ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

โมฆสงครามในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ และข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

26
มกราคม
2565

10 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลไทยหันเข้าหาญี่ปุ่นเต็มตัว และต่อต้านสัมพันธมิตร เข้าสู่สงครามเป็นทางการ [1] คำถามสำคัญคือ ทำไมวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 จึงเป็นโมฆสงครามตามทัศนะของปรีดี พนมยงค์ ในบทความนี้จะค่อยๆ คลี่ให้เห็นคำตอบต่อไป

 

การเซ็นสัญญามิตรภาพระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2480
การเซ็นสัญญามิตรภาพระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2480

 

(จากซ้ายคนที่ 3) ม.จ.วรรณไวทยากร วรววรรณ ทรงเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลฯ ช่วยเหลือ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
(จากซ้ายคนที่ 3) ม.จ.วรรณไวทยากร วรววรรณ ทรงเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลฯ ช่วยเหลือ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

 

ในบริบทประวัติศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2482 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นช่วงที่คณะราษฎรมีความสามัคคีกลมเกลียวกันสูงเพื่อผลิดอกออกผลทางประชาธิปไตย หากในทศวรรษนี้ยังเกิดการแตกหักกันช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา[2] เกิดความสัมพันธ์ใหม่ภายในคณะราษฎร และกำเนิดขบวนการเสรีไทยในไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 2480 ยังดีต่อกัน เช่น ในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามในสัญญามิตรภาพระหว่างสยามกับญี่ปุ่น และข้อตกลงใน “สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่ของญี่ปุ่นนั้นมีอิทธิพลต่อปรีดี และมีรายงานทางการทูตของ Ishii Itaro เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยไปถึงกระทรวงการต่างประเทศว่า

“...แม้ว่ารัฐบาลจะแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายทหารซึ่งมีหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับฝ่ายพลเรือนซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความคิดที่จะพึ่งพาญี่ปุ่นไว้ต่อต้านอังกฤษและฝรั่งเศสเหมือนกัน…”[3]

ดังนั้น การจัดตั้งองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นของปรีดี  ในไทย จึงมีพื้นฐานมาจากปัญหาการเมืองภายในที่มีการใช้อำนาจนิยมสูงในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และเป็นไปได้อย่างมากว่าการจัดองค์การต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศที่ก่อร่างในทางปฏิบัตินั้นปรากฏขึ้นภายหลังจากที่ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว

 

ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง
ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง

 

นี่คือ ในมุมมองทางวิชาการที่มาจากงานศึกษาเรื่องขบวนการเสรีไทยของสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ที่แตกต่างจากคำอธิบายเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชี้ชัด เช่นในงานศึกษาของแถมสุข นุ่มนนท์ และ John B. Haseman เสนอภาพรวมว่า “การจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นของปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มขึ้นแต่แรกที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามา โดยปรีดี คิดจะหันไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แต่ต้องล้มเหลวลงเนื่องจากกองทหารญี่ปุ่นได้ลำเลียงพลขึ้นไปอย่างรวดเร็ว…”

ขณะที่การก่อหวอดขบวนการเสรีไทยในต่างจังหวัด เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเด่นชัด ในจังหวัดสกลนคร จากบันทึกของเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใหม่จากหอสมุดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA)[4] เตียง เล่าว่า

“...รัฐบาลจอมพลในขณะนั้นได้ควบคุมตัวพวกเราฝ่ายค้านอยู่อย่างใกล้ชิด แทบว่าจะไปไหนก็มีสันติบาลเป็นเงาตามตัวพวกเราอยู่ ในบัญชีที่มีเส้นแดงขีดข้างใต้ เพราะฉะนั้นการที่จะทำอะไรไป จำเป็นต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นที่สุด…”

และเตียง ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจำกัด พลางกูร ด้วยว่า

“...ในการไปบ้านนอกนั้นข้าพเจ้าได้พยายามปลุกปั่นเพื่อนฝูงโดยฉะเพาะอย่างยิ่งพวกครูให้มีความเห็นคล้อยตามข้าพเจ้าได้บ้าง ข้าพเจ้าไปสกลคราวนี้อยู่ได้ไม่นานก็ถูกจำกัดขอให้ลงมาพบ ในคราวนี้เรารู้สึกว่างานของเราได้ก่อหวอดขึ้นจริง ๆ จำกัดบอกว่าอาจารย์ (เตียง ศิริขันธ์-ผู้เขียน) มีความเห็นสอดคล้องกับพวกเรา… ศัตรูที่สำคัญก็คือรัฐบาลของจอมพล ป. และญี่ปุ่น การก่อหวอดพวกต่อต้านจะทำได้ต่อเมื่อได้ล้มรัฐบาลจอมพลไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาฉะเพาะหน้าที่จะขบในขณะนั้น ก็คือว่าต้องรีบจัดการโค่นรัฐบาลของจอมพลให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้…”

จำกัด พลางกูร เสนอให้เห็นว่าการก่อหวอดของเตียง ศิริขันธ์ ในจังหวัดสกลนคร สอดรับกับแนวทางของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ

 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

หลักฐานชั้นต้น ชิ้นที่ 1 ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485[5]

 

ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485
ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485

 

ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์ เพราะระบุการลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยฐานะเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรีดี[6] ได้เขียนจดหมายชี้แจงไว้ในหัวเรื่องถัดไป

ปัญหาทางประวัติศาสตร์ของประกาศฉบับนี้ นอกจากการอ้างชื่อของปรีดี พนมยงค์ ทั้งที่มิได้อยู่ลงนามแล้ว ยังมีข้อน่าคิดอีกสองประการ

ประการแรก จากการอ้างอิงความชอบธรรมในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทย ฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา อีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป”

ประการที่สอง การเสนอแง่มุมเดียวว่า การรุกรานของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาว่า ไม่เป็นธรรม และขอความร่วมมือประชาชนไทยเพื่อสนับสนุนประกาศฯ นี้

“ฉะนั้น จึงให้ประชาชนชาวไทย ทุกเพศ ทุกวัย ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฏิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทยประสบชัยชะนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เปนธรรมของ​ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฏิบัติตามคำสั่งของราชการอย่างเคร่งครัด…”

 

หลักฐานชั้นต้น ชิ้นที่ 2 คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา[7]

 

คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา
คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

 

ในเอกสารฯ คำแถลงการณ์ฯ ชิ้นถัดมาจะมีการอธิบายประวัติศาสตร์การรุกรานของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต่อสยามถึงไทย แต่ไม่ได้อธิบายบริบทประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และฝ่ายอักษะอย่างครอบคลุม โดยอธิบายเพียงว่า

“ครั้นเมื่อสงครามได้บังเกิดขึ้นในบุรพทิศ โดยที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่แล้วนั้น ประเทศไทยได้รู้สึกถึงความผูกพันในหน้าที่ที่เป็นชาวเอเชีย จึงได้ร่วมมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น”

แต่ได้อธิบายประวัติศาสตร์ในบริบทความขัดแย้งระหว่างไทยกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียดกว่า ทั้งยังได้ยกกรณีความรุนแรงที่อังกฤษ อเมริกา รุกรานไทยระหว่างนั้นไว้ด้วยว่า “ในระหว่างเวลาตั้งแต่วันที่ 8 ​ธันวาคม ถึง 20 มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง”

กระทั่ง เมื่อคืนวันที่ 24 เดือน เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีกจึงนำไปสู่ข้ออ้างหนึ่งในการมีพระบรมราชโองการประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป

ณ ขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความมั่นใจว่า ฝ่ายอักษะและไทยจะชนะในสงครามครั้งนี้

 

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของเหตุการณ์ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

เวลาเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า ตนเองเปิดเครื่องวิทยุรับฟัง ณ บ้านพักคุ้มขุนแผน กลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้ยินวิทยุกรมโฆษณาการจากกรุงเทพฯ กระจายเสียงสดุดีจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมแจ้งข่าวสำคัญว่า

“วันนี้เวลาเที่ยงประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” แล้วเริ่มอ่าน ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485 โดยมีรายชื่อของปรีดี พนมยงค์ ร่วมประกาศฯ ในฐานะ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ปรีดี ชี้ว่า

“ข้าพเจ้าเอะใจขึ้นมาทันทีว่า ข้าพเจ้ามิได้รู้เห็นด้วยกับประกาศสงครามนั้น และมิได้เป็นผู้ลงนาม เหตุใดกรมโฆษณาการจึงเอาชื่อข้าพเจ้าไปประกาศ

ข้าพเจ้าได้ฟังวิทยุนั้นอ่านประกาศต่อไป อ้างเหตุเป็นใจความว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดประเทศไทย ประเทศไทยจึงประกาศสงครามกับประเทศทั้งสองนั้น ครั้นแล้วมีชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ภรรยาข้าพเจ้าได้กล่าวแก่ผู้ที่นั่งฟังวิทยุด้วยกันขณะนั้นว่า ข้าพเจ้ามาพักที่คุ้มขุนแผนตั้งแต่บ่ายวันศุกร์ (วันที่ 23 มกราคม)”

 

หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำลังอ่านคำประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และประเทศสหรัฐอเมริกา ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485
หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำลังอ่านคำประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และประเทศสหรัฐอเมริกา ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

 

วันถัดมา 26 มกราคม พ.ศ. 2485 ปรีดี จึงรีบเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อสอบถามจากทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ เวลานั้นมาสอบถาม เรื่องการที่วิทยุนำชื่อของปรีดี ไปประกาศโดยที่ยังไม่ได้ลงนาม ต่อมาทวี ชี้แจงเรื่องนี้ ไว้ว่าเนื่องจากในการรบแสดงให้เห็นว่าฝ่ายอักษะจะเป็นผู้ชนะสงคราม จึงควรเข้าข้างญี่ปุ่นให้เต็มที่ โดยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเสียเลยเพื่อผลประโยชน์ต่อไปในอนาคต โดยที่หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นควรให้ประเทศไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ระเบียบของการประกาศฯ นั้นแตกต่างจากที่ผ่านมา[8]

“...ตามระเบียบนั้น จะเป็นพระราชบัญญัติก็ตาม หรือพระบรมราชโองการใดๆ ก็ตาม พระมหากษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย หรือลงก่อนแล้วนายกรัฐมนตรีจึงจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในภายหลัง แต่การประกาศสงครามครั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้วจึงส่งไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม คือ (1) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (2) พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ (3) นายปรีดี พนมยงค์”

การประกาศสงครามมีกำหนดการประกาศเวลา 12.00 น. ตรง เมื่อปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร จึงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนาม และลงนามเพียง 2 คน เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถรอปรีดี กลับมาให้ทันเวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ได้ ดังนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีรับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของปรีดี พนมยงค์ ลงไปแม้จะไม่ได้ลงนาม โดยท่านทรงจะรับผิดชอบเอง เป็นอันว่าการประกาศสงครามในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น มีข้อเท็จจริงว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในประกาศเพียง 2 คน เท่านั้น แต่ได้อ่านประกาศเป็น 3 คน ให้ครบคณะฯ[9]

ในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485 จึงเป็นโมฆสงคราม ดังคำกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าจึงขอให้นายทวี บุณยเกตุ เสนอให้จอมพล ป. ทราบว่า การประกาศสงครามที่ทำไปนั้นเป็นโมฆะ”[10]

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ฝ่ายอักษะและจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ฝ่ายรัฐบาลไทยจึงแก้เกมการเมืองด้วยการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งรัฐบาลที่ประกาศสันติภาพ คือ รัฐบาลฝ่ายเสรีไทยที่ทำงานต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น รวมถึงติดต่อ และร่วมดำเนินงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยอธิบายว่าการประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับคณะฯ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะนั้นเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนไทย และฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง[11] จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จึงมีการดำเนินคดีอาชญากรสงครามกับจอมพล ป. ภายใต้พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ในสมัยรัฐบาลของพันตรี ควง อภัยวงศ์ จึงมีคำพิพากษาคดีอาชญากรสงคราม โดยศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาคดีให้ยกฟ้องโจทก์ เนื่องจากบทบัญญัติบางส่วนในพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามฯ มีผลย้อนหลังอันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นโมฆะตามมาตรา 61 จึงให้ปล่อยตัวจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามฯ ทั้งหมด และการตัดสินปล่อยตัวจำเลยในคดีอาชญากรสงครามด้วยเหตุผลจากหลักการทางกฎหมายนี้ทำให้มีการจัดตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในขณะเดียวกันจอมพล ป. กับคณะฯ ที่หลุดพ้นจากคดีอาชญากรสงคราม แต่ก็หลุดออกไปจากวงโคจรการเมืองไทยด้วย

 

ภาพประกอบบทความ:

ภาพหลักฐานชั้นต้นจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ภาพถ่ายจาก ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)

เอกสารชั้นต้น:

  • คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 247-251.
  • ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485, ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485):  244–246.

หนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกงานศพ:

  • ทวี บุณยเกตุ. “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2515)

หนังสือภาษาอังกฤษ:

  • Santaputra, Charivat, Thai Foreign Policy 1932-1946, (ฺBangkok: Suksit Siam, 2000)
  • Suwannathat-Pian, Kobkua, Thailand’s Durable Premier Phibun through Three Decades 1932-1957, (NewYork: Oxford  University Press, 1995)

หนังสือภาษาไทย:

  • กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ,  (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563)
  • กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, 76 ปี วันสันติภาพไทย: 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ : 23 สิงหาคม 2543, (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543)
  • สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทย สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NARA), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ, 2564)
  • สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531)
  • สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลา รำลึก, 2553)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์:

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (25 มกราคม 2564). ปรีดี ไปไหน? จึงไม่ลงนามในประกาศสงคราม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/584
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (23 มกราคม 2564). ไทย-ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/582
  • ปรีดี พนมยงค์. (26 มกราคม 2564). จอมพล ป. ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาทางไหน?. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/585 
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (22 มกราคม  2564). ไทย-ญี่ปุ่น ผูกมั่นพันธมิตรใน สงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/581   
  • หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2559). จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559. สืบค้นจาก http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:174345

 


[1] กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, 76 ปี วันสันติภาพไทย: 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), น. 89.

[2] Suwannathat-Pian, Kobkua, Thailand’s Durable Premier Phibun through Three Decades 1932-1957, (NewYork: Oxford University Press, 1995), p. 81. และ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2559). จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559. สืบค้นจาก http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:174345

[3] ในเอกสารชั้นต้น ประเภทรายงานของเอกอัครราชทูตถึงกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เอกสารชื่อ Dro. No. L. 3.3.0 8-12 “Report from Yatabe to Hirota” ใน สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), น. 125.

[4] บันทึกของเตียง ศิริขันธ์ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA) เลขที่กล่อง RG 226 Entry 210 Box 216 NND 974345 ใน สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด: เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทย สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ, 2564)

[5] ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485, ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485):  244–246.

[6] กษิดิศ อนันทนาธร. (25 มกราคม 2564). ปรีดี ไปไหน? จึงไม่ลงนามในประกาศ

สงคราม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/584  

[7] คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา, ราช

กิจจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 247-251.

[8] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 215.

[9] ทวี บุณยเกตุ. “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 251),  น. 13.

[10] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 217. และ กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ,  (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563), น. 110-116.

[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลา รำลึก, 2553), น. 45.