ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: ลักษณะคำแถลงนโยบาย (ตอนที่ 22)

5
ตุลาคม
2567

ต้นฉบับลายมือตอนลักษณะคำแถลงนโยบายโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

ในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลซึ่งได้เริ่มแต่วันที่ ๖ จนถึงวันนี้ (วันที่ ๑๖) ยังคงดำเนินต่อไป ข้อวิพากษ์ของสมาชิกส่วนใหญ่เปนเรื่องตำหนิการกระทำของรัฐบาลและพนักงานของรัฐบาลที่ล่วงแล้วมา ความข้องใจและข้อตำหนิบ่งหนักไปในทางไม่เชื่อถือความสุจริตของรัฐบาล ในอันจะเชิดชูหลักการประชาธิปไตย ไม่วางใจว่า กำลังตํารวจจะไม่ถูกใช้เปนเครื่องมือกุมอำนาจทางการเมืองและไม่วางใจว่าการดำเนินเล่ห์เพทุบายอันมิชอบด้วยกฎหมาย และการข่มขี่ทางการเมืองเพื่อประโยชน์แก่การยึดครองอำนาจของรัฐบาล จะไม่อุบัติซ้ำอีกในกาลข้างหน้า

นอกจากการแสดงข้อวิพากษ์ในรูปตำหนิการกระทำในอดีตแล้ว สมาชิกก็ได้แสดงความแคลงใจว่า รัฐบาลจะเขียนภาพนโยบายมาให้ชมกันในแง่ที่ว่าสวยงามหรือไม่ แต่ไม่มีความหมายว่าจะสร้างของจริงจากภาพนั้นได้หรือไม่ และรัฐบาลก็หลีกเลี่ยงที่จะให้คำยืนยันในบางเรื่องถึงแก่ยอมรับตรง ๆ ว่าในทางปฏิบัติคงจะทำไม่ได้ แต่ก็เขียนมาล่อใจไว้ที่หนึ่งก่อน

ตามธรรมดาการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลก็ควรจะเปนการตรงเข้าตีนโยบายว่า แนวทางนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่ดี ไม่ชอบอย่างไร เปนต้นว่า ถ้ารัฐบาลแสดงนโยบายจะแก้ปัณหาการครองชีพของประชาชน โดยติดตลาดนัดที่ท้องสนามหลวงและจะรื้อคุกเพื่อเปิดตลาด ฝ่ายค้านก็อาจจะวิพากษ์ว่า ถ้ารัฐบาลมีแผนการเพียงเท่านั้นที่จะแก้ปัณหาการครองชีพของประชาชนแล้ว ประชาชนในที่นั้นก็จะหมายถึงประชาชนเพียงหยิบมือหนึ่งที่อยู่แถบสนามหลวงหรือแถบคุกเท่านั้น และประชาชนไทยทั่วราชอาณาจักรก็มิได้ตั้งรัฐบาลขึ้นเพื่อจะให้ไปแก้ปัณหาค่าครองชีพของคนสองสามร้อย แต่ต้องการให้แก้ปัณหาค่าครองชีพของคน ๑๗ ล้าน

อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายค้านหรือสมาชิกจะอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ตามทำนองดังว่า ก็ทำไม่ได้ถนัดเพราะนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงนั้นมีหลายกรณีที่มีผลเท่ากับรัฐบาลไม่ได้แถลงอะไรเลย เปนต้น นโยบายการต่างประเทศข้อ ๑ ว่า “จะพยายามส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ...โดยถือหลักความเสมอภาคและการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน” ความข้อนี้ก็เปนเรื่องพื้นเพเสียเหลือเกินและไม่แสดงแนวทางอะไรเลย ยิ่งกว่านั้นก็เปนข้อความที่บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๖

นโยบายการต่างประเทศข้อ ๒ มีว่า “จะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในบรรดากิจการต่าง ๆ เพื่อความยุตติธรรมและสันติสุขของโลก” ความข้อนี้ก็เช่นเดียวกันมีผลเท่ากับไม่ได้แถลงอะไรเลย เพราะเมื่อประเทศไทยเปนสมาชิกขององค์การสหประชาชาติอยู่แล้วความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติย่อมเปนพันธต่อเนื่องกันอยู่ในตัว นอกจากนั้นข้อความเช่นนี้ก็มีบัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๗

นโยบายข้อ ๓ เริ่มว่า “รัฐบาลนี้ขอเรียนให้ทราบว่า ในขณะนี้สถานะการณ์ของประเทศต่าง ๆ ยังยุ่งยากสับสนอยู่ โดยฉะเพาะอย่างยิ่งภายในประเทศใกล้เคียงมีการรบต่อสู้กันทั่วไป ส่วนประเทศไทยยังรักษาความสงบสุขอยู่ได้..” ความข้อนี้ เราไม่ทราบว่า รัฐบาลเขียนลงไว้เพื่อประสงค์อะไร ความเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของนโยบายแน่นอน อย่างมากก็ถือได้เพียงว่า เปนเรื่องปรับทุกข์เท่านั้น

ตัวอย่างคำแถลงนโยบายการต่างประเทศซึ่งเปนการคัดตัวบทในรัฐธรรมนูญมากล่าวให้ฟังแท้ ๆ นั้นจึงมีผลเท่ากับรัฐบาลไม่ได้แถลงแนวทางอะไรเลย ในขณะที่ปัณหาเรื่องการวางตนของประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านกำลังเปนปัณหาสำคัญ

เมื่อถูกถามถึงท่าทีที่จะปฏิบัติต่อรัฐบาลของเมาเซตุง นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า การรับรองหรือไม่รับรองรัฐบาลจีนใหม่นั้นจะต้องรอดูการวินิจฉัยของประเทศมหาอำนาจคืออังกฤษและอเมริกาก่อน หมายความว่า สองมหาอำนาจทำฉันใด ประเทศไทยก็จะเดินตามรอยเท้าไป

คำตอบเช่นนั้นแสดงแจ้งชัดว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายแน่นอนอะไร ในการดำเนินการต่างประเทศ นอกจากการฝากโชคชะตาของประเทศไว้แก่การวินิจฉัยของผู้อื่น ทั้งที่เปนที่เข้าใจกันอยู่ติแล้วว่า นานาประเทศย่อมวินิจฉัยทางดำเนินนโยบาย โดยถือผลประโยชน์ของเขาเปนประมาณ และผลประโยชน์ของประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมจะแตกต่างกันไกลกับผลประโยชน์ของประเทศอื่น ที่เราได้นำโชคชะตาของเราไปผูกพันไว้

คำแถลงนโยบายการคลังก็เปนการแถลงข้อความพื้นเพเช่นเดียวกับการต่างประเทศ และไม่ได้แสดงลู่ทางที่จะดำเนินเช่นกัน การที่รัฐบาลกล่าวว่า “จะดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งรายได้รายจ่ายของแผ่นดิน” ก็ออกจะเปนกิจธรรมดาของราชการคลัง แต่การที่จะได้เงินมาบำรุงประเทศในทางก้าวหน้านั้นจะได้มาโดยทางเพิ่มรายได้ของประเทศอย่างไรหรือโดยวิธีการอื่นใด รัฐบาลมิได้กล่าวถึง

เมื่อได้ตรวจดูนโยบายในส่วนราชการอื่น ๆ ที่แสดงความมุ่งหมายก้าวหน้าไว้เปนเอนกประการ และมาพิจารณานโยบายการคลังประกอบกันแล้ว ก็มองไม่เห็นว่าความมุ่งหมายในทางก้าวหน้านานาประการนั้น จะมีทางสำเร็จผลได้อย่างไร เปนต้นว่าในเรื่องการศึกษา รัฐบาลแถลงหลักนโยบายว่า “รัฐบาลนี้ถือว่าการส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรมประชาชน เปนสิ่งสำคัญอันดับแรก จะพยายามให้ประชาชนได้รับการศึกษาอบรมทั่วถึงกันทุกเพศทุกวัย” และ “จะยึดถือหลักเปนทางปฏิบัติว่า รัฐมีหน้าที่ให้การศึกษาอบรมแก่ประชาชนพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและช่วยเหลือให้เครื่องอุปกรณ์ตามสมควร”

ตามที่รัฐบาลได้แสดงความมุ่งหมายลงไว้ดังนี้ ย่อมก่อให้เกิดพันธะแก่รัฐบาลที่จะต้องจัดการให้บังเกิดผลตามส่วนแห่งน้ำหนักในการเน้น ในข้อนี้รัฐบาลได้ถือว่า “การส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรมประชาชน เปนสิ่งสำคัญอันดับแรก” เพราะฉะนั้นก็จะต้องถือว่ารัฐบาลได้มีแผนการในทางหาเงินและมีแผนการบำรุงการศึกษาในด้านต่าง ๆ ไว้ในมือพร้อมแล้วจึงได้เน้นลงไว้เช่นนั้น

แต่เมื่อกล่าวถึงนโยบายการคลัง รัฐบาลไม่ได้แสดงลู่ทางไว้เลยว่า จะดำเนินการอย่างไรที่จะให้ประเทศได้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อใช้จ่ายบำรุงความก้าวหน้าในส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้ก็ย่อมชวนให้เกิดความสงสัยว่า รัฐบาลเขียนนโยบายไว้เช่นนั้น เพียงเพื่อจะให้อ่านกันเล่นหรือเพื่อจะทำให้บังเกิดผลจริงจังขึ้นมาในระยะเวลาอันมีกำหนด ถ้ารัฐบาลประสงค์จะทำให้บังเกิดผลจริงจังแล้ว รัฐบาลก็จะต้องแสดงแผนการและกลวิธีที่จะดำเนินการให้เปนผลประจักษ์อีกคั่นหนึ่ง จึงจะเรียกความเชื่อถือจากประชาชนได้

การเขียนนโยบายที่ไม่มีหวังจะทำได้ หรือมิได้มีความจงใจจริงจังที่จะกระทำ เปนการเริ่มต้นที่ไม่เปนมงคลจริงอยู่การเขียนโยบายไว้สำหรับที่จะไม่ทำนั้น ได้เคยมีรัฐบาลในอดีตทำกันมาแล้ว แต่นั่นมิใช่แบบอย่างที่ดี ประชาชนไทยถึงแม้ไม่สู้ฉลาดและออกจะเฉยเมย ต่อการดำเนินทางการเมืองก็ดี แต่การที่จะคาดหมายว่าเขาคงจะไม่ฉลาด และเฉยเมยอยู่ “ตลอดกาล” นั้น เปนการคาดหมายที่ออกจะ

เสี่ยงภัยอยู่ไม่น้อย เวลาแห่งความผาสุกของฝ่ายปกครองที่เพียงแต่จะใช้ลิ้นและวิธีการของนักเล่นกลชี้นิ้วปกครองประเทศโดยสดวกราบรื่นนั้นกำลังจะผ่านไป ประเทศต้องการการปกครองที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งปัญญา การปกครองที่มีแผนการมีหลักฐานแห่งวาจา เปนที่พึงเชื่อถือ

ผู้เขียนจะเสนอข้อวิจารณ์คำแถลงนโยบายต่อไปอีกในบทหน้า

[๑๖ กรกฎ. ๙๒]

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2492

 

* ตัวเน้นโดยผู้เขียน -บก.

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ลักษณะคำแถลงนโยบาย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 255.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ลักษณะคำแถลงนโยบาย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 257-261.

บทความที่เกี่ยวข้อง :