“รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
“เพาะความเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ”
“ปกป้องรัฐธรรมนูญ”
การศึกษาเรื่องงานฉลองรัฐธรรมนูญของสยาม ที่ผ่านมามีหลายแง่มุม ทั้งด้านสถาปัตยกรรม[1] ด้านสัญลักษณ์ทางการเมือง[2] ด้านเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบใหม่[3] ด้านการเมืองของความทรงจำและสำนึกของพลเมือง[4] และด้านการเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ[5] รวมถึงการศึกษาเรื่องนางสาวสยามกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ[6] แต่ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรก่อนที่จะจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น และยังไม่มีการเสนอภาพของงานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 8 ในมุมทางสังคมมากนักว่ามีที่มาที่ไป มีจุดตั้งต้นความคิด และแง่มุมอันละเอียดอ่อนด้านความประนีประนอมกับเครือข่ายทางการเมืองใหม่อย่างไร บทความนี้ขอนำเสนอแง่มุมเล็กๆ ที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและงานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 8 ดังนี้
แนวคิดของคณะราษฎรในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญช่วงทศวรรษแรก
กำเนิดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อคณะรัฐมนตรีจัดตั้ง “กรรมาธิการจัดการฉลองในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475[7] เพื่อดำเนินงานและมอบหมายทางนโยบายภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จึงเกิดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสยามขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ในระยะแรกนี้เป็นการกำหนดองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบพระราชพิธี กิจกรรมภายในงาน และกำหนดเป็นวันสำคัญขึ้น[8]ให้มีในช่วง พ.ศ. 2475-2483 จึงมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทั้งวันที่ 27 มิถุนายน และวันที่ 10 ธันวาคม เนื่องจากคณะราษฎรให้ความสำคัญกับทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หลังจากผ่านปีแรกของการมีรัฐธรรมนูญและงานเฉลิมฉลองที่ตื่นตาทั่วทั้งพระนครและต่างจังหวัดแล้วในปีถัดมาทางคณะราษฎรได้เริ่มมีการอธิบายแนวคิดรัฐธรรมนูญในรัฐสภาและเผยแพร่หลักการประชาธิปไตยในงานฉลองรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการของคณะราษฎรออกไปยังคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชน และขยายออกไปยังต่างจังหวัด
“รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” : แนวคิดของพระยาพหลพลพยุหเสนา
ภายหลังจากการรัฐประหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคณะฯ 14 คน[9] เป็นการรัฐประหารทางกฎหมายด้วยพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่โดยราษฎร และจำกัดอำนาจของคณะราษฎรปีกทหารอีกสายในคณะรัฐมนตรีที่มีความขัดแย้งกัน[10] รวมทั้งเพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ขึ้น[11] ส่งผลให้เกิดการรัฐประหาร ครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยคณะราษฎรปีกทหารอีกสาย ได้แก่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ได้ยึดอำนาจการปกครองกลับคืนด้วยเหตุผลว่า ‘คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ’[12] จากการรัฐประหารครั้งแรกทำให้คณะราษฎรสร้างความหมาย อธิบายแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญให้รัดกุม หนักแน่น และวางนโยบายในการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมผ่านงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2476 สมัยวิสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 เป็นการประชุมสภาฯ หลังการยึดอำนาจกลับคืนจากคณะฯ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดย พระยาพหลพลพยุหเสนา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 26 นาย ได้ยื่นคำร้องให้เรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรมาตรา 12 โดยพลัน ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยให้มีประกาศตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ และประกาศให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร[13]
การประชุมฯ นี้ ได้ขออนุญาตให้มีนายทหารเข้ามาอยู่ในที่ประชุมฯ ด้วย เพราะเป็นวันเปิดประชุมใหม่[14] นัยว่าเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีการประชุมฯ เพื่อนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยไม่ลงโทษแต่อะลุ่มอล่วย แค่เพียงประณามและบันทึกให้คนรุ่นหลังรู้ว่ามีการกระทำผิด และเพื่อให้ดำเนินการเปิดประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการได้ ครั้งนี้พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เริ่มต้นอธิบายแนวคิดรัฐธรรมนูญว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และถูกทำให้เสื่อมทรามลงจากการรัฐประหารครั้งแรก[15] ว่า
“...ก่อนอื่นต้องขออภัยท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่นักพูด ข้าพเจ้าเป็นนักรบ เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจไม่เพราะเสนาะโสตของท่านทั้งหลายก็ได้ แต่ขอให้ถือเอาเนื้อความเป็นสำคัญมากกว่า
จำเดิมแต่ข้าพเจ้ามีส่วนเป็นผู้นำ ผู้หนึ่งในอันที่ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีกลายนี้ ตามที่ท่านทั้งหลายทราบอยู่แก่ใจแล้ว จนเราได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเรามีสภาผู้แทนราษฎรประกอบกันในอันที่จะช่วยนำประเทศชาติก้าวหน้าไปสู่สากลอารยะแห่งโลกด้วยที่ครั้งต่อมาเหตุการณ์บางอย่างได้บังเกิดขึ้นในอันที่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมทรามในความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ...”
และแถลงย้ำว่า การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคณะฯ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์[16] ว่า
“ตามที่ท่านสมาชิกทั้งหลายทราบกันอยู่แล้วว่า สภาฯ ได้ถูกปิดจนกระทั่งบัดนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมวิสามัญ เห็นว่าถึงเวลาที่สมควรจะต้องจัดให้มีการประชุมให้เป็นปกติธรรมดา... จึ่งได้ให้คิดร่างพระราชบัญญัติเสนอมานี้ ซึ่งท่านเองได้รับสำเนาไปแล้ว ในร่างนั้นจำต้องกล่าวถึงความผิดของบุคคลแต่ก็เป็นวิถีทางปฏิบัติของนานาประเทศในเมื่อมีผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งศักดิ์แห่งประเทศชาติอันควรเราจะเคารพนับถืออย่างยอดเยี่ยม…”
จากเหตุการณ์การรัฐประหารครั้งแรกนี้ทำให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในช่วงกลาง พ.ศ. 2477 จึงจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองขึ้นแล้วแจกจ่ายไปยังทุกจังหวัดทั่วสยามเพื่อนำเสนอแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองมาเปิดพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ด้วยลักษณะพิธีแบบเคารพบูชาและพิธีการสมโภชฯ ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด เช่นในงานฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์[17]
“ปกป้องรัฐธรรมนูญ” : แนวคิดของหลวงวิจิตรวาทการ
1 เดือนหลังการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พบว่าหลวงวิจิตรวาทการ ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในฝ่ายคณะราษฎรด้วยการดำรงตำแหน่งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา แล้วเริ่มต้นเสนอญัตติการส่งเสริมรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดและป้องกันการละเมิดรัฐธรรมนูญที่ต่อยอดมาจากญัตติของพระยาประมวญวิชาพูล เคยนำเสนอไว้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 15/2476 (สามัญ), วันที่ 24 สิงหาคม 2476[18] และสอดรับกับนโยบายของคณะราษฎร ณ ขณะนั้น ด้วยแนวคิด “ปกป้องรัฐธรรมนูญ” เป็นหลักด้วยการเสนอญัตติในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ไว้ดังนี้
“…ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องที่จะป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องสำคัญและด่วนมาก จำเป็นจะต้องรีบทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ข้าพเจ้าจึงขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องที่จะป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญ ตามญัตติข้อ 2 ของพระยาประมวลวิชาพูล... และให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว[19]
และ
“ควรให้สมาชิกในสภาฯ เป็นผู้ทำ คือไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้คนภายนอกทั้งหมด”
ขณะที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี เสนอว่า ส่วนที่จะให้กรรมาธิการฯเลือกคนภายนอก โดยมุ่งหมายเลือกเอาผู้รอบรู้กฎหมาย[20] เพราะมองว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นมีกฎหมายปนอยู่และเป็นปัญหากฎหมายทางการเมืองจึงควรต้องใช้บุคคลภายนอกผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคณะกรรมาธิการฯ[21] สรุปหลังจากการถกเถียงกันกับ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร แล้ว หลวงวิจิตรวาทการ จึงขอถอนญัตติเดิมและเสนอญัตติใหม่เป็น
“ขอให้สภาฯ จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญ และให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว”[22]
ในเดือนถัดมา ตุลาคม พ.ศ. 2476 หลวงวิจิตรวาทการ ยังได้ตั้งกระทู้ถามว่า จะหาทางทำอย่างไร จึงจะให้รัฐธรรมนูญมั่นคงอยู่ได้ เรื่องนี้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงตั้งคณะกรรมธิการพิจารณา 8 คน ได้แก่
- หลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นประธาน
- พ.อ. พระสิทธิเรืองเดช
- น.ท. หลวงสินธุสงครามชัย ร.น.
- หลวงศิริราชไมตรี
- พระยาศรีเสนา
- พระยาปรีชานุสาสน์
- หลวงวิจิตรวาทการ
- นายเรือเอก สงบ จรูญพร ร.น.[23]
แนวคิดปกป้องรัฐธรรมนูญของหลวงวิจิตรวาทการ และเพื่อการป้องกันรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญตามแนวคิดของพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยต่อมาตราเป็นพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476[24]
“เพาะความเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ”: แนวคิดของปรีดี พนมยงค์
จากการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญ ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 โดยหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 วังปารุสกวัน ตอนเช้าวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพื่อพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการฉลองรัฐธรรมนูญ และยังหารือเรื่อง “การเพาะความเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ” อีก 2 ถัดมา หลวงประดิษฐมนูธรรม ได้รายงานนความเห็นเรื่องการเพาะความเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า
“จะต้องจัดการเผยแพร่เป็นครั้งคราว และเป็นงานประจำ การเผยแพร่เป็นครั้งคราวนั้นในโอกาสที่เปิดสภาผู้แทนราษฎร และเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งจะตกราวในวันที่ 10 ธันวาคม ศกนี้ ควรมีมหกรรมเพื่อเป็นการเร้าใจให้ราษฎรระลึกถึงรัฐธรรมนูญ บัดนี้ เวลาก็กระชั้นเข้ามาแล้ว จะต้องรีบดำเนินการ ถ้าคณะกรรมาธิการเห็นชอบด้วยขอให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นเพื่อดำเนินการ...”[25]
หลังจากการตั้งคณะกรรมาธิการ 2 ชุด ขึ้นสำหรับการจัดงานมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2476 แล้ว ก็ได้เกิดกบฏบวรเดช หรือคณะกู้บ้านกู้เมืองขึ้น หากหลังจากรัฐบาลฯ ได้ปราบปรามสำเร็จ ได้ส่งผลให้งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 จัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และมีช่วงวันจัดงานยาวนานที่สุดคือตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จนถึง 12 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ราว 15 วัน
งานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 8 : ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ[26]
งานฉลองรัฐธรรมนูญสมัยรัชกาลที่ 8 ที่เป็นจุดตั้งต้นใหม่ของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ[27] มีการตั้งคณะกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ขึ้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ในรายนาม 6 ท่าน นั้นมีหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) เป็นประธานกรรมการ ได้แสดงให้เห็นบทบาทและเครือข่ายใหม่ๆ ระหว่างคณะราษฎรปีกทหาร สายปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรปีกพลเรือน[28] และกลุ่มอนุรักษนิยม ผสานกับบทบาทของชนชั้นนำโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเสด็จสามล้อพร้อมกับสมเด็จพระพี่นางฯ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญดังเช่นในสมัยรัชกาลที่ 7
ในสมัยนี้ ความหมายของรัฐธรรมนูญสอดรับกับจุดตั้งต้นใหม่ของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่สะท้อนความประนีประนอม และการสร้างเครือข่ายใหม่ในระยะเปลี่ยนผ่านรัชกาล กล่าวคือ รัฐธรรมนูญนอกจากจะ “เปนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิพลเมือง และอำนวยประโยชน์ และความสุขแก่ชาวประชาทุกหมู่ทุกเหล่า เปนกฎหมายที่ทำให้การปกครองเปนหลักฐานแน่นอน ได้ระเบียบเรียบร้อยดำเนินไปสู่ความเจริญ... และเปนกฎหมายรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเปนที่รักยิ่งของชาวเราให้เปนปึกแผ่นมั่นคง ชาวเราทุกคนต้องเทิดรัฐธรรมนูญไว้ ด้วยไม่นิยมการปกครองประเทศโดยวิธีอื่น...”[29]
และในยุคนี้ยังเสนอแนวคิดรัฐธรรมนูญกับความเสมอภาคของมนุษย์ หรือภาษาในปัจจุบันที่ยังมีการถกเถียงเรื่องคนเท่ากัน โดยชี้ว่า
“เมื่อชาวเราทุกคนรักรัฐธรรมนูญด้วยน้ำใสใจจริงแล้วก็นับว่าเปนผู้เสมอกัน โดยความประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางความคิดความเห็น...”
และน่าประหลาดใจว่า บทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2481 นี้ เสนอแนวคิดเรื่องความเสมอกันในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญจะทำให้ประชาชนกลมเลียว เปนน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่แตกร้าวกันนั้น สอดคล้องกับ แนวคิดระบอบประชาธิปไตย พรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์ ที่เสนอไว้ในสุนทรพจน์ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เนื่องในวาระการประชุมสภาฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ ใหม่รายการงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำ พ.ศ. 2481 นี้ ตามลักษณะของงานได้จัดรวมไว้ 2 ประเภทคือ เป็นงานพิธีกับเป็นงานรื่นเริง แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือในปีนี้ มีงานประเภทส่งเสริมความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญมากกว่าปีก่อนๆ รวมทั้งมีการให้ส่งเรียงความเรื่องรัฐธรรมนูญของระดับมัธยมและอุดมศึกษาเข้าประกวด[30] เพื่อเผยแพร่ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญอีกด้วย ในส่วนของงานพิธีนั้น ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2481 เวลา 15 นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมายังกองอำนวยการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พระราชอุทยานสราญรมย์ เพื่อทรงเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้มีรถม้าหลวง 2 คัน ได้เชิญรัฐธรรมนูญโดยเป็นของสมาคมรัฐธรรมนูญไปยังถนนราชดำเนิน ถนนพระจันทร์ จนถึงท้องสนามหลวง[31]
งานฉลองรัฐธรรมนูญในทศวรรษแรก ระหว่าง พ.ศ. 2475-2481 เป็นงานเฉลิมฉลองที่มีจุดตั้งต้นมาจากการเผยแพร่แนวคิดรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ผสานเครือข่ายทางการเมือง และผนวกงานรื่นเริงในหน้าหนาวเข้ามาเป็นจุดดึงดูดอย่างแยบคายและเร้าใจให้ประชาชนสนใจอย่างแยบยล
บรรณานุกรม
- หนังสือพิมพ์ประชาชาติ, “ประชาชาติ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2525 วันที่ 10 ธันวาคม 2481”, D-Library | National Library of Thailand, accessed December 22, 2021, http://164.115.27.97/digital/items/show/13109.
- หนังสือชาตรี ประกิตนนทการ. (2548). คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ". กรุงเทพฯ: มติชน.
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2550). “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร—กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- ปรีดี พนมยงค์. (2535). แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.
- ปรีดี หงษ์สต้น. (2562). สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ. กรุงเทพฯ: มติชน.
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560, มกราคม). งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38, ฉบับที่ 3, น. 92-123.
- ศราวุฒิ วิสาพรม. (2557, กรกฎาคม). การเมืองช่วงรุ่งอรุณแห่ง “ระบอบประชาธิปไตย” กับชีวิตประจำวันประชาชน. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35, ฉบับที่ 9, น. 68-95.
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2562). ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน.
เอกสารชั้นต้น
- พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 (1 เมษายน 2476): 1-4.
- คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 เล่มที่ 50 (1 เมษายน 2476): 7-9.
- พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 (2 เมษายน 2476): 10-12.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2476 (วิสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-36.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 148-177.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 411-430.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 431-448.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 579-618.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 634-638.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 759-782.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพุธที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 783-794.
[1] ชาตรี ประกิตนนทการ. (2548). คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ". กรุงเทพฯ: มติชน.
[2] ศราวุฒิ วิสาพรม. (2557, กรกฎาคม). การเมืองช่วงรุ่งอรุณแห่ง “ระบอบประชาธิปไตย” กับชีวิตประจำวันประชาชน. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35, ฉบับที่ 9, น. 68-95.
[3] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560, มกราคม). งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38, ฉบับที่ 3, น. 92-123.
[4] ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2562). ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน.
[5] ปรีดี หงษ์สต้น. (2562). สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ. กรุงเทพฯ: มติชน. น. 76-102.
[6] สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. (2531). การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[7] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (3) สร. 0201.66.1/1. ใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560, มกราคม). งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38, ฉบับที่ 3, น. 94.
[8] เพิ่งอ้าง, น. 95.
[9] คณะรัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จำนวน 14 คน ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พลเรือโทพระยาราชวังสัน พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล พระยาศรีวิศาลวาจา พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พ.ท. พระยาประศาสน์พิทยายุทธ พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย และนายประยูร ภมรมนตรี ใน พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 (1 เมษายน 2476): 1.
[10] คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 (1 เมษายน 2476): 7-8.
[11] พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 เล่มที่ 50 (2 เมษายน 2476): 10-12.
[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.12/45 เรื่องการยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 อ้างใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2550). “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร-กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. น. 102.
[13] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2476 (วิสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 3.
[14] เพิ่งอ้าง, หน้า 1.
[15] เพิ่งอ้าง, หน้า 6.
[16] เพิ่งอ้าง, หน้า 12.
[17] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560, มกราคม). งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38, ฉบับที่ 3, น. 108-109.
[18] เพิ่งอ้าง, น. 97.
[19] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 412.
[20] เพิ่งอ้าง, 414.
[21] เพิ่งอ้าง, 418.
[22] เพิ่งอ้าง, 420.
[23] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 78.
[24] พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 (12 พฤศจิกายน 2476): 635-638.
[25] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560, มกราคม). งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38, ฉบับที่ 3, น. 97-98.
[26] หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ก่อตั้งโดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พระอิสริยยศในขณะนั้น เมื่อ พ.ศ. 2476 ระบุว่า มีหม่อมพร้อย วรวรรณ เป็นเจ้าของ ซึ่งหม่อมพร้อย คือหม่อมพร้อยสุพิณ (บุนนาค) วรวรรณ ภรรยาคนที่สามของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ
[27] ประเด็นจุดตั้งต้นที่ถูกเลื่อนว่าเพราะเหตุใดการตั้งต้นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ควรจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2489 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ได้เลื่อนไปอยู่ที่จุดใด ? ใน ศุภมิตร ปิติพัฒน์. (2563). จุดเริ่มต้นสถาปนา "การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข". กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า. น. 35-37.
[28] แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องตั้งคณะกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 55 (11 กรกฎาคม 2481): 951-952.
[29] ประชาชาติ, “ประชาชาติ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2525 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2481,” D-Library | National Library of Thailand, accessed December 22, 2021, http://164.115.27.97/digital/items/show/13109. น. 35.
[30] เรียงความเนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ฉะบับที่ได้รับรางวัลสำหรับชั้นมัธยมและอุดมศึกษาของสำนักงานโฆษณาการ. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2481. สืบค้นเมื่อวันที่ 1938. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:173465.
[31] ปรีดี พนมยงค์. (2535). แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์. น 260-262.
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
- รัชกาลที่ 8
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- หลวงศุภชลาศัย
- หลวงวิจิตรวาทการ
- พระยาประมวญวิชาพูล
- หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
- พระสิทธิเรืองเดช
- หลวงสินธุสงครามชัย
- หลวงศิริราชไมตรี
- พระยาศรีเสนา
- พระยาปรีชานุสาสน์
- สงบ จรูญพร
- หลวงโกวิทอภัยวงศ์
- ควง อภัยวงศ์
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- ชาตรี ประกิตนนทการ
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
- ปรีดี หงษ์สต้น
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
- ศราวุฒิ วิสาพรม
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์
- มรดกคณะราษฎร