ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 17)

8
ตุลาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 17) ของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุไว้ในบันทึกประกอบการประท้วงว่าหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยนายประยูร ภมรมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องการอภิวัฒน์สยามคือนายประยูรอ้างว่าตนเป็นผู้ที่ชักชวนให้บุคคลสำคัญมาเข้าร่วมการอภิวัฒน์
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อที่ 15.

 

ข้อ 15.

วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่สำนักพิมพ์บรรณกิจและผู้สนับสนุนฯ อ้างว่า พล.ท.ประยูร เป็นผู้ “เริ่ม”

และ “ชักจูง” เพื่อนคิดเปลี่ยนแปลงของการปกครอง

15.1.

สำนักพิมพ์บรรณกิจได้เขียนไว้ในหนังสือของ พล.ท.ประยูร ภายใต้หัวเรื่องว่า “จากสำนักพิมพ์” มีความตอนหนึ่งว่า หนังสือเรื่อง “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดยท่านนายพลผู้อาวุโสท่านหนึ่งของเมืองไทย คือ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งท่านมีบทบาทสําคัญจากในการดำเนินการปกครองจากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยเป็นผู้ที่ริเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งนี้ขึ้นเมื่อสมัยท่านศึกษาอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้พยายามชักจูงเพื่อนร่วมคิดมิตรร่วมใจทีละคนทีละเหล่าตามลำดับจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้ทราบความเป็นมาโดยละเอียดเมื่อได้พลิกอ่านในหนังสือเล่มนี้

สําหรับ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” เล่มนี้ สํานักพิมพ์ของเรามั่นใจว่าเป็นหนังสือประเภทเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่มีผู้เขียนกันขึ้น ทั้งนี้เพราะพล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แท้จริงที่สุด ยิ่งกว่าผู้เขียนอื่น  ๆ ทั้งงานเขียนอื่น ๆ ทั้งปวง ฉนั้นสิ่งที่ท่านผู้เขียนได้อ่านพบจากความทรงจําและหลักฐานบันทึกต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเล่มนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นจริงและละเอียดลออ

ข้าพเจ้าขอเสนอข้อสังเกตแก่ท่านที่มีใจเป็นธรรมว่า

(1)

ท่านผู้เขียน (ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าคือใคร) ของสำนักพิมพ์บรรณกิจ และท่านที่เป็นกรรมการตัดสินหนังสือประเภทสารคดีและท่านกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้นแต่รับทราบและควรทราบแล้วว่าพจนานุกรมร่วมสมัยของราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคําว่า “ชักจูง” นั้นไว้ในหน้า 330 ว่า นำ เช่น ชักนำ, ชักจูง

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการ “ชักจูง” นั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนปฏิเสธบุคคลที่เป็นชั้นหัวหน้าคณะราษฎรไว้ดังปรากฏใน “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ ที่กล่าวไว้ในข้อ 2, 3, 4, 5, 6, 7 แล้วที่แสดงว่าท่านผู้นี้เป็นบุคคลสําคัญยิ่งกว่าผู้ก่อการอื่น ๆ ในการริเริ่มเปลี่ยนการปกครองสําเร็จ

(2)

โดยคำจูงใจดังกล่าวของสํานักพิมบรรณกิจและผู้สนับสนุนเผยแพร่ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นยอดเยี่ยมทางสารคดีจึงมีบุคคลหลายคนหลงเชื่อแล้วจ่ายเงินซื้อหนังสือเล่มนั้น แต่ต่อมาภายหลังบุคคลดังกล่าวได้ทดสอบกับหนังสือชื่อต่าง ๆ ที่มีผู้พิมพ์ไว้ก่อนหนังสือเล่มนั้นของพล.ท.ประยูรฯ ซึ่งผู้เขียนแห่งสํานักพิมพ์บรรณกิจและคณะกรรมการฯ ต้องทราบ หรือควรทราบก่อนที่จะเขียนหรือรับรองว่าหนังสือของ พล.ท.ประยูรฯ เป็นความ “แท้จริงยิ่งกว่าผู้เขียนขึ้นทั้งปวง” อีกทั้งผู้ซื้อหนังสือได้ทดสอบกับผู้ก่อการฯ หลายคนแล้ว ความจึงปรากฏขึ้นว่าข้อเขียนของพล.ท. ประยูรหลายประการได้ มิได้เป็นไปตามที่สํานักพิมพ์กับผู้รู้และผู้สนับสนุนได้จูงใจผู้ซื้อหนังสือไว้ดังจะกล่าวต่อยังเทปในข้อ 15.2 ต่อไป

15.2.

(1)

ในขั้นแรกผู้ซื้อหนังสือหลงเชื่อว่า พระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, บุคคลชั้นหัวหน้าคณะราษฎร มิได้มีความคิดริเริ่มเปลี่ยนการปกครองระบอบสมบูรณาฯ หากสามท่านนั้นถูก “ชักจูง” โดย ร.ท.ประยูรฯ ให้เข้าร่วมเปลี่ยนการปกครองนั้น เพราะพล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 128-129 (โปรดดูที่ข้าพเจ้าข้างไว้ใน 14.2.) นั้นว่าพระยาทรงฯ ยังเป็น “พระทรงสุรเดช” อยู่ในประเภทที่พล.ท.ประยูร เรียกว่า “ส่วนที่มาสมัครทีหลัง” คือ ภายหลังที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าท่านเป็นผู้จัดให้มีบุคคลรวม 7 คน ร่วมประชุมครั้งแรกที่บ้านของท่านแล้ว และพล.ท.ประยูรฯ กล่าวไว้ในหนังสือของท่านหน้า 127 ว่า

ในการเชิญชวน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา มาร่วมคณะนั้น ได้ขอร้องให้ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นที่รักกันมากไปพูดเกริ่นไว้บ้างแล้ว

ทั้งนี้ แสดงว่าเมื่อ ร.ท. ประยูรฯ เราได้พบพระยาทรงฯ มาสมัครตอนหลังแล้ว ร.ท. ประยูรฯ ได้ขอร้องให้พระยาทรงไปเชื้อเชิญ (หรือ “ชักจูง”) พระยาพหลฯ อีกต่อหนึ่ง และพระยาทรงฯ ก็เชื้อเชิญหรือชักจูงพระยาฤทธิ์อีกต่อหนึ่ง

แต่ในหนังสือว่าด้วยบันทึกและคำให้สัมภาษณ์ของท่านทั้งสามนั้น ปรากฎชัดแจ้งว่า พระยาทรงฯ พระยาพหลฯ พระยาฤทธิ์ฯ ฯลฯ ได้มีจิตสํานึกของท่านทั้งหลายเองที่ปรารถนาเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ มิใช่ท่านถูก “ชักจูง” โดย ร.ท.ประยูร

พระยาทรงฯ บันทึกใจความว่าเดิมท่าน

ไม่รู้ว่ามีพวกพลเรือนคิดอยู่เหมือนกัน ทางฝ่ายพลเรือนถึงแม้จะได้ทหารเป็นพวกไว้บ้างแล้วก็เป็นแต่พวกมีคนน้อย และไม่มีตำแหน่งสำคัญอะไรในกองทัพ ด้วยเหตุที่ต้องการได้ทหารตัวสำคัญฯ เข้ามาพวกด้วยนั่นเองจึงได้ติดต่อรู้ถึงกันขึ้น

และหนังสือคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ ต่อหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” และหนังสือ “ชีวิตการเมือง” ของพระยาฤทธิ์ฯ เล่มที่อ้างในข้อก่อน ๆ ออกมาแล้วนั้นมีใจความตรงกันกับบันทึกของพระยาทรงฯ

ดังนั้นการที่สํานักพิมพ์และผู้สนับสนุนจูงใจให้ผู้อ่านหลงเชื่อว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริงยิ่งกว่าถ้อยคําของพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์, นั้นจึงทําให้เสียหายแก่ประวัติศาสตร์และเสียเกียรติของท่านทั้งสามที่เป็นบุคคลชั้นนําแห่งคณะราษฎร

(2)

ผู้ก่อการหลายคนได้มีจิตสํานึกที่คิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาตั้งแต่ก่อนที่ปรีดีกลับจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2470 และก่อน ร.ท.ประยูรฯ กลับสู่สยามประมาณ พ.ศ. 2472 แล้วผู้ก่อการเหล่านั้นก็ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มของตนต่อมาจึงพบปะกับบุคคลชั้นหัวหน้าคณะราษฎร มิใช่ถูก “ชักจูง” โดยร.ท.ประยูรฯ

เรื่องนี้สํานักพิมพ์และผู้สนับสนุน ทราบหรือควรทราบอยู่แล้วจากข้อความที่ข้าพเจ้า (ปรีดีเขียนไว้ในหนังสือ ชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งและราษฎร” ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2515 หน้า 18-19)

(3)

ผู้ก่อการฯ หลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้แจ้งให้ผู้ปรารถนาสัจจะทราบว่าคนที่มิได้ถูก “ชักจูง” จาก ร.ท.ประยูรฯ ให้เข้าร่วมเปลี่ยนการปกครอง

ผู้ก่อการเหล่านั้นมีเหตุผลว่าการ “ชักจูง” เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ นั้นเป็นเรื่องเสี่ยงต่อคอขาดบาดตาย และเป็นเรื่องงานใหญ่ที่จะต้องรับให้มวลราษฎรจึงต่างกับเรื่องชวนกันไปเที่ยวเล่น ฉะนั้นผู้ก่อการเหล่านั้นจะยอมร่วมกัน “ชักจูง” ได้ก็ต่อเมื่อผู้ชักจูงมีคุณวุฒิและความสามารถเป็นที่ไว้วางใจได้ว่าจะนําไปสู่ความสําเร็จ

ผู้ก่อการฯ เหล่านั้นจึงไม่อาจเสี่ยงชีวิตตามคําชักจูงของ ร.ท. ประยูรฯ ผู้ก่อการบางคนแจ้งว่า ร.ท.ประยูรฯ มาติดต่อโดยอ้างชื่อของบุคคลที่เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนบ้าง ฝ่ายทหารบ้าง แต่ผู้ถูกชักจูงก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าตนจะได้สอบสวนแล้วว่าบุคคลที่ ร.ท.ประยูร อ้างว่าเป็นหัวหน้านั้นมีคุณวุฒิและความสามารถเป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น

(4)

ส่วนผู้ก่อการและสมาชิกคณะราษฎร ประเภท ดี 2 และดี 3 หลายคนที่ได้เคยศึกษาในต่างประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยชนิดก้าวหน้ากว่าระบบสมบูรณาฯ นั้นที่ประสบพบเห็นสภาพประชาธิปไตยและเกิดจิตสํานึกที่ต้องการให้สยามเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ โดยมิใช่ ร.ท.ประยูรฯ เป็นผู้ชักจูง

ร.ท.ประยูรฯ เพิ่งไปถึงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2467 แต่นักเรียนไทยในฝรั่งเศสและในสวิตเซอร์แลนด์กับนักเรียนไทยจํานวนหนึ่งซึ่งสถานทูตสยามประจํากรุงปารีสส่งไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษนั้นได้รวมกันจัดตั้ง “สามัคคยานุเคราะห์” ขึ้นเป็นเวลา 1 ปีเศษก่อนที่ พล.ท.ประยูรฯ ถึงปารีส

ต่อมาในพ.ศ. 2469 สมาชิกของสมาคมฯ นั้นให้ทําการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามซึ่งสมาชิกถือว่าเป็นผู้แทนของระบบสมบูรณาฯ หนังสือพิมพ์และนิตยสารในประเทศไทยได้นำข่าวไปลงพิมพ์เปิดเผยเป็นที่ทราบกันอยู่ในสมัยนั้นแล้ว ซึ่งเป็นบ่อเกิดที่นําไปสู่การตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 (ปฏิทินขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469)

(5)

หลายท่านที่สนใจจริงในสารคดีแห่งประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ นั้นก็ย่อมทราบจากหนังสือ และความต่าง ๆ ที่มีผู้พิมพ์ไว้รวมทั้งข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคําสอนกฎหมายปกครองเมื่อพ.ศ. 2474 ซึ่งแสดงหลักฐานความจริง ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และต่อมาในพ.ศ. 2514 ข้าพเจ้าได้เขียนรายละเอียดไว้พอสมควรในหนังสือชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวแก่การก่อตั้งคณะราษฎร”

 

โปรดติดตามอ่านต่อในบันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 18)

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง

และประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ

ต่อหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :