กว่างโจ๊ว เมืองแห่งแพะ 5 ตัว
วันที่ 1 ตุลาคม 2499
ผิงผิงเพื่อนรัก
วันนี้เป็นวันสืออิ๊ วันอันเป็นฤกษ์งามยามดี ครบรอบ 10 ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีน ยิ่งทำให้ฉันคิดถึงเธอและเพื่อนๆ คิดถึงการเฉลิมฉลองวันชาติจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปีที่แล้ว ผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสน เสียงตะโกนร้อง “จ๊งฮวาเหรินหมินก้งเหอกั๋วว่านสุ้ย” (สาธารณรัฐราษฎรจีนจงเจริญ) ยังคงดังแว่วในโสตประสาทของฉันจนถึงวันนี้
ที่กว่างโจ๊ว ฉันเข้าเรียนชั้นชูซ้าน[1] โรงเรียนมัธยมจื๋อสิ้นหนิ่วจ๊งเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนหญิงล้วน
ที่นี่ สถานภาพของฉันไม่ใช่ชาวต่างประเทศ แต่เป็นสถานภาพกึ่งบุตรธิดาของก้านปู้ (ผู้ปฏิบัติงาน) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทางการจีนระแวงจารชนต่างประเทศจะรู้ระแคะระคายความเป็นมาของพ่อฉัน ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรอันที่จริงก็ไม่น่าจะปกปิดเป็นความลับ เพราะพ่อของฉันมิได้มีการเคลื่อนไหว ทางการเมืองใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศจีนหรือประเทศไทย
โรงเรียนกับคุณครูก็ดีหรอก เพื่อนๆ เป็นกันเองดี แต่ฉันเหมือนกับคนใบ้ เหมือนกับคนหูหนวก ที่นี่เขาไม่พูดภาษาจีนกลาง พูดแต่ภาษากวางตุ้ง เธอลองทายดูซิว่าประโยคนี้หมายถึงอะไร
“เหนย-กิว-มัดเย-เหมง?” (คุณชื่ออะไร)
เพื่อนใหม่ถามฉันซึ่งตรงกับภาษาปักกิ่งว่า “หนี่เจี้ยวเสินเมอะหมิงจื้อ?”
ฉันเจอประโยคยาวๆ ยากๆ กว่านี้อีก ทำเอาหมดสนุกไปเสียนี่คุณครูบางคนพูดภาษาจีนกลางไม่ได้เลย เวลาสอนก็ส่งภาษากวางตุ้งล้วนๆ ฉันไม่เข้าใจเลย ถึงฉันจะไม่ชอบสำเนียงภาษากวางตุ้ง ฉันคงจะต้องหัดพูดภาษากวางตุ้งอีกภาษาหนึ่งกระมัง
โรงเรียนจื๋อสิ้นหนิ่วจ๊ง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ท่านจู๊จื๋อสิ้น มิตรร่วมอุดมการณ์ของ ดร.ซุนยัดเซน ที่โค่นล้มการปกครองของราชวงศ์ชิ้งและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
โรงเรียนตั้งอยู่บนเนินเตี้ยลูกเล็กๆ ก้าวผ่านประตูเหล็กสูงโปร่ง ซ้ายขวาสองด้านเป็นอาคารเรียน ชั้นมัธยมต้นอยู่ด้านขวา มัธยมปลายอยู่ด้านซ้ายเดินก้าวตามบันไดซีเมนต์ยาวกว้างขึ้นสู่อาคารบริหาร ปลายบันไดมีรูปปั้นสิงโตหินสองตัวหมอบอยู่ หอนอนเป็นตึก 2 ชั้นครึ่ง ทรงสี่เหลี่ยม สีแดงซีดๆ ซ่อนตัวอยู่ในร่มเงาของต้นก้ามปูและต้นหางนกยูงที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมไปทั่ว เดินผ่านตรงนี้ทีไรฉันนึกว่าอยู่เมืองไทยทุกที เพราะที่เมืองไทยของฉันมีต้นไม้ทั้งสองชนิดปลูกอยู่สองฝั่งถนน ถัดออกมาคือสนามกีฬา ที่นี่เป็นสนามกีฬาจริงๆ ลู่วิ่ง 400 เมตร ไม่ต้องไปวิ่งริมคูกำแพงวังเหมือนโรงเรียนเป่ยจิ๊งหนิ่วอิ๊จ๊งของเรา
เช้าๆ ก่อนล้างหน้าแปรงฟัง เสี่ยวจู๊หัวหน้าชั้นจะนำนักเรียนออกมาวิ่งใครวิ่งได้กี่รอบก็วิ่งไป ฉันวิ่งได้ 2 รอบ หรือ 800 เมตร เหนื่อยไม่ใช่เล่น
อาหารเช้าที่นี่ไม่มีหมานโถ่ว มีแต่เส้นบะหมี่บ้าง หรือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่บ้าง คลุกกับซีอิ๋ว ใส่น้ำมันน้อยๆ พอไม่ให้ฝืดคอ แถมด้วยน้ำข้าวต้มใสๆ ไว้ซดให้คล่องคอ รับประทานอาหารเสร็จก็เข้าเรียน
การเรียนภาคเช้าไม่ต่างจากที่เป่ยจิ๊งหนิ่วอิ๊จ๊ง
พักเที่ยงรับประทานอาหารกลางวัน โต๊ะละ 8 คน ใครกินเร็วกว่าย่อมได้เปรียบ เห็นท่าว่าฉันจะต้องฝึกการใช้ตะเกียบคีบอาหารให้ชำนาญกว่านี้จะได้ไม่ต้องรั้งอยู่เป็นคนสุดท้าย กินข้าวคลุกน้ำผัดผัก
พอทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต้องกลับไปนอนพักเที่ยงที่หอนอน เตียงไม้ 2 ชั้น เรียงเป็นตับ ฉันไม่รู้สึกง่วง เมื่อปีนขึ้นไปนอนบนเตียงด้านบนแล้ว รีบควานหาหนังสือที่ซ่อนอยู่ใต้หมอนออกมาอ่าน ส่วนใหญ่เป็นหนังสือรูปภาพเล่มเล็กๆ ย่อความจากวรรณคดีจีนและต่างประเทศ แต่ที่ ฉันชอบมากที่สุดไม่พ้นเรื่องผจญภัย เสียงฝีเท้าครูเวรใกล้เข้ามา ฉันรีบตะแคงเข้าด้านในแสร้งทำเป็นหลับ
ภาคบ่ายเราจะเรียนหรือทำการบ้านกันแค่ 2 คาบ ก็ถึงเวลาที่ฉันรอคอย เธอคงเดาถูกนะผิงผิง ชั่วโมงกระโดดโลดเต้นที่สนามกีฬาไงล่ะ ฉันสมัครเข้าทีมกรีฑาของโรงเรียน
ฉันซุ่มฝึกไตรกรีฑา วิ่ง 100 เมตร กระโดดสูง และทุ่มน้ำหนักจนได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬามัธยมศึกษาของนครกว่างโจ๊ว ได้คะแนนรวมมาเป็นที่ 4 ประเภทเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เลยชวดการขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัล ฉันเสียใจนิดๆ แต่ต้องยอมรับว่าคนที่เก่งกว่าฉันยังมีอีกแยะ
วกกลับมาเล่ากิจวัตรประจำวันของฉันดีกว่า หลังจากอาบน้ำอาบท่าแล้ว ห้าโมงครึ่งเป็นเวลาอาหารค่ำ จากนั้นเป็นเวลาทบทวนและทำการบ้านในห้องเรียนอีกรอบ 2 ทุ่มครึ่งเข้านอน
ดวงไฟกลางห้องดับลง ฉันเปิดปุ่มกระบอกไฟฉายข้างหมอน ลำแสงฉายไปกระทบผนังห้องสีขาว สะท้อนกลับเป็นแสงสว่าง ฉันเลิกหมอนออกหยิบกระดาษฟางสีเหลืองนวลออกมา 2-3 แผ่น (ใต้หมอนฉันคือขุมทรัพย์มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ) กระดาษฟางหนา สาก และหยาบ คลี่ออกมาแล้วใช้มีดตัดกระดาษตัดออกเป็นสามส่วน หลังจากนั้นขยุ้มกระดาษแต่ละส่วนเป็นก้อนกลมๆ แล้วก็คลี่ออก สองมือขยี้กระดาษเหมือนกับเวลาเราซักผ้า อย่างไรอย่างนั้น ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง กระดาษฟางจะอ่อนนุ่ม ฉันใช้สันมือลูบให้เรียบแล้วตัดกระดาษส่วนหนึ่งให้มีขนาดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ได้มาปึกหนึ่ง ส่วนกระดาษที่เหลืออยู่ ฉันพับสลับไปสลับมาให้มีความกว้าง 5 เซนติเมตร เล่ามานานสองนาน เธอคงอยากรู้ว่าฉันทำอะไร ฉันผลิตกระดาษชำระและกระดาษอนามัยไว้ใช้เองไงล่ะจ๊ะ
วันหนึ่งๆ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ ดูแล้วทั้งน่าสนุกและน่าเบื่อ แต่ตราบใดที่ฉันฝ่าด่านภาษากวางตุ้งไม่ได้ คงอึดอัดไม่น้อย เธอว่าจริงไหม
ฝากความระลึกถึงมายังครูจิ้น ครูจ๊าง และเพื่อนๆ ทุกคน
รักและคิดถึงเสมอ
จาก
ปู้หวา
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “จดหมายจากกว่างโจ๊ว,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 290-293.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 7 - ฉันเป็นชาวสยาม
- ตอนที่ 8 - การเดินทาง 15,000 กิโลเมตร
- ตอนที่ 9 - บ้านหลังใหม่
- ตอนที่ 10 - ปู้หวา
- ตอนที่ 11 - พระราชวังต้องห้าม
- ตอนที่ 12 - ตามล่าหาสายลับ
- ตอนที่ 13 - น้ำพริกแอปเปิ้ล
- ตอนที่ 14 - กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
- ตอนที่ 15 - ยามดอกเหมยบาน
- ตอนที่ 16 - สวนสนามวันเมย์เดย์
- ตอนที่ 17 - กำแพงสีเขียว
- ตอนที่ 18 - ลาก่อนเพื่อนรัก
[1] มัธยมต้นปีที่ 3 ในระบบการศึกษาของจีน.