึงได้ถวายหนังสืออีกฉบับหนึ่งเป็นหนังสือขอพระราชทานนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ร่วมก่อการครั้งนี้ทุกคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และขอร้องให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อทรงอ่านเสร็จแล้ว ทรงอึ้งอยู่สักครู่จึงทรงลงพระปรมาภิไธยให้แล้วทรงยื่นคืนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แล้วพวกข้าพเจ้าก็ถวายบังคมลากลับ

พอรถกลับถึงหน้าพระที่นั่ง และผ่านประตูออกไป พวกเราได้ชูหนังสือนิรโทษกรรมอวดพวกที่รอรับแล้วต่างก็ไชโยโห่ร้องกันด้วยความดีใจ”

 

พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี
พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี

 

ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ให้มีสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจึงได้จัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจำนวน 70 คน และพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ได้เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราว ลำดับที่ 15[29]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และบันทึกความทรงจำข้างต้น แสดงให้เห็นว่าระหว่างวันที่ 24 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หรือเพียง 4 วัน หลังการอภิวัฒน์สยาม มีความผันผวนทางการเมืองสูงอย่างยิ่งซึ่งเป็นผลมาจากที่คณะราษฎรเดินเกมประนีประนอมกับกลุ่มต่างๆ มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองสยามฉบับชั่วคราว มีการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 คน และมีการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นักกฎหมายของกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นประธานกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรก

จากก้าวแรกประชาธิปไตยจนถึงปีที่ 90 ความผันผวนทางการเมืองไทยยังคงสูง และอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย หรืออาจจะต้องมีการอภิวัฒน์เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร
...อีกครั้ง?

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49,  หน้า 166-179.
  • ราชกิจจานุเบกษา,พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475,  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 มิถุนายน 2475, เล่ม 49, หน้า 163.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.7 บ./10 เอกสารรัชกาลที่ 7 เรื่อง นายภักดี, นายไทย, เห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น (2468)

หนังสือพิมพ์ :

  • เดลิเมล์, 28 มิถุนายน 2475
  • ไทยใหม่, 24 มิถุนายน 2475
  • ศรีกรุง, 28 มิถุนายน 2475
  • ศรีกรุง, 9 กรกฎาคม 2475

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • ศรยุทธเสนี, พลเรือตรี พระยา, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ณ วัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2526. (พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2526)

วิทยานิพนธ์ :

  • ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528)

หนังสือภาษาไทย :

  • จดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ของคณะราษฎรปกครองแผ่นดิน  และพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475, (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2475)
  • จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์), หลวง,  อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ, (พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ, 2475)
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553)
  • เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)
  • ปิยบุตร แสงกนกกุล, จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิคณะก้าวหน้า, 2565)
  • ปั้น บุณยเกียรติ และเฮง เล้ากระจ่าง, สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครอง ภาค 1, (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475) 
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565)
  • สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2550)
  • สันติสุข โสภณสิริ, สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ในทัศนะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, (กรุงเทพฯ: โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2555)
  • เฮง สถิตถาวร, 150 ปี วิธีดำเนิรการของคณะราษฎร เล่ม 2, (พระนคร : โรงพิมพ์สิริชัย, 2475)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

 

[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), หน้า 192-193.

[2] สันติสุข โสภณสิริ, สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ในทัศนะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, (กรุงเทพฯ: โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2555), หน้า 107.

[3] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม พิมพ์ครั้งที่ 4, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 190-199.

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 286-292. และ สันติสุข โสภณสิริ, สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ในทัศนะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, (กรุงเทพฯ: โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2555), หน้า 115-117.

[5] ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ

[6] ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ

[7] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม พิมพ์ครั้งที่ 4, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 200.

[8] สะกดตามต้นฉบับจากเอกสารไมโครฟิล์ม ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.7 บ./10 เอกสารรัชกาลที่ 7 เรื่อง นายภักดี, นายไทย, เห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น (2468)

[9] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2565). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก  https://www.the101.world/first-constitution/

[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49,  หน้า 166-179.

[11] ราชกิจจานุเบกษา,พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475,  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 มิถุนายน 2475, เล่ม 49, หน้า 163.

[12] วังศุโขทัยเป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา  ใน พ.ศ. 2461 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักหอพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาและหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี  สวัสดิวัตน์ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรส และพระราชทานเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์  จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเสด็จกลับมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้งเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โปรดดูเพิ่มเติม พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ. (22 มิถุนายน 2552). วังสุโขทัย หรือ วังศุโขทัย. สืบค้นจาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=วังสุโขทัย-หรือ-วังศุโขท 

[13] บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น

[14] ปั้น บุณยเกียรติ และเฮง เล้ากระจ่าง, สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครอง ภาค 1, (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475), หน้า 37-38.

[15] สะกดตามต้นฉบับ ชื่อพระราชวังที่ถูกต้องคือ วังศุโขทัย

[16] ปั้น บุณยเกียรติ และเฮง เล้ากระจ่าง, สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครอง ภาค 1, (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475), หน้า 37-38.

[17] สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), หน้า 193.

[18]ศรีกรุง, 28 มิถุนายน 2475, หน้า 9.

[19] ศรีกรุง,  28  มิถุนายน 2475, หน้า 9.

[20] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (27 มีนาคม 2563). 24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/03/37

[21] ปิยบุตร แสงกนกกุล, จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิคณะก้าวหน้า, 2565), หน้า 163.

[22] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (27 มีนาคม 2563). 24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/03/37 

[23] ศรีกรุง, 9 กรกฎาคม 2475

[24] ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528), หน้า 33-34.

[25] ปิยบุตร แสงกนกกุล, จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิคณะก้าวหน้า, 2565), หน้า 165.

[26] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2565). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก  https://www.the101.world/first-constitution/

[27] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2565). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก  https://www.the101.world/first-constitution/

[28] สะกดตามต้นฉบับ ชื่อพระราชวังที่ถูกต้องคือ วังศุโขทัย

[29] ศรยุทธเสนี, พลเรือตรี พระยา, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ณ วัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2526. (พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2526), หน้า ด-บ.