ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : พรรคประชาชนลาว - พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
รัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติ ซึ่งถือเป็น การรวมลาวครั้งที่ 3 นี้ นอกเหนือจาก เจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเวียงจันทน์ คือ ท่านเหลื่อมอิน ศรีเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ส่วนฝ่ายแนวลาวรักชาติ คือ พญาพูมี วงวิจิด ก็ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
‘นายกรัฐมนตรีเจ้าสุวันนะพูมา’ ซึ่งเคยเห็นดีเห็นชอบกับฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะจักรวรรดินิยมอเมริกา ถึงกับยอมให้อเมริกาเข้าแทรกแซงกิจการของลาว ที่ร้ายที่สุดก็คือการยอมให้ซีไอเอส่งทหารรับจ้างจากไทยเข้าไปรบในลาว ซึ่งเป็นการเห็น “กงจักรเป็นดอกบัว” จนกระทั่งช่วงรัฐบาลผสมชุดสุดท้ายนี้ก็เริ่มมองเห็นความจริง เพราะยังมีความคิดรักชาติบ้านเมืองจึงได้ถอนตัวออกจากกงจักรปีศาจนั้น เรียกว่าเกือบจะสายเกินแก้
ทั้งนี้ บุคคลที่ช่วยให้ความคิดแก่เจ้าสุวันนะพูมาก็คือ ท่านสุพานุวง อนุชาต่างมารดาของท่าน และอีกผู้หนึ่งคือ พญาพูมี วงวิจิด ซึ่งเจ้าสุวันนะพูมา มีความเชื่อถือในความบริสุทธิ์ใจที่มีต่อชาติบ้านเมือง คุ้นเคยและเห็นถึงฝีไม้ลายมือกันมาตั้งแต่ทำงานภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในบางระยะเวลาที่ท่านสุพานุวงติดภารกิจสำคัญ ก็ได้พญาพูมีเป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดกับเจ้าสุวันนะพูมา ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ท่านได้ยกระดับความคิดขึ้น และนำผลดีมาสู่ประเทศชาติ
ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันจัดตั้ง คณะมนตรีผสมการเมืองแห่งชาติ โดยมีท่านสุพานุวงเป็นประธานองค์คณะ ประกอบด้วยทั้งฝ่ายแนวลาวรักชาติ, ฝ่ายเวียงจันทน์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงแห่งอนุสัญญาภาค 2 และให้แบ่งเป็นคณะกรรมาธิการการเมือง, การรักษาความสงบและป้องกันประเทศ, การต่างประเทศ, การเศรษฐกิจและการคลัง, การศึกษา และวัฒนธรรม
เวียดนามภาคใต้ปลดปล่อยประเทศในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 ส่งผลให้ ลอนนอล สมุนจักรวรรดินิยมอเมริกาแห่งกัมพูชาเผ่นหนีไปฮาวายทันที ผุย, กุปะสิด ก็ทยอยกันหลบหนีไปประเทศไทยและพวกปะติกานฝ่ายขวาตัวสำคัญล้วนหนีออกต่างประเทศ
เจ้าสุวันนะพูมา ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลผสมฯ มีคำสั่งให้ นายพลคำอ้วน บุบผา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน เจ้าศรีสุข ณ จำปาศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการคนเดิม ซึ่งละทิ้งหน้าที่หลบหนีลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
นายพลคำอ้วน เป็นฝ่ายแนวลาวรักชาติ ได้ออกคำสั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1975 ให้ทหารทุกหน่วยทุกกรมกองเก็บเอาอาวุธเข้าคลังทั้งหมด ห้ามนำออกมาใช้อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งให้นายทหารระดับสูง ผู้คุมกำลังกองทัพแห่งชาติ รวบรวมกันเข้ามาในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการศึกษาในการปรับปรุงกองทัพแห่งชาติใหม่ ซึ่งจะจัดประชุมกันที่เวียงไซ แขวงหัวพัน ตามข้อตกลงของรัฐบาลผสมฯ และคณะมนตรีฯ ทั้งกำหนดให้ทุกคนแต่งเครื่องแบบที่สง่างาม ประดับอิสริยาภรณ์ครบถ้วนอย่างสมเกียรติ เมื่อพร้อมตามนัดหมายให้ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินวัดไตแห่งเวียงจันทน์ แล้วออกเดินทางไปเวียงไซทันที การปฏิบัติเรียบร้อยทุกขั้นตอน เท่ากับปิดฉากความพยายามก่อรัฐประหารของพวกฝ่ายขวา
คลื่นการเคลื่อนไหวของประชาชนเริ่มขึ้นก่อนทางภาคใต้ของประเทศ คือที่เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ มีการเรียกร้องโจมตีต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงของชนชั้นปกครอง นำโดยสมาคมสหพันธ์นักศึกษาแห่งชาติ ขบวนการนักศึกษาและประชาชนได้รับความร่วมมือจากกองกำลังปเทดลาว และทหารฝ่ายขวาที่กลับใจหันมาร่วมกับประชาชน มีการขับไล่ เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ พร้อมทั้งปลดเจ้าเมืองและเจ้าแขวงทางภาคใต้ที่ร่วมกับพวกฝ่ายขวาปราบปรามประชาชน และแต่งตั้งผู้รับผิดชอบที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ารับตำแหน่งแทน
ขณะการชุมนุมประท้วงที่ปากเซกำลังดำเนินอยู่ ก็มีการเดินขบวนของนักเรียนนายร้อยที่เวียงจันทน์เพื่อขับไล่รัฐมนตรีฝ่ายเวียงจันทน์ให้ออกจากตำแหน่ง ขบวนนี้ยังมีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติ “ดงโดก” รวมถึงชาวบ้านจำนวนมากเข้าร่วม
การประท้วงของประชาชนและนักศึกษาได้แผ่ขยายออกไปตามเมืองและแขวงทั่วประเทศ เพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่รับใช้พวกฝ่ายขวา มีการไล่ออกจากตำแหน่งและให้ตัวแทนฝ่ายประท้วงเข้ารับหน้าที่แทน การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายก็มีบ้างแต่น้อยมาก
กระแสเคลื่อนไหวปลดปล่อยส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จ อันเป็นเหตุให้ฝ่ายขวาที่ร่วมอยู่ในคณะมนตรีฯ ก็ดี ที่อยู่ในคณะรัฐบาลผสมฯ ก็ดี เกิดความกลัวเกรงไม่แน่ใจว่าจะถูกคิคบัญชีหรือไม่ จึงพากันหลบลี้หนีภัยเข้าประเทศไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานะแห่งคณะรัฐมนตรีฯ และคณะรัฐบาลผสมฯ จึงไม่อยู่ในฐานะปฏิบัติการใดๆ ได้ ฝ่ายแนวลาวรักชาติจึงต้องปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายเดียว ส่งผลทางพฤตินัย คือ ฝ่ายแนวลาวรักชาติได้อำนาจปกครองประเทศอย่างสันติตามลักษณะพิเศษของลาว
ดังนั้น ในการประชุมร่วมของคณะมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยมีท่านสุพานุวงเป็นประธานเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 จึงเสนอให้ยุบองค์คณะทั้งสอง แล้วที่ประชุมมอบหมายให้ ท่านสุพานุวง และ เจ้าสุวันนะพูมา ไปเข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิตที่หลวงพระบาง เพื่อเสนอให้พิจารณาตนเองตามคำเรียกร้องของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องราชสมบัติและราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์ล้านช้าง
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 เจ้าพี่เจ้าน้องทั้งสององค์ จึงเข้าเฝ้า เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวัฒนา การพบกันครั้งนี้ยังเป็นการพบในฐานะประยูรญาติแห่งราชวงศ์ล้านช้าง ซึ่ง เจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรนินทร์ ได้สถาปนาราชวงศ์นี้ขึ้นเมื่อ 700 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาคุณงามความดีที่บรรพชนสร้างสมมาในอดีต ทั้งเจ้าสุวันนะพูมาและเจ้าสุพานุวงจึงต้องให้ราชวงศ์ล้านช้างคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยสันติ ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์ล้านช้าง
การพบปะเจรจาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา มีการทบทวนย้อนนึกถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตช่วงการกอบกู้อิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมในปี ค.ศ. 1945 สมัยที่เจ้ามหาชีวิตผู้นี้ยังดำรงสถานะมงกุฎราชกุมาร ผู้กู้ชาติได้เชิญชวนให้เข้าร่วมขบวนด้วยแต่ถูกปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลว่าฝรั่งเศสกลับเข้ามาเสมือนพายุใหญ่ซึ่งไม่อาจต้านทานได้ การรักษาราชบัลลังก์ไว้ก็เป็นการดีแล้วที่จะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศสต่อไป
ภายหลังเหตุการณ์ผ่านมาตลอด 30 ปี จาก ค.ศ. 1945-1975 และเมื่อได้สืบราชสมบัติเป็นเจ้ามหาชีวิตก็ต้องการรักษาราชบัลลังก์ไว้ แต่ด้วยวิธีการที่เข้าไปให้การสนับสนุนพวกฝ่ายขวาเพราะคิดว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ทรงเหินห่างจากประชาชน ร่วมชักศึกเข้าบ้าน ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่งบอกแล้วว่าเจ้ามหาชีวิตมีแนวคิด แนวดำเนินพระองค์เช่นไร และในช่วงวาระสุดท้ายนี้ก็เป็นโอกาสเดียวที่ต้องสละราชสมบัติและสละราชบัลลังก์ ซึ่งเจ้ามหาชีวิตสีสว่างวัฒนาได้ตกลงยินยอมในวันนั้นเอง
(คำแปลเป็นภาษาไทย)
สารสละราชสมบัติของเจ้ามหาชีวิตลาว
ตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองในประเทศลาว การอยู่ร่วมกันระหว่างตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ในรูประบอบราชาธิปไตย ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยของปวงชนดำเนินไปไม่ได้ และเป็นอุปสรรคขัดขวางวิถีทางไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศ
เพื่อทำให้การดำเนินวิถีทางของประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อทำให้เอกภาพของชาติเข้มแข็งขึ้น ในวันนี้ ด้วยความตื่นตัวอย่างลึกซึ้งและด้วยความสมัครใจ ข้าพเจ้ายินยอมสละราชบัลลังก์นั่นก็คือ ข้าพเจ้ายอมสละราชสมบัติอย่างบริสุทธิ์ใจและอย่างสิ้นเชิงปราศจากความนึกคิดปิดบังไว้ในใจ และด้วยความเลื่อมใสทุกประการ
ข้าพเจ้ามอบให้ประชาชนพลเมืองลาวได้มีอธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง ในการกำหนดโชคชะตาของประเทศชาติบ้านเมืองของตน
ในเมื่อกลับกลายมาเป็นพลเมืองลาวสามัญแล้ว ข้าพเจ้าขอประสิทธิ์ประสาทพรอันเต็มอกเต็มใจ เพื่อเอกภาพ เอกราช ความอยู่ดีกินดีและความมั่นคงสมบูรณ์ จงเป็นของปวงประชาชนลาวทั้งชาติที่แสนรักยิ่ง
เขียนที่ : หลวงพระบาง วันที่ 29 พฤศจิกายน 1975
แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ พ.ศ. 2518
สีสว่างวัฒนา
ต่อมาในการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ จัดขึ้นวันที่ 1-2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 ณ นครเวียงจันทน์ องค์มงกุฎราชกุมารได้อ่านสารสละราชสมบัติ ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 1975 ให้ที่ประชุมใหญ่ได้รับทราบ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สถาปนาขึ้น ในวันที่ 2 ธันวาคม โดย ประธานสุพานุวง เป็นผู้อ่านคำประกาศสถาปนา
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. การปลดปล่อยประเทศ, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ยกแรกของการประกาศเอกราช
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ศึกป้องกันเมืองท่าแขก
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : คุกโพนเค็ง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐประหาร “กองแล”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สามเจ้าลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : แผนสังหารสุพานุวง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สงครามซีไอเอ
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- แนวลาวรักชาติ
- เจ้าสุวันนะพูมา
- ท่านสุพานุวง
- พูมี วงวิจิด
- เหลื่อมอิน ศรีเชียงใหม่
- CIA
- ซีไอเอ
- ถอนนอล
- ผุย ชนะนิกร
- ผุย ชะนะนิกอน
- กุปะสิด อำไพ
- คำอ้วน บุบผา
- เจ้าศรีสุข ณ จำปาศักดิ์
- เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์
- คงโดก
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
- เจ้ามหาชีวิต
- สีสว่างวัฒนา
- ราชวงศ์ล้านช้าง
- เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวัฒนา
- เจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรนินทร์
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว