ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง” (ตอนที่ 22)

13
มกราคม
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

การเรียนในระดับมัธยมปลายของประเทศจีนไม่ได้แบ่งออกเป็นสายวิทย์และสายศิลป์ ดังนั้นเมื่อปลายเลื่อนขึ้นชั้นมัธยมปลายปีที่ 1 แล้ว ก็ต้องเรียนทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และภาษาจีน ฯลฯ 3 วิชาแรกนั้น ปลายเรียนอ่อนหน่อย มักต้องสอบซ่อมเสมอ ส่วนวิชาหลังๆ ปลายเรียนในเกณฑ์ดีพอใช้

ในบรรดาวิชาทั้งหลาย วิชาภาษาจีนเป็นวิชาสำคัญที่สุด นอกจากจะเรียนการใช้ภาษาจีนและไวยากรณ์อย่างถูกต้องแล้ว เนื้อเรื่องของบทเรียนจะสอดแทรกการให้ความรู้ทางประวัติศาสตรจีนโบราณ อีกทั้งความคิดอภิวัฒน์ยุคใหม่ เด็กนักเรียนที่ผ่านการศึกษาภาคบังคับจะรู้จัก “วีรชน” เช่น หลิวหูหลาน และ ตุ่งฉุนรุ่ย เป็นอย่างดี ทั้งนี้ให้เป็นแบบอย่างในการอุทิศตนเพื่อราษฎรและการอภิวัฒน์

หลิวหูหลาน เป็นเด็กสาวบ้านนาในมณฑลซานซี้ เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่วัยรุ่น เธอนำชาวนาต่อสู้กับอำนาจรัฐของขุนศึกเหยียนซีซาน ทหารขุนศึกจับตัวเธอได้ และพยายามทรมานที่จะให้ทรยศต่อพรรค ทหารขุนศึกใช้มีดสับหญ้าตัดคอพลพรรคใต้ดินต่อหน้าเธอ หวังข่มขู่ให้เธอหวาดกลัวและคายความลับ แต่หลิวหูหลานไม่ประหวั่นพรั่นพรึง เดินแอ่นอกสู่ตะแลงแกง ขณะเธอเสียชีวิตมีอายุแค่ 15 ปีเท่านั้นเอง ประธานเหมาเจ๋อตุ๊งยกย่องเธอว่า “เกิดอย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ”

ส่วน ตุ่งฉุนรุ่ย นั้น เป็นหนุ่มชาวนาในมณฑลเหอหนาน สมัครเป็นทหารปลดแอกประชาชนจีน รับหน้าที่เป็นผู้วางระเบิดทำลายสะพานคมนาคม มิให้กองทหารของกว๊อหมินตั่ง[1] ยกพลข้ามมา ตุ่งฉุนรุ่ยได้อาสานำระเบิดผูกติดใต้สะพานนั้น แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ค้ำระเบิดเขาจึงชูแขนขึ้นค้ำระเบิด และได้ระเบิดพลีชีพในวัย 19 ปี ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรชนนักรบ”

โรงเรียนจื๋อสิ้นหนิ่วจ๊งอยู่ไม่ไกลจาก “วิทยาลัยแพทยศาสตร์ วิทยาเขตจีนใต้” ในหมู่เพื่อนนักเรียน หลายคนใฝ่ฝันจะเข้าเรียนที่สถาบันแห่งนี้ สำหรับปลายนั้นมิได้ทะเยอทะยานอยากเป็นหมอ เพราะรู้ตัวว่าอ่อนวิชาด้านสายวิทยาศาสตร์ จะมีก็วิชาชีววิทยาที่ปลายชอบ

ปลายเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยคุณครูในวิชาชีววิทยา พาเพื่อนๆ ไปเรียนที่ตึกกายวิภาค “อาจารย์ใหญ่” นอนแช่ในบ่อใหญ่ กลิ่นฉุนทำเอาเพื่อนที่คุยว่า “ฉันอยากเป็นหมอ” เอามือปิดตาปิดจมูกรีบเดินหนีไป ปลายพาเพื่อนๆ มายังห้องที่ “อาจารย์ใหญ่” นอนนิ่งสงบอยู่บนโต๊ะ ร่างกายที่ผ่านการชำแหละอย่างประณีตด้วยใบมีดของอาจารย์หมอ เผยให้เห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ปลายชี้ชวนให้เพื่อนๆ ดู “นี่คือหัวใจ นี่ปอด นั่นไต” ถึงจะทำเก่งกล้า แต่หลังจากนั้นปลายก็ขยาดไม่กล้ากินเครื่องในสัตว์อีกนาน

ขณะมีชีวิตอยู่ บรรดา “อาจารย์ใหญ่” เหล่านี้ อาจเป็นกรรมกร ชาวนานักแสดง แพทย์ ศาสตราจารย์หรือคนธรรมดาๆ ซึ่งได้สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมตามถนัด และเมื่อสิ้นลมหายใจ มิวายสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ให้แก่วงการแพทย์ ให้แก่มวลมนุษย์อีก ปลายเก็บความรู้สึกยกย่องและนับถือ “อาจารย์ใหญ่” เหล่านี้ไว้ในใจ

ปลายได้ความรู้ในการดูแลสุขภาพแบบแพทย์แผนจีนอย่างค่อยเป็นค่อยไป การรับประทานอาหารให้ถูกกับธาตุต่างๆ เพื่อปรับความสมดุล ยิ้น (ธาตุเย็น) กับ หยาง (ธาตุร้อน) ในร่างกาย อย่างเช่น เวลามีการแข่งกีฬาโรงเรียนถั่วเขียวผสมข้าวกล้องต้มกับน้ำตาลทรายแดง ใส่ในถังไม้ตั้งไว้ข้างขอบสนามกีฬา มีให้นักกีฬารับประทานคลายความร้อนในร่างกาย หรือในฤดูหนาว กว่างโจ๊ว อากาศชื้นและหนาว อุณหภูมิในห้องหนาวกว่านอกห้อง ทางโรงครัวต้มน้ำขิงแก่สำหรับนักเรียนดื่มให้ร่างกายอบอุ่นป้องกันหวัด …

หรือตอนที่มีไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงระบาด เมื่อพุทธศักราช 2500 ทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก เพื่อนนักเรียนร่วมห้องของปลายคนหนึ่งติดเชื้ออย่างรุนแรงจนเสียชีวิต นักเรียนประจำอย่างพวกปลายไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนต่อไป ทางโรงเรียนต้มน้ำส้มจิ๊กฉู่ สีดำ ๆ แดงๆ วางไว้ตามมุมห้องเรียน ห้องนอน ... กลิ่นเหม็นเปรี้ยวของน้ำส้มฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณโรงเรียน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อกลิ่นฉุนนี้สามารถสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้อย่างชะงัด ปลายกับเพื่อนๆ ผ่านวิกฤตนี้ได้อย่างเฉียดฉิว

วันเวลาผ่านไปราวติดปีกบิน ตอนนี้ปลายไม่กลัวว่าคุณครูจะสอนหนังสือเป็นภาษากวางตุ้งอีกแล้ว ปลายฟังรู้เรื่อง และพูดคล่องด้วยสำเนียงแปร่งๆ คล้ายกับชาวจีนทางภาคเหนือ อีกอย่างหนึ่ง ในปีนั้นเอง รัฐบาลจีนประกาศให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษามาตรฐานทั่วประเทศ บรรดาเพื่อนๆ นักเรียนต้องหัดพูดภาษาจีนกลาง คุณครูก็เช่นเดียวกันระบบพิ้นยิ้นอาศัยอักษรโรมันถ่ายการออกเสียงภาษาจีน ไม่ยากสำหรับปลาย ปลายสะกดพยางค์ในภาษาฝรั่งเศสได้

ระบบพิ้นยิ้นก็ไม่ต่างกันมากนัก มีอักษร a b c d อา เบ เซ เด..... เพียงแต่ต้องเติมวรรณยุกต์ 4 เสียง ให้ถูกต้องปลายจึงกลายเป็นผู้ช่วยสอนภาษาจีนกลางในระบบพิ้นยิ้นโดยปริยาย

งานประจำปีของโรงเรียนเวียนมาอีกครั้ง ประจวบกับวาระเฉลิมฉลองวันอภิวัฒน์เดือนตุลาคมของรัสเซีย[2] ครบรอบ 40 ปี เพื่อนๆ ตกลงกันว่าจะแสดงละครเรื่องมิตรภาพระหว่างจีนกับโซเวียต ปลายรับบทเป็นผู้เชี่ยวชาญโซเวียตที่มาช่วยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีที่เมืองหวู่ชาง

เสียงฮาจากผู้ชมด้านล่างเวทีเมื่อปลายปรากฏตัวบนเวที เสื้อนอกที่ยืมพ่อมาหลวมรุ่มร่าม แขนเสื้อยาวมิดมือ ปอยผมขมวดไว้ในหมวกสักหลาดสีเทาเหนือริมฝีปากแต้มเป็นหนวดสีดำ ดูแล้วเหมือนตัวตลกมากกว่าผู้เชี่ยวชาญโซเวียต

ปลายเล่นละครไปตามบท เก้อเขินบ้างในฐานะที่เป็นผู้แสดงหน้าใหม่สุดท้ายปลายอ่านบทกวี สดุดีมิตรภาพด้วยภาษาจีนกลางสำเนียงปักกิ่งเสียงใสนึกไม่ถึงว่าจะมีเสียงปรบมือดังกราวเมื่อปลายออกมาโค้งคำนับผู้ชม ทำเอาปลายปลื้มใจ ยิ้มหุบปากไม่ลงหลายวัน

… … …

ชีวิตนักเรียนจีนมิได้ปิดตัวแคบๆ อยู่แต่ในโรงเรียน พวกเขาต้องรับรู้และมีส่วนร่วมขบวนการต่างๆ ของสังคมในระดับมากบ้างน้อยบ้าง

ปลายไม่เข้าใจคำขวัญที่ประธานเหมาเจ๋อตุ๊งเสนอให้ “ร้อยบุปผชาติบานสะพรั่ง ร้อยสำนักประชันขันแข่ง” หมายถึงอะไร แต่หลังจากนั้น ปลายได้ยินว่า ครูหลิว ครูหม่า กับครูอีก 2-3 คน ถูกตราหน้าว่าเป็น “พวกฝ่ายขวา” ครูเหล่านี้ถูกพักการสอนเพื่อสำรวจตนเองว่า มีความคิดคัดค้านระบอบสังคมนิยมของจีนเพียงใดและมีครูบางคนถูกส่งไป “ปรับทัศนคติ” ด้วยการใช้แรงงานหนักในชนบท จริงๆ แล้ว ปลายไม่ได้เห็นว่า ครูหลิว ครูหม่าต่างจากครูคนอื่นๆ แถมวิชาภาษาจีนกับวิชาประวัติศาสตร์ที่ครูทั้งสองท่านสอนก็เป็น 2 วิชาที่ปลายเรียนด้วยความสนใจและสนุกสนาน

… … …

2-3 วันมาแล้วที่วิทยุกระจายเสียงได้รายงานข่าวเกี่ยวกับ “สัตว์ร้าย 4 ชนิด” สัตว์ร้ายชนิดแรกคือนกกระจอก มันทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารในเรือกสวนไร่นา ส่วนอีก 3 ชนิด คือ หนู แมลงวัน และยุง ได้แพร่เชื้อโรคบั่นทอนสุขภาพของประชาชน เสียงโฆษกวิทยุเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันกำจัดสัตว์ร้ายทั้ง 4 ชนิด

ดวงอาทิตย์ของเดือนสิงหาคมแผดกล้าจนต้นข้าวกลายเป็นสีทองเหลืองอร่าม

ปลายกับเพื่อนๆ ซ่อนอยู่ตามหลุมศพใกล้ๆ ท้องนา กิ่งไม้ถูกตัดมาเป็นมงกุฎประดับบนศีรษะ นอกจากเป็นการพรางให้เข้ากับสีสันของธรรมชาติแล้ว ยังช่วยกำ บังความร้อนได้อีก ลมนิ่งสงบ ไอแดดจากพื้นดินทำให้เหงื่อไหลไคลย้อยทุกคนกระวนกระวายใจ รอคอยนาทีอันระทึกใจ เสียงกลองเสียงฉาบดังมาจากทิศเหนือ ปลายเพ่งสายตามองไปยังท้องฟ้า จะเป็นฝูงนกกระจิบหรือนกกระจอกก็ไม่รู้กระพือปีกบินมาอย่างตื่นตระหนก พอนกบินเข้ามาใกล้ ปลายกับเพื่อนตีกะละมังเสียงขรม เจ้าวิหคน้อยๆ ผู้น่าสงสารตัวแล้วตัวเล่าร่วงตกลงบนพื้นด้วยกระสุนปืนลมและหนังสติ๊ก ส่วนที่รอด ก็ถลาบินเข้าไปในดงต้นยูคาลิปตัสใกล้ๆท้องนาอย่างอ่อนเปลี้ย

“ฝนตกแดดออก นกกระจอกเข้ารัง” ปลายจำปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บ้านเกิดได้

สำหรับวันนี้ ปลายนึกว่า น่าจะเปลี่ยนเป็น “เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง” เออหนอมนุษย์ใจดำรวมทั้งปลายด้วย รังแกสัตว์ร่วมโลกที่ไม่มีทางสู้รบปรบมือ นกกระจอกเหล่านั้นไม่เพียงแต่จิกกินรวงข้าว มันยังจิกกินหนอนที่ชอนไชต้นข้าว รวงข้าว ระบบนิเวศวิทยานี้ก่อเกิดความสมดุลทางธรรมชาติ นี่ไม่ใช่คุณค่าของนกกระจอกที่มีต่อมนุษย์ดอกหรือ

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 306-311.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] กว๊อหมินตั่ง หรือ ก๊กมินตั๋ง เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งโดย ดร.ซุนยัดเซน หลัง ดร.ซุนเสียชีวิต นายพลเจียงไคเช็ค เป็นหัวหน้าและเป็นปรปักษ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน.

[2] การอภิวัฒน์เดือนตุลาคมของรัสเซีย ตรงกับวันที่ 7  พฤศจิกายน ตามปฏิทินสากล.