ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ผลงานของคณะราษฎร: การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

27
มิถุนายน
2566

Focus

  • เมื่อ 91 ปี ที่แล้ว ผลงานสำคัญระดับชาติชิ้นหนึ่ง หลังการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันตอบสนองปณิธานข้อ 6 “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ในหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ก็คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนมีกล่าวกันว่า “หากไม่มี 24 มิถุนายน 2475/1932 ก็อาจจะไม่มี 27 มิถุนายน 2477/1934 (วันสถาปนา ม.ธ.ก. – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง)”
  • นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในนามรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้น จนผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และประกาศใช้ “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476” ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2476 และต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 นายปรีดีฯก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้ประศาสน์การคนแรก (และคนเดียว) ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
  • มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดการเรียนการสอนในลักษณะเป็นตลาดวิชา โดยปฐมฐานของความคิดการจัดตั้ง คือ “การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอํานวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกขั้น” และ “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บําบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจําเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น” ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอไว้ จึงนับเป็นผลงานชิ้นสำคัญหนึ่งของรัฐบาลดังที่คณะราษฎรได้สัญญาไว้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว

 

ประกาศคณะราษฎรที่ระบุหลัก 6 ประการ
ประกาศคณะราษฎรที่ระบุหลัก 6 ประการ

 

เนื่องในวาระ 91 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร นอกจากเหตุการณ์ ความคิด และบทบาทของคณะราษฎรที่มีการกล่าวถึงกัน ณ โอกาสนี้ในวงกว้างแล้ว บทความนี้จะหยิบยกแง่มุมผลงานของคณะราษฎรในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่มีการกล่าวถึงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ ผ่านรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อย้อนระลึกถึงคุณูปการ ผลงาน และความตั้งใจของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัยและให้โอกาสทางการศึกษาแก่ราษฎร ตามปณิธานข้อ 6 “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ในหลัก 6 ประการ

 

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง : หลักฐานทางประวัติศาสตร์

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ จากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กลายเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่มีทั้งความแปลกและความใหม่ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสยาม รวมทั้งเป็นเสมือนคู่แฝดกับการอภิวัฒน์กล่าวคือ

 

“หากไม่มี 24 มิถุนายน 2475/1932 ก็อาจจะไม่มี 27 มิถุนายน 2477/1934 (วันสถาปนา ม.ธ.ก.)”

 

โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 นับเป็นการปฏิรูปการศึกษาของพลเรือนระดับอุดมศึกษาครั้งแรก กระทั่งได้มีการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อ พ.ศ. 2442 แล้วยกสถานะขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาโรงเรียนกฎหมายได้ถูกยุบรวมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2476 แต่ในที่สุดก็ถูกโอนไปสังกัดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[1]

 

การเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476
การเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อร่างแนวคิดขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 เมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นครั้งแรก และมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้นโดยหลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือเรียนถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า

 

“หนังสือนายกรัฐมนตรีที่ ส. ๘๔๐๘/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ศกนี้ เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจพิจารณา คือ

๑. ร่างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช ๒๔๗๖

…บัดนี้ที่ประชุมสภาฯ ได้ตรวจพิจารณาร่างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช ๒๔๗๖ เสร็จแล้ว ลงมติเห็นชอบตามร่างซึ่งส่งมาพร้อมกับหนังสือฉะบับนี้ ให้นำขึ้นถวายแด่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทรงลงพระนาม และจัดการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นหมายสืบไปได้แล้ว ฉะนั้นจึงเรียนยืนยันมา…”

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญสมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php)
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญสมัยที่สอง)
วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
(https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php)

 

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการของร่างกฎหมายไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 โดยมีการแปรญัติ และเห็นชอบให้ออกประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยในวันนั้นได้มีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในประเด็นต่างๆ

เนื่องจากมีสาระที่น่าสนใจตามที่บันทึกในรายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอสาระที่เป็นแนวคิดและหลักการที่มีการอภิปรายถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ดังต่อไปนี้

พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ทำการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเริ่มต้นพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ว่า

 

“พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ซึ่งสภาฯ นี้ได้รับหลักการแล้ว และส่งไปให้กรรมาธิการพิจารณานั้น สมาชิกได้ส่งแปรญัตติไป บัดนี้ คณะกรรมาธิการได้เสนอร่างพระราชบัญญัติและได้ตกลงกับสมาชิกส่วนมากไปแล้วในข้อที่สมาชิกแปรญัตติไป และในข้อที่กรรมาธิการจะพิจารณาตกลงไปอย่างไร จะได้อ่านให้สมาชิกฟัง…”

 

ประเด็นแรกมาจากนายทองอิน ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เสนอขอแก้คำว่ามีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง และวิชาเศรษฐการ โดยขอแปรญัตติในข้อนี้เป็นการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ วิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต แต่ทางคณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วยในการประชุมฯ ครั้งที่แล้ว จึงขอถอนญัตติและขอเสนอแก้ไขมาตรา 7[2] โดยหลวงคหกรรมบดี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า

 

“นายทองอินทร์ ขอให้ตัด “ในการเงิน” ออกและแก้ “อาจมีรายได้” เป็น “อาจมีเงินรายได้”...คณะกรรมาธิการเห็นว่าความในร่างชัดเจนดีแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขอย่างไรอีก”

 

ขณะที่นายทองอินทร์ กล่าวอภิปรายว่า

 

“ในมาตรา 7 นี้ ถ้าเราอ่านดูดีๆ เราจะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นนีติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ในการเงินเหมือนนีติบุคคลทั้งหลาย…เพื่อที่จะให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นรูปแบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอแปรญัตติตัดคำว่า “ในการเงิน” ออกเป็นว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นบุคคลมีสิทธิและหน้าที่เหมือนนีติบุคคลทั้งหลาย เมื่อนีติบุคคลทั้งหลายมีสิทธิและหน้าที่อย่างใดก็ควรให้นีติบุคคลคือมหาวิทยาลัยนี้มีอยู่เช่นนั้น ถ้ามิเช่นนั้นแล้วเราจะทำให้ข้อความเสียไป…

…จึงจะทำให้ข้อความชัดเจน มหาวิทยานี้เป็นนีติบุคคล ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่เหมือนนีติบุคคลทั้งหลาย ไม่ฉะเพาะแต่การเงินอย่างเดียว…และฉะเพาะในข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ขอถอน ขอให้ลงมติ”

 

นายปรีดี กล่าวรับรองการแปรญัตติของนายทองอินทร์ เรื่องตัดคำว่า ในการเงินออก
นายปรีดี กล่าวรับรองการแปรญัตติของนายทองอินทร์ เรื่องตัดคำว่า ในการเงินออก

 

นายปรีดีกล่าวรับรองการแปรญัตติของนายทองอินทร์ เรื่องการตัดคำว่า ในการเงินออก ตามมาตรา 7 ไว้ว่า

 

“ในเรื่องนี้ก็ย่อมได้ ที่จะให้ตัดในการเงินออก คือหมายความว่าให้อ่านว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นนีติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่เหมือนนีติบุคคล ยอมตัดในการเงินออก…กรรมาธิการได้ปรึกษากันแล้วและยอมแก้ ดังนี้ได้ในวรรคหลังสุดท้ายขอให้เป็นว่า ในส่วนการเงินนั้น หากจะได้มีรายได้ต่างๆ ดังนี้”

 

ต่อมานายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เสนอให้ตัดข้อความว่า “มีสิทธิและหน้าที่เหมือนนีติบุคคลทั้งหลาย” ออกไปด้วยเหตุว่าเป็นนิติบุคคลแล้วย่อมทราบว่ามีหน้าที่และสิทธิใดบ้างโดยมีหลวงวิจิตรวาทการสนับสนุนการอภิปรายของนายเลียงอีกหนึ่งเสียง

ในการแปรญัตติมาตรา 7 โดยให้ตัดคำว่า การเงิน และตัดคำว่า มหาวิทยาลัยนี้ “เป็นนีติบุคคลแล้วก็ย่อมมีสิทธิเหมือนบุคคลทั้งหลาย” ออกไปจากการเสนอของนายทองอินทร์ นายเลียง และหลวงวิจิตรวาทการนั้นจบลงด้วยการประนีประนอมของนายปรีดี ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งกล่าวว่า

 

“ความจริงเป็นนีติบุคคลแล้วก็ย่อมมีสิทธิเหมือนบุคคลทั้งหลายเป็นลำดับ การที่ได้ยอมให้ตัดในเรื่องการเงินออกก็โดยเหตุที่ว่าทิ้งความเดิมไว้ก็คงชัดขึ้น และกรรมาธิการไม่ขัดข้องอย่างไร และผู้ที่ขอแปรญัตติเดิมก็ไม่ติดใจต่อไป ในการที่จะให้ตัดความในวรรคนี้ทั้งหมดแล้วกรรมาธิการนี้ก็ไม่ขัดข้อง”[3]

 

ถัดมาในประเด็นที่ 2 เป็นการอภิปรายเรื่องการขอเพิ่มเติมวิชาตรรกวิทยา และภาษาไทย โดยนายทองอินทร์ เสนอว่า ขอให้เพิ่มวิชาตรรกวิทยาภาษาไทยในมาตรา 26[4] และคณะกรรมาธิการเห็นว่าควรปล่อยให้มหาวิทยาลัยวินิจฉัยเพิ่มเองในประเด็นนี้ได้มีการอภิปรายโต้ตอบกันระหว่างนายทองอินทร์ และนายปรีดี ดังนี้

นายทองอินทร์เสนอว่า

 

“ที่ข้าพเจ้าขอเติมวิชาเช่นนี้ในปริญญาตรีก็เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าจะชี้แจ้งให้ฟัง

ข้าพเจ้าเป็นครูมา ๗ ปี ได้ศึกษาวิชาในทางตรรกวิทยามา ตรรกวิทยาเป็นวิชาสำคัญที่ทำให้ภาษาเป็นภาษาขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีปริญญาในทางธรรมศาสตร์และการเมือง อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีความรู้ทางตรรกวิทยา ซึ่งจะทำให้ภาษาดีขึ้น แต่อย่างไรเมื่อมีข้อเช่นนี้ข้าพเจ้าขอถอน ทีนี้เหลือที่ข้องใจอยู่ฉะเพาะภาษาไทย ข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นว่าในพระราชบัญญัติฉะบับนี้ เราจะให้ผู้ที่มีความรู้ธรรมดาสามัญทั่วไป คือผู้ที่ศึกษามัธยมจะต้องไปเรียนวิชาครู ภาษาไทยยังไม่ดีเลยส่วนมาก…

เพราะฉะนั้นมัธยม ๘ ส่วนมากต้องมีความรู้ดีในทางภาษาไทยทีนี้ผู้ที่ศึกษาถึงชั้นปริญญา ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามีเพียงเวชบัณฑิตเท่านั้น การศึกษาอย่างอื่นๆ มีแต่เพียงประกาศนียบัตร์ เราจะไม่บรรจุภาษาไทยลงไปเสียเลย จะทำให้ผู้ที่ได้รับปริญญานั้นมีความรู้กะร่องกะแร่ง …อย่างน้อยที่สุด ควรจะให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาในทางปริญญาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ศึกษาภาษาไทยเป็นอย่างดี ที่จะมาขัดข้องว่าเป็นวิชาอื่นๆ ซึ่งจะมิให้เพิ่มเติมนั้นเป็นคำกำกวม ระเบียบในพระราชบัญญัตินี้เป็นไปไม่ได้

…การที่กรรมาธิการแก้ว่าจะขอให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะกำหนดเพิ่มเติมนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ข้าพเจ้าต้องให้เป็นลักษณะบังคับ ต้องการให้คนเรียนภาษาไทย ซึ่งเป็นรากเหง้าของภาษาของเราด้วย”

 

นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวตอบนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ในประเด็นเรื่องวิชาตรรกวิทยาและภาษาไทย
นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวตอบนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ในประเด็นเรื่องวิชาตรรกวิทยาและภาษาไทย

 

นายปรีดีกล่าวตอบว่า

 

“ในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการได้ระลึกถึงเหมือนกันแต่ว่าการที่จะให้มีภาษาไทยดีนั้น เราได้คิดว่าควรจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงธรรมการที่จะแก้ไขหลักสูตร์ภาษาไทยที่จะสอนให้ชั้น ๘ ให้ดี

อีกประการหนึ่ง ถ้าหาว่าเรานำภาษาไทยมาใส่ไว้ในมาตรา ๒๖ ด้วยแล้ว ก็จะทำให้เขาเห็นไปได้ในนานาประเทศ เขาจะทรีตว่าเราต้องมาเรียนภาษาไทยกันใหม่อีกในมหาวิทยาลัย คือแทนผู้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมตัวในการที่มาเสียก่อนแล้ว ก็ยังจะต้องมาเรียนในนี้อีก จะทำให้ชื่อเสียงแห่งปริญญาของเรานั้นลดน้อยไป

อีกประการหนึ่งในการสอบไล่ก็ดี ต้องอาศัยภาษาไทย ผู้ใดอ่อนในทางภาษาไทยก็ต้องศึกษาในเรื่องเหตุผล ในเรื่องส่วนตัวของเขา นอกจากนั้นมีการเรียนเป็นพิเศษแก่ผู้ที่มีความรู้อ่อนในทางนี้ได้ จึงเห็นว่าไม่ควรใส่ไว้ในหลักการ แต่มิใช่ค้านความเห็นของท่านสมาชิก เห็นว่าผู้ที่ศึกษานี้ต้องรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี แต่การที่ไม่ใส่ไปในนั้นให้เป็นวิธีการก็แล้วกัน งามกว่าที่จะใส่ลงไปในนั้น”

 

นายทองอินทร์กล่าวภายหลังจากฟังเหตุผลของนายปรีดีว่า “เป็นอันว่ายอมพอใจแล้ว”[5]

ประเด็นที่ 3 ในการอภิปรายครั้งนี้คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะมีผลต่อสถานะและความมั่นคงของนักเรียนนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์อย่างไร จำต้องยกเลิกสาขาใดหรือไม่

นายดาบ เทียม ศรีพิสิฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม กล่าวถามไว้ว่า

 

“ก่อนที่จะลงมติรับหลักการวาระที่ ๓ ข้าพเจ้าใคร่ขอถามรัฐบาลต่อไปว่า สำหรับภาวะของนักเรียนนิติศาสตร์ และรัฐศสาตร์จะมีภาวะฐานะมั่นคงอย่างเดิมหรือจะเลิกล้มอย่างไรบ้าง ในข้อนี้ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะซึมทราบดีนัก”

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้นายปรีดีตอบคำถามนี้โดยกล่าวตอบจนเป็นที่พอใจในที่สุดว่า

 

“สำหรับฐานะของนักเรียนทั้ง ๒ ประเภทที่ยังคงอยู่ในเวลานี้ก็จะได้ โอนมายังมหาวิทยาลัยใหม่ ส่วนฐานะที่มีอยู่แล้วแต่เดิม เช่นนักเรียนรัฐศาสตร์เวลานี้ถ้าประสงค์จะได้ปริญญาต่อไป เมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยนี้แล้ว ที่เราวางหลักลงไปไว้ส่วนผู้นั้นควรจะรับราชการอย่างไร เพราะเหตุว่าผู้ที่เรียนเสร็จแล้วตามเดิมรัฐบาลก็หางานให้

ต่อไปเราถือหลักอีกอย่างหนึ่ง คือถือว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็นตลาดวิชา ผู้ที่สอบไล่ได้แล้วก็ต้องสอบแข่งขันอีกสำหรับหัวข้อนี้ต้องไปพิจารณาในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนว่าผู้ที่เข้าเรียนอยู่ในเวลานี้และจะเข้ารับราชการ เราจะควรทำอย่างไรโดยไม่ให้เขาเสียประโยชน์ไปได้ ข้อนี้เราได้ระวังและรักษาความยุติธรรมอย่างยิ่ง”

 

ช่วงท้ายของการประชุมสภาฯ ทางนายปรีดีได้สรุปขั้นตอนของการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ และหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ไว้ด้วยว่า

 

“กรรมาธิการนั้นมีหน้าที่ทางทำหน้าที่ตรวจชำระพระราชบัญญัติเท่านั้น ต่อไปเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยที่จะปฏิบัติ และกรรมาธิการในฐานส่วนตัวก็ยินดีจะไปชี้แจงให้ความเห็นได้ แต่เป็นการคนละหน้าที่ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการนี้”

 

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 จะถูกเสนอขึ้นโดยนายปรีดี แต่ในขั้นตอนก่อนการประกาศใช้ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมฯ ตามระเบียบของรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งในการประชุมฯ ครั้งที่สองนี้มีการทักท้วงรวมถึงอภิปราย ทั้งเห็นพ้องและเห็นต่างในหลายประการจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายปรีดีผู้เสนอร่างฯ ก็ยอมตามการอภิปรายในระบบรัฐสภา อาทิ ประเด็นบัญญัติของมาตรา 17[6] เรื่องเลขาธิการของมหาวิทยาลัยไว้ไม่ชัดเจนเช่นที่นายทองอินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวทักถามไว้ดังนี้

 

“ตามที่คณะกรรมาธิการได้รายงานมาตามหน้า ๓ ข้อ ๗ คำว่าเลขาธิการของมหาวิทยาลัยขอแถลงว่า การตั้งนั้นมีระบุไว้ในมาตรา ๑๘ อนุมาตรา ๖ ส่วนหน้าที่นั้นมีกล่าวไว้ในมาตรา ๑๗ เมื่อดูมาตรา ๑๗ อนุมาตรา ๑ และ ๑๗ และคำว่า ผู้ประศาสน์มหาวิทยาลัยยังมีเลขาธิการนายหนึ่งเป็นผู้ช่วยในฝ่ายธุระการ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามสมควร

ข้อนี้คำว่าผู้ประศาสน์การมีเลขาธิการ ๒ นายเป็นผู้ช่วยฝ่ายธุระการเช่นนี้ เมื่อเราอ่านตามตัวหนังสือเราก็เห็นว่าคำว่าเลขาธิการคนนี้เป็นเลขาธิการของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนมาตรา ๑๘ อนุมาตรา ๖ คำว่าการแต่งตั้งเอาออกตามระเบียบนั้นที่ว่าเป็นการตั้งนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยที่จะมีหน้าที่ตั้งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านความในพระราชบัญญัตินี้ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงเป็นเข้าอยู่ในมาตรา ๑๗ มีแต่เพียงว่าผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจะต้องมีเลขาธิการนายหนึ่งเป็นผู้ช่วยในฝ่ายธุระการ คำนี้เมื่อเรามาใส่ลงในที่นี้แล้ว เราไม่มีวรรคตอนเช่นนั้นจึงทำให้เรื่องเข้าใจความโดยสำคัญทั่วๆ ไป ว่าเลขาธิการนายหนึ่งนั้นเป็นเลขาธิการของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ถ้ากรรมาธิการไม่ยอมเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยขอแต่เติมความในมาตรา ๑๗ ให้ชัดเจน”

 

นายปรีดีกล่าวตอบนายทองอินทร์ว่า “ยอม” และนายทองอินทร์ กล่าวสรุปว่า “คงอ่านเป็นว่า มหาวิทยาลัยมีเลขาธิการนายหนึ่งเป็นอันขอถอนทั้งหมดนอกนั้น”[7]

ในที่สุดพระยาเทพหัสดิน ทำการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงขอให้ลงมติครั้งที่ 3[8] ว่าท่านผู้ใดเห็นว่าการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 นี้ควรออกเป็นกฎหมายบังคับได้ให้ยกมือขึ้น และมีสมาชิกยกมือรับรองกันอย่างพร้อมเพรียง[9] จึงนำไปสู่การประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2476

 

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476

 

นายปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2470
นายปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2470

 

การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น จะกระทำโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และคณบดีของคณะต่างๆ[10] ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 นายปรีดีจึงได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[11]

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรก และได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2480
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรก
และได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2480

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ดำเนินงานเป็นตลาดวิชาตามหลักการของนายปรีดีที่กล่าวไว้นับตั้งแต่ในการประชุมฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ โดยปีแรกที่เปิดทำการนั้นมีผู้มาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถึง 7,094 คน หนึ่งในนักศึกษารุ่นแรกที่สังคมไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

ข้อสังเกตเรื่องพื้นที่ : ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477

 

ที่ดินบริเวณโรงทหาร กรมทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ก่อนที่โอนมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่ดินบริเวณโรงทหาร กรมทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์
ก่อนที่โอนมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

พื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น มีเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยและความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจะทราบว่าเดิมเป็นที่ดินของโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 เพราะหากถอยย้อนไปไกลกว่านั้นอีกบริเวณนี้คือ เขตพื้นที่ของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น การจะก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นจึงต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว

ทั้งนี้การดำเนินการขอกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต้องดำเนินตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477 ซึ่งมีการประชุมฯ ขึ้นในวันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มีเนื้อความเบื้องต้นว่า

 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรจะโอนกรรมสิทธิที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อขยายสถานศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนั้นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรดั่งต่อไปนี้”

 

ในการประชุมฯ ได้มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหน่วยงานที่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีเนื้อความที่ส่อแววว่าจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินล่าช้าโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามว่า

 

“ข้าพเจ้าสงสัยที่กำหนดให้กระทรวงคลังเป็นเจ้าหน้าที่โอน ถ้าว่าโดยหลักแล้วก็น่าจะให้กระทรวงกลาโหมโอนแก่มหาวิทยาลัย คือต้องบัญญัติให้ผู้โอนและผู้รับโอนนั้นประการหนึ่ง

กับอีกประการหนึ่งตามมาตรา 4 นี้ ตามพระราชบัญญัติโอนคลองสาธารณประโยชน์ หรือพระราชบัญญัติโอนที่แถวนี้ เรากำหนดเวลาไว้คือ พระราชบัญญัติ ๑ กำหนดไว้โดยมิชักช้า แต่พระราชบัญญัติอันหลังนี้ว่า ภายในเวลาอันควร มี ๒ อัน ทีนี้ถ้าเราจะทิ้งอันนี้ไว้ มิชักช้า หรือกำหนดเวลาอันสมควรนั้น จะไม่สมควร ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลเอาอันหนึ่งอันใดเพิ่มเติม”

 

ต่อประเด็นนี้ทางพระยามานวราชเสวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอบว่า

 

“ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ที่ดินทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกระทรวงกลาโหมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ในการที่ให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าหน้าที่โอนนั้น ก็ชอบอยู่แล้ว ส่วนที่จะทำให้ชักช้าหรือไม่ชักช้านั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ไม่ชักช้า ไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะเป็นระเบียบการภายในมากกว่าอื่น

แต่เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้เงินไปเสร็จสิ้นแล้ว ก็คงจะพยายามโอนให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้คงไว้ตามนี้”

 

และได้มีการลงมติให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยกมือรับรองโดยพร้อมเพรียงกัน[12]

 

ตึกโดมที่ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์
ตึกโดมที่ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มองจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มองจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ในทางมรดกภูมิปัญญาจะพบว่ารายวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ได้จัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายผนวกกับวิชาการเมืองการปกครอง อาทิ วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชากฎหมายการเลือกตั้งซึ่งเนื้อหาจะเรียนทั้งเรื่องกฎหมายและเรื่องรัฐ ทฤษฎีการเมือง อำนาจอธิปไตย ลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิเผด็จการอันขัดต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และประวัติการปกครองตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น[13]

ส่วนในทางความคิดนั้นนายปรีดี ได้กล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ว่า

 

“การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดี ตั้งแต่ชั้นต่ำตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกขั้น”

 

และกล่าวเปรียบเปรยเชิงอุปมาระหว่างมหาวิทยาลัยและบ่อน้ำแห่งปัญญาไว้ว่า

 

“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”

 

กล่าวได้ว่าผลงานบางส่วนของรัฐบาลคณะราษฎรคือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจากแง่มุมความคิด หลักการ และสถาบันการเมืองผ่านข้อถกเถียงในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่แตกต่างจากการเล่าเค้าโครงประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่มีการเขียนไว้จำนวนหนึ่ง[14] รวมทั้งเสนอให้เห็นความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์การเมืองในเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่การค้นคว้าต่อไปในอนาคต

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476, เล่มที่ 50, หน้า 3220-3221.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1007-1026.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ. 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 205-206.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 902.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการเข้าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2477, เล่มที่ 51, หน้า 462-466.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2478, เล่มที่ 52, หน้า 23-26.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 6-7.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1352-1377.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31/2477 (สามัญ) วันอังคารที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 2148-2153.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0601.4.1/9 กล่อง 1. เอกสารกรมที่ดิน เรื่อง คำบรรยายระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทะบวงการเมือง ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง [26 มิ.ย. 2477-18 เม.ย. 2479]

หนังสือภาษาไทย :

  • ชิต เวชประสิทธิ์. สงัด ศรีวณิก, สรุปวิชาธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2481.
  • แลงกาต์, โรแบรต์. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย กฎหมายเอกชน. ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2478.
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477.
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 115 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์. ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.
  • สมาน สุวรรณโชติ. ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก.. กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540.
  • สิงโต ภาสวัสดิ์. ธงชัยของนักศึกษา: เป็นคู่มือผู้ศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีวิธีศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแบบใหม่กับมีคำถามคำตอบธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2476 ประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477.
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. บรรณาธิการ. 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555.
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ. ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (2477-2557). กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557.
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477. ม.ป.ท.: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2477)
  • เอกูต์, เอช.. ธรรมศาสตร์ (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป). ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477.

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • กษิดิศ อนันทนาธร, “บางเรื่องของโรงเรียนกฎหมาย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2565, น. 39-56.
  • ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556, น. 18-64.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับการเมืองไทย : เค้าโครงประวัติศาสตร์ 50 ปี”, วารสารธรรมศาสตร์ 13, 4 (ธ.ค. 2527): 8-33.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 


[2] บทบัญญัติที่ประกาศใช้บังคับตามพระราชบัญญัติฯ ของมาตรา 7 มีข้อความดังนี้ “มาตรา 7 มหาวิทยาลัยนี้ให้เป็นนีติบุคคล ในส่วนการเงินนั้นอาจที่จะมีรายได้ต่างๆ อีกดั่งนี้ (1) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (2) เงินค่าเล่าเรียน ค่าสอบไล่และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย (3) เงินค่าบำรุงของนักเรียนเก่า”

[3] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1353-1358.

[4] บทบัญญัติที่ประกาศใช้บังคับตามพระราชบัญญัติฯ ของมาตรา 26 มีข้อความดังนี้ “มาตรา 26 การศึกษาชั้นปริญญาตรี ผู้ศึกษาจำต้องเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (ธรรมศาสตร์) ธรรมนูญศาลยุตติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายปกครอง กฎหมายอาชญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาชญา กฎหมายลักษณะล้มละลาย พยานและจิตวิทยา ลัทธิเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ กฎหมายการคลัง และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทบวงการเมืองตามที่มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้เลือก และวิชาอื่นซึ่งมหาวิทยาลัยจะกำหนดเพิ่มเติม”

[5] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1362-1365.

[6] บทบัญญัติที่ประกาศใช้บังคับตามพระราชบัญญัติฯ ของมาตรา 17 มีข้อความดังนี้ “มาตรา 17 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยมีเลขาธิการมหาวิทยาลัยนายหนึ่งเป็นผู้ช่วยในฝ่ายธุรการ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการงานตามสมควร”

[7] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1358-1359.

[8] ใช่ว่าการประชุมสภาฯ ครั้งนี้จะราบเรียบปราศจากการโต้แย้ง หากมีปัญหาคุกรุ่น คือการที่หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวโต้แย้งในที่ประชุมเรื่องข้อบังคับข้อ 24 ว่าในการพิจารณาให้ปรึกษาเรียงลำดับมาตราโดยฉะเพาะในเรื่องนี้ทำไมจึงไม่ปรึกษาในมาตราอื่นๆ ด้วย โดยมองว่าการที่สมาชิกแปรญัตติไปหลายญัตติแล้ว ยังไม่ได้นำมาปรึกษาในสภาฯ นั้นเป็นแค่เพียงตกลงกับกรรมาธิการเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงกันในสภาฯ แต่พระยาเทพหัสดิน ชี้ว่า หมายถึงเจ้าของญัตติไม่ได้คัดค้านอะไรในข้อตกลงนั้น หากหลวงวรนิติปรีชายังยืนกรานจะให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ รายมาตราแต่ว่าผิดหลักการของข้อบังคับการประชุมสภาฯ ว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ มาจากกรรมาธิการชุดเดียวได้ และตามข้อตกลงในการประชุมฯ คือให้พิจารณาและอภิปรายในสภาฯ ฉะเพาะมาตราที่การแปรญัตติและยังไม่ตกลง ทั้งนี้ได้มีการส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนการประชุมฯ ราว 1 สัปดาห์ ซึ่งสมาชิกสภาฯ ที่มีข้อโต้แย้งสามารถแจ้งประเด็นเพื่อแปรญัตติได้ล่วงหน้า โดยเหตุการณ์โต้แย้งของหลวงวรนิติปรีชาที่ต้องการให้อ่านร่างพระราชบัญญัติวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 รายมาตราในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้มีการโต้กลับโดยหลวงวิจิตรวาทการ หากชี้แจงและคลี่คลายด้วยการอธิบายของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และนายปรีดี พนมยงค์

[9] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1375-1377.

[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1008-1012.

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 205-206.

[12] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31/2477 (สามัญ) วันอังคารที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 2152-2153.

[13] เอกูต์, เอช., ธรรมศาสตร์ (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป) (ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477)., มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477). และสิงโต ภาสวัสดิ์, ธงชัยของนักศึกษา: เป็นคู่มือผู้ศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีวิธีศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแบบใหม่กับมีคำถามคำตอบธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2476 ประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477).

[14] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับการเมืองไทย : เค้าโครงประวัติศาสตร์ 50 ปี”, วารสารธรรมศาสตร์ 13, 4 (ธ.ค. 2527): 8-33. และสมาน สุวรรณโชติ. ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก.. กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540.