ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “น้ำพริกแอปเปิ้ล” (ตอนที่ 13)

24
กันยายน
2566

 

ฤดูใบไม้ผลิจากไป ฤดูร้อนมาแทนที่ ตี 5 กว่าๆ เริ่มสว่างแล้ว จน 2 ทุ่มก็ยังไม่มืด ผู้คนออกมานั่งตากลมอยู่ริมถนน อากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ทำให้เหงื่อที่เพิ่งไหลออกมาแห้งโดยฉับพลัน หญิงสาวชาวปักกิ่งเปลี่ยนจากกางเกงมาเป็นกระโปรง กระโปรงใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง เมื่อร้อนก็สะบัดกระโปรงแทนพัด เมื่อซื้อผลไม้ก็ตวัดกระโปรงขึ้นมาใส่ส้มสูกลูกไม้แทนตะกร้า เผยให้เห็นกางเกงขาก๊วยสีขาวกลายๆ อยู่เหนือเข่า

ปลายกับพ่ออยู่ท่ามกลางฝูงชนเดินขวักไขว่บนถนนหวังฟู่จิ่ง ย่านธุรกิจการค้าของกรุงปักกิ่ง หญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งสวมใส่เสื้อผ้าสีดำทั้งชุด กางเกงทรงหลวมๆ มีผ้าพันไว้ตั้งแต่ท่อนล่างของขาจนถึงตาตุ่มรองเท้าหัวแหลมเล็กรูปสามเหลี่ยมห่อหุ้มเท้าสองข้าง เธอเดินตุปัดตุเป๋อยู่ข้างหน้าแต่ไกล ไม่ช้าปลายก็สาวเท้าเดินทัน เเละในที่สุดปลายเดินลิ่วๆ ไปข้างหน้า

ขณะนั่งรถกลับบ้าน พ่อบอกกับปลายว่า ตามทัศนคติของชายจีนในยุคศักดินาเมื่อพันปีมาแล้วเห็นว่า สตรีเป็นเพศที่อ่อนแอ ควรจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เท้าลีบเล็กเป็นความสวยงามอย่างหนึ่งของหญิงสาว ความนิยมมัดเท้าเริ่มจากกุลสตรีชาววังแพร่สู่หญิงชาวบ้าน แต่สำหรับชาวไร่ชาวนายากจนแล้ว จะปล่อยให้เท้าของลูกสาวตนเจริญเติบโตตามธรรมชาติ เพราะถ้าขืนมัดเท้าลีบเล็ก จะหาใครไปช่วยทำไร่ไถนา พ่อยังบอกปลายอีกว่ากุลสตรีในหอคอยงาช้างมัดเท้าลีบเล็ก สูญสิ้นอิสรภาพที่จะติดปีกโผบินสู่โลกภายนอก จำยอมโชคชะตาที่กำหนดโดยบิดา เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องเชื่อฟังสามี และเมื่อสามีตายไปก็ต้องเชื่อฟังลูกชายคนโต

“ดร.ซุนยัดเซ็น[1] เป็นบิดาแห่งสาธารณรัฐจีน เป็นคนหนึ่งที่ทนดูผู้หญิงถูกกดขี่ไม่ได้ มารดาของท่านถูกมัดเท้าให้ลีบเล็ก ท่านก็เจ็บปวดพอแล้ว ครั้นเมื่อพี่สาววัยรุ่นของท่านถูกค้อนและหินทุบกระดูกนิ้วเท้าให้งอเข้าแล้วใช้ผ้ามัดแน่นให้เท้าลีบเล็กจนเน่าเปื่อย ดร.ซุน จึงคัดค้านเต็มที่...”

พ่อปลายมักมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าเสมอ

ระหว่างกรกฎาคม-สิงหาคม ปิดภาคการศึกษาฤดูร้อน พ่อพาปลายไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญๆ ในปักกิ่ง และรอบๆ ปักกิ่ง พ่อถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้ปลาย พ่อบอกกับปลายว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์นั้นอย่าเป็นนกแก้วนกขุนทอง ท่องขึ้นใจแต่ “ปี พ.ศ.” หากต้องตั้งคำถามด้วยว่า “ใคร” “อะไร” “ทำไม” และ “อย่างไร”

“ต้องมีความตั้งใจและไม่อายที่จะหาความรู้เพิ่มเติมจากคนอื่น”

พ่อปลายก็เป็นเช่นว่านี้ บางครั้งออกไปเดินเล่นแถวสวนผักใกล้บ้าน พ่อใช้เวลาไม่น้อยซักไซ้ขอความรู้จากชาวสวนผักผ่านล่ามอยู่เสมอๆ

“ขงจื้อ[2] กล่าวไว้ว่า ‘คนสามคนที่เดินมาด้วยกัน ต้องมีคนหนึ่งเป็นครู ของเราแน่ๆ จงเลือกสรรแต่สิ่งที่ดีงามไว้เถิด’” พ่อพูดทิ้งท้าย

น้ำใสเย็นฉ่ำจากภูเขาซี้ซ้าน ทางทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ไหลลงสู่ทะเลสาบคุ้นหมิง ดอกบัวสีชมพูคลี่กลีบบานเต็มที่ท่ามกลางสาหร่ายสีเขียวที่เริงระบำใต้ผืนน้ำ ลมพัดโชยกลิ่นหอมระรินรื่นของเกสรสีเหลือง หมู่มัจฉาแหวกว่ายอย่างอิสระเสรี สะพานหินโค้ง 17 ช่อง ทอดเงาสีขาวบนพื้นน้ำ กิ่งต้นหลิวโน้มตัวสู่ผิวน้ำ… เบื้องหน้าปลายนั้น ภูเขาซี้ซ้านที่ทอดตัวสลับซับซ้อนคือฉากหลังของภาพวาดหมึกจีนที่ธรรมชาติกับสองมือมนุษย์ร่วมกันแต่งแต้ม ไม่ว่ามองใกล้มองไกล ล้วนเป็นทัศนียภาพที่งามตา ทำให้เกิดความรู้สึกเย็นฉ่ำชื่นอุรา

ปลายกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปตามระเบียงยาวที่ลดเลี้ยวไปตามแนวทะเลสาบ เสาไม้สีเขียวรูปสี่เหลี่ยมเรียงรายสองข้าง รองรับหลังคาระเบียง บนขื่อมีภาพวาดสีเขียวๆ แดงๆ ภาพโน้นเป็นเรื่องในนวนิยายอมตะ สามก๊ก ภาพนี้มาจากวรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว และยังภาพจากวรรณกรรมเรื่อง ความฝันในหอแดง[3] ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา ลำน้ำ จากปลายพู่กันของจิตรกรนิรนามมีชีวิตชีวาชวนชม

สุดระเบียงยาวทางทิศตะวันตก เรือหินอ่อนลำหนึ่งตั้งอยู่ในทะเลสาบไม่ไกลจากฝั่ง

พ่อเช่าเรือประทุนลำหนึ่งท่องทะเลสาบคุ้นหมิง เจ้าหน้าที่ประจำเรือสองคนยืนบนกราบเรือคนละข้าง ใช้ไม้ไผ่ยาวถ่อเรือจนถึงกลางทะเลสาบ ไกลจากฝั่ง ไกลจากผู้คน เรือประทุนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาดหมึกจีน กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับขุนเขาและลำน้ำ ยังไม่ทันถึงเที่ยง ปลายก็บ่นหิว แม่หยิบข้าวห่อใบบัวออกจากตะกร้าส่งให้ปลาย ข้าวสวยเมล็ดป้อมสั้นและเหนียว[4] กลิ่นหอมของน้ำพริกแอปเปิ้ลเตะจมูก ของเคียงมีไข่เค็มผ่าครึ่งลูก ไข่แดงสีส้มจัด และหมูหวาน ปลายจุ่มมือลงในทะเลสาบ น้ำเย็นยะเยือกจนต้องรีบชักมือขึ้นมา จากนั้นรีบใช้มือเปิบข้าวกับน้ำพริกแอปเปิ้ลจนหมดห่อ

แม่ปลายทำอาหารอร่อย ปักกิ่งไม่มีมะม่วง ไม่มีมะขาม แม่ก็ใช้แอปเปิ้ล ชนิดที่มี รสเปรี้ยวมาดัดแปลงทำเป็นน้ำพริกแอปเปิ้ล ในฤดูร้อน มะเขือเทศสีแดงผลโต ขายริมถนนเป็นกองๆ ในราคาแสนจะถูก กองละ 1 เหมากว่าๆ ไม่ถึง 2 เหมา ก็เพียง 2 บาท เท่านั้นเอง แม่ซื้อมาทำแยมมะเขือเทศ สีแดงใสแจ๋วน่ารับประทาน เป็นที่ถูกอกถูกใจและถูกปากพ่อกับปลาย

เมื่อข้าวเรียงเม็ดแล้ว ปลายเร่งเร้าให้พ่อเล่าความเป็นมาของพระราชวัง ฤดูร้อน หยีเหอหยวนหรือ “พระราชวังสงบเย็น” แห่งนี้

“เมื่อ 800 กว่าปีก่อน สมัยราชวงศ์จิ๊นเริ่มสร้างที่นี่เป็นพระราชนิเวศน์ ต่อมาสมัยราชวงศ์หยวนได้ขุดลอกขยายทะเลสาบเป็นอ่างเก็บน้ำ หล่อเลี้ยงชาวเมืองปักกิ่งและรอบๆ เมืองปักกิ่ง มาสมัยราชวงศ์หมิงได้สร้างพระตำหนักบนเนินเขา จนกระทั่งปีที่ 15 ในรัชสมัยเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิ้ง เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุของ พระราชชนนี พระจักรพรรดิเฉียนหลงได้พระราชทาน สมญานามเนินเขาลูกนั้นว่า ว่านโซ่วซ้าน หรือเขาหมื่นปี และพระราชทานนามทะเลสาบว่า คุ้นหมิงหู หรือ ทะเลสาบคุ้นหมิง”

สายตาของพ่อปลายเพ่งมองไปยังเรือหินอ่อนที่อยู่ไกลลิบๆ ปลายรินน้ำชาจีนร้อนจากกระติกส่งให้พ่อ พ่อจิบน้ำชาพลางเล่าต่อไปว่า

 

 

“ปีที่ 10 ในรัชสมัยเสียนเฟิง ทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเข้ารุกรานกรุงปักกิ่ง พระราชนิเวศน์แห่งนี้ถูกทำลายอย่างหนัก หลังจากนั้น 28 ปี เมื่อพุทธศักราช 2411 พระนางซูสีไทเฮาทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำเงินงบประมาณ กองทัพเรือมาบูรณะซ่อมแซมรวมทั้งสร้างเรือหินอ่อนที่เราเห็นเมื่อตะกี้นี้ และทรงเปลี่ยนชื่อ สวนระลอกคลื่นเป็น ‘สวนสงบเย็น’”

“ทำไมพระนางซูสีมีพระราชอำนาจสั่งการทำอะไรต่อมิอะไรได้คะ” ปลายถามอย่างสงสัย

“พระนางซูสีเป็นพระสนมเอกของจักรพรรดิเสียนเฟิง เมื่อสิ้นแผ่นดินของจักรพรรดิเสียนเฟิง พระราชโอรสวัยเยาว์ของพระนางได้สถาปนาเป็นจักรพรรดิถงจื้อ พระนางจึงทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองหลังพระวิสูตรเรื่อยมาถึงสองแผ่นดิน จนถึงรัชสมัยจักพรรดิก๊วงสวี่”

พ่อปลายชอบอ่านหนังสือ เวลาไปเดินเล่นในตลาดขายของเก่าย่านต้งต๊านทีไร มักซื้อหนังสือติดมือกลับบ้าน บนชั้นหนังสือมีหนังสือจักรๆ วงศ์ๆ เป็นภาษาอังกฤษอยู่หลายเล่ม จึงไม่แปลกที่พ่อรู้เรื่องประวัติศาสตร์จีนเป็นอย่างดี

“ครั้นปีที่ 26 ในรัชสมัยก๊วงสวี่ ตรงกับพุทธศักราช 2443 กองทหาร 8 มหาประเทศทำลาย ‘พระราชวังสงบเย็น’ อีกเป็นซ้ำสอง วัดหลังใหญ่บนเนินเขาและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กลายเป็นเถ้าธุลี”

“แล้วยังพระราชวังหยวนหมิงหยวนอีก ถูกเผาเรียบเป็นหน้ากลอง เหลือแต่เสาหินไม่กี่ต้น...” น้ำเสียงของพ่อปลายบ่งถึงความเสียดาย

ปลายเดินตามพ่อเข้าไปในประตูประวัติศาสตร์ นึกถึงอยุธยากรุงเก่าของเรา นึกถึงภาพปรักหักพังของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อใด ผลลัพธ์จากสงครามมิได้แตกต่างกันเลย ปลายอยากรู้ว่า จิตใจของผู้กระหายสงครามนั้นทำด้วยอะไร ทำไมจึงเหี้ยมโหดปานนี้

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “น้ำพริกแอปเปิ้ล,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 262-267.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ดร.ซุนยัดเซ็น หรือซุ้นจ๊งซ้าน (Sūn Zhongshān) (พ.ศ. 2409-2468) บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน

[2] ขงจื้อหรือขงจื่อ (Kǒngzǐ) (พ.ศ. 8-พ.ศ. 64) ปรัชญาเมธีชาวจีน.

[3] สามก๊ก วรรณกรรมสมัยราชวงศ์หยวน ประพันธ์โดยหลั่วกว้านจ๊ง (พ.ศ. 1873-1932)

ไซอิ๋ว หรือ ซี้หยิวจี้ วรรณกรรมสมัยราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดยหวูเฉิงเอิ๊น (ประมาณ พ.ศ. 1500-1582)

ความฝันในหอแดง วรรณกรรมสมัยราชวงศ์ชิ้ง ประพันธ์โดยเฉาซูเอ่ฉิน (พ.ศ. 2258–2306).

[4] คล้ายข้าวญี่ปุ่น.