ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

แด่เสรีไทย “ผู้รับใช้ชาติ” สุนทรพจน์ของรู้ธในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488

25
กันยายน
2565
ภาพการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยบนถนนราชดำเนิน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488
ภาพการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยบนถนนราชดำเนิน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488

 

ปรีดี​ พนม​ยงค์​ ผู้​สำเร็จ​ราชการ​แทน​พระองค์​ และหัวหน้า​ขบวนการ​เสรีไทยในประเทศ​ รับความเคารพ​จากขบวนสวนสนามเสรีไทย​ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 เบื้องหลังมี ม.ร.ว.เสนีย์​ ปราโมช​ นายกรัฐมนตรี​ และหัวหน้า​เสรีไทย​สายอเมริกา​ พล.ต.อ. อดุล​ อดุล​เดช​จรัส​  พล.ท.ชิต มั่น​ศิลป์​ สินาดโยธา​รักษ์​ และ พล.ร.อ.สินธุ์​ กมล​นาวิน​ ร.น.
ปรีดี​ พนม​ยงค์​ ผู้​สำเร็จ​ราชการ​แทน​พระองค์​ และหัวหน้า​ขบวนการ​เสรีไทยในประเทศ​ รับความเคารพ​จากขบวนสวนสนามเสรีไทย​ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 เบื้องหลังมี ม.ร.ว.เสนีย์​ ปราโมช​ นายกรัฐมนตรี​ และหัวหน้า​เสรีไทย​สายอเมริกา​ พล.ต.อ. อดุล​ อดุล​เดช​จรัส​  พล.ท.ชิต มั่น​ศิลป์​ สินาดโยธา​รักษ์​ และ พล.ร.อ.สินธุ์​ กมล​นาวิน​ ร.น.

 

การเมืองไทยในระบบรัฐสภาหลังประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อยู่ในบริบทการเมืองที่มีปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[1] และยังคงเป็นรัฐบาลพลเรือน หากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้สอดรับกับการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อควง อภัยวงศ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ช่วงแรกมีทวี บุณยเกตุ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 17 วันเพื่อรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา เดินทางกลับต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยมีภารกิจสำคัญคือเจรจาต่อรองข้อตกลงต่างๆ กับฝ่ายสัมพันธมิตรภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[2]

ภารกิจแรกของปรีดี หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ และ ม.ร.ว.เสนีย์ หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาภายใต้รัฐบาลใหม่ คือ การสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยราว 8,000 คน บนถนนราชดำเนินกลาง ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งมีพิธีสวนสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรและยังเป็นการแสดงออกให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศและจากการประกาศว่าสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่นั้นเป็นโมฆะ[3]

 

ภาพประชาชนในวันสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

 

ภาพประชาชนในวันสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
ภาพประชาชนในวันสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

 

ภาพสตรีสมาชิกเสรีไทยเข้าร่วมการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
ภาพสตรีสมาชิกเสรีไทยเข้าร่วมการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

 

ขณะที่บรรยากาศในวันสวนสนามฯ ได้ถูกบันทึกไว้โดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนอกจากภาพพิธีทางการของสมาชิกเสรีไทยที่คุ้นตากันแล้ว ยังปรากฏภาพผู้เข้าร่วมเป็นประชาชนทั้งชาย หญิง นักเรียน นิสิตนักศึกษา กรรมกร และพ่อค้าหลากวัยหลายอาชีพอยู่รายรอบถนนราชดำเนินกลางที่ให้ความสนใจและยินดีกับพลพรรคเสรีไทยเป็นจำนวนมาก[4]

 

ภาพการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
ภาพการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

 

นรนิติ เศรษฐบุตร เสนอสอดคล้องกับภาพที่ประจักษ์ในเวลานั้นไว้ว่า

 

“การสวนสนามของเสรีไทยมีผู้คนให้ความสนใจมากทั้งคนไทยและแขกต่างประเทศ เป็นการสวนสนามแสดงตนของเสรีไทยและแสดงการยุติบทบาทงานที่ทำให้แผ่นดินด้วย…จึงน่าจะเป็นเวลาของการเมืองแบบสมานฉันท์”[5]

 

ในขณะนั้น หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าสงครามจะยุติลงจึงมีการจัดตั้งสมาชิกเสรีไทยที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่เรื่องสมาชิกเสรีไทยที่น่าสนใจและนิสิตกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมการสวนสนามฯ ด้วยในฐานะนักเรียนนายทหารสารวัตรหรือเตรียมพลนิสิตจุฬาฯ ภายใต้โรงเรียนนายทหารสารวัตรที่ริเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 โดยพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ สมาชิกเสรีไทย[6] ได้เข้าปรึกษาหารือกับ ปรีดี พนมยงค์ ว่าขบวนการเสรีไทยต้องมีหน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร (Gurrilla War-fare) ที่มีการรบทั้งในป่าและในเมือง รวมถึงใช้อาวุธทันสมัยเพื่อใช้ดำเนินงานผลักดันกองทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทย ประกอบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้นยุติการเรียนการสอนชั่วคราวเพราะภัยสงคราม พลเรือตรี สังวรจึงเสนอว่านิสิตชายจุฬาฯ พร้อมและเหมาะสมเข้ารับการฝึกเนื่องจากเป็นยุวชนทหารมาแล้ว

 

ภาพของพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ)
ภาพของพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ)

 

เมื่อปรีดีเห็นด้วยกับข้อเสนอทางพลเรือตรี สังวรจึงขอเข้าพบ หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศกได้อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการในยามสงครามได้หากให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ[7] โดยมีการเรียกนิสิตชายราว 400 คน เข้าประชุมด่วนและปิดลับ ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 298 คน แบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน และหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก ยังอนุมัติเงินรายได้ของจุฬาฯ สมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างปฏิบัติราชการลับนี้ด้วย

 

ภาพการสวนสนามของ ‘นร.สห. 2488’ หรือนักเรียนนายทหารสารวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488
ภาพการสวนสนามของ ‘นร.สห. 2488’ หรือนักเรียนนายทหารสารวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488

 

หนึ่งเดือนถัดมาในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายทหารสารวัตรก็เปิดเรียนโดยมีการเรียนการสอนคล้ายโรงเรียนนายร้อยฯ แต่เป็นหลักสูตรเพียง 1 ปี[8] จึงเป็นที่มาของภาพ “นร.สห. 2488” หรือนักเรียนนายทหารสารวัตรเข้าร่วมการสวนสนามฯ ในครั้งนี้

ส่วน สงวน ตุลารักษ์[9] หนึ่งในสมาชิกเสรีไทยคนสำคัญเล่าว่า เมื่อการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยจบลงแล้วในช่วงเย็นของวันนั้น ปรีดี พนมยงค์ ที่มีนามแฝงในขบวนการเสรีไทยว่า “รู้ธ” ได้เชิญผู้แทนพลพรรคเสรีไทยทุกหน่วยไปร่วมสโมสร ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งในงานสโมสรนี้ ปรีดีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้แทนพลพรรคเสรีไทยฯ สงวนได้บันทึกที่มาและระบุสถานที่ในการกล่าวสุนทรพจน์นี้เป็นครั้งแรกและเป็นสุนทรพจน์ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทย จึงขอนำเสนอไว้ดังต่อไปนี้

 

สุนทรพจน์ของ “รู้ธ” ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488

 

ภาพของปรีดี พนมยงค์ ในการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
ภาพของปรีดี พนมยงค์ ในการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย

 

สุนทรพจน์ของรู้ท หรือ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ในงานสโมสรภายหลังการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ได้แสดงให้เห็นทัศนะเรื่องขบวนการเสรีไทยของปรีดี 3 ประการสำคัญ ได้แก่

ประการแรก จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทยนั้นมีเจตนาอันบริสุทธิ์ และปรีดีถือหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน ทั้งได้กล่าวย้ำถึง การกระทำคราวนี้มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

ปรีดียังระบุชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้วและมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิกและสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา

ประการที่สอง สถานะของสมาชิกเสรีไทยคือผู้รับใช้ชาติ ปรีดีกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างแยบคายเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนและสมาชิกเสรีไทยมีความสำคัญเท่าเทียมกันในการช่วยต่อต้านฝ่ายอักษะจนนำมาสู่การประกาศสันติภาพได้ 

 

ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้น สามารถจะทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น”

 

ประการที่สาม ขอบคุณบุคคลผู้ที่มีความสำคัญและแสดงความเสียใจต่อผู้ที่จากไปจากการปฏิบัติภารกิจในขบวนการเสรีไทย สุนทรพจน์ช่วงท้ายนี้สะท้อนทัศนะของปรีดีที่ให้เกียรติบุคคลที่ร่วมงานและเคารพต่อผู้ที่เสียชีวิตโดยระบุชื่อบุคคลสำคัญไว้อย่างละเอียด

 

“ในส่วนผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ

ส่วนภายในประเทศข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ  นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส  พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ  นายดิเรก ชัยนาม  พลโท สินาด สินาดโยธารักษ์  นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้ารองและผู้ที่ประจำในกองบัญชาการ ขอบใจหัวหน้าพลพรรคและพลพรรคอื่นทั้งหลาย ซึ่งถ้าจะระบุนามในที่นี้ก็จะเป็นการยืดยาว การกระทำของท่านเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในสมุดที่ระลึกซึ่งข้าพเจ้าจะสั่งให้รวบรวมขึ้น…

ในงานปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ ได้มีสหายของเราเสียชีวิตไปหลายคน อาทิ พระองค์เจ้าจีระศักดิ์ฯ  นายจำกัด พลางกูร  นายสมพงศ์  ศัลยพงศ์  นายการะเวก ศรีวิจารณ์  และพลพรรคอื่นอีกหลายคนซึ่งหัวหน้าพลพรรคกำลังสำรวจรายนามขอให้สหายทุกคน ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ตั้งจิตอธิษฐานให้วิญญาณของผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วในงานนี้จงอยู่ โดยผาสุกในสัมปรายภพ…”[10]

 

สันติภาพอันถาวรที่ได้มาภายหลังจากสุนทรพจน์ของรู้ธนี้ เกิดมาจากความร่วมมือของรัฐบาลใหม่และสมาชิกขบวนการเสรีไทยเดิมผลักดัน ช่วยเหลือ เจรจาต่อรองด้วยความอดทนและเท่าทันเกมการเมืองระหว่างประเทศ[11] โดยในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2488 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเรื่องข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เสริม วินิจฉัยกุล หนึ่งในคณะเจรจาฯ เดินทางไปเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ ณ ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489

ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489 ได้มีการประกาศการยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย[12] และในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 กองทหารของอังกฤษได้จัดพิธีสวนสนามฯ ขึ้นและกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีฯ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์เดินทางมาร่วมในพิธีสวนสนามฯ ด้วย[13] จะเห็นได้ว่าสันติภาพของประชาชนไทยนอกจากจะได้มาด้วยการต่อสู้แล้วยังมาจากความร่วมมือ สมานฉันท์ และสามัคคีของทั้งผู้ปกครองและประชาชน โดยหัวใจของความสำเร็จนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล ดังในสุนทรพจน์ของ ‘รู้ธ’ ซึ่งกล่าวไว้เมื่อ 77 ปีที่ผ่านมา

 

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพิธีสวนสนามขบวนการเสรีไทย พ.ศ. 2488

 

ที่มาของภาพ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สถาบันปรีดี พนมยงค์ และเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์. (25 กันยายน 2563). สุนทรพจน์ของรู้ธ. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/431
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, เล่มที่ 58, หน้า 1821-1823.
  • ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และแถลงการณ์. ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489. เล่มที่ 63 ตอนที่ 4 ก., หน้า 15-46.

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • ปรีดี พนมยงค์. คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517. ม.ป.ท.: สหประชาพาณิชย์ (แผนกการพิมพ์), 2517.
  • ปรีดี พนมยงค์. สุนทรพจน์ของ “รู้ธ” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2538. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2538.
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516.

หนังสือภาษาไทย :

  • กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527)
  • นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522)
  • ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย : อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)

วิทยานิพนธ์ :

  • อัญชลี สุขดี. ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484 - 2488). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2525.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (25 มีนาคม 2565). กำเนิด “เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ” หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย. สืบค้นจาก  https://www.silpa-mag.com/history/article_54144
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914  
  • กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (8 กุมภาพันธ์ 2564). แผนลับ-ลวง-พราง เพื่อส่งนิสิตจุฬาฯ ฝึกทหารของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_48571
  • นรนิติ เศรษฐบุตร. 25 กันยายน พ.ศ. 2488. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=25_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2488
  • ปรีดี พนมยงค์. (25 กันยายน 2563). สุนทรพจน์ของรู้ธ. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/431
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (5 สิงหาคม 2563). สงวน ตุลารักษ์ : ผู้ประสานงานรอบทิศของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/368
  • หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (2563). การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=qLiOfUqBaN0
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. (7 พฤษภาคม 2563). ภารกิจเพื่อสันติภาพและเอกราชของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/05/243

 


[1] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, เล่มที่ 58, หน้า 1821-1823.

[2] นรนิติ เศรษฐบุตร. 25 กันยายน พ.ศ. 2488. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=25_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2488

[3] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)

[4] บันทึกการสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย เป็นภาพยนตร์ซึ่งถ่ายทำโดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร ต้นฉบับเป็นฟิล์มภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับมอบสำเนาฟิล์มนี้จากสำนักงานบริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2530 โปรดดูเพิ่มเติม หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (2563). การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=qLiOfUqBaN0

[5]นรนิติ เศรษฐบุตร. 25 กันยายน พ.ศ. 2488. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=25_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2488

[6] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (8 กุมภาพันธ์ 2564). แผนลับ-ลวง-พราง เพื่อส่งนิสิตจุฬาฯ ฝึกทหารของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_48571 

[7] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (25 มีนาคม 2565). กำเนิด “เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ” หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_54144

[8] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (8 กุมภาพันธ์ 2564). แผนลับ-ลวง-พราง เพื่อส่งนิสิตจุฬาฯ ฝึกทหารของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_48571

[9] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (5 สิงหาคม 2563). สงวน ตุลารักษ์ : ผู้ประสานงานรอบทิศของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/368

[10] ปรีดี พนมยงค์. สุนทรพจน์ของ “รู้ธ” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2538. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2538. หน้า  186-188.

[11] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527)

[12] ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และแถลงการณ์. ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489. เล่มที่ 63 ตอนที่ 4 ก., หน้า 15-46.

[13] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914