ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร (ตอนที่ 28)

23
พฤศจิกายน
2567

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

เรื่องของประชาธิปไตยนั้นเปนเรื่องที่แซกอยู่ในพฤตติการณ์ของชีวิตแทบทุกพฤตติการณ์ ไม่จำเปนว่าจะต้องเปนเรื่องการเมืองครึกโครมดังเช่นการพิมพ์สมุดที่หนังสือพิมพ์ให้ฉายาว่า “สารคดีลึกลับ” ตราตุ่มแดง และบางทีเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย เช่น อุบัติเหตุโป๊ะคว่ำหน้าวัดเศวตรฉัตรเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ก็เปนเรื่องที่น่าศึกษาในทางประชาธิปไตยยิ่งกว่ากะทู้ถามของท่านสมาชิกวุฒิสภาพระยาปรีดานฤเบศร์ ซึ่งเตรียมจะถามรัฐบาลเรื่องหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ลาออกจากตำแหน่ง ร.ม.ต. คลังเสียอีก

การที่ราษฎรผู้ไร้ความผิดต้องได้รับความเสียหาย หรือต้องเสียชีวิตไปเพราะความประมาทเลินเล่อ หรือเพราะความเห็นแก่ตัว หรือเพราะความบัดซบของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งควรจะได้รับการควบคุมดูแลจากบ้านเมือง และก็มิได้รับการควบคุมดูแลนั้น เปนเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่เนือง ๆ ในประเทศนี้ อุบัติเหตุเรื่องโป๊ะคว่ำเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม เปนเหตุการณ์น่าสลดใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเพียงแต่จะมาเพิ่มเติมเหตุการณ์ที่ได้มีมาแล้วซ้ำซากในรูปอื่น ๆ เท่านั้น และเหตุการณ์สลดใจเช่นนั้นก็ดูเหมือนว่าจะได้จบลงอย่างที่วงราชการของเราคงจะไม่แยแสเท่าใดเพราะงานสำคัญ ๆ ที่หนักสมองกว่านั้นมีอยู่มากมาย เปนต้นว่า

ต้องคิดเรื่องจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ และก็ยังจะต้องมาคิดเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกเล่า เรื่อง ๆ เดียวต้องคิดถึงสองทีและทำสองที และก็มีผลเสมือนหนึ่งไม่ได้ทำอะไรเลยเช่นนี้มีอยู่มากมาย ก็ที่ไหนท่านจะมีเวลามาคิดถึงความปลอดภัยแห่งชีวิตของราษฎรตาดำ ๆ ได้เล่า

อุบัติเหตุโป๊ะคว่ำที่ปรากฏในชั้นต้นว่ามีผู้เสียชีวิตไป ๓ คน และคงจะมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีรายงานนั้น หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ ๓ ท่านที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้แก่หัวหน้ากองสาสนสมบัติ, อธิบดีกรมเจ้าท่าและนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ ก็ปรากฏว่าท่านทั้งสามปฏิเสธความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุเรื่องนั้นทุกคน ถ้าคำปฏิเสธความรับผิดชอบของท่านทั้งสามเปนอันถูกต้องทั้งหมดและไม่ปรากฏว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้จะพึงตกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายใดแล้ว บ้านเมืองนี้ก็นับว่ามีการปกครองอันประหลาด

อธิบดีกรมเจ้าท่าตอบ สยามนิกร ว่า กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ดูแลฉะเพาะแต่เพียงว่าสิ่งปลูกสร้างคือโป๊ะจะกีดขวางทางจราจรหรือไม่เท่านั้น ส่วนการตรวจสอบถึงเรื่องความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่นั้นควรตกอยู่แก่เทศบาล แต่นายกเทศบาลได้ตอบว่า ความรับผิดชอบควรตกอยู่แก่เจ้าของท่า ฝ่ายหัวหน้ากองสาสนสมบัติเจ้าของท่ากล่าวว่า เปนเรื่องของกรมเจ้าท่า มันช่างน่าสมเพทและน่าทุเรศเสียจริง ๆ

เราจะไม่ค้นคว้าว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้ควรจะตกอยู่แก่ใคร หรือควรจะเปนความรับผิดชอบร่วมกันอย่างใด แต่เรากล่าวได้แน่นอนข้อหนึ่งว่า ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นในอารยประเทศอื่นแล้ว จะต้องปรากฏเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทันที และวงการที่รับผิดชอบจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสพเคราะห์กรรมในนาทีแรกที่ทราบข่าว เปนต้นว่า ระดมเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือค้นหาศพหรือช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้าย หลังจากนั้นก็จะต้องลงมือสอบสวนพฤตติการณ์ว่าความผิดพลาดสำคัญอยู่ ณะ ที่ใด และทำรายงานโดยละเอียดโดยไม่ชักช้า รวมทั้งปฏิบัติการที่สมควรจะปฏิบัติอื่น ๆ อีกประเทศไทยก็เรียกตนเองว่าอารยประเทศเหมือนกัน แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่แห่งประเทศดูช่างห่างไกลกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่แห่งอารยประเทศอื่นมากมาย เราไม่ทราบว่า ในวงคณะรัฐมนตรีของเราจะมีเวลาสักเล็กน้อยหรือไม่ ที่จะมองดูเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยความรู้สึกเอน็ดอนาถและเห็นความจำเปนที่จะต้องเข้าแก้ไขโดยด่วน

หนังสือพิมพ์ไทยรายงานว่า เมื่อโป๊ะได้คว่ำลงนั้น ได้มีราษฎรหลายคนในบริเวณนั้นลงไปช่วยเหลือผู้ประสพภัยและก็ได้ช่วยชีวิตไว้ได้บางราย แต่ในรายงานของหนังสือพิมพ์ไทย ประกอบกับรายงานของ สยามนิกร ในวันนั้นและวันต่อมา เราไม่ได้พบว่าตำรวจที่อยู่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์หรือตำรวจท้องที่ ได้ระดมกำลังกันให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสพภัยแต่อย่างใด การที่ไม่มีข่าวว่าบรรดาบุคคลผู้เทอดทูนคติ “พิทักษ์สันติราษฎร์” หรือ “บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร” ได้มีส่วนอย่างแข็งแรงในการเข้าช่วยราษฎรผู้ประสพภัยทั้งในเวลาเกิดเหตุและในเวลาต่อมานั้น ก็ย่อมเปนที่น่าเสียดายและคงจะเปนที่ผิดหวังแก่คนทั่วไป ในกรณีเช่นนี้ การเข้าช่วยเหลือโดยฉับพลันทันทีด้วยการระดมกำลังของเจ้าหน้าที่จะเซฟชีวิตมนุษยผู้ไร้ความผิดไว้ได้อีกแน่นอน

ในกรณีนี้ คำตอบก็อาจเปนว่าไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของตำรวจเสียอีกกระมัง เพราะว่าดังที่ สยามนิกร ฉบับวันที่ ๒ เดือนนี้ ได้พิมพ์ภาพของทารกที่ตายแล้วคนหนึ่งถูกนำมาทิ้งไว้ที่ท่าเรือบริษัทเคเถา โดยที่ยังไม่มีตำรวจผู้ใดจัดการอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป หนังสือพิมพ์รายงานว่า เพราะเหตุยังมีปัณหาที่ทางตำรวจกำลังขบกันอยู่ว่า เรื่องนั้นจะอยู่ในเขตต์อำนาจหน้าที่ของตำรวจท้องที่ใด. เปนไฉนหนอ ระเบียบราชการของไทยจึงช่างสร้างปัณหาให้ต้องขบกันแทบทุกเรื่องไป.

ช่างไม่มีระเบียบอะไรบ้างเลยเจียวหรือ ที่จะส่งเสริมให้ตำรวจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บศพนั้นไปเสียก่อน แล้วจึงค่อยขบกันว่าเรื่องตกอยู่ในหน้าที่ของเขตต์แขวงใด

ตามที่หนังสือพิมพ์รายงานว่า เจ้าทุกข์จะดำเนินคดีแก่เจ้าของโป๊ะและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ต่อไปนั้น ก็คงจะช่วยให้รู้กันว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้จะตกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายใด และอาจเปนเครื่องกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลได้สนใจในเรื่องความปลอดภัยแห่งชีวิตของราษฎรได้บ้าง

การที่ยกเอาเรื่องอุบัติเหตุโป๊ะคว่ำขึ้นมาพูดนี้ ก็มิได้มุ่งหมