ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : การเผยแพร่ประชาธิปไตย (ตอนที่ 26)

9
พฤศจิกายน
2567

กุหลาบ สายประดิษฐ์

 


ลายมือต้นฉบับบทความของกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

โดยที่รัฐบาลได้ความไว้วางใจของสภาผู้แทนภายหลังที่ได้รับการวิพากษ์อย่างหนักจากสภา ในการปฏิบัติราชการหลายประการ เหตุฉะนั้น เมื่อเริ่มลงมือทำงาน รัฐบาลจึงสำรวจข้อวิพากษ์หนัก ๆ เหล่านั้น และสั่งงานปรับปรุงแก้ไขความเสื่อมพรามในวงราชการ เปนต้นว่า รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยได้ให้คำตักเตือนแก่บรรดาตำรวจให้ตระหนักถึงความเสื่อมศรัทธา และความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อราชการตำรวจ และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษามีมติให้ทางราชการส่วนต่าง ๆ ดำเนินการชี้แจง โฆษณาการระบอบการปกครองประชาธิปไตยแก่ข้าราชการ และประชาชนเปนการใหญ่

การที่รัฐบาลได้หยิบยกเอาข้อวิพากษ์ของรัฐสภาขึ้นมาพิจารณา และสั่งการปรับปรุงแก้ไขโดยไม่ชักช้านั้น เปนข้อที่น่ายินดี แต่เราใคร่จะกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขความเสื่อมทรามต่าง ๆ นั้นก็ไม่ควรจะเพลิดเพลินไปว่า เมื่อได้มีการสั่งการไปแล้วก็นับว่าพอแล้ว หรือพ้นความรับผิดชอบแล้ว หรือเมื่อได้มีการสั่งการแก้ไขไปแล้วก็กระหยิ่มใจว่าความเสื่อมทรามต่าง ๆ จะหายไปเปนปลิดทิ้งในไม่ช้า

ความสำเร็จในการบำบัดความเสื่อมทรามต่าง ๆ ขึ้นอยู่แต่เหตุหลายประการ มิใช่ขึ้นอยู่แต่การออกคำสั่งของรัฐบาลอย่างเดียว เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการปราบโรคคอรัปชั่น หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่ารัฐบาลได้ค้นพบว่า สมุฏฐานของคอรัปชั่นมาแต่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมแก่ประชาชน รัฐบาลจึงดำริจะขอแรงพระภิกษุสงฆ์ให้ออกเทศนาอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน การที่จะให้พระสงฆ์องค์เจ้าเทศนาศีลธรรมแก่ประชาชนนั้นก็คงจะเปนประโยชน์ทางหนึ่ง แต่ที่จะคาดหมายให้การเทศนาศีลธรรมแก่ประชาชนมาบำบัดโรคคอรัปชั่นนั้นออกจะเปนที่งงงวย เพราะประชาชนไม่ใช่ผู้ประกอบคอรัปชั่น โรคคอรัปชั่นเปนโรคในวงราชการ ประชาชนเปนผู้เสียประโยชน์จากการประกอบคอรัปชั่นของพวกข้าราชการ ถ้าจะจัดให้พระไปเทศน์ขับไล่โรคคอรัปชั่นจากประชาชน จะไม่เปนการเทศน์ผิดตัวไปหรือ ?

เรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทางราชการแผนกต่าง ๆ ชี้แจงและโฆษณาระบอบประชาธิปไตยแก่ข้าราชการและประชาชนนั้น เปนเรื่องที่ควรได้รับการวิจารณ์และร่วมมือส่งเสริม หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ ๑๙ สิงหาคม เสนอมติของคณะรัฐมนตรีว่า “ให้ทุกกระทรวงทะบวงกรมชี้แจงแก่ข้าราชการในสังกัด ให้เข้าใจทราบซึ้งถึงระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ” และ “ในส่วนภูมิภาค ให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้หัวหน้าหน่วยราชการชี้แจงแก่ข้าราชการและประชาชน” และ “ให้คำเน้นการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง” และในประการอื่น ๆ อีก. ตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ เราจะเห็นว่าทั้งข้าราชการและประชาชนยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยและคณะรัฐมนตรี จึงจัดให้มีการชี้แจงให้ “ข้าราชการและประชาชน” เข้าใจทราบซึ้งถึงระบอบประชาธิปไตย เราคงจะระลึกได้ว่า ในการติเตียนว่ารัฐบาลชุดก่อน (ซึ่งก็คือรัฐบาลปัจจุบัน) ไม่ประพฤติเยี่ยงประชาธิปไตยนั้น ข้อติเตียนมีอยู่หลายข้อที่มุ่งติเตียนการปฏิบัติของวงการเจ้าหน้าที่ชั้นสูง หรือวงการรัฐมนตรีทีเดียว ฉะนั้นในการที่จะชี้แจงระบอบและความประพฤติเยี่ยงประชาธิปไตยแก่ข้าราชการและประชาชนให้ “เข้าใจทราบซึ้ง” นั้น ปัญหาเรื่องบุคคลที่จะไปชี้แจงจึงนับว่าเปนเรื่องน่าคิดเพราะว่า ข้าราชการ ผู้ที่จะไปชี้แจงให้ ข้าราชการ ผู้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยได้ “เข้าใจทราบซึ้ง” อยู่แล้ว ก็จะต้องมีความสามารถชี้แจงให้ข้าราชการด้วยกัน “เข้าใจทราบซึ้ง” ด้วยภาระเช่นนี้มิใช่เปนภาระที่เบาเลย และคงจะต้องการเวลามิใช่น้อย

สิ่งที่เรียกว่า “โฆษณาการระบอบประชาธิปไตย” ทางวิทยุกระจายเสียงนั้นออกจะเปนที่สงสัยกันอยู่มากว่าจะได้รับผลเพียงไรข้อที่แน่นอนข้อหนึ่งก็คือการที่จะบรรจุคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เสรีภาพ” ลงไปในลครตลกทางวิทยุกระจายเสียงหรือการแต่งบทร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการอ่านตัวบทรัฐธรรมนูญคืนละมาตราก็ดี ไม่มีทางจะทำให้ประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตยขึ้นเลย ผู้ที่ศึกษาวิชากฎหมายย่อมทราบดีว่าตัวบทต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายนั้นนักศึกษาไม่สามารถจะนำออกมาใช้ได้ ถ้าหากมิได้ศึกษาคำบรรยายเล่มโต ๆ ของอาจารย์มาอย่างแจ่มแจ้งแล้ว การอ่านตัวบทรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟังทางวิทยุกระจายเสียงนั้นอย่าว่าแต่จะใช้เวลาอ่านเพียง ๑๐ ปี แม้จะอ่านต่อไปอีกหนึ่งศตวรรษประชาชนก็ไม่มีโอกาสจะเข้าใจประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง

โฆษณาการประชาธิปไตยทางวิทยุกระจายเสียงเท่าที่ได้ทำมาหลายปีแล้วนั้น ในส่วนใหญ่นับว่าเปนการล้มเหลวอย่างมโหฬารทีเดียว นอกจากองค์การวิทยุกระจายเสียงไนรูปปัจจุบันอำนวยคุณประโยชน์น้อยเต็มทีในการเปนเครื่องมือโฆษณาการประชาธิปไตยที่ได้ผลแล้ว ยังมีอยู่บ่อย ๆ ที่โฆษณาการทางวิทยุกระจายเสียงนั้นเอง ได้ยังผลให้ประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตยไขว้เขวไป คือกลับถูกใช้เปนเครื่องมือคอยดึงให้ประชาธิปไตยถอยหลัง แทนที่จะให้ก้าวหน้า

กำหนดการ ๖ ข้อตามมติของคณะรัฐมนตรีนั้น เราเห็นว่ามีอยู่ ๒ ข้อ ที่มีท่าทีว่าจะอำนวยคุณค่าแก่การปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยกำหนดการ ๒ ข้อ ได้แก่ กำหนดการข้อ ๓ ที่ว่า “ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอบรมสั่งสอนนักเรียนตลอดจนนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยและนักศึกษาผู้ใหญ่” และกำหนดการข้อ ๖ “ให้ตั้งกรรมการคณะหนึ่งวางกำหนดโครงการและรายละเอียดเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย” กำหนดการ ๒ ข้อนี้ ถ้าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและสามารถกำหนดวิธีการอันมีประสิทธิภาพออกใช้แล้ว ก็พอจะให้ความหวังได้บ้าง แต่ก็ควรเปนที่เข้าใจว่า การปลูกฝังระบอบการปกครองให้เปนที่เข้าใจกันในหมู่ประชาชน หรือถึงขีด “เข้าใจทราบซึ้ง”

ดังมติของคณะรัฐมนตรีนั้น มิใช่กิจที่จะทำให้สำเร็จดุลลุล่วงไปได้ด้วยโฆษณาการที่ลุกเปนไฟไหม้ป่า ชั่วพักหนึ่งยามหนึ่งแล้วเลิกรากันไป คณะบุคคลที่ได้ครองอำนาจภายหลังที่เลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วจะต้องยอมรับว่า เขาได้ละเลยที่จะให้การศึกษาอบรมแก่ประชาชนในเรื่องระบอบประชาธิปไตยเสียทีเดียว จึงได้ปรากฏความอ่อนแอเลอะเทอะของระบอบใหม่

ในทุกวันนี้ก็ยังมีสมาคมและสำนักศึกษาในประเทศอังกฤษจัดพิมพ์หนังสือและสมุดเอกสารต่าง ๆ ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยและรัฐสภาให้ประชาชนได้ศึกษาอยู่เปนนิจ อย่างไรที่ดีความสำเร็จในการเผยแพร่สัทธิหรือคำสั่งสอนใด ๆ นั้นย่อมขึ้นอยู่อย่างสำคัญแก่การประพฤติตนให้เปนแบบอย่างที่ดีของบรรดาชนชั้นผู้นำในการเผยแพร่ ความจริงชัดนี้ได้ปรากฏอยู่แล้วในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแก่อัครสาวกของพระองค์ การที่จะประกาศเผยแพร่ความรู้ในเรื่องใด ๆ นั้น ผู้ประกาศเผยแพร่จำเปนจะต้องมีคุณลักษณะสองประการ ๑. จะต้องมีความรู้ความเข้าใจดีในเรื่องที่ตนนำออกประกาศเผยแพร่ ๒. จะต้องเปนผู้ที่ไม่เพียงแต่ประกอบด้วย

ความรู้อย่างเดี๋ยว หากจะต้องเปนผู้ประพฤติตนสอดคล้องเคร่งครัดตามความรู้ หรือคำสั่งสอนที่ได้นำออกประกาศาศเผยแพร่นั้นด้วย

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 29 สิงหาคม พ.ศ. 2492

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “การเผยแพร่ประชาธิปไตย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, “การเผยแพร่ประชาธิปไตย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :