ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงครามและสันติภาพ

2
ธันวาคม
2564

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ในทวีปยุโรป ฟาสซิสต์อิตาลี และนาซีเยอรมันเริ่มรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนทวีปเอเชียนั้น ญี่ปุ่นก็ได้รุกรานและยึดครองภาคอีสานของจีน เมฆหมอก แห่งสงครามโลกครั้งใหม่กำลังปกคลุมไปทั่วโลก นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักถึงภยันตรายของสงครามที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อประเทศไทย

ฉะนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก จากนวนิยายชื่อเดียวกันที่นายปรีดีเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เค้าโครงของสงครามช้างเผือก และสงครามยุทธหัตถีของพระมหาจักรพรรดิ โดยหวังให้ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเป็นบรรณาการเพื่อสันติภาพ นายปรีดีกล่าวว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” [1]

เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ อดีต ส.ส.จังหวัดแพร่ และเพื่อนฝูงของท่านผู้นี้ มีช้างหลายสิบเชือกเพื่อกิจการป่าไม้ นายปรีดีจึงได้ยืมช้างเหล่านี้มาร่วมแสดงด้วย และได้ยกกองถ่ายภาพยนตร์ไปถ่ายทำนอกสถานที่ที่จังหวัดแพร่ โดยนายปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้อำนวยการสร้าง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ช่างภาพ หรือผู้แสดง ต่างก็ไม่ได้รับค่าตัว ล้วนมาร่วมงานด้วยความสมัครใจ มีทั้งเพื่อนสนิทมิตรสหาย ครูบาอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และนักศึกษา ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๑ รุ่น ๒ และ รุ่น ๓ ร่วมแสดง สำหรับทีมงานในการถ่ายทำครั้งนั้น มี

  • ประสาท สุขุม ——— ถ่ายภาพ
  • ชาญ บุนนาค ——— บันทึกเสียง
  • บำรุง แนวพานิช ——— ตัดต่อ
  • พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ——— ประพันธ์เพลงและอำนวยเพลง
  • ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์ ——— กำกับศิลป์
  • แดง คุณะดิลก ——— เขียนบทเจรจา
  • เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ——— กำกับโขลงช้าง
  • พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว. โป้ย มาลากุล) ——— ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย
  • สัณห์ วสุธาร ——— กำกับการแสดง
  • หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม) ——— ผู้ช่วยกำกับการแสดง
  • ใจ สุวรรณทัต ——— ผู้ช่วยกำกับการแสดง

ด้านนักแสดงมี เรณู กฤตยากร  สุวัฒน์ นิลเสน  ไพลิน นิลเสน  หลวงศรีสุรางค์ และหลวงวิลาศปริวรรต (ครูเหลี่ยม) ฯลฯ ส่วนข้าพเจ้ามีหน้าที่ดูแลกองถ่ายภาพยนตร์ และช่วยท่านขุนชำนาญฯ (หลุย อินทุโสภณ) แต่งหน้าให้กับนักแสดงฝ่ายหญิง ทุกคนสนุกสนานกับการถ่ายทำภาพยนตร์

 

นายปรีดีขณะควบคุมการถ่ายทำภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. ๒๔๘๓

 

นายปรีดีขณะควบคุมการถ่ายทำภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. ๒๔๘๓
นายปรีดีขณะควบคุมการถ่ายทำภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. ๒๔๘๓

 

คนปัจจุบันอาจคุ้นหูกับทำนองเพลง “ศรีอยุธยา” หรือ “ศรีอโยธยา” แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก นายปรีดีได้ไปพบโน้ตเพลง “สายสมร” เพียงสองบรรทัดจากจดหมายเหตุ Laloubère สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[2] และได้ให้พระเจนดุริยางค์นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยผสมผสานกับเพลงเก่าอีกหลายเพลง

 

โน้ตเพลง “สายสมร” ภาพจากคุณธวัชชัย ตั้งศิริวาณิชย์ อ้างถึงใน https://www.matichonweekly.com/culture/article_8649
โน้ตเพลง “สายสมร” ภาพจากคุณธวัชชัย ตั้งศิริวาณิชย์ อ้างถึงใน https://www.matichonweekly.com/culture/article_8649

 

“ศรีอยุธยา...ไทย ไม่สุดสิ้นคนดี ศรีศักดิ์ไทยคงไทย นิมิตรในการสืบสาย ทุกสมัยไทยเรืองฤทธิเกริกไกร...ไชโย”

การที่ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกได้ให้ผู้แสดงพูดภาษาอังกฤษในฟิล์มนั้น เป็นเพราะนายปรีดีต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศ จะได้ประกาศให้ชาวโลกทราบว่าราษฎรไทยรักสันติภาพ คัดค้านสงคราม หลังจากถ่ายทำเสร็จได้นำออกฉายครั้งแรกที่นิวยอร์ก สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๔

เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ภาพยนตร์โลก องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดให้ ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเป็นมรดกของชาติไทย เป็น ๑ ใน ๑๐๐ เรื่องของภาพยนตร์โลก

ในเดือนมกราคม ๒๔๘๔ ได้เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีน ฝรั่งเศส รัฐบาลได้ปลุกระดมชาวไทยให้เดินขบวน เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส นายปรีดีเห็นว่าเรื่องนี้ควรแก้ไขด้วยการเจรจา มิควรมีการพิพาทด้วยความรุนแรงในฐานะที่เป็น ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงได้กล่าวเตือนนักศึกษาว่าไม่ควรร่วมการเดินขบวน สิ่งที่นายปรีดีหวั่นเกรงได้เกิดขึ้นในอีกสองเดือนต่อมาเมื่อญี่ปุ่นถือโอกาสเป็นอนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้ อันเป็นการสร้างอิทธิพลในประเทศไทย นายปรีดีได้ติดตามเหตุการณ์นี้ด้วยความห่วงใย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๘๔ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติผ่านพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ[3] ให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ป้องกันการรุกรานของต่างชาติทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการใช้หมามุ่ยเพื่อสกัดกั้นศัตรูผู้รุกราน

สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นทุกวัน ในคืนวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ นายปรีดีและข้าพเจ้าได้ไปงานเลี้ยงนักฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นปีแรกในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีที่ฝ่ายธรรมศาสตร์ฯ แพ้จุฬาฯ เมื่อกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม (๒๒.๐๐ น.) คนที่บ้านรายงานให้ทราบว่า พันเอกโมรียา อดีตผู้ช่วยทูตทหารบกญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โทรศัพท์มาเพื่อขอพบข้าพเจ้า อ้างว่ามีธุระด่วน นายปรีดีรู้สึกแปลกใจจึงให้เขามาพบในคืนวันนั้น พันเอกโมรียา ถามทุกข์สุขแล้วก็พูดว่า ขณะนี้สถานการณ์ตึงเครียดมาก ซึ่งเขาพูดย้ำอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่บอกรายละเอียด

รุ่งขึ้นในคืนวันที่ ๗ ธันวาคม ข้าพเจ้าไปเที่ยวงานวันซ้อมใหญ่ของงานรัฐธรรมนูญซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ที่สวนอัมพรกับพี่ๆ น้องๆ ระหว่างทางกลับบ้านเห็นคนเดินกันขวักไขว่ที่ถนนสีลม

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยแล้วจึงทราบว่าเป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาประกอบอาชีพบังหน้าในเมืองไทย เป็นช่างตัดผมบ้าง ช่างถ่ายรูปบ้าง หมอฟันบ้าง ฯลฯ หน้าที่ของบุคคลเหล่านี้คือทำหน้าที่จารกรรม และในคืนวันนั้นเวลาประมาณสองยาม (๒๔.๐๐ น.) ได้มีโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบ เชิญนายปรีดีไปประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในพระนครไปราชการต่างจังหวัด พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในการประชุมคืนนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งไม่สู้ญี่ปุ่นกับอีกฝ่ายหนึ่งคือนายปรีดี ต้องการสู้เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตย และอ้างถึงพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบว่า หากประเทศไทยถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก ราษฎรไทยจะต้องทำการต่อสู้จนถึงที่สุด เมื่อกองทัพญี่ปุ่นขึ้นตามจุดต่างๆ ในประเทศไทย ทหาร ตำรวจ และประชาชนได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับมาถึงที่ประชุมในตอนเช้า ได้สั่งให้ผู้ที่ต่อสู้วางอาวุธอ้างว่าราษฎรได้ตายไปเป็นอันมากและมีมติให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย

ส่วนข้าพเจ้าอยู่ทางบ้านเห็นนายปรีดีหายไปทั้งคืน ยังไม่กลับบ้านเปิดวิทยุรับฟังจากสถานีต่างประเทศ ทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ขึ้นตามจุดต่างๆ หลายแห่งในประเทศไทย เกือบเที่ยงวันของวันที่ ๘ ธันวาคม นายปรีดีจึงกลับบ้านด้วยความอิดโรย เพราะประชุมคณะรัฐมนตรีตลอดคืน และตลอดช่วงเช้าในวันต่อมาและที่สำคัญ นายปรีดีรู้สึกเสียใจที่คณะรัฐมนตรีกลับคำจากมติเดิม ยอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น อนุญาตให้ยกทัพผ่านแดนประเทศไทย

ตอนบ่ายๆ หลังการประชุมวิสามัญของสภาเป็นการพิเศษ ซึ่งสภารับทราบเรื่องที่รัฐบาลยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนด้วยความเศร้าสลดแล้ว มี ส.ส. ๔ - ๕ คน เท่าที่จำได้มีนายพึ่ง ศรีจันทร์  นายถวิล อุดล  นายทอง กันทาธรรม ฯลฯ และ เพื่อนบางคน อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) มาที่ “บ้านพูนศุข” บริเวณป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม ซึ่งนายปรีดีกับครอบครัวพำนักอยู่ ทุกคนที่มามีความรักชาติอย่างแรงกล้า พวกเขาต้องการทราบว่านายปรีดีจะทำอย่างไรต่อไป และถ้าจะก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น พวกเขาก็พร้อมที่จะร่วมงานด้วย

ภายหลังญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้ ๘ วัน ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันเนื่องจาก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งได้ว่างลง

ฝ่ายญี่ปุ่นพอใจที่นายปรีดีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะเข้าใจว่าเมื่อไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ย่อมหมดอำนาจสั่งการ จะได้ไม่มีโอกาสขัดขวางความต้องการเกี่ยวกับการเงินของญี่ปุ่นได้ เหตุการณ์เช่นนี้กลับทำให้นายปรีดีมีอิสระในการดำเนินการเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยได้อย่างเต็มที่ นายปรีดีรวบรวมผู้รักชาติซึ่งมีความเห็นตรงกัน จัดตั้งการต่อสู้ผู้รุกรานทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ และได้ส่งคณะผู้แทนไปติดต่อกับสัมพันธมิตรและคนไทยในต่างประเทศ ส่วนภายในประเทศได้กำลังจากผู้แทนราษฎร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนร่วมกัน

ในขณะเริ่มแรกไม่ได้ตั้งชื่อขบวนการ แต่เมื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร ได้ใช้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อสะดวกในการติดต่อ นายปรีดีมีชื่อเป็นรหัสว่า “RUTH” (รูธ) ซึ่งสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา) ใช้เมื่อติดต่อแทนชื่อจริงเพื่อเป็นการอำพราง เพราะฟังดูเป็นชื่อสตรี

ครั้นเมื่อดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทางราชการได้จัดให้นายปรีดีกับครอบครัวย้ายเข้ามาพำนักที่ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์

รัฐบาลในขณะนั้น นอกจากยอมให้กองทัพญี่ปุ่นตั้งกองกำลังในประเทศไทยแล้ว ยังได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นอีกด้วย และต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เวลาเที่ยงวัน (๑๒.๐๐ น.) ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา นายปรีดีซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ มิได้ลงนามร่วมด้วย คือ ขณะนั้นครอบครัวเราได้อพยพไปอยุธยา นายปรีดีจะไปเยี่ยมครอบครัวทุกสุดสัปดาห์ จึงไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ การที่ไม่ได้ลงนามกลับกลายเป็นผลดี เพราะเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ได้อ้างถึงการลงนามไม่ครบองค์คณะผู้สำเร็จราชการฯ เป็นเหตุผลที่ถือว่าการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ

อนึ่ง รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แสดงตัวอยู่ข้างฝ่ายอักษะอย่างเต็มที่ ถึงกับกระบอกเสียงของรัฐบาล (นายมั่น - นายคง)[4] ได้ออกอากาศก้าวร้าวจาบจ้วงไปถึงราชวงศ์อังกฤษ เป็นต้น

ตามปกตินายปรีดีไม่เคยปรึกษาราชการบ้านเมืองกับข้าพเจ้า เรามักจะคุยกันเรื่องข่าวสารความเป็นมาของเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อการต่อสู้เพื่อคัดค้านผู้รุกรานเป็นหน้าที่ของราษฎรไทยทุกคน ข้าพเจ้าได้ช่วยนายปรีดีรับฟังวิทยุต่างประเทศเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของสัมพันธมิตรข่าวการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก และบางครั้งข้าพเจ้าก็ช่วยเขียนรหัส ด้วยลายมือโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด นอกจากนั้นก็อำนวยความสะดวก แก่เสรีไทยที่มาปรึกษางานกับนายปรีดี ศาลาริมน้ำที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเสมือนสถานที่ทำงานของบรรดาเสรีไทย

การติดต่อกับสัมพันธมิตรในต่างประเทศนั้นมีเสรีไทยจากอังกฤษและอเมริกาเป็นตัวเชื่อม บางคนกระโดดร่มเข้ามาในประเทศ บางคนเข้ามาทางเรือดำน้ำ แล้วขึ้นชายฝั่งแถวเพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ หรือทางภาคใต้แถวจังหวัดระนอง อย่างเช่น คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยจากอังกฤษที่มากระโดดร่มที่จังหวัดชัยนาท[5] ก็มีหน้าที่เป็นพนักงานรับส่งวิทยุ

หลังจากถูกตำรวจไทยจับกุมและนำตัวมากรุงเทพฯ หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ซึ่งก็เป็นเสรีไทยด้วยเช่นกัน ได้เปิดโอกาสให้คุณป๋วยทำหน้าที่พนักงานวิทยุติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การควบคุมของตำรวจไทย แต่ในขั้นต้นสัมพันธมิตรต้องการตรวจสอบว่าคุณป๋วยมิได้ถูกญี่ปุ่นบังคับให้ส่งข่าว จึงโทรเลขถามที่อยู่ที่สก็อตแลนด์ของ แอนดรูว์ กิลคริสต์ (Andrew Gilchrist) อดีตนักการทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

สำหรับนายปรีดีแล้วเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ถามใครก็ไม่มีใครทราบ นายปรีดีร้อนใจมาก ในที่สุดเอ่ยปากถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตอบทันที โดยไม่ลังเลว่าให้ถามที่ คุณหญิงจีรี ธิดา ใน ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ เพราะสมัยก่อนสงคราม ในงานราตรีสโมสรของวงการทูต เห็น แอนดรูว์ กิลคริสต์ คุ้นเคยกับคุณหญิงจีรี และในที่สุดก็ได้ที่อยู่ของแอนดรูว์ กิลคริสต์

การตอบที่อยู่ของแอนดรูว์ กิลคริสต์ อย่างถูกต้องทำให้กองกำลังพิเศษ ๑๓๖ ของฝ่าย สัมพันธมิตร เชื่อถือในข่าวที่คุณป๋วยส่งไปในระยะต่อมา หลังสงครามนักการทูตอังกฤษผู้นี้เป็น Sir Andrew Gilchrist อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอินโดนีเซีย

 

นายปรีดีและคณะประชุมงานเรื่องเสรีไทย

 

นายปรีดีและคณะประชุมงานเรื่องเสรีไทย

 

นายปรีดีและคณะประชุมงานเรื่องเสรีไทย
นายปรีดีและคณะประชุมงานเรื่องเสรีไทย

 

การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ถ้าหากแพร่งพรายให้ญี่ปุ่นรู้เข้าจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และการทำงานต้องล้มเหลว นายปรีดีเองก็เคยมีเรื่องที่หนักใจเกี่ยวกับการสร้างสนามบินลับที่ทางญี่ปุ่นเกือบจะสืบทราบ แต่เผอิญสงครามได้สิ้นสุดลงจึงรอดตัวไป ความลับเป็นวินัยสูงสุดของพลพรรคเสรีไทย

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้ายังจำได้แม่นยำ คือ เรื่องของ อานนท์ ณ ป้อมเพชร์ น้องชายข้าพเจ้าที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อสงครามเกิดขึ้นได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย แล้วถูกส่งตัวมายังเมืองซือเหมาในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จากนั้นก็เดินเท้าเข้ามาประเทศไทย

ขณะนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ทราบข่าวบิดา (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) ถึงแก่กรรมจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงแม้ว่าอยากจะกลับบ้านมาเคารพศพบิดาก็ไม่อาจทำได้ เพราะการกลับมาเมืองไทยเป็นความลับ อานนท์ได้แต่นั่งรถรางผ่านหน้าบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม และมีอยู่ครั้งหนึ่ง อานนท์ได้พบญาติสนิทบนรถราง ต่างคนต่างก็จำกันได้ แต่ไม่ได้ทักกัน

ฉะนั้นจึงต่างกับผู้ไม่รู้ที่ได้เขียนนวนิยายหรือผู้ทำภาพยนตร์ในตอนหลัง บรรยายสภาพเสรีไทยว่าเป็นผู้ที่ไม่รักษาความลับปากโป้งเที่ยวป่าวประกาศใครต่อใครว่าตนเป็นเสรีไทย

ในระหว่างสงคราม นายพลโตโจแม่ทัพใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ได้มาเยือนประเทศไทยที่เป็นฝ่ายอักษะด้วยกัน ตามธรรมเนียมการทูตที่ปฏิบัติกันอยู่ นายพลโตโจได้มาลงนามแสดงความคารวะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ทำเนียบท่าช้างด้วยความอยากรู้อยากเห็นศาลาริมน้ำทรงกูบช้าง

นายพลโตโจกับคณะได้เดินไปชมทัศนียภาพ ศาลาริมน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า นายพลโตโจจะรู้หรือไม่ว่า ทำเนียบท่าช้างเป็นศูนย์กลางของขบวนการเสรีไทย และนายปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น

เนื่องจากสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดทั้งกลางวันและกลางคืน และทำเนียบท่าช้างอยู่ตรงข้ามสถานีบางกอกน้อยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ ลูกระเบิดได้ตกลงในบ้านด้วย ครอบครัวเรา จึงได้อพยพไปอยู่ที่คุ้มขุนแผน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขณะเดียวกัน นายปรีดีได้กราบบังคมทูลอัญเชิญฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เพื่อถวายความปลอดภัยและความสะดวก และได้แจ้งให้สัมพันธมิตรรับทราบเพื่อจะได้ไม่มาทิ้งระเบิดที่นั่น (รายละเอียดในเรื่องนี้หาอ่านได้ในหนังสือเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” ที่ นายปรีดีได้จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕)[6]

ข้าพเจ้าได้จัดชั้นเรียนสำหรับลูกๆ และบุตรธิดาของญาติสนิทมิตรสหายและของข้าราชบริพารในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่อพยพไปบางปะอิน ชั้นเรียนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้เป็นสาขาของโรงเรียนอยุธยาอนุสรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านครูบาอาจารย์ได้จากครูโรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์บางคน และญาติมิตรที่อพยพไปด้วยกัน

ในระหว่างสงครามราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากขาดเครื่องอุปโภคบริโภค (ลูกคนสุดท้องของข้าพเจ้ายังไม่อดนม ขณะนั้นหาซื้อนมไม่ได้ จึงเลี้ยงด้วยมะละกอสุกและกล้วยน้ำว้า) โดยเฉพาะขาดแคลนยารักษาโรค และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ น้ำท่วมใหญ่ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า

๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีและข้าพเจ้าก็เหมือนชาวไทยทั้งปวงที่รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง สัมพันธมิตรได้ส่งสาส์นด่วนถึงนายปรีดีให้รีบประกาศว่าการที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ ฉะนั้นใน วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ประกาศสันติภาพขึ้น[7] จากประกาศสันติภาพนี้ ประเทศสัมพันธมิตรยอมรับสถานะเดิมที่เป็นประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของไทย ข้าพเจ้าโล่งใจที่ประเทศชาติของเราไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี

อนึ่ง ผลพวงจากกรณีพิพาทอินโดจีนในกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ทำให้ได้มาซึ่งดินแดนเขมรส่วนนอกอันได้แก่ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ โพธิสัตว์ ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ฝรั่งเศสกำลังดำเนินเรื่องเรียกร้องเอาดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนดังกล่าว นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้เดินทางไปพระตะบอง เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรที่นั่นซึ่งมีทั้งชาวไทยและเขมร ขณะเดียวกันก็ได้ทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระตะบอง ในการนี้ข้าพเจ้าได้ร่วมเดินทางไปด้วย โดยการเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงพระตะบอง

เมื่อสงครามสิ้นสุด ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ทแบตเตน (Lord Louis Mountbatten) ผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตร ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธญี่ปุ่น โดยเลดี้ เมาน์ทแบตเตนได้ล่วงหน้ามาก่อน นายปรีดีและข้าพเจ้าได้ให้การต้อนรับอาคันตุกะที่เป็นมิตรร่วมรบในระหว่างสงครามเป็นอย่างดี มิตรภาพของเราได้ยั่งยืนเรื่อยมาแม้สงครามจะสิ้นสุดไปหลายสิบปี หลังจากนายปรีดี ออกจากประเทศจีนมาพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือน ตุลาคม ๒๕๑๓ “กองกำลังพิเศษ” (Special Forces) ได้เชิญ นายปรีดีกับข้าพเจ้าไปอังกฤษ และสมาชิก “สโมสรกองกำลังพิเศษ” (Special Forces Club) มีมติเป็นเอกฉันท์รับนายปรีดีเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ลอร์ด เมาน์ทแบตเตน ได้เชิญนายปรีดีกับข้าพเจ้าไปพักแรมที่คฤหาสน์ Broadlands, Romsey ในเขต Hampshire เสมือนหนึ่งผู้นำของประเทศ ท่านลอร์ดจัดให้นายปรีดีพักที่ห้อง Duke of Edinburgh และข้าพเจ้าพักห้องที่ Queen Elizabeth ที่ ๒ เคยประทับ ลอร์ดเมาน์ทแบตเตนเป็นปิตุลาของ Duke of Edinburgh พระสวามีในสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ ๒ ท่านลอร์ดได้ให้นายปรีดีปลูกต้น Dawn Redwood (ชื่อพฤกษศาสตร์ Metasequoia) ในบริเวณคฤหาสถ์ Broadlands เป็นที่ระลึก เป็นที่น่าเสียดายว่า ขณะนั้น เลดี้ เมาน์ทแบตเตน ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้าหลายปีแล้ว ท่านลอร์ดได้มอบหนังสือชีวประวัติภริยาท่านให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึก และ ๙ ปีต่อมา ใน ปี ๒๕๒๒ ลอร์ด เมาน์ทแบตเตนได้เสียชีวิตจากการวางระเบิดของขบวนการไอร์แลนด์เหนือ (IRA) นายปรีดีได้ส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ ๒ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และพระองค์ทรงโทรเลขตอบขอบใจมาด้วย

 

ปรีดี พูนศุข พร้อมด้วยดุษฎีและวาณี เมื่อคราวเยี่ยมเยียนราษฎรและทอดกฐินในจังหวัดพระตะบอง
ปรีดี พูนศุข พร้อมด้วยดุษฎีและวาณี เมื่อคราวเยี่ยมเยียนราษฎรและทอดกฐินในจังหวัดพระตะบอง

 

เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณบรรดาประเทศสัมพันธมิตรที่ได้ให้การสนับสนุนราษฎรไทยในการต่อต้านผู้รุกราน อีกทั้งเป็นการเจริญสันถวไมตรีกับราษฎรในประเทศต่างๆ

ดังนั้น ในระหว่างพฤศจิกายน ๒๔๘๙ - กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ นายปรีดีกับคณะซึ่งข้าพเจ้าร่วมไปด้วย ได้เดินทางไปเยือน ๙ ประเทศ ตามที่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเชิญมา เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศสัมพันธมิตรต่างยอมรับเอกราชอธิปไตย และบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศไทยเครื่องบินสายการบิน P.O.A.S. ซึ่งเพิ่งจะทดลองเปิดสายการบินนำนายปรีดีและคณะ ไปเยือนสาธารณรัฐจีนเป็นประเทศแรก

ที่กรุงนานกิงนครหลวง นายพลเจียงไคเช็ก กับ มาดามซ่งเหม่ยหลิง ให้การต้อนรับอย่างดี ทั้งยังได้จัดเครื่องบินพิเศษให้ไปเมืองเป่ยผิง (ชื่อกรุงปักกิ่งในขณะนั้น) เพื่อชมทัศนียภาพของกำแพงเมืองจีนจากเป่ยผิงบินสู่นครเซี่ยงไฮ้ ต่อเครื่องบินมายังกรุงมะนิลา ประธานาธิบดี Roxas แห่งฟิลิปปินส์ให้การต้อนรับ จากนั้นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างทางแวะที่เกาะกวม และเมืองโฮนูลูลูที่เกาะฮาวาย ที่เมืองลอสแองเจลิส คณะเราเข้าพักที่โรงแรม Beverly Hills ณ ที่นี้เครื่องประดับล้ำค่าซึ่งเป็นของเก่าแก่ของตระกูลและของญาติผู้ใหญ่ถูกโจรกรรมจากห้องพักอย่างไร้ร่องรอย แม้เจ้าหน้าที่ FBI ก็ไม่สามารถสืบจับคนร้ายได้

จากฝั่งตะวันตกของอเมริกาข้ามมาฝั่งตะวันออกที่กรุงวอชิงตัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดให้นายปรีดีกับคณะพักที่ Blair House ประธานาธิบดี Truman ให้การต้อนรับที่ทำเนียบ White House นอกจากนั้นยังไปที่ Pentagon (ที่ตั้งกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา) ซึ่งมีพิธีมอบเหรียญชัย Medal of Freedom with Gold Palm ให้นายปรีดี จากวอชิงตันมาที่นิวยอร์ก นายปรีดีได้พบกับผู้แทนหลายประเทศประจำสหประชาชาติ ขอความสนับสนุนให้รับประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

จากนั้น นั่งเรือเดินสมุทรระวางขับน้ำแสนตันที่ได้ชื่อว่าทันสมัยและหรูที่สุดในยุคนั้น ในเรือ “Queen Elizabeth” ได้พบนาย Bevin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ นาย Molotov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต ซึ่งกลับจากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติก็โดยสารเรือลำนี้ด้วยเช่นกัน เรือ Queen Elizabeth พาผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก สู่ทวีปยุโรปในฤดูหนาวด้วยความปลอดภัย นายปรีดีกับคณะเป็นแขกของรัฐบาลอังกฤษ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงอังกฤษ King George VI พระองค์พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ พระราชวัง Buckingham เจ้าหญิง Elizabeth (ต่อมาขึ้น ครองราชย์เป็น Queen Elizabeth II) และพระขนิษฐาเจ้าหญิง Margaret ได้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย สำนักพระราชวัง Buckingham ได้รายงานข่าวในวันนั้น และก่อนหน้านี้หลายปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระเจ้ากรุงอังกฤษได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Insignia of An Honorary Knight Grand Cross of the Most Distinguished Order of St. Michael and St. George ให้นายปรีดี

 

รับเชิญจาก Lord Mountbatten ให้ไปพำนัก ณ คฤหาสน์ Broadlands ประเทศอังกฤษ (มิถุนายน ๒๕๑๓)
รับเชิญจาก Lord Mountbatten ให้ไปพำนัก ณ คฤหาสน์ Broadlands ประเทศอังกฤษ (มิถุนายน ๒๕๑๓)

 

การมาเยือนอังกฤษในครั้งนี้ หน่วย “Special Forces 136” ซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษของอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยลอร์ดเมาน์ทแบตเตน ให้การต้อนรับนายปรีดีในฐานะอาคันตุกะจากสยามอย่างเอิกเกริก

จากอังกฤษข้ามมาประเทศฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี Léon Blum ให้การต้อนรับและเลี้ยงรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศ “Quai d’ Orsay” และสนทนากันด้วยไมตรีจิต อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Croix de la Légion d’ Honneur แก่นายปรีดี

จากฝรั่งเศสตรงมาสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ ๖ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระราชชนนีประทับที่เมือง Davos นายปรีดีกับคณะ ได้ไปเฝ้าพระองค์ในเดือนมกราคม ๒๔๙๐ จากสวิตเซอร์แลนด์ผ่านเยอรมนีไปประเทศเดนมาร์ก เผอิญว่าพระเจ้ากรุงเดนมาร์กประชวร จึงไม่ได้เข้าเฝ้า ส่วนพระราชินีเดนมาร์กได้เสด็จมาร่วมงานเลี้ยงที่วังของ Prince Axel

 

ปรีดีและพูนศุขบนตึก Empire State ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๙
ปรีดีและพูนศุขบนตึก Empire State ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๙

 

“แสตมป์ ๑๑๑ ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” (ซ้าย) ภาพปรีดีขณะรับเหรียญ Medal of Freedom (Gold Palm) ชั้นสูงสุด เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะหัวหน้าเสรีไทย จากนายโรเบิร์ต พี. แพตเทอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๔๘๙ (ขวา) ภาพปรีดีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฉากหลังเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์* *สุเจน กรรพฤทธิ์, “๑๑ ปี กว่าจะมีแสตมป์ “ปรีดี พนมยงค์”” (๔ ตุลาคม ๒๕๕๔) ใน http:// www.sarakadee.com/2011/10/04/stamp-pridi (เข้าถึงออนไลน์ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐)
“แสตมป์ ๑๑๑ ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์”
(ซ้าย) ภาพปรีดีขณะรับเหรียญ Medal of Freedom (Gold Palm) ชั้นสูงสุด เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะหัวหน้าเสรีไทย จากนายโรเบิร์ต พี. แพตเทอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๔๘๙ (ขวา) ภาพปรีดีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฉากหลังเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์*
*สุเจน กรรพฤทธิ์, “๑๑ ปี กว่าจะมีแสตมป์ “ปรีดี พนมยงค์”” (๔ ตุลาคม ๒๕๕๔) ใน http:// www.sarakadee.com/2011/10/04/stamp-pridi (เข้าถึงออนไลน์ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐)

 

ท่ามกลางผู้มาต้อนรับที่สนามบินน้ำท่าเรือคลองเตย พ.ศ. ๒๔๙๐
ท่ามกลางผู้มาต้อนรับที่สนามบินน้ำท่าเรือคลองเตย พ.ศ. ๒๔๙๐

 

ต่อจากนั้นเยือนประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ ๘ พระเจ้ากรุงสวีเดน King Gustave พระราชทานเลี้ยงนายปรีดีกับคณะ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน Order of Vasa (Commander Grand Cross) แก่ นายปรีดี ประเทศนอร์เวย์ คือ ประเทศสุดท้ายของการเยือนมิตรประเทศ พระเจ้ากรุงนอร์เวย์พระราชทานเลี้ยงนายปรีดีกับคณะ

เดือนมกราคม ๒๔๙๐ นายปรีดีกับคณะได้เดินทางกลับเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ เมื่อเครื่องบินน้ำ (บ้างก็เรียกว่า “เครื่องบินทะเล” เพราะเครื่องบินชนิดนี้ taxi บนผืนน้ำจะเป็นน้ำจืดก็ได้ น้ำทะเลก็ได้ ไม่ใช่ทางวิ่งบนบกผืนน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือคลองเตยเป็น runway ของเครื่องบินน้ำในเวลานั้น) ถึงท่าเรือคลองเตย ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่น้อง ประชาชนล้นหลาม

 

นก CHLOROPSIS AURIFRONS PRIDII
นก CHLOROPSIS AURIFRONS PRIDII

 

เมื่อไปสหรัฐอเมริกา เราไม่มีเวลาไปเยี่ยมชมสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่เลื่องลือด้านธรรมชาติวิทยา ครั้นเวลากลับมาเมืองไทย ผ่านเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ผู้แทนสถาบันสมิธโซเนียนได้รอพบที่นั่น และแจ้งให้นายปรีดีทราบว่าสถาบันสมิธโซเนียน ได้ตั้งชื่อนกสายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ทางภาคเหนือของ สยาม โดยฮิวจ์ เอม. สมิธ (Hugh M. Smith) ว่า “CHLOROPSIS AURIFRONS PRIDII” โดยให้รหัส “USNM 311538” พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ชื่อของนกนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติ แด่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ผู้นำขบวนการเสรีไทย”

หลังจากกลับเมืองไทยได้ไม่นาน บ้านเมืองเราก็เกิดเหตุการณ์การเมืองสำคัญๆ หลายเรื่อง ชีวิตในยามสงครามและสันติภาพของนายปรีดีและข้าพเจ้าก็ได้สิ้นสุดลง จากนั้นก็ได้เริ่มชีวิตอันผันผวนในต่างแดน

 

ที่มา : พูนศุข พนมยงค์. ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงครามและสันติภาพ, ใน, หนังสือที่ระลึกในวาระ ๗๒ ปี วันสันติภาพไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพสยามปริทัศน์, 2560) น. 38-63

 

[1]  ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก (นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน),๒๕๕๘), น. ๒๖.

 

[2] มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว โปรดดู มองซิเออร์ เดอะ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, ๒๕๕๗).

[3]  ดู พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ในภาคผนวก ก.

[4] นายมั่น คือนายสังข์ พัธโนทัย ส่วนนายคง คือพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลา นนท์).

[5]  ดูรายละเอียดได้จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์, อัตชีวประวัติ: ทหารชั่วคราว (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๙).

[6] ดู ปรีดี พนมยงค์ และคณะ, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๓) ซึ่งมีให้อ่านได้ฟรี ในเว็บไซต์ pridi-phoonsuk.com หรือดาวน์โหลดโดยตรงที่ http://www.openbase. in.th/files/pridibook017.pdf.

[7]  ดู ประกาศสันติภาพ ในภาคผนวก ค.