ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“The king can do no wrong” แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

19
ธันวาคม
2563

การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ ได้เกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 จากฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาสู่ฉบับ 2489 เริ่มจากการแก้ไขไปแก้ไขมาและนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ โดยอาจารย์หยุด แสงอุทัย ได้มองว่ามิได้เป็นการขัดต่อหลักกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้แต่อย่างใด เพราะมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครอง ซึ่งจะเห็นว่ามีบางคนได้เรียกร้องว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งไม่ใช่เลย ซึ่งผมได้ศึกษาแนวความคิดของอาจารย์ปรีดี รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ไม่มีหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ อาจารย์ได้ให้คุณค่าของหลัก 6 ประการ ของประกาศคณะราษฎรว่าเป็น “ปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญสยาม” เปรียบเสมือนของกฎหมายฝรั่งเศส

ผมอยากจะพูดถึงแนวความคิดของอาจารย์ปรีดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อุดมการณ์ของคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดี ที่ต้องการปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ต้องการให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสาธารณรัฐ

หากเราย้อนไปดูในปฐมรัฐธรรมนูญ จะมีการจัดวางสถานะ อำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างเหมาะสม ตามหลัก “The king can do no wrong” หลักการนี้อาจารย์ปรีดีได้เคยอธิบายไว้ในหนังสือ คำอธิบายกฎหมายปกครอง ตั้งแต่สมัยที่อาจารย์ยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอาจารย์ปรีดีได้ให้หลักไว้ว่า “‘The king can do no wrong’ นี้ใช้กับระบอบที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการบริหารแผ่นดินนอกจากอำนาจในทางพิธีการและลงพระนามและยอมให้อ้างพระนามในกิจการต่าง ๆ แต่ไม่ได้ใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง แต่ตกอยู่ที่คณะเสนาบดี ดังเช่นระบบการปกครองของประเทศอังกฤษที่มีสุภาษิต ‘The king can do no wrong’ ว่าเพราะเหตุที่กษัตริย์ทรงทำอะไรไม่ได้นี่เอง กษัตริย์จึงไม่อาจทำผิด”

ในปฐมรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดไว้ว่า กษัตริย์ยับยั้งร่างกฎหมายได้เพียง 7 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญไทย นอกจากนี้ ไม่มีบทบัญญัติที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์เหมือนอย่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ในทางตรงกันข้าม กลับมีบทบัญญัติที่แสดงถึงกษัตริย์ที่จะต้องรับผิดต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร  ในช่วงแรก อาจารย์ปรีดีต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองในบรรดาองค์กรทางรัฐธรรมนูญต่าง ๆ อำนาจสูงสุดนั้น อำนาจหนึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” และในเรื่องนี้ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนกฎหมายกับอาจารย์ปรีดีฯ และเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นคนแรกในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า มาตรา 6 นั้น ไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีที่กษัตริย์กระทำผิดกฎหมายอาญาอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงกรณีที่กษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติบ้านเมืองอีกด้วย ที่ผมสันนิษฐานว่าอาจารย์ปรีดีได้รับแรงบันดาลใจจากรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 ซึ่งเป็นสมัยที่อาจารย์ปรีดีไปเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส และมีผลใช้สืบเนื่องมาจนถึงอภิวัฒน์สยามเลยทีเดียว

รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 นั้น มีบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตั้งเป็นศาลเพื่อพิจารณาคดีที่ประธานาธิบดีเป็นจำเลยทางการเมือง คือ ความผิดฐานกบฏ ซึ่งจริง ๆ แล้วในประเทศไทยนั้นไม่เคยมีการดำเนินคดีกษัตริย์ตามบทบัญญัตินี้มาก่อน แต่ก็ได้เกิดข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งขึ้นที่น่าสนใจ คือ กรณีฟ้องรัชกาลที่ 7 คือเรื่องมีอยู่ว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2476 ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอต่อที่ประชุมสภาว่า นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถราง หรือบางคนเรียกเขาว่าเป็น วีรบุรุษกรรมกรที่ถูกลืม เขาได้ทำหนังสือฟ้องสภาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ัหัวได้ทำการบริภาษใส่ความในบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่มีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึงผู้นำกรรมการรถราง นายถวัติจึงฟ้องศาลฐานหมิ่นประมาท ต่อมากลับถูกอัยการฟ้องกลับในฐานะกบฎและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายถวัติจึงมาขอให้สภาพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 3 ฉบับที่ 2 ว่าจะสามารถฟ้องพระมหากษัตริย์ต่อศาลได้หรือไม่ ในชั้นแรก สภาเองไม่กล้ารับไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่าไม่ควร แต่สุดท้ายก็รับไว้พิจารณาและลงมติตีความว่า “บทบัญญัติมาตรา 3 สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจนิติบัญญัติไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาญาหรือแพ่งที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ส่วนในทางแพ่งนั้น การฟ้องร้องยังโรงศาลนั้น ให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนในคดีอาญาถ้าจะบังเอิญเกิดขึ้นก็ฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การให้เป็นไปตามกระบวนยุติธรรมได้” ผลของการตีความเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นการยกเอามาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับมาแรกวินิจฉัย และถือเป็นการตีความโดยสงวนอำนาจวินิจฉัยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญไว้ที่สภา จริง ๆ ผมต้องการจะเสนอให้ทุกท่านเห็นว่า เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มิใช่พึ่งเคยเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในยุคสมัยของคณะราษฎร ในยุคที่แนวความคิดประชาธิปไตยก้าวหน้ามาก ๆ โดยเฉพาะแนวคิดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถราง
นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถราง

 

ประเด็นต่อมา อาจารย์ปรีดีให้ทัศนะไว้ว่า แม้รัฐธรรมจะกำหนดไว้ให้ ส.ส. ส.ว. หรือแม้แต่กระทั่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาว่า จะต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยอาจารย์ปรีดีมองว่า เรื่องนี้เป็นธรรมเนียมหรือจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิญาณในที่ประชุมสภา ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เหตุผลของเรื่องนี้ชวนให้เราท้าวความ ในการพิจารณามาตรา 9 ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เรื่องครองราชย์สมบัติว่าควรระบุไปในมาตรา  9 หรือไม่ ว่าพระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ถกเถียงกันนานพอควร โดย ส.ส. บางท่านเสนอว่าควรเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้เกิดการชัดเจน แต่บางท่านก็คัดค้านเพราะมองว่าไม่เหมาะสม

ตัวอาจารย์ปรีดีเอง ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบ เท่าที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ร้องให้เติมร่างว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณนี้ การที่ไม่เขียนไว้ก็ดี ก็ไม่ถือว่าเมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็ไม่ต้องทรงปฏิบัติตามราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่การเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ในรายงาน” และประธานอนุกรรมการร่าง ซึ่งในขณะนั้นคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้น ก็ได้ให้การรับรองความเห็นของอาจารย์ปรีดีด้วย สุดท้ายนั้น ที่ประชุมสภานั้นก็ลงมติกันว่าไม่ต้องเติมเข้าไป เหตุที่อาจารย์ปรีดีได้กล่าวในสภาเช่นนั้น อาจารย์ปรีดีได้บันทึกถึงที่มาที่ไปว่าในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มีปัญหาว่าควรจะต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ รัชกาลที่ 7 จึงได้โปรดเกล้าให้อาจารย์ปรีดี และพระยาพหลพลพยุหเสนานั้นเข้าเฝ้า และทรงรับสั่งว่า “รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ที่ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้น ได้เขียนไว้ว่า “ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ ส่วนสยามนั้น รับสั่งว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้ว ก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้น ตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก” อาจารย์ปรีดีจึงกราบทูลว่า “เมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยแล้ว (ซึ่งจริง ๆ นั้นคือประชาธิปไตย) จะโปรดเกล้าฯ สำหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ให้มีความใดเติมไว้ในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง” ทรงรับสั่งว่า “มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

จริง ๆ หากเราย้อนไปดูพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ตอนท้าย ๆ ก็จะมีข้อความนี้อยู่ และทรงอธิบายต่อไปว่า พระราชประสงค์ตอนท้ายนี้นั้นชัดเจนอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ พระยาพหลฯ ได้กราบบังคมทูลว่า การทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นจะทำอย่างไร? พระองค์ทรงรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะทรงส่งกลับไป โดยไม่ลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลกราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไป จะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมา และจะทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าอย่างไร?

ทรงรับสั่งว่า พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพ พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ และถ้าพวกนั้นบังคับให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย พระองค์จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้

นี่จึงเป็นหลักฐานที่มาของจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญของอาจารย์ปรีดี ที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ในการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ อันที่จริงแล้วการที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ ในประเทศที่ปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะกำหนดไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และมักจะมีบทบัญญัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่ต้องเคารพรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสเปน มาตรา 61 รัฐธรรมนูญของประเทเบลเยี่ยม 91 วรรค 2 รัฐธรรมนูญของประเทศเดนมาร์ก มาตรา 8 รัฐธรรมนูญของนอร์เวย์มาตรา 9 และรัฐธรรมนูญของประเทศเนเธอร์แลนด์ มาตรา 32 เป็นต้น

 

ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “การศึกษาปฐมรัฐธรรมนูญ 2475 รัฐธรรมนูญสยาม และรัฐธรรมนูญ 2489 และการช่วงชิงความชอบธรรมอันเป็นผลพวงจากรัฐประหาร 2490” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์