หลังจากที่ได้ตรารัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็ได้มีการพูดเก็งกันถึงการประกอบคณะรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะได้กระทำต่อจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๕ มิถุนายน ข้อเก็งมีอยู่สองข้อ ข้อหนึ่ง เก็งว่าใครจะได้รับมอบให้จัดคณะรัฐบาล ข้อสอง เก็งว่ารัฐบาลจะเปนในรูปผสมหรือรูปพรรค
อันที่จริงข้อหนึ่งนั้น มิใช่ข้อเก็งอะไร เพราะไพ่ได้แบอยู่บนโต๊ะแล้วครั้นเมื่อสมาชิกสภาผู้แทน ๖๖ นาย ลงนามร่วมกันแสดงความสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามตลอดกาล เราก็อาจรวบไพ่กระดานนั้นขึ้นมาซอย เตรียมเล่นกระดานใหม่กันต่อไปได้
ข้อเก็งขัอสองที่ว่า รัฐบาลจะเปนไปในรูปผสมหรือรูปพรรคนั้นยังมีการแสดงความเห็นกันอยู่เรื่อยมา เสียงข้างมากนั้นดูหนักไปทางต้องการให้มีรัฐบาลผสม ผู้ที่ต้องการให้มีรัฐบาลผสมบางคนถึงแก่เกรี้ยวกราดเอาแก่ผู้ที่ไม่ต้องการผสมว่า ดีแต่เปนเจ้าคารมไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน เรื่องจะทั้งรัฐบาลผสมหรือไม่ผสมนี้ดูถือกันเปนข้อโต้เถียงจริงจัง
การที่มีผู้เรียกร้องให้ตั้งรัฐบาลผสมนั้น เราก็จะต้องถือว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ใช้รัฐบาลผสม นัยหนึ่งเปนรัฐบาลในรูปพรรคข้าพเจ้าออกจะสงสัยว่า จริงหรือที่รัฐบาลปัจจุบัน เปนรัฐบาลรูปพรรค จริงหรือที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ใช้รัฐบาลผสม จึงได้มีเสียงกันให้เซ็งแซ่ไปว่า ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ (คนเดียวกับคนปัจจุบัน) ตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอให้นักข่าวของนครสารช่วยจดนามรัฐมนตรีชุดปัจจุบันให้ และตรวจสอบดูว่า ท่านผู้ใดสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคใด ท่านผู้ใดเคยมีฐานะและเคยนิยมกติกาเมืองใด ข้อตรวจสอบนี้ ข้าพเจ้าได้ผ่านให้กองบรรณาธิการ “นครสาร” ช่วยทานข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงบางข้อคลาดเคลื่อนไปอย่างใด ขอท่านผู้ที่ถูกกล่าวถึง ได้โปรดให้คำทักท้วงไปยังท่านบรรณาธิการ
กลาโหม: ร.ม.ต.ว่าการ พล.ท. หลวงชาตินักรบ ทหารบก, ร.ม.ต.ช่วยว่าการ พล ร.ต.หลวงพลสินชวานัติ ทหารเรือ, ร.ม.ต.สั่งราชการ พล.อ.ก. ม.จ.รังษิยากร กฤษดากร ทหารอากาศ ราชวงศ์
คลัง: ร.ม.ต.คลัง ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันตร์ ราชวงษ์ เคยร่วมเปนรัฐมนตรีในรัฐบาลอภัยวงษ์ พรรคประชาธิปัตย์, ร.ม.ต.สั่งว่าการ นายเสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ พรรคอิสสระ เคยร่วมเปนรัฐมนตรีพรรดสหชีพแนวรัฐธรรมนูญ
ต่างประเทศ: ร.ม.ต.ว่าการ ม.ล.ปรีดิเทพพงศ์ เทวกุล ราชวงษ์, ร.ม.ต.ช่วยว่าการ นายพจน์ สารสิน ธนบดี. ร.ม.ต.สั่งการ นายวรการบัญชา ธรรมาธิปัตย์
คมนาคม: ร.ม.ต.ว่าการ พล.ท.พระยาเทพหัศดินทร์ นายทหารผู้ใหญ่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้ได้รับพิพากษาจากศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๘๐ ว่าเปนกบฏ ได้รับสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้งเปนสมาชิกวุฒิสภา, รม.ต.สั่งการ นายปฐม โพธิแก้ว พรรคอิสสระ พล.ต.สวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ รมต.ช่วยว่าการ พรรคอิสสระ
พานิช: พล.ต.พระบริภันท์ยุทรกิจ เภา เพียรเลิศ ผู้ก่อการ 24 มิถุนา นักธุรกิจใหญ่ อดีต ร.ม.ต.คลัง สมัยรัฐบาลจอมพล
เกษตร: ร.ม.ต.ว่าการ พระช่วงเกษตรศิลปากร จากตำแหน่งข้าราชการประจำมาสู่ตำแหน่งการเมือง, ร.ม.ต.ช่วยราชการ พ.อ.น้อมเกตุนุติ ทหารบก คณะรัฐประหาร, ร.ม.ต.สั่งราชการ นายกิจจา วัฒนสินธุ์ พรรคประชาธิปัตย์
มหาดไทย: ร.ม.ต.ว่าการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรี) ร.ม.ต.ช่วยว่าการ นายเลียง ไชยกาล จากพรรคประชาธิปัตย์มาสู่พรรคประชาชนและมาสู่สหพรรค, ร.ม.ต.ช่วยว่าการ พระยาจินดารักษ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จากตำแหน่งข้าราราชการประจำมาสู่ตำแหน่งการเมือง
ศึกษา: พล.ท.หลวงพรหมโยธี ทหารบก ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน จากธรรมาธิปัตย์มาสู่สหพรรค, ร.ม.ต.ช่วยว่าการ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ จากสหชีพมาสู่ธรรมาธิปัตย์ และมาสู่สหพรรค
ยุตติธรรม: ร.ม.ต.ว่าการ พระมนูภาพวิมถศาสตร์ จากอาจารย์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้พิพากษา, ทนายความคดีอาชญากรสงคราม มาสู่ตำแหน่งการเมือง
อุตสาหกรรม: ร.ม.ต.ว่าการ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน, ร.ม.ต.สั่งการ นายฟื้น สุพรรณสาร จากประชาชน มาสู่สหพรรค
ร.ม.ต.สั่งการแทนสำนักนายกรัฐมนตรี: นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ คณะรัฐประหาร ธรรมาธิปัตย์
นายกรัฐมนตรี: จอมพล ป. พิบูสสงคราม ทหารบก ๒๔ มิถุนายน หัวหน้าในทางกำลังยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลพระยามโนฯ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ สนับสนุนการกลับสู่สยามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้บัญชาการปราบกบฏฝ่ายนิยมกษัตริย์ ตุลาคม ๒๔๗๖ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยความสนับสนุนของคณะรัฐประหาร
ในคณะรัฐมนตรีบัดนี้ มี ร.ม.ต.ที่เปนสมาชิกสภาผู้แทน ๘ คน ได้แก่ นายเลียง ไชยกาล, นายเสวต เปี่ยมพงษ์สานต์, นายปฐม โพธิ์แก้ว, นายกิจจา วัฒนสินธุ์, นายฟื้น สุพรรณสาร, นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์, นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์, นายวรการ บัญชา
มี ร.ม.ต.ที่เปนสมาชิกวุฒิสภา ๔ คน ได้แก่ พระยาจินตรักษ์, พล.ท.พระยารานนท์ศศิน ณ อยุธยา, พระยามนูภาณวิมลศาสตร์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม มี ร.ม.ต.ที่มิได้เปนสมาชิกสภานิติบัญญัติ ๑๐ คน ได้แก่ นายพจน์ สารสิน, พระช่วงเกษตรศิลปาการ, พ.อ.น้อม เกตุนุติ, พล.ต.สวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ, ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยยันต์, พล.ต.เภา เพียรเลิศ, ม.ล.อุดม สนิทวงศ์, พล.ท.หลวงพรหมโยธี, พล.ท.หลวงชาตินักรบ, พล.ร.ต.หลวงพลสินธวาณัติก์, พล.อ.ต. ม.จ.รังษิยากร กฤษดากร และม.จ.ปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล
เมื่อตรวจสอบฐานะของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลปัจจุบันดูแล้ว เราจะเห็นว่าในคณะนี้มีรัฐมนตรี (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี) เปนผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน ล้มสมบูรณาญาสิทธิราช ๔ คน เปนคณะรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเปนผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน ๖ คน เปนราชวงษ์และขุนนางเก่า ๖ คน เปนทหารบก เรือ อากาศ ๗ คน เปนนักการเมืองสังกัดสหพรรค (ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ สหชีพ ประชาธิปัตย์ ธรรมาธิปัตย์ และพรรคอิสสระ) ๘ คน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ๑ คน ในคณะรัฐบาลนี้จึงมีทั้งฝ่ายล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและฝ่ายเทอดทูนพระมหากษัตริย์, มีทั้งธนบดีและโซชะลิสต์, มีทั้งพวกหัวเก่าและพวกหัวก้าวหน้า, มีทั้งอำมาตย์ใหญ่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชและราษฎรที่มาจากบ้านนอก
เมื่อตรวจสอบแยกแยะดูดังนี้แล้ว เราจะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เปนรัฐบาลผสมชนิดทำประวัติการณ์ ไม่มีรัฐบาลใดในต่างประเทศจะผสมกันได้ถึงขนาดนี้ ทุกหลักการและทุกอุดมคติ (ถ้ามี) ได้เอามามาละลายลงไปกลมกลืนกันได้อย่างน่าอัศรรย์ในเบ้าเดียวกัน เปนรัฐบาลผสมอย่างที่ไม่มีอะไรจะเหลือไว้ให้ผสมได้อีก นอกเสียจากความเคียดแค้นชิงชังกันเปนส่วนตัวเท่านั้นที่ยังนำลงไปผสมกันไม่ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อมีการโต้เถียงเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลผสมในโอกาสต่อไป จึงเปนการยากที่จะเข้าใจว่าจะให้ผสมกันอย่างไร ในเมื่อปัจจุบันนี้ ภาวะของรัฐบาลก็เปนภาวะของรัฐบาลผสมอย่างน่าอัศจรรย์อยู่แล้ว
เราอาจจะเข้าใจได้ต่อเมื่อตีความเอาว่า การเรียกร้องให้ตั้งรัฐบาลผสมนั้นหมายถึงการนำ “บุคคล” เข้ามาผสมลงไปอีก ถ้าหมายดังนั้นแล้วก็เปนการผสมที่ไม่มีอยู่ในแบบแผนของรัฐบาลผสม ตามธรรมนิยมสากล ถ้าหมายดังนั้นก็เปนการผสมตามอำเภอใจของเราและดังนั้นก็สมควรจะตั้งชื่อเสียใหม่ว่ารัฐบาลขยำ มิใช้รัฐบาลผสมหรือ Coalition Government ตามแบบการผสมสากล
การผสมรัฐบาล โดยนึกถึงบุคคลเพียงคนสองคนไม่ว่าจะได้บุคคลดังนึกนั้น ผสมลงไปหรือไม่ได้ก็ดี ทั้งสองประการนั้น ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะทำให้การผสมมีความหมายแก่เสถียรภาพทางการเมืองเท่าใด
แน่นอน เราจะต้องช่วยกันขบคำว่า ประเทศจะได้เสถียรภาพทางการเมืองมาโดยทางใด และก็แน่นอนว่าเราจะมิได้มาโดยเพียงการผสมบุคคลลงไปในคณะรัฐบาล ความอ่อนแอ แหลกเหลวในระเบียบการเมืองของเรา มิได้มาจากเหตุที่ว่าเราไม่มีคนนั้น ไม่มีอยู่ในคณะรัฐบาล บุคคลต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวขวัญถึง แท้ที่จริงล้วนแต่ได้เคยเข้าอยู่ในคณะรัฐบาลมาแล้วทั้งนั้น แต่เราก็ยังต้องเรียกหาเสถียรภาพทางการเมืองกันอยู่ตลอดมา
ข้อวิตกในขณะนี้ ไม่ควรจะเปนว่า เราจะไม่ได้รัฐบาลผสม เพราะเรามีการผสมของรัฐบาลในขนาดอัตราที่น่าอัศจรรย์อยู่แล้ว แท้ที่จริงเรามิใช่ต้องการรัฐบาลรูปนั้นรูปนี้ แต่เราต้องการอะไรอย่างหนึ่งหรือสอง สามอย่าง ที่จะยังให้เกิดระเบียบและเสถียรภาพทางการเมืองต่างหาก อะไรอย่างหนึ่ง หรือสอง สามอย่างนั้น คืออะไร เราควรจะได้สอบสวนค้นคว้ายกขึ้นพิจารณา ข้าพเจ้าอาจเสนอความเห็นของข้าพเจ้าในโอกาสต่อไป
การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา บางทีถึงกับทำให้เราเรียกร้องหาสิ่งที่เรามีอยู่จนเกินขนาดอัตราอยู่แล้ว สิ่งนั้นคือรัฐบาลผสม บางทีอาจเปนการดีกว่า ถ้าเราจะร้องขอให้มีการผสมน้อยลงกว่านั้น เพื่อเราจะได้สามารถแลกเห็นหลักการหรืออุดมคติเด่นชัดพอที่จะอุ่นใจและให้ความสนับสนุนได้
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 213-222.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง