ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 11)

7
สิงหาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 11 เสนอว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี ในประเด็นสำคัญคือ เรื่องหลัก 6 ประการ
  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ผู้เขียนแต่อย่างใด

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

ข้อ 10.

การเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ที่สับสนเกี่ยวกับการประกาศรัฐธรรมนูญนั้น

“ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นจริงและละเอียดลออ”

พล.ท.ประยูรฯ เรียนต่อท้ายเรื่อง “การนํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ (อ้างถึงแล้วในข้อ 8.) นั้นต่อไปอีกในหนังสือของท่านหน้า 176-177 ภายใต้หัวเรื่อง “ลงพระปรมาภิไธยใช้รัฐธรรมนูญ ชักธงชาติขึ้นพระที่นั่งอนันตสมาคม” มีความดังต่อไปนี้

ครั้นต่อมาในวันที่ 27 (มิถุนายน) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เป็นผู้นํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระตําหนักจิตลดา และในตอนบ่ายวันนั้นได้มีการชักธงชาติขึ้นสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม และได้ประกาศวิทยุเป็นทางการทั่วประเทศที่ได้ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนไทย มีประชาชนมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปนับแสน ได้เปล่งเสียงไชโยกึกก้อง นับเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันสําคัญยิ่ง

นักศึกษาได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ดังต่อไปนี้

(1)

วันที่ 27 มิถุนายนนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่วังสุโขทัย มิใช่ “พระตําหนักจิตลดา”

(2)

พระยามโนฯ ขณะนั้นเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์โดยยังไม่ได้รับตําแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (เทียบตําแหน่งนายกรัฐมนตรี) ท่านจึงไม่มีอํานาจนํารัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญฉบับใดที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ เป็นผู้ร่างขึ้นนั้นนําไปถวายในหลวงพระองค์นั้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ณ พระตำหนักจิตลดา

(3)

ร่างรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยามโนฯ เป็นผู้นําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้น ไม่ปรากฏว่ามีฉบับอื่นใดเลย ธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายนนั้นคือ ฉบับที่ผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่วังสุโขทัย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธรฯ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรนำมาพระราชทานคณะราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เวลา 17 น. (โปรดดูต้นฉบับลายพระหัตถ์ซึ่งเก็บไว้ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)

(4)

ส่วนรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 นั้นได้เสด็จพระราชดําเนินมาประเทศพิธีพระราชทาน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 10 ธันวาคมปีนั้น

(5)

ฉนั้นการที่คณะกรรมการและกรรมการฯ (ที่อ้างถึงแล้ว) ได้สนับสนุนข้อเขียนของสํานักพิมพ์บรรณกิจว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริงอย่างละเอียดลออนั้น จึงขัดแย้งกันเอกสารหลักฐานความจริงกึ่งนักศึกษาหลายคนได้ค้นพบดังกล่าวใน (1), (2), (3), (4), ข้างบนนั้น

 


ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์

 

ข้อ 11.

พล.ท.ประยูร ปฏิเสธหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

โดยท่านถือเพียง “หลักการ” 3 ประการ ประกอบ “หลักการยึดอำนาจ 3 ประการ”

11.1.

ความเป็นมาแห่ง “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร”

(1)

เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่ข้าพเจ้ากับเพื่อนอีก 6 คนรวมทั้ง ร.ท.ประยูรฯ จะได้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้นที่กรุงปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 (ปฏิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469) นั้น เราได้ตกลงกันก่อนแล้วที่จะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ปวงชนชาวสยามในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เป็นประชาธิปไตย

เพื่อนหลายคนนั้นได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ค้นคว้าทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อการนั้น ดังที่พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 106 ซึ่งข้าพเจ้าได้คัดมาพิมพ์ไว้ในข้อ 6.3. (1) ซึ่งมีความว่า

สําหรับในการแสวงหาความรู้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คุณปรีดี พนมยงค์ ได้หาข้าพเจ้า (ประยูรฯ) ไปเยี่ยมสํานักงานหนังสือพิมพ์ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตลอดจนหนังสือพิมพ์ของคณะคอมมิวนิสต์ ซึ่งเราจําเป็นที่จะต้องพาความรู้ความเข้าใจให้ซาบซึ้งในทุกด้านทั้งไปเยี่ยมห้องสมุดต่าง ๆ เพื่อค้นคว้าหาหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ และการยึดอํานาจกับหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้พาข้าพเจ้าไปในที่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของมวลชน..."

ข้าพเจ้าจึงได้แจ้งให้เพื่อนทราบว่า ในสมัยสมบูรณาฯ สยามก่อนที่รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงรายการบริหารนั้น ได้มี “จตุสดมภ์” (จตุ แปลว่า “4”, สดมภ์ แปลว่า “เสาหลัก”) หมายถึง “หลัก 4 เสา” ซึ่งค้ำจุนระบบสมบูรณาฯ สยามโบราณนั้นคือ เวียง, วัง, คลัง, นา ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยานั้น แปลว่า “จตุสดมภ์” ว่า “4 Colonnes Royales”

ข้าพเจ้าได้เสนอแก่เพื่อนหลายคนว่าในการที่เราเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญประชาธิปไตยนั้น ปวงชนชาวสยามได้คืนสิทธิ์เป็นเจ้าของประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามระบบประชาธิปไตย ฉนั้นเราควรมี “หลัก” (Colonnes) ที่ค้ำจุนปวงชนชาวสยามดังกล่าวแล้วนั้น “หลัก ๆ นั้นจะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามีอะไรบ้างซึ่งเป็นความปรารถนาของประชาชนชาวสยามดังกล่าวนั้นจึงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามระบบประชาธิปไตย"

เมื่อเพื่อนหลายคน ได้ช่วยกันคิดค้นแล้วจึงได้นํามาแสดงในที่ประชุมก่อตั้งราษฎรตามวันดังกล่าว เมื่อได้อภิปรายกันแล้วจึงเห็นกันว่ามี “หลัก” สําคัญ 6 ประการคือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงมาก

3. จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนทําโดยเต็มความสามารถจะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดหยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอกัน

5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้อย่างเต็มที่แก่ราษฎร

(2)

ประชาชนไทยซึ่งเคยไปงานของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงก่อนสงครามรุกรานจากญี่ปุ่นเมื่อ 1.2484 นั้น หลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันคงระลึกได้ว่าในงานนั้นให้มี “เสาหลัก 6 เสา” อันเป็นสัญลักษณ์แห่งหลัก 6 ประการของราษฎร”

(3)

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในข้อ 6 แล้วว่าผู้ก่อการรวมทั้งรองอํามาตย์เอกประยูรฯ ก็ได้ร่วมกับสมาชิกสภาผู้ราษฎร ปฏิญาณตนว่าจะรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง รัฐบาลต่อ ๆ มาหลายสมัยที่ได้แถลงนโยบายที่จะดําเนินตาม “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ผู้ก่อการฯ ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาฯ และประชาชนไทย ไม่ใช่ยึดถือ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” นั้น

(4)

คําปฏิญาณนั้นเป็นการยืนยันหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ผู้ก่อตั้งคณะราษฎรได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่กรุงปารีส

หนังสือ “ชีวิตทางการเมือง” ของพ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ เล่มที่อ้างถึงแล้วสั้น หน้า 7-8 มีความต่อไปนี้

เหตุที่เข้าร่วมปฏิวัติ

ในทัศนะของพระยาฤทธิอัคเนย์ ท่านกล่าวว่าเหตุที่ท่านได้ครองใจเข้าร่วมกับคณะปฏิวัติ ด้วยก็เพราะมีอุดมการณ์ต้องกัน กล่าวคือต้องการให้มีรัฐธรรมนูญปกครองให้ราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศได้มีสิทธิเสรีเท่าที่ควร และข้อสําคัญเท่าที่เห็นพ้องด้วย ไม่ใช่เพราะมีเหตุเดือดร้อนวุ่นวายหรือถูกปกครองด้วยอำนาจยุติธรรมเป็นการส่วนตัว หากเป็นเรื่องปรารถนาในความเจริญของชาติเพราะถ้ามีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ราษฎรย่อมมีสิทธิเสรีมีส่วนรู้เห็นในการดำเนินงานของรัฐ และคนที่สามารถย่อมมีโอกาสได้เข้ามาบริหารงานของรัฐ จึงเป็นทางหวังได้ว่าจากผู้สามารถหลายความคิดความเห็นนี้ จะนำให้มีการแก้ไข และปรับปรุงภาวะของบ้านเมืองให้ดีขึ้น อาทิ เช่นการศึกษาและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหลักสําคัญที่สุดในบรรดา หลัก 6 ประการของ “คณะราษฎร” ท่านมีความเห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้น ไม่พยายามที่จะเร่งการปรับปรุง และไม่กล้าลงทุนปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะเป็นเพราะเงินไม่มีหรือเจ้าหน้าที่สามารถไม่พอก็ไม่ทราบได้ แต่จะด้วยประการใดก็ตาม ไม่เคยทราบว่ารัฐบาลในสมัยนั้นได้มีโครงการที่แสดงออกมาให้ประชาชนทราบ

11.2.

“หลักการ 3 ประการ” ของ พล.ท.ประยูรฯ ประสบด้วย “หลักการยึดอํานาจ 3 ประการ”

(1)

ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดสังเกตอีกครั้งหนึ่งถึงการที่พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหนังสือท่านหน้า 209 ว่าท่านได้รับความสําเร็จของผลงานในทุกด้านนั้น แต่หลายด้านแห่งผลงานของท่านที่ทําไปนั้นไม่สวยไม่งามต่อ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” อาทิ

(ก) ความสําเร็จด้านที่ 2 ซึ่งท่านกล่าวว่า

ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น ร.อ.อ.ประยูรฯ ในขณะเป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ทําไปโดยฝ่าฝืนหลักประการที่ 3 ของคณะราษฎรที่มีความว่า “จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนโดยเป็นความสามารถจะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดมาก

เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะขอชี้แจงไว้ในข้อ 12.

(ข) ความสําเร็จด้านที่ 3 ซึ่งท่านกล่าวว่า “ได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญและเลิกคำว่า “กรรมการราษฎร” (แทนเสนาบดีมาเป็นรัฐมนตรีที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพรรคการเมือง ได้เลิกคณะราษฎรและพุทธสมาคมที่จะเอา “พระสงฆ์องค์เจ้านายแตกแยก” นั้น ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความจริงไว้บ้างแล้วในข้อ 7, ข้อ 8, ข้อ 9, เกี่ยวกับเรื่องกรรมการราษฎรและเสนาบดี ส่วนเรื่องที่เราจะได้ชี้แจงความจริงในข้อที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้แสดงว่า ร.อ.อ. ประยูรฯ โดยสิ่งที่เจตนาที่ไม่พอใจ! “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร”

พล.ท.ประยูรฯ ละเลยไม่กล่าวถึงหลักของคณะราษฎรประการที่ 1 ว่าด้วยรักษาเอกราชทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, ของชาติไว้ให้มั่นคง, หลักประการที่ 2 ว่าด้วยความปลอดภัยภายในประเทศ, หลักประการที่ 3 ว่าด้วยสิทธิเสมอภาค, หลักประการที่ 5 ว่าด้วยเสรีภาพ, หลักประการที่ 6 ว่าด้วยให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

(2)

พล.ท.ประยูรฯ ได้ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นด้วยในการก่อตั้งคณะราษฎรที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในข้อก่อนแล้ว ฉนั้นท่านจึงปฏิเสธหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยท่านถือเพียง “หลักการ 3 ประการ” ของท่านประกอบด้วย “หลักการยึดอำนาจ 3 ประการ” ที่ท่านกล่าวไว้ในหนังสือของท่านหน้า 104-106 คือเมื่อท่านได้พรรณนาถึงการที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยชักชวนข้าพเจ้า(ปรีดี) เมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2467 (ซึ่งร.ท.ประยูรฯ เพิ่งถึงปารีสได้ประมาณ 2 เดือนเศษ) แล้วท่านได้ชักชวน ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, ทัศนัย มิตรภักดี, ดร.ตั้ว ลพานุกรม, นายแนบ พหลโยธิน, ส่วนข้าพเจ้า(ที่อยู่ฝรั่งเศสสอนท่านหลายปีและเป็นมานายกสมาคมนักเรียน) นั้น พล.ท.ประยูรฯ กล่าวว่าข้าพเจ้าชวนได้หลวงสิริราชไทยเรือนเดียวเท่านั้น ท่านได้พรรณนาต่อไปว่า เมื่อได้เพื่อน รวมคิดมิตรร่วมตายครบ 7 ผมก็ได้ประชุมกันที่บ้านข้าพเจ้า (ประยูรฯ) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467” (ข้อเท็จจริงเป็นความจริงเพียงใดนั้นข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงไว้ในข้อ 18, 19, 20, 21

(ก)

เสร็จคำพรรณานั้นแล้ว พล.ท.ประยูร ได้กล่าวถึง “หลัก 3 ประการ” ของท่านไว้ดังต่อไปนี้

ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้กําหนดความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กติกาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองตลอดจนถึงกําหนดบุคลิกของผู้ที่จะมาร่วมคณะต่อไป และให้กําหนดหลักการไว้ 3 ประการคือ

