ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

วัยเติบใหญ่ของข้าพเจ้าบนเส้นทางอภิวัฒน์

10
มิถุนายน
2565

เมื่อมีอายุ 11 ปีในพุทธศักราช 2454 ข้าพเจ้าสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและน่าแปลกใจอย่างยิ่งในวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลและในหมู่ลูกหลานของพวกเขา ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 25 ของราษฎรทั้งหมดในประเทศสยาม กล่าวคือ ผู้ชายแทบทุกคนได้ตัดผมหางเปียของเขาออก ทั้งๆ ที่เป็นทรงผมที่พวกเขาไว้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว พวกเขาอธิบายสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ให้ราษฎรชาวสยามฟังว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบโบราณซึ่งบังคับให้พวกเขาไว้หางเปียอันน่าอับอายเช่นนี้ได้ถูกโค่นล้มแล้ว ด้วยการอภิวัฒน์ของฝ่ายสาธารณรัฐนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งในเวลานั้นได้เรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนไว้ผมสั้นเช่นชาวยุโรป (ในสมัยนั้น) เพื่อว่า ชาวจีนจะได้ไม่ถูกชาวต่างชาติล้อเลียนอีกต่อไปว่า “มีหางบนศีรษะ”

แต่ในโรงเรียน “ตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า” ซึ่งข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมนั้น ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของข้าพเจ้า ได้อธิบายถึงเหตุผลที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง ครูเล่าว่า บรรดาประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ยังคงเอกราชของตนไว้ได้นั้น แต่ละประเทศจะมีรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยความยินยอมของสภาซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของราษฎร ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานะประมุขแห่งรัฐนั้นๆ จะเป็นกษัตริย์ที่สืบสันตติวงศ์ หรือเป็นเพียงสามัญชนที่ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโดยการเลือกตั้งตามวาระของราษฎรก็ตาม

ครูของข้าพเจ้าเล่าด้วยว่า ระหว่างการปกครองระบบสมบูรณาฯ ที่ยังเหลืออยู่ใน 3 ประเทศ (ประเทศจีน รุสเซีย และสยาม) บัดนี้ของจีนได้ถูกโค่นล้มลงแล้ว คงเหลือก็แต่ประเทศรุสเซียกับสยามเท่านั้น และไม่รู้ว่าของประเทศใดใน 2 ประเทศนี้จะสิ้นสุดลงก่อนกัน

นับแต่นั้นมา เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มในวัยเดียวกันกับข้าพเจ้าที่ชอบดูภาพยนตร์ประเภทสู้รบหรือ (คาวบอย) ตะวันตก ข้าพเจ้าจึงเริ่มสนใจเหตุการณ์อภิวัฒน์ในประเทศจีนที่มี ดร.ซุนยัดเซ็น เป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสู้รบระหว่างกองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิและฝ่ายสาธารณรัฐในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก ในประเทศสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า เพื่อสนองความใคร่รู้ข่าวสารของข้าพเจ้า บิดาของข้าพเจ้าได้นำหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆ ของญาติผู้หนึ่งซึ่งเป็นนายทหารในกองทัพมาให้อ่าน ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์เก่าฉบับเหล่านี้นี่เอง ทำให้ข้าพเจ้าค่อยๆ เข้าใจยิ่งขึ้นถึงความเลวร้ายของระบบกษัตริย์ซึ่งชาวจีนต่างลุกขึ้นต่อสู้และได้สถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐขึ้นแทนที่

ราว 1 ปีเศษหลังจากนั้น กล่าวคือในปี 2455 มีข่าวใหญ่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศว่า รัฐบาลของกษัตริย์สยามได้ล่วงรู้ว่ามีคณะบุคคลลับที่มุ่งจะอภิวัฒน์โค่นล้มระบบสมบูรณาฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ก่อการซึ่งถูกจับกุมตัวกว่าร้อยคนและถูกคณะกรรมการทหารพิเศษพิพากษาให้ลงโทษประหาร หรือมิฉะนั้นก็ให้จำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ลดหย่อนโทษจากประหารชีวิตเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต และลดเวลาจำคุกลงเหลือเพียง 20 ปี ส่วนผู้ที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษ จำคุก 20 ปีมาแต่ต้นก็ให้รอลงอาญา

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไม่อาจสืบรู้ตัวบุคคลผู้เข้าร่วมในคณะได้ครบถ้วนทุกคน (ตัวอย่างเช่น นายบุญเอก ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างในสถานทูตฝรั่งเศสและเข้าร่วมด้วย แต่ทางสถานทูตไม่ทราบเรื่อง เป็นต้น)

ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อการในครั้งนี้และมีอายุเพียง 18 ปีได้ชักชวนเพื่อนสนิทของตน กล่าวคือ ร้อยตรี จรูญ ษตะเมศ อายุ 24 ปี และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ อายุ 18 ปี ให้เข้าร่วมด้วย (ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของคณะ)

ข้าราชการหนุ่มเหล่านี้ยังได้ชักชวนข้าราชการอื่นในหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มมหาดเล็กราชองครักษ์เข้าร่วมด้วย ต่อมา จึงได้ทาบทามนายแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งรับเป็นหัวหน้าคณะ คือ นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ ผู้บังคับกองพยาบาล ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของผู้ริเริ่มก่อการและเป็นแพทย์ประจำองค์รัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ คณะก่อการจึงมีนายแพทย์เป็นผู้นำเช่นเดียวกับผู้นำการอภิวัฒน์ของจีน ส่วน ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายก็ได้เข้าร่วมด้วยโดยได้รับหน้าที่อบรมความรู้ด้านการเมือง และนักเรียนของโรงเรียนกฎหมายจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมเช่นกัน

ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าคณะกรรมการทหารพิเศษ ผู้พิพากษาได้กล่าวตำหนินายทหารราชองครักษ์ท่านหนึ่งว่าไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงผู้พิพากษาอย่างอาจหาญว่า เขารักชาติยิ่งกว่าองค์กษัตริย์ และด้วยเหตุที่ตนปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด จึงทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในราชสำนักดีเสียยิ่งกว่าเหล่าทหารและราษฎรอื่นๆ เมื่อนั้น เขาจึงเห็นแล้วว่าความเริงสำราญและความไร้สาระในราชสำนักย่อมนำพาชาติให้ตกต่ำ สิ่งนี้ได้ทำให้เขาตระหนักชัดด้วยตนเอง จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมในกลุ่มดังกล่าวด้วย

คนหนุ่มในวัยเดียวกันกับข้าพเจ้าต่างรู้สึกเห็นใจบรรดานักโทษทางการเมืองเหล่านี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดว่าพวกเราสนทนาเรื่องนี้กันบ่อยครั้งทั้งในโรงเรียนมัธยมและในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ที่ข้าพเจ้าสมัครเข้าศึกษาในปี 2460 (เพื่อแสดงความเห็นใจของเราต่อบรรดาผู้ก่อการอภิวัฒน์รุ่นพี่ หลังจากการอภิวัฒน์ในปี 2475 รัฐบาลประชาธิปไตยของเราจึงได้คืนยศและบรรดาศักดิ์ซึ่งผู้ก่อการเหล่านี้ถูกถอดไปเมื่อครั้งมีคำตัดสินโทษนั้นให้ทั้งหมด)

ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายอยู่นั้น ได้สังเกตถึงบรรดาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหลายประการ ซึ่งมหาอำนาจต่างชาติมีอยู่เหนือประเทศสยามทั้งในทางทฤษฎีและในทางความเป็นจริง คนในบังคับของต่างชาติเหล่านี้ ไม่ตกอยู่ในอำนาจศาลของประเทศสยาม เนื่องจากเมื่อมีข้อพิพาทกับชาวสยาม คดีเหล่านี้จะตัดสินโดยศาลกงสุลของชาตินั้นๆ

หรือมิฉะนั้นก็โดยศาลต่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างประเทศสยามกับชาติต่างประเทศนั้นๆ ในศาลต่างประเทศ คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวยุโรปมีน้ำหนักยิ่งกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม ข้าพเจ้ามิได้พึงใจต่อการใช้อำนาจอธิปไตยในลักษณะเช่นว่านี้เลย และในไม่ช้า ข้าพเจ้าจึงตกลงใจที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเอกราชพร้อมด้วยอธิปไตยอันสมบูรณ์ของชาติ เมื่อข้าพเจ้าได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในราชสำนักและในการปกครองแบบสมบูรณาฯ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะสถาปนาระบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะดำเนินการเช่นไร

ในปี 2461 หนังสือพิมพ์ต่างขั้วกันหลายฉบับในกรุงเทพฯ ได้ลงข่าวการปฏิวัติบอลเชวิคในประเทศรุสเซีย แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจก็คือ การยกเลิกระบบสมบูรณาฯ ของพระเจ้าซาร์ เหตุการณ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงสิ่งที่ครูของข้าพเจ้าเคยกล่าวใน โรงเรียนมัธยมว่า ระหว่างประเทศสยามและรุสเซียไม่รู้ว่าระบบกษัตริย์ใดใน 2 ประเทศนี้จะสิ้นสุดลงก่อนกัน

เนื่องจากระบบกษัตริย์ของรุสเซียเพิ่งจะถูกโค่นล้มไป ข้าพเจ้าจึงหวังเป็นอย่างยิ่งทีเดียวว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศสยามเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้สนทนาเป็นการลับกับเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อแสวงหาวิธีการต่างๆ ที่เราจะสามารถบรรลุตามความมุ่งประสงค์ ทั้งนี้ โดยอาศัยบทเรียนจากความพยายามก่อการซึ่งล้มเหลวในปี 2455 ด้วยมีบุคคลหนึ่งในกลุ่มกลับคิดทรยศโดยนำเรื่องไปแจ้งให้รัฐบาลของกษัตริย์ในเวลานั้นทราบ แต่พวกเราก็ยังไม่รู้ว่าจะก่อตั้งกลุ่มอภิวัฒน์กันได้อย่างไรจึงจะเป็นผล

ในปี 2462 ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย เนื่องจากข้าพเจ้ามีอายุเพียง 19 ปี — อายุจึงยังไม่ครบที่จะได้รับแต่งตั้งเพื่อเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตได้ (อายุขั้นต่ำคือ 20 ปี) — ข้าพเจ้าจึงต้องรออยู่ราว 2 - 3 เดือนจึงสามารถเป็นเนติบัณฑิตได้

อนึ่ง กระทรวงยุติธรรมพอใจในผลการศึกษาของข้าพเจ้าและอนุญาตให้ข้าพเจ้ารับทุนเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ เพื่อว่าหลังจากข้าพเจ้ากลับสู่ประเทศสยามแล้ว ข้าพเจ้าจะได้ช่วยงานของกระทรวงฯ ในส่วนการจัดทำประมวลกฎหมายตามแบบฝรั่งเศส

ข้าพเจ้าเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในวันที่ 25 กันยายน 2463

หลังจากศึกษาภาษาฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 ปีในวิทยาลัยกอง (le lycée de Caen) แล้ว ข้าพเจ้าได้เข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ของเมืองนี้ จากเมืองกอง ข้าพเจ้าจึงได้รับทั้งประกาศนียบัตรการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา (le baccalauréat) และปริญญาตรีทางกฎหมาย (la licence en droit)

จากนั้น ข้าพเจ้าขอโอนย้ายมาศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์แห่งปารีส ซึ่งในปี 2470 ข้าพเจ้าจึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (ฝ่ายนิติศาสตร์) (le doctorat en droit, option sciences juridiques) และยังได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (le diplôme d'études supérieures d'Economie politique) เพิ่มขึ้นด้วย

 

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งศึกษาในฝรั่งเศส
นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งศึกษาในฝรั่งเศส

 

นับจากการอภิวัฒน์ใหญ่ในปี 2332 [ค.ศ. 1789] เป็นต้นมา ปารีสได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้กับหลายประเทศในยุโรปและในเอเซีย กล่าวคือ ขนบจารีตเพื่อการอภิวัฒน์ที่แพร่หลายและสืบสานกันมายาวนาน ทั้งในทางทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ได้ตกทอดมาจนถึงช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ในปารีสด้วย มาร์กซ์ เองเกิลส์ รวมถึง เลนิน ซึ่งก่อการอภิวัฒน์อันยิ่งใหญ่ ล้วนแต่ได้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในปารีสมาแล้ว ส่วนชาวเอเซียซึ่งปรารถนาในเอกราชอันสมบูรณ์ของชาติและประสงค์จะปลดเปลื้อง มาตุภูมิของตนจากลัทธิอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมนั้นต่างมารวมตัวกันอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหงียน ไอ คว๊อค (โฮจิมินห์) โจว เอินไหล เฉินอี้ รวมถึงบรรดานักอภิวัฒน์จากประเทศต่างๆ อีกเป็นอันมาก ในส่วนของข้าพเจ้า นอกเหนือจากเพื่อนนักศึกษาชาวสยามและเพื่อนชาวฝรั่งเศสแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รู้จักนักอภิวัฒน์ชาวเอเซียอีกจำนวนหนึ่ง และครั้งหนึ่งในร้านอาหารจีน เราได้ตกลงที่จะก่อตั้ง สมาคมเพื่อมิตรภาพและภราดรภาพแห่งเอเชีย (une association pour l'amitié et solidarité aeiatique) ร่วมกัน 

 

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งตรวจราชการภาคใต้และแวะเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดตรัง 19 มิถุนายน 2479
นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งตรวจราชการภาคใต้และแวะเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดตรัง 19 มิถุนายน 2479

 

ด้วยความตั้งใจที่จะรับใช้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายของข้าพเจ้าให้ได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติ อีกทั้งบรรลุถึงความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยอันแท้จริง

ข้าพเจ้าและเพื่อนนักศึกษาชาวสยามบางคนจึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแกนนำลับของ “คณะราษฎร” พวกเรามีความประสงค์ จะทำการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของเรา บรรดาทฤษฎีการอภิวัฒน์และการทั้งปวงที่จะต้องดำเนินการซึ่งได้รับสั่งสมมาจากประเทศฝรั่งเศสมีส่วนช่วยพวกเราในเวลาต่อมามิใช่น้อย

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์. (2559). ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 (ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์. (ต้นฉบับพิมพ์ปี 2517).

หมายเหตุ :

  • ชื่อบทความมาจาก บทที่ 2 ใน Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en chine populaire, Paris : VARAP, 1974, pp.27-35. ท่านผู้ประศาสน์การฯ ให้ชื่อหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยว่า ชีวิตอันผวนของข้าพเจ้าและการลี้ภัย 21 ปีในประเทศจีนของราษฎร อนึ่ง การแปลเฉพาะบทในครั้งนี้ ผู้แปลได้แทรกข้อความที่เห็นว่าจำเป็นไว้ใน [ ...]