การที่มีเสียงบ่นกันอยู่ว่า ประเทศของเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีแต่ความกาหลวุ่นวายไม่เปนส่ำสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย และก็มีการปรารภกันว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีเสถียรภาพทางการเมืองสักที หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวทางฝ่ายรัฐบาล ว่าจะอบรมข้าราชการและประชาชนให้เข้าใจประชาธิปไตย “อย่างชาบซึ้ง”
แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการปฏิบัติในทางเหนี่ยวรั้งมิให้ประชาชนได้มีวันรู้จักเข้าใจประชาธิปไตยได้เลย เปนต้นว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยออกไปตรวจราชการในต่างจังหวัด ทางจังหวัดก็ได้มีการกะเกณฑ์ข้าราชการและราษฎรออกไปคอยตัอนรับท่านรัฐมนตรีตามระยะทางที่ผ่านมาอย่างคับคั่ง (ตามรายงานของ ‘สยามนิกร’)
ประหนึ่งว่ารัฐมนตรีในสมัยประชาธิปไตยมิใช่บุคคลที่มาหรือควรจะมาจากราษฎร หากมาจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิซึ่งคนทั้งหลายจะละเมิดมิได้. การที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในต่างจังหวัดกระทำเช่นนั้น นอกจากจะเปนการคอยทำนุบำรุงให้ความรู้สึกเรื่องข้าเจ้าบ่าวนายตามแบบของระบอบเก่า จำเริญงอกงามอยู่ในความสำนึกของราษฎรอยู่ไม่ขาดสายแล้ว ยังเปนการนำมาซึ่งความเสียหายอื่น ๆ อีก เปนต้นว่า การที่เกณฑ์เอาผู้คนมาคอยต้อนรับเช่นนั้น เมื่อรวมผู้คนทั้งหมดที่มาคอยต้อนรับทุกหนทุกแห่งแล้วจะเปนจำนวนมากมาย ในแง่เศรษฐกิจก็เปนการเอาเวลาและแรงงานของคนเหล่านั้นมาทำลายเสียอย่างไร้เหตุผลทีเดียว
จากเหตุการณ์ที่นำมากล่าวนี้ เปนแต่เรื่องหนึ่งในจำนวนมากมายที่วงการปกครองมักปฏิบัติอยู่เสมอ ขณะที่แสดงออกโดยวาจาอยู่ร่ำไปว่า รัฐบาลเปนประชาธิปไตยและจะส่งเสริมให้ราษฎรเข้าใจประชาธิปไตย “อย่างซาบซึ้ง” อันแม่ปูนั้นจะเคี่ยวเข็ญให้ถูกปูเดินตรงเท่าใด ไม่มีวันจะสำเร็จได้ ตราบใดที่แม่ปูยังเดินตรง ๆ ไม่ได้ และลูกปูก็ได้เห็นตัวอย่างการเดินคดเคี้ยวของแม่ปูอยู่ทุกวัน
การปกครองนั้นเปนทั้งวิทยาการและศิลป การปกครองมิใช่เรื่องของการใช้คอมมอนเซ็นส์ หรือเชาว์ไวไหวพริบล้วน ๆ การปกครองมิใช่เรื่องของการมีลิ้นที่ทำด้วยแร่ชนิดต่าง ๆ หรือด้วยการเปล่งเสียงหัววเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่ตลอดเวลา หรือด้วยการกล่าวถ้อยคำที่ใช้เปนน้ำตาลชงกาแฟได้ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์อยู่เหมือนกันในการปกครองบ้านเมือง แต่ก็จะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่ทำให้คนเรากลายเปนรัฐบุรุษขึ้นมาได้ และบ้านเมืองกลายเปนประชาธิปไตยขึ้นมาได้.
เมื่อนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้แทน ยู.พี. เกี่ยวกับการเดินนโยบายต่างประเทศ และก็ได้รับการวิพากษ์อย่างหนักจากทุกทิศทุกทางนั้น นายกรัฐมนตรีได้โต้ตอบการคัดค้านออกมาทางวิทยุกระจายเสียง. โดยที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้ถ้อยคำซึ่งดูเปนการแสดงอารมณ์อยู่สักหน่อย จึงทำให้ฝ่ายค้านตีความไปว่า นายกรัฐมนตรีถือว่าการคัดค้านเปนสิ่งล้าสมัย และดังนั้นรัฐบาลนี้ก็ไม่เปนประชาธิปไตย. แต่ผู้เขียนเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีมิได้ตั้งใจจะไปไกลถึงเพียงนั้น เปนแต่ว่านายกรัฐมนตรีต้องการความหนักแน่นอดทนกว่านั้น และต้องการความละเมียดละไมแห่งวาจากว่านั้น
มีกฏการเมืองซึ่งเปนที่รับนับถือกันในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาว่า ฝ่ายข้างน้อยยอมรับว่า ฝ่ายข้างมากต้องเปนฝ่ายปกครอง และ ฝ่ายข้างมากก็ยอมรับว่า ฝ่ายข้างน้อยมีสิทธิวิพากษ์ การปกครองโดยระบบรัฐสภาจะสลายหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มีความอดทนพอ และพยายามจะละเมิดกฎการเมืองข้อนี้ ถ้าทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายเคารพกฎการเมืองข้อนี้แล้ว การกบฏรัฐประหารการจลาจลก็ไม่มี และประเทศก็จะสงวนเงินที่ต้องจ่ายไปในการซื้อรถยนต์หุ้มเกราะและอาวุธยุทธภัณฑ์อื่น ๆ เปนจำนวนมากมาย และจะนำมาใช้จ่ายในการทำนุบำรุงความผาสุกของประชาชนได้ไม่น้อย.
การที่ฝ่ายข้างน้อยยอมรับว่าฝ่ายข้างมากต้องได้สิทธิปกครองนั้นหมายความว่าฝ่ายข้างน้อยจะไม่ยกเหตุว่าประชาชนไม่นิยมรัฐบาล เพราะแก้ปัญหาค่าครองชีพไม่ตก หรือเหตุอื่นใดก็ตาม เปนข้ออ้างมาล้มรัฐบาล โดยวิธีการใช้กำลังบังคับ แต่จะคอยชี้ความบกพร่องของรัฐบาลอยู่ร่ำไป จนกว่าจะถึงเวลาเลือกตั้งคราวหน้า และก็จะให้ประชาชนได้วินิจฉัยโดยการออกเสียงว่าจะต้องการรัฐบาลชุดนั้นต่อไปหรือไม่.
การที่ฝ่ายข้างมากยอมรับว่าฝ่ายข้างน้อยมีสิทธิในการวิพากษ์นั้น หมายความว่าฝ่ายข้างมากหรือรัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิวิพากษ์ของฝ่ายข้างน้อย โดยเต็มใจและเคร่งครัด. ไม่ว่าฝ่ายข้างน้อยหรือฝ่ายค้านจะใช้สิทธิของเขาหนักหนาเพียงใด รัฐบาลก็จะไม่แสดงอาการคุกคามข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวย่อท้อต่อฝ่ายค้านในอันจะปฏิบัติหน้าที่ของเขา.
ที่ว่ารัฐบาลจะต้องละเว้นไม่แสดงอาการคุกคามข่มขู่ฝ่ายค้านนั้น ย่อมหมายรวมถึงการกระทำของพนักงานของรัฐบาลด้วย ถ้าพนักงานแสดงอาการคุกคามข่มขู่ออกไป รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ การที่จะปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่ได้เปนผู้สั่งการนั้นควรจะถือทำนองเดียวกับที่ถือว่า เมื่อราษฎรกระทำผิด จะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้.
เราคิดว่า ถ้ากฎการเมืองข้อที่นำมากล่าวนี้ได้รับความเคารพโดยเต็มใจและเคร่งครัดจากทุกฝ่ายแล้ว ก็จะเปนทางสำคัญทางหนึ่งที่จะช่วยค้ำจุนเสถียรภาพของการเมืองไว้ได้. แต่ก็ไม่หมายความว่าด้วยความเคารพกฎการเมืองข้อนี้ จะทำให้ประเทศกลายเปนประชาธิปไตยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ขึ้นมาได้.
แท้จริงเรื่องของประชาธิปไตย เปนเรื่องที่จะต้องศึกษากันมาก เพราะประชาธิปไตยมีทั้งส่วนที่เปนคุณและส่วนที่เปนโทษเกี่ยวพันกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็เปนโชคร้ายอยู่ที่คนมักใช้เวลาพูดถึงประชาธิปไตยกันมากเกินไป และก็ใช้เวลาศึกษากันน้อยเกินไป.
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานที่จะศึกษาประชาธิปไตยให้เข้าใจถ่องแท้ กว่าจะดำเนินเข้าสู่วิถีทางอันราบรื่นได้ หากอาศัยความเพียรความอดทนต่อความไม่พอใจต่าง ๆ และความปรารถนาโดยสุจริตจริงใจแล้ว ถึงมาตร์ว่าจะต้องดำเนินไปตามทางที่ยังขรุขระอยู่ ก็ยังเปนที่อุ่นใจได้ว่าเราคงจะไม่พากันพลัดตกลงไปในเหวลึก.
แต่ถ้าปราศจากคุณธรรมสามประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว อนาคตของประเทศก็อาจประสบได้ทุกอย่าง เว้นแต่ความผาสุกและความปลอดภัย
ที่มา : ไม่ทราบแห่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 17 ตุลาคม พ.ศ. 2492
*ตัวเน้นโดยผู้เขียน -บก.
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “เสถียรภาพทางการเมือง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 295-298.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “เสถียรภาพทางการเมือง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 299-302.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย