*บทความนี้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้เมื่อปี พุทธศักราช 2541 ในวาระครบ 60 ปี ต.ม.ธ.ก.
ในวาระที่ ต.ม.ธ.ก. มีอายุครบ 60 ปี ผู้จัดทำหนังสือระลึกขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ต.ม.ธ.ก. ข้าพเจ้ามีความยินดีสนองความปรารถนาดีนี้โดยจะขอเล่าเรื่องนายปรีดีกับ ต.ม.ธ.ก. เท่าที่ข้าพเจ้าทราบและจำได้
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีในฐานะผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎรได้พยายามผลักดันให้หลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นจริง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ตามเจตนารมณ์หนึ่งในหลักดังกล่าว คือ “การที่จะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
ต่อมาในปี 2480 นายปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ก่อตั้ง “โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (ต.ม.ธ.ก.) มุ่งจะปรับปรุงการศึกษาของราษฎรในทุกระดับให้สอดคล้องกับระบอบรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดหลักสูตรขึ้นเอง ซึ่งต่างกับหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตร 2 ปีของ ต.ม.ธ.ก. นี้ ได้ปูพื้นฐานความรู้สำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
นายปรีดีขณะนั้นนอกจากเป็นผู้ประศาสน์การแล้วยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ได้เชิญบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิมาประชุมหารือในการจัดหลักสูตรเพื่อให้นักเรียน ต.ม.ธ.ก. มีความรอบรู้ในวิชาการต่างๆ ซึ่งสามารถที่จะไปประกอบอาชีพ แม้มิได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
“ต.ม.ธ.ก.” รุ่นแรกได้เริ่มเปิดเรียนเมื่อพุทธศักราช 2481 รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 มีเฉพาะนักเรียนชาย นายปรีดีได้เลือกสรรครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถสาขาวิชาต่างๆ อาทิ ครูวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และวิชาศีลธรรมจรรยา บางท่านมีอดีตสมณศักดิ์ หลายท่านเป็นเปรียญ 9 ประโยค ครูวิชาโบราณคดี ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากกรมศิลปากร ครูวิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาฝรั่งเศส เป็นข้าราชการที่เชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศจากหลายกระทรวง ครูวิชาสุขวิทยา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วน ครูวิชาดุริยางคศาสตร์ นั้น ได้แก่ พระเจนดุริยางค์ซึ่งเป็นบรมครูด้านดนตรีในขณะนั้น
เมื่อจบภาคการศึกษา นักเรียน ต.ม.ธ.ก. จัดแสดงละครพูดหลายภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศสและบาลี ครั้นมีนักเรียนหญิงก็มีการแสดงร้องเพลงและฟ้อนรำ เมื่อนายปรีดีสร้างภาพยนตร์เพื่อสันติภาพเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ได้มีครูและนักเรียน ต.ม.ธ.ก. หลายสิบคนร่วมแสดงภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพูดภาษาอังกฤษเรื่องนี้
เพื่อให้นักเรียน ต.ม.ธ.ก. เปิดตัวกว้างสู่สังคม นอกจากการเล่าเรียนในสถานศึกษา ยังให้นักเรียนไปในงานพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ที่บ้านศาลาแดง (ปัจจุบันโรงแรมดุสิตธานี) เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ เมื่อมีการเลี้ยงรับรองคณะทูตานุทูตที่กระทรวงการต่างประเทศ นักเรียน ต.ม.ธ.ก. ได้ไปฝึกช่วยบริการ เพื่อเรียนรู้มารยาทในการสังคมระหว่างนานาชาติ ทั้งนี้ นักเรียนรุ่นแรกๆ เฉพาะนักเรียน ต.ม.ธ.ก. ที่ไปในงานสวมใส่ชุดสมุทรเสนา ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีมีภาระในการทำงานรับใช้ชาติ กอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติ จึงมิได้ใกล้ชิดนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นหลังๆ เหมือนก่อน แต่ก็มอบหมายให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักเรียน ต.ม.ธ.ก. ไปฝึกอาวุธที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เพื่อกลับมารับใช้ชาติ พร้อมที่จะปฏิบัติการใช้อาวุธขับไล่ผู้รุกราน
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว แม้นายปรีดีมีภาระที่ต้องเจรจาต่อรองกับสัมพันธมิตรมากมายแต่ก็ไม่วายห่วงใยนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นสุดท้าย (รุ่นที่ 8) ซึ่งกลับมาใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกับ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปรีดีเชิญครูผู้สอนแต่ละคนมาแนะแนววิชาที่จะสอนแทบทุกวันโดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษซึ่งได้นำ Basic Engish มาใช้สอน ผลปรากฏว่านักเรียน ต.ม.ธ.ก. สอบเตรียมอุดมตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการได้ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ของประเทศในปีนั้น
แต่น่าเสียดาย ‘ปาล’ ลูกชายคนโตของข้าพเจ้าสอบไม่ได้ เนื่องจากเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ครอบครัวนายปรีดีต้องหลบภัยไปอยู่ที่สัตหีบเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ปาลต้องขาดเรียน
มิเพียงด้านวิชาการและจริยธรรม นายปรีดียังดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียน ต.ม.ธ.ก. จัดให้ดื่มนมถั่วเหลืองทุกวันเพื่อเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และส่งเสริมการกีฬาให้มีพลานามัยสมบูรณ์ ส่วนอาหารกลางวันทางมหาวิทยาลัยจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา
นายปรีดีดูแลห่วงใยนักเรียน ต.ม.ธ.ก. ประดุจบิดาดูแลบุตร จึงไม่เป็นที่สงสัยว่านักเรียนที่จำอดีตได้ยังระลึกถึงจนทุกวันนี้
60 ปีผ่านไป นักเรียน ต.ม.ธ.ก. ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน รับใช้ชาติเป็นที่น่าชื่นชม
ปัจจุบัน ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาว ต.ม.ธ.ก. ได้สร้างคุณูปการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตลอด และสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ อย่างแข็งขัน
โอกาสที่การก่อตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองบรรจบรอบปีที่ 60 ข้าพเจ้าขออวยพรให้กรรมดีที่ศิษย์เก่า ต.ม.ธ.ก. ได้บำเพ็ญไว้แล้วนั้น จงบันดาลให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง และเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นเทอญ
ที่มา : หนังสือ 60 ปี ต.ม.ธ.ก. (พ.ศ. 2481-2541)
- ต.ม.ธ.ก.
- โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- ผู้ประศาสน์การ
- ปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- 24 มิถุนายน 2475
- คณะราษฎร
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- พระเจ้าช้างเผือก
- เจ้าพระยายมราช
- ปั้น สุขุม
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- รัชกาลที่ 8
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปาล พนมยงค์
- รัฐประหาร 2490
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์