ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

เมื่อได้เป็นมา ‘ครอบครัวเดียวกัน’ กับคุณพูนศุข

12
มกราคม
2564

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากบทความเรื่อง สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพูนศุข ซึ่งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับผู้เขียน ในระยะแรก จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าด้วยการตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไปพระราชวังบางปะอิน เพื่อหนีภัยสงครามในกรุงเทพฯ

ตั้งโรงเรียนในวังบางปะอิน

ท่านปรีดีเห็นว่า เด็กเหล่านั้นไม่มีอะไรจะทำ ได้แต่วิ่งเล่นเพ่นผ่าน ไม่ใช่ของดี เพราะต่อไปนาน ๆ อาจจะทำอะไรที่ผิด ๆ ได้ง่าย จึงจัดการให้ขออนุญาตตั้งโรงเรียนพิเศษเป็นทางการขึ้นที่โรงจากใหญ่ในวังบางปะอิน  โรงจากนี้เท่าที่จำได้ดูเหมือนว่าเป็นของโรงเรียนวชิราวุธฯ ที่ได้สร้างขึ้นเพื่อฝึกการเข้าค่ายของลูกเสือหรืออะไรทำนองนี้ กว้างขวางมากและยังอยู่ในสภาพที่ดี ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างขอยืมจากโรงเรียนใกล้ ๆ นั้น และครูก็ไม่ต้องไปหาที่ไหน พวกเราเหล่าอพยพทั้งหลาย เต็มใจที่จะช่วยกันสอน เพราะทำให้มีงานทำหายเหงาไปวัน ๆ พวกเด็ก ๆ ลูกหลานของเราก็เข้าเรียนโรงเรียนนี้ทั้งหมด

คุณพูนศุขได้ไปกราบทูลเชิญเจ้านายแต่ละตำหนักที่มีเด็ก ให้ส่งมาเรียนฟรี และโดยที่เจ้านายเหล่านั้นไว้ใจในตัวคุณพูนศุขว่าคงจะดูแลเป็นที่เรียบร้อยอย่างดี จึงมีหม่อมเจ้าน้อย ๆ ทั้งหญิงและชายหลายองค์ หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวงหลายคน รวมทั้งบรรดาลูก ๆ ของพวกข้าราชบริพารทั้งหลายมาเข้าเรียนกันไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เด็ก ๆ นอกวังเข้าเรียนได้ด้วย  ดิฉันได้ร่วมเป็นครูกับเขาคนหนึ่ง คุณพูนศุขไม่ได้ลงมือสอนเอง แต่เท่ากับเป็นผู้อำนวยการและที่ปรึกษาให้การสอนเป็นไปโดยเรียบร้อย

การตั้งโรงเรียนขึ้นนี้นับป็นการลดความหนักใจอันใหญ่หลวงให้แก่บรรดาผู้อพยพมาอยู่ที่นี่ เพราะนอกจากทุกคนจะสบายใจว่าพ้นภัยจากลูกระเบิดที่ในกรุงแล้ว ลูกหลานก็ยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่มีใครรู้ว่า สงครามจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด สิ่งนี้ได้รับการสรรเสริญชมเชยมาก ส่วนตัวดิฉันนั้น กลางวันเป็นครูสอนเด็ก แต่ตอนเย็นและกลางคืนและในเวลาว่างทั้งหลายก็เป็นลูกศิษย์ของคุณพูนศุขต่อไป

เจ้านายฝ่ายในที่ได้เสด็จมาประทับหลบภัยในพระราชวังบางปะอินนี้แทบทุกพระองค์ได้ทรงรู้จักกับคุณพูนศุขมาก่อนแล้ว เพราะคุณพ่อคุณแม่ของท่าน คือ พระยาชัยวิชิตฯ และคุณหญิงเพ็งนั้นได้เคยอยู่ในแวดวงของเจ้านายมาเป็นเวลานาน ตัวคุณพูนศุขเองได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระพันปีฯ ในรัชกาลที่ 5 และน้อง ๆ ของท่านหลายคนได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอกในสมเด็จกรมหลวงเพชรบุรีฯ (พระปิตุจฉาของในหลวง รัชกาลที่ 9) ซึ่งได้ส่งตัวไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชินี มาตอนนี้ดิฉันเลยได้พลอยรู้เรื่องเจ้านายทั้งหลายในวังบางปะอินไปด้วย

ความจริงตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนราชินีนั้น ดิฉันมีเพื่อน ๆ และครูหลายคนซึ่งเป็นหม่อมเจ้า โดยมาจากหลายสาย เช่น สายกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ดิศกุล) สายกรมพระสวัสดิ์ (สวัสดิวัตน์) สายกรมหลวงราชบุรีฯ (รพีพัฒน์) สายกรมหลวงจันทบุรีฯ (กิติยากร) ฯลฯ ได้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ของเจ้านายเหล่านี้บ้างเป็นเลา ๆ แต่ไม่เคยรู้ว่า สายไหนเกี่ยวโยงกับสายไหนอย่างไร เพิ่งมารู้กระจ่างแจ้งจากคุณพูนศุขนี่เอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า เรามีเวลาว่างอยู่ด้วยกันนาน เมื่อพูดถึงเจ้าสายหนึ่งก็อาจจะโยงไปถึงอีกสายหนึ่ง แล้วก็อีกสายหนึ่ง บางครั้งโยงถอยหลังไปจนถึงต้นราชวงค์จักรีก็มี !

สงครามสิ้นสุด

เราอยู่ที่บางปะอินกันอย่างสุขกายสบายใจ จนกระทั่งวันสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ญี่ปุนประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ประเทศไทยจึงประกาศในวันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพของไทย  รุ่งขึ้นคุณพูนศุขเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปสืบเรื่องราว ต่อมาอีกวันหนึ่งก็กลับมาบางปะอิน 

บังเอิญเป็นเวลาที่คุณวัฒนา อิศรภักดี เพื่อนของจำกัดและดิฉันมาเยี่ยม และดิฉันกำลังชี้ให้คุณวัฒนาดูต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นปาล์มต่าง ๆ ซึ่งจำกัดชอบ แล้วเราก็พูดกันถึงเรื่องจำกัดต่าง ๆ นานา ทั้งนี้ก็เพราะดิฉันคิดว่าคงจะได้พบจำกัดในเวลาอีกไม่กี่วัน  คุณพูนศุขมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า ท่านเดินมายืนข้างหลังเราโดยที่เราไม่เห็นท่าน และท่านไม่สามารถทนฟังต่อไปได้ เพราะท่านรู้มาแล้วเรื่องจำกัดเสียชีวิต ท่านรีบเดินหนีไป และไปคิดว่า ท่านจะมองหน้าดิฉันได้อย่างไร คงปิดไม่สำเร็จแน่ ท่านจึงบอกพวกเราว่า ท่านยังทำธุระที่กรุงเทพฯ ไม่เสร็จบางอย่าง ขอกลับไปกรุงเทพฯ อีก ซึ่งเราก็ไม่ติดใจสงสัยอะไรเลย

ตอนนั้น โรงเรียนหยุดสอนแล้ว และพวกเจ้านายบางพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่สมเด็จพระพันวัสสาฯ กับเจ้านายที่ใกล้ชิดอีกหลายองค์ยังคงอยู่ต่อไป พวกญาติของคุณพูนศุขทั้งหมดก็ยังอยู่ด้วย

คุณพูนศุขคงจะไปบอกท่านปรีดีให้แจ้งข่าวเรื่องจำกัดเป็นทางการแก่ดิฉันเสียโดยเร็ว เพราะดิฉันเคยบอกท่านว่า ทุก ๆ วันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแต่งงานของเรา จำกัดและดิฉันจะไปถ่ายรูปคู่กัน และเมื่อจำกัดไม่อยู่ดิฉันก็ไปถ่ายรูปคนเดียว ยังไง ๆ ดิฉันก็จะต้องเข้ากรุงเทพฯ ในอีกไม่กี่วัน และถ้าดิฉันมารู้เรื่องเอาเองก็จะเป็นการไม่สมควร  ฉะนั้น ท่านปรีดีจึงส่งคุณเฉลียว ปทุมรส ข้าราชการสำนักพระราชวัง มารับดิฉันประมาณวันที่ 20 หรือ 21 สิงหาคม 2488

ตลอดทางจากบางปะอินจนมาถึงกรุงเทพฯ คุณเฉลียวกับดิฉันไม่ได้พูดกันสักคำเดียว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก และดิฉันน่าจะคิดในเรื่องนี้ แต่ความที่ในใจดิฉันนั้นมีการพูดกับตนเองอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าตนไม่ว่างเลย และคิดว่าดีแล้วที่ได้มีเวลาอิสระเช่นนั้น ไม่อยากให้ใครมาพูดกวนใจให้เสียเวลาแม้แต่น้อย  ดิฉันคิดว่า การที่ท่านปรีดีให้มารับนี้ คงจะให้ได้พบกับจำกัดกระมัง หรือว่าเพียงแต่คุณพูนศุขเห็นว่ายังไง ๆ ดิฉันก็จะมากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ก็เลยช่วยส่งรถมารับเท่านั้นเอง  แต่ที่แปลกที่สุดก็คือว่า ทำไมใคร ๆ กลับมากันแล้ว แต่จำกัดยังไม่มา คงจะเป็นอย่างนั้น ถ้าจะเป็นอย่างนี้ หรืออาจจะเป็นอย่างโน้น คิดไปสารพัดอย่าง แต่ในทางที่ดีทั้งนั้น คุณเฉลียวจะรู้บ้างหรือเปล่านะ? ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจำกัด ดิฉันจะต้องทราบจากท่านปรีดีเอง

เมื่อมาถึงบ้านท่านปรีดี ได้พบใครต่อใครหลายคน นอกจากท่านปรีดีและท่านผู้หญิง ก็มีกำแหง น้องชายจำกัด  คุณหลุย น้องชายท่านปรีดี  คุณหมอบุญช่วย สุวรรณศร ญาติท่านผู้หญิง จะมีคุณจรูญ สืบแสง ด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ใจ  ดิฉันหวังมาครึ่ง ๆ ว่าอาจจะได้พบจำกัด แต่ไม่มีจำกัด และไม่เห็นมีใครพูดถึง  ดิฉันครุ่นคิดอยู่ในใจว่า จำกัดอาจจะได้รับมอบหมายให้ทำธุระสำคัญอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ยังทิ้งมาไม่ได้ในตอนนั้น หรือเขาอาจจะป่วยมากจนถึงกับยังเดินทางไม่ได้ หรือเขาจะ...เป็นไปไม่ได้ ไม่ได้แน่ ๆ เขาต้องยังไม่ตาย

ตอนแรก ๆ ที่เขาออกเดินทางไป ดิฉันกลัวเหลือเกินตลอดเวลาว่า เขาอาจจะถูกฆ่าตายเสียก่อนที่จะเข้าเขตจีนได้ แต่เมื่อได้ฟังวิทยุจากเมืองจีน เมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่า เขาได้ไปถึงแล้วโดยปลอดภัย ก็หมดห่วง แต่นั้นมาหวังไว้เต็มที่ว่า ยังไง ๆ ถ้าไม่ได้พบกันก่อน ก็ต้องได้พบตอนสงครามสงบ

ระหว่างนั้นใครจะพูดอะไร ดิฉันได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง เพราะมัวแต่ครุ่นคิดอะไรต่ออะไรร้อยแปด ทั้งด้านบวกและด้านลบ  ดิฉันได้สัญญากับจำกัดว่าจะไม่ถามข่าวคราวของเขาจากท่านปรีดีเลย เพราะถ้ามีอะไรควรบอก ท่านก็คงจะบอกเอง  ยิ่งระยะก่อนนั้นดิฉันเองรู้อยู่เต็มอกว่า ท่านกำลังแบกภาระอันหนักมากเพียงไหนอยู่ แต่มาถึงตอนนั้นทุกอย่างมันเบาบางลงแล้ว และสิ่งที่ดิฉันข้องใจที่สุด ก็คือ ดิฉันรู้แน่ 100% ว่า ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องจนเหลือแสนแล้ว จำกัดจะกลับมาหาดิฉันในวินาทีแรกที่เขาจะทำได้ อย่างไรก็ตาม คืนนั้นดิฉันนอนไม่หลับเลย

วันรุ่งขึ้นก็แบบเดียวกันอีก คนพวกเดิมมาพบกัน นั่งคุยกันในห้องรับแขกชั้น 3 แต่วันนี้มีท่านชิ้น (ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) มาร่วมด้วย จำได้ดีว่า ระหว่างนั้นเสียงวิทยุที่เปิดอยู่นอกห้องดังชัดเข้ามาข้างใน บรรยายถึงเรื่องเสรีไทยตั้งแต่ต้นว่า พวกแรก ๆ ที่ส่งไปได้มีการเสียชีวิต ดิฉันได้ยิน แต่ไม่สนใจเลย ไม่สังหรณ์สักนิดว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับตัวเรา หลังจากคุยกันอยู่สักพัก ท่านชิ้นขยับเข้ามานั่งใกล้ดิฉัน และเล่าว่า ท่านได้ไปพบจำกัดที่จุงกิง ได้ไปทำงานอะไรต่ออะไรด้วยกันมากมาย ดิฉันเริ่มใจไม่ดีแล้ว ยิ่งตอนที่ท่านเริ่มกล่าวสรรเสริญชมเชยจำกัดหลายต่อหลายประการ ดิฉันยิ่งเริ่มจะแน่ใจ ฟังไม่รู้เรื่องว่า ท่านพูดอะไรต่อไปบ้าง จนในที่สุดท่านบอกว่า ท่านเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งในการเสียชีวิตของจำกัด และขอแสดงความเสียพระทัยอย่างเหลือล้นต่อดิฉันด้วย

ดิฉันพูดไม่ออกเลย ลืมสติ เกลียดท่านชิ้นอย่างจับใจในฉับพลันนั้น  คิดว่าถ้าที่นั่นเป็นบ้านของตนเองก็คงจะร้องกรี๊ดออกมาดัง ๆ และถ้าท่านชิ้นเป็นสิ่งของ ก็คงจะทำลายให้แหลกลาญไปกับมือ  แต่นั่นเป็นบ้านของท่านผู้ใหญ่ และอยู่ระหว่างคนที่ดิฉันเคารพนับถือทั้งนั้น ทำอะไรไม่ได้ แสนที่ปวดร้าวหัวใจ พยายามลุกขึ้นจากเก้าอี้ด้วยเรี่ยวแรงที่เกือบไม่มีเหลืออยู่แล้ว และวิ่งเข้าไปในห้องนอน ซึ่งอยู่ห่างจากห้องนั้นไม่มากนัก ไม่รู้ว่าจะร้องไห้อย่างไรและแค่ไหนจึงจะสมกับความหวังที่แตกสลายไป  ความสูญเสียครั้งนี้อธิบายไม่ถูกว่า มันใหญ่หลวงเพียงไร รู้สึกว่าในทรวงอกไม่มีอะไรอยู่เลย

ท่านปรีดีกับกำแหงเดินตามเข้ามา ท่านปรีดีโอบกอดทั้งกำแหงและดิฉันไว้แล้วพูดพลางร้องไห้ด้วยว่า “ต่อไปนี้ ขอให้เราถือเป็นครอบครัวเดียวกันนะ มีอะไรขอให้มาบอกเล่า และปรึกษาหารือกัน” ท่านพูดอะไรอีกนั้น ดิฉันฟังไม่ใครได้ยิน ดิฉันได้แต่เพียงกราบท่านโดยมิได้พูดอะไรเลย เผยอปากไม่ออกจริง ๆ  ดิฉันรู้ซึ้งอยู่เต็มหัวใจว่า ตัวท่านเองก็เสียใจไม่น้อยไปกว่าเราเลย  ดิฉันหักใจได้ว่า การสูญเสียของดิฉันนี้ ไม่มีใคร (แม้แต่เทพยดาองค์ไหน) จะสามารถทำอะไรให้ได้กลับคืนมา พรหมลิขิตโชคชะตาของเราให้เป็นไปอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับโดยดุษณี

ครู่ใหญ่หลังจากที่ท่านปรีดีและกำแหงกลับออกไปแล้ว เด็กรับใช้คนหนึ่ง มาเคาะและเปิดประตู เอาเสื้อกระโปรงสีดำของคุณพูนศุขมาให้  เอาอีกแล้ว คิดว่า หักใจได้อยู่หยก ๆ แต่มันไม่ง่ายเช่นนั้น  ถ้าเป็นอยู่ที่บ้านของดิฉันเอง ดิฉันคงเอาเสื้อพร้อมทั้งไม้แขวนขว้างหน้าเด็กคนนั้นไปแล้ว ไม่อยากใส่เสื้อดำ ไม่อยากเห็นสีดำ กลับร้องไห้อีกพักใหญ่ แล้วนึกขึ้นได้ว่า ขณะนั้นตนเองก็ไม่มีปัญญาที่จะทำอะไรให้วิญญาณของจำกัดเลย การสวมสีดำเพื่อเขาเป็นสิ่งเดียวที่จะทำได้ในตอนนั้น ก็เลยลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ชุดดำของคุณพูนศุข แล้วคงจะนอนหลับไปหรืออย่างไรไม่ทราบ แปลกที่ว่า ดิฉันจำเหตุการณ์ 2-3 วัน หลังจากนั้นไม่ได้เลย

คุณพูนศุขคงจะรู้ว่า ท่านปรีดีได้พูดอะไรกับดิฉัน และท่านเองก็คงจะคิดเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ท่านจึงปฏิบัติต่อดิฉันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันจริง ๆ มาโดยตลอด ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งพระคุณอันสูงนี้ได้ฝังแน่นลึกอยู่ในดวงใจของดิฉัน แต่ก็ไม่มีปัญญาที่จะทดแทนท่านได้อย่างไร

ดิฉันมารู้ที่หลังว่า วันแรกที่ดิฉันมาถึงนั้น ท่านปรีดีได้จัดคณะที่จะช่วยกันแจ้งข่าวร้ายแก่ดิฉัน และจัดคุณหมอบุญช่วยมาอยู่ด้วย เผื่อว่าดิฉันจะเป็นลมหมดสติไป แต่เอาเข้าจริง ถึงเวลาแล้วก็ไม่มีใครกล้าเอ่ยอะไรเลย วันรุ่งขึ้นจึงต้องไปทูลเชิญท่านชิ้นให้มาช่วยแจ้งแทน ดิฉันขอขอบพระคุณท่านทุกคนที่ได้เห็นใจดิฉันถึงเพียงนั้น

 

กลับไปอยู่บางปะอิน แล้วอพยพกลับกรุงเทพฯ

ดิฉันอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างกี่วันจำไม่ได้ แต่ระยะนั้นพวกเสรีไทยเข้า ๆ ออก ๆ ตลอดเวลาเกี่ยวกับธุรกิจซึ่งยังคั่งค้างอยู่ ท่านปรีดีไม่อยากให้ดิฉันเห็นพวกนั้น โดยเฉพาะพวกเสรีไทยอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สะเทือนใจมาก ไม่มีวันสงบ จึงส่งดิฉันกลับไปอยู่บางปะอิน โดยที่คุณพูนศุขไป ๆ มา ๆ ไม่ทอดทิ้ง เพราะสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็ยังประทับอยู่ที่นั่น

มาอยู่บางปะอินระยะหลังนี้ไม่มีอะไรทำ หรือไม่คิดอยากทำอะไรมากกว่า ดิฉันใช้เวลานอนร้องไห้เสียเป็นส่วนใหญ่ คุณพูนศุขยังให้ญาติของท่านอยู่ต่อไปก่อน ซึ่งได้ให้ความอบอุ่นและความเมตตาแก่ดิฉันอย่างมาก ดิฉันเป็นหนี้บุญคุณต่อท่านทุกคน และจะไม่มีวันลืมเลย

เราอยู่บางปะอินต่อไปนานเท่าไร จำไม่ได้ แต่คิดว่าคงไม่นานนัก เมื่อรัฐบาลกราบทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาฯ กลับ เราก็ตามเสด็จกลับมาด้วย ดิฉันมาอยู่กับคุณพูนศุขเหมือนเมื่อตอนจำกัดเดินทางจากไปใหม่ ๆ  โรงเรียนต่าง ๆ กลับเปิดอีกในภาค 2 (5 ก.ย) แต่ดิฉันยังไม่มีกำลังกายและใจพอที่จะทำงานได้ จึงยังไม่เปิดโรงเรียน ฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรทำ ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ แต่ระยะนี้มีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมบ้าง นอกจากนี้แล้วดิฉันไปเยี่ยมบ้านคุณพ่อจำกัดครั้งหนึ่ง แล้วไม่ได้ไปไหนอีกเลย เว้นแต่ไปกับคุณพูนศุข ไปบ้านคุณแม่ท่าน ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของท่านเท่านั้น

 

เมื่อดิฉันแอบหนีมาโรงเรียน

เมื่ออยู่ที่ทำเนียบท่าช้างมาได้ประมาณ 2 เดือนโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลยดังที่กล่าวแล้ว เย็นวันหนึ่งดิฉันเกิดความกลัดกลุ้มอย่างบอกไม่ถูก แล้วในทันทีนั้นก็นึกถึงโรงเรียนขึ้นมาได้ ตอนค่ำ ๆ วันนั้นจึงไปที่โรงเรียนโดยไม่ได้บอกใครที่บ้านไว้ การที่ไปตอนค่ำ ก็เพราะไม่อยากจะให้เพื่อนบ้านรอบ ๆ โรงเรียนรู้

ไปถึงมืดมากแล้ว เพราะไม่ได้เปิดไฟไว้เลย ไม่รู้ว่าไฟเสียหรือเปล่า ไม่กล้าเปิด เดินย่องเข้าไปในห้องรับแขก เอามือลูบดูรู้สึกว่าเต็มไปด้วยฝุ่น แต่ก็นั่งลงไปทั้งอย่างนั้น ปรากฏว่ายุงชุมมาก จึงเอาผ้าพันคอชีฟอง ซึ่งตามปกติดิฉันมีไว้ในกระเป๋าถือ 2-3  ผืนเสมอ คลุมหัวและแขนขา ไม่รู้สึกหิวข้าว แต่หิวน้ำ ลองไปเปิดก๊อกดู น้ำก็ยังไหลดี ดิฉันนั่งเฉย ๆ อยู่อย่างนั้นในความมืดตลอดคืน ไม่คิดกลัวอะไรเลย และไม่รู้เหมือนกันว่า ตนทำเช่นนั้นทำไม รู้แต่ว่าอยากทำเท่านั้น

ตอนเช้าตรู่ คุณพูนศุขมา ท่านบอกว่า เมื่อคืนนี้ทุกคนที่บ้านตกใจที่ดิฉันหายตัวไป คอยอยู่จนดึกแล้วก็ยังไม่กลับ แต่ท่านปรีดีรู้จิตวิทยาดี เดาได้ว่า ดิฉันจะต้องไปโรงเรียนแน่ ๆ ดิฉันกราบขอโทษท่านที่ได้ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นเช่นนั้น เรียนไปตามตรงว่า ตัวเองก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น คุณพูนศุขขอให้กลับไปบ้านก่อน แล้วถ้าอยากเปิดโรงเรียนจริง ๆ ก็จะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้เป็นเรื่องเป็นราวและเรียบร้อย

ดิฉันจะไม่เล่ารายละเอียดถึงเรื่องที่ท่านปรีดีและคุณพูนศุขได้ช่วยจัดการจนเปิดโรงเรียนใหม่ได้ตามต้องการ จะเล่าที่เกี่ยวกับคุณพูนศุขเท่านั้น  ท่านขอให้ดิฉันไปค้างกับท่านในวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าวันไหนติดขัดจะต้องทำงาน ตัวท่านเองก็แวะมาเยี่ยมเป็นประจำ

ตอนเปิดโรงเรียนใหม่คราวนี้ พวกเพื่อนของเรา โดยเฉพาะพวกเพื่อน ส.ส.ของจำกัด พากันเอาลูก ๆ มาเข้าหลายคน กิจการโรงเรียนกำลังดำเนินไปเรียบร้อยดี จนกระทั่งเช้าตรู่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อจอมพล ผินทำการปฏิวัติ ทหารเอารถถังไประดมยิงทำเนียบท่าช้าง แต่ท่านปรีดีลงเรือหนีรอดไปได้ ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ของดิฉันหลายคนต้องหลบซ่อนเอาตัวรอด ดิฉันจึงเอาเด็ก ๆ เหล่านั้นเข้ามาอยู่เป็นนักเรียนประจำทั้งหมด

16 พฤศจิกายน 2490 บังเอิญวันนั้นเป็นวันครบรอบแต่งงานของท่านปรีดีและคุณพูนศุข คุณพูนศุขพาดิฉันไปด้วย ไปพบท่านปรีดีที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งที่ชลบุรี เย็นนั้นเรากลับมาทำเนียบ แต่ท่านปรีดีไปพักอยู่ในกรมนาวิกโยธินที่สัตหีบ รุ่งขึ้นคุณพูนศุขและลูก ๆ ตามไปอยู่ด้วย แต่ดิฉันไปแต่เช้าตรู่และกลับตอนเย็นทุกวันเพื่อจะได้รับใช้ทำอะไรให้ท่านบ้าง

19 พฤศจิกายน 2490 เป็นวันเกิดของดิฉัน ฉะนั้น ดิฉันจึงจำได้ดี วันนั้นกลับจากสัตหีบเร็วหน่อย เพราะท่านปรีดีขอให้เอาจดหมายสั้น ๆ ไปให้คุณหลวงอดุลฯ ที่วังปารุสกวัน เข้าใจว่าเป็นเพียงคำอวยพร เพราะคุณประไพ ลูกคุณหลวงอดุล แต่งงานในวันนั้น ดิฉันพบคุณหลวงอดุลฯ ด้วยตัวเอง แต่แทบไม่ได้พูดกันสักคำ เพราะท่ามกลางงาน แขกเหรื่อมากมาย คุณหลวงอดุลฯ ไม่ได้ถามอะไร และไม่ได้สั่งอะไรมาด้วย

รุ่งเช้า 20 พฤศจิกายน ดิฉันไปสัตหีบตามเคย ปรากฏว่า ท่านปรีดีออกจากสัตหีบไปแล้ว หลังจากนั้นดิฉันไม่ได้ไปสัตหีบทุกวัน เพราะโรงเรียนยังเปิดสอนอยู่ แต่ก็ไม่เว้นเกิน 2-3 วัน พอโรงเรียนปิดเทอมกลาง วันที่ 6 ธันวาคม ดิฉันก็ไปอยู่กับคุณพูนศุขที่สัตหีบเลย แต่เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม 3 ก็กลับมา

คุณพูนศุขอยู่สัตหีบประมาณ 3 เดือน ก็กลับมาย้ายบ้านจากทำเนียบท่าช้างมาอยู่กับคุณแม่ที่บ้านป้อมเพชร์ สีลม อยู่ได้ประมาณปีกว่า จึงย้ายไปอยู่ “บ้านพูนศุข” ซึ่งเป็นบ้านของท่านเอง และอยู่ในถนนสีลมไม่ไกลกัน แต่ตอนหลังย้ายจาก “บ้านพูนศุข” (ดูเหมือนจะให้เช่า) ไปอยู่บ้านถนนสาทรเหนือ ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็ให้ดิฉันไปอยู่ด้วยทุกแห่ง เพราะไม่ไว้ใจพวกรัฐบาลทมิฬ ซึ่งสงสัยว่าใครเป็นพวกท่านปรีดีก็จะพยายามทำลายล้าง หรือจับไปขังโดยยังไม่มีข้อผิดแต่อย่างใด

ปี 2495 คุณพ่อของดิฉัน ซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้เดินทางมาจำศีลชั่วคราวที่วัดระฆังฯ ที่ซึ่งคุณอาของดิฉัน (อุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์) จำศีลภาวนาอยู่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ดิฉันได้นิมนต์คุณพ่อให้มาฉันเพลที่โรงเรียนดิฉัน ขณะที่ดิฉันกำลังถวายอาหารคุณพ่ออยู่ ก็มีโทรศัพท์ซึ่งคิดว่ามาจากบ้านคุณพูนศุขว่า ตำรวจมาค้นบ้าน และคุณพูนศุขก็ไม่อยู่ ดิฉันตอบไปว่ากำลังถวายอาหารพระ ประเดี๋ยวจะไป ก็พอดีมีโทรศัพท์ซ้ำมาว่า คุณพูนศุขถูกจับ เท่านั้นละดิฉันบอกน้อง ๆ ให้มาทำหน้าที่แทน บอกคุณพ่อว่ามีเรื่องด่วน ขอกราบลาไปก่อน แล้วไปที่บ้านสาทรทันที

