ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 15)

26
กันยายน
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 15) ของนายปรีดี พนมยงค์ ได้โต้แย้งประเด็นการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี โดยนายปรีดีได้อธิบายเหตุการณ์ โดยเปรียบเทียบกับหลักฐานการประชุม และบันทึกความทรงจำของสมาชิกคณะราษฎร อาทิ บันทึกของพระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์
  • บทความนี้เสนอให้เห็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าในประเด็นหลักคือ นายประยูรชี้ว่านายปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจก่อนการอภิวัฒน์สยามแต่นายปรีดีชี้ให้เห็นจากหลักฐานประวัติศาสตร์ว่า ตนเองเพิ่งคิดและเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหลังการอภิวัฒน์

 

 

บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

 

 

 

ข้อ 13.

พล.ท.ประยูรฯ สมมติให้พระยาทรงฯ เป็นพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีฯ ในนิยายเรื่องแรกโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย

ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมนั้นย่อมสังเกตได้ว่า ในการแต่งนิยายของพล.ท.ประยูรฯ หลายเรื่องดังอ้างมาก่อน ๆ แล้วนั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้สมมติให้พระยาทรงฯ เป็นตัวพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีหลายเรื่อง อาทิ ในนิยายการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ดังกล่าวในข้อ 8. และเรื่องการเสนอโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวในข้อ 12 ฯลฯ

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นสมควรเสนอนวนิยายของพล.ท.ประยูร ซึ่งอ้างคนเห็นว่าสนุกและสนับสนุนว่าเป็นสารคดีคือ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 129-132 ภายใต้หัวเรื่อง “การวางแผนและการยึดอํานาจ” เริ่มด้วยข้อความว่า

การวางแผนและการยึดอํานาจ

หลังจากที่ได้ไปติดต่อสอบถามกับท่านผู้ก่อการ 15 ท่านที่ได้ร่วมคิดกันมากจากในฝรั่งเศสและพิจารณาผลของการดําเนินงานที่ผ่านมารวมเวลา 3 ปี รู้สึกว่าคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและซบเซาแต่ก็ยังมีความสนใจอยู่เป็นอันมาก สําหรับทางฝ่ายพลเรือนที่แตกแยกออกไปเป็นหลายสาย ก็ยังไม่มีความหมายที่จะเป็นกําลังแต่ประการใด ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งความหวังทางฝ่ายทหารเป็นสําคัญ จึงได้นัดประชุมท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกรวม 5 ท่าน คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พล.อ.) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (ชื่อตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียน) พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (พล.ต.) ที่เรียกกันว่า สี่ทหารเสือ กับ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) มาประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรกในตอนที่บ้านข้าพเจ้า

ครั้นแล้ว พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนสรุปในตอนท้ายด้วยข้อความดังต่อไปนี้

ครั้นต่อมาประมาณเดือนเศษ พระยาทรงสุรเดช ได้นัดให้มีการประชุมครั้งใหญ่ที่วัดแคราย จังหวัดนนทบุรี โดยข้าพเจ้าได้จัดเช่าเรือกลไฟลําใหญ่ ให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารไปยังวัดดังกล่าว ส่วนพลเรือนทั่ว ๆ ไปก็ให้ต่างคนต่างไปโดยถือโอกาสไปทําการยิงนก ฝึกซ้อมการยิงกันอีกด้วย ส่วน น.ต. หลวงสินธุสงครามชัยกับเพื่อนนายทหารเรือบางคนไปเรือส่วนตัว และขึ้นไปทําความเคารพรู้จักกับท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ได้สนทนาปราศรัยกันพักหนึ่งแล้วก็แยกกลับ ครั้นแล้วเกิดเรื่องวุ่นวายที่คุณปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้นําโครงการเศรษฐกิจ (สหกรรม) พิมพ์เป็นโรเนียวแจกจ่ายให้คณะผู้ก่อการฯ ไปอ่านพิจารณากัน ครั้นพอพระยาทรงสุรเดชเห็นมีการแจกโครงการอันจะเป็นหลักฐานที่จะเป็นคดีความขึ้น ก็ได้โวยวายร้องเอะอะสั่งให้เก็บและเผาไฟ พูดต่อว่าต่อขานคุณปรีดี พนมยงค์ ว่าจะหาเรื่องเข้าคุกเข้าตะราง รู้สึกขุ่นเคืองเป็นอย่างมาก แล้วก็ชวนสี่ทหารเสือลงเรือกลับ

ข้าพเจ้า (ปรีดี) ขอเสนอคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ และคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

 

13.1.

คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษา

ประการที่ 1

วันเวลาของเหตุการณ์พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าเกิดขึ้นที่วัดแครายเป็นประเด็นสําคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณา

(1)

พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าเหตุการณ์ที่วัดแครายเกิดขึ้น “ประมาณหนึ่งเดือนเศษ” ต่อจากวันที่ผู้ร่วมคิดกับท่านจากฝรั่งเศสได้พิจารณาผลของการดําเนินงานที่ผ่านมาร่วม 3 ปี นักศึกษาจึงอ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ ว่าด้วยการประชุมก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พบว่าพล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2467 ฉะนั้น 3 ปีภายหลัง คือ พ.ศ. 2470

ถ้าถือตามที่ข้าพเจ้า (ปรีดี) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” ปรากฏว่าคณะราษฎรตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1926 (ตามปฏิทินไทยในขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469) ฉะนั้น 3 ปีภายหลังคือ พ.ศ. 2472

(2)

อย่างไรก็ตามจะเป็น พ.ศ. 2470 หรือ พ.ศ. 2472 ก็ตามเถิด แต่ปรากฏตามหนังสือบันทึกพระยาทรงสุรเดช และหนังสือชีวิตการเมืองพระยาฤทธิอัคเนย์ เล่มที่อ้างถึงแล้วนั้น ท่านพระยาทั้งสองรวมทั้งพระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ ยังมิได้พบปะกับปรีดี

ประการที่ 2

บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2476 คือ 9 เดือน 15 วัน ภายหลังวันยึดอํานาจปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ซึ่งได้คัดมาพิมพ์ไว้ในข้อ 12 ประการที่ 2 นั้น ปรากฏคําแถลงของพระยาทรงสุรเดชว่า

นโยบายของหลวงประดิษฐ์ในทางเศรษฐกิจนั้นเพิ่งเขียนแล้วเสร็จเมื่อ 7-8 วันนี้

ถ้าหากว่าเสร็จก่อนนี้เราก็จะได้มีโอกาสพิจารณาก่อนนี้

ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้า(ปรีดี) จะเอาโครงการเศรษฐกิจซึ่งข้าพเจ้ายังมิได้ร่างขึ้นนั้นไปแจกที่วัดแคราย ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ข้อเขียนของ พล.ท.ประยูรฯ จึงไม่ใช่สัจจะทางสารคดี

 

13.2.

คำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้า (ปรีดี)

ประการที่ 3

แม้ผู้อ่านหนังสือพล.ท.ประยูรฯ จะไม่รู้ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวในประการที่ 2 นั้นก็ตาม แต่ผู้อ่านที่ไม่มีอคติก็ย่อมมิใช้สามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนวินิจฉัยได้ว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ นั้นมิใช่สัจจะทางสารคดีเพราะพล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 121 (อ้างถึงแล้วในข้อ 10 ประการที่ 10) ว่าการที่ท่านพาเพื่อนไปพบข้าพเจ้า(ปรีดี) นั้น “มีพิธีรีตอง ต้องระมัดระวังอยู่มาก เอาแบบฟอร์มมอบอํานาจการทําพินัยกรรม์ ตลอดจนกฎหมายมรดกมาวางไว้เป็นหลักฐาน และให้เสมือนมาลงเป็นพยานอีกด้วย

ฉะนั้น แม้สมมติว่าข้าพเจ้า(ปรีดี)ร่างโครงการเศรษฐกิจแล้วข้าพเจ้าก็จะไม่นำโครงการเศรษฐกิจนั้นไปแจกที่วัดแคราย

ประการที่ 4

ตามหนังสือบันทึกพระยาทรงสุรเดชและหนังสือว่าด้วยชีวิตการเมืองของพระยาฤทธิอัคเนย์ (ทั้งสองเล่มอ้างถึงแล้ว) นั้นกล่าวไว้ว่าทั้งสองท่านเจ้าคุณและพระยาพหลฯ, พระประศาสน์ฯ, เคยประชุมร่วมกับปรีดีที่บ้าน ร.ท.ประยูรฯ และที่บ้านพระยาทรงฯ ไม่ปรากฏว่าทั้ง 4 ท่านนั้นนัดประชุมกับหลวงพิบูลฯ และข้าพเจ้า(ปรีดี)ที่วัดแคราย

ประการที่ 5

สมมตว่าคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นจริงว่านายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกมี 5 ท่าน พ.อ.พระยาพหลฯ, พ.อ.พระยาทรงฯ, พ.อ.พระยาฤทธิ์ฯ, พ.ท.พระประศาสน์ฯ และพ.ต.หลวงพิบูลสงครามลงเรือลําเดียวกัน ซึ่งพล.ท.ประยูรฯ อ้างว่า “ข้าพเจ้าได้เช่าเรือกลไฟลำใหญ่ให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารไปยังวัดดังกล่าว” นั้นก็ตาม แต่นายทหารผู้ใหญ่มีเพียง 5 คนกับคุณประยูรฯ อีกคนหนึ่งรวมเป็น 6 คนเท่านั้นจะเช่าเรือยนตร์ลำเล็ก ๆ ก็พอแล้วซึ่งจะเสียค่าเช่าน้อยกว่า “เช่าเรือกลไฟลำใหญ่” ที่ต้องเสียค่าเข้าแพง สานุศิษย์ของพระยาทรงฯ ก็ย่อมรู้ว่าท่านผู้นี้เป็นคนใช้จ่ายอย่างประหยัด ฉะนั้นถ้าสมมติว่าพระยาทรงฯ เห็นว่าคุณประยูรฯ เช่าเรือกลไฟลําใหญ่เพื่อเชิญท่านกับพระยาพหลฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ, ไปวัดแครายแล้ว ท่านก็จะไม่ลงเรือกลไฟลำใหญ่นั้น

ประการที่ 6

ข้าพเจ้าได้กล่าวในข้อ 6.2. ต่อท้ายข้อ (7) แล้วว่าใน พ.ศ. 2474 ผู้ก่อการฯ 8 คน คือ หลวงพิบูลสงคราม, นายแนบ พหลโยธิน, นายประยูร ภมรมนตรี, ข้าพเจ้า (ปรีดี) และนายทวี บุณยเกตุ กับหลวงสินธุสงครามชัยได้ถือโอกาสวันหยุดราชการไปเที่ยว “ปิคนิก” ที่บริเวณทุ่งนาข้างวัดแครายและปรึกษากันถึงการงานที่จะเตรียมปฏิบัติต่อไปด้วย พระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้นมิได้ร่วมไปเที่ยวกระนั้นด้วย

การไปเที่ยวปิคนิกครั้งนั้นได้ไปโดยเรือยนตร์เล็ก ๆ ธรรมดาไม่เป็นที่ประหลาดใจแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรและเด็กวัดแม้จะมีคุณประยูรฯ ไปด้วย แต่ตามแผนการของร.ท.ประยูรฯ ที่วาดภาพไว้ใหม่นั้นใหญ่ ทําให้ผู้คนแตกตื่นได้ ดังจะกล่าวในประการที่ 7 ดังต่อไปนี้

ประการที่ 7

สมมติว่าการเป็นไปตามแผนที่พล.ท.ประยูรฯ วาดภาพไว้ว่าท่านจัดเช่า “เรือกลไฟลำใหญ่” เป็นพาหนะของนายทหารผู้ใหญ่กับหลวงพิบูลฯและร.ท.ประยูรฯ รวม 6 คนไปจอดที่วัดแครายก็อาจจะทําให้พระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์วัด “ทึ่ง” หรือ “สนใจ” ว่าทั้ง 6 ท่านนั้นต้องเป็นบุคคลสำคัญจึงเดินทางมาโดย “เรือกลไฟลำใหญ่” ขึ้นที่วัดนั้น

เมื่อเรือกลไฟลำใหญ่จอดที่วัดแครายนั้น ก็มีเรือยนตร์มาจอดที่วัดนั้นอีก แล้วบุคคลประมาณ 3-4 คน (หลวงสินธุ์ฯ กับนายทหารเรือ) ขึ้นจากเรือยนตร์แล้วเดินไปสมทบกับบุคคลดังกล่าว พระกับลูกศิษย์วัดที่คงเห็นท่าทางไม่ชอบกลเสียแล้ว คือ มีบุคคลดังกล่าวมาเรือกลไฟลําใหญ่แล้วยังมีเรีอยนตร์นําคนมาสมทบอีก เด็ก ๆ ก็จะมองตามเป็นพรวนไปและสังเกตดูว่าบุคคลเหล่านั้นจะทําอะไรกัน ถ้าจะไล่เด็กออกไปห่าง ๆ เด็กก็ยิ่งสงสัยและแอบมองดู พระสงฆ์ชาวบ้านก็จะสงสัย การประชุมก็ไม่อาจจะเป็นไปได้

เมื่อเรือทั้งสองลําจอดที่วัดเรียบร้อยแล้วก็จะต้องจอดคอยอยู่ที่หน้าวัดเพื่อรับบุคคลที่ขึ้นฝั่งนั้นกลับมาขึ้นเรือเพื่อกลับกรุงเทพฯ ขณะนั้นผู้ใหญ่บ้าน กํานัน ตํารวจ ก็ต้องรู้ข่าวและมาสอบถามว่าใครเป็น ผู้โดยสารเรือทั้งสองนั้นมา ถ้านายท้ายและกลาสีตอบว่าไม่ทราบก็จะทําให้พนักงานท้องที่สงสัยและคอยดักถ่ายรูปผู้เข้าร่วมประชุมได้ และรายงานผู้บังคับบัญชาด่วน

ฝ่ายพลเรือนที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างในนวนิยายว่า “ต่างคนต่างไปโดยถือโอกาสทําการยิงนกฝึกซ้อมการยิงกันอีกด้วย” นั้น ถ้าสมมติว่าข้ออ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริง พลเรือนดังกล่าวนั้นแต่ละคนก็จะต้องสพายปืนยิงนกและทําการซ้อมยิงกัน เสียงปืนก็จะดังสนั่นหวั่นไหวทําให้ชาววัดและชาวบ้านสงสัย ผู้ใหญ่บ้าน กํานัน ตํารวจก็จะมาจับตัวผู้ต้องสงสัยหรือรีบรายงานผู้บังคับบัญชา

ท่านที่ปรารถนาสัจจะก็สามารถวินิจฉัยได้ไม่ยากเลยว่า ถ้าการประชุมเป็นไปตามแผนซึ่งพล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ในหนังสือของท่านนั้น ก็เป็นแผนที่หละหลวมมากซึ่งจะทําให้นายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายบกและฝ่ายเรือและผู้ก่อการฯ พลเรือนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและถูกสงสัยได้

 

โปรดติดตามตอนถัดไปใน “บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 16)”

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :