Focus
- ก่อนการอภิวัฒน์ทางรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 สังคมไทยได้มีการรับรู้หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาก่อน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Bangkok Recorder จัดทำโดยนายแดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน (หากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังอยู่ก็จะครบรอบ 179 ปี ของการก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 นี้)
- แนวคิดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 (ที่นายปรีดี พนมยงค์ จัดทำ) และหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรที่ผูกพันกับรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2475 รวมทั้งฉบับ พ.ศ. 2489 ล้วนกล่าวถึงหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันสอดคล้องกับหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา
- รัฐธรรมนูญฉบับแรกในอุดมคติของนายปรีดี พนมยงค์ และฉบับอื่นๆ หลังจากนั้น จึงคงมิใช่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศฝรั่งเศส ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น แต่รวมถึงจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
- The Bangkok Recorder จึงเป็นสิ่งพิมพ์สำคัญที่ทำให้ราษฎรสยามผู้เป็นชนชั้นเจ้าและผู้มีความรู้อื่นๆ เริ่มตระหนักถึงสิทธิของราษฎรและหลักการประชาธิปไตย ส่วนราษฎรทั่วไปก็เกิดการตื่นตัวที่แสดงออกถึงปัญหาและความต้องการของตน และในทางประชาธิปไตย ทั้งต่อรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สืบเนื่องถึงสมัยคณะราษฎร และหลังการอภิวัฒน์ 2475
ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยม ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญจากทั้งฝ่ายราษฎร และชนชั้นนำในสิ่งพิมพ์หลายฉบับรวมทั้งใน The Bangkok Recorder ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดทำโดย แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ณ ตรอกกัปตันบุช The Bangkok Recorder เป็นหนังสือจดหมายเหตุหรือหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของสยามที่เผยแพร่แนวคิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาด้วยการแปลเป็นภาษาไทย แม้หมุดหมายการอภิวัฒน์ทางรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรจะมีการอธิบายว่า ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสเป็นหลัก หากปรากฏว่ามีหลักประชาธิปไตยบางประการเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการปกครองจากแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากหลักประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เนื่องในวาระที่ The Bangkok Recorder ครบรอบ 179 ปี ของการก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม บทความนี้จึงจะนำเสนอทั้งแนวคิดรัฐธรรมนูญของนายปรีดี พนมยงค์ และหลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ในสังคมสยามครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 4
The Bangkok Recorder หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสังคมสยาม
จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ระบุว่าสิ่งพิมพ์ภาษาไทยยุคแรกในสยามเกิดขึ้นโดยศาสนาจารย์โรบินสัน เมื่อ พ.ศ. 2379 คือหนังสือบัญญัติสิบประการ มีคำนำ คำอธิบาย คำอธิษฐานสั้นๆ และเพลงสรรเสริญ 3 บท ขนาด 8 หน้ายก พิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม ที่ส่งมาพิมพ์เผยแพร่ และหลังจากที่หมอบรัดเลย์ได้เครื่องพิมพ์ใหม่ที่ส่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มกำลังการผลิตสิ่งพิมพ์ได้สูงขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. 2384 หมอบรัดเลย์และคณะสามารถหล่อตัวพิมพ์ไทยขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกที่มีแบบงดงามกว่าตัวพิมพ์ที่เคยใช้กันมา
จนกระทั่งในวาระวันชาติของสหรัฐอเมริกา วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 หมอบรัดเลย์จึงออกสิ่งพิมพ์ภาษาไทยที่มีลักษณะแบบหนังสือพิมพ์เป็นฉบับแรกของสยามโดยใช้ชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder ช่วงจัดพิมพ์ยุคแรกจำหน่ายเป็นรายเดือนส่วนยุคที่สองจำหน่ายเป็นรายปักษ์คือ เดือนละสองครั้ง มีเนื้อหาข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีบทความที่หมอบรัดเลย์แปลจากตำราตะวันตก ส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ มีการแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทยเผยแพร่ใน The Bangkok Recorder เป็นครั้งแรกถือเป็นคุณูปการสำคัญต่อความคิด ความรับรู้เรื่องประชาธิปไตยในสังคมสยาม[1] รวมถึงการเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมที่ผลิดอกงอกงามนับตั้งแต่นั้น[2]
หากการรับอิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมและการเมืองตะวันตกในสยามของราษฎร ปัญญาชน และชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชัดเจนใน The Bangkok Recorder ยุคที่สองจากรายชื่อบุคคลสำคัญและราษฎรราว 50 นามแรกของผู้ที่สั่งซื้อ The Bangkok Recorder มีดังนี้
“รายชื่อผู้ที่ซื้อจดหมายเหตุนี้
…
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ
กรมหมื่นราชสีห์
หม่อมราโชทัย
หลวงวิชิตชลไชย
ผู้ช่วยราชการเมืองสมุทสงคราม
นายเผือก มหัตเล็ก บ้านดินสอ
พระธรรมสาสน แพน่าวัดสังขจาย
นายจิต อยู่บ้านกดีจีน
นายคิด บ้านอยู่สําเหร่
เจ้าพระยาพระคลัง
จหมื่นสักบริบาน บ้านอยู่ตพาน เล่าเอี่ย
เจ้าหมื่นเสมอใจราช อยู่หลังวัดพรกยาญาติ
ขุนอิน อยู่หลังวัดพระยาญาติ
พระยามนเทียรบาล
พระนายไวย อยู่บ้านคลองกรมท่า
พระอินทราธิบดีสีห์ราช รองเมือง
พันธุ์เทพราช บ้านอยู่ถนนศานเจ้า คุรุศ
พระยาสุรินธ์ราชเสนี อยู่ปากคลองบางลําภู
พระภาคีสมบัติบริบูรณ์
หลวงทิพอักษร เสมยีนตรา
พระศีธรรมบริรักษ์ เมืองนคร
หลวงวิเสศภักดี เมืองสงขลา
พระยามนตรีสุริย์วงษ
พระยาราชวรานุกูล อยู่บ้านเจ้าพระยานิกรบดิน
เจ้าพระยายมราช
หม่อมเจ้ากลาง บ้านริมคลองวัดดอกไม้
คุณสรรพวิไช อยู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่
หลวงเทพราชแสนยา
หลวงพิไชยวารี บ้านอยู่เหนือกับตันฉุน
นายแดง อยู่วังกรมหมื่นมเหศร
ขุนพิพิธรัณพิจารเจ้าสัวฟัก
มิศเตอ เอตวาตศ์ ที่กงสุลอังกฤษ
จีนแสง แพอยู่น่าวัดเชิงเลน
หมื่นรองสุพมาตรา เมืองเพชร์บูรี
หมื่นรองแขวง เมืองเพชร์บูรี
พระยาอภัยสงคราม
หลวงนายเดช อยู่ริมคลองตพานหัน
จีนสือ เปน หลวงพิสารสุพผล
นายทัด บ้านอยู่ในคลองตพานหัน
นายบุน โรงพิมพ์
เจ้าฟ้ามหามาลา
ขุนทองซือ บ้านเหนือพระยาอภัยสงคราม
นายปรีดา บ้านน่าวัดโพ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
พันจัน ณุมาต อยู่ริมบ้านหลวงนาวานิกร
นายเอี่ยม มหัตเลก อยู่ที่ศาลต่างประเทป
เจ้าแบน บ้านอยู่ริมตลาดพลูช้างใน
หลวงรักษาสมบัติ
หม่อมเจ้าตั่ง อยู่วังเจ้าฟ้าอิศราพง
คุณเทียน ฤๅ วัณณโภ วัดบวรนิเวษ
จหมื่นทิบรักษา
นายช่วง อยู่ที่บ้านมิศเตอซะกอด
นายหลำ เพชรบูรี
พระปลัด เพชรบูรี
พระสมุห์มนเทียน วัดบวรนิเวษ
หลวงภาสีวิเสศ คือเจ้ะสัวเถียน
ฯลฯ”[3]
สรุปได้ว่าการก่อเกิดของ The Bangkok Recorder มีการพิมพ์เผยแพร่ใน 2 ยุค ยุคแรกได้จัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ออกเป็นรายเดือนเริ่มเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2388 โดยขายฉบับละเฟื้องและวางจำหน่ายรวม 16 ฉบับจึงเลิกกิจการไปด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ ภรรยาของหมอบรัดเลย์ป่วยหนักและขาดทุน ยุคที่สองจัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ออกเป็นรายปักษ์เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2407 ถึงปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2409 ขายฉบับละสองสลึงเฟื้องโดยวางจำหน่ายรวม 48 ฉบับ กระทั่งได้เลิกกิจการไป ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือพิมพ์แตกต่างกันในแต่ละยุคโดยยุคที่สองจะนำเสนอข่าวเหตุการณ์สำคัญภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น รวมถึงเสนอความรู้ทางการแพทย์ และสารคดีต่างๆ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีงานศึกษาเสนอเรื่องการตีพิมพ์รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียด[4]
สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในแนวคิดรัฐธรรมนูญของนายปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี อธิบายกำเนิดคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ว่ามาจาก “รัฐ” ซึ่งหมายถึงบ้านเมืองหรือแผ่นดินกับคำว่า “ธรรมนูญ” อันหมายถึงบทกฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครอง รัฐธรรมนูญในทัศนะของนายปรีดีจึงหมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ และในบางครั้งได้เรียกบทกฎหมายนี้ว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หรือ “รัฐธรรมนูญ” อย่างไรก็ตาม นายปรีดีได้เสนอว่ารัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรนั้นสามารถมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกได้ เช่น กฎบัตร (Charter) แผนการร่วม (Common program) หรือปฏิญญา (Declaration) เช่น คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิแห่งมนุษยชนโดยเปรียบเทียบได้กับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des droits de I’homme et du citoyen) ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 ถือเป็นแม่บทของประชาธิปไตยซึ่งศาลยุติธรรม และศาลปกครองจะต้องตัดสินคดีมิให้ขัดต่อปฏิญญานี้
นายปรีดีเสนอว่า
“นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญแล้ว คำประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็เป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม”
หลัก 6 ประการนั้นมีขึ้นครั้งแรกในประกาศคณะราษฎร และยังเป็นหลักการที่ให้ผู้แทนราษฎรชุดแรกกล่าวปฏิญาณในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[5]
ขณะที่แนวคิดสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาคภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรตามแนวทางรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยให้เห็นในรัฐธรรมนูญตามอุดมคติของนายปรีดีซึ่งมีงานศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ชี้ให้เห็นหลักการดังกล่าวไว้ดังนี้
“1. รัฐธรรมนูญในอุดมคติของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เน้นให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างเต็มที่
เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ประกาศหลัก 6 ประการในฐานะที่เป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม โดยมีสาระสำคัญ คือ
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยของประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันน้อยลงให้มาก
- จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลักประการที่ 4 และ ประการที่ 5 กล่าวถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างชัดเจน ต่อมาได้มีการนำหลักดังกล่าวบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
1.1 หลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
ปรีดีได้อธิบาย “หลักความเสมอภาค (Egalité)” หรือบางทีเรียกว่า “หลักสมภาค” ว่า มนุษย์เมื่อเป็นอิสระ....แล้ว ก็อาจที่จะใช้ความอิสระของตนเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์อื่น ความเสมอภาคในที่นี้ หมายถึงความเสมอภาคในกฎหมาย กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ในกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ไม่ใช่หมายความว่า มนุษย์จะต้องมีความเสมอภาคในการมีวัตถุสิ่งของ ความเสมอภาคในกฎหมายนี้อาจเป็นทั้งในทางสิทธิและในหน้าที่หรือภาระ ความเสมอภาคแยกเป็น 2 ประเภท คือ
1) ความเสมอภาคในสิทธิ
ก) การมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายเดียวกัน ยกเว้นแต่บุคคลพิเศษ เช่น เจ้านาย ทหารบก ทหารเรือ ฯลฯ ที่มีกฎหมายพิเศษ
ข) มีสิทธิที่จะร้องให้ศาลเช่นเดียวกันวินิจฉัยนอกจากบุคคลพิเศษ ซึ่งขึ้นต่อศาลกระทรวงวัง ศาลทหารบก ศาลทหารเรือ
ค) มีสิทธิที่จะเข้ารับราชการเช่นเดียวกัน เมื่อมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ดูพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 พระราชบัญญัติตุลาการ พ.ศ. 2471
2) ความเสมอภาคในหน้าที่หรือในภาระ เช่น
ก) มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีอากร
ข) มีหน้าที่จะต้องรับราชการทหาร ด้วยกัน
ปรีดี พนมยงค์ ยังได้ชี้ให้เห็นว่า หาก “ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งความไม่เสมอภาคระหว่างคนไทยนั้น ย่อมทราบแล้วว่า ก่อน 24 มิถุนายน 2475 พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปมีสิทธิพิเศษกว่าสามัญชนหลายประการ อาทิ ในทางการศาลที่ท่านเหล่านั้นต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญาก็ไม่ต้องขึ้นศาลอาญา หากพระองค์ทรงขึ้นต่อศาลกระทรวงวังเป็นพิเศษ ฯลฯ ต่อมาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ได้สถาปนาสิทธิเสมอภาคกันของราษฎรไทยทั้งหลาย อันเป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และ 9 พฤษภาคม 2489”
รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงหลักความเสมอภาคต่อไปนี้ คือ
1) แม้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จะมิได้บัญญัติถึงหลักความเสมอภาคไว้อย่างชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองความเสมอภาค ในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งของหญิงและชาย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใด...ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้…”
การให้สิทธิสตรีดังกล่าวนับว่ามีความก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่ปรีดีไปศึกษาต่อเพิ่งให้สิทธิแก่สตรีในการเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนอังกฤษก็เพิ่งให้สิทธิแก่สตรีในการลงคะแนน และรับเลือกตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2461 โดยกำหนดสตรีอายุ 30 ปี จึงมีสิทธิเลือกตั้งได้เพิ่งจะมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งชายหญิงใน พ.ศ. 2471 จากหลักความเสมอภาคที่ปรีดียึดถือและทำให้ปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกนี้เท่ากับเปิดฉากให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นตามมา จากอดีตที่ผู้หญิงเคยเป็นแค่เพียงทรัพย์สมบัติของพ่อ แม่ หรือสามี มาเป็นสตรีที่มีสิทธิมีส่วนในการปกครอง
2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่กล่าวถึงหลักความเสมอภาคอย่างชัดเจน โดยบัญญัติว่า “...ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน” (มาตรา 1 วรรค 2) และ “...บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย” (มาตรา 12) นอกจากนี้ รัฐบาลสมัยนั้นยังได้พยายามดำเนินการหลายประการเพื่อผดุงสิทธิเสมอภาคของประชาชน โดยรัฐบาลได้จัดการให้ออกพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน เพื่อให้ทุกคนได้รับความเสมอภาคในการที่จะเข้ารับราชการ รัฐบาลได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรื่องที่หวงแหนกันหนักหนา การศึกษาการเมืองนั้น แต่ก่อนมาคนทั่วไปไม่มีโอกาสศึกษา แต่บัดนี้ทุกคนได้รับความเสมอภาคในอันที่จะเรียนรู้ทางการเมืองและมีส่วนในการบ้านการเมืองของตน
1.2 หลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายถึงหลักความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ (Liberté) ไว้ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า หมายถึงความอิสระที่บุคคลอาจจะทำการใดๆ ได้ โดยไม่เป็นที่รบกวนละเมิดต่อบุคคลอื่น ซึ่งอาจแยกความเป็นอิสระออกได้ดังนี้
- ความเป็นอิสระในตัวบุคคล (หรือในร่างกาย)
- ความเป็นอิสระในเคหสถาน
- ความเป็นอิสระในการทำมาหากิน
- ความเป็นอิสระในทรัพย์สิน
- ความเป็นอิสระในการเลือกถือศาสนา
- ความเป็นอิสระในการสมาคม
- ความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น
- ความเป็นอิสระในการศึกษา
- ความเป็นอิสระในการร้องทุกข์
อย่างไรก็ตาม ปรีดี ได้ชี้ให้เห็นว่า ในเรื่องเสรีภาพนี้ก็มีผู้เข้าใจผิดหรือแกล้งทำเป็นเข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก เสรีภาพไม่ได้หมายความว่า มนุษย์จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามความพอใจ ถ้าทำเช่นนั้นก็กลายเป็นอนาคิสต์ คือ การไม่มีรัฐบาล เสรีภาพจึงต้องมีระเบียบ เสรีภาพต้องอยู่ในวงเขตของกฎหมายและศีลธรรม มนุษย์เรามีเสรีภาพจะทำอะไรได้ แต่ต้องไม่เป็นการประทุษร้ายเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ทำให้เกิดความระส่ำระสายในบ้านเมือง
หลักการดังกล่าวแม้ไม่ปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 ซึ่งอาจเป็นได้ว่า เพราะได้รับรองไว้ในหลัก 6 ประการแล้ว แต่ก็ได้รับการบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับถัดมา ได้แก่ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 บัญญัติไว้ในหมวด 2 สิทธิหน้าที่ของชนชาวสยาม…และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489 บัญญัติไว้ในหมวด 2 สิทธิหน้าที่ของชนชาวไทย”[6]
รัฐธรรมนูญในอุดมคติของนายปรีดีจึงแสดงถึงการได้รับอิทธิพลมาจากทั้งของประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาครวมทั้งแนวคิดเสรีนิยมในรัฐธรรมนูญอเมริกัน[7]
หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจาก The Bangkok Recorder
The Bangkok Recorder สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ตีพิมพ์หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง สิทธิและคุณสมบัติของประธานาธิบดี ผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก รูปแบบการเลือกตั้ง วิธีการเลือกตั้ง บทบาท หน้าที่ และวาระในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้ดังต่อไปนี้
The Bangkok Recorder, Oct. 19th, 1865.
การเผยแพร่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาฉบับภาษาไทยเริ่มต้นเล่มแรกใน The Bangkok Recorder ฉบับประจำวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2408 โดยได้ชี้แจงการแปลและอธิบายระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาเบื้องต้น[8] ดังนี้
“๏ กระษัตริย์ เมืองยูในติศเทศ ๚
๏ คนที่ดูในหัวข้อนี้ ก็คงจะถามว่า, เมืองยูในทิศเทศมีกระษัตริย์ฤๅ. ได้ยินข่าวเปนความปะรําปะราว่ามาว่า, ไม่มีกระษัตริย์, มีแต่เปรศซิเดนต์ ที่ฝูงราษฎรจัดเลือกตั้งขึ้นไว้, ให้เปนเจ้าเมืองสี่ปี, เมื่อครบแล้วก็จัดเลือกใหม่. ที่เข้าใจดั่งนั้น ก็ถูกบ้างผิดบ้าง แต่เมืองยูในทิศเทศ ไม่มีคนเปนกระษัตริย์ก็จริง, มีแต่กอนสติติวซัน คือ กดหมายอย่างหนึ่งสั้นๆ เปนแบบอย่าง สํารับจะให้เจ้าเมือง รักษาตัว แลรักษา เมือง ตามกดหมาย นั้น. เมื่อตั้งขึ้นเปนเจ้าเมือง ก็ต้องษาบาลตัวว่า จะรักษา บท กอนสติตัวซันให้ถี่ท่วน ตามสติปัญญา แลกําลัง อันครบ บรีบูรณของตัว แลหัวเมืองยูในทิศเทศ ทั้งปวงก็ได้ปฏิญาณตัวไว้, เปนใจความว่า, จะให้บท กอนสติตัวซัน ตั้งไว้เป็นต่าง กระษัตริย์ ถ้าแม้นเปรศซิเดนต์ จะหักทําลาย กอนสติติวซันเมื่อใด ก็คงจะเปนโทษ ใหญ่ เมื่อนั้น. ถ้าหัวเมืองใดๆ เอาใจออกห่างจากกอนสติติวซันนั้น ก็จัดได้ชื่อว่าเปน ขบถ. ฝูงราษฎรหัวเมืองทั้งปวงนั้น เปนผู้จัดเลือกตั้งบท กอนสติตัวซันขึ้นเปนใหญ่แทน กระษัตริย์. แลราษฎรทั้งปวงได้เลือก คนตั้งเปน เปรศซิเดนต์, สํารับจะป้องกันรักษา บทกอนสติติวซันให้มั่นคง.
๏ ที่นี้ ข้าพเจ้าจะสําแดงให้ท่านทั้งปวงรู้ว่า กอนสติตัวซัน นั้น เป็นอย่างไร. ข้าพเจ้า ได้แปลออกเป็น ภาษาไทย ตรงๆ บางที่แปลยากจะเข้าใจก็ยาก, แต่ข้าพเจ้านึก เหนว่า ท่านทั้งหลาย จะภอใจอ่าน ตรึกตรอง ดูกระษัตรีย์ เมืองยูในทิศเทศ บ้าง ดอก กระมัง. ถ้าเห็นข้อใด บทใดมีสําคัญเปนเล็บนิ้ววงกันฉนี้, ( ) ก็ให้เข้าใจว่า เปนแต่คําอธิบายความดอก.”
ใจความหลักของบทเกริ่นนำเรื่องความสำคัญของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาใน The Bangkok Recorder ฉบับนี้กล่าวไว้ว่า รัฐธรรมนูญ หรือคอนสติติวชัน หรือกอนสติติวซัน (Constitution) นั้นมีฐานะดังกษัตริย์ โดยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาจากราษฎรให้เป็นใหญ่แทนกษัตริย์ และราษฎรได้เลือกประธานาธิบดีขึ้นเพื่อที่จะป้องกันและรักษารัฐธรรมนูญให้มั่นคง ถ้าหากเมื่อใดประธานาธิบดีทำลายรัฐธรรมนูญจะต้องรับโทษครั้งใหญ่ และถ้าหัวเมืองไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจะถูกระบุว่าเป็นขบถ ทั้งนี้ ได้มีการแปลรัฐธรรมนูญบทที่ 1 จำนวน 10 ส่วน และบทที่ 2 ไว้จำนวน 3 ข้อ
ส่วนที่ 1-3 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มา คุณสมบัติ อำนาจ หน้าที่ของวุฒิสภา (senate) และผู้แทนราษฎร (representative) โดยระบุว่า ผู้แทนราษฎรจะเป็นคนที่ราษฎรในหัวเมืองได้ตั้งไว้เมื่อครบสองปีแล้วหมดวาระลงให้เลือกตั้งใหม่ส่วนใหญ่มาจากขุนนางมีอำนาจในการว่าราชการในหัวเมืองนั้นโดยมีข้อห้ามทางคุณสมบัติว่า ราษฎรที่อายุไม่ถึง 25 ปี และไม่ได้เป็นชาวอเมริกันที่อยู่ในสหรัฐอเมริกามา 7 ปี ห้ามไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งหน้าที่สำคัญของผู้แทนราษฎรคือการเก็บภาษี
และวุฒิสภาอเมริกันในยุคแรกจะเป็นคนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากขุนนาง โดยให้เป็นขุนนางว่าราชการในเมืองหลวงเมืองละ 2 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ ต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และเป็นชาวอเมริกันอยู่ในสหรัฐอเมริกาครบ 9 ปี วุฒิสภาอเมริกันจะมีอำนาจทางศาลตัดสินโทษเฉพาะวุฒิสภาด้วยกันเท่านั้น
The Bangkok Recorder, Nov. 3rd, 1865.
ในฉบับนี้ของส่วนที่ 4 ข้อที่ 2 ได้ระบุถึงหน้าที่ของสภาคองเกรสว่าจะต้องประชุมกันอย่างน้อยที่สุดปีละหน เช่น ประชุมในวันจันทร์แรกของเดือนธันวาคม เป็นต้น และส่วนที่ 5-7 ก็ได้บัญญัติเน้นไปที่วุฒิสภา และผู้แทนราษฎรทั้งการกำหนดหน้าที่ ค่าตอบแทน อำนาจ การยับยั้งอำนาจ การตักเตือน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
The Bangkok Recorder, Dec. 4th, 1865.
ในฉบับนี้มีการพาดหัวข่าวครั้งแรกว่า “คอนสติติวซัน เปนหลักเมืองของอเมริกา” และแปลส่วนที่ 8 เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของสภาคองเกรสจำนวน 13 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการจัดส่วยที่ต้องทำไปเพื่อประโยชน์แก่ปวงชน และต้องมีการตั้งค่าธรรมเนียมให้ชอบธรรมในแต่ละหัวเมือง รวมทั้งให้มีอำนาจทางกฎหมาย และอำนาจในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในระยะสิบไมล์ และส่วนที่ 9 ได้บัญญัติเรื่องสิทธิของคนต่างถิ่นในการอพยพเข้าเมืองและภาษีโดยชี้ว่า สภาคองเกรสได้รับคนต่างถิ่นเข้าอยู่อาศัยโดยไม่ห้ามมาตั้งแต่ก่อน ค.ศ. 1808 และให้เรียกเอาภาษีและค่าธรรมเนียมคนละไม่เกินสิบเหรียญได้
The Bangkok Recorder, Dec. 18th, 1865.
ในส่วนที่ 9 ที่มีการแปลต่อเนื่องมาจากฉบับก่อนนอกจากเรื่องอำนาจของสภาคองเกรสแล้วยังมีข้อบัญญัติสำคัญว่า ห้ามไม่ให้เมืองสหรัฐอเมริกาตั้งผู้ใดขึ้นเป็นเจ้า เป็นลอร์ด และห้ามผู้ใดอยู่ในตำแหน่งที่มีเบี้ยหวัด หรือตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลรับของกำนัล เงินจ้าง ตำแหน่ง ชื่อ ยศถาบรรดาศักดิ์จากเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเว้นไว้แต่ว่าสภาคองเกรสจะยอมจึงจะรับไว้ได้
The Bangkok Recorder, Jan. 1st, 1866.
ในฉบับนี้มีการแปลถึงบทที่ 2 เรื่องอำนาจ บทบาท การเลือกตั้ง และหน้าที่ของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นคือประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี คุณสมบัติคือต้องมีอายุครบ 35 ปี เกิดในสหรัฐอเมริกา หรือเป็นพลเมืองอเมริกันมาครบ 14 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับการเลือกตั้งจากผู้แทนราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ โดยประธานาธิบดีจะได้รับเบี้ยหวัดเพราะเป็นการรับราชการตามตำแหน่ง และก่อนเข้ารับตำแหน่งจะต้องมีการสาบานตนดังนี้
“ข้าพเจ้าได้ษาบาลด้วยใจกลัวเกรงพระเจ้า, ตั้งคำสัญญาว่า,ข้าพเจ้าจะว่าราชการตามตำแหน่งเปร็ศซิเด็นต์แห่งเมืองยูใน ทิศเทศโดยความสัจธรรม์. แลข้าพเจ้าจะปกครองรักษากฎหมายคอนซะติติวซัน, ของเมืองยูในทิศเทศ, ด้วยเต็มตามกำลังของข้าพเจ้า.”
การแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาใน The Bangkok Recorder ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้แสดงให้เห็นว่าราษฎรและชนชั้นนำในสังคมสยามรับรู้แนวคิดเสรีนิยม ประชาธิปไตย และการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญแบบตะวันตกก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ราว 70 ปี จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งพิมพ์สำคัญที่ทำให้ราษฎรผู้มีความรู้เริ่มตระหนักถึงสิทธิจากการอ่านรัฐธรรมนูญประกอบกับการขยายตัวของสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นในช่วงเวลาเดียวกันจนเป็นรากฐานที่ทำให้ความคิดรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของราษฎรสยามก่อเกิดและตื่นตัวขึ้นต่อมาทั้งเขียนจดหมาย ถวายฎีกา หรือส่งใบบอกจากหัวเมืองเข้าสู่ส่วนกลางให้รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์รับทราบปัญหาของตนไปจนถึงการส่งจดหมายถึงคณะราษฎรหรือตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ยุคหลังการอภิวัฒน์เพื่อบอกถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ[9]
หมายเหตุ :
- คงอักขรตัวสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- The Bangkok Recorder, Oct. 19th, 1865.
- The Bangkok Recorder, Nov. 3rd, 1865.
- The Bangkok Recorder, Dec. 4th, 1865.
- The Bangkok Recorder, Dec. 18th, 1865.
- The Bangkok Recorder, Jan. 1st, 1866.
- The Bangkok Recorder, Jan. 31st, 1866.
หนังสือภาษาไทย :
- คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย. สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก 14 ถึง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2562.
- ต็อกเกอวิลล์, เดอ อเล็กซิส. ประชาธิปไตยในอเมริกา. แปลโดย วิภาวรรณ ตุวยานนท์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2563.
- ทรงศรี ฟอแรน และคณะฯ. รวบรวมบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2376-พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1833-ค.ศ. 1950). กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2519.
- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความคิดทางการเมืองของคนอเมริกันผิวดำ: จากทาสสู่เสรีชน. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2551.
- ปราบดา หยุ่น. เสรีนิยมยืนขึ้น. กรุงเทพฯ: ไต้ฝุ่น, 2562.
- ปรีดี พนมยงค์. ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2517.
- ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535.
- ฟรีเดน, ไมเคิล. เสรีนิยม ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย เกษียร เตชะพีระ. กรุงเทพฯ: บุ๊กสเคป, 2563.
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535.
- ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
- สมบัติ จันทรวงศ์. มหาชนรัฐและประชาธิปไตย: ความคิดทางการเมืองอเมริกัน ค.ศ. 1776-1800. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529.
- แฮมิลตัน, อเล็กซานเดอร์ และคณะฯ, เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
วิทยานิพนธ์:
- สุรีรัตน์ เชิญชัยวชิราวุธ. ปัญหาในสังคมไทย : กรณีศึกษาจากหนังสือจดหมายเหตุฯ บางกอกรีคอร์เดอร์. ปริญญานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2548.
บทความในหนังสือและวารสาร :
- ภาคภูมิ วานิชกะ, “การเริ่มต้นของเสรีนิยมในประเทศไทย: แดน บีช บรัดเลและบางกอกรีคอร์เดอร์”, วารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย. ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2558), น. 1-25.
- สมคิด เลิศไพฑูรย์, “รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์”, รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (2543), น. 1-25.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (8 กรกฎาคม 2564). ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : เมื่อตั้งคำถามจึงแสวงหาคำตอบ การอ่านทำให้กะลาแตกกระจาย | PRIDI Interview
- ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์, ความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สถาบันพระปกเกล้า.
[1] คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย. สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565. 36-38.
[2] ภาคภูมิ วานิชกะ, “การเริ่มต้นของเสรีนิยมในประเทศไทย: แดน บีช บรัดเลและบางกอกรีคอร์เดอร์”, วารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย. ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2558), น. 1-25.
[3] The Bangkok Recorder, Jan. 31st, 1866. pp. 225-226.
[4] สุรีรัตน์ เชิญชัยวชิราวุธ, ปัญหาในสังคมไทย : กรณีศึกษาจากหนังสือจดหมายเหตุฯ บางกอกรีคอร์เดอร์. ปริญญานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2548. น. 23-35.
[5] ปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ,” ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), 138-140.
[6] สมคิด เลิศไพฑูรย์, “รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (2543), น. 1-25.
[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2562.), ภาคภูมิ วานิชกะ, “การเริ่มต้นของเสรีนิยมในประเทศไทย: แดน บีช บรัดเลและบางกอกรีคอร์เดอร์,” วารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2558), น. 1-25
[8] อ่านการเมืองการปกครองและแนวคิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ที่ สมบัติ จันทรวงศ์, มหาชนรัฐและประชาธิปไตย: ความคิดทางการเมืองอเมริกัน ค.ศ. 1776-1800 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529.), ต็อกเกอวิลล์, เดอ อเล็กซิส. ประชาธิปไตยในอเมริกา. แปลโดย วิภาวรรณ ตุวยานนท์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2563).
[9] ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559., ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์, ความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สถาบันพระปกเกล้า.
- หนังสือพิมพ์
- The Bangkok Recorder
- เสรีนิยม
- รัฐธรรมนูญ
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- สหรัฐอเมริกา
- การอภิวัฒน์สยาม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- รัชกาลที่ 3
- Dan Beach Bradley
- คณะราษฎร
- หลัก 6 ประการ
- คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย
- สยามพิมพการ
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- เดอ อเล็กซิส ต็อกเกอวิลล์
- ทรงศรี ฟอแรน
- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
- ปราบดา หยุ่น
- ไมเคิล ฟรีเดน
- วาณี พนมยงค์
- ศราวุฒิ วิสาพรม
- สมบัติ จันทรวงศ์
- อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน
- สุรีรัตน์ เชิญชัยวชิราวุธ
- ภาคภูมิ วานิชกะ
- สมคิด เลิศไพฑูรย์
- ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์