ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “สัตว์รัก สัตว์เลี้ยง” (ตอนที่ 21)

6
มกราคม
2567

 

ในบริเวณบ้านพักที่ครอบครัวปลายอยู่ มีคนหลายชาติหลายภาษา ฮังการี เชโกสโลวาเกีย โซเวียต โปแลนด์ ฯลฯ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ จากยุโรปตะวันออก เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศจีนใหม่

วันหยุดสุดสัปดาห์ ปลายจึงมีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็น ลูกๆ ของผู้เชี่ยวชาญปลายมีประสบการณ์การใช้ภาษาสากลอยู่แล้ว บวกกับการละเล่นของเด็กไม่มีพรมแดน เด็กๆ เล่นซ่อนหากันในดงกล้วยและดงต้นฝรั่งขี้นก เสียงหัวเราะดังขึ้นเมื่อตามหาผู้ที่หลบซ่อนเจอ บางครั้งก็มีเสียงกรีดหวีดร้อง เมื่อผู้หลบซ่อนไปเจอไหสีเขียวบรรจุกระดูกคนตาย เพราะครั้งหนึ่งเนินเขาที่เป็นบ้านพักเคยเป็นสุสาน

ปลายมีจักรยานคันหนึ่ง เป็นจักรยานสำหรับผู้ชาย อานสูง มีท่อนเหล็กพาดด้านหน้า ด้านหลังมีตะแกรงสำหรับวางสัมภาระ เวลาจะขึ้นรถ ปลายต้องยกขาจากด้านหลังปาดมาข้างหน้าจึงจะนั่งประจำที่ได้ ส่วนเวลาลงรถก็ต้องยกขาจากข้างหน้าปาดมาลงทางด้านหลัง ปลายชอบให้รถถลาลื่นจากเนินสูงลงสู่เบื้องล่าง เนินเขาลาดชัน ทำให้รถจักรยานพุ่งลงอย่างรวดเร็ว ปลายเชื่อฝีมือว่าสามารถเบรกรถได้ทันท่วงทีเมื่อลงถึงข้างล่าง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หลายครั้งที่ปลายกระเด็นไปยังกอไผ่ริมทาง หน้าตา แขนขา ถูกหนามไผ่ครูด ฝากไว้เป็นรอยแผล ปลายหาได้เข็ดไม่ พอแผลที่หัวเข่าตกสะเก็ด ก็คว้าจักรยานมาลื่นไถลเช่นเดิมอีก

วันหนึ่งปลายสังเกตว่า เวลาเดินไปที่ไหน สุนัขสีเหลืองขนยาวตัวหนึ่งตามต้อยๆ ปลายเดิน มันก็เดิน ปลายหยุด มันก็หยุด ปลายกระดกลิ้น “ก้อกๆ”เรียก มันกระดิกหางหูลีบ เดินเข้ามาประจบเลียเท้าปลาย ตั้งแต่วันนั้น อันช่า กลายเป็นสมาชิกของครอบครัว

ครอบครัวปลายไม่เคยกินทิ้งกินขว้าง อาหารเหลือมื้อนี้ก็เก็บไว้กินมื้อหน้า หรือไม่ก็เอามารวมในหม้อดินต้มเป็นจับฉ่าย ปลายชอบรสจับฉ่ายที่พ่อปรุงใหม่ แต่ต่อไปนี้คงไม่มีจับฉ่ายแล้ว อาหารที่เหลือจำต้องยกให้สมาชิกใหม่ในครอบครัว

อันช่าเป็นสุนัขตัวเมีย แล้ววันหนึ่งมันก็อุ้มท้อง ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปกี่วันกี่เดือน คืนหนึ่งหลังอาหารค่ำ เสียงอันช่าครวญครางอยู่ใต้โพรงต้นไทรหน้าตึก พ่อกับแม่คว้าไฟฉายออกไปดู อันช่ากำลังจะคลอดลูก สักครู่ ลูกหมาตัวแดงๆออกมา 6 ตัว พ่อเอาน้ำเอานมมาให้สุนัขแม่ลูกอ่อนตัวนี้ อันช่ากระดิกหางด้วยความสำนึกบุญคุณ

ลูกหมาทั้ง 6 ตัว โตวันโตคืน น่ารักน่าชัง แย่งกันดูดนมจ้วบๆ จากเต้าของอันช่า กินเสร็จก็หยอกเอิน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันบนพื้นหญ้าอันอ่อนนุ่ม พอเหนื่อยก็ล้มตัวลงนอนใกล้ๆ แม่ อันช่าใช้ลิ้นเลียทำความสะอาดลูกน้อยทีละตัวทีละตัว

อันช่ามีสัญชาตญาณของความเป็นแม่เต็มตัว มันทะนุถนอมรักใคร่ลูกทุกตัว บางที ด้วยความพลั้งเผลอ อันช่างับหูลูกแรงไปหน่อย ลูกหมาขี้อ้อนคราง “เอ๋งๆ” วิ่งหนีไปอยู่ใต้ต้นไม้ อันช่าไม่รีรอที่จะไปงอนง้อ มันวิ่งตามไปเลียใบหูและใบหน้าของลูก เหมือนกับจะบอกลูกน้อยว่า “โทษที แม่ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายลูกรักดอกนะจ๊ะ”

หวงหวงเป็นลูกหมาที่ละม้ายคล้ายคลึงแม่มากที่สุด เมื่อมีคนมาขอลูกอันช่าไปเลี้ยง ปลายยกตัวอื่นๆ ให้ด้วยความเสียดาย เหลือไว้แต่หวงหวงตัวเดียว

หวงหวงดีใจออกนอกหน้าเวลาปลายกลับจากโรงเรียนตอนเย็นวันเสาร์มันกระโดดขึ้นมาเลียหน้าปลาย กระดิกหางขนยาวฟู ครางหงิงๆ ต้อนรับ

“เออ รู้แล้วว่าดีใจ” ปลายบอกกับหวงหวง พลางลูบหัวมันด้วยความเอ็นดู

หวงหวงวิ่งเหยาะๆ นำหน้าปลายไปจนถึงประตูตึก มันลังเลที่จะใช้ขาหน้าผลักประตูเข้าไป มันรู้ว่าไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น จึงถอยออกมาให้ปลายเข้าบ้าน

หวงหวงเป็นหมาวัยรุ่นแสนรู้ ปลายฝึกให้มันฟังภาษาไทยด้วยคำพูดง่ายๆ “นั่ง” “ยืน” “เดิน” “หมอบ” เมื่อปลายบอกกับมันว่า “สวัสดีครับ” หวงหวงจะยื่นขาหน้าด้านขวาออกมาให้สัมผัส และยื่นขาหน้าด้านซ้ายออกมาให้สัมผัสด้วยคำสั่ง “ขอบคุณครับ” บางครั้งหวงหวงนั่งชูคอพร้อมทั้งยื่นสองขางอเป็นมุมฉากเมื่อปลายสั่งให้ “สาธุ” แต่ใช่ว่ามันจะยอมทำตามคำสั่งทุกครั้งทั้งนี้ขึ้นกับอารมณ์และความสมัครใจ ปลายจึงตั้งฉายาหวงหวงว่า “เด็กดื้อ”

แสงจันทร์สาดส่อง ต้นมะพร้าวหน้าบ้านทอดเป็นเงายาว เมื่อรับประทานอาหารค่ำแล้ว ปลายออกมาเล่นกับหวงหวงหน้าตึก

ปลายวิ่งนำหน้า หวงหวงวิ่งตามหลัง แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นหวงหวงวิ่งนำอยู่ข้างหน้า ปลายหอบแฮกๆ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน หวงหวงยิ่งคึกคะนองคล้ายม้าพยศ สองขาหน้าเหยียดตรงออกไป ขาหลังกระโจนทะยานตามติด

“ผลัวะ” มะพร้าวแก่ขนาดย่อมลูกหนึ่งหล่นใต้ต้น หวงหวงถลาวิ่งไปที่ลูกมะพร้าว ใช้เขี้ยวสองข้างคาบมะพร้าวไปยังหน้าตึก มันนั่งลงข้างๆ ปลายสองขาหน้าหนีบลูกมะพร้าวแน่น พลางใช้ฟันกับเขี้ยวปอกเปลือก เปลือกมะพร้าวถูกฉีกเป็นเสี้ยวๆ ลูกมะพร้าวแกว่งไปแกว่งมา หวงหวงส่ายหัวไปมาตามไปด้วยพลางครางเบาๆ ด้วยความพอใจ เพียงชั่วครู่ มะพร้าวลูกนั้นก็พร้อมใช้ประกอบทำอาหารไทย

วันรุ่งขึ้น แกงเผ็ดไก่เป็นอาหารขึ้นโต๊ะมื้อกลางวัน ต่อจนถึงมื้อเย็นก่อนที่จะมาเป็นแกงเผ็ด ปลายรับอาสาใช้กระต่ายขูดมะพร้าวเพื่อให้แม่เอาไปคั้นเป็นกะทิ

บริเวณที่ว่างหลังตึก พ่อให้ปลายช่วยพรวนดินยกร่องและใช้ลำไผ่ต้นเล็กขัดเป็นระแนง เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว ดินฟ้าอากาศที่กว่างโจ๊วเป็นใจให้ตะไคร้ ข่า กระชาย ตำลึง ถั่วพู กระถิน ชะอม... ได้แหล่งเจริญงอกงามแห่งใหม่ ปลายชอบแกงเผ็ด แกงเลียง แกงส้ม... แต่ปลายไม่อยากเป็นลูกมือตำเครื่องแกง ปลายอิดออดทุกครั้งที่ต้องรับหน้าที่นี้

“ปลายรู้นี่จ๊ะว่า ถ้าเราไม่ลงแรง ก็อย่าหวังได้ในสิ่งอยากได้” แม่พูดจบก็เดินออกจากครัวไป

สักครู่ เสียงสากกระทบก้นครกดังเป็นจังหวะ ค่อยบ้าง แรงบ้าง เมื่อตำ ตะไคร้จนแหลกละเอียด ก็ตามด้วยข่า พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง…

ทุกอาทิตย์ที่กลับมาอยู่บ้าน ปลายหัดทำ อาหารคาวหวานแบบไทยๆหลายอย่าง บางครั้งรับหน้าที่โม่แป้งข้าวเหนียว ฝัดเปลือกถั่วเขียวทำขนมถั่วแปบ กว่าจะได้กินขนมอร่อย ก็ต้องเหนื่อยครึ่งค่อนวัน

บ่ายวันเสาร์วันหนึ่ง ปลายกลับจากโรงเรียน ไม่เห็นหวงหวงวิ่งกระดิกหางพันแข้งพันขาอย่างเคย ไม่เห็นแม้แต่วี่แววของอันช่า

หวงหวง... อันช่า” ปลายร้องเรียกเสียงหลง

อันช่า... หวงหวง...

เงียบ ไม่มีเสียงเห่า ไม่มีเสียงคราง

ปลายเห็นใบหน้าที่เงียบขรึมของพ่อกับแม่ ปลายพอจะเดาว่า คงมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับสุนัข 2 ตัว แน่ๆ

“ทางการจีนไม่อนุญาตให้เลี้ยงหมา เพราะกำลังมีโรคหมาบ้าระบาด” พ่อบอก

ปลายถลาวิ่งออกไปหาคนสวน ลุงแก่คนนี้มีกิตติศัพท์ว่า ชอบกินอาหารแปลกๆ อยู่แล้ว ปลายเคยเห็นแกจับหางลูกหนูแรกเกิดตัวแดงๆ กระจิริด ชูสูงขึ้นเหนือศีรษะ แล้วกระดกกลืนเข้าไปในคอ นัยว่าเป็นอาหารประเภทชูกำลัง

“ลุงเห็นอันช่ากับหวงหวงไหม” ปลายถามละล่ำละลัก

“อ้อ นั่นไง เนื้อหอมตุ๋นน้ำแดง” ตาลุงชี้ไปที่หม้อดินบนเตาถ่าน กลิ่นหอมเอียนด้วยเครื่องเทศและสมุนไพรฟุ้งไปทั่ว

ปลายรู้ว่าคนกวางตุ้งกินได้ทุกสิ่งไม่เลือก จนกระทั่งมีการกล่าวขานกันว่า

“กินทุกอย่างที่บินได้ ยกเว้น เครื่องบิน

กินทุกอย่างที่อยู่ใต้น้ำ ยกเว้น เรือดำน้ำ

กินทุกอย่างที่มี 4 ขา ยกเว้น โต๊ะ เก้าอี้”

“เนื้อหอม” ที่คนกวางตุ้งเรียก คือเนื้อสุนัข เป็นอันว่าอันช่ากับหวงหวงกลายเป็นอาหารจานเด็ดของลุงคนสวนไปแล้ว

ปลายปล่อยโฮออกมา อายุ 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ ยังเหมือนเด็กเล็กๆ ที่ถูกแย่งของรักของหวง แล้วนี่เป็นของรักของหวงที่มีชีวิตชีวา ผูกพันกันมานานปี จะให้ปลายไม่เสียใจได้อย่างไร\

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “สัตว์รัก สัตว์เลี้ยง,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 300-305.

บทความที่เกี่ยวข้อง :