ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “กำแพงสีเขียว” (ตอนที่ 17)

4
พฤศจิกายน
2566

 

รถไฟค่อยๆ ขับเคลื่อนขึ้นไปตามไหล่เขา รถจักรตู้หนึ่งลากจูงอยู่ข้างหน้า รถจักรอีกตู้หนึ่งดันอยู่ข้างหลัง ควันสีขาวจากปล่องไฟของรถจักรลอยสูงสู่ยอดเขา จนไม่อาจจำแนกได้ว่าไหนคือควัน ไหนคือเมฆ

“เราเหล่านักธรณีวิทยา มุ่งสู่ขุนเขาลำเนาไพร หาแร่ธาตุซึ่งเป็นทรัพย์ในดิน เพื่อสร้างสรรค์ปิตุภูมิ...”

เสียงเพลง “นักธรณีวิทยา” อันเป็นเพลงโปรดของนักเรียนห้อง ม. 2/2 ดังก้องโกรกเขา ผู้โดยสารในตู้รถไฟพลอยครึกครื้นไปกับความสดชื่นและมีชีวิตชีวาของเด็กผู้หญิงเหล่านี้

กำแพงเมืองจีนไต่เลื้อยไปตามสันเขา ลดเลี้ยวเคี้ยวคด สูงๆ ต่ำๆ จากยอดหนึ่งเชื่อมต่อไปอีกยอดหนึ่ง และเชื่อมต่อไปเรื่อยๆ จากชายฝั่งทะเลตะวันออกซ้านไห่กว๊านจรดที่ราบสูงตะวันตกจิย้าหยิ่วกว๊านยาวถึง 12,000 ลี้ หรือ 6,000 กิโลเมตร เป็นแนวป้องกันภัยผู้รุกรานด้านเหนือของประเทศจีน

ปู้หวา ดูนั่นซิ กำแพงหมื่นลี้” ผิงผิงชี้ชวนให้ปลายดู

บริเวณสถานีรถไฟชิ้งหลุงเฉียว มองไปข้างหน้า เหลียวดูข้างหลัง หรือแลไปทางซ้ายขวา ล้อมรอบด้วยกำแพงยักษ์ จนปลายไม่รู้ว่าจะหันไปดูทางไหน

เท้าทั้งสองพาปลายขึ้นมาบนกำแพงยักษ์ เพื่อนๆ ชวนกันวิ่งไปยังแท่นคบไฟบนยอดเขา กว่าจะถึงจุดหมาย ปลายวิ่งๆ หยุดๆ ไม่รู้สักกี่ครั้ง เสื้อเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ

ขนาดสองมือเปล่า ไม่ได้แบกหามสัมภาระ ยังเหนื่อยขนาดนี้ แล้วชาวจีนสมัยโบราณเมื่อ 2,500 ปีในราชวงศ์ฉินเรื่อยมาถึงราชวงศ์หมิงเมื่อ 4-5 ร้อยกว่าปีก่อนนี้ ช่างมีความเพียรพยายามเสียเหลือเกิน อิฐแต่ละก้อนหินแต่ละก้อน ก่อเป็นกำแพงหมื่นลี้ แลกด้วยหยาดเหงื่อ เลือด และน้ำตาของชาวบ้านที่ถูกจักรพรรดิเกณฑ์มาใช้แรงงาน สร้างตำนานเล่าขานตราบถึงทุกวันนี้

ต้นไม้ใบหญ้าต้นเตี้ยๆ สีเขียวเข้มปกคลุมขุนเขาที่ตะปุ่มตะป่ำ ด้วยก้อนหินใหญ่น้อย แซมด้วยดอกไม้ป่าสีขาว เหลือง และม่วง เมื่อต้องลมก็พลิ้วไหวดังระลอกคลื่นในทะเล

ที่นี่ ต้นไม้ยืนต้นมีน้อยมาก พอจะเห็นต้นซ้านจ๊าขึ้นประปราย ในฤดูหนาวกับต้นฤดูใบไม้ผลิ ลมหนาวจากไซบีเรียพัดพากรวดทรายจากทะเลทรายโกบีปลิวว่อนไปทั่ว รัฐบาลจีนจึงระดมประชาชนปลูกต้นไม้เป็นแนว “กำแพงสีเขียว” เพื่อกันลมและทราย

ผิงผิงแสดงความจำนงกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขต นักเรียนห้อง ม. 2/2 ขอร่วมสร้างกำแพงสีเขียวด้วย

จอบ เสียม พลั่ว อยู่ในมือของปลาย ผิงผิง เหมาเหมา แล้วยังถังน้ำ 2 ใบ หาบบนไหล่ของครูจ๊าง ส่วนเหลียนเหลียน ชิ้งชิ้ง เหวินหลาน เหม่ยฮะหวา ช่วยกันพยุงพันธุ์ต้นแอปเปิ้ล ต้นท้อ ต้นสาลี สูง 1 เมตรกว่าๆ อย่างทะนุถนอม

เสียงจอบกระทบก้อนหินดังแชะๆ บางครั้งฟันไปกระทบหินก้อนใหญ่เป็นประกายไฟเหมือนสายฟ้าแลบ

เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตบอกให้เด็กๆ ขุดหลุมดินเป็นรูปเกล็ดปลา

“หลุมดินในลักษณะนี้ จะช่วยกักเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงต้นไม้”

คนนี้ขุด คนนั้นเก็บเศษก้อนหินเรียงไว้ปากหลุม อีกคนหนึ่งพรวนดินไม่ช้าก็ได้หลุมดินรูปเกล็ดปลาตามจำ   นวนที่ต้องการ

ไหล่เขาบริเวณด้านล่างของกำแพงยักษ์ ต้นไม้ที่เพิ่งลงดินเรียงรายเป็นแนว รับแสงแดดและสายลม

น้ำ 2 ถัง ที่ครูจ๊างหาบขึ้นมา ไม่พอรดน้ำต้นไม้ให้ชุ่มฉ่ำ เด็กๆ แย่งกันลงไปหาบน้ำขึ้นมาอีก ครูจ๊างตัดสินใจให้ผิงผิงกับปลายช่วยกันหาบน้ำขึ้นมา

ไม้คานสอดหูถังไม้ใบเขื่อง ผิงผิงเตี้ยกว่า หาบอยู่ข้างหน้า ปลายสูงกว่า จึงอยู่ข้างหลัง น้ำในถังเต็มปริ่ม ปลายรู้สึกเจ็บแปล๊บปล๊าบบนไหล่ เดินโซซัดโซเซ ป่ายซ้ายเอียงขวา พยายามพยุงตัวไม่ให้ลื่นไถลลงมาจากไหล่เขาเท้าขวาของปลายสะดุดหินก้อนโตเกือบจะหัวคะมำหกล้ม น้ำในถังกระฉอกเหลือเพียงครึ่งเดียว

ปลายกับผิงผิงช่วยกันเทน้ำใสและเย็นเจี๊ยบ ราดตรงโคนต้นแอปเปิ้ลต้นท้อ ต้นสาลี่ น้ำซึมหายไปในดินที่ร่วนซุยอย่างรวดเร็ว

ไม่รู้ว่าอีกกี่ปี ต้นไม้เหล่านี้จะผลิดอกออกผล ปลายหวังว่า วันนั้นจะได้กลับมาเยือนที่นี่อีก ถึงวันนั้นปลายกับเพื่อนๆ คงจะภูมิใจไม่น้อย ด้วยจิตใจอันใสสะอาด ด้วยหยาดเหงื่อ ร่วมแรงร่วมใจปลูกต้นไม้แห่งมิตรภาพไว้เคียงคู่กำแพงยักษ์

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “กำแพงสีเขียว,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 282-285.

บทความที่เกี่ยวข้อง :