ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “พระราชวังต้องห้าม” (ตอนที่ 11)

10
กันยายน
2566

 

โรงเรียนสตรีเป่ยจิ๊งหนิ่วอิ๊จ๊ง เป็นโรงเรียนเก่าแก่ระดับมัธยมศึกษาของกรุงปักกิ่ง แบ่งเป็นภาคมัธยมต้น 3 ปี และภาคมัธยมปลาย 3 ปี การศึกษาภาคบังคับของจีนกำหนดประถมศึกษา 6 ปี ดังนั้นนักเรียนในวัยเรียนต้องผ่านการสอบเพื่อเข้าเรียนระดับมัธยมต้น เมื่อจบชั้นมัธยมต้นแล้วต้องผ่านการสอบเพื่อเข้าเรียนระดับมัธยมปลาย โรงเรียนสตรีเป่ยจิ๊งหนิ่วอิ๊จ๊งซึ่งมีแต่นักเรียนหญิงล้วนๆ ขึ้นชื่อว่ามีผลการเรียนยอดเยี่ยม ศิษย์เก่าเป็นนักบินหญิงคนแรกของจีน เป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนขจรขจาย

อาณาบริเวณของโรงเรียนถูกถนนเป่ยฉางแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้านทิศตะวันออกเป็นฝ่ายมัธยมปลาย ด้านทิศตะวันตกเป็นฝ่ายมัธยมต้น อาณาบริเวณกว้างขวางจรดกำแพงพระราชวังจ๊งหนานไห่ คาดเอาว่า เมื่อก่อนคงเป็นคฤหาสน์ของเสนาบดี

เช้าๆ ก่อนเข้าห้องเรียน นักเรียนพากันเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบกลางสนามกีฬา เสียงเพลงลอดจากลำโพงขยายเสียง มือร้อยๆ คู่ชูเหนือศีรษะพึ่บพั่บ จากนั้นก้มตัวลงให้ปลายนิ้วมือจรดพื้น เดี๋ยวยกขาซ้าย เดี๋ยวยกขาขวา กระโดดขึ้นลงตามจังหวะ “อิ๊ เอ้อร์ ซ้าน ซื่อ, หวู่ ลิ่ว ชี้ ป๊ะ, เอ้อร์ เอ้อร์ ซ้าน ซื่อ, หวู่ ลิ่ว ชี้ ป๊ะ...”[1]

นอกจากเรียนพิเศษภาษาจีนกับครูจิ้นแล้ว ปลายยังต้องเข้าเรียนชั้นชูอิ๊ หรือมัธยมต้นปีที่ 1 ด้วย

วิชาพีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ปลายไม่เคยเรียนมาก่อน ตอนอยู่เมืองไทย ปลายเรียนจบประถมศึกษา (ป. 4) แล้วต่อชั้นมัธยม 1 อีกปี ที่นี่เท่ากับปลายเรียนข้าม 2 ขั้น

วิชาดีดลูกคิดและการฝึกเขียนหนังสือด้วยพู่กันอยู่ในหลักสูตรประถมศึกษา ปลายจึงพลาดโอกาสเรียนศาสตร์และศิลป์ทั้งสองวิชานี้ไปอย่างน่าเสียดาย

“ยากจริงๆ” ปลายรู้สึกเช่นนั้น

ไหนจะภาษาจีน ครูจิ้นพยายามสอนให้มากที่สุด เกือบจะเหมือนการขุนเลี้ยงเป็ดปักกิ่ง อัดกรอกอาหารทีละมากๆ ยังไม่ทันย่อย ก็อัดกรอกเข้าไปอีก ซึ่งเป็นวิธีทำให้เป็ดปักกิ่งอ้วนพี ปลายก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งๆ เรียนอักษรจีน 30-40 ตัว เรียนไปเรียนมาแทนที่จะจำอักษรจีนเพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นย่ำเท้าอยู่กับที่ เผลอๆ ยังจะลืมตัวอักษรที่เรียนในวันก่อนๆ ยังดีว่า ครูจิ้นไม่ได้ดุ ไม่ได้ตี มิเช่นนั้นปลายคงหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อไป

ไหนจะหมวดวิชาทั่วไป ภูมิศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์จีน... ล้วนเป็นความรู้ใหม่สำหรับปลาย ปลายเพลินกับวิชาภูมิศาสตร์ เรื่องราวของหมีแพนด้า สัตว์โลกที่น่ารักตัวกลมตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ย อาศัยยอดไผ่เป็นอาหาร คุณครูบอกว่าหมีแพนด้าเป็นสัตว์มีค่า เหลืออยู่ในป่าไม่กี่พันตัว

แม่ซื้อตุ๊กตาหมีแพนด้ามาให้ปลายตัวหนึ่ง ลำตัวมีขนสีขาวดกหนา แต่มีขนสีดำพาดเหมือนคาดเข็มขัดหนังสีดำเส้นใหญ่ รอบๆ ดวงตามีขนสีดำเป็นวงกลม ปลายเอาหมีแพนด้าตัวนี้วางข้างหมอนเป็นเพื่อนยามเข้านอน

“นี่ไงปลาย มณฑลเสฉวน แหล่งกำเนิดหมีแพนด้าแห่งเดียวในโลก” พ่อปลายกางแผนที่ประเทศจีนให้ปลายดู พ่อเป็นครูพิเศษให้ปลายเสมอ ปลายไม่เข้าใจเรื่องใด เมื่อถามพ่อก็จะได้คำตอบที่กระจ่างชัด ยกเว้นวิชาภาษาจีน พ่ออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พูดได้บางประโยคที่ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น

เช่นเดียวกับนักเรียนโรงเรียนสตรีหนิ่วอิ๊จ๊ง ปลายคุ้นเคยกับพระราชวังโบราณ ออกจากประตูโรงเรียนไปทางทิศตะวันออก ลัดข้ามคูวังก็ถึงกู้ก๊ง[2] แล้ว ครูพละมักพานักเรียนมาวิ่งออกกำลังกาย ณ ลานกว้าง ก่อนถึงเขตพระราชฐานชั้นใน ในฤดูร้อน กำแพงสีแดงสูงใหญ่บดบังแสงอาทิตย์เป็นร่มเงาบริเวณกว้าง ไอชื้นจากกำแพงทำให้รู้สึกเย็นสบาย แม้วิ่งหลายรอบก็ไม่รู้สึกเหนื่อย

“รู้หรือเปล่า สมัยพระจักรพรรดิ คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ เข้ามาไม่ได้ เพราะที่นี่คือพระราชวังต้องห้าม” ครูจ๊างหันมาบอกกับปลาย

เมื่อวิ่งเสร็จครูจ๊างพาเดินเข้าไปเขตพระราชฐานชั้นใน

“บันไดนี้ให้ใช้เฉพาะพระจักรพรรดิ” ว่าแล้วครูจ๊างบอกให้นักเรียนสังเกตภาพนูนลายมังกรอยู่ระหว่างบันไดหินอ่อนขาวสองข้าง

“มังกรเป็นสัตว์ในเทพนิยายปรัมปราของจีน ใบหน้าเหมือนม้า นัยน์ตาเหมือนเสือ จมูกเหมือนสิงโต ใบหูเหมือนวัว เขาเหมือนกวาง ลำตัวเหมือนงู ตีนเหมือนอุ้งเล็บอินทรีย์ หาง เกล็ด และหนวดเหมือนปลา ตั้งแต่โบราณกาล มังกรคือสัญลักษณ์ของประเทศจีน คนจีนคือลูกหลานของพญามังกร” ปลายจินตนาการสิงสาราสัตว์ที่กล่าวถึงไปพร้อมๆ กับครูจ๊าง

“แต่พอมาตอนหลัง เมื่อมีจักรพรรดิผู้ตั้งตัวเป็นโอรสสวรรค์ครองอำนาจในแผ่นดินจีน มังกรกลายเป็นสัญลักษณ์อำนาจอันล้นฟ้าของจักรพรรดิ”

ครูจ๊างอธิบายต่อไปอีกว่า

“มังกรสงวนไว้เฉพาะพระจักรพรรดิเท่านั้น จักรพรรดิอยู่ ณ ที่ใด มังกรก็อยู่ ณ ที่นั้น”

ครูจ๊างชี้ชวนให้ปลายกับเพื่อนๆ ดูบานประตูและหน้าต่าง

“เพียงเฉพาะพระตำหนักไท่เหอเตี้ยน มีประตู 40 บาน แต่ละบานมีมังกรสลักอยู่ 5 ตัว ลองนับดูซิว่า มีมังกรมากน้อยเท่าไหร่”

เดินมาถึงพระตำหนักไท่เหอเตี้ยน ประตูเปิดอยู่ แต่มีเกลียวเชือกสีแดงกั้นไม่ให้คนเข้าไป ปลายชะโงกศีรษะเข้าไปดู พระแท่นทองใหญ่สลักด้วยลายมังกรวิจิตรพิสดารตั้งอยู่กลางท้องพระโรง

“พระราชอาสน์ของพระจักรพรรดิขณะทรงว่าราชการ”

เสียงของครูจ๊างยืนยันความเข้าใจของปลาย

“เร็ว ครูจะพาพวกเราไปดูพระคลังที่เก็บนาฬิกาโบราณ รับรองว่าทุกคนต้องชอบแน่ๆ”

ใกล้เวลาปิดพิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณแล้ว ครูจ๊างเร่งฝีเท้าเร็วขึ้น

ยังต้องเดินไปอีกไกล เมื่อเห็นว่าไม่มีเวลาพอที่จะดูได้ทั่วถึงครูจ๊างจึงรับปากกับเด็กๆ ว่า “เอาไว้คราวหน้า ครูจะพาพวกหนูมาดูอีก”

วันนั้นปลายได้เรียนรู้เสี้ยวหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์จีนจากพระราชวังต้องห้าม…..

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “พระราชวังต้องห้าม,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 252-255.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] การนับเลขภาษาจีนให้เข้ากับจังหวะกายบริหาร.

[2] พระราชวังโบราณ.