จากใจผู้เขียน
นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต
ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์
ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓
ต้นฤดูใบไม้ร่วง ปลายก็ได้เป็นน้องใหม่มหาวิทยาลัยเป่ยจิ๊งซื้อฟ่านต้าซูเอ๋สมความตั้งใจ
เกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่งแห่งนี้ดึงดูดความสนใจของปลาย
ก่อตั้งมาตั้งแต่พุทธศักราช 2445 เป็นเวลานับศตวรรษ ทุกลมหายใจเข้าออกของมหาวิทยาลัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์พลิกผันแปรปรวนของสังคมจีน
หลี่ต้าเจ๋า หลู่ซวิ่น เหลียงฉี่เช้า หลี่จิ่นซี้ ฯลฯ[1] เคยเป็นอาจารย์รุ่นแรกๆ
อาจารย์และนักศึกษาของสถาบันการศึกษานี้ อยู่แถวหน้าของการเคลื่อนไหว “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” พ.ศ. 2462
หลังเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 มหาอํานาจฝ่ายชนะสงครามแบ่งปัน “เค้ก” อันโอชะ สนธิสัญญาแวร์ซายเมินเฉยคําเรียกร้องคืนสิทธิอันชอบธรรมของราษฎรจีนที่เยอรมนียึดครองไป สิ่งเหล่านี้ทําให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวจีน
ภายใต้คําขวัญ “โค่นล้มจักรวรรดินิยม” นักศึกษาสะบัดธงผืนเล็ก เดินขบวนประท้วงตามท้องถนน ขับขานเพลง “โค่นล้มมหาอํานาจ”
♫ ต๋า เต่า เลี่ยะ เฉียง
ต๋า เต่า เลี่ยะ เฉียง ♫
... ... ...
โดยใช้ทํานองเดียวกับเพลงขับร้องของเด็กฝรั่งเศส “Frère Jacques” ดังกระหึ่ม จากปักกิ่งสู่เมืองเที้ยนจิ๊น หรือเทียนสิน สู่จิตสํานึกรักชาติของหนุ่มสาว
นอกจากนี้ ปัญญาชนจีนต้องการปฏิรูปสังคมจีน และวัฒนธรรมจีนให้ทันสมัย ไม่ใช้ภาษาโบราณที่ตกรุ่นตกสมัยเป็นภาษาทางราชการ
ปลายได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ จากรุ่นพี่ เป็นความภาคภูมิใจถ่ายทอดจากรุ่นแรก มาจนถึงรุ่น 58 ที่ปลายเป็นนักศึกษาอยู่
การพัฒนาประเทศต้องการบุคลากรด้านการศึกษาเป็นจํานวนมาก ก็เมื่อบุตรธิดาของปัญญาชนมีโอกาสเลือกเรียนแพทย์ วิศวกร สถาปนิก... ลูกหลานชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงานจึงเป็นสัดส่วนสําคัญของนักศึกษาด้านครุศาสตร์ รัฐมีนโยบายให้เรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกคนได้ทุนการศึกษาและปัจจัยการยังชีพจากรัฐ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนเอาใจใส่ดูแลลูกกําพร้าของวีรชนที่ได้พลีชีพเพื่อการอภิวัฒน์ จีน่า เพื่อนนักเรียนคณะภาษาตะวันตกคนหนึ่งคือหนึ่งในจํานวนนั้น หลังจากบิดาเธอถูกฝ่ายกว๊อหมินตั่งสังหารก็มีชาวคอมมิวนิสต์ระดับนําที่เป็นสหายร่วมรบของบิดา รับเธอเป็นบุตรบุญธรรม ส่งเธอไปเรียนชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่สหภาพโซเวียต แล้วกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง
จีน่าพูดภาษาจีนไม่คล่อง เธอถนัดที่จะใช้ภาษารัสเซียมากกว่า เธอทําตัวเรียบๆ ง่ายๆ ไม่แสดงตนว่า “ฉันเป็นลูกสาวนักอภิวัฒน์คนสําคัญ” จีน่าร่าเริง น่ารัก คบหาเป็นเพื่อนสนิทของปลาย
