ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ยามดอกเหมยบาน” (ตอนที่ 15)

8
ตุลาคม
2566

 

สวนจ๊งซ้าน ซึ่งขนานนามเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ซุนยัดเซน มีต้นเหมยอยู่หลายต้น ปลายสังเกตหน่อตูมที่งอกออกมาจากกิ่งต้นเหมยที่ไร้ใบ อากาศในเวลานั้นยังหนาวเย็น หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ แสงแดดยามเช้าอ่อนละมุนและค่อยๆ อบอุ่นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ หน่อตูมสีเขียวอ่อนดูดซึมความอบอุ่นของดวงอาทิตย์ ปริแตกเป็นกลีบดอกไม้สีชมพูอ่อน บางวันดวงอาทิตย์หลบไปอยู่หลังแผ่นฟ้าสีเทามัวๆ ลมหนาวพัดพาเกล็ดหิมะตกลงมาจากฟากฟ้า แต่กระนั้นดอกเหมยยังคงชูช่อต้านลมหนาวอย่างมิได้หวั่นไหว ดอกเหมยบานเต็มที่และบานสะพรั่งอยู่นาน ครั้นกลีบดอกไม้สีชมพูร่วงหล่นแทบเท้าใต้ต้นเหมย ก็ถึงคราวที่ใบสีเขียวผลิเต็มต้น

ยามดอกเหมยบาน หมายถึงวันตรุษจีนหรือวันแห่งฤดูใบไม้ผลิมาถึงซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

คืนวันสุกดิบ ครูจิ้นชวนปลายไปฉลองวันตรุษจีนที่ห้องพัก

ครูจิ้นสืบเชื้อสายขุนนางชนเผ่าแมนจูที่ปกครองแผ่นจีนในสมัยราชวงศ์ชิ้ง เธอสุภาพ อ่อนโยน และเมตตาใจดีต่อศิษย์เสมอ

“บ้าน” ของครูจิ้นอยู่ในบริเวณหอพักอาจารย์ ก่อนก้าวเข้าไปในบ้านปลายเห็นแผ่นป้ายตัวหนังสือภาษาจีนบนแผ่นกระดาษสีแดงติดอยู่เหนือประตู “ฉลองวันตรุษจีน” ด้านซ้ายของประตูมีแผ่นป้ายกระดาษสีแดงติดตามแนวตั้งเขียนว่า “ทุกคนเริงร่า” ด้านขวาเขียนว่า “สุขสันต์ถ้วนหน้า”

ครูจิ้นยังโสดอยู่ “บ้าน” ของครูที่แท้แล้ว คือห้องสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่นักห้องหนึ่ง โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้มีพร้อม เป็นทั้งห้องนอน ห้องทำงาน ห้องรับแขก และห้องครัว ตรงกลางห้องมีเตาถ่านหินเหมือนห้องปลาย แต่พิเศษกว่าก็คือมีหม้ออะลูมิเนียมวางอยู่บนนั้น

กิ่งเหมยก้านยาว 2 กิ่ง ปักอยูใ่นแจกัน ดอกเหมยแรกแย้มส่งกลิ่นหอมจรุง

“วันนี้ครูเป็นแม่ครัว ทำเจี่ยวจือให้หนูกิน”

เจี่ยวจือมีรูปร่างคล้ายแป้งสิบ ทว่าแป้งหนาและกระด้างกว่า ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนเงินแท่งโบราณของจีน[1] ในวันตรุษจีน การรับประทานเจี่ยวจือจึงเป็นสัญลักษณ์ของเงินทองไหลมาเทมา แต่ในยุคพรรคอมมิวนิสต์จีนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ความคิดจิตใจสำคัญกว่าวัตถุ ดังนั้น การกินเจี่ยวจือถือเป็นเพียงประเพณีที่สืบทอดกันมานานเท่านั้นเอง

ครูจิ้นหยิบเจี่ยวจือที่ปั้นเสร็จ แล้วโยนลงในน้ำที่กำลังเดือดพล่าน เจี่ยวจือจมดิ่งลงก้นหม้ออะลูมิเนียม เพียงอึดใจก็เด้งขึ้นมาเหนือน้ำ

“มันยังไม่สุกดี ต้องรออีกสักครู่” ว่าแล้วครูจิ้นเทน้ำเย็นลงในหม้อ รอจนน้ำในหม้อเดือดอีกครั้ง จึงใช้กระชอนช้อนเจี่ยวจือขึ้นมา

เจี่ยวจือไส้ผักกาดขาวผสมกับหมูสับรสกลมกล่อม ยิ่งเมื่อได้จิ้มน้ำส้มสีน้ำตาลจางๆ และกัดกลีบกระเทียมสดรสเผ็ดตามไปด้วย ก็ชูรสยิ่งขึ้น

นอกจากเจี่ยวจือแล้ว ปลายยังได้ลิ้มรสปลาต้มเค็มหอมหวนด้วยกลิ่นของซีอิ๊วดำ

“วันตรุษจีนทุกบ้านต้องกินปลา” ครูจิ้นห่อปากพูดเมื่อเปล่งเสียงภาษาจีน “หยิว” ลักยิ้มที่แก้มของครูจิ้นพลอยบุ๋มลึก

“คำว่าปลา (หยิว) กับคำว่ามีเหลือกินเหลือใช้ (หยิว) ในภาษาจีนเสียงพ้องกัน วันปีใหม่กินปลาจะได้มีเหลือกินเหลือใช้ตลอดทั้งปีไงล่ะ” ครูจิ้นอธิบายตามที่เข้าใจ

หูฟังครูจิ้นอธิบายพลาง มือขวาใช้ตะเกียบคีบเนื้อปลาเข้าปากเคี้ยวตุ้ยๆ ถ้าได้หอมซอย พริกขี้หนูหั่น บีบมะนาวหน่อย คลุกข้าวกิน คงอร่อยไม่แพ้ปลาทูต้มเค็ม ปลายคิดเช่นนั้น

หยวนเซี้ยว ขนมแป้งข้าวเหนียวก้อนกลมสีขาว ไส้ถั่วลิสงกับงาบดผสมน้ำตาล ดูแล้วคล้ายกับขนมโคยังไงยังงั้น เป็นของหวานมื้อนั้น

“จริงๆ แล้วชาวบ้านจะกินหยวนเซี้ยวในเทศกาลโคมไฟ คือหลังวันตรุษจีนไปแล้ว 15 วัน ตรงกับคืนวันเพ็ญ แต่วันนี้เราฉลองวันตรุษจีนและวันโคมไฟพร้อมๆ กัน” ครูจิ้นบอก

หยวนเซี้ยวลอยในน้ำสีขาวขุ่น ปลายตักใส่ปากไม่รอช้า กระพุ้งแก้มแทบพอง เมื่อกัดขนมหยวนเซี้ยว ร้อนอย่าบอกใครเชียว

ปลายเจ็บตัวมาแล้วหลายครั้งเพราะความซุ่มซ่ามอย่างนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่บ้านสีลม ปลายวิ่งไปเหยียบยอดกรวยแหลมคมสำหรับทำหน้าขนมเค้กของแม่ ตอนนั้นพ่อปลายลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ แม่ปลายทำขนมเค้กขายเพื่อหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ฝ่าเท้าของปลายอาบด้วยเลือดสีแดง เจ็บก็เจ็บ แต่ปลายกลัวถูกแม่ดุว่าซุ่มซ่ามจึงวิ่งไปรอบๆ บ้าน แม่ตาม “ลายแทง” ที่เป็นหยดเลือดจนพบปลายนั่งขดตัวร้องไห้อยู่มุมห้อง …

“อร่อยไหม ปู้หวา” เสียงอ่อนโยนของครูจิ้นทำให้ปลายตื่นจากภวังค์

“ซิ้นชุ้นหรูยี่ ซูเอ๋สีจิ้นปู้” ครูจิ้นกล่าวอวยพรปลาย ให้ “วันตรุษจีนสมประสงค์ดังใจหมาย การเรียนประสบแต่ความก้าวหน้า”

ปลายน้อมรับพรอันประเสริฐด้วยความเบิกบานใจ

“จู้หนินเจี้ยนคั้ง ซิ่งฝู” ปลายถือโอกาสกล่าวอวยพรครูจิ้นให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขด้วยเช่นกัน

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ยามดอกเหมยบาน,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 274-277.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ปัจจุบันคนไทยรู้จักในชื่อ “เกี๊ยวซ่า”.