ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 14
ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : สมรภูมิเวียดนามใต้
การตรากตรำทำงานอย่างหนักของ หวอเหงียนย้าป มาตั้งแต่วัยหนุ่มตลอดจนการรับหน้าที่บัญชาการในสงครามปลดปล่อยภาคใต้ ทำให้สุขภาพของท่านเริ่มทรุดโทรมถดถอยไปมาก โดยเฉพาะขณะที่ท่านมีอายุได้ 63 ปี คือในปี 1974 ขณะการรบปลดปล่อยขั้นแตกหักได้ก้าวเข้าสู่ชัยชนะในขั้นสุดท้ายแล้ว
หวอเหงียนย้าป ได้ล้มลงหมดสติ จากการวินิจฉัยของแพทย์พบการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ต้องได้รับการรักษาด่วน ทางกรมการเมืองของพรรคมีความวิตกเป็นอย่างยิ่ง ทางการสหภาพโซเวียตจัดส่งเครื่องบินพิเศษมารับตัวไปรักษาที่กรุงมอสควา ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างปิดลับที่สุด
ผ่านการตรวจ แพทย์โซเวียตลงความเห็นว่าต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน การรักษาพยาบาลมี โอกาสรอดครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้หวอเหงียนย้าปได้เขียนพินัยกรรมสั่งเสียทหารหาญที่ทำการสู้รบให้มุ่งมั่นเพื่อภารกิจจนถึงที่สุด ในทางส่วนตัวท่านไม่มีการสั่งเสียอะไรเป็นพิเศษนอกจากความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ประเทศชาติประชาชน แต่ปรากฏว่าการผ่าตัดได้รับผลดีเกินคาด ท่านหายขาดจากโรคร้าย เมื่อพักฟื้นอยู่ระยะหนึ่งก็กลับมาบัญชาการสู้รบต่อได้
ประธานาธิบดีฟิเดล คัสโตร แห่งคิวบา ผู้มีความประทับใจในการต่อสู้ของประชาชนเวียดนาม ที่นำโดยท่านโฮจิมินห์มาตั้งแต่ก่อนที่คัสโตรจะโค่นอำนาจของเผด็จการบาติสต้าสำร็จ และในระหว่างกลางปี ค.ศ. 1973 ขณะที่กองทัพประชาชนเวียดนามสามารถปลดปล่อยพื้นที่หลายแห่งจากทางใต้ของเส้นขนานที่ 17 ลงมา ประธานาธิบดีฟิเดล คัสโตรได้เดินทางมาเยี่ยมเวียดนาม และเข้าไปถึงเขตปลดปล่อยใหม่ที่ยังเป็นสนามรบอยู่
คัสโตรผู้กล้าหาญ และสู้รบนำชัยชนะให้ประเทศคิวบามาแล้ว ท่านสวมชุดทหารพร้อมรบ พกอาวุธปืนสั้นประจำกายตลอดเวลา เดินทางตรวจแนวรบและเยี่ยมเยียนทหารเป็นเวลาหลายวัน กลางคืนก็นอนหลุมเพลาะ ย้ายสถานที่ไปมาหลายแห่ง เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้เสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้รักชาติเวียดนาม เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์แห่งคติธรรมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ คัสโตรยังได้สั่งซื้อรถยนต์ขนส่งจากญี่ปุ่นมาให้ใช้ในกิจการกองทัพ ทั้งที่ฐานะทางเศรษฐกิจของคิวบาก็ไม่นับว่ามีความแข็งแกร่งนัก น้ำใจแห่งความเสียสละ ได้รับการยกย่องจากหวอเหงียนย้าปเป็นอย่างสูง
ไตเหวียน - บวนเมถวด
หวอเหงียนย้าป เสนอแผนยุทธการปลดปล่อย ไตเหวียน-บวนเมถวด (Tay Nguyen - Buon Ma Thuot) แก่คณะกรรมาธิการทหาร และได้รับความเห็นชอบจากองค์คณะแห่งกรมการเมือง โดยเห็นว่าเป็นโอกาสแห่งชัยชนะ และการปลดปล่อยทั่วประเทศจะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เนื่องด้วยกำลังข้าศึกบริเวณนี้มีการป้องกันที่อ่อนแอ ทั้งๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการรุกคืบสู่ภาคใต้สุดในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
นายพลวันเตี่ยนหยง รับหน้าที่บัญชาการทัพ ร่วมกับ นายพลตรั่นวันจร่า ผู้เคยสู้รบกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแถบย่านนี้มาแล้ว จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนในบริเวณดังกล่าว
แผนยุทธการกำหนดให้เข้าโจมตีจุดแรกโดยฉับพลันที่เมืองบวนเมถวด บนที่ราบสูงเปลกู ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จ สามารถบดขยี้กำลังข้าศึกได้หลายกรม ทำลายกำลังทหารนับหมื่นคน ผู้รอดตายเสียขวัญและหมดกำลังใจสู้รบ แตกทัพหนีกลับไปหาครอบครัวที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ รอบกรุงไซ่ง่อน ทุกคนไม่ต้องการเป็นทหารอีกต่อไป แม้ว่ากฎวินัยสำหรับทหารหนีทัพคือการประหารชีวิตสถานเดียว ก็ไม่มีใครเกรงกลัวอีกแล้ว
การเข้าตีไตเหวียนในขั้นต่อไปก็ไม่เป็นเรื่องยาก ทหารข้าศึกถูกทำลายและถูกจับเป็นเชลยมากมาย เมื่อทั้งสองเมืองได้รับการปลดปล่อยแล้ว ทำให้กำลังทหารฝ่ายเวียดนามใต้ถูกตัดขาดเป็นสองส่วน ได้แก่ส่วนที่ตั้งมั่นอยู่บริเวณแนวเส้นขนานที่ 17 ลงมาถึงเส้นขนานที่ 13 ตัดขาดจากส่วนที่อยู่ตั้งแต่เส้นขนานที่ 13 ลงมาจนถึงไซ่ง่อน และทางใต้สุดของประเทศ
ระหว่างปลายปี ค.ศ. 1974 ถึงต้นปี ค.ศ. 1975 เวียดนามเหนือพร้อมที่จะเผด็จศึกขั้นสุดท้ายได้แล้ว ขึ้นกับว่าการต่อสู้อย่างหัวชนฝาของขุนศึกเวียดนามใต้จะดันทุรังไปได้เพียงใด ในทางเป็นจริงก็ไม่น่าที่จะยืดเยื้อต่อไปได้อีก แต่ด้วยความไม่ประมาทก็เตรียมแผนกำหนดเวลาเผด็จศึกออกไปจนถึงปี ค.ศ. 1976
การรุกใหญ่เข้าปลดปล่อยไซ่ง่อนเปิดฉากขึ้นในช่วงหลังของปี 1974 หลังจากได้ชัยชนะที่ “บวนเมถวด” และ “ไตเหวียน” กองพลหลักของกองทัพประชาชนเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นกองพลที่ 308 ก็ดี 316 ก็ดี หรือ 320 ก็ดี ได้จัดเสริมขยายกำลังขึ้นเป็นกองทัพใหม่ รวบรวมหน่วยทหารเข้าอีกหลายหน่วย และโอบล้อมแนวต้านทานของข้าศึกที่ไซ่ง่อน
เมื่อฝ่ายเวียดนามใต้เข้าสู่ภาวะวิกฤตยิ่งขึ้น อเมริกาก็ยังเป็นเจ้ากี้เจ้าการบีบคั้นกดดันให้เหวียนวันเถี่ยวลาออกจากตำแหน่ง และให้เยืองวันมิงห์ หรือ “บิ๊กมิงห์” ผู้เคยถูกตั้งเป็นประธานาธิบดีมาครั้งหนึ่งให้กลับเข้ามารับตำแหน่งอีก เพื่อหาลู่ทางต่อรองและปรองดองกับฝ่ายเวียดนามเหนือแต่ทุกอย่างสายไปเสียแล้วส่วนเหวียนวันเถี่ยวก็พาครอบครัวพร้อมสินทรัพย์จำนวนไม่น้อย ขึ้นเครื่องบินหนีไปไต้หวัน และไปอยู่อังกฤษในที่สุด
รถถัง T54 จำนวนสองคันของกองทัพประชาชนเวียดนาม ได้บุกฝ่าเข้าใจกลางเมืองไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1975 และด้วยความที่ไม่สันทัดเส้นทางในตัวเมืองจึงต้องถามทางสู่ทำเนียบประธานาธิบดีจากชาวบ้าน จนเมื่อถึงประตูทางเข้าก็พุ่งชนเหยียบประตูเหล็กเข้าไป นายทหารประจำรถได้กระโดดออกมาพบกับเยืองวันมินห์ ผู้รักษาการประธานาธิบดี โดยสั่งเยืองวันมินห์ออกคำสั่งให้ทหารเวียดนามใต้ยุติการต่อสู้ และวางอาวุธยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ธงเวียดนามใต้ถูกดึงลง ธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามพื้นแดงดาวทองตรงกลาง และธงชาติแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ครึ่งด้านบนสีแดง ด้านล่างสีน้ำเงิน มีดาวทองอยู่ตรงกลาง ก็ถูกเชิญขึ้นยอดเสาบนตึกทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้กลางเมืองไซ่ง่อน
ในช่วงชีวิต นับเวลาถึง 35 ปีของการรับใช้ชาติและประชาชนเวียดนามทางด้านทหาร เริ่มไต่เต้าจากหน่วยเล็กๆ แห่งกองโฆษณาประกอบอาวุธ ในเขตฐานที่มั่นทางภาคเหนือของหวอเหงียนย้าป การปลดปล่อยเวียดนามใต้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1975 ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1995 ทางสหรัฐอเมริกาขอให้นายพลหวอเหงียนย้าป ได้พบปะกับนายโรเบิร์ต แม็คนามารา อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ สมัยประธานาธิบดีเดเนดี้และประธานาธิบดีจอห์นสัน ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการวางแผนสงครามเวียดนาม ตอนหนึ่งในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หวอเหงียนย้าปได้บอกแก่แม็คนามาราว่า
“ในหนังสือบันทึกความทรงจำของท่านนั้น ท่านได้เขียนถึงการที่สหรัฐอเมริกาสู้รบกับเวียดนาม โดยปราศจากความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติเวียดนาม ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมของคนเวียดนามและประชาชาติเวียดนาม และโดยเฉพาะผู้นำเวียดนามนั้น เป็นความจริงที่ถูกต้องอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเราได้ผ่านวัฒนธรรมอันยากลำบากยาวนาน ได้สะสมทฤษฎีทางทหารที่ผ่านมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ชัยชนะ”
แม็คนามารายอมรับว่าเป็นความจริงอย่างแน่แท้ แต่ทว่าหวอเหงียนย้าปก็รู้สึกเสียดายว่า เป็นการสายไปเสียแล้วสำหรับการบรรลุถึงซึ่งสัจจะนี้ของแม็คนามารา
“เส้นทางโฮจิมินห์” นำมาซึ่ง “ยุทธการโฮจิมินห์”
สงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ที่ นายพลเอกพิเศษหวอเหงียนย้าป ได้บัญชาการรบ จบลงด้วยชัยชนะของประชาชนเวียดนามทั้งประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 1975 ขณะที่ท่านนายพลมีอายุย่างเข้า 65 ปี
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), ศึกแตกหัก, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 133 - 139.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ถิ่นกำเนิดปฐมวัย
- ตอนที่ 2 - นักอภิวัฒน์หนุ่ม
- ตอนที่ 3 - แรกพบโฮจิมินห์
- ตอนที่ 4 - จัดตั้งกองทัพประชาชน
- ตอนที่ 5 - ควบรวมกระทรวงกลาโหม - มหาดไทย
- ตอนที่ 6 - ถอยเพื่อรุก
- ตอนที่ 7 - “รุก” ยุทธการชายแดน
- ตอนที่ 8 - เดียนเบียนฟู
- ตอนที่ 9 - นิ้วมือทั้งห้า
- ตอนที่ 10 - ป้อมค่ายแห่งความปราชัย
- ตอนที่ 11 - เส้นขนานที่ 17
- ตอนที่ 12 - ผู้บัญชาการสูงสุดในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้
- ตอนที่ 13 - “เดียนเบียนฟู” กลางอากาศ
- ตอนที่ 14 - สมรภูมิเวียดนามใต้
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์
- ศึกแตกหัก
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- สงครามปลดปล่อยภาคใต้
- หวอเหงียนย้าป
- โฮจิมินห์
- สหภาพโซเวียต
- ฟิเดล คัสโตร
- เผด็จการบาติสต้า
- วันเตี่ยนหยง
- ตรั่นวันจร่า
- กองทัพประชาชนเวียดนาม
- เยืองวันมิงห์
- บิ๊กมิงห์
- โรเบิร์ต แม็คนามารา
- สงครามเวียดนาม
- เส้นทางโฮจิมินห์
- ยุทธการโฮจิมินห์