ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ถลุงเหล็กกล้า” (ตอนที่ 24)

3
กุมภาพันธ์
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

“สังคมนิยมเป็นเลิศ สังคมนิยมเป็นเลิศ สถานภาพของประชาชนในประเทศสังคมนิยมเป็นที่ยอมรับ...”

ขบวนแถวนักเรียนโรงเรียนจื๋อสิ้นหนิ่วจ๊งเดินตามจังหวะเพลงที่ทุกคนเปล่งเสียงร้องสุดเสียง มุ่งไปยังสถานที่ก่อสร้างคันดินสำหรับปูรางรถไฟสายชานเมืองกว่างโจ๊ว งานสร้างนี้ดูจะหนักไปสำหรับเด็กสาว แต่ทุกคนยิ้มแย้มร่าเริง

ปลายมีหน้าที่หาบกรวดทราย คืนแรกก่อนนอนเมื่อปลายถอดเสื้อออกจึงเห็นว่า ตรงกลางบ่าทั้งสองข้างแดงนูน เนื้อตรงนั้นบวมเป่งราวกับจะปริแตกมิน่าเล่าเวลาวางคานบนบ่าทีไร ปลายรู้สึกเจ็บและแสบ คืนนั้นปลายนอนหลับด้วยความเมื่อยล้า

ปีนั้นตรงกับพุทธศักราช 2501 ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ มีคำขวัญว่า ภายใน 10 ปี จะเร่งพัฒนาประเทศจีนให้มีความทันสมัย ทัดเทียมประเทศอังกฤษ ประชาชนทั่วประเทศไม่ว่ากรรมกร ชาวไร่ชาวนา ปัญญาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานต่างถูกปลุกระดมให้เข้าร่วม “ขบวนการก้าวกระโดดครั้งใหญ่”

จากงานสร้างคันดินสำหรับปูรางรถไฟ มาเป็นงานสร้างอ่างเก็บน้ำประเภทของงาน หนีไม่พ้นขุดๆ หาบๆ เด็กสาวนอนรวมในห้องเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากอ่างเก็บน้ำ ชาวนาผู้มีใจอารีนำฟางข้าวมาให้รองปูเป็นที่นอน ถึงจะโดนฟางข้าวแห้งกรอบทิ่มแทงให้จั๊กจี้ ก็ยังดีกว่านอนบนพื้นแข็งและชื้น ตกดึก ปลายสะดุ้งตื่นด้วยความเจ็บปวด ในความมืด ปลายไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเพียงแต่รู้ว่าแขนขวาปวดหนึบๆ จนกระทั่งสว่าง ปลายจึงเห็นแขนขวาบวมเป่ง คุณครูบอกว่า ปลายถูกแมงป่องหรือไม่ก็ตะขาบกัด

ปลายได้รับการยกเว้นจากงานหนัก คุณครูมอบให้ปลายเป็นโฆษกสถานีวิทยุกระจายเสียงเคลื่อนที่ของโรงเรียน ไม้กระดานเปรอะเปี้อนโคลนตมถูกนำมาประกอบเป็นห้องส่ง ปลายเห็นตอนที่ขุดไม้กระดานโลงศพที่ฝังในบริเวณนั้นขึ้นมา ถึงปลายจะไม่กลัวผี แต่เมื่อต้องเข้าไปขลุกอยู่ในห้องส่งเช่นว่านี้ทั้งวัน ปลายอดที่จะขยาดและขยะแขยงไม่ได้ ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ปลายจึงทำใจดีสู้เสือเข้าไว้

ปลายเคยบ่นให้พ่อฟังถึงความยากลำบากต่างๆ ที่ได้พานพบ

“ปลายเอ๋ย ความสุขสบายนั้นเราไม่ต้องฝึกต้องฝน แต่ความยากลำบากที่ต้องฟันฝ่าสิ จะทำให้เราเป็นคนที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”

ปรัชญาชีวิตของพ่อได้ให้กำลังใจปลายอีกครั้ง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พ่อปลายเคยปรึกษากับมิตรร่วมอุดมการณ์ วางแนวการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยไว้ว่า “ธรรมชาติ การงานและสังคม” ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พ่อสนับสนุนให้ปลายใช้ชีวิตเช่นนักเรียนจีน กินง่าย อยู่ง่าย แต่ทำงานหนัก ไม่มีอภิสิทธิ์เยี่ยงนักเรียนต่างประเทศอื่นๆ

นักเรียนกลับมาที่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ปลายเหมือนกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ จำไม่ได้ว่า วิชาใดเรียนถึงไหนบ้างแล้ว กว่าจะสั่งการให้สมองกลับเข้าที่ ปลายและเพื่อนก็ต้องเข้าสู่ขบวนการถลุงเหล็กกล้าอย่างสุดตัว

“อุตสาหกรรมหนักเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ส่วนเหล็กกล้านั้นเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมหนัก เมื่อมีเหล็กกล้าแล้ว เครื่องจักรกล รถยนต์ และอื่นๆ ก็สามารถผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก ประเทศจีนก็จะเจริญก้าวหน้า” ปลายได้รับคำ อธิบายเช่นนั้น

โรงเรียนจื๋อสิ้นหนิ่วจ๊งกลายเป็นโรงงานถลุงเหล็กกล้าจำเป็น บริเวณที่ว่างข้างตึกอำนวยการ ด้านซ้ายเป็นเตาเผาถ่านหินให้ไร้ก๊าซ ด้านขวาเป็นเตาถลุงเหล็กกล้า

ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเคมีกางตำราดูวิธีถลุงเหล็กกล้า พวกลูกศิษย์คอยเป็นผู้ช่วย

“เราต้องเผาถ่านหินให้มีความร้อนสูงจนกว่าก๊าซจะหมดไป จากนั้นนำมาเป็นเชื้อเพลิงถลุงเหล็กกล้า”

ปลายกับเพื่อนใช้พลั่วตักถ่านหินที่ป่นละเอียดลงในเตาคนละทีสองทีถ่านหินก็เต็มเตา

ราว 12 ชั่วโมง ถ่านหินเผาได้ที่ ถึงคราวถลุงเหล็กกล้า

ก่อนหน้านี้ ปลายกับเพื่อนๆ ปรึกษากันว่า จะเอาเหล็กจากที่ไหนเป็นวัตถุดิบ ทุกหนทุกแห่ง ทุกหน่วยงานล้วนถลุงเหล็กกล้า “เหล็ก” จึงเป็นสินค้าขาดตลาด

“เวลาเดินให้กวาดสายตาดูพื้นดินหน่อย เผื่อมีตะปูหรือเศษเหล็กตกหล่น” เพื่อนคนหนึ่งเสนอ

“ที่บ้านมีถังน้ำขึ้นสนิมอยู่ใบหนึ่ง” ปลายบอก

“ตะขอหน้าต่างทำด้วยเหล็กไม่ใช่หรือ” อีกคนหนึ่งแนะ

หน้าต่างที่ขาดตะขอจะมีสภาพอย่างไร ไม่มีใครคิดไปไกลถึงนั่น

“เยี่ยมจริง สอดคล้องกับคัมภีร์ 4 ประการ ในการสร้างสรรค์สังคมนิยม ‘มาก เร็ว ดี ประหยัด’ พอดิบพอดี” หัวหน้าชั้นกล่าว ชมเชยข้อเสนอของเพื่อนๆ

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ถลุงเหล็กกล้า,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 318-321.

บทความที่เกี่ยวข้อง :