ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์ กับแนวคิดในการสร้างความชอบธรรมในสังคมไทย

19
กรกฎาคม
2563

ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มนุษย์จําต้องมีหลักบางประการสําหรับยึดถือร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่ว่านั้น ก็คือ ความชอบธรรมหรือความยุติธรรม  ถ้าสังคมใดขาดสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สงบสุข บั่นทอนจุดมุ่งหมายของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุข

ในเรื่องนี้ได้มีท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านหนึ่งของไทยปรารถนาจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ ก็คือ “ปรีดี พนมยงค์” 

ท่านปรีดีได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่า “สังคมก็จะดํารงอยู่ได้ก็ด้วยมวลราษฎร ดังนั้นเอง ระบบสังคมที่จะทําให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้า ก็คือ ระบบประชาธิปไตย… คือ หมายถึงระบบที่ประชาชนหรือมวลราษฎรมีอธิปไตย...” 

สังคมที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นจะประกอบด้วย 

ประการที่ 1 บริบททางเศรษฐกิจ คือ ความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม มีเสรีภาพในการประกอบสัมมาอาชีพ 

ประการที่ 2 บริบททางการเมือง ประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการใช้สิทธิออกเสียงแสดงเสรีภาพได้เต็มที่ 

ประการที่ 3 ทรรศนะทางสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม 

ถ้าสังคมใดประกอบด้วยหลัก 3 ประการนี้ และหลักทั้ง 3 ประการนี้สัมพันธ์กันอย่างดีแล้ว สังคมนั้น ๆ ก็จะเป็นสังคมที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ สามารถตอบสนองถึงความต้องการของมนุษย์ในการที่มาดํารงอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างดี 

ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจต้องมีลักษณะที่ว่า “ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจํานวนน้อยที่อาศัยอํานาจผูกขาดทางเศรษฐกิจของสังคม  ราษฎรจะต้องร่วมมือกันผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคให้สมบูรณ์ และแต่ละคนก็ได้ผลตอบแทนตามส่วนที่ตนได้ลงมือกระทํา” ในเรื่องนี้ท่านปรีดีได้เขียนไว้ในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ 

ถ้าในสังคมปราศจากระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่ว่าคนส่วนน้อยที่กุมอํานาจเศรษฐกิจอยู่ในมือมีโอกาสที่ดีกว่าในการใช้สิทธิทางการเมืองทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดความอยุติธรรมขึ้นในสังคม กล่าวคือ สมาชิกในสังคมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ อันเป็นการขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยซึ่งส่งผลกระทบต่อประการสุดท้ายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือ ทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย 

ทรรศนะทางสังคมเป็นตัวผลักดันและวางแนวทางการเคลื่อนไหวความเป็นไปทางสังคม ถ้าทรรศนะทางสังคมสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและการเมือง สังคมนั้นก็จะสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างดีเลิศ 

นอกจากนี้ท่านปรีดีได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศใดปกครองโดยระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์เพียงใด พลเมืองของประเทศนั้นก็ได้รับสิทธิแห่งมนุษยชนสมบูรณ์เพียงนั้น” 

ซึ่งท่านได้เสนอ “หลักกฎหมายทั่วไป” ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายปกครอง คือ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนดังระบุว่า “มนุษย์ซึ่งเกิดมาย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะดํารงชีวิตและรวบรวมกันอยู่ได้เป็นหมู่คณะและสิทธิหน้าที่เหล่านี้ ย่อมมีขึ้นจากสภาพตามธรรมดาแห่งการเป็นมนุษย์นั้นเอง” ซึ่งอาจจําแนกออกเป็น 3 ประการคือ ประการที่ 1 ความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ  ประการที่ 2 ความเสมอภาคหรือสมภาพ  ประการที่ 3 ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้องหรือภราดรภาพ 

อย่างไรก็ตามในการที่สังคมแต่ละสังคมจะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้นั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกของสังคมนั้น ๆ จะต้องมีความรู้ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ สามารถทําให้ประชาธิปไตยในสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง ดังนั้นท่านปรีดีจึงได้ริเริ่มที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเพื่อตอบสนองหลักประการที่ 6 ตามประกาศคณะราษฎรที่ว่า “ต้องการให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร” และยังเป็นการให้เสรีภาพทางการศึกษามากขึ้นด้วย

ปรีดีกับการศึกษา

“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ําบําบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจําเป็นในข้อนี้จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น 

“ในปัจจุบันนี้ประเทศสยามมีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่จะปรับระดับการศึกษาของราษฎรให้ถึงขนาดเหมาะแก่กาลสมัย ถ้าระดับการศึกษายังไม่เจริญถึงขนาดตราบใด ความก้าวหน้าของประเทศก็ยังจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอีกนาน  ยิ่งในสมัยที่ประเทศของเราดําเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว เป็นการจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสําหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เปิดโอกาสให้แก่พลเมืองที่จะใช้เสรีภาพในการศึกษากว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป” 

ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 

ยิ่งไปกว่านั้นท่านปรีดีได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยถ้าจะกล่าวกันโดยทั่วไปก็เปรียบประดุจตลาดวิชา ซึ่งควรจะแยกหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคือ ก.พ. มีหน้าที่สอบแข่งขันผู้จะเข้ารับราชการ มหาวิทยาลัยเป็นผู้เพาะวิชาให้แก่ผู้จะเข้าแข่งขันนั้น ๆ” 

และท่านได้เสนอว่า ประเทศของเราจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้ดีขึ้น สําหรับในระดับอุดมศึกษาควรคํานึงถึงฐานะของคนไทยเป็นใหญ่และในการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกันท่านก็ได้กล่าวไว้อีกว่า “ในการศึกษาขั้นอุดมถ้าหากเราจะเก็บอัตราค่าธรรมเนียมแพงเกินไปก็ดูกระไรอยู่ เพราะตามที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้นคนไทยไม่ร่ำรวยอะไรเลย ถ้าเปิดให้เล่าเรียนเปล่า ๆ เราก็ทําไม่ได้ เพราะรายได้ของประเทศเรายังน้อยอยู่” 

ดังนั้น ภายหลังเมื่อท่านได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นจึงได้กําหนดค่าเล่าเรียนที่ถูกมากเพียงปีการศึกษาละ 20 บาทเท่านั้น ทําให้คนส่วนมากสามารถเข้ามาเรียนได้ซึ่งสอดคล้องกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย 

สําหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์นั้นมหาวิทยาลัยผลิตมาเพื่อรับใช้สังคมเป็นหลักพัฒนาบ้านเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้าให้สมกับความมุ่งหวังของท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

ปรีดีกับแนวคิดทางการเมือง 

ความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองและพัฒนาการเมืองไทยของท่านปรีดีนั้นได้เริ่มตั้งแต่ท่านยังศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยท่านได้ร่วมกับนักศึกษาที่นั้นก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น และในเวลาต่อมาท่านปรีดีและคณะราษฎรได้ร่วมมือกระทําการยึดอํานาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย 

โดยมีเจตจํานงดังที่ท่านระบุไว้ว่า “การบํารุงความสุขของราษฎรนี้เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบเปลือกนอกเท่านั้น” 

จากคํากล่าวข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยของท่านปรีดีเองซึ่งมีส่วนสําคัญยิ่งในการวางรากฐานความคิดประชาธิปไตยให้สังคมไทยมาแต่แรกเริ่ม 

นอกจากนั้นท่านปรีดีก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีแนวความคิดในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งท่านเคยอธิบายไว้ในคําอธิบายกฎหมายปกครองว่า สามารถจําแนกออกเป็น 3 ประการ คือ ประการที่ 1 ความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ  ประการที่ 2 ความเสมอภาคหรือสมภาพ  ประการที่ 3 ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้องหรือภราดรภาพ 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านปรีดีได้พยายามที่จะผลักดันความคิดนี้ให้ก่อกําเนิดในสังคมเพื่อที่จะได้เป็นหลักที่ควบคู่ไปกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากหลักข้อที่ 4, 5 ในคําประกาศของคณะราษฎร์ซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้ 

“หลักข้อที่ 4 ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน” 

“หลักข้อที่ 5 ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ” 

จากคําประกาศของคณะราษฎรดังกล่าว ท่านปรีดีมีความมุ่งมั่นที่จะนําหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติให้บรรลุผลเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในสังคมมากขึ้น ดังเช่นในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคในการศึกษา รวมถึงร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎรซึ่งอยู่บนพื้นของความมีเสรีภาพเสมอภาคทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนั้นท่านปรีดีมีบทบาททางการเมืองที่สําคัญ คือ เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ ซึ่งท่านปรีดีได้เคยกล่าวไว้เพื่อแสดงถึงเจตนาอันบริสุทธิ์และวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทยว่า “เราทั้งหลายได้ถือหลักคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งหวังทําหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ” 

ภายหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะขบวนการเสรีไทยที่ท่านปรีดีก่อตั้งขึ้นทําให้ประเทศไทยไม่เป็นประเทศผู้แพ้สงครามและรอดพ้นจากการสูญเสียเอกราชตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอํานาจไปได้ซึ่งคุณงามความดีของ ท่านไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการกอบกู้เอกราชของพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินเลย 

จุดสูงสุดของตําแหน่งหน้าที่ของท่านปรีดี คือ การดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งทําให้ท่านได้นําแนวคิดต่าง ๆ ไปบริหารประเทศ แต่ท่านปรีดีก็ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมระยะเวลาแล้วได้เพียงประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีจากปฏิปักษ์ทางการเมืองของท่าน โดยเฉพาะกรณีสวรรคตซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้ท่านต้องยุติบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมาไม่นานและต้องเดินทางออกนอกประเทศ ระเห็จระเหเร่ร่อนจากบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักยิ่งของท่านตลอดไป

ปรีดีกับแนวคิดทางเศรษฐกิจ 

เมื่อจะกล่าวถึงแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจของท่านปรีดี เราจําเป็นต้องย้อนกลับไปมองถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงก่อนทําการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 2475  ประชาชนอดอยากยากจน ซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้ท่านปรีดีเปลี่ยนแปลงการปกครองและอภิวัฒน์เศรษฐกิจขึ้นใหม่ ดังที่ท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ” ดังนั้น ท่านจึงให้ความสําคัญของเศรษฐกิจที่ต้องดําเนินไปควบคู่กับการเมืองระบอบประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ 

จากหลักข้อที่ 3 ในคําประกาศของคณะราษฎร “ต้องบํารุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จัดหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” 

ปัจจัยสําคัญที่จะทําให้บรรลุเป้าหมายข้อนี้ได้จึงอยู่ที่การอภิวัฒน์เศรษฐกิจเสียใหม่ ซึ่งคณะราษฎรมีมติให้ท่านปรีดีเป็นผู้ร่าง มีสาระสําคัญ คือ การให้ราษฎรทุกคนได้รับหลักประกันในการดํารงอยู่จากรัฐบาลโดยร่วมกันทํางานในลักษณะสหกรณ์ 

ความคิดพื้นฐานของเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งท่านปรีดีกล่าวไว้ว่า “โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมิวนิสต์ เรามีทั้งแคปิตัลลิสม์และโซเซียลลิสม์รวมกัน เค้าโครงเศรษฐกิจนี้แตกต่างจากลิเบราลิสม์ ซึ่งเน้นเสรีภาพในการประกอบอาชีพโดยไม่ให้รัฐเข้าแทรกแซง เพราะข้อเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ การที่รัฐจัดการเศรษฐกิจเองโดยราษฎรทุกคนเป็นข้าราชการ แต่ข้อเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจก็ไม่ได้เป็นแบบโซเชียลลิสม์อย่างแท้ ๆ เพราะเหตุว่าเค้าโครงเศรษฐกิจยังยอมรับทรัพย์สินส่วนบุคคลอยู่ ดังระบุไว้ในมาตรา 14 ว่า “ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายซึ่งเอกชนหามาได้” ซึ่งถ้าเป็นโซเชียลลิสม์อย่างแท้ ๆ จะไม่ยอมรับหลักการข้อนี้” 

ถ้ามองจากหลักการในเค้าโครงเศรษฐกิจที่ท่านปรีดีเป็นผู้ร่างก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จุดมุ่งหมายของเค้าโครงเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจและเสรีภาพ ดังที่ท่านเคยระบุไว้ว่า “รัฐบาลไม่ตัดเสรีภาพในการอื่น ๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกาย ในเคหสถาน ในการพูดการศึกษาอบรม ในการสมาคม” 

แต่จากผลพวงของเค้าโครงเศรษฐกิจที่เน้นในเรื่องความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจเป็นเหตุสําคัญที่ทําให้ท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเปรียบเสมือนมลทินที่ติดตัวท่านไปอย่างไม่ลืมเลือน เป็นเหตุให้สะเทือนใจอย่างยิ่งสําหรับท่านปรีดี พนมยงค์ 

ในช่วงชีวิต 83 ปีของท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านได้เพียรสร้างคุณงาม ความดีเสมอมา เพียรสร้างความชอบธรรมให้บังเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยท่านมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางการเมืองหรือคําเยินยอสรรเสริญใด ๆ ดังจะเห็นได้จากคํากล่าวของท่านต่อเพื่อนเสรีไทยทั้งหลายว่า “ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าครั้งนี้ถือว่า ทําหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่า เป็นผู้กู้ชาติ” และยังแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ในบางครั้งจะถูกตอบแทนด้วยการกล่าวร้ายป้ายสีและความเจ็บช้ำน้ำใจเป็นที่สุดแต่สําหรับรัฐบุรุษอาวุโส ท่านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อการกระทําความดีซึ่งสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะนําไปประพฤติปฏิบัติเอาเป็นแบบอย่าง 

และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านปรีดีก็ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ของคนที่เคารพเลื่อมใสในตัวท่านจํานวนมากมาย แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจถูกลบเลือนไปกับกาลเวลา ก็คือ คุณงามความดี ที่ท่านได้หมั่นเพียรสร้างมาตลอดชั่วชีวิตซึ่งคงฝังแน่นอยู่ในหัวใจของลูกโดม และประชาชนคนไทยตลอดไป 

 

เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือวัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2537, น. 95-101.