ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : เสถียรภาพทางการเมือง (ตอนที่ 12)

20
กรกฎาคม
2567

ต้นฉบับของตอน “เสถียรภาพทางการเมือง” ที่ถูกเขียนด้วยลายมือของกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

-1-

ในระหว่างที่รอเรือและรอวีซาหนังสือเดินทาง ข้าพเจ้าคงจะมีเวลาอยู่ที่นี่อย่างเงียบ ๆ ราว ๓-๔ สัปดาห์ และก็เปนโอกาศที่ข้าพเจ้าจะได้เขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์อีกรอบหนึ่ง

ก่อนออกเดินทาง ไม่ว่าใครก็คงจะเห็นเช่นเดียวกันว่า เดือนมีนาคมกับเมษายน เปนยามที่มีความพลุกพล่านในทางการเมืองอย่างเหลือขนาด เราต้องผเชิญกับข่าวและความเห็นเรื่องการค้นหาและการเก็บตัวนายกรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่า และก็เรื่องจอมพลผู้เคยปกครองประเทศในตำแหน่งผู้นำจะกลับเข้าสู่เวทีการเมืองอีก เสียงถามและออกความเห็นกันอึงคนึงไปว่า ใครจะเปนและควรจะเปนนายกรัฐมนตรี- อดุลย์, ดิเรก, ทวี, เดือน, ทองอินทร์, สินธุ์, สังวร ฯลฯ แล้วก็จอมพล[1] จะมาหรือไม่มา ข้าพเจ้าได้ยินใครคนหนึ่งตอบผู้ถามว่า

“คำตอบมันอยู่ที่ตัวคุณเอง อยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่ประชาชนเอง ถ้าเราต้องการให้เขามา เขาก็มา ถ้าเราไม่ต้องการเขา ก็จงวินิจฉัยดูจากพฤติกรรมในอดีตของเขาโดยถี่ถ้วนเถิด” นั่นเปนคำตอบสั้น ๆ ได้ความดี และเปนยุติธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ข่าวและความเห็นการเมืองสองเรื่องนั้น ประชาชนก็ได้พูดและได้ฟังกันมาอย่างตรากตรำถึงใจแล้ว มาถึงเดือนใหม่นี้มันน่าจะถูกปล่อยไว้เปนเรื่องของความหลัง เพื่อที่เราจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางก่อคุณประโยชน์จริงจังแก่ประเทศและประชาชนต่อไป และตามจริงก็ได้มีความคิดเห็นดังกล่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉะบับอยู่บ้างแล้ว ซึ่งถ้าความคิดเห็นเหล่านั้นได้รับการพิจารณาจากวงการเมืองด้วยความสนใจ ก็น่ามีส่วนช่วยสะกัดความตื่นพลุกพล่านในทางการเมือง เข้าสู่แนวทางอันสงบมั่นคงต่อไปได้

ตามรายงานข่าวที่ได้เปิดเผยในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว เปนที่เข้าใจกันว่า จนถึงบัดนี้ในวงพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา....[2]

 

-3-

เราได้กล่าวในตอนท้ายของบทความตอนก่อนว่า ความสำเร็จของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อยู่ที่ทุกฝ่ายทุกคนจะต้องรู้จักหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของตน คือฝ่ายปกครองก็ต้องรู้จักหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง และในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกปกครองคือประชาชนและองค์การต่างๆ ก็จะต้องรู้จักหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนั้น

ความร่วมมือของประชาชนต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ในทางที่ถูกที่ชอบเปนสิ่งจำเปนแก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยยิ่งเสียกว่าการปกครองในรูปอำนาจสิทธิขาดใด ๆ เพราะในระบอบอำนาจสิทธิขาดนั้นจะเปนในรูปกษัตริย์บงการสิทธิขาด หรือสามัญชนบงการสิทธิขาดก็ดี การเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนไม่สู้เปนสิ่งจำเปนในระบอบเช่นนั้น ผู้บงการย่อมใช้อำนาจบังคับเราได้เสมอไป เช่นสมมุติว่าเกิดขาดแคลนแรงงานประเภทหนึ่งประเภทใด ผู้บงการก็อาจบังคับเรียกเอาแรงงานเหล่านั้นได้ไม่เลือกว่าผู้ถูกเรียกจะสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม แต่ในกรณีของประเทศประชาธิปไตยจะทำการบังคับเช่นนั้นหาได้ไม่ เปนต้นว่า ถ้าชาวนาของเราพากันละทิ้งนามาประกอบอาชีพรับจ้างต่าง ๆ จนจะทำให้รายได้ในการขายข้าวของประเทศเราตกต่ำลงไปจนเปนที่น่าวิตกต่อประโยชน์ส่วนรวม ถึงแม้การเรียกให้ชาวนากลับไปสู่ทุ่งนาและคันไถของเขาจะเปนการถูกต้องสมควร และสมประโยชน์ของประเทศเพียงใดก็ดี รัฐบาลจะใช้วิธีการบังคับก็ไม่ถนัด เพราะจะเปนการขัดต่อหลักเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพของบุคคล ในประการเช่นนั้น รัฐบาลก็ได้แต่จะร้องขอความร่วมมือโดยสมัครใจของบุคคลเหล่านั้นเท่านั้น และความสำเร็จจะมีได้ก็ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นได้สำนึกถึงหน้าที่ของตนที่มีต่อปิตุภูมิ สำนึกต่อประโยชน์แห่งบริการของตนอันมีต่อเพื่อนร่วมชาติ แล้วกลับคืนไปสู่ทุ่งนาและคันไถด้วยความสมัครใจของตนเอง

ประเทศประชาธิปไตยมีหลักการอยู่มากหลายที่รัฐบาลจำต้องเคารพ ถึงแม้เปนเจตนาดีก็ตาม ถ้าการใช้วิธีการบังคับจะเปนการขัดอย่างแรงต่อหลักเสรีภาพมูลฐาน หรือเสรีภาพส่วนตัวบุคคลแล้ว รัฐบาลก็ใช้วิธีการบังคับไม่ได้ เช่นการพูดสบถ หรือพูดคำหยาบเปนของไม่ดี รัฐบาลจะออกกฎหมายให้ปรับคนพูดสบถหรือพูดคำหยาบไม่ได้ เพราะนั่นเปนเรื่องสอดเข้าไปยุ่งกับเสรีภาพส่วนตัวบุคคล แต่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบอำนาจสิทธิขาดนั้น หามีหลักการอันใดที่จะต้องคำนึงถึงไม่ อะไรๆ ก็ไปรวมอยู่ที่ “ประโยชน์ของรัฐ” (ซึ่งในที่สุดคำว่ารัฐนั้นก็มักจะกลายเปนตัวผู้บงการนั่นเอง) ถ้าผู้บงการกล่าวว่า หรือเห็นว่า เพื่อ “ประโยชน์ของรัฐ” แล้ว ผู้บงการก็จะใช้วิธีการบังคับให้ราษฎรถือตามปฏิบัติตามได้ทั้งสิ้น เช่นถ้าผู้บงการเห็นว่าการรับประทานมัสตาดจะเปนคุณประโยชน์ต่อร่างกายกว่ารับประทานน้ำพริกแล้ว ก็อาจบังคับโดยปรับผู้รับประทานน้ำพริกได้ หรือถ้าเห็นว่าการนุ่งสโหร่งและสรวมเสื้อผ้าป่านฉะเพาะเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะทำให้คนเราสบายกว่าแต่งเครื่องแบบสากล ผู้บงการก็อาจบังคับให้คนทั้งประเทศนุ่งสโหร่งตลอดฤดูร้อนได้. มันจะเปนระบอบการปกครองที่วิเศษเหลือเกิน ถ้าการบังคับเหล่านั้นจะถูกใจเราไปทุกอย่าง แต่ถ้าใครคนหนึ่งสามารถจะบังคับให้เราทำอะไร ถูกใจเราทุกอย่างและทุกคน เขาผู้นั้นก็คงสามารถที่จะบังคับให้มนุษย์ทุกคนมีรูปร่างหน้าตาเปนพิมพ์เดียวกันหมดได้เหมือนกัน

ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีอะไรคั่นอยู่ระหว่างราษฎรกับรัฐบาลทุกสิ่งทุกอย่างมีกำเนิดไปจากราษฎร. ราษฎรเลือกผู้แทนไปดำเนินการปกครองแทนเขา และพวกผู้แทนก็เลือกบุคคลในพวกเขาประกอบเปนคณะรัฐบาล ดำเนินการปกครองโดยตรงอีกชั้นหนึ่ง. คณะรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อพวกผู้แทน และพวกผู้แทนก็ต้องรับผิดชอบต่อราษฎร ทั้งผู้แทนและรัฐบาลก็เปนผู้แทนของราษฎร และเปนรัฐบาลของราษฏร. เมื่อรัฐบาลเปนรัฐบาลของราษฎรแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็เกิดมาและเปนอยู่สำหรับที่จะทำนุบำรุงกัน สำหรับที่จะตักเตือนกัน วิพากษ์กัน เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันในสิ่งที่เห็นร่วมกัน ความสัมพันธ์เช่นนี้แตกต่างกับความสัมพันธ์ของราษฎรกับรัฐบาลในระบอบอำนาจสิทธิขาด ในระบอบเช่นนั้นผู้ปกครองย่อมเรียกร้องให้ราษฎรทำตามประสงค์ได้ทุกเมื่อ และทุกประการ ไม่ว่าราษฎรจะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่

ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลเปนรัฐบาลของราษฎรซึ่งราษฎรมีสิทธิจะวิพากษ์ตักเตือนได้เสมอแล้ว ราษฎรก็ย่อมมีหน้าที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนในบรรดาการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลที่ราษฎรเห็นชอบด้วย. รัฐบาลแม้สามารถปานใดก็จะบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าหากราษฎรละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนทั้งตามกฎหมายและตามธรรมจริยาของสังคม

ความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาลเปนไปในรูปที่จะทำนุบำรุงกันฉันใด ความสัมพันธ์ระหว่างองค์การต่าง ๆ กับรัฐบาล เช่นพรรคการเมืองฝ่ายค้านและหนังสือพิมพ์ก็ดี ก็เปนไปหรือควรเป็นไปในรูปที่จะทำนุบำรุงกันฉันนั้น

ถ้าดูเผิน ๆ พรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาลนั้น ดูเปนสิ่งสองสิ่งที่มีอยู่สำหรับที่จะให้เกิดการแตกแยกกันขึ้นในประเทศชั่วกัลปาวสานต์ แต่ถ้าพินิจดูหน้าที่และภาระกิจของสิ่งทั้งสองนี้โดยถี่ถ้วนแล้ว เราก็จะเห็นว่าความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่. เราทราบอยู่แล้วว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการปกครอง และโดยที่มีภาระกิจและต้องทำการวินิจฉัยมากหลายผู้ปกครองเราก็อาจกระทำผิดและวินิจฉัยผิดได้เปนธรรมดา ผู้แทนที่สนับสนุนรัฐบาลอาจมองไม่เห็นความผิดแห่งรัฐบาลพรรคของตน หรือมิฉะนั้นก็มีพันธะที่จะไม่วิพากษ์การกระทำแห่งรัฐบาลพรรคของตนก็ใครเล่าจะเปนผู้ชี้ความผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาล ถ้ามิใช่ผู้แทนที่เปนพรรคฝ่ายค้าน และการวิพากษ์นั้น ก็หาใช่เปนแต่สิทธิไม่ หากเปนหน้าที่ของฝ่ายค้านทีเดียว. ฉะนั้นการวิพากษ์ที่ดีที่มีเหตุผล จึงมิใช่เปนการทำลาย แต่เปนการสร้าง เปนคุณมิใช่โทษ แม้แต่รัฐบาลเอง อย่างไรก็ดี หน้าที่วิพากษ์รัฐบาลหาใช่หน้าที่อันเดียวของพรรคฝ่ายค้านไม่ ถ้าพรรคฝ่ายค้านกระทำกิจเพียงแต่จะคอยวิพากษ์รัฐบาลท่าเดียว พรรคฝ่ายค้านก็อาจถูกหาว่ากระทำหน้าที่โดยไม่สุจริตได้

ลักษณะของการวิพากษ์เปนอีกสิ่งหนึ่งที่จะชี้ถึงคุณและโทษของการวิพากษ์ การวิพากษ์ที่ดีจะต้องประกอบด้วยความรอบรู้ประการหนึ่ง และจะต้องประกอบด้วยความรับผิดชอบอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุว่าถ้าการวิพากษ์ได้รับผลในทางเรียกร้องและทำให้รัฐบาลเสื่อมนิยมจนถึงต้องพ้นตำแหน่งไป พรรคฝ่ายค้านก็ต้องพร้อมที่จะเข้ารับตำแหน่งแทน และสามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้สำเร็จผลตามแผนของตน. การที่พรรคฝ่ายค้านของอังกฤษได้รับขนานนามว่า “ฝ่ายค้านของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และรัฐบาลได้ตั้งเงินเดือนให้แก่หัวหน้าฝ่ายค้านนั้น นอกจากจะเปนการรับรองยืนยันคุณค่าของฝ่ายค้านแล้ว ยังถือกันว่าพรรคฝ่ายค้านเปนรัฐบาลสำรอง และแทบจะเปนสาขาหนึ่งของรัฐบาลเองทีเดียว. ถ้าฝ่ายค้านได้แต่วิพากษ์ติเตียนรัฐบาลตะพัดไป โดยตนเองก็ไม่มีแผนการหรือไม่พร้อมที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามที่ตนได้วิพากษ์ติเตียนไว้แล้ว ที่แสดงว่าพรรคฝ่ายค้านได้ทำการวิพากษ์โดยปราศจากความรับผิดชอบทีเดียว ในกรณีเช่นนั้นการกระทำของพรรคฝ่ายค้านก็จะกลายเปนเครื่องถ่วงหน่วงเหนี่ยวกิจการของประเทศอย่างน่าทุเรศ

ฉะนั้น ในกรณีประเทศของเรา เมื่อเราได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงรัฐบาลเพื่อที่จะได้รัฐบาลที่มีฐานะมั่นคงและมีประสิทธิภาพแล้ว ในอีกทางหนึ่งคือทางฝ่ายประชาชน และองค์การต่าง ๆ เช่นพรรคฝ่ายค้าน หนังสือพิมพ์และองค์การอื่นๆ อีก ก็จะต้องสำนึกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบประการต่าง ๆ ของตน และพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนด้วยเหมือนกัน ต่อเมื่อทั้งผู้ปกครองและผู้ที่ถูกปกครองตระหนักในหน้าที่ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และพยายามร่วมมือกันโดยสุจริตจริงใจ ในสิ่งที่มีความเห็นร่วมและในสิ่งที่เปนประโยชน์ร่วมของประเทศแล้ว เราก็จะได้กำลังอันเปนปึกแผ่นเพียงพอที่จะบูรณะความเปนอยู่และจิตต์ใจของประชาชาติให้ล่วงพ้นความตกต่ำตังเปนอยู่ในขณะนี้ไปได้แน่นอน.

สันติภาพภายหลังสงคราม สำหรับระยะเวลาที่ล่วงแล้วมา มีสิ่งที่น่าชื่นชมน้อยนัก ความผิดพลาดและการอันไร้สาระได้เข้ามาช่วงชิงเวลาของประเทศไปเสียมาก แต่ถ้าเราจะสำรวมใจใช้ปัจจุบันอันจะได้เริ่มภายหลังเปิดรัฐสภาวันที่ ๑๑ พฤษภาคม โดยตั้งหน้าใช้เวลาประกอบกิจทรงศักดิ์ เปนสาระประโยชน์เต็มกำลัง ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายถูกปกครองแล้ว “โอกาศทอง” ก็ยังจะอยู่ข้างประเทศของเรา.

[๘ พฤษภา. ๙๐]

 

-4-

ภายหลังสงครามโลกครั้งแรก ระบอบการปกครองอำนาจสิทธิขาด ได้ถูกเหวี่ยงออกไปจากประเทศนั้น-ประเทศโน้น แทนที่ระบอบนั้น ประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาเชิดชูขึ้นในประเทศหนึ่ง แล้วก็อีกประเทศหนึ่ง ต่อมาอีกไม่นานปี หลักการดีงามของประชาธิปไตยในหลายประเทศได้ประสพประทุษกรรม และสถาบันหรือธรรมสถิตย์ประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นก็ได้ถูกเหวี่ยงออกไปดังปรากฏในหลายประเทศของยุโรปกลางและตะวันออก ความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน คือความพินาศของประชาธิปไตยในหลายประเทศนั้น ผู้รู้ในทางการเมืองได้ชี้ไว้ว่า ในส่วนใหญ่แล้วเปนความผิดของประชาธิปไตยนั่นเอง เมื่อสำรวจดูภาวะการณ์ของบรรดาประเทศที่ในขั้นต้นกระตือรือร้นแรงกล้าในอันจะเชิดชูประชาธิปไตย และครั้นแล้วประชาธิปไตยก็ได้ย่อยยับลงภายใต้ร่มเงาของความกระตือรือร้นนั้น เราจะได้เห็นเหตุนานาประการที่นำไปสู่ความย่อยยับ เราได้เห็นการฟัดฟาดของพรรคการเมือง ซึ่งต่างก็ไม่ยอมรับข้อต่อรองใด ๆ ของกันและกัน, เราได้เห็นความคลอนแคลนโงนเงนของรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า, เราได้เห็นความประพฤติอันไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจของพวกนักการเมือง, มาตรการต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าจำเปนต้องจัดทำให้สำเร็จก็หาสำเร็จไม่ รัฐบาลตั้งขึ้นแล้วก็ล้มไปในทุกระยะ ๒-๓ เดือน, พรรคการเมืองอุบัติขึ้นมากมายเกินการและจนถึงเสียการเพราะไม่มีหน่วยใดจะสามารถดำเนินการปกครองไปได้ และพรรคการเมืองเหล่านั้นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถจะประสานกันเปนหน่วยอันมั่นคง ดำเนินการปกครองประเทศไปได้

ภาวะการณ์ดังกล่าวนี้ได้เปนอยู่ในหลายประเทศในยุโรป ภายหลังสงครามโลกครั้งแรก ภาวะการณ์เช่นนั้นได้ชักนำประชาธิปไตยไปสู่ความพินาศ และในที่สุดก็ได้นำประเทศและประชาชนของประเทศเหล่านั้นตกเปนเหยื่อแก่ระบอบเผด็จการ ต่อจากนั้นความบ้าคลั่งของระบอบนั้นก็ได้โยนไฟบรรลัยกัลป์ลงมาบนพิภพ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ แผดเผาชีวิตและอารยธรรมของมนุษย์ชาติเปนจุลวิจุลไป. ไฟบรรลัยกัลป์ได้ดับลงร่วม ๒ ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็กลับพวยพุ่งรุ่งโรจน์ขึ้นอีก แต่ในเวลาไม่นานปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่หนอ? ในเวลานี้ใคร ๆ ก็แลไปข้างหน้าด้วยความหวังอันผุดผ่องโสภา

ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งประชาธิปไตยในประเทศของเรานั้น เมื่อได้ยัอนไปดูภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่เปนอยู่แก่ประเทศยุโรปกลางและตวันออกภายหลังสงครามโลกครั้งแรกแล้ว เราจะกล่าวไม่ได้ว่าเราไร้กังวล. เราได้มีและกำลังจะมีภาวะการณ์บางอย่างคล้ายคลึงกับที่ได้มีอยู่ในประเทศเหล่านั้น เราเปนประเทศที่เพิ่งหลุดพ้นจากระบอบอำนาจสิทธิขาดมาเพียง ๑๕ ปี, จิตต์ใจอารมณ์ของเรายังหนักหน่วงถ่วงอยู่ ด้วยความสั่งสมของอารมณ์แห่งสตวรรษโบราณ, การศึกษาและความใส่ใจในการปกครองตนเองของราษฎร ยังอยู่ในระดับต่ำ และตลอดเวลา ๑๕ ปีมานี้ ได้รับความเพ่งเล็งจากฝ่ายปกครองเพื่อขยับขยายไปสู่ระดับใหม่น้อยนัก ภาวะการณ์เช่นนี้ไม่เปนนิมิตรมงคลแก่ประชาธิปไตยอยู่แล้ว จนกว่าจะได้จัดวางแผนการศึกษาอบรมอันปราณีตและด้วยความสนใจพิเศษ ซึ่งก็เปนความหวังประการเดียวที่จะคลี่คลายสถานะการณ์ไปสู่ข้างดีได้ มาถึงบัดนี้ เรามีภาวะการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นซึ่งเปนอาการที่ล้วนแต่จะบั่นทอนกำลังประชาธิปไตยลงไป. เราได้เห็นความไม่จีรังยั่งยืนของรัฐบาล, เราได้เห็นความทุจริต ความเสื่อมทางจิตต์ใจ ความระแวงสงสัยและความไม่เชื่อถือไว้วางใจกัน ปรากฏแพร่หลายทวีขึ้นทั่วๆ ไป, ในที่สุดเราก็ได้เห็นความไม่มั่นคงทางการเมือง ได้เห็นความประพฤติอันพึงรังเกียจไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจของนักการเมืองมากคน, ได้เห็นความแตกร้าวรุนแรงระหว่างพรรคการเมือง ทั้งที่ไม่เห็นความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายของพรรค และในที่สุดในระหว่างความแตกร้าวรุนแรงของพรรคเพียงที่มีอยู่ ๓ พรรค เรากำลังจะมีพรรคใหม่เพิ่มขึ้นเปน ๔, ๕ และ ๖ ในจำนวนเหล่านี้เปนที่คาดได้ว่าจะมีพรรคอย่างน้อย ๒ พรรคซึ่งจะมีความคิดจิตต์ใจต่างกันไกลในมูลฐาน รูปการณ์ดังเปนอยู่ และที่จะเปนไปข้างหน้า โดยฉะเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น ถ้าเราไม่หลอกตัวเองหรือมุ่งปลอบตัวเองจนเกินไป เรากี่พูดไม่ได้ในขณะนี้ว่า เราแลเห็นความแจ่มใสรำไรในท้องฟ้าการเมืองของเรา

ตามที่กล่าวว่าความพินาศของประชาธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งแรกมาจากความผิดของประธิปไตยเองเปนส่วนใหญ่นั้น ท่านไวสเคาน์ต์ แซมมวล ในคำบรรยายเรื่อง The Party System and National Interests ยังได้ขีดวงไว้ด้วยว่า ความผิดของประชาธิปไตยนั้น เปนความผิดที่มาจากการปฏิบัติของพรรคการเมือง ดังจะคัดคำของท่านผู้นั้นมาลงไว้ต่อไปนี้

“ลัทธิรัฐสภา ได้เสื่อมความเชื่อถือลงไปในประเทศต่างๆ ครั้นบังเกิดความตกต่ำครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจในปี ๑๙๒๙ และในปีต่อ ๆ มา ปราสาทประชาธิปไตยซึ่งกร่อนอยู่แล้วก็พังลงมาโดยเร็ว ข้าพเจ้าขอแนะว่า สาเหตุนั้นส่วนใหญ่คือการปฏิบัติผิดของระบบพรรคการเมืองและความผิดนั้นทำให้ไม่สามารถสำเร็จกิจตามที่ประชาชนปรารถนา”

โดยที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแก่ประเทศต่างๆ มาแล้ว และเพื่อที่จะป้องกันมิให้ความคิดเช่นเดียวกันนั้นได้มาเกิดซ้ำในประเทศของเรา เราควรจะได้สำรวจท่าที่แห่งพรรคการเมืองของเรา และชำระข้อบกพร่องที่มีอยู่อย่างจริงจังสักครั้งหนึ่ง เพื่อว่าระบบพรรคการเมืองจะก้าวล่วงเสียได้จากความผิดพลาดใหญ่ ๆ อันจะนำไปสู่ความเสื่อมเชื่อถือในพรรคการเมือง และไปสู่ความอัปปางของประชาธิปไตยในที่สุด.

[๑๖ พฤษภ. ๙๐]

 

ในบทก่อนเราได้ชี้ถึงภาวะการณ์บางอย่างที่จะเปนเครื่องบั่นทอนกำลังประชาธิปไตยในประเทศของเรา. ถึงแม้เรามีเหตุควรกังวลถึงอันตรายที่พรรคการเมืองจะนำมาสู่ประชาธิปไตยก็ดี ใช่ว่าเราแลไม่เห็นส่วนดีในทางปฏิบัติของพรรคการเมืองเสียเลย. เวลานี้คนทั้งหลายมักจะนึกถึงพรรคการเมืองในรูปที่แบ่งเปนพวกเขา พวกเราเปนอริกัน และไม่ชอบหน้ากันในทางส่วนตัว การที่มีความรู้สึกนึกคิดถึงพรรคการเมืองของเราไปในรูปเช่นนี้ บางทีก็จะเปนเพราะผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นยังไม่สู้เข้าใจในลักษณะแท้จริงของพรรคการเมือง และบางทีก็จะเปนเพราะความประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองเองที่ชวนให้คนทั้งหลายนึกถึงพรรคการเมืองไปในรูปเช่นนั้น

ว่าตามจริง พรรคการเมืองนั้นหาใช่อื่นไกลไม่ ที่แท้พรรคการเมืองเปนหรือควรจะเปนศูนย์กลางชุมนุมความเห็นทางการเมืองของประชาราษฎร และที่ว่าความเห็นในทางการเมืองนั้นเล่า ก็มีใช่อื่นไกลที่แท้เปนเรื่องที่เกี่ยวกับว่าจะจัดการปกครองบ้านเมืองอย่างไร จึงจะทำให้ราษฎรส่วนใหญ่ที่สุด ได้อยู่เย็นเปนสุขที่สุดนั่นเอง ฉะนั้นพรรคการเมืองกับประชาราษฎรจึงเปนสิ่งสองสิ่งที่มีความผูกพันกันอย่างแยกออกไม่ได้ ถ้าปราศจากพรรคการเมืองแล้ว ความเห็นต่าง ๆ อันเหลือที่จะคณานับของประชาราษฎร ก็ไม่มีโอกาศจะรวมกันเปนกลุ่มก้อนได้ และผู้ปกครองประเทศก็ไม่อาจจะทราบความประสงค์ข้อสาระสำคัญ ๆ ของราษฎรได้. พรรคการเมืองแต่ละพรรคจึงมีกำเหนิดขึ้นมาด้วยการตั้งรูปความเห็นข้อสาระสำคัญในการบริหารประเทศเพื่อให้ราษฎรตรวจสอบว่า ความเห็นของพรรคใด จะเปนที่สพใจราษฎรเพียงใด.

การตรวจสอบนั้น กระทำโดยการให้ราษฎรแต่ละคนเปนผู้เลือกเอง ผลแห่งการเลือกซึ่งได้แก่การออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรนั้น จะเปนข้อวินิจฉัยว่าราษฎรส่วนเท่าใดพอใจนโยบายหรือความเห็นชนิดใดของพรรคใด เมื่อสมาชิกของพรรคใดได้รับเลือกเปนผู้แทนราษฎรส่วนข้างมาก ก็เปนอันถือได้ว่าราษฎรส่วนมากของประเทศประสงค์ให้พรรคนั้นเปนผู้บริหารประเทศตามนโยบายหรือความเห็นที่นำออกประกาศชี้แจงแก่ราษฎร ในกรณีเช่นนั้นรัฐบาลของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาก็มิใช่รัฐบาลของชนหมู่ใด กลุ่มใดโดยฉะเพาะ หากเปนรัฐบาลของประชาชนฝ่ายข้างมาก เปนรัฐบาลซึ่งเปนตัวแทนของประชาชนฝ่ายข้างมากในประเทศนั้น และพรรคฝ่ายค้านก็มิใช่พรรคของชนหมู่ใดกลุ่มใดโดยฉะเพาะ เช่นเดียวกันหากเปนพรรคซึ่งเปนตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน เปนแต่ว่าในขณะนั้นเปนตัวแทนของประชาชนฝ่ายข้างน้อย

อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองที่เปนตัวแทนประชาชนฝ่ายข้างมากและได้รับมอบอำนาจเปนรัฐบาลนั้น แม้ดำเนินการปกครองประเทศไม่เปนที่ถูกใจประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตน จะเปนด้วยไม่ดำเนินนโยบายที่ได้ตกลงกับเขาไว้ หรือดำเนินนโยบายนั้นแล้ว หากไม่บังเกิดผลเปนคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนอย่างเปนที่พอใจก็ดี ประชาชนบางส่วนที่เคยสนับสนุนก็อาจไม่พอใจ และถอนความสนับสนุนได้ แต่ประชาชนที่เคยสนับสนุนและกลับไม่พอใจนั้น จะมีส่วนมากน้อยเท่าใด จะทราบกันได้แน่นอนต่อเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง และถ้าผลของการเลือกตั้งครั้งต่อไป ปรากฏว่าพรรคที่เคยเปนรัฐบาลได้รับเลือกเป็นฝ่ายข้างน้อย และพรรคฝ่ายตรงกันข้ามกลับได้รับเลือกเป็นฝ่ายข้างมากแล้วไซร้ พรรคที่เคยเปนฝ่ายค้านก็จะกลายเปนตัวแทนของประชาชนฝ่ายข้างมาก และได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลต่อไป และก็จะมีฐานะเปนรัฐบาลของประชาราษฎร

ตามที่บรรยายลักษณะของรัฐบาลและพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาย่อ ๆ นี้ เราจะเห็นว่ารัฐบาลก็ดี พรรคการเมืองก็ดี ไม่ใช่สิ่งที่แยกออกไปจากประชาราษฎรหรือดูประหนึ่งเปนศัตรูหรือคู่ต่อสู้ของราษฎรดังที่เราเคยรู้สึกกันมา ในกรณีของรัฐบาลหรือของพรรคการเมืองในระบอบเผด็จการหรือโน้มน้อมไปในทางเผด็จการเช่นที่เคยเปนมาในประเทศนี้ และประเทศอื่น ๆ ในระบอบเช่นนั้น พรรคการเมืองก็มีอยู่แต่พรรคเดียว และก็ย่อมจะผูกขาดความคิดเห็นและนโยบายในการปกครองไว้แต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลในระบอบเช่นนั้นซึ่งได้รับความสนับสนุนจากพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีอยู่ ก็จะดำเนินการปกครองไปตามความพอใจของตนโดยปลอดจากความเห็นโต้แย้งคัดค้านจากฝ่ายอื่น และถ้าจะมีเสียงโต้แย้งคัดค้านเกิดขึ้น รัฐบาลเช่นนั้นก็จะบังคับกดขี่เอาด้วยอำนาจและด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งในส่วนใหญ่ที่เปนอนารยะวิธี เหตุนั้นเองประชาราษฎรซึ่งได้รับการกดขี่บีทาจากอำนาจ จึงมองดูรัฐบาลในระบอบเช่นนั้นเสมือนศัตรูคู่อาฆาตของเขา.

แต่สำหรับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยซึ่งได้รับอำนาจปกครองมา โดยราษฎรเปนผู้ออกเสียงเลือกนโยบายของพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองพรรค ราษฎรจึงย่อมจะมีหรือควรจะมีภาพความคิดต่อรัฐบาลตรงกันข้ามกับภาพความคิดที่เคยมีต่อรัฐบาลในระบอบเผด็จการ. ราษฎรย่อมจะเห็นรัฐบาลเปนรัฐบาลของเขาเอง เปนตัวแทนแห่งผลประโยชน์และความผาสุกของเขาเอง เพราะว่าเมื่อเขาไม่พอใจการกระทำใด ๆ ของรัฐบาล เขาก็มีสิทธิจะตักเตือนว่ากล่าว หนักบ้างเบาบ้างตามควรแก่กรณี และถ้ารัฐบาลดื้อดึงไม่ฟังคำตักเตือน หรือเปนด้วยโง่ทุยอะไรก็ตาม เขาย่อมจะปลดเสียได้เมื่อถึงกำหนดเวลา โดยออกเสียงเลือกนโยบายของอีกพรรคหนึ่ง ในรูปการณ์เช่นนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะประกอบขึ้นโดยพรรคการเมืองพรรคใด ก็จะเปนรัฐบาลของราษฎรอยู่ตลอดไป และราษฎรก็ย่อมจะคำนึงถึงรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ประดุจผู้รับใช้ของเขาหรือปียมิตรของเขา มิใช่ในฐานเปนศัตรูคู่อาฆาตของเขา ดุจที่เขาเคยคำนึงถึงรัฐบาลในระบอบเผด็จการ

พรรคการเมืองก็เช่นเดียวกัน ไมใช่สิ่งน่าเกลียดน่าชัง และนักการเมืองก็มิใช่บุคคลที่พึงเกลียดพึงชังแต่อย่างใด. เมื่อเราทราบว่าพรรคการเมืองมีขึ้นเพื่อจะรวบรวมความเห็นของประชาราษฎรให้เปนกลุ่มก้อนใหญ่ ๆ และนำไปปฏิบัติให้สมประโยชน์สมประสงค์ของราษฎรส่วนมากแล้ว พรรคการเมืองนั้นก็จะเปนแหล่งรับใช้ประชาราษฎรแหล่งใหญ่ ประโยชน์ของพรรคก็จะเปนสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกันกับประโยชน์ของชาติหรือของประชาชนส่วนรวมนั่นเอง. นักการเมืองหรือสมาชิกของพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใด จึงควรจะได้รับความขอบใจจากราษฎรในบริการสาธารณะของเขา และตัวเขาเองก็ควรจะภูมิใจที่ได้รับกระทำกิจอันมีศักดิ์ศรีเช่นนั้น

แต่ถ้าเขาไม่ได้รับความขอบใจจากราษฎร และไม่เคยภูมิใจในฐานที่เขาเปนนักการเมืองแล้ว ก็อาจจะเปนด้วยเขามิได้เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาราษฎรด้วยความบริสุทธิ์ใจ และประโยชน์ที่เปนเป้าหมายของเขานั้น ก็จะมิใช่ประโยชน์ใดอื่นนอกจากประโยชน์ส่วนตัวเขาเอง

และพรรคการเมืองก็เช่นเดียวกัน ถ้ามิได้รับความเชื่อถือจากประชาชนสมตามลักษณะดีงามในตัวเองของพรรคการเมืองนั้นแล้ว ก็คงจะเนื่องด้วยความบกพร่องบางประการ หรือหลายประการในทางปฏิบัติ เพื่อที่จะเพิ่มกำลังให้แก่ประชาธิปไตยของเรา วงการเมืองของเรา คงจะรับเอาเปนกิจด่วนในการจะปรับปรุงพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งเปนฐานการปกครองระบบรัฐสภา ให้สู่ฐานะมั่นคงตามลักษณะดีงามที่มีอยู่แล้วในตัวของมันเอง

[อาทิตย์ ๒๕ พฤษภ. ๙๐]

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายวัน
เวลา : ตอนที่ 1-2 ไม่ทราบข้อมูล
ตอนที่ 3 ฉบับวันที่ 93 พฤษกาคม พ.ศ. 2490
ตอนที่ 4 ฉบับวันที่ 20 พฤษกาคม พ.ศ. 2490
ดอนที่ 5 ฉบับวันที่ 27 พฤษกาคม พ.ศ. 2490

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “เสถียรภาพทางการเมือง ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 160-176.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] หมายถึง หลวงอดุลเดชจรัส, นายดิเรก ชัยนาม, นายทวี บุณยเกตุ, ดร.เดือน บุนนาค, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, หลวงสินธุ์สงครามชัย, หลวงสังวรยุทธกิจ และที่ระบุว่าเป็น “จอมพล” นั้น หมายถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีชื่อสามัญว่า นายแปลก ขีตตะสังคะ ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “พิบูลสงคราม”

[2] ตอนที่ 1 พบต้นฉบับเพียงเท่านี้ เข้าใจว่ามีต่ออีก และตอนที่ 2 ยังหาต้นฉบับไม่พบ -บก.