ประการแรก ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรากฐานประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยงดเว้นการมีสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด

ประการที่สอง กําหนดการยึดอํานาจด้วยการปฏิบัติการ (Coup D'ETAT) ไม่ใช่กการจลาจลงดเว้นการนองเลือด การทำรุณกรรมใด ๆ และไม่หัตประหารกันเองอย่างการกบฏในประเทศฝรั่งเศส 

ประการที่สาม ร่วมกันทําการปกครองบริหารประเทศชาติด้วยความสุจริตใจ งดเว้นการแสวงหา และการสร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นประโยชน์ส่วนตัว อนึ่ง ในการประชุมกันในครั้งนี้คณะผู้ริเริ่มเปลี่ยนการปกครอง ไม่ได้มีหลักการพิจารณากำหนดเรื่องลัทธิการเมืองประการใดมีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทาง 

(ข)

ต่อจาก “หลัก 3 ประการ” นั้นแล้ว พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนสิ่งที่ท่านเรียกว่า “หลักการเพื่อดําเนินการยึดอํานาจ” ไว้อีก 3 ประการ ซึ่งรวมกัน 3 ประการข้างบนนั้นก็ดูประหนึ่งได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลข “6” ประการของพล.ท. ประยูรฯ ดังต่อไปนี้

ในการประชุมได้กําหนดหลักการเพื่อดําเนินการยึดอํานาจไว้ 3 ประการคือ

1. การหาความรู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศต่าง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ เพื่อทราบความมุ่งหมาย แผนการดําเนินงาน ความสําเร็จและเหตุการณ์แห่งความล้มเหลวและเหตุผล ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาในการดําเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป

2. กําหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาร่วมคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะต้องมีความรู้ที่กว้างขวางมีรากฐานการศึกษาเพียงพอ นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มาร่วมคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ประกอบด้วยอคติพยาบาทเคียดแค้น หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประการใด และทํางานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติโดยสุจริตใจ กับทั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติและสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวเป็นหลักฐานที่พึงไว้วางใจได้

3. ในเรื่องกําหนดวิธีการที่จะหาเงินทองมาเป็นทุนในการดําเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในระยะแรกก็อาศัยการเรี่ยไรเงินส่วนตัวกันเป็นสําคัญ ไม่มีความจําเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินกันมากมายไปประการใด นอกจากนี้ก็วางแผนที่จะประกอบธุรกิจเพื่อหารายได้เป็นกอบเป็นกำต่อไป

ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดสังเกตและวิเคราะห์วิจารณ์หลัก 3 ประการของ พล.ท.ประยูรฯ ดังต่อไปนี้

11.3

พล.ท.ประยูรฯ เอาคำว่า “หลักการมาแทนที่คำว่า “หลัก””

(1) 

เมื่อพล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธ “หลัก 6 ประการคณะราษฎร” แล้ว ท่านก็ได้ให้คำว่า “หลักการ” ซึ่งมีความหมายผิดจากคำว่า  “หลัก” (ดังกล่าวได้ข้อ 11.1) นั้นขึ้นมาแทนที่ 

(2) 

สิ่งที่พล.ท.ประยูรฯ เรียกว่า “หลัก” นั้นก็ปรากฏตามที่ท่านกล่าวไว้ดังที่ข้าพเจ้าปานกลางถึงในข้อ 11.2 นั้นคือเป็นเรื่องของ “วิธีการ” (MEANS), วินัยและธรรมจริยาของสมาชิก, และย้ำแล้วย้ำอีกอยู่ประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแบบปกครองตามรัฐธรรมนูญอังกฤษ แต่มีใจความขัดแย้งกันเองระหว่างประเทศต่าง ๆ ของท่าน ซึ่งผู้ที่มีใจเป็นธรรมพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนแล้วก็จะเห็นว่า แม้จะรวม “หลักการ 3 ประการ” กับ “หลักการยึดอำนาจ 3 ประการ” ซึ่งดูผิวเผินประหนึ่งว่าได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลข “6” ประการ

(3) 

เพื่อสดวกแก่การพิจารณาของท่านที่มีใจเป็นธรรม ข้าพเจ้าขอจำแนกวิเคราะห์วิจารณ์ทีละหลักการของ พล.ท.ประยูรฯ ตามลำดับในข้อต่อ ๆ ไป

 

โปรดติดตาม "บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 12" ตอนต่อไป 

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :