ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : การปลดปล่อยประเทศ
เมื่อประเทศได้เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 สภาประชาชนสูงสุดมีมติเอกฉันท์เลือก เจ้าสุพานุวง, ท่านสุพานุวง หรือ สหายสุพานุวง ดำรงตำแหน่งประธานแห่งสาธารณรัฐฯ ที่เกิดใหม่นี้เป็นคนแรก ขณะที่เจ้ามหาชีวิตได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานประเทศ โดยมี ท่านไฟด่าง ลอเบลียยาว ชนเผ่าลาวสูง และ ท่านสีทน กมมะดัน ชนเผ่าลาวเทิง ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ
เมื่อรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีการจัดตั้งขึ้น และได้รับความไว้วางใจจากสภาประชาชนสูงสุดแห่งชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ สหายไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี
สหายหนูฮัก พูมสะหวัน เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1
สหายพูมี วงวิจิด เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2
สหายพูน สีปะเสิด เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 3
สหายคำไต สีพันดอน เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
สำหรับอดีต เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวัฒนา ได้รับการเเต่งตั้งให้ดำรงตำเเหน่งที่ปรึกษาประธานประเทศ แต่น่าเสียดายว่าหลังจากนั้น ซีไอเอและแม้วเดนตายของกลุ่มวังเปาพยายามชูเจ้าสีสว่างวัฒนาเป็นหุ่นเชิดในการบ่อนทำลายล้มล้างรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้ทางการต้องเชิญทั้งครอบครัวไปอยู่ยังเวียงไซ เขตปลดปล่อยดั้งเดิมที่มีความปลอดภัยสูง และก็เสียชีวิตที่นั่นในเวลาต่อมา
รัฐบาลได้ประกาศรายชื่อผู้ทรยศต่อชาติผู้เป็นศัตรูของประชาชนจำนวนเพียง 30 กว่าคน โดยมี ผุย ชนะนิกอน เป็นตัวนำ
อนึ่ง เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนจาก “ราชอาณาจักร” มาเป็น “สาธารณรัฐ” แล้ว ทางการได้ ยกเลิกการใช้คำราชาศัพท์ ให้คงมีไว้เเต่การกล่าวถึงเรื่องอดีตที่เกี่ยวกับจักรๆ วงศ์ๆ
คำว่า “โดย” ซึ่งมีลักษณะเป็นศักดินาโบราณ ได้มีการแนะนำให้เลิกใช้พร่ำเพรื่อ นอกจากให้เด็กๆ พูดลงท้ายในการกล่าวตอบกับผู้ใหญ่เท่านั้น
คำว่า “ท้าว” ที่ใช้เรียกนำหน้าชายลาวก็ไม่มีการใช้อีกต่อไป
“ตาแสง” ตำแหน่งเทียบได้กับ “กำนัน” ในบ้านเรา ถูกยกเลิกไปเพราะไม่มีการแบ่งการปกครองอย่างในอดีต คงไว้ซึ่ง “นายบ้าน” เทียบเคียงกับ “ผู้ใหญ่บ้าน” ในประเทศไทย และให้ขึ้นตรงกับ “เมือง” หรือ “อำเภอ”
คำที่มีความหมายเดียวกับ “ครับ” หรือ “ค่ะ” ทางลาวก็ใช้คำออกเสียงว่า “เจ๊า” แบบเมืองเหนือของเรา ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เป็นการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เข้ากับระบอบใหม่
ประชาชนชาวลาวส่วนใหญ่ยังนับถือพุทธศาสนาอย่างมั่นคงและมีศรัทธาสูง ผสมผสานไปกับจารีตประเพณีอันงดงามในอดีต พวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่โฆษณาชวนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนาทำลายล้างศาสนาไม่อาจชักจูงให้คนลาวในระบอบใหม่หลงเชื่อไปตามนั้น
"ประเพณีตักบาตร" ที่หลวงพระบางได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปพบเห็นและชื่นชมมากขึ้นทุกที แม้กระทั่งในงานบุญมหากุศลประจำปีวัดธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ ปรากฏว่าผู้นำลาวที่ยึดมั่นในลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน เป็นผู้นำประชาชนในการตักบาตรมหากุศล แสดงให้เห็นถึงองค์กรพุทธศาสนาในลาวได้ประกอบส่วนกลมกลืนไปกับแนวลาวสร้างชาติอย่างดี นำมาซึ่งความสงบสุขของประชาชน อันเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาก้าวหน้าของประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบกับการปลดปล่อยประเทศในแหลมอินโดจีนช่วงเวลาเดียวกัน ผลสำเร็จโดยมีลักษณะเฉพาะของลาว จนสร้างตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้นั้น นับว่าเป็นไปในแนวทางสันติวิธีสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมลาว
ประธานสุพานุวงดำรงตำแหน่งประธานประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1989 เป็นเวลาร่วม 14 ปี ท่านภาคภูมิใจยิ่งนักที่เห็นความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ตามเส้นทางที่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 แม้กระทั่งเมื่อประเทศชาติได้รับการปลดปล่อยแล้ว ภารกิจของท่านมิได้ลดน้อยถอยลงแต่ประการใด ตรงกันข้าม นอกจากภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศหลังได้รับชัยชนะจากศัตรูแล้ว ท่านยังต้องรับหน้าที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศที่มีส่วนสนับสนุนการต่อสู้ของลาว
ค.ศ. 1977 ท่านเดินทางไปยังสาธารณรัฐอินเดีย ต่อจากนั้นก็เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศพม่าตามลำดับ รวมทั้งการเดินทางไปกัมพูชาในปลายปีนั้นเอง
ในปี ค.ศ. 1979 เดินทางไปกัมพูชาอีกครั้ง และในปลายปี ค.ศ. 1979 ท่านไปกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา เพื่อร่วมประชุมสุดยอดประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ 6 ปลายปี ค.ศ. 1980 ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมองโกเลีย ในปี ค.ศ. 1982 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ ครั้งที่ 7 ที่นครนิวเดลี ประเทศอินเดีย
เห็นได้ว่าท่านทำหน้าที่ระหว่างประเทศในฐานะประธานประเทศอย่างสมบูรณ์ ท่านได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทุกประเทศ ด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณบารมีอันประจักษ์ตลอดระยะเวลาแห่งการต่อสู้ อิสริยาภรณ์สูงสุดของแต่ละประเทศที่ท่านได้รับมาก็ถือเป็นเกียรติยศอันสูงสุดของประเทศ ทั้งนี้รวมถึงอิสริยาภรณ์และเหรียญชัยชั้นสูงสุดทุกชนิดที่ท่านได้รับจากประเทศของท่านเอง
ผู้ที่เคารพรักศรัทธาท่านประธานสุพานุวงทั้งในประเทศลาวและต่างประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจ คงใคร่ที่จะได้เห็นรูปของท่านประธานลงพิมพ์ในธนบัตรเงินกีบของลาวควบคู่ไปกับรูปของท่านไกสอน พมวิหานเหมือนดั่งธนบัตรของต่างประเทศบางประเทศที่ลงรูปบรรดาผู้นำของเขาควบคู่กัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี
อันภาระหน้าที่ของประธานประเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการออกรับสาส์นตราตั้งจากประเทศต่างๆ ที่ทูตประเทศนั้นๆ จะต้องยื่นต่อประธานประเทศ ซึ่งบรรดาทูตานุทูตต่างเคยได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของท่านประธาน จึงมีความดีใจที่จะได้พบเพื่อแสดงความเคารพและมีโอกาสสัมผัสมือท่าน และด้วยบุคลิกลักษณะแห่งความเป็นกันเอง โอบอ้อมอารี ท่านประธานสุพานุวงได้โอภาปราศรัยทั้งที่ใช้ล่ามและใช้ภาษาต่างประเทศที่ท่านมีความถนัดหลายภาษา
แอนนา ลูอิซ สตรอง นักข่าวสตรีชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง และเคยสัมภาษณ์ ประธานเหมา เจ๋อตง มาแล้ว ซึ่งประธานเหมา เจ๋อตงได้เคยกล่าวกับนางว่า “อันว่าจักรวรรดินิยมนั้นคือเสือกระดาษนั่นเอง” ซึ่งเป็นสัจจวาทะที่โด่งดังทั่วโลก
แอนนา ลูอิซ สตรอง สัมภาษณ์เสด็จเจ้าสุพานุวงที่เชียงขวาง เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 นางได้เขียนบรรยายไว้ว่า ท่านเป็นคนล่ำสันบึกบึนเช่นเดียวกับคนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ผมดำตัดสั้นและดกหนามองดูก็รู้ว่าท่านเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่มีท่าทีเย่อหยิ่งหรือกร่าง พูดจาอธิบายข้อความได้จะแจ้ง แสดงถึงประสบการณ์ทางการเมืองอันยาวนาน แสดงถึงความสามารถในการตัดสินใจโดยฉับไวต่อแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีและอาจจะช้าสักหน่อยเพราะมีความถนัดในภาษาฝรั่งเศสมากกว่า
ท่านอธิบายความหมายของคำว่า “ปเทดลาว” และ “แนวลาวรักชาติ” และด้วยข้อสรุปที่ว่า แนวทางของพวกเราเป็นแนวทางแห่งสันติภาพ และความเป็นกลาง พร้อมที่จะเจรจาเพื่อสันติภาพ หากแต่อเมริกาเองนั้นได้เข้าแทรกแซงหนุนพวกฝ่ายขวาด้วยกำลังทหารต่างชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังเงิน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่แสดงให้เห็นว่าอเมริกาไม่ต้องการสันติภาพ ต้องการรุกรานประเทศเรา
บทสัมภาษณ์ของแอนนา ลูอิซ สตรอง ตีแผ่ลงพิมพ์ในสื่อต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกา อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในระหว่างปี ค.ศ. 1982-1985 ฯพณฯ เบอร์นาร์ด ด๊อบซ์ ได้กล่าวถึงภาพพจน์ของประธานสุพานุวงในสายตาของท่านว่า ท่านทูตได้รับเกียรติให้เข้าพบประธานสุพานุวงเป็นครั้งแรกเมื่อยื่นสาส์นตราตั้งจากรัฐบาลอังกฤษ
ท่านทูตอังกฤษผู้นี้มีความชื่นชมยินดีและศรัทธาในตัวท่านสุพานุวงเป็นอย่างสูง และเคยศึกษาชีวิตการต่อสู้ที่ผ่านมาอย่างโชกโชน ในฐานะตัวแทนประเทศอังกฤษที่มิได้เป็นประเทศสังคมนิยม และถึงแม้ว่าไม่มีโอกาสได้พบท่านบ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่พบกันก็สนทนาด้วยความสนิทสนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เห็นอุปนิสัยใจคอที่โน้มน้าวจิตใจของประชาชนชาวลาวให้ร่วมเข้ามาอยู่เคียงข้างกับท่าน โดยมิได้มีการถือเนื้อถือตัวอันเนื่องจากชาติกำเนิดเลย
ยิ่งไปกว่านั้นทูตอังกฤษยังยกย่องความรู้ ความปราดเปรื่อง และเข้าใจเหตุการณ์ของโลก สามารถเข้าถึงปรัชญาแบบฉบับเฉพาะของตะวันตก และเข้าถึงแก่นพุทธศาสนาของซีกโลกตะวันออกเป็นอย่างดี ในทางส่วนตัวท่านทูตรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้พบและรู้จักบุรุษคนหนึ่งผู้เป็นดาวดวงเด่นที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน
บทบาทและภาระหน้าที่ของประธานสุพานุวงที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ การออกไปเยี่ยมเยียนประชาชนในเขต, แขวง, เมือง และบ้าน ทั่วประเทศ ซึ่งทางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวกำหนดไว้เป็นภาระหน้าที่ของแกนนำทุกคน
สำหรับประธานสุพานุวง เมื่อออกไปเยี่ยมเยียนสอบถามสารทุกข์สุกดิบของประชาชน ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม สร้างกำลังใจให้กับประชาชนและตัวท่านประธาน มีความร่วมมือสามัคดีต่อสู้อุปสรรคพัฒนาประเทศไปสู่ความสำเร็จ
การพบปะชาวบ้านของประธานสุพานุวงเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองพิเศษ เสมือนหนึ่งการพบปะระหว่างลุงกับหลานๆ ในครอบครัวเดียวกัน ผู้ติดตามทำหน้าที่ดูแลสุขภาพมากกว่าอารักขาก็มีเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น
หลังจากตรากตรำปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมา 14 ปี ขณะที่ท่านมีอายุ 82 ปี นับว่าเข้าสู่วัยของผู้สูงอายุตามธรรมชาติ สุขภาพและสังขารก็เริ่มอ่อนแรงการใช้ชีวิตในป่าเขา เขตทุรกันดารเป็นเวลานาน ประกอบกับบาดแผลกระสุนปืนจากเครื่องบินสปิตไฟร์ที่ทะลุหน้าอกด้านซ้าย และทำให้ซี่โครงหัก มีอาการกำเริบขึ้นอีก ทางรัฐบาลจึงเสนอให้ท่านลดการทำงานลง โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสูงสุดของประเทศและให้ท่านพูมี วงวิจิดทำหน้าที่รักษาการประธานประเทศในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991
อีก 4 ปีต่อมา คือ ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1995 ท่านประธานสุพานุวงได้ถึงแก่อสัญกรรมที่นครหลวงเวียงจันทน์ สิริรวมอายุได้ 85 ปี ทางการได้ประกาศไว้อาลัย 5 วันตามธรรมเนียมการไว้อาลัยสูงสุดของประเทศ ประกาศให้มีการไว้ทุกข์ของประชาชนทุกหมู่เหล่ารวมทั้งกองทัพ ความเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ของประชาชนแสดงออกอย่างสุดซึ้งเกินจะพรรณนา
พิธีไว้อาลัยครั้งสุดท้ายเป็นการประชุมเพลิงที่วัดธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ อันเป็นรัฐพิธีเกียรติยศสูงสุดแก่ท่านประธานสุพานุวง
ป้าเวียงคำ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของท่านสุพานุวง ที่ใช้ชีวิตต่อสู้กู้บ้านเมืองกันมาตลอดระยะเวลากว่า 57 ปี ทำให้สุขภาพของป้าเวียงคำทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก และจากโลกไปหลังจากนั้นไม่นาน ปัจจุบัน อัฐิธาตุของท่านสุพานุวงและป้าเวียงคำบรรจุสถูปไว้ที่วัดธาตุหลวงนั่นเอง
เนื่องในโอกาสชาตกาล 100 ปีของประธานสุพานุวง เป็นที่น่ายินดีที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งอยู่ในสมัยเเห่งการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 8 ได้จัดให้มีการระลึกถึงและเฉลิมฉลองชาตกาล 100 ปีของประธานสุพานุวง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2009
ในงานนี้ สหายจูมมาลี ไซยะสอน เลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ และประธานประเทศเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยสดุดีเกียรติคุณ การอุทิศตนด้วยความเสียสละเพื่อรับใช้ชาติและประชาชนมาตลอดชั่วชีวิต ชื่อเสียงเรียงนามของท่านตลอดจนคุณงามความดีได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์อันสง่างามของชาติ และจักอยู่ในความทรงจำของประชาชนลาวและประชาชนผู้รักสันติทั่วโลก
ในขณะเดียวกันที่ สหายสะหมาน วิยะเกด กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมสัมมนาวิทยาศาสตร์ลาว-เวียดนาม เพื่อระลึกถึงชาตกาลครบรอบ 100 ปีของประธานสุพานุวง
นอกเหนือไปจากชีวประวัติแห่งการต่อสู้รับใช้ประชาชนของท่านประธานฯ สหายสะหมานหวังว่าบรรดาสหายผู้รับผิดชอบส่วนงานต่างๆ จะได้เสนอผลงานค้นคว้าและการรับรู้ของตน เกี่ยวกับชีวิตและการเคลื่อนไหวของประธานสุพานุวงในแง่มุมต่างๆ ให้มีความหลากหลายเเละอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับผลงานและคุณงามความดีวันอันใหญ่หลวงของท่านที่ได้อุทิศตนให้แก่ภารกิจอภิวัฒน์ของประชาชน
คงจะไม่มีตัวอย่างจากประเทศหนึ่งประเทศใดในโลก ที่ผู้ถือกำเนิดจากความเป็นเจ้าได้สละชนชั้นของตนเองกลับสู่ความเป็นสามัญชนทุ่มตัวอุทิศตนรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ ต่อสู้กู้ชาติขับไล่นักล่าอาณานิคมจนได้รับบาดเจ็บสาหัสแทบจะไม่รอดชีวิต ต่อสู้กับการรุกรานแทรกแซงของจักรวรรดินิยมกับลูกสมุนจนบรรลุถึงการปลดปล่อยประเทศนำพาประเทศเข้าสู่การพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรือง
ก่อนจากโลกนี้ไป ท่านก็ได้เห็นและเชื่อมั่นว่า หนทางแห่งอนาคตจะดำเนินไปอย่างถูกต้องและมั่นคง ความเป็นวีรบุรุษของท่านสุพานุวง “เจ้าชายแดง” ของประชาชนลาวจักไม่มีสิ่งใดมาบดบังได้
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ประธานแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว), ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2552, น. 190-201)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ยกแรกของการประกาศเอกราช
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ศึกป้องกันเมืองท่าแขก
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : คุกโพนเค็ง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐประหาร “กองแล”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สามเจ้าลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : แผนสังหารสุพานุวง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สงครามซีไอเอ
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : พรรคประชาชนลาว - พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- แนวลาวรักชาติ
- ท่านสุพานุวง
- พูมี วงวิจิด
- CIA
- ซีไอเอ
- ผุย ชนะนิกร
- ผุย ชะนะนิกอน
- เจ้ามหาชีวิต
- สีสว่างวัฒนา
- เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวัฒนา
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- สปป.ลาว
- ไฟด่าง ลอเบลียยาว
- สีทน กมมะดัน
- ไกสอน พมวิหาน
- หนูฮัก พูมสะหวัน
- พูน สีปะเสิด
- คำไต สีพันดอน
- อินทิรา คานธี
- เหมาเจ๋อตง
- เหวียนถิกีนาม
- เวียงคำ สุพานุวง
- จูมมาลี ไซยะสอน
- สะหมาน วิยะเกด