เมื่อไปถึงเห็นนายตำรวจชื่อประชา (นามสกุลจำไม่ได้) นั่งเก้าอี้ มองดูพวกลูกน้องค้นโน่นค้นนี่ แต่ก็ไม่พบอะไร ตอนนั้นยังไม่มีคุณพูนศุขเลย วันนั้นดิฉันจึงอยู่ที่นั่น จนเมื่อเขาเอาตัวคุณพูนศุขมาบ้าน มาจัดข้าวของเพื่อจะไปเข้าห้องขังที่สันติบาล และเมื่อเขาพาท่านไปสันติบาลนั้น ดิฉันคงไปด้วยแน่ แต่จำไม่ได้ว่าไปอย่างไร จำได้แต่ว่า ท่านให้ส่งคุณดุษฎีและคุณวาณีไปอยู่กับท่านด้วย เพราะที่บ้านไม่มีใครดูแล ขออนุญาตเขาว่าจะให้อยู่จนกว่าจะจัดการเข้าโรงเรียนประจำได้

ระหว่างที่คุณพูนศุขถูกขังที่สันติบาลนั้น ดูเหมือนจะมีวันให้เยี่ยมได้เพียงวันเดียวในสัปดาห์ (ถ้าจำไม่ผิด) แต่ดิฉันสงสารท่าน อยากให้กำลังใจแก่ท่านบ้าง จึงไปหานายตำรวจใหญ่ที่มีหน้าที่ควบคุมท่าน (นายตำรวจคนนี้เคยเป็นเสรีไทย ในสมัยสงครามโลกที่ 2) ซึ่งออกปากว่าจะให้เขาช่วยทำอะไรได้บ้าง ดิฉันว่าจะไม่รบกวนอะไรเลย เพียงแต่ขอเป็นพิเศษให้ดิฉันได้เยี่ยมคุณพูนศุขทุกวัน โดยรับรองว่า แต่ละครั้งจะไม่อยู่นาน นายตำรวจคนนั้นบอกว่า “เมื่อคุณกล้าขอมาเช่นนี้ ผมก็กล้าให้เหมือนกัน แต่ต้องสัญญาเป็นแม่นมั่นว่าจะไม่ทำอะไรผิดกฎหมายหรือผิดข้อบังคับต่าง ๆ”

ดิฉันได้รับอุปการะลูก ๆ ของคนที่ถูกออกจากราชการโดยไม่ยุติธรรม เพียงเพราะเป็นพวกของท่านปรีดีไว้หลายคน และพวกที่หัวหน้าครอบครัวต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับขังคุกด้วย เพราะสมัยนั้นเรียกกันว่า สมัยทมิฬ  คนถูกจับขังโดยยังหาข้อผิดไม่ได้

เมื่อถึงวันที่ 2 มกราคม วันเกิดของคุณพูนศุข ดิฉันได้พาเด็ก ๆ นี้ไปยืนเป็นกลุ่ม ที่พื้นชั้นล่างด้านใกล้ห้องที่คุณพูนศุขอยู่ และขอให้ท่านโผล่หน้าต่างออกมา แล้วเด็ก ๆ ก็ร้องเพลง Happy Birthday ให้ท่าน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พวกตำรวจเห็นว่า เด็ก ๆ พวกนี้น่าสงสารเพียงไร (เพราะการกระทำอันโหดเหี้ยมของตำรวจ) เราทำสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ได้ทำอะไรผิดข้อบังคับของเขา

คุณพูนศุขถูกขังอยู่ 84 วัน ก็มีคำสั่งศาลให้ปล่อยตัว ไม่ฟ้อง เพราะไม่รู้จะฟ้องเรื่องอะไร เมื่อได้รับอิสรภาพแล้วประมาณ 2 เดือน ท่านจึงตัดสินใจพาลูกเล็ก 2 คน คือ คุณดุษฎีและคุณวาณี ออกจากเมืองไทยโดยมุ่งหมายจะไปฝรั่งเศส ที่ซึ่งคุณสุดา ลูกสาวอีกคนหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ ตอนนั้นเดือนเมษายน 2496

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากส่วนต้นของบทความ “แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้มีพระคุณล้นเหลือ” ใน หวนอาลัย (2551), น. 156-166.