ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งประเทศจีนในฐานะเป็น “แขกของรัฐบาล” โดยรัฐบาลจีนออกค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตให้ทุกประการ บ้านที่พักเป็นบ้านเลขที่ 25 ตรอกเสี่ยวหยางเหมา คนไทยร่วมอาศัยอยู่ด้วยหลายคน คือ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช, นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง, ร.ต.ต.สมจิตร สุวรรณวัฒนา, นางนงเยาว์ ประภาสถิตย์, ร.ต.อ.สมศักดิ์ พัวเวช, ส.ต.ต.ชม แสงเงิน และ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ (อัมพุนันท์) และนับเป็นการลี้ภัยการเมืองครั้งที่ 3 ของท่าน คงจำได้ว่า การลี้ภัยครั้งแรก คือ เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปิดสภา ครั้งที่สอง เมื่อรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 และ ครั้งที่สาม คือ ครั้งนี้ เมื่อขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ต้องประสบความพ่ายแพ้
เนื่องจากอากาศในกรุงปักกิ่งในฤดูหนาวนั้นหนาวมากเป็นอันตรายต่อสุขภาพพอดู ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2499 คือ หลังจากพำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งได้ 7 ปี จึงได้ย้ายมาพำนักอยู่ในภาคใต้ของประเทศจีน คือในมณฑลกวางตุ้ง โดยถือหนังสือคนต่างด้าวระบุชัดเจนว่าเป็นคนสัญชาติไทยที่รัฐบาลจีนออกให้ พวกผีกระสือพรายกระซิบบางคนออกข่าวว่า “นายปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนไปถือสัญชาติจีนแล้ว” ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้า ฟังข่าวคราวการเมืองเศรษฐกิจทางวิทยุจากประเทศต่างๆ อาทิ จากประเทศไทย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อเมริกา, ญี่ปุ่น ทำให้ได้ทราบความเคลื่อนไหวของโลกอยู่ตลอดเวลา และยังได้ศึกษาวิธีการส่งเสริมเกษตรกรรมของจีนอีกด้วย
นอกจากนั้นได้เดินทางท่องเที่ยวไปทางด้านตะวันตกของประเทศจีนตอนใต้เพื่อศึกษาค้นคว้าในเรื่องเผ่าชนชาวไทยให้กระจ่างชัด เรื่องนี้เป็นเรื่องแก้ไขตำราที่ว่า คนไทยเคยตั้งรกรากอยู่แถบภูเขาอัลไตโดยสิ้นเชิง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบงานค้นคว้าเรื่องนี้ให้ ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
ชีวิตในเมืองจีนนี้เป็นชีวิตที่แสดงถึงคุณค่าแห่งความเป็นคนไทย ความรักชาติบ้านเมืองไทยของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยิ่งกว่ารักตัวเอง เฉียบ อัมพุนันท์ จากข้าพเจ้าที่นครสิงคโปร์ ในปี 2492 แล้วจากเมืองจีนมาพบกับข้าพเจ้าที่กรุงเทพฯ ในมีนาคม 2501 ได้ยืนยันด้วยลายลักษณ์อักษรต่อข้าพเจ้าถึงข้อความข้อนี้ นั่นคือภายหลังที่พำนักอยู่ได้ไม่นาน ไม่ถึงปี ทางจีนพร้อมที่จะสนับสนุนทุกประการให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เปิดสงครามกลางเมืองไทย เพื่อก้าวไปสู่อำนาจในแผ่นดิน โดยอาศัย “แนวร่วม” (คอมมูนิสต์จีน-ไทย) ถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะยอมรับเงื่อนไขของจีน
ต่อไปนี้เป็นข้อความใจบันทึกของเฉียบฯ ที่มอบให้ข้าพเจ้าไว้ :
เงื่อนไขของจีน คือ
“1. ให้ชาวจีน หรือลูกจีนในเมืองไทยได้รับสิทธิเป็นชนชาติส่วนน้อย (Minority) เพื่อถือสิทธิ ปกครองตนเอง คือจะจัดตั้งรัฐบาลของจีนหรือลูกจีนในเมืองไทยขึ้น
2. อย่าบังคับเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนจีน คือต้องการจะเรียนแต่หนังสือจีนอย่างเดียว
3. ใช้หนังสือจีนเป็นทางราชการ โดยให้แปลกฎหมายคำสั่งต่างๆ ของทางการเป็นภาษาจีนควบไปกับภาษาไทย อีกทั้งป้ายถนนหนทาง และสถานีรถไฟให้มีภาษาจีนกำกับด้วยทั่วประเทศ
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ปฏิเสธเงื่อนไขทั้ง 3 ประการนั้นโดยสิ้นเชิง โดยให้ความเห็นว่า
1. ชาวจีนนั้นเป็นคนต่างด้าว จะถือสิทธิเป็นชนส่วนน้อยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีสิทธิจะปกครองตนเองหรือจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง เพราะชาวจีนไม่มีดินแดนอยู่ในประเทศไทย ผิดกับชนชาติไทยในแคว้นสิบสองปันนาซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะชนชาติไทยนั้นมีดินแดนเป็นของตนเองมาช้านานแล้ว จึงมีสิทธิเป็นชนส่วนน้อยปกครองตนเองได้ในสาธารณรัฐแห่งประชาชนจีน
ฝ่ายจีนยอมรับว่า จีนเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเช่นนั้นจริงแต่ก็กระเถิบเข้ามาอีกก้าวหนึ่งว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้ชาวจีนเป็นต่างด้าวไป แต่ขอสิทธิให้ “ลูกจีน” เป็นชนชาติส่วนน้อยในประเทศไทย ดร.ปรีดี พนมยงค์ โต้ไปว่า “ลูกจีน” ในเมืองไทยนั้นมีกฎหมายรับรองให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยอยู่แล้ว เพราะไทยถือหลักดินแดน ผู้ใดเกิดในเมืองไทยย่อมได้สัญชาติไทย คือได้รับสิทธิเป็นชนชาติส่วนใหญ่อยู่แล้ว เหตุไฉนจะกลับไปถือสิทธิชนชาติส่วนน้อยเล่า ในข้อนี้จึงไม่ตกลงกัน
2. ในเรื่องขออย่าบังคับให้เรียนภาษาไทยในโรงเรียนจีน โดยจะเรียนแต่ภาษาจีนอย่างเดียวนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ โต้ว่าไม่มีโรงเรียนจีนในเมืองไทย แต่มีโรงเรียนไทยที่สอนภาษาจีนที่พากันเรียกว่าเป็นโรงเรียนจีนนั้นเรียกกันไปเอง การที่จะเลิกไม่บังคับให้เด็กๆ เรียนภาษาไทยนั้นทำไม่ได้เพราะเมืองไทยมีกฎหมายบังคับเด็กให้เรียนภาษาไทยในชั้นประถมศึกษา แต่ก็เป็นการบังคับเพียง 4 ปี ขึ้นมัธยมก็ไม่บังคับ เป็นการบังคับโดยถ้วนหน้าต่อเด็กที่เกิดในประเทศไทย ถือว่าบังคับต่อผู้มีสัญชาติไทย เพราะเด็กเกิดในเมืองไทยไม่รู้หนังสือไทยก็จะไม่ถูกเรื่อง เพราะต้องอยู่ในสังคมไทยการเรียนหนังสือจีนก็จะต้องถือว่าเป็นการศึกษาภาษาต่างด้าว เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส การไม่บังคับให้เรียนหนังสือไทยจะให้เรียนแต่ภาษาจีนอย่างเดียวนั้นเป็นการอบรมเด็กเหล่านั้นให้กลายเป็นชนชาติจีน ดร.ปรีดีฯ จึงไม่เห็นด้วย ฉะนั้นในเรื่องนี้จึงไม่ตกลงกัน
3. ในเรื่องขอให้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาทางราชการเพิ่มขึ้นอีก โดยให้แปลกฎหมายเป็นภาษาจีนเป็นทางการและอื่นๆ อีกนั้น ดร.ปรีดีฯ ให้ความเห็นว่า ขอให้ทางสมาคมจีนแปลกันเอาเองอย่าถึงกับให้ราชการไทยแปลให้ ถ้าขืนทำเช่นนั้นก็จะต้องแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตลอดจนภาษาอื่นๆ อีกด้วย จะเป็นการเพิ่มภาระให้ทางรัฐบาลไทย อีก ทั้งเมื่อยอมรับว่าชาวจีนเป็นคนต่างด้าวแล้ว ภาษาจีนก็เป็นภาษาของคนต่างด้าว ย่อมไม่สามารถรับเงื่อนไขข้อนี้ได้”
เฉียบ สรุปไว้ตอนท้ายว่า “สรุปแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ไม่ยอมตามเงื่อนไขซึ่งจะทำให้ “แนวร่วม” คือชาวจีนในประเทศไทยพอใจ”
“เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ นายปรีดีฯ จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนในเรื่องอาวุธ ซึ่งนายปรีดีฯ ก็ได้ให้ทัศนะแก่ข้าพเจ้าว่า เราจะเอาสิทธิทางการเมืองเช่นนี้มาขายได้อย่างไร ถ้าเรายอมเขาก็เท่ากับเราขายชาติ ไม่รักบ้านรักเมืองย่อมไม่ได้ ปรารภว่าให้จอมพล ป. ครองเมืองต่อไปยังดีกว่าจะเข้าไปใหญ่โตในเมืองไทย โดยเสียสิทธิตามเงื่อนไขเพื่อบัลลังก์นั้น ทำไม่ได้ และจะยอมตายอยู่ในต่างประเทศ
“เมื่อนายปรีดีฯ ไม่ตกลง คนเจรจานั้นก็หายหน้าไป 4 ปี บอกว่าได้ย้ายไปรับตำแหน่งอื่น แต่ก่อนจะไป ได้นำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษพิมพ์ในปักกิ่ง ดูเหมือนชื่อ “ไซน่า นิวรีรีด” มาให้ดู ในนั้นมีข่าวว่าพรรคหลาวด้งของโฮจิมินห์ได้ประกาศให้สิทธิชาวจีนในญวนเท่าเทียมชาวญวนทางการเมืองทุกประการ คือมีสิทธิเป็นผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีก็ได้ นักเจรจานั้นมาถามนายปรีดีฯ เป็นเชิงว่าญวนให้แล้ว ไทยจะว่าอย่างไร? นายปรีดีฯ ตอบว่า สำหรับไทยทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะเอาสิทธิให้เท่าเทียมกันก็ขอให้ทำการโอนชาติ เป็นไปตาม พ.ร.บ.แปลงชาติ จึงจะมีสิทธิดังนั้นได้ ถัดมาไม่นานญวนก็ตีเดียนเบียนฟูครั้งที่ 2 แตก นายปรีดีฯ ให้ทัศนะว่าคงจะได้อาวุธหนักไป เพราะประกาศให้สิทธิชาวจีนในญวนแล้ว และบอกกับข้าพเจ้าว่า ถ้าจะช่วยเหลือเราโดยมีข้อแลกเปลี่ยนดั่งนี้เราไม่ต้องการ จะยอมตายอยู่เมืองจีน”
“เป็นระยะ 4 ปีเต็มที่ไม่มีนักเจรจาความเมืองฝ่ายจีนมาติดต่อกับนายปรีดีฯ คณะของเราก็อยู่กันเฉยๆ แต่ทางการยังจ่ายงบประมาณในการครองชีพให้อยู่ แต่รู้สึกว่างบประมาณนั้นน้อยลงกว่าเดิม นายปรีดีฯ พูดตลกกับข้าพเจ้าว่า “เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ แต่ไก่ฝูงนั้นไม่รู้จักไข่ จึงต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้” พร้อมกันเราก็ไม่ได้รับจดหมายหรือหนังสือพิมพ์ไทยเลย เป็นอันว่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอกสิ้นเชิง ทำการเช่า พี.โอ.บ๊อกซ์ 38 ที่ไปรษณีย์กลางปักกิ่งไว้ ก็ปรากฏว่าไม่มีจดหมายจากโลกภายนอกเลย ข้าพเจ้าเคยแกล้งส่งจดหมายถึงตัวเองก็ปรากฏว่า 3 วันจึงได้รับ ตามธรรมดาวันเดียวได้รับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนก็โกรธหาว่าข้าพเจ้าลองดีเพราะเขาต้องเอาไปตรวจก่อน”
“เป็นอันว่าความตึงเครียดต่อทางการก็เริ่มมีขึ้นตามลำดับ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ด่าทางจีนว่าเป็นคอมมูนิสต์เก๊ คอมมูนิสต์จริงจะไม่ทำอย่างนี้ การทำอย่างนี้เป็นชาตินิยมรุนแรงพร้อมกับนายปรีดีก็ค้นคว้าตำราคอมมูนิสต์ว่า ประเทศคอมมูนิสต์ต่างๆ ในโลกนี้ตลอดจนลัทธิเขามีวิธีปฏิบัติการอย่างใดในประเด็นที่เกี่ยวกับเงื่อนไขนี้ ก็ค้นไม่พบว่าเป็นวิธีการของคอมมูนิสต์ ยิ่งนายปรีดีฯ ด่าว่าทางจีนเข้าเท่าใดก็รู้สึกว่าคณะของเราก็ถูกบังคับลงๆ จนข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าได้กลายเป็นนักโทษไปเสียแล้ว ประตูบ้านก็ถูกใส่กุญแจด้านในมีทหารเฝ้า 6 คน ระยะแรกก็เชื่อว่ามารักษาความปลอดภัยจริง ตอนหลังก็มีความรู้สึกว่ามาคอยควบคุมไป เราออกนอกบ้านไปไหนก็ไปด้วย ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นแก่คณะของเรา”
“ในที่สุด คนในบ้านก็ลงความเห็นกันว่า นายปรีดีฯ ดำเนินงานทางการเมืองผิดไปเสียแล้ว จะต้องถูกดองอยู่อย่างนี้จนกว่าจะตาย บางคนก็แนะว่าให้ยอมเขาไปก่อนแล้วไปบิดทีหลัง นายปรีดีฯ ไม่ยอม ว่าวิธีการเช่นนั้นหลอกลวงเขาไม่เอา ในที่สุด ศิษย์ของนายปรีดีฯ ก็สิ้นหวัง ว่าติดตามนายปรีดีฯ นั้นไม่เป็นทางไปสู่ชัยชนะจึงทิ้งท่านเสีย โดยลงความเห็นว่าพวกศักดินาในเมืองไทยก็ไม่ชอบหน้า พวกจอมพล ป. ก็ไม่ชอบหน้า พรรคพวกที่มีอยู่ก็ค่อยๆ ละลายไปหมด ส่วนจีนเล่าก็ไม่สนับสนุน จึงพากันเห็นว่า ปรีดีฯ นั้นไม่มีทางออกแล้ว พวกในบ้านก็ตีตัวออกห่าง นานวันเข้าก็ด่านายปรีดีฯ ต่างๆ นานา จนกระทั่งเกิดการแตกแยกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ข้าพเจ้าคงยืนอยู่ข้างปรีดีฯ ตลอดมาไม่ได้มีความเห็นเหมือนคนอื่นๆ”
“เมื่อย่างเข้าปีที่ 5 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมด้วยบุตรี 2 ได้เดินทางผ่านยุโรป มอสโคว์ โดยสารรถไฟสายแทรนไซบีเรียผ่านแมนจูเรียเข้าประเทศจีน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ไปรับที่ชายแดนจีน แล้วนำมาพักอยู่ ณ บ้านเดียวกัน หลังจากท่านผู้หญิงพูนศุข มาถึงประเทศจีนแล้ว ทางฝ่ายจีนก็ส่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่มาเยี่ยม และในโอกาสนั้นก็พูดถึงเรื่องการเมืองที่เคยต่อรองกันมาก่อนว่า ขอยกเลิกเงื่อนไขทั้งหมด บัดนี้คนจีนไม่ต้องการเช่นนั้นและคนไทยก็ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีอะไรกันแล้ว และอนุญาตให้ติดต่อทางเมืองไทยได้”
“นายปรีดี พนมยงค์ แจ้งว่า เมื่อได้พบผู้เจรจาความเมืองครั้งนี้ก็ได้ต่อว่า เรื่องจีนเข้าไปก่อตั้งพรรคคอมมูนิสต์ไทยในประเทศไทยว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการไม่ถูกต้อง หากชนชาติใดเลื่อมใสลัทธินี้ ก็จะต้องเป็นการกระทำของชนชาตินั้นเอง ไม่ใช่เรื่องจะเข้าไปแทรกแซงในประเทศอื่น และที่อ้างว่าเป็นลัทธิสากลนิยมนั้นไม่ถูกต้อง”
“ฝ่ายจีนยอมรับผิดว่า พรรคคอมมูนิสต์ไทยนี้ได้เริ่มก่อตั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งแรกมีทั้งไทยและจีนปนกันอยู่และบอกว่า เวลานี้ได้แยกออกจากกัน แล้วเป็นอิสระจากกัน”
“แต่ข้าพเจ้า และนายปรีดีฯ ยังไม่ฝังใจเชื่อว่า พรรคคอมมูนิสต์ไทยนี้จะเป็นพรรคการเมืองโดยอิสระอย่างแท้จริง หวั่นใจอยู่ว่าจะต้องได้รับอิทธิพลไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในทางปฏิบัติงานในประเทศไทย หากพรรคนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดที่เป็นชาวจีนซึ่งต้องการชาตินิยมรุนแรง พรรคนี้ก็ย่อมเอออวยให้สมประสงค์ของแนวร่วมระหว่างชาวจีนในเมืองไทยอย่างไม่มีปัญหา ข้าพเจ้าได้ทดลองหยั่งความรู้สึกจากสมาชิกพรรคคอมมูนิสต์ไทยบางคนก็รู้สึกว่าเอนเอียงไปในทางปรารถนาของจีน เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าและนายปรีดีฯ จึงไม่เชื่อว่าพรรคคอมมูนิสต์ไทยจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ได้ในส่วนที่เกี่ยวกับจีน”
“ข้าพเจ้าได้ปรึกษานายปรีดี พนมยงค์ว่า การเมืองระหว่างประเทศในอนาคตนั้นเป็นปัญหาสำคัญยิ่งนัก เพราะมีการต่อสู้กันอยู่ระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมูนิสต์ ซ้ำในประเทศไทยของเราก็ถูกคนต่างด้าวมาก่อตั้งพรรคคอมมูนิสต์ไว้ และหันจูงทฤษฎีการเมืองผิดๆ นำไปสู่ผลประโยชน์ของคนต่างด้าว จึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันไว้ ประกอบกับทั้งปรากฏว่า พรรคคอมมูนิสต์ไทยเฉลยความรู้ในทัศนลัทธิสากลนิยมไว้อย่างไขว้เขว เช่นว่าคอมมูนิสต์นั้นคือชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลักรวมกันทั่วโลก โดยไม่ถือชาติและประเทศ เมืองหลวงของอาเซียอยู่ที่ปักกิ่ง เมืองหลวงของโลกอยู่ที่มอสโคว์ สมาชิกพรรคเป็นชาวคอมมูนิสม์แล้วย้ายโอนกันได้ในระหว่างประเทศ คนต่างด้าวเข้ามาก่อตั้งพรรคคอมมูนิสต์ในเมืองไทยก็เป็นการถูกต้อง คนต่างด้าวเป็นสมาชิกพรรคก็ถูกต้อง ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ล้วนผิดทั้งนั้น จำเป็นที่จะต้องให้พี่น้องชาวไทยได้เข้าใจว่า แม้ลัทธิคอมมูนิสต์เองก็มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้น หากแต่เป็นพวกชาตินิยมต่างหากที่ต้องการกลืนชาติอื่นแล้วแอบอ้างเอาลัทธิสากลนิยมขึ้นบังหน้า แต่ไส้ในเป็นชาตินิยม นายปรีดีฯ จึงเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งให้ชื่อว่า “การพิเคราะห์และพิเคราะห์ตนเอง เรื่องลัทธิชาตินิยมและสากลนิยม” ได้โต้ความเห็นของพวกชาตินิยมจีนอย่างเผ็ดร้อน ในหนังสือเล่มนี้จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่านายปรีดีฯ นั้น ได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไทยไว้เป็นอย่างดี และไม่ใช่บุคคลขายชาติ “และปรีดีฯ ไม่ใช่คอมมูนิสต์หรือเป็นสมาชิกพรรคคอมมูนิสต์เลย”
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พบกับประมุขบุรุษของจีน อาทิ ประธานเหมาเจอตุง นายกรัฐมนตรีจูเอนไล ลิวเฉาชี และอื่นๆ หลายครั้ง แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาเมื่อโฮจิมินห์แห่งเวียดนามเหนือถึงแก่กรรม รัฐบาลเวียดนามเหนือก็ได้เชิญ ดร.ปรีดี พนมยงค์ไปในงานศพที่นครฮานอย ต่อมาได้พบกับเสด็จเจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีลาวซึ่งเป็นนักเรียนในกรุงปารีสรุ่นเดียวกัน เมื่อเสด็จไปเยี่ยมเมืองจีนในปี พ.ศ. 2499
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่เป็นคอมมูนิสต์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ และไม่ได้ร่วมมือกับพรรคคอมมูนิสต์ ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการไทยปลดแอกที่ออกข่าววิทยุโจมตีรัฐบาลไทย และไม่เกี่ยวข้องกับองค์การคอมมูนิสต์สากล ถึงกับปฏิเสธก็ขอร้องของพรรคคอมมูนิสต์ขึ้น เชิญให้ไปร่วมการประชุมระหว่างประเทศที่กรุงมอสโคว์
ชีวิตในเมืองจีนเป็นชีวิตที่ทรงคุณค่าอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และพรรคคอมมูนิสต์จีนเดินกันคนละทาง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังได้รับความยอมรับนับถือจากฝ่ายจีนเป็นอย่างดี
ที่มา : ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์, ชีวิตในเมืองจีน, ใน ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2493), หน้า 797-807.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
- ไสว สุทธิพิทักษ์
- ปรีดี พนมยงค์
- วัชรชัย ชัยสิทธิเวช
- สงวน ตุลารักษ์
- เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง
- สมจิตร สุวรรณวัฒนา
- นงเยาว์ ประภาสถิตย์
- สมศักดิ์ พัวเวช
- ชม แสงเงิน
- เฉียบ ชัยสงค์
- อัมพูนันท์
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- ธำรงนาวาสวัสดิ์
- ภูเขาอัลไต
- สุกิจ นิมมานเหมินทร์
- ลูกจีน
- พี.โอ.บ๊อกซ์ 38
- ชาตินิยม
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- พูนศุข พนมยงค์
- พรรคคอมมิวนิสต์ไทย
- พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- เหมาเจ๋อตง
- เสรีประชาธิปไตย
- รีจูเอนไล ลิวเฉาชี
- โฮจิมินห์