ในมหาวิทยาลัย มี “ลูกท่านหลานเธอ” บางคนที่เป็นบุตรธิดาของผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ กองทัพ และรัฐบาล อยู่บ้านช่องใหญ่โต นั่งรถเก๋งคันใหญ่สีดํา กระจกหน้าต่างรถปิดม่านหนาทึบมองไม่เห็นผู้อยู่ในรถ เป็นรถยนต์ประเภทยี่ห้อซิม หรือยี่ห้อซิส ที่ผลิตในสหภาพโซเวียต หรือยี่ห้อหงฉี ที่ผลิตในจีน ดํารงชีวิตแบบอภิสิทธิ์ชน พอมาเรียนหนังสือ ก็จะคบอยู่ในหมู่ “ลูกท่านหลานเธอ” ด้วยกัน
ถึงกระนั้น ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงจํานวนไม่น้อยก็อบรมบ่มเพาะบุตรธิดาของตนให้ยึดถือประเพณีและแบบอย่างของรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะและเรียบง่าย เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมวลชนได้อย่างน่าชื่นชม
ปลายรู้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร คนนั้นพ่อเป็นประธานพรรคฯ คนนี้เป็นลูกผู้บัญชาการใหญ่กองทัพ คนโน้นเป็นลูกกรรมการกลางพรรคฯ… ปลายไม่ตะเกียกตะกายที่จะคบหาสมาคมด้วย พอใจที่จะคบหาเป็นเพื่อนกับลูกหลาน จ๊างซ้าน หลี่ซื่อ[2] มากกว่า
หลี่ซู่เหลียน หรือ เสี่ยวเฮ้ย สาวชาวชนบทจากมณฑลซ้านซี้เป็นเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของปลาย
ปลายมีเพื่อนมากมาย เวลาจะพูดคุยกับเพื่อนๆ นักศึกษา ปลายต้องตะแคงหูฟัง เพื่อนที่มาจากมณฑลต่างกัน สําเนียงก็ต่างกัน เสียงเหน่อๆ ตามแบบฉบับภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสําเนียงเสฉวนหรือสําเนียงหูหนาน ล้วนฟังเข้าใจยากทั้งนั้น
นอกจากเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกันแล้ว ปลายยังมีเพื่อนต่างสถาบันจากประเทศในภูมิภาคอินโดจีน
บางคนมีฐานันดรศักดิ์เป็น “เจ้า” ซึ่งเป็นบุตรธิดาของผู้นําการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติตน หลายปีต่อมา ทราบข่าวมาว่า “เจ้า” บางคนกลับประเทศตน ยังไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เล่าเรียนมา ก็ถูกฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็น “พวกปฏิวัติ” สังหารโหดอย่างน่าอเนจอนาถ ส่วนเพื่อนจากประเทศอัฟริกา ซึ่งแต่ละคนปฏิบัติตนเยี่ยงนักศึกษาต่างประเทศธรรมดาๆ แต่เมื่อสําเร็จการศึกษา ได้กลับไปมีตําแหน่งใหญ่ด้านต่างๆ ในประเทศ ก็หลายคน
มหาวิทยาลัยซื้อต้า[3] เป็น “เมือง” เล็กๆ นั่นเป็นอาคารเรียน นี่เป็นหอสมุดใหญ่ ทางทิศตะวันออกเป็นอาคารหอพักหญิง ทางทิศตะวันตกเป็นหอพักชาย มีบ้านพักอาจารย์ โรงอาหาร สนามกีฬา สระว่ายน้ำ สถานพยาบาล
ที่ทําการไปรษณีย์ ธนาคาร ร้านค้า หมุนตัวไปทางไหนก็พบสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับคณาจารย์และนักศึกษา
อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัย จักรยานจึงเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับปลาย จักรยานพาปลายออกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์นอกมหาวิทยาลัยที่ซี้ต๊านมีร้านเจี๋ยงเซี๊งหยวน ผักดองรสชาติอร่อยนานาชนิดจากภูมิภาคต่างๆ บรรจุในโถใบใหญ่น้อย วางระเกะระกะลานตา ไหนจะผักดองเสฉวน ไหนจะหัวผักกาดขาวซอยหมักกับพริกและงาขาว ไหนจะกระเทียมดองทั้งหัว ฯลฯ ปลายก็แวะไปซื้อบ่อยครั้ง
บางทีปลายฝ่าลมหนาวไปซื้อขนมแบบรัสเซีย ที่ร้านแถวประตูฉ่งเหวินหมิน หรือฮาต๋าเหมิน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง ไส้กรอก กระเทียม แกล้มด้วยแตงกวาลูกเล็กรสเปรี้ยว แล้วยังมีขนมประเภท “mille feuilles” (ขนมแป้งพัฟเป็นชั้นๆ) อร่อยไม่แพ้ต้นตํารับขนมฝรั่งเศส หรือไปซื้อของบริโภคอุปโภคบางอย่างที่ขาดแคลนในท้องตลาด ซึ่งมีขายเฉพาะในร้านค้ามิตรภาพสําหรับชาวต่างประเทศเท่านั้น
ปลายมีประสบการณ์เกี่ยวกับร้านมิตรภาพทั้งบวกและลบ ซึ้งในน้ำใจเอื้ออารีของชาวจีนที่มีต่อชาวต่างประเทศ ถึงตนจะอดอยากแร้นแค้น แต่ก็ให้ความสะดวกสบายแก่มิตรต่างประเทศเท่าที่จะอํานวยให้ได้ ปลายไม่ชอบใจพนักงานขายของบางคน เห็นฝรั่งตานํ้าข้าวดีกว่าชาวเอเชียอย่างปลาย พนักงานขายของถามด้วยนํ้าเสียงกระแทกกระทั้น หรือโยนสินค้ามาให้ปลายเลือกเอง แต่กับลูกค้าฝรั่งแล้ว พะเน้าพะนอเอาใจเป็นพิเศษ
มีเรื่องขําขันเล่ากันว่า ชาวผิวเหลืองกับชาวผิวขาว เดินเข้าไปในร้านมิตรภาพ พนักงานขายของรี่เข้าไปต้อนรับชาวผิวขาว กุลีกุจอหยิบโน่นหยิบนี่ให้เลือกซื้อ ปล่อยให้ชาวผิวเหลืองยืนรอเก้อ จนกระทั่งชาวผิวขาวผายมือมาแนะนําว่า “เรามาจากฮ่องกง มิสเตอร์หลี่คือประธานบริษัทของผม กรุณาดูแลท่านผู้นี้ก่อนเถอะ!” ทําเอาพนักงานขายของหน้าเสียไปเลย
จะผิวขาวผิวเหลืองก็เป็นคนเท่าเทียมกัน คนจีนบางคนลืมไปว่า ในยุคจักรวรรดินิยมยึดครองเขตเช่าที่นครเซี่ยงไฮ้ ถนนเดินเล่นเลียบแม่นํ้าหวงผู่ เขียนป้ายตัวเบ้อเร่อว่า “ห้ามคนจีนและสุนัขเข้า” นําความโกรธเคืองมาสู่ชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง
ปลายอยู่อาคารหอพักนักศึกษาหญิงด้านทิศเหนือ ห้องปลายอยู่ชั้น 2 เยื้องๆ กับบันไดทางขึ้นลง ภายในห้องจัดวางเตียงนอน 3 เตียง และกลางห้องมีโต๊ะหนังสือ 3 ตัว ปลายมี ‘คุณป้า’ กับ ‘คุณน้า’ เป็นเพื่อนร่วมห้อง
เป็น “อภิสิทธิ์” เล็กๆ ที่ปลายได้รับในฐานะนักศึกษาต่างประเทศ
ปลายแอบตั้งฉายา ‘คุณป้า’ กับ ‘คุณน้า’ โดยที่เธอทั้งสองหารู้ไม่ว่าปลายนับญาติกับเธอตั้งแต่เมื่อไหร่
อาจารย์เลี่ยวหรือ ‘คุณน้า’ นั้น ทางมหาวิทยาลัยจะให้เป็นผู้ช่วยกวดวิชาให้ปลาย ตลอดเวลาที่พักห้องเดียวกัน ปลายไม่เคยให้ ‘คุณน้า’ กวดวิชาเลย ปลายเรียนได้เรื่อยๆ ผลการเรียนปานกลางขึ้นไป
พอขึ้นชั้นปีที่ 2 ‘คุณน้า’ ได้ลาไปแต่งงาน ในห้องพักจึงมีเพียง ‘คุณป้า’ กับปลายสองคน
ถังซู่เฟิน หรือ ‘คุณป้า’ สวมแว่นตาหนาเทอะทะ เธอมาจากเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซิ้นเจี๊ยง หรือซินเกียง ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์หรือคาซัค แต่เป็นชาวฮั่นที่เข้าไปเขตซิ้นเจี๊ยงพร้อมกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ต่อมาลาออกจากกองทัพมาเป็นครู และได้รับการคัดเลือกให้มาเรียนที่สถาบันแห่งนี้
มิตรภาพระหว่างปลายกับ ‘คุณป้า’ ยืนยาวจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลาร่วม 50 ปี เธอยังห่วงใยปลายเสมือนเป็นน้องสาว เธอจึงเป็น ต้าเจี่ย หรือพี่สาวใหญ่ของปลาย
‘คุณป้า’ เป็นชาวภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เธอเล่าให้ฟังถึงความยากจนแร้นแค้นแถบบ้านเกิดให้ปลายฟังอยู่เสมอๆ ในหมู่บ้านมีบ่อนํ้าใช้แค่บ่อเดียว ความแห้งแล้งทําให้กว่าจะขุดพบตาน้ำต้องขุดลึกมาก และกว่าจะใช้เชือกสาวถังน้ำขึ้นมา ต้องใช้แรงสุดฤทธิ์ บ้านไหนฐานะดีหน่อย ใช้ม้าบ้าง ลาบ้างเป็นเครื่องทุ่นแรง คนจูงสัตว์เลี้ยงแสนเชื่องเดินรอบๆ บ่อน้ำ รอบแล้ว รอบเล่า เชือกที่ผูกไว้กับถังถูกหย่อนให้ยาวจนถึงก้นบ่อน้ำ เมื่อตวัดน้ำเต็มถังแล้ว ก็สาวเชือกให้สั้นลงสั้นลง จนกระทั่งถังน้ำโผล่ขึ้นมาเหนือขอบบ่อ เป็นเช่นนี้ กว่าจะได้น้ำเต็มตุ่ม เหนื่อยทั้งคน เหนื่อยทั้งสัตว์
ปลายเชื่อแล้วว่า ทําไมคนในหมู่บ้านของต้าเจี่ย อาบน้ำกันเพียง 3 ครั้งในชั่วชีวิต แรกเกิด – แต่งงาน - ตอนตาย
‘คุณป้า’ มีกะละมังเคลือบอยู่ใบหนึ่ง ก้นกะละมังกะเทาะจนแลเห็นเนื้อในที่เป็นโลหะ บ่งบอกว่าเจ้าของใช้ภาชนะนี้มาหลายปีแล้ว หลังเลิกเรียนเธอไปรองน้ำที่ห้องน้ำรวม น้ำนั้นใช้ตั้งแต่ล้างหน้า เช็ดตัวไปจนถึงล้างเท้า เมื่อสังเกตว่าไม่มีคนเดินผ่านด้านล่าง ‘คุณป้า’ รีบสาดน้ำจากหน้าต่างห้องพักสู่พื้นดินที่มีต้นไม้ยืนต้นอยู่อย่างรวดเร็ว ‘คุณป้า’ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
ในสายตาของ ‘คุณป้า’ แม้เธอจะไม่เคยวิจารณ์ หรือติเตียนปลาย แต่ในความรู้สึก เธอคงอยากจะตําหนิว่าปลายใช้น้ำสิ้นเปลือง
ก็ปลายมีความเคยชินที่จะอาบน้ำทุกวันนี่นา!
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “มวลหมู่นักศึกษา,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสดงดาว, 2562), น. 332 - 338.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 7 - ฉันเป็นชาวสยาม
- ตอนที่ 8 - การเดินทาง 15,000 กิโลเมตร
- ตอนที่ 9 - บ้านหลังใหม่
- ตอนที่ 10 - ปู้หวา
- ตอนที่ 11 - พระราชวังต้องห้าม
- ตอนที่ 12 - ตามล่าหาสายลับ
- ตอนที่ 13 - น้ำพริกแอปเปิ้ล
- ตอนที่ 14 - กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
- ตอนที่ 15 - ยามดอกเหมยบาน
- ตอนที่ 16 - สวนสนามวันเมย์เดย์
- ตอนที่ 17 - กำแพงสีเขียว
- ตอนที่ 18 - ลาก่อนเพื่อนรัก
- ตอนที่ 19 - จดหมายจากกว่างโจ๊ว
- ตอนที่ 20 - โรบินสัน ครูโซ
- ตอนที่ 21 - สัตว์รัก สัตว์เลี้ยง
- ตอนที่ 22 - เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง
- ตอนที่ 23 - ทองคำสีดำ
- ตอนที่ 24 - ถลุงเหล็กกล้า
- ตอนที่ 25 - สุ. จิ. ปุ. ลิ.
- ตอนที่ 26 - ปณิธานของเทียนไขเล่มน้อย
[1] หลี่ต้าเจ๊า (Lǐ Dàzhāo) (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๗๐) มาร์กซิสต์รุ่นแรกของจีน ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลู่ซวิ่น (Lǔ Xùn) (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๗๙) นักคิด นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของจีน นามเดิมโจ๊วซู่เหริน (Zhōu Shùrén) เหลียงฉี่เช้า (Liáng Qǐchāo) (พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๗๒) นักปฏิรูประบอบการปกครองและนักการศึกษา หลี่จิ่นซี้ (Lí Jǐnxī) (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๖) นักภาษาศาสตร์จีน
[2] จ๊างซ้าน (Zhāng Sān) หลี่ซื่อ (Lǐ Sì) ตรงกับ “ตาสีตาสา” ในคำไทย.
[3] “ซื้อต้า” ชื่อย่อ “มหาวิทยาลัยเป่ยจิ๊งซือฟ้านต้าซูเอ๋” ในภาษาจีน.