ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด” (ตอนที่ 18)

7
กันยายน
2567

กุหลาบ สายประดิษฐ์
ที่มา : Rimkhobfabooks

 

นักการเมืองสูงอายุของอังกฤษผู้หนึ่ง เมื่อได้รับข้อถามว่า “ชีวิตได้สอนอะไรแก่ท่านบ้าง?” ท่านผู้นั้นได้ตอบว่า “ข้าพเจ้าควรที่จะได้บทเรียนจากชีวิตมากกว่ามากจากที่ข้าพเจ้าได้รับอยู่ตามจริงในบัดนี้ ข้าพเจ้าเกรงว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้รับโอกาสให้ตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าก็คงจะได้กระทำความผิดเช่นเดียวกันเปนอันมาก ดังที่ตามจริงข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้ว ข้อนี้น่าจะเนื่องจากเหตุที่ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตไปด้วยการทำอ้ายโน่นทำอ้ายนี่ยิ่งกว่าจะได้ใช้ไปในทางตรึกตรองใคร่ครวญ ข้าพเจ้าได้มีเวลาน้อยนิดเกินไปที่จะได้นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”

ข้าพเจ้าระลึกถ้อยคำของนักการเมืองสูงอายุผู้นี้ ก็เพื่อได้แลย้อนไปในกระแสการเมืองของไทยจากต้นมาถึงปลายทางในปัจจุบัน การที่แลดูไปเช่นนั้นไม่ทำให้เกิดความสบายใจแน่นอน และการที่มานั่งเขียนเรื่องที่เต็มไปด้วยความวิปริตอยู่ดังนี้ ก็มีความรู้สึกเหมือนที่ออกเดินไปในทะเลทราย แลเห็นแต่ผืนทรายจรดกับขอบฟ้า มีแต่จิตต์ใจอันแห้งผาก มีแต่ความหวังที่จำเปนจะต้องหวังของคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ถ้าประเทศมีแต่ศิลปะ มีแต่วัฒนธรรม มีแต่ศาสนาก็จะน่ารื่นรมย์หาน้อยไม่ แต่นี่ประเทศยังมีการเมือง และการเมืองก็เกาะอยู่กับชีวิตทุกชีวิต ซึ่งถ้าจะสลัดออกไปให้ได้ก็มีทางเลือกอยู่ทางเดียว คือต้องแลกกับความเปนทาส หรือการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม มาตรว่าปลดการเมืองออกไปจากชีวิตได้ โดยแลกกับความเปนทาสของคนในชาติเพียงสี่ห้าคน ก็อาจมีผู้เสียสละให้ แต่การเมืองแผ่คลุมไปในชีวิต จากชีวิตในท้องนาจนถึงชีวิตในปราสาทราชวัง เหตุฉะนั้น การปิดตาเสียจากการเมืองจึงเปนสิ่งที่เปนไปไม่ได้ ถึงเปนภาพที่น่าสอิดเสอียนเพียงใดแต่ก็เปนภาพจริงที่เราจะต้องแลดู ถ้าไม่ประสงค์จะซื้อความรำคาญด้วยยอมชำระราคาของความเปนทาส

สมาชิกสตรีสภาผู้แทนอังกฤษผู้หนึ่งได้พูดในสภาเมื่อหลายเดือนมาแล้วว่า การที่มนุษยทั่วโลกกำลังอดอยากด้วยผลของสงครามมหาประลัยที่เพิ่งตกลงเลิกกันไปเมื่อเรื่วๆ นี้ อีกทั้งบาดแผลและทุพพลภาพของทหารและพลเรือน ความระทมทุกขยาก พรากแม่พรากลูกของสตรีและเด็กยังเห็นตำตาสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ดังนี้ แล้วทั่วโลกก็พูดกันเอ็ดอึงถึงการเตรียมทำสงครามครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้อีก ข้อนี้ผู้ชนะจะนึกเห็นเปนไปได้อย่างไรที่ตามที แต่สตรีที่เปนแม่และเมียยากที่จะมีใจนึกเห็นและเตรียมวงสนทนาด้วยได้

ธรรมชาติมนุษย์นี้ช่างประหลาดนัก เมื่อต่างจับปืนไล่ยิงเอาชีวิตกันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ติเตียนทุกสิ่งทุกอย่างที่ชักนำมนุษย์ให้มาตั้งหน้าพิฆาตกัน และก็เรียกร้องหามุมสงบสักมุมหนึ่งที่จะได้นั่งลงจิบน้ำชากาแฟ แล้วนั่งพ่นควันบุหรี่อยู่แต่ลำพัง โดยไม่ต้องการจะแยแสกับโลกเลย แม้แต่ความรักชาติก็ไม่อยากจะพูดถึงทีเดียว ครั้นเมื่อได้มุมสงบสมประสงค์และได้รื่นรมย์อยู่พักหนึ่งแล้ว ก็พาตัวออกไปเดินแกว่งอยู่กับมวลสาเหตุที่จะชักนำไปสู่การรบราฆ่าฟันกันอีก มิช้ามินานต่างก็พากันเห็นจริงเห็นจังไปว่า ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากจะตัดสินกันด้วยสงคราม ครั้นเข้าทำสงครามล้มตายกันไปฝ่ายละมาก ๆ แล้ว ต่างก็เห็นกันว่า การแก้ไขนอกจากการทำสงครามยังมีอยู่ถมไป แต่นั้นแหละก็มักจะไปนึกกันได้เมื่อลงมือทำสงครามไปเสียแล้ว

ความคิดสับสนอย่างน่าพิศวงเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากหลายเหตุ แต่ก็อาจมาจากเหตุที่ว่า เมื่อราษฎรเลือกนักการเมืองและรัฐบุรุษให้ไปปกครองประเทศนั้น ได้มอบสิ่งสองสิ่งให้แก่คนพวกนั้นมากเกินไป สิ่งหนึ่งคืองาน ซึ่งทำให้คนพวกนั้นต้องวิ่งทำงานเสียจนหัวปั่น ไม่มีเวลาที่จะ “นั่งลงอยู่นิ่ง ๆ และคิด” อีกสิ่งหนึ่งคือ “ความรุ่งโรจน์หรือความพากพูมใจ” ในการประกอบการงานซึ่งเมื่อราษฎรได้ยกย่องให้แก่งานการเมืองมากเกินไป ท่านเหล่านั้นโดยที่มุ่งจะไว้ชื่อลือชาให้สมแก่ความยกย่อง จึงคิดทำการวิตถารต่างๆ ซึ่งตามธรรมดาไม่กระทำ เช่น นำประเทศเข้าสู่สงคราม โดยต้องการเพียงจะให้โลกยอมรับว่าชาติของตนเปนชาติที่เลิศกว่าชาติใด ๆ ความคิดเช่นนั้นถ้าดูเผินๆ อาจเห็นไปว่าสำคัญนัก แต่ที่จริงเปนความคิดอย่างเดียวกันกับเด็กคนหนึ่งที่คิดว่า ถ้าฉันต่อยเจ้าหมอล้มลงไปได้ ฉันก็จะกลายเปนคนเขื่องขึ้นมา ซึ่งพอเติบโตเปนผู้ใหญ่ขึ้นจึงได้ความรู้ว่า ข้อคิดของเขาเมื่อเปนเด็กนั้นเปนเรื่องไม่ได้สติเลย

ข้าพเจ้าคิดว่า เท่าที่เกี่ยวกับนักการเมืองและรัฐบุรุษของไทยนั้น การที่จะค้นหาสาเหตุแห่งความวิปริตในกระแสการเมืองและหาทางระงับความวิปริตนั้น ดูไม่เปนเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าใด [...มีเส้นขีดยาวทับประโยคอยู่สามารถอ่านได้ความว่า... ข้อสำคัญนี้อยู่เพียงว่า “ท่านมีความซื่อตรงต่อตัวของท่านเองหรือไม่เท่านั้น ถ้ท่านแน่ใจว่ามีเรื่องก็ง่ายขึ้นมากทีเดียว”]

ในเบื้องต้นท่านนักการเมืองควรจะลดการวิ่งพลุกพล่านลงมาสักหน่อย อย่างน้อยก็ในการพลุกพล่านที่เปนไปเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของท่านเอง และลดการพูดแถลงอะไรลงมาสักหน่อย อย่างน้อยก็ในการแถลงที่ไม่มีใครได้อะไรขึ้นมา และมีแต่ทำให้วุ่นกันไป รวมทั้งตัวผู้พูดแถลงเอง ท่านอาจจะรวบรวมเวลาที่เปนอิสระได้จำนวนหนึ่ง จากการลดกระทำการเหล่านั้น และการที่จะใช้เวลานั้นให้ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”

ในเวลาปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ไม่มีอะไรเปนเรื่องด่วนและสำคัญไปกว่า “ความเชื่อถือของประชาชน” ต่อท่านพวกนักการเมือง ท่านคงจะเข้าใจได้ดีว่า “ความเชื่อถือของประชาชน” ต่อพวกท่านนั้นได้เสื่อมโทรมร่อยหรอลงไปอย่างน่าวิตกยิ่ง ท่านจะคิดทำการผสมอะไรต่อมิอะไรลงไปในคณะรัฐบาลนั้น คงจะไม่ทำให้เกิดผลดีขึ้นเท่าใด ท่านจะผสมบุคคลใหม่ๆ (ซึ่งเคยถูกผสมมาแล้ว) ลงไปอีก ๒-๓ คนนั้น จะซ่อมความเชื่อถือให้คืนดีขึ้นบ้างก็เพียงเล็กน้อยเต็มที

วิธีใดจะเปนวิธีดีที่สุด ที่จะเรียกคืนมาซึ่งความเชื่อถือของประชาชนต่อนักการเมืองนั้น ข้าพเจ้าไม่อาจเอื้อมที่จะเขียนคำแนะนำ ข้าพเจ้าไม่อาจเอื้อมล่วงเกินสติปัญญาของผู้ได้ชื่อว่ามีสติปัญญา แต่ถ้าท่านเหล่านั้นจะคิดเสียว่า การฟังความเห็นจากผู้ที่มองจากภายนอกเข้าไปสู่ภายใน จะเปนประโยชน์บ้างเพราะท่านจัดเจน แต่การมองจากภายในออกสู่ภายนอกแล้ว ข้าพเจ้าก็จะพูดสักสองสามคำ

เมื่อจะตอบปัญหาข้อนี้ ข้าพเจ้าระลึกขึ้นได้ถึงถ้อยคำของท่านประธานาธิบดิโฮจินมินห์ที่ได้กล่าวตอบข้อถามของนักเขียนผู้หนึ่ง ซึ่งได้ถามขึ้นภายหลังที่โฮจินมินห์ได้รับเลือกเปนประธานาธิบดี

ข้อถามนั้นว่า “เหตุใดท่านจึงได้รับเลือกเปนประธานาธิบดี?”

ท่านประธานาธิบดีตอบว่า “ข้าพเจ้าได้รับเลือกเปนประธานาธิบดีก็เพราะว่า ข้าพเจ้ามีแต่ตัวเปล่า-ข้าพเจ้าไม่มีครอบครัว, ไม่มีบ้าน, ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร ข้าพเจ้ามีอยู่ก็แต่เสื้อผ้าชุดเดียว คือชุดที่ข้าพเจ้ากำลังสวมใส่อยู่บัดนี้”

ภายหลังที่ได้ลอบหนีออกจากประเทศอินโดจีน ไปใช้ชีวิตระหกระเหินเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ ด้วยหมายใจมุ่งมาตรที่จะกอบกู้อิสสรภาพให้แก่ประเทศของท่านเปนเวลาถึง ๒๕ ปี โฮจินมินห์ก็ได้กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยตัวเปล่า ปราศจากสมบัติพัสดุ์ฐานใด ๆ นอกจากเสื้อผ้าที่แต่งกายอยู่ชุดเดียว และบัดนี้ท่านประธานาธิบดีก็ยังคงกรากกรำชีวิต ทำการต่สู้เพื่ออิสสรภาพแห่งชนชาติของท่านสืบต่อไป

ท่านนักการเมืองของเราคงจะทราบดีว่า คำตอบของท่านประธานาธิบดีโฮจิมินห์นั้น แทนความหมายของการเสียสละอย่างสูงเท่าที่คน ๆ หนึ่งจะกระทำให้ได้แก่ประเทศชาติของตน

เมื่อบุคคลสมัครมาเปนนักการเมือง ซึ่งมีหน้าที่จะต้องรับใช้สาธารณชนและจะต้องรับภาระในการปกครองประเทศแทนปวงชนนั้นคนทั้งหลายก็ย่อมคาดหมายว่า นักการเมืองจะต้องเปนบุคคลผู้มีจิตต์ใจเสียสละ มีอุดมการณ์ มีความสัตย์ซื่อต่อนายของเขาคือประชาชนและจะต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปนการสมประโยชน์และสมประสมประสงค์ของประชาชนส่วนมาก

เมื่อคนทั้งหลายคาดหมายในคุณลักษณะของนักการเมืองดั่งนี้ นักการเมืองก็จะต้องพิศูจน์ให้เห็นว่าได้เปนผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะเช่นนั้นจริง ถ้านักการเมืองพิศูจน์ให้เห็นได้ ความเชื่อของประชาชนก็จะเปนสิ่งคงทนยั่งยืน เมื่อใดที่ความเชื่อถือได้เสื่อมโทรมร่วงโรยไปก็เปนอันแปลได้ว่า คุณลักษณะดังกล่าวของบรรดานักการเมืองเสื่อมทรามร่วงโรยไปเสียแล้ว

ทางแน่นอนทางหนึ่งที่จะกู้ความเชื่อถือของประชาชนให้กลับคืนมาก็คือ นักการเมืองจะต้องพากเพียรในอันจะแสดงโดยน้ำใส่ใจจริงมิใช่โดยเล่ห์กะเทห์ ให้ประชาชนได้เห็นตระหนักในความมีจิตต์ใจเสียสละมีอุดมการณ์ มีความสัตย์ซื่อต่อประชาชน และพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปนการสมประโยชน์และสมประสงค์ของประชาชนส่วนมาก

ถ้านักการเมืองและรัฐบุรุษได้ “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด” ท่านก็จะพิจารณาเห็นได้โดยตนเองว่า ความประพฤตินานาประการของท่านในอดีดและในปัจจุบัน สมควรแก่การได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในขนาดใด

ไม่มีใครเปนเจ้าของหรือรับของไว้ถ่วงหน้าซึ่งอนาคต เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดประสงค์จะแก้ตัว โอกาสย่อมเปิดไว้ให้แก่ทุกคน

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งตีพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”  ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :