สวัสดีครับท่านสุภาพบุรุษสุภาพสตรี ท่านสุภาพชน และอีกหลายหลายท่านที่คงไม่อาจเอ่ยนามมาได้ทั้งหมด ซึ่งในที่นี้ก็มีหลายท่านที่มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีต่อประชาธิปไตยของชาติและราษฎรไทย
วันนี้ 24 มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญของไทย หลายคนน่าจะได้เปิดฟังเพลงนี้วันนี้ไปแล้ว ผมเองเป็นรุ่นที่ได้ร้องเพลงนี้อย่างมีความสุขและมีส่วนร่วมอยู่ในยุคที่จิตวิญญาณของคณะราษฎรยังหลงเหลืออยู่ ถ้าท่านใดเข้าประตูด้านหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวงก็จะพบกับหมุดคณะราษฎรอันใหญ่ มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า มีการไปกู้หมุดคณะราษฎรมา แต่ก็ถูกเก็บขึ้นไปอีก แต่ก็อยากจะบอกว่าเก็บได้เก็บไป เราก็จะผลิตขึ้นมาใหม่อีก แม้เราจะผลิตด้วยมือไม่ได้ เราก็ผลิตด้วยใจ มันจะอยู่ในใจของเรา
นอกจากนี้ ถ้าท่านเข้ามาทางฝั่งประตูด้านหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางฝั่งสนามหลวง ก็อาจจะไม่ทันคิดว่าเสาของหอประชุมนี้มีจำนวน 6 ต้น ซึ่งเป็นตัวแทนของหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเอง อันสร้างขึ้นพร้อมกับการวางศิลาฤกษ์ของหอประชุมใหญ่นี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2497 เมื่อธรรมศาสตร์ครบรอบ 20 ปี มีหลายสิ่งที่ท่านอาจจะยังไม่ทันคิดหรือนึกไม่ถึงซึ่งผมจะค่อยๆ เท้าความให้ฟังในวันนี้
วันนี้ผมทำตัวเหมือนศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ชื่อดังท่านหนึ่งที่จัดรายการต่างๆ ที่ชอบพกหนังสือไปเยอะๆ แล้วอธิบายว่าในมือของเขานั้นมีหนังสืออะไรบ้าง วันนี้ในมือของผมมีหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อว่า “ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475 - 2500” เป็นหนังสือที่ผมเขียนเองและพิมพ์ไปแล้วจำนวน 8 ครั้ง
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่คิดว่าจะได้เห็น คือ หนังสือเล่มนี้กลับมาขายดีอีกครั้ง หนังสือเล่มนี้ผลิตโดยมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก่อตั้งโดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 ในระยะที่ผมทำงานอยู่นั้น ต้องบอกว่าเล่มนี้เราขายไม่ได้เลย บางเล่มอยู่เป็น 20 - 30 ปี แต่มันมีปรากฏการณ์ที่ Generation Z และคนรุ่นปัจจุบันซื้อหนังสือและมาตามหาซื้อหนังสือของเรา ซึ่งมันคล้องจองกับคำพูดในเวทีเสวนาของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เมื่อเช้านี้ มีคนพูดว่
“การปฏิวัติ 2475 นั้นครบรอบ 90 ปี โดยวันนี้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันศุกร์ เมื่อ 90 ปี ที่แล้วก็เป็นวันศุกร์ เราอยู่ไกลแสนไกลจากคณะราษฎร เราอยู่ไกลแสนไกลจากเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 แต่เรากลับอยู่ใกล้แสนใกล้ในวันนี้”
อย่างเมื่อวานนี้ก็มีการจัดงานที่คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งคนเนืองแน่นมากๆ วันนี้ช่วงเช้าก็มีการจัดงานที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ก็คนแน่นมากๆ และในช่วงท้ายก็มีคุณชัชชาติมาเข้าร่วม พอมีคุณชัชชาติมา คนก็มาร่วมกันอย่างถล่มทลาย และนี่เป็นปรากฎการณ์ใหม่ทางการเมืองแห่งความหวัง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของความหวังต่ออนาคต
สำหรับหนังสือเล่มนี้ที่ผมเขียนเอง แม้จะมีการตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งหนึ่งก็เพียง 500 เล่ม 1,000 เล่มเท่านั้น แต่มันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ ในชีวิตของผม อยากจะบอกว่าผมนั้นเรียนธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2503 ถึง 2506 ประมาณช่วงยุค 60s ผมมีอธิการบดีชื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร มันไม่น่าเชื่อเลยว่า อธิการบดีของผมจะชื่อนี้ ส่วนมหาวิทยาลัยที่อยู่แถวสามย่านนั้นก็มีอธิการบดีชื่อว่า จอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นสิ่งที่ไม่ใช่น่าเชื่อเลย
ในช่วงเวลาที่ผมเรียนสี่ปี แม้ว่าผมก็เรียนค่อนข้างเก่ง ได้ที่หนึ่ง ได้รางวัลภูมิพล ได้เกียรตินิยม แต่เชื่อไหมว่าผมไม่มีความรู้เลยว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเห็นมหาวิทยาลัยคู่แข่งของผมจุฬาลงกรณ์ฯ มีรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ก็เลยคิดว่าของเราน่าจะต้องมีเจ้าบ้างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เพราะว่าท่านตั้งโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม อะไรทำนองนั้น ซึ่งนั่นก็เป็นความงี่เง่าของผมเอง จนกว่าที่ผมจะมาตาสว่างก็เมื่อผมไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วในที่สุดแล้วก็ได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยจำนวนมาก
หนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์เก่าๆ ที่เขาได้เก็บเอาไว้ก็คือ “หนังสืองานไว้อาลัยนายเสียง พนมยงค์” บิดาของท่านปรีดี พนมยงค์ ผมจึงได้ดูประวัติของท่านและในช่วงนั้นก็บังเอิญที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ย้ายออกจากเมืองจีนไปอยู่กรุงปารีสในปี 1970 หรือ พ.ศ. 2513 ผมก็บังเอิญซื้อตั๋วราคาถูก บินจากนิวยอร์กไปปารีสและขออนุญาตเข้าพบท่าน
ผมคิดว่าบุตรและธิดาของท่านที่อยู่ในที่นี้ก็คงจะจำได้ ว่าเมื่อท่านไปถึงแรกๆ นั้นอยู่อพาร์ตเมนต์ท์เล็กๆ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่บ้านอองโตนี ซึ่งนั่นเป็นวันที่ผมได้เข้าพบท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งแรก แล้ววันนั้นเป็นวันที่ผมกินข้าวคลุกกะปิ ฝีมือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ยังจำรสชาติได้กระทั่งทุกวันนี้ เป็นอาหารจานหนึ่งที่ผมจำได้ไปตลอดชีวิต
ในช่วงนั้น แม้ว่าผมจะเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์แต่ผมไม่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยเลย ผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร แต่ว่าเมื่อผมไปเรียนต่างประเทศแล้วก็เริ่มตาสว่างขึ้น และนี่ก็เป็นที่มาว่าผมกลับมาแล้วสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2516 ผมอยู่ที่นี่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คือ 14 ตุลาคม 2516 และผมยังอยู่ที่นี่ต่อและได้ทำงานกับท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์
จนกระทั่ง 6 ตุลาคม 2519 ที่อาจารย์ป๋วยเอาชีวิตรอดไปได้และอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งผมเองก็ต้องหลีกเลี่ยงภัยจนไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นได้ ในที่สุดผมก็ได้ให้ความสนใจกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยและคณะราษฎรมากขึ้นๆ จนกระทั่งออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ตอนนี้ผมกำลังพยามแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษและหวังว่าจะได้หนังสืออีกหนึ่งเล่ม ซึ่งเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มสุดท้ายของชีวิต ถ้าเผื่อทำสำเร็จ บางส่วนของหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาแล้วบทจะแจกไม่กี่หน้า รวมทั้งคำประกาศของราษฎรฉบับที่หนึ่งเป็นภาษาอังกฤษแจก
เมื่อผมตาสว่างขึ้น ผมจึงคิดว่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ของคณะราษฎรนั้นควรจะต้องศึกษาอย่างไร ผมมีแนวคิดอยู่สองประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ต้องศึกษาในลักษณะของประวัติศาสตร์ระยะยาว 100 กว่าปี เป็นคำที่อาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริส เบเกอร์ ชอบใช้คำนี้ ซึ่งผมคิดว่าเราควรจะต้องมองกลับไปสัก 150 ปี เราถึงจะเห็นว่าทำไมเกิด 24 มิถุนายน 2475
ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่สอง เราต้องมองในลักษณะการเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ปฏิวัติประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ปี 1688 ของอังกฤษ ปฏิวัติอเมริกัน ปี 1776 อันตรงกับสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ การปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 เมื่อไล่เรียงแล้วเราก็จะเห็นกระบวนการที่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์อันยาวนานของสยามเอง นับตั้งแต่คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ของกลุ่มเจ้านายซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ตระกูล ณ ชุมสาย ซึ่งสุดท้ายก็ถูกเคราะห์กรรมทางการเมืองต้องหลุดออกจากราชการไป กลายเป็นคนที่ไม่ทรงโปรด ต้องไปบวชเป็นพระอยู่ศรีลังกาอะไรทำนองนี้
ซึ่งเมื่อเรามองถัดมา ก็จะเห็นปรากฏการณ์ กบฏ ร.ศ. 130 ในต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็ถูกจับกุม จนมาสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ของคณะราษฎร ถ้าเราลองไล่เรียงลำดับมา ก็จะมีกระแสที่เราเห็นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, พฤษภาคม 2553 จนมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น ในหนังสือเล่มนี้มีบทต่างๆ ที่มีความเป็นมาของประวัติศาสตร์อันยาวนาน อย่างในช่วง 5 วันวิกฤตหลัง 24 มิถุนายน 2475 นั้น คณะราษฎรก็สามารถเปิดสภาได้สำเร็จในวันที่ 28 มิถุนายน โดยมีผู้แทนราษฎรที่ถูกแต่งตั้ง 70 นายและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ต้องมาบอกว่าต้องรอนานแปดปีอย่างที่เราเห็น คณะราษฎรทำได้ใน 5 วัน ที่จะนำระบบการปกครองใหม่แบบประชาธิปไตยมา ในภาษาไทยผมเรียกว่า ‘ห้าวันวิกฤต’ แต่คนที่เป็น Editor หนังสือบทนี้ให้ผมบอกว่า ‘5 Days to Liberty’ ห้าวันไปสู่เสรีภาพ สู่เสมอภาค และสู่ภราดรภาพ
หนังสือเล่มนี้ ผมยังเขียนถึงกระบวนการการก่อตั้งคณะราษฎร ความเห็นอย่างน้อยสองด้านในการมองปฏิวัติ 2475 ในแง่บวกและในแง่ลบอย่างชิงสุกก่อนห่าม ใจร้อน ประชาชนยังไม่พร้อม ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คุ้นๆ ไหมล่ะครับ
เมื่อ 90 ปี ก็พูดกันอย่างนี้ ตอนนี้ก็ยังพูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ก็จะไล่เรียงไปเรื่อยๆ ว่าเราจะต้องดูอะไร เพื่อเข้าใจเหตุการณ์ 24 มิถุนายน ทั้งภูมิหลังประวัติศาสตร์ไทย ชนชั้นนำนิยม ข้าราชการ อุดมการณ์ชาตินิยม อุดมการณ์ประชาธิปไตย และเรื่องที่สำคัญก็คือว่า เมื่อผู้นำของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เผชิญกับโลกสมัยใหม่ (Modern Era) ของประชาธิปไตยก็ไม่สามารถปรับตัวได้ นี่จึงเป็นเหรียญสองด้าน ในแง่หนึ่งก็มองว่าอาจจะใจร้อน แต่อีกแง่หนึ่งก็คือความใจเย็น ช้าเกินไป และปรับตัวไม่ได้เหมือนอย่างที่กำลังเกิดในทุกวันนี้
การเลือกตั้งของผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงจังหวัดเดียวแต่ทำไมมันสั่นสะเทือนถึงขนาดนี้ แปลว่าสังคมไทยของเรากำลังเปลี่ยนแล้ว มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะมีความหมายมากมายมหาศาล คนอย่างนักวิชาการในประเทศไทยที่ผมนับถือมากคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็หวั่นวิตกเช่นกันว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นไปได้อย่างแนบเนียน ราบรื่น แทบจะไม่เสียเลือดเนื้อเลยแบบของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือเปล่า ด้วยการวางแผนอย่างยอดเยี่ยมและการปฏิบัติการที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงเรื่องของรัชกาลที่ 7 รวมถึงประเด็นข้ออ้างความไม่พร้อมของประชาชน คนเชื้อสายจีนในเมืองไทย และเรื่องของเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความแตกแยกในรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 ด้วย
ผมพยามมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าโลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว เริ่มต้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราก็จะคิดแต่เรื่องความเจริญด้านเทคโนโลยีและวัตถุ แต่อาจจะลืมไปว่าพร้อมๆ กับการเข้ามาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น เรื่องของประชาธิปไตยมันเข้ามาแล้ว และคนส่วนมากก็ตระหนักว่านี่คือสิ่งที่เราจะต้องมี
เพราะฉะนั้นในข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง เป็นสิ่งที่เราจะต้องกลับเปิดอ่านให้ดี เอาเข้าจริงแล้ว สยามเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังไม่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริบทในปี 1932 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว โดยไม่นับรวมประเทศที่เป็นอาณานิคม เพราะเราก็นับสยามเป็นประเทศที่มีเอกราชแม้จะยังไม่ใช่เอกราชโดยสมบูรณ์แต่เราก็อยู่ในระบบของโลก ดังนั้นแล้วเอาเข้าจริงในช่วงใกล้ๆ กันนั้น ประเทศจีนก็ได้ปฏิวัติไปแล้วในปี 1911 โดย ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 ปี 1912 เพียงไม่เท่าไหร่ ในประเทศจีนก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงรัสเซียก็เกิดปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 กลายเป็นสหภาพโซเวียตไปแล้ว
การมองเรื่องราวของปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 นั้นถูกมองอย่างเป็นเชิงลบมามากมายมหาศาล ผมเองได้รับอคติเหล่านั้นจนกว่าจะลืมตาอ้าปากหลุดออกจากความมืดของกะลาได้นั้นก็ใช้เวลานานมากๆ แม้ว่าเราจะไกลจากการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 มาถึง 90 ปี เราไกลจากเรื่องราวของคณะราษฎรมาถึง 90 ปี แต่วันนี้นึกไม่ถึงว่าคนรุ่นใหม่ Generation Z จำนวนมากได้นำเรากลับไปสู่คณะราษฎร นำเรากลับไปสู่ประชาธิปไตย นำเรากลับไปนึกถึงหมุดคณะราษฎร นึกถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังเกิดขึ้นแล้ว และถ้าลองเปรียบเทียบดูกับประเทศเพื่อนข้างบ้านเราอย่างพม่า ต้องลองดูว่าไทยกับพม่าใครจะไปถึงเส้นชัยประชาธิปไตยก่อนกัน
ขอให้ทุกคนโชคดี ปลอดโรค ปลอดภัย และขอฝากไปยังเยาวชนคนหนุ่มสาว รักษาชีวิตเอาไว้และมาเป็นแสงสว่างให้ชาติและราษฎรไทยครับ ขอบคุณครับ
ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070
- PRIDI Talks 16
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- การอภิวัฒน์สยาม 2475
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- ระบอบประชาธิปไตย
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- 24 มิถุนายน 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- ถนอม กิตติขจร
- ประภาส จารุเสถียร
- รัชกาลที่ 5
- รัชกาลที่ 6
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
- โรงเรียนกฎหมาย
- กระทรวงยุติธรรม
- เสียง พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ตระกูล ณ ชุมสาย
- นิธิ เอียวศรีวงศ์
- ซุนยัดเซ็น
- การปฏิวัติรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- กบฏ ร.ศ. 130