ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ปณิธานของเทียนไขเล่มน้อย” (ตอนที่ 26)

18
กุมภาพันธ์
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

ฤดูร้อน พุทธศักราช 2503 ครอบครัวปลายไปทัศนาจรทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน จากกว่างโจ๊วไปหนานหนิง คุ้นหมิง ต้าหลี่ วกกลับมาที่คุ้นหมิงเพื่อขึ้นไปยังเฉิงตู แล้วต่อไปยังนครจุงกิงหรือฉงชิ่ง

หนานหนิงเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง ปลายพลอยสนุกกับการสนทนาด้วย “ภาษาพี่น้อง” กับชาวจ้วง คําพื้นๆ อย่างเช่น “กินข้าว” ในสําเนียงกรุงเทพฯ ชาวจ้วงก็อาจจะออกเสียง “กินเข่า” ทั้งนี้ชาวจ้วงกับชาวไทยในแหลมทองมีชาติพันธุ์เดียวกัน

คุ้นหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนานหรือยูนาน เป็นจริงดังที่กล่าวว่า เป็นเมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิตลอดปี อากาศทั้ง 4 ฤดู ไม่ร้อนมากและไม่หนาวจัด มีดอกไม้สวยงามให้เชยชมตลอดปี จนได้สมญานามว่า “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ”

ส่วนต้าหลี่เป็นเมืองเอกของ “ชนชาติไป๋” ในมณฑลหยุนหนาน พ่อปลายอยากจะไปสํารวจว่า ถิ่นนี้เป็นต้นกําเนิดของชาวไทยหรือไม่ ผลของการซักถามนักวิชาการท้องถิ่นและชนชาติไป๋ ตลอดจนการสํารวจพื้นที่จริง และศิลาจารึกภาษาฮั่น พ่อปลายปักใจเชื่อว่า “อาณาจักรน่านเจ้า” ไม่ใช่ถิ่นกําเนิดของชาวไทยสยาม คลายความกังขาที่มีมานานหลายสิบปี

พ่อของปลายบอกกับปลายว่า ไม่ใช่จะเชื่ออะไรตามคําบอกเล่าของนักวิชาการตะวันตกหรือนักประวัติศาสตร์ไทยง่ายๆ ต้องหาเหตุผลและข้อมูลประกอบการพิจารณา เหตุใดในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้มีนักวิชาการและนักการเมืองบางท่านเสนอทฤษฎีไทยสยามสืบมาจาก “อาณาจักรน่านเจ้า” บ้าง มาจากเทือกเขาอัลไตบ้าง เป็นเรื่องน่าคิด

นครเฉิงตูเป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ โด่งดังมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก อันเป็นที่ตั้งของ “ก๊กสู่” ของหลิวเป่ย (เล่าปี่)

ส่วนนครจุงกิงหรือฉงชิ่ง แม้มิใช่เมืองเอกของมณฑลเสฉวน แต่เคยเป็นเมืองหลวงชั่วคราวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศจีน คุณจัดการ เสรีไทยที่ได้รับมอบหมายจาก “รู้ธ” ห้วหน้าขบวนการเสรีไทยเพื่อไปติดต่อกับสัมพันธมิตร ก็ได้เสียชีวิตที่นครแห่งนี้

 

 

เรือโดยสารได้ออกจากท่าเรือเมืองฉงชิ่งมุ่งไปทางทิศตะวันตก แสงไฟแวบวับจากบ้านเรือนบนเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ ประดุจดวงดาวน้อยใหญ่จุติบนผืนพิภพ บางดวงสุกสกาว บางดวงริบหรี่ ค่อยๆ ถอยห่างออกไป จนเหลือแต่ความมืดเข้ามาแทนที่

แม่น้ำแยงซีเป็นสายน้ำยาวที่สุดของประเทศจีน จากดินแดนที่เป็นหลังคาโลกทางทิศตะวันตก ไหลเชี่ยวอย่างไม่เคยหลับใหลสู่ทะเลตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก บางตอนไหลผ่านโตรกเขาลําน้ำแคบลง แต่ไหลเชี่ยวกรากขึ้น บางตอนกระแสน้ำเซาะที่ราบสองฝั่ง ทําให้ลําน้ำกว้างเวิ้งว้าง

ปลายตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่ช่องแคบช้านสิหยา ท้องฟ้ายังสลัว ชะโงกเขาสองฟากฝั่งดูทะมึนน่าเกรงขาม เรือแล่นตามลําน้ำที่หักศอกไปมาอย่างระมัดระวัง

ไม่นาน ลําแสงของดวงอาทิตย์แหวกทะลุม่านหมอกและหมู่เขาทาบยอดไม้บนหน้าผาสูงชันด้วยรัศมีสีทอง

ที่ใดที่แสงแดดสาดส่องถึง ก็ดูสว่างไสว ที่ใดอับแสง ก็ดูเงาสลัว สีของรุ้งถูกจัดวางพอเหมาะพอเจาะ เป็นภาพธรรมชาติที่จิตรกรใดๆ ก็ไม่อาจเนรมิตขึ้นมาได้

บนผืนน้ำที่ระยิบระยับด้วยแสงอาทิตย์ ปลายแลเห็นภาพชีวิตของตนโลดแล่นออกมา บ้างกระจ่างชัด บ้างมัวพร่า เหมือนเมื่อเด็กๆ เล่นต่อภาพจิ๊กซอว์ ปลายนําภาพเหล่านั้นมาปะติดปะต่อใหม่ มุมหนึ่งเป็นภาพตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 11 ขวบ เป็นช่วงที่ปลายใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน อีกมุมหนึ่งเป็นภาพช่วง 7 ปีหลัง ที่ใช้ชีวิตในต่างแดน…

เผลอแป๊บเดียว ปลายอยู่เมืองจีนมาได้ 6 ปีเต็ม บัดนี้ปลายสําเร็จชั้นมัธยมศึกษาแล้ว

ปลายสูงขึ้น อ้วนล่ำแข็งแรงสมเป็นนักกีฬา อายุใกล้จะ 18 แต่ยังไม่มีจริตจะก้านเหมือนสาวๆ

ถึงเวลาที่ปลายต้องเลือกแขนงวิชาที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว

“เป็นโอกาสดีที่ปลายได้เรียนภาษาจีนในเมืองจีนตั้งแต่เด็ก ภาษาจีนเป็นภาษาของประเทศที่มีประชากร 600 กว่าล้านคน วันข้างหน้า ภาษาจีนย่อมมีบทบาทสําคัญเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ”

น้ำเสียงของพ่อมิได้เป็นการบังคับหรือกะเกณฑ์ใดๆ

ปลายชอบเรียนภาษาจีนอยู่แล้ว การเรียนวิชานี้ไม่ได้ด้อยกว่าเพื่อนๆ ชาวจีน บางครั้งปลายสอบได้ 5 คะแนนเต็ม หรือ “ดีมาก” อันเป็นระบบวัดผลการเรียนแบบสหภาพโซเวียต ในยุคนั้น ประเทศจีนมักจะเลียนแบบโซเวียตในหลายๆ เรื่อง

“ปลายตกลงจะเรียนอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาจีนค่ะ” หลังจากตรึกตรอง 2-3 วัน ปลายแสดงความจํานง

“ปลายจะเรียนที่มหาวิทยาลัยเป่ยจิ๊งซื้อฟ้านต้าซูเอ๋ ปลายอยากเป็นครูเหมือนคุณพ่อ เหมือนครูสายชลค่ะ”

มหาวิทยาลัยที่ปลายพูดถึงคือมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ปลายอยู่ในแวดวงครูบาอาจารย์ เวลาเล่นกับเด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ปลายมักแปลงโฉมเป็นครูน้อย แอบเอารองเท้าส้นสูงของแม่มาใส่ ทาปากด้วยลิปสติคสีแดง

“ก. ไก่ ข. ไข่ ...” ปลายใช้กิ่งไม้เรียวเล็กชี้ไปที่ตัวหนังสือที่เขียนข้างผนังตึก เด็กรุ่นน้อง 2-3 คน ถูกเรียกให้อ่านตาม

ตอนอยู่เมืองไทย ปลายได้ยินผู้คนกล่าวยกย่องครูเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” เมื่อมาเมืองจีน คนจีนก็กล่าวยกย่องครูเป็น “คนสวนของพฤกษชาติ”ทําหน้าที่พรวนดิน รดลําน้ำ ใส่ปุ๋ย... จากนั้นดอกไม้นานาพันธุ์ที่สวยสดงดงามก็บานสะพรั่งในสวนพฤกษชาติ

... ... …

ปลายไม่ทันสังเกตว่าพ่อกับแม่เดินมาที่ปลายยืนอยู่ตั้งแต่เมื่อใด เสียงกระแอมของพ่อทําให้ปลายหันกลับมาดู

“กําลังคิดอะไรเพลินอยู่หรือปลาย” เสียงแม่ถาม

ปลายยิ้มเขินแทนคําตอบ

“พรุ่งนี้เรือจะเทียบท่าเมืองหวู่ฮั่น หลังจากนั้นลูกต้องบินเดี่ยวไปเรียนหนังสือที่ปักกิ่ง” พ่อทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง

“ค่ะ” ปลายตอบอย่างหนักแน่น สายตายังคงเพ่งมองไปข้างหน้า

หัวเรือแหวกท้องน้ำแตกกระจายออกเป็นสองสาย เสียงดังซู่ๆ ลําเรือพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่รั้งรอ ละอองน้ำดุจฝอยฝนกระเซ็นขึ้นมายังกราบเรือตรงที่ปลายยืนอยู่

เรือต้องฝ่าคลื่นลมไปสู่จุดหมายปลายทางเช่นใด กว่าปลายจะไปสู่หลักชัยแห่งชีวิตก็เป็นเช่นนั้น ระยะทางยาวไกลเกือบสุดเอื้อม แต่ปลายแลเห็นลําแสงเรืองรองแห่งความสมปรารถนาเหนือขอบฟ้าบุรพทิศ

“ฉันขอเป็นเทียนไขเล่มน้อย ให้ความสว่างตราบจนละลายดับสิ้น” ปลายได้ยินเสียงสะท้อนของปณิธานอันแน่วแน่ดังขึ้นในใจ

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ปณิธานของเทียนไขเล่มน้อย,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 326 - 331.

บทความที่เกี่ยวข้อง :