ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สำคัญที่เกียรติ : ชีวิตและผลงานศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม

18
มกราคม
2566

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)

 

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตคณบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, และอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน และกรุงบอนน์ ที่สำคัญศาสตราจารย์ดิเรกยังเป็นสมาชิกในคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์สยามเมื่อ พ.ศ. 2475 อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการต่างประเทศสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแวดวงนักหนังสือพิมพ์ได้ให้ฉายาท่านว่าเป็น สุภาพบุรุษนักการเมือง และ นักการทูตชั้นนำ [1]

ขณะที่แง่มุมชีวิตและผลงานของท่านได้รับการกล่าวถึงอยู่จำนวนหนึ่ง หากส่วนที่ขาดหายคือความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญและงานอดิเรกที่ยังไม่ค่อยปรากฏว่ามีการกล่าวถึงกันมากนัก เนื่องในวาระชาตกาลของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ใน พ.ศ. 2566 บทความชิ้นนี้จึงขอร้อยเรียงเรื่องเล่าทั้งชีวิต ผลงาน แนวคิด และงานอดิเรกไว้ตามลำดับ

 

ชีวิต และผลงานของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2447 (ตามปฏิทินเก่า) เป็นบุตรคนที่ 6 ของพระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) ข้าราชการฝ่ายตุลาการ และคุณหญิงจันทน์ ในช่วงเกิดของศาสตราจารย์ดิเรกนั้น บิดาได้แต่งโคลงให้พรไว้ว่า

 

วันพุฒบุศย์มาศได้    ดิถี
เที่ยงครึ่งแสงระพี     ผ่องแผ้ว
สิบสามศุกร์ปักษ์ปี    นาคราช
ดิเรกเกิดเลิศแล้ว     ลาภล้ำจำเริญ

 

 


แถวหน้า ม.ล.ปุ๋ย กับ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม, แถวหลังจากซ้าย เจษฎา, ชูศักดิ์, วัฒนา และวรพุทธิ์ บุตรชายทั้ง 4 คน เมื่อ พ.ศ. 2510

 


ภาพของศาสตราจารย์ดิเรก และ ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม

 


ภาพของศาสตราจารย์ดิเรกและ ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม ถ่ายที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ริมแม่น้ำไรน์

 

ศาสตราจารย์ดิเรกมีพี่น้องที่เกิดร่วมบิดามารดาอีกสองคน โดยคนแรกได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเยาว์ ขณะที่พี่น้องอีกคน คือ ไพโรจน์ ชัยนาม ที่เป็นอาจารย์และนักกฎหมายคนสำคัญ ต่อมาศาสตราจารย์ดิเรกได้สมรสกับ ม.ล.ปุ๋ย นพวงศ์ บุตรีพระยารามราชเดช (ม.ร.ว.ปาล นพวงศ์) และคุณหญิงเนย  รามราชเดช ใน พ.ศ. 2468 จากนั้นจึงมีบุตรชายด้วยกัน 4 คน ได้แก่ วัฒนา, ชูศักดิ์, เจษฎา และวรพุทธิ์ ชัยนาม

เส้นทางการศึกษาของศาสตราจารย์ดิเรกเป็นส่วนสำคัญที่ก่อรูปความคิดและทำให้ศาสตราจารย์ดิเรกได้เข้าร่วมก่อการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 เนื่องจากเมื่อสอบไล่ได้มัธยมบริบูรณ์แล้วศาสตราจารย์ดิเรกก็สอบเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจนสอบเนติบัณฑิตผ่านเมื่อ พ.ศ. 2471 ณ ช่วงนี้เองที่ศาสตราจารย์ดิเรกมีโอกาสเข้าร่วมการอภิวัฒน์กับคณะราษฎร

ชีวิตการงานของศาสตราจารย์ดิเรกเรียกได้ว่าแบ่งออกเป็นสองภาค คือ บทบาทในระบบราชการ และ บทบาทในฐานะข้าราชการทางการเมือง การงานในระบบราชการนั้นศาสตราจารย์ดิเรกเริ่มต้นรับราชการในกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2467 โดยตำแหน่งแรกคือ ล่ามกฎหมายและล่ามประจำศาลคดีต่างประเทศ กระทั่ง พ.ศ. 2475 จึงได้เป็นหัวหน้าแผนกกฎหมาย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2481 ศาสตราจารย์ดิเรกได้ก้าวเข้ามารับราชการทางการเมืองอย่างเต็มตัวด้วยดำรงตำแหน่งสำคัญคือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[2] ซึ่งศาสตราจารย์ดิเรกกล่าวถึงชีวิตราชการของตนเองไว้ด้วยความรักในการงานว่า

 

“ชีวิตราชการของข้าพเจ้า ส่วนมากเกี่ยวกับราชการทางกระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นการจำเป็นอยู่เองที่ข้าพเจ้าจะต้องสนใจในเรื่องการต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก และข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และได้ให้ไปช่วยราชการกระทรวงการคลังซึ่งขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข้าพเจ้าอยู่กระทรวงการคลังไม่กี่เดือนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้โอนข้าพเจ้าไปช่วยทางกระทรวงการต่างประเทศซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดีเพราะชอบงานทางด้านนี้…”[3]

 

และเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองไทยเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ขึ้น ในปีถัดมาศาสตราจารย์ดิเรกได้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชสำนักญี่ปุ่นโดยคำร้องขอของรัฐบาลสมัยนั้น ทั้งยังมีบทบาทสำคัญระหว่างการสงคราม แม้ต่อมาศาสตราจารย์ดิเรกจะเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นและขอลาออกจากราชการ หากรัฐบาลขณะนั้นก็ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนเมื่อสิ้นสุดสงครามใน พ.ศ. 2489 ศาสตราจารย์ดิเรกจึงกราบถวายบังคมลาออกพร้อมกับคณะรัฐมนตรี

แต่ชีวิตข้าราชการการเมืองของดิเรกกลับเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อได้ก้าวเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วกลับพลิกผันเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ขึ้น ศาสตราจารย์ดิเรกจึงลาออกจากราชการ ในระยะของรัฐบาลคณะรัฐประหารระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2495 นี้ ศาสตราจารย์ดิเรกได้ทำงานด้านบริหารวิชาการอย่างเต็มที่ทั้งได้ริเริ่มก่อตั้งแล้วเข้ารับตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2492 โดยกล่าวถึงปณิธานต่อการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ไว้ว่า

 

“...ข้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยกับสภามหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้น เพราะทุกวันนี้ การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ในทุกประเทศ การปกครองบ้านเมืองได้ขยายก้าวไปมากมายหลายสาขา ประชาชนพลเมืองสนใจในการบ้านเมือง…ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงของชาติเช่นมหาวิทยาลัยนี้ จะต้องประสิทธิ์ประสาทวิชานี้ให้แก่ชนชาติของตน…”

 

ส่วนในเรื่องการจัดการเรียนการสอนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเห็นว่าในหลักสูตรควรมีรายวิชา “ทฤษฎีการเมือง (ประวัติความคิดทางการเมือง) ระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ ระบบพรรคการเมืองต่างๆ การปกครองท้องถิ่น รัฐประศาสนศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ…” ซึ่งเป็นจุดเน้นทางวิชาการที่แตกต่างจากหลักสูตรคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ เวลานั้น ที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้รับราชการในฐานะนักปกครอง[4]

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ดิเรกยังทำงานด้านการศึกษาควบคู่กันไปด้วย อาทิ รับคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเพื่อไปบรรยายในมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศ กระทั่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. 2498 ศาสตราจารย์ดิเรกก็ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการทูตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


[ภาพจากซ้ายไปขวา] ประธานาธิบดีทีโอดอร์ ฮอยส์, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม และนายโจเซฟ เสตราส์ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ในโอกาสที่ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2502

 


ภาพของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี พ.ศ. 2508

 

ส่วนงานทางการเมืองสำคัญในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิตศาสตราจารย์ดิเรก ระหว่าง พ.ศ. 2502 - 2508 คือเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกลับไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี และประเทศฟินแลนด์ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2508[5]

 


ภาพของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม รับมอบเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จากรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2510 ณ โรงพยาบาลศิริราช

 

บทสรุปชีวิตการงานที่สำคัญของดิเรกกว่า 40 ปีตราบจนวาระสุดท้ายคือนักการทูตคนสำคัญ[6] ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีบทบาทหลักคนหนึ่งซึ่งทำให้ไทยได้รับเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งเป็นการดำเนินภารกิจเพื่อชาติอันสอดรับกับอุดมคติของคณะราษฎรที่ดิเรกได้เข้าร่วมก่อการอภิวัฒน์สยามในช่วงต้นของชีวิต

 

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก

 


คณะนายทหารอังกฤษมาเยี่ยมศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ภายหลังการประกาศสันติภาพ
ณ บ้านซอยสันติสุข สุขุมวิท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

ศาสตราจารย์ดิเรกเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นจากบทบาทการเจรจาต่อรองกับอังกฤษเรื่องข้าวและเรื่องอื่นๆ หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับพันธมิตรระหว่างภาวะคับขันนี้ร่วมกันกับคณะรัฐมนตรี และสมาชิกเสรีไทยที่มีบทบาทในรัฐบาล นายปรีดีได้เจรจากับประเทศสัมพันธมิตรถึงปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการให้ข้าวสารโดยไม่คิดมูลค่าแก่อังกฤษจำนวน 1 ล้าน 4 แสนตัน ซึ่งคิดเป็นเงินตามราคาของข้าวสารเวลานั้นประมาณ 2,500 ล้านบาท จากข้อเสนอของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้ข้าวฟรีเป็นไมตรีแต่แล้วการให้ข้าวสารฟรีนี้ต่อมากลับปรากฏอยู่ในสัญญาสมบูรณ์แบบข้อที่ 14[7]

 


ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 ทรงฉายพระรูปปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ขณะที่ปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

 

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

จึงส่งผลให้รัฐบาลของนายปรีดีต้องเจรจากับอังกฤษเพื่อต่อรองจากการให้ข้าวฟรีเป็นการขายจนสำเร็จดังปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยนายปรีดี นายกรัฐมนตรีกล่าวแจ้งแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ทราบว่า

                            

“รัฐบาลมีเรื่องที่จะแจ้งให้สภาทราบ 2 เรื่อง

คือเรื่องต้นเป็นเรื่องซึ่งเมื่อวานนี้ ทางรัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับทางฝ่ายอังกฤษในเรื่องการที่แก้ไขสัญญาสมบูรณ์แบบอันว่าด้วยการที่เราจะต้องส่งข้าวให้แก่อังกฤษเปล่านั้น แต่นี้ต่อไปทางฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายที่จะได้มาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย สาระสำคัญในข้อตกลงนั้น ก็มีอยู่ในคำแถลงร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และไทย ซึ่งได้แจกไปยังท่านสมาชิกทั้งหลายแล้ว แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายอังกฤษได้ยื่นบันทึกตั้งแต่ครั้งรัฐบาลคุณควงและต่อมาในรัฐบาลปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับเรื่องนี้ขึ้นก็ได้พิจารณาโดยถี่ถ้วน…

ในการที่รัฐบาลได้มาบริหารงานก็เป็นห่วงถึงเหตุ 2 ประการ ประการที่ 1 เราจะมีข้าวพอหรือไม่ และ 2 เมื่อเรามีข้าวพอแล้ว ปัญหาเรื่องการขนส่ง เราสามารถจะขนส่งได้หรือไม่…ต่อมาก็เหลือในเรื่องราคาซึ่งได้พูดจาโต้ตอบกันมาเป็นเวลาช้านาน…จนกระทั่งผู้แทนของฝ่ายอังกฤษอเมริกาที่ประจำอยู่ในประเทศไทย…ได้บินไปอังกฤษ…ได้ไปพยายามเจรจา…ก็เป็นผลสำเร็จ…คือจะถือว่า 1 ตัน…เป็นราคาข้าว 12 ปอนด์ 14 ชิลลิง…ข้อปลีกย่อยที่ตกลงกันคือในเรื่องพรีเมี่ยม ได้ตกลงกันว่า ถ้าหากว่าในเดือนพฤษภาคมนี้เราจะส่งข้าวให้ได้เท่าไหร่แล้วเขาก็จะเพิ่มให้อีก 3 ปอนด์…

นอกจากนั้นยังได้รับคำมั่นอีกหลายอย่างหลายประการในเรื่องที่เราจะได้รับเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทย…และเราก็สามารถที่จะแบ่งเบางบประมาณของเราลงไปได้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท…”[8]

 

ในห้วงยามเดียวกันทางศาสตราจารย์ดิเรกได้เล่าผ่านจากแง่มุมของชีวิตท่านไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าเข้ารับมอบงานในหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ…ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2489…ข้าพเจ้าได้ออกต้อนรับนายจี เจอฟเฟรย์ ทอมป์สัน อัครราชทูตอังกฤษซึ่งข้าพเจ้ารู้จักและคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้ว…ข้าพเจ้าได้กล่าวกับทูตว่า ข้าพเจ้าจะพยายามได้ความร่วมมืออย่างดียิ่งเพราะประเทศเราทั้งสองเป็นมิตรกันมาช้านาน และถ้าข้าพเจ้ามีอะไรซึ่งจะต้องพูดโดยจริงใจแล้วก็จะแจ้งให้ทูลทราบ เพราะการเปิดเผยจะเป็นทางนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างดียิ่ง

ทูตตอบว่าเขาเองก็เช่นเดียวกัน และเขามองถึงความร่วมมือในกาลข้างหน้า เรื่องที่ล่วงมาแล้วเป็นอันลืมเสียได้ในการร่วมร่วมมือในกาลข้างหน้าระหว่างไทยกับอังกฤษนี้ ทูตจะถือหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกันและยินดีที่จะพบปะข้าพเจ้าเสมอ…”

 

จากบันทึกของศาสตราจารย์ดิเรกข้างต้นนั้น อยู่ในบริบทที่ต่อรองทางการทูตเรื่องการเซ็นข้อตกลงสมบูรณ์แบบระหว่างไทยกับอังกฤษที่มีส่วนสำคัญในการเจรจาต่อรองในระยะแรกจนถึงดำเนินการทางการทูตประสบผลในที่สุด

ศาสตราจารย์ดิเรกยังมีบทบาทในการเจรจากับอุปทูตของสหรัฐอเมริกาให้ปลดปล่อยหลักทรัพย์ที่กักกันไว้ของไทยเพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรและนำมาซื้อสินค้าเพื่อบำรุงประเทศซึ่งท่านได้เจรจาแกมขอร้องต่อสหรัฐอเมริกาเป็นการพิเศษ[9] นอกจากนี้ท่านยังมีบทบาทในการเจรจาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 โดยศาสตราจารย์ดิเรกมีส่วนร่วมเมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2489 จนในที่สุดได้มีการลงนามระงับกรณีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อภารกิจสำเร็จศาสตราจารย์ดิเรกก็ได้ลาออกจากราชการซึ่งได้ทิ้งความกังขาแก่นักหนังสือพิมพ์และประชาชนให้วิเคราะห์กันว่าเพราะเหตุใด[10]

 


หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490

 

จากบทบาททางการทูตและการเมืองดังกล่าวทำให้ท่านได้รับการกล่าวขวัญอย่างชื่นชมจากบุคคลสำคัญ อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ทวี บุณยเกตุ, สัญญา ธรรมศักดิ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในหลากหลายแง่มุม ดังนี้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ สะท้อนมุมมองให้เห็นว่าศาสตราจารย์ดิเรกเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการโดยท่านได้กรุณาเรียบเรียงหนังสือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้แก่สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยและสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยโดยมิได้คิดค่าลิขสิทธิ์ทั้งยังได้กล่าวถึงความคิดทางการเมืองและแนวคิดเสรีภาพของศาสตราจารย์ดิเรกไว้ว่า

 

“ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม เป็นนักเสรีนิยมที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่งผู้หนึ่งซึ่งข้าพเจ้ารู้จัก ท่านมิได้รักเสรีภาพสำหรับตัวท่านเอง แต่อยากให้ผู้อื่นได้รับและได้รักเสรีภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิษย์ของท่านหรือเพื่อนร่วมชาติของท่าน หรือแม้แต่เพื่อนมนุษย์ของท่าน ทั้งนี้ก็โดยการเผยแพร่วิชาความรู้อันเป็นพื้นฐานของเสรีภาพ…”[11] 

 

ทวี บุณยเกตุ เพื่อนรักของศาสตราจารย์ดิเรก สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนราชวิทยาลัยและนั่งโต๊ะติดกันได้เล่าถึงนิสัยส่วนตัวในวัยเยาว์ที่น้อยคนนักจะทราบและการปฏิบัติงานช่วงเสรีไทยร่วมกันไว้ว่า

 

“คุณดิเรก ชัยนาม เป็นเพื่อนรักของข้าพเจ้าคนหนึ่ง เพราะเราเรียนหนังสือมาด้วยกันในโรงเรียนเดียวกัน…แต่…ความประพฤติและความเป็นอยู่หลายอย่างไม่เหมือนกันเลย เช่นข้าพเจ้าเป็นคนซุกซน…ถูกลงโทษเสมอ แต่คุณดิเรก เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เพื่อนนักเรียนแทบทุกคนมักเกรงใจ…เรียนหนังสือเก่ง…แต่งตัวสะอาดสะอ้าน…”[12]

 


ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม คณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พ.ศ. 2485

 

ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพามาถึงทวีเล่าว่าศาสตราจารย์ดิเรกเป็นผู้ไม่นิยมสงครามและเห็นว่าประเทศไทยควรจะเดินทางสายกลางและต้องพ้นไปจากตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ถูกขอร้องให้ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว ณ ห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างไม่สมัครใจเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วจึงขอลาออกกระทั่งกลับมาถึงประเทศไทยที่มีการจัดตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้นพอดีทางศาสตราจารย์ดิเรกจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกเสรีไทยด้วยความสมัครใจด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ทวีกล่าวถึงงานที่ศาสตราจารย์ดิเรกได้รับมอบหมายในเสรีไทยไว้ว่า

 

“(ศาสตราจารย์ดิเรก)ได้รับมอบหมายให้ทำงานในหน้าที่ติดต่อกับฝ่ายต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและอเมริกาการเป็นเสรีไทยในขณะนั้นไม่ใช่ของสนุกเลยเพราะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษหากเกิดมีข่าวรั่วไหลแม้แต่น้อยแล้วก็หมายถึงชีวิตทีเดียว ไม่มีการผ่อนผันเป็นอย่างอื่นแต่คุณดิเรกก็ยอมเสี่ยงภยันตรายเหล่านี้เพื่อความเป็นเอกราชของประเทศ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า หากสงครามโลกครั้งที่สองนี้ต้องยืดเยื้อต่อไปอีกเพียงเดือนเดียวเท่านั้น บรรดาเสรีไทยชั้นหัวหน้า ซึ่งรวมทั้งคุณดิเรกด้วยก็จะต้องถูกฆ่าเป็นแน่นอน…เพราะ…ข่าวได้รั่วไหลไปถึงสายลับของกองทัพญี่ปุ่นแล้วว่า เสรีไทยชั้นนำนั้นมีใครบ้าง สำหรับค่าตัวของคุณดิเรกนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบมีถึง 200,000 บาท…”[13]

 

สัญญา ธรรมศักดิ์ รุ่นน้องของศาสตราจารย์ดิเรกที่โรงเรียนอัสสัมชัญและสอบไล่กฎหมายได้พร้อมกันกล่าวขวัญถึงบุคลิกอันสุภาพ

 

“...ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม เป็นสุภาพบุรุษทั้งกายและใจ แม้กระทั่งกระแสแห่งชีวิตได้หนุนเนื่องให้ท่านต้องเข้าไปเป็นนักการเมืองแทนที่จะเป็นตุลาการตามแบบอย่างของท่านเจ้าคุณพ่อท่านก็ยังคงรักษาความเป็นสุภาพบุรุษไว้ได้อย่างงดงามจนบางครั้งเพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบ กล่าวขวัญกันถึงท่านว่า คุณดิเรก เป็นสุภาพบุรุษเกินไปที่จะเป็นนักการเมือง…

ความเป็นสุภาพบุรุษของ ฯพณฯ ดิเรก ชัยนามส่งเสริมให้ท่านมีความสำเร็จอย่างยิ่งในตำแหน่งนักการทูต…”

 

และยังชื่นชมผลงานชิ้นสำคัญของรุ่นพี่ด้วยว่า

 

“สิ่งที่ข้าพเจ้าปลื้มใจในผลงานของ ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม อีกประการหนึ่ง ก็คืองานเขียนของท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้ารู้ข่าวก็รีบจอง และได้มารีบอ่านจนจบตลอดทั้งสองเล่มในระยะเวลาต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย…”[14]

 

ขณะที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าถึงศาสตราจารย์ดิเรกภายใต้สัมพันธ์ใกล้ชิดกันในสามช่วงชีวิต ได้แก่ ช่วงแรกที่ปฏิบัติงานเสรีไทย ช่วงที่สอง เมื่อศาสตราจารย์ดิเรกเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนภายหลังสงคราม และช่วงที่สาม เมื่อท่านเป็นคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นสามช่วงเวลาที่ป๋วยสนิทกับศาสตราจารย์ดิเรกที่สุดหากข้อเขียนของป๋วยได้สะท้อนตัวตนของท่านอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ลาออกจากจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในทันทีด้วยเหตุผลหลักคือ “สำคัญที่เกียรติ” ป๋วยเล่าถึงเหตุการณ์ลาออกครั้งนี้ไว้ว่า

 

“เหตุผลสำคัญที่อาจารย์ดิเรกยกขึ้นคัดค้านเหตุผลอื่นๆ ดังกล่าวมาข้างต้นที่ผมจำได้ติดหูคือ “สำคัญที่เกียรติ” เกียรติต้องมาก่อนอื่น เกียรติที่มีต่อรัฐบาลไทยหรือผู้ที่มีอำนาจในราชการครั้งนั้น เขาจะมีความไว้วางใจเท่าเพียงใดหรือไม่ ถ้าไม่ไว้วางใจ เพียงแต่ปล่อยให้ดำรงตำแหน่งไปพลางก็เท่ากับอาจารย์ดิเรกด้านอยู่ในตำแหน่งเป็นการจัดกับหลักการเรื่องเกียรติ

เกียรติอีกด้านหนึ่งเป็นเกียรติที่วงราชการของอังกฤษยกย่องให้แก่อาจารย์ดิเรกเพียงใด ทั้งๆ ที่วงราชการอังกฤษทราบอยู่ดีว่า อาจารย์ดิเรกสังกัดพรรคที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล…ถ้าอังกฤษเห็นอาจารย์ดิเรกด้านอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะให้ความไว้วางใจแล้ว อังกฤษจะให้ความเชื่อถือแก่อาจารย์ดิเรกอย่างไรได้…ข้อคำนึงที่เกี่ยวกับเกียรติอีกข้อหนึ่งก็คือ อาจารย์ดิเรกได้ร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนฝูงของท่านในสงครามซึ่งเสร็จสิ้นไปหยกๆ ในขณะที่เพื่อนฝูงตกอับไร้วาสนา แตกฉานซ่านเซ็น อาจารย์ดิเรกจะมาลอยนวลเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ถือโอกาสเอาตัวรอด…จะอยู่ดูหน้ามิตรสหายทั้งหลายอย่างไรได้

อาจารย์ดิเรกสรุปข้อตัดสินใจของท่านเพียงสั้นๆ “สำคัญที่เกียรติ””[15]

                            

ส่วนทัศนะของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เล่าถึงในฐานะที่ตนเคารพศาสตราจารย์ดิเรกเนื่องจากท่านเป็นเพื่อนรุ่นน้องในโรงเรียนอัสสัมชัญกับบิดาของตนเอง เรื่องเล่าของสุลักษณ์มีชีวิตชีวาสะท้อนภาพตั้งแต่ศาสตราจารย์ดิเรกวัยหนุ่มจนถึงแง่มุมสุดท้ายของชีวิต

 

“ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่าสมัยหนุ่มๆ ท่านเกะกะซุกซนบ้างไหม ท่านตอบว่าเคยเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำ ติดนางละคอน จนสอบตก เจ้าคุณบิดาบริภาษครั้งเดียว ท่านเข็ดจนตาย…”[16]

                 

สิ่งสุดท้ายที่สุลักษณ์ทำให้ศาสตราจารย์ดิเรกยิ้มได้ คือ โฆษณาหนังสือเล่มสำคัญของท่านเรื่อง ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในรายการโทรทัศน์ของสมาคมภาษาและหนังสือจนทำให้ศาสตราจารย์ดิเรกยิ้มแย้มแจ่มใสและยังกล่าวล้อสุลักษณ์ว่า “โฆษณาหนังสืออีกแล้ว” ราว 5 วันถัดมาหลังรายการโทรทัศน์ครั้งนี้ศาสตราจารย์ดิเรกก็จากไปในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และได้รับจัดการงานศพจาก ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ซึ่งศาสตราจารย์ดิเรกถือเป็นผู้ก่อการอภิวัฒน์สยามคนแรกที่ ม.จ.จงจิตรถนอม ทรงช่วยจัดงานศพให้ด้วยเหตุผลว่า “ในบรรดาผู้ก่อการนั้น ไม่กริ้วคุณดิเรกเลย ทรงเห็นว่าเป็นคนดีที่ทำการเพื่อประเทศชาติยิ่งอื่นใด”[17]

 


มุมหนังสือส่วนตัวของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ที่บริจาคให้แก่ห้องสมุดดิเรก ชัยนาม, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศาสตราจารย์ดิเรกยังได้เขียนปาฐกถา[18] ไว้ก่อนที่จะป่วยเพื่อส่งให้กระจายเสียงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ตามที่ได้รับเชิญเรื่องงานอดิเรกของท่านนั่นคือ การอ่านหนังสือ ท่านเล่าไว้ในปาฐกถาครั้งสุดท้ายนี้ว่า

“ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาว่าง เป็นต้องอ่านหนังสือ…การอ่านหนังสือในยามว่างเป็นกิจกรรมซึ่งทำให้ชีวิตเราเพลิดเพลิน จิตใจดี ได้ความรู้ทางวิชาการทั้งหลาย และคิดประกอบแต่กุศลกรรม”

หนังสือที่ศาสตราจารย์ดิเรกอ่านมีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือการเมืองระหว่างประเทศ หนังสือวรรณคดี เช่น ปฐมสมโพธิ หรือมหาเวสสันดรชาดก หรือ King John ของวิลเลียม เชคสเปียร์ หนังสือประวัติศาสตร์ และหนังสือชีวิตบุคคลสำคัญ เช่น แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์, วินสตัน เชอร์ชิล หรือมหาตมะ คานธี เป็นต้น[19]

ตามทัศนะของคนรู้จักศาสตราจารย์ดิเรกข้างต้นที่เห็นสอดรับกัน คือ ความสุภาพ ความเป็นสุภาพบุรุษ ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ รักในเกียรติแห่งตนและเพื่อนพ้องพร้อมทำงานอันเป็นประโยชน์แก่ชาติและบ้านเมืองจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ภาพประกอบ : หนังสืออนุสรณ์งานศพ หนังสือไทยในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 นิตยสารสารคดี และรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73254

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • จิตร แพร่พานิช, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในทรรศนะของหนังสือพิมพ์ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510.
  • สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว., อ.ป.ร. 1. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2510.
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว.. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510.

หนังสือภาษาไทย :

  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510)
  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 2 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510)
  • ดิเรก ชัยนาม, รวมปาฐกถาชุดล่าสุด ของนายดิเรก ชัยนาม, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2523)
  • ดิเรก ชัยนาม, อดีตของปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: โอเพนบุ๊คส์, 2547)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติศาสตร์ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะบรรณาธิการ, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2543)
  • เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บรรณาธิการ, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนามกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2543)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ พรมรัตน์. (2 สิงหาคม 2563). ดิเรก ชัยนาม : นักการทูตคนสนิทของปรีดี พนมยงค์ ผู้ถือหลักว่า “สำคัญที่เกียรติ”. https://pridi.or.th/th/content/2020/08/365
 

[1] จิตร แพร่พานิช, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในทรรศนะของหนังสือพิมพ์ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510.

[2] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว.. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510. น. (1)-(14).

[3] ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510), น. 3.

[4] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บรรณาธิการ, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนามกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2543), น. 67 - 69.

[5] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว.. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510. น. (15).

[6] กษิดิศ พรมรัตน์. (2 สิงหาคม 2563). ดิเรก ชัยนาม : นักการทูตคนสนิทของปรีดี พนมยงค์ ผู้ถือหลักว่า “สำคัญที่เกียรติ”. https://pridi.or.th/th/content/2020/08/365

[7] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะบรรณาธิการ, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2543), น. 217.

[8] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73254

[9] ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510), น. 576-588.

[10] ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 2 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510), น. 593-680.

[11] สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว., อ.ป. ร. 1. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2510. น. 9.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 31.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 35-37.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 43-44.

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 46-49.

[16] เรื่องเดียวกัน, น. 55-66.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 76-77.

[18] พิมพ์ครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2510

[19] ดิเรก ชัยนาม, อดีตของปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: โอเพนบุ๊คส์, 2547), น. 174-191.