ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การฟื้นคืนชีพของอำนาจเผด็จการ

16
ตุลาคม
2563

ปรากฏการณ์ต่อไปนี้ ย่อมเป็นบทเรียนว่า อํานาจเผด็จการปฏิกิริยาฟื้นคืนชีพได้อย่างไร

-1-

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้พระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ คือ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกของพฤฒสภา (Senate) โดยทางอ้อม และเลือกสมาชิกสภาผู้แทน (House of Representatives) โดยตรง อันเป็นการพระราชทานให้ราษฎรของพระองค์ได้ใช้อํานาจอธิปไตย โดยผ่านผู้ที่ตนเลือกตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ แทนที่จะมีกึ่งประชาธิปไตยมีสมาชิกประเภทที่ 2 หรือวุฒิสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้ง  ฝ่ายซากโต้ประชาธิปไตยก็ไม่พอใจในประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ เมื่อพวกเขาสู้ไม่ได้ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็ใช้วิธียุแหย่ให้เกิดมีรัฐประหารขึ้น

ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาได้ลงมติตั้งผู้สําเร็จราชการ 2 ท่าน คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี ซึ่งทั้งสองท่านได้ปฏิญาณต่อรัฐสภาที่จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีนายทหารจํานวนน้อยไม่กี่คนฝืนเจตนารมณ์ ประชาธิปไตยของทหารส่วนมากที่เป็นลูกหลานกรรมกรและชาวนาได้ทํารัฐประหารโค่นล้มระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพระราชทานด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวแล้ว ครั้นแล้วคณะรัฐประหารก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 ของพวกเขา ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” โดยกรมขุนชัยนาทฯ ผู้เดียวยอมเป็นผู้ลงนามอ้างพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เองมิได้ทรงรู้เห็นด้วย ส่วนพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนาม

รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงตําแหน่งว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” จึงเป็นการยอมรับให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พ้นจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นกลับฟื้นคืนอํานาจขึ้นมาอีก

-2-

เรื่องที่ผู้รักชาติประชาธิปไตยคาดคิดไปไม่ถึง คือ คณะอภิรัฐมนตรีที่เป็นสถาบันใหม่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ทําหน้าที่เป็นคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้จัดตั้งคณะรัฐบาลของตนประกอบด้วยขุนนางเก่าและสมาชิกประชาธิปัตย์หลายคน  ส่วนพฤฒสภาที่เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า “วุฒิสภา” โดยสมาชิกได้รับแต่งตั้งจากการที่คณะรัฐบาลประชาธิปัตย์เสนอคณะผู้สําเร็จราชการให้แต่งตั้งในพระบรมปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ประกอบด้วยขุนนางเก่าผู้มีบรรดาศักดิ์สูงหลายคน ดังปรากฏรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 นั้นแล้ว ซึ่งเป็นการตัดสิทธิของมวลราษฎรไทยในการมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

การตัดสิทธิมวลราษฎรเพียงเท่านั้น ก็ยังไม่สาสมใจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อาศัยวุฒิสภาซึ่งทําหน้าที่เป็นรัฐสภาชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น แก้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม มีข้อความปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว (ฉบับใต้ตุ่ม) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 ดังต่อไปนี้

“ในการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกนี้ ให้นําบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2479 และที่จะแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ เว้นแต่อายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามความในมาตรา 16 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2479 นั้น ให้กําหนดเป็นไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ และยกเว้นการห้ามตามความในมาตรา 17 (1) แห่งพระราชบัญญัตินั้น

“เมื่อได้มีการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกแล้ว ถ้าตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทน ก็ให้นําบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับ

ผู้สนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี”

นิสิตนักศึกษาผู้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมชี้แจงแก่เยาวชนหญิงชายได้ว่า มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประเทศใดในโลกนี้บ้าง ที่กําหนดอายุขั้นต่ําของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างไว้ 35 ปี ท่านจะพบว่า ทุกประเทศในโลกได้กําหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างไว้เพียงไม่ต่ำกว่า 25 ปี ส่วนสภาสูง (Senate) ซึ่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มเรียกว่า “วุฒิสภา” นั้น ต้องการผู้มีอายุสูงกว่าสมาชิกสภาล่างหรือสภาผู้แทน เขาจึงกําหนดอายุขั้นต่ำไว้เพียง 30-40 ปี เช่น ของสหรัฐอเมริกากําหนดอายุขั้นต่ำของสมาชิกไว้ 30 ปี ส่วนสภาผู้แทนหรือสภาล่างเขากําหนดไว้เพียงไม่ต่ำกว่า 25 ปี

เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้สมาชิกผู้แทนที่สูงอายุประกอบด้วยวุฒิสมาชิกที่ส่วนมากเป็นขุนนางรุ่นเก่าแล้ว พวกเขาก็ได้จัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ขึ้น โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่จะเป็นประชาธิปไตยที่สุดได้อย่างไร เพราะร่างขึ้นโดยวุฒิสมาชิกที่มิได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงหรือโดยทางอ้อม และสภาผู้แทนที่ประกอบด้วยสมาชิกมีอายุกว่า 35 ปี  แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 จะแสดงความกรุณาแก่ชนรุ่นหนุ่มกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มบ้าง คือ ได้แก้อายุสมาชิกสภาผู้แทนขั้นต่ำจาก 35 ปีบริบูรณ์มาเป็น 30 ปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นความกรุณามากมายอะไรเลย เพราะอายุขั้นต่ำ 30 ปีบริบูรณ์นั้น เท่ากับอายุขั้นต่ำของสมาชิก วุฒิสภาอเมริกันซึ่งเป็นสภาของคนมีอายุสูง

ขอให้เยาวชนหญิงชายรับทราบไว้ว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานเป็นครั้งแรกนั้น มาตรา 11 ได้กําหนดอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เพียง 20 ปีบริบูรณ์เท่ากับอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ต่อมาในการร่างกฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งให้พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร กับข้าพเจ้า เข้าเฝ้าเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้ง ณ พระตําหนักจิตรลดา ทรงมีพระราชปรารภว่า ชายไทยจะต้องรับราชการทหาร ฉะนั้นการกําหนดอายุผู้รับสมัครเลือกตั้งขั้นต่ำไว้เพียง 20 ปี ก็จะไม่สะดวกแก่ชายไทยจํานวนมากที่รับราชการทหาร เพราะถ้าจะอนุญาตให้ลาไปทําการหาเสียงเลือกตั้งก็จะต้องใช้เวลาขาดราชการทหารไปหลายวันหลายเดือน จึงสมควรขยายอายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็น 23 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ซึ่งต้องรับราชการทหารเวลาปลดเป็นกองหนุน และอุปสมบทเป็นพระภิกษุครบถ้วน 1 พรรษาเสียก่อน  พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยพระราชดํารัสจึงได้ร่างกําหนดอายุผู้รับสมัครเลือกตั้งขั้นต่ำไว้ 23 ปีบริบูรณ์ กฎหมายเลือกตั้งนี้ก็ได้ใช้สืบต่อมาจนกระทั่งถูกยกเลิกโดยกฎหมายเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าวแล้ว

ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า คณะบุคคลที่เพียรพยายามโฆษณาตนเองว่าเป็นผู้นับถือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และเป็นเดือดเป็นแค้นคณะราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้สละราชสมบัตินั้น เหตุใดเขาไม่เคารพพระราชประสงค์ของพระองค์ที่พระราชทานสิทธิประชาธิปไตยดังกล่าวนั้น

-3-

เราย่อมเห็นได้ว่า การที่จอมพล ป. พิบูลสงครามกับคณะได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกนั้น โดยการเกื้อกูลร่วมมือจากบุคคลที่มีทรรศนะตกค้างจากระบอบเก่าที่โต้ประชาธิปไตย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยอมให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ครองอํานาจได้เพียงไม่กี่เดือน แล้วก็มีนายทหารไม่กี่คนไปขอให้นายควงลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้นแล้วคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นแทนที่ นายควง ทั้ง ๆ ที่วุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว และสมาชิกสภาผู้แทนที่เลือกตั้งตามกฎหมายตัดสิทธิราษฎรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ยังคงมีอํานาจควบคุมราชการแผ่นดินอยู่นั้น ก็ได้ให้ความไว้วางใจ จอมพล ป. ในการบริหารราชการแผ่นดิน

-4-

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งลงมติโดยรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนดังกล่าวแล้ว โดยซ่อนเงื่อนไว้หลายประการ ที่ควรกล่าวในที่นี้คือ มาตรา 181 มีความว่า

“ให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกําหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพให้นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกชุดนั้น”

ผู้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมเห็นได้ไม่ยากว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 ได้ยกเอาวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว คือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม มาเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 คือ เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างคณะรัฐประหารและพลังเก่า

-5-

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 มีนายพลบก นายพลเรือ นายพลอากาศ รวม 9 คน ได้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งตนเองเป็น “คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ครั้นแล้วได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนํารัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดพระราชทานให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 นั้น ได้โดยให้สภาผู้แทนราษฎรปรับปรุงตามความเหมาะสม

-6-

ภายหลังที่นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี  นายบุศย์ ปัทมศริน ถูกประหารชีวิต ฐานต้องหาว่าปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แล้ว จอมพล ป. ได้ข้อเท็จจริงใหม่หลายประการที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเหล่านั้น จึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนว่าจะดําเนินการยุติธรรม โดยให้มีพิจารณาคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่ ตามวิธีพิจารณาของบางประเทศที่อารยะแล้ว ส่วนการปกครองประเทศนั้นจะดําเนินตามวิธีประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่จอมพล ป. จะทําจริงตามนั้นหรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

ฝ่ายซากทรรศนะระบบทาสได้โฆษณาใส่ร้ายจอมพล ป. ว่าไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทําให้คนรุ่นใหม่สมัยนั้นจํานวนหนึ่งหลงเชื่อ ครั้นแล้วพวกซากทรรศนะทาสได้สนับสนุนให้จอมพล สฤษดิ์ทํารัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. แล้วช่วยโฆษณาให้แก่จอมพล สฤษดิ์ว่าเป็นผู้รักษาพระราชบัลลังก์ไว้

ในระยะเริ่มแรก จอมพล สฤษดิ์ยกให้นายพจน์ สารสิน แล้วต่อมา พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2575 แก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่ช้าธาตุแท้ของจอมพล สฤษดิ์ก็แสดงออก โดยได้รับคําปรึกษาของหลวงวิจิตรวาทการ ทํารัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยเลิกล้มระบบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แล้วปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คณะปฏิวัติ” มีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาฯ มีอํานาจจับคนมายิงเป้าได้ โดยไม่ต้องนําตัวขึ้นศาล แม้ในระหว่างนั้นพวกเขาประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งตั้งศาลสนามได้ พวกเขาก็ไม่ทําดังนั้น พวกเขาได้จับคนบางรายแล้วยิงเป้าที่กําแพงวัดมหาธาตุ อันเป็นวัดที่หลวงวิจิตรวาทการบวชเรียนจนเป็นเปรียญ ทําให้พระภิกษุและอุบาสก อุบาสิกา อนาถใจยิ่งนัก ไม่สมกับที่ซากทรรศนะทาสโฆษณาว่า  จอมพล สฤษดิ์กับพวกเป็นผู้เคารพพระบวรพุทธศาสนาที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ตัดพระราชอํานาจหลายประการ รวมทั้งมีความตามมาตรา 17 ที่ให้รัฐบาลสั่งประหารชีวิตคนได้ โดยไม่ต้องส่งตัวให้ศาลชําระซึ่งตัดพระราชอํานาจที่ทรงพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นประเพณีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุน รามคําแหง และเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ รวมทั้งรัฐธรรมนูญสมัยจอมเผด็จการมุสโสลินี อันที่จริงถ้าเห็นว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมลงโทษน้อยแก่โจรผู้ร้ายก็ควรแก้กฎหมายนั้นวางกําหนดโทษให้สูงขึ้น และถ้าวิธีพิจารณาอาญาล่าช้าก็แก้กฎหมายนั้นให้มีการพิจารณาเร็วขึ้น แต่จอมพล สฤษดิ์กับพวกซากทรรศนะทาสที่อ้างว่าเคารพพระมหากษัตริย์ กลับตัดพระราชอํานาจที่พระองค์จึงมีตามระบอบประชาธิปไตยและตามราชประเพณีแห่งทศพิธราชธรรม

เมื่อ พ.ศ. 2506 จอมพล สฤษดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลถนอมต้องยอมทําตามคําเรียกร้องของผู้รักชาติไทย ในการชําระสะสางบัญชีเงินของรัฐเท่าที่จะเป็นไปได้ ปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ยักยอกเอาไปใช้บํารุงฮาเร็มของตนกว่า 2 พันล้านบาท เมื่อความทุจริตปรากฏขึ้นมาเช่นนี้ เชื้อพระวงศ์บางองค์ที่มิได้เกาะแน่นอยู่ในทรรศนะโต้ประชาธิปไตย ก็ทรงเห็นความว่า จอมพล สฤษดิ์ไม่ซื่อสัตย์ต่อราชบัลลังก์ แต่คนหนุ่มจํานวนหนึ่งที่มีซากระบบทาสได้โฆษณาแก้ตัวแทนจอมพล สฤษดิ์ว่า “แม้จอมพล สฤษดิ์จะโกงเงินของชาติไปสักกี่พันล้านก็ตาม แต่การที่จอมพลสฤษดิ์ได้รักษาราชบัลลังก์ไว้นั้นมีค่าสูงสุด” 

วิญญชนย่อมเห็นได้ว่า คําแก้ตัวแทนจอมพล สฤษดิ์โดยพวกปฏิกิริยาเก่าใหม่เช่นนี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะประชาชนไทยเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ และทําให้เสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ว่า ราชบัลลังก์อยู่ได้โดยจอมพล สฤษดิ์ ผู้ซึ่งได้นําเงินของชาติไปบําเรอความสุขสําราญและเอาหญิงไทยร่วมร้อยมาเป็นนางบําเรอ

-7-

จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แทนจอมพล สฤษดิ์ และมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ปกครองประเทศตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ที่ตัดพระราชอํานาจพระมหากษัตริย์หลายประการ  ต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับมิถุนายน 2511 ที่ได้ใช้เวลาว่างถึง 10 ปี นับเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งไม่เคยมีการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดใช้เวลานานถึงเพียงนั้น และต้องใช้จ่ายเงินของชาติไปเป็นจํานวนมาก แม้รัฐธรรมนูญของจอมเผด็จการมุสโสลินีก็ใช้เวลาร่างไม่กี่เดือน รัฐธรรมนูญ 2511 นี้ใช้มาประมาณ 3 ปีเท่านั้น คือ ในเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร กับคณะก็ได้ทํารัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น โดยปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการของตน ต่อมาอีกประมาณ 1 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฉบับ 15 ธันวาคม 2515 ซึ่งใช้อยู่ต่อมาจนถึงขณะที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้

-8-

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า ซากทรรศนะทาสเป็นภยันตรายต่อชาติและราษฎรไทย และไม่ช้าก็เร็วจะเป็นกําลังเกื้อกูลสนับสนุนให้อํานาจเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างทาส ได้กลับฟื้นคืนมามีอํานาจอีก เพียงแต่จะเปลี่ยนตัวผู้เผด็จการจากคนเก่ามาเป็นคนใหม่เท่านั้น

 

ที่มา: คัดจากตอนที่ 4 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516