“การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง”
ปรีดี พนมยงค์,
ประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488[1]
ภายหลังจากไทยถูกญี่ปุ่นบุกในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจรับข้อเสนอบางประการจากญี่ปุ่น ฝ่ายอักษะในสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลก็ลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นการรับข้อเสนอข้อที่ 2 และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทางรัฐบาลได้ประกาศสงครามใหญ่กับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา[2]
นับตั้งแต่การรับข้อเสนอครั้งแรกของรัฐบาลไทยก็เกิดข้อถกเถียงและความขัดแย้งภายในสมาชิกคณะราษฎรชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ในเวลาดังกล่าวที่ไม่ได้ลงนามในการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา[3] ซึ่งนายปรีดี ได้บันทึกประวัติศาสตร์และข้อวิจารณ์สงครามครั้งนี้ไว้อย่างละเอียดและไม่ค่อยมีการกล่าวถึง จึงขอนำเสนอไว้ในบทความชิ้นนี้พร้อมกับหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว
ก่อนการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา
ในบันทึกส่วนบุคคลของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เล่าถึงสงครามจิตวิทยาของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาเพื่อหวังให้ประชาชนเกิดความนิยมในฝ่ายอักษะหรือแสนยานิยมของญี่ปุ่น และตัวผู้นำมากยิ่งขึ้นไว้ว่า ในสมัยที่ นายวิจิตร วิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการนั้น รัฐบาลได้สั่งห้ามประชาชนไม่ให้ฟังวิทยุแบบคลื่นสั้นของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ขณะนั้นราษฎรส่วนใหญ่ไม่มีเงินซื้อเครื่องรับวิทยุและชนชั้นกลางก็มีแต่เครื่องรับวิทยุที่ฟังได้เฉพาะแบบคลื่นยาว เช่น รายการของกรมโฆษณาการ จึงมีเพียงราษฎรส่วนน้อยเท่านั้นที่มีวิทยุแบบที่ฟังรายการของฝ่ายสัมพันธมิตรได้
นายปรีดียังเสนอว่า ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้เข้มงวดตรวจตราการเผยแพร่ข่าวสารต่างประเทศในไทย ทั้งการตรวจเรื่องที่หนังสือพิมพ์จะลงข่าวต่างประเทศ ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขรับฟังมา แล้วนำมาพิมพ์จำหน่ายหรือแจกให้แก่รัฐมนตรีกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ และหนังสือพิมพ์บางฉบับ โดยปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างหนึ่ง คือการที่รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นได้ตั้งกรรมการตรวจข่าวต่างประเทศร่วมกัน และมีการตัดข่าวในแง่บวกของฝ่ายพันธมิตรออก ให้ลงได้แต่ข่าวที่พันธมิตรยอมรับว่าพ่ายแพ้ ส่วนข่าวของฝ่ายอักษะไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีนั้น สามารถเผยแพร่ได้อย่างเต็มที่
ผลลัพธ์จากปฏิบัติการทางจิตวิทยา นายปรีดีระบุว่าส่งผลให้ประชาชนส่วนมากได้ยินความข้างเดียวของรัฐบาลและฝ่ายอักษะ และเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ควบคุมวิทยุของกรมโฆษณาการแล้ว จึงมีการนำเสนอบทความโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีลีลาการเขียนด้วยถ้อยคำก้าวร้าว เช่น บทความโจมตีพระราชวงศ์ของอังกฤษที่นายปรีดีชี้ว่าผู้ที่เขียนบทความนี้อาจจะเป็นหนึ่งในจตุสดมภ์[4] หรือคนสนิทสี่คนที่หนุนช่วยจอมพล ป. อยู่ก็เป็นได้[5]
1 เดือนก่อนการประกาศสงครามได้มีข้อมูลจากบันทึกของราษฎรนิรนามเสนอภาพความรุนแรงจากสงครามมหาเอเชียบูรพาว่ามีการโจมตีในเขตธนบุรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยเครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระเบิด และหลังจากนั้นกรุงเทพฯ ก็ถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นระยะและปรากฏร่องรอยความเสียหายทั้งในเขตพระนครและเขตธนบุรีซึ่งการโจมตีจะเน้นไปที่สถานที่ราชการสำคัญ หากต่อมากลับไม่เว้นแม้กระทั่งโรงทาน และบันทึกของราษฎรดังกล่าวยังระบุว่ามีการโจมตีในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อีกด้วย
และช่วงเที่ยงของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา โดยปัญหาทางประวัติศาสตร์ของประกาศสงครามฯ ฉบับนี้คือ การอ้างชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งที่มิได้อยู่ลงนามและการอ้างอิงความชอบธรรมของรัฐบาลจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่งกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป”[6]
คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาฉบับถัดมาได้ระบุข้อมูลการโจมตีไทยจากฝ่ายพันธมิตรไว้ว่า
“ในระหว่างเวลาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ถึง 20 มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง”
และในคืนวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 เครื่องบินอังกฤษยังบินมาโจมตีกรุงเทพฯ อีกครั้งซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลอ้างถึง แล้วนำมาสู่การประกาศสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485[7]
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้มีการประกาศวันสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดย นายปรีดี พนมยงค์ และภายหลังสงครามจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์เรื่องการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 สำคัญ จากทั้งนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย หรือทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยมว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. ครั้งนั้นเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482 หรือไม่ อย่างไร
หากมองในทางหลักกฎหมายถือเป็นการละเมิดต่อประกาศฯ นี้อย่างแน่แท้ เนื้อความสำคัญในพระบรมราชโองการฯ เรื่องสถานะความเป็นกลางบัญญัติ มีดังนี้ โดยผู้เขียนได้คงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้
“โดยที่บัดนี้มีสถานะสงครามอยู่ในบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี, และ
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดํารงเป็นผาสุกอยู่ในสันติภาพและมิตรภาพกับพระมหากษัตริย์และประมุขแห่งรัฐ ตลอดจนอาณาประชาชนและคนชาติแห่งรัฐนั้นๆ แต่ละรัฐ และ
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะให้อาณาประชาราษฎรของพระองค์คงได้รับประโยชน์เป็นมั่นคงอยู่ในสันติภาพอันเป็นคุณหาที่สุดมิได้ และเพื่อการนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและ เที่ยงธรรมในสถานะสงครามดั่งกล่าวแล้ว
ฉะนั้น คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งให้ตราประกาศขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
ให้บันดาข้าราชการและอาณาประชาราษฎรไทย และบันดาบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ปฏิบัติตามความเป็น กลางอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม ในระหว่างที่มีสถานะสงครามอยู่นีั้…”[8]
ส่วนข้อถกเถียงอีกแง่คือรัฐบาลจอมพล ป. มีทางเลือกอื่นในการไม่ประกาศสงครามหรือไม่ในเวลานั้น
จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาแล้วยังมีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญประเภทจดหมายส่วนบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท ได้ชี้แจงและโต้แย้งเรื่องการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ฯ ในประเด็นที่ว่า เมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ฯ นั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำอยู่กรุงวอชิงตัน ได้“พกใบประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าโดยไม่นำไปยื่นต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา” จึงเป็นเหตุทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยซึ่งนายปรีดีได้แย้งต่อกรณีดังกล่าวด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ดังนี้
“รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้แจ้งการประกาศสงครามให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาทราบถูกต้องสมบูรณ์แบบตามระเบียบการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศแล้วคือ รัฐบาลพิบูลฯ ได้แจ้งประกาศสงครามแก่กงสุลสวิสประจํากรุงเทพฯ ซึ่ง รัฐบาล ส.ร.อ. (สหรัฐอเมริกา—ผู้เขียน) ตั้งเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของ ส.ร.อ. เอกสารหลักฐานซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือของรัฐบาล ส.ร.อ. ชื่อ Foreign Relations of the United States ค.ศ. 1942 เล่ม 1 หน้า 915”
จากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่พิมพ์เป็นทางการในหนังสือชื่อ Foreign Relations of the United States ค.ศ. 1942 เล่ม 1 หน้า 915 ปรากฏให้เห็นว่า รัฐบาลของจอมพล ป. ได้แจ้งต่อกงสุลสวิตเซอร์แลนด์ประจำกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เพื่อแจ้งการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ไปยังอุปทูตสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485[9]
ต่อมานายปรีดียังให้สัมภาษณ์ นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525 เรื่องการแจ้งประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ฯ ไว้ อีก 3 ประการว่า
“(1) รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ได้แจ้งประกาศสงครามนั้นต่อกงสุลสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นตัวแทนของ ส.ร.อ. (สหรัฐอเมริกา-ผู้เขียน) โดยชอบตามระเบียบการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ผมจึงไม่ทราบว่า รัฐบาลนั้นมีเหตุผลประการใดที่จะทำ “ใบประกาศสงคราม” ส่งซ้ำไปยังท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ให้ยื่นต่อรัฐบาล ส.ร.อ. ซ้ำอีก
(2) ระหว่างสงครามโลกนั้น การสื่อสารทางไปรษณีย์อากาศและทางเรือกับทางบกระหว่างประเทศไทยกับยุโรป และ ส.ร.อ. นั้นต้องชะงักลง ถุงเมล์ไปรษณีย์จากกรุงเทพฯ ถึงทวีปดังกล่าวนั้น ไม่อาจส่งไปได้
(3) คนไทยสมัยนั้นก็ได้ยินวิทยุกระจายเสียง ส.ร.อ. ประกาศถึงการที่ท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันได้ตัดขาดกับรัฐบาลกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายวัน ก่อนวันที่รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และ ส.ร.อ. แล้ว ผมจึงสงสัยว่า รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ มีเหตุผลอย่างใดจึงโทรเลขไปขอร้องให้ท่านอัครราชทูตไทยนั้นไปแจ้งประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. อีก เพราะรัฐบาลจอมพล พิบูลฯ รู้อยู่แล้วว่า ท่านอัครราชทูตไทยได้ตัดขาดกับรัฐบาลจอมพล พิบูลฯ”
ปรีดี พนมยงค์ วิจารณ์สงคราม
จากบันทึกของนายปรีดีในหนังสือ โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ตอนหนึ่งเรื่องวิจารณ์สงคราม ได้ระบุว่ามาจากการที่ได้สนทนากันกับ นายทวี บุณยเกตุ มิตรและผู้ช่วยคนสำคัญของนายปรีดี ในสมัยสงครามเอเชียมหาบูรพาและยังถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ช่วยหมายเลข 1 ของนายปรีดีในขบวนการเสรีไทย โดยนายปรีดีได้สนทนากับนายทวีเพราะวิตกต่อชะตากรรมของประเทศชาติในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกไทย ความกังวลต่อชาติของนายปรีดีมีดังนี้
“ข้าพเจ้ากับนายทวี บุณยเกตุ ได้สนทนากันต่อไปถึงความวิตกของเราทั้งสองที่มีต่อชะตากรรมของประเทศชาติ ข้าพเจ้าชี้แจงว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงครามและเขาจะแบ่งดินแดนที่ยึดได้มาให้ประเทศไทยบ้าง แต่เราก็ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นซึ่งวางตนเป็นนายใหญ่ของวงไพบูลย์แห่งเอเซียบูรพา ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้ รัฐบาลไทยได้ยอมลงนามในพิธีสารเข้าสู่ระบบใหม่แห่งมหาเอเชียเพื่อแลกกับการได้ดินแดนบางส่วนคืนมาจากอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ชาติไทยที่ทรุดหนักอยู่แล้ว จะต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศสงครามนี้ คือ ยิ่งจะเป็นเหตุให้ทั้งประเทศไทยและดินแดนที่จะได้ส่วนแบ่งจากญี่ปุ่นมีฐานะเสมือนเมืองขึ้นของญี่ปุ่น ประดุจเป็นตัวหุ่นให้ญี่ปุ่นเชิดเหมือนดังมานจูกัวและประเทศต่างๆ ที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้นในดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและรัฐบาลจีนแห่งวังจิงไว
แต่ถ้าสัมพันธมิตรชนะสงคราม ชาติไทยเราก็สิ้นความเป็นเอกราชโดยจะถูกยึดครองเหมือนประเทศที่แพ้สงครามทั้งหลาย บูรณภาพแห่งประเทศของเราก็จะหมดไป…”
นายปรีดีได้แสดงความกังวลปนวิจารณ์สงครามในมุมมองเปรียบเทียบกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ด้วยว่า
“ขอให้ดูตัวอย่างเยอรมันที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และออสเตรียฮังการีที่เป็นมหาอาณาจักรต้องสลายลงโดยชนชาติต่างๆ ที่เคยร่วมอยู่นั้นต่างก็พากันแยกตนออกเป็นชาติอิสระมากหลาย มหาอาณาจักรนั้นก็เหลือเพียงส่วนที่เป็นออสเตรียนิดเดียวเท่านั้น อาณาจักรออตโตมันที่แพ้สงครามก็สลายตัวไปเหลือแต่ตุรกี นอกนั้นตกอยู่ในอาณัติของสันนิบาตชาติแล้วก็แยกย้ายกันเป็นเอกเทศออกไป เช่น อิรัก เยเมน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย เลบานอน ฯลฯ”
นายทวียังขอให้นายปรีดีวิจารณ์ความเห็นของนักการทหารและนักการเมืองที่เสนอให้จอมพล ป. เลือกข้างฝ่ายอักษะหรือญี่ปุ่น นายปรีดีได้วิจารณ์โดยไม่ระบุนามและเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์การสงครามในต่างประเทศว่า
“นายทวีฯ ขอให้ข้าพเจ้าวิจารณ์ความเห็นของนักการทหารและการเมือง บางคนที่เสนอจอมพล ป. ให้เข้าข้างญี่ปุ่นโดยเห็นว่า ญี่ปุ่นทำการรบรุกได้รวดเร็ว เป็นฝ่ายชนะสงครามและบางคนก็อ้างว่าทางวิชาทหารนั้น การร่วมรบกับญี่ปุ่นในดินแดนนอกประเทศไทยจะดีมาก
ข้าพเจ้าจึงชี้แจงว่า การอ้างเช่นนั้น ทำให้นักการทหารและนักการเมืองที่แท้จริงต้องพลอยเสียหายไปด้วย ถ้านายทวีฯ มีโอกาสก็ลองถามคนคนนั้น ดูว่า เขาอาศัยตำราการทหารและการเมืองเล่มใด ใครเป็นผู้สอนที่ไหน เท่าที่ข้าพเจ้าอ่านมาบ้างก็ระลึกได้ว่า นโปเลียนที่ทางทหารนิยมนั้น ได้ทำการรบมีชัยหลายครั้งทั่วภาคพื้นยุโรป ได้ยาตราทัพไปไกลถึงมอสโกและถึงจุดจบพ่ายแพ้ ณ ที่นั้น อันเป็นสนามรบนอกประเทศฝรั่งเศส ต้องถอยทัพอย่างเสียหายมาก เป็นเหตุให้หลายชาติร่วมกันเป็นพันธมิตร กรีฑาทัพมายึดกรุงปารีสได้ คือ เป็นการชักศึกเข้าเมืองนั่นเอง นโปเลียนต้องถูกบังคับให้สละบัลลังก์จักรพรรดิฝรั่งเศส แล้วถูกส่งไปเป็นราชาธิบดีแห่งเกาะน้อย “เอลบา” ต่อมานโปเลียนยกพลขึ้นฝรั่งเศสกลับไปเป็นจักรพรรดิอีก จึงทำสงครามนอกประเทศฝรั่งเศสอีกและพ่ายแพ้ในสมรภูมิ “วอเตอร์ลู” แล้วถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่เกาะ “เซนด์ เฮเลน่า” จนสิ้นชีพ”
และนายปรีดีได้ชี้ให้เห็นในมุมเปรียบเทียบว่า การที่นักการทหารหรือนักการเมืองบางกลุ่มมองว่าในช่วงต้นสงครามญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะชนะสงครามนั้นอาจจะต้องพิจารณาเงื่อนไขในระยะยาวและปัจจัยอื่นประกอบกัน
“เราจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะในสงครามโดยเพียงแต่อาศัยการรบในระยะต้นสงครามว่าใครรุกรบได้รวดเร็วก็เป็นฝ่ายชนะสงครามนั้น ยังไม่ถูกต้อง เราต้องดูว่าฝ่ายใดจะต่อสู้ได้ยืดเยื้อนานที่สุดกว่าฝ่ายอื่นและเอาชนะในการรบขั้นสุดท้ายได้อย่างไร ทั้งนี้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคนิคว่าฝ่ายใด เหนือกว่าฝ่ายใด กำลังใจของพลรบยอมเสียสละเพื่อชาติได้จริงจังหรือเพียงแต่คำพูดพล่อยๆ พลเมืองอันเป็นกระดูกสันหลังภายในประเทศนั้นๆ เองให้การสนับสนุนแก่การทำสงครามจริงจังเพียงใด…
ข้าพเจ้าได้วิจารณ์ให้นายทวีฯ ฟังว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายอักษะด้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะประการแรก อักษะอัตคัดอาหารกว่าสัมพันธมิตร…พลรบญี่ปุ่นและเยอรมันมีกำลังใจสูง แต่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งคติหลอกลวงให้บูชาผู้วิเศษตามลัทธินาซีและบูชิโดซึ่งเป็นไปได้ชั่วขณะ แต่วันใดพลรบรู้ว่าถูกหลอกลวงก็เสียกำลังใจได้ง่ายๆ พลเมืองของฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนมากก็สนับสนุนการทำสงครามของฝ่ายตน แต่ฝ่ายใดสนับสนุนโดยอาศัยคติประชาธิปไตยที่แท้จริง การสนับสนุนก็คงทน แต่ถ้าเป็นไปโดยถูกหลอกลวง ก็อาจทิ้งการสนับสนุนเมื่อรู้ว่าถูกหลอกลวง…”
คำถามสุดท้ายที่นายทวีได้ถามนายปรีดีคือ เราจะทำอย่างไรกันดีจึงจะรับใช้ชาติให้พ้นภัยพิบัติได้ นายปรีดีตอบคำถามนี้ว่า
“ข้าพเจ้าจึงขอให้นายทวีฯ ไปพิจารณาตัวอย่างของผู้รักชาติที่ดำเนินการต่อต้านภายในประเทศ และมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศที่สัมพันธมิตรรับรอง ก็จะเป็นการล้างสิ่งที่รัฐบาลในประเทศที่เข้าข้างอักษะนั้น ความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งชาติก็คงอยู่ได้ดังเดิม นายพล เดอโกลล์ ได้แก้ภัยพิบัติแห่งชาติฝรั่งเศสโดยตั้งเสรีฝรั่งเศสและคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ลอนดอน ซึ่งได้รับการรับรองจากสัมพันธมิตรและได้รับการช่วยเหลืออาวุธยุทธภัณฑ์ในการต่อต้านเยอรมันภายในประเทศ”[10]
ข้อวิจารณ์สงครามของนายปรีดีเชิญชวนให้ขบคิดและพิจารณา กระทั่งต่อมานายทวีคู่สนทนาจึงได้เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทยและเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของนายปรีดี[11] เมื่อสิ้นสุดสงครามใน พ.ศ. 2488 ด้วยเหตุที่มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามในประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาไม่ครบ 3 ท่าน โดยขาดการลงนามจากนายปรีดีจึงมีผลให้การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้นเป็นโมฆสงครามและนายปรีดีได้ขอให้นายทวี เสนอต่อจอมพล ป. ว่าการประกาศสงครามที่ทำไปนั้นเป็นโมฆะเพื่อให้ไทยได้รับเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์และเสียประโยชน์น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในฝ่ายที่พ่ายแพ้สงคราม[12]
ภาพประกอบบทความ :
- ภาพหลักฐานชั้นต้นจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
- ภาพถ่ายจาก หนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และห้องวิจัยประวัติศาสตร์
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 247-251.
- ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485, ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 244–246.
- พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 56 (5 กันยายน 2482): 847-849.
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- ทวี บุณยเกตุ. “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2515)
หนังสือภาษาอังกฤษ :
- Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy 1932-1946, (Bangkok: Suksit Siam, 2000)
หนังสือภาษาไทย :
- กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563)
- ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร: แพร่พิทยา, 2510)
- ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
- ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะบรรณาธิการ, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2543)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กษิดิศ อนันทนาธร. (25 มกราคม 2564). ปรีดี ไปไหน? จึงไม่ลงนามในประกาศสงคราม
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (23 มกราคม 2564). ไทย-ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา
- ปรีดี พนมยงค์. (26 มกราคม 2564). จอมพล ป. ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาทางไหน?
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
[1] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (23 มกราคม 2564). ไทย-ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา
[3] กษิดิศ อนันทนาธร. (25 มกราคม 2564). ปรีดี ไปไหน? จึงไม่ลงนามในประกาศสงคราม และปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563)
[4] นายปรีดีกล่าวถึงจตุสดมภ์หรือคนสนิทสี่คนของจอมพล ป. ไว้ว่าคือ “ผู้ที่หนุนหลวงพิบูลฯ นั้น มิใช่มีเพียงนายประยูรฯ กับหลวงวิจิตรฯ เท่านั้นคือ ยังมีบุคคลอื่นที่อยู่นอกคณะรัฐมนตรีแต่เป็นผู้คอยเอาใจใส่ส่งเสริม…บุคคลทั้งสี่ซึ่งสมัยก่อนโน้นมีฉายาว่า “จตุสดมภ์” ของหลวงพิบูลฯ มีผู้เอาชื่อเดิมของสี่คนนี้มาผูกเป็นวลีสอดคล้องกัน…ส่วนหลวงวิจิตรฯ นั้นไม่เข้าอยู่ใน “จตุสดมภ์” แต่มีผู้ให้ฉายาว่า “ปุโรหิต”...”
[5] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 205-207.
[6] ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485, ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 244–246.
[7] คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 247-251.
[8] พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 56 (5 กันยายน 2482): 847-849.
[9] ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522), น.7-9.
[10] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 218-221.
[11] โปรดดูเพิ่มเติม ทวี บุณยเกตุ. “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2515)
[12] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 217. และกษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563), น. 110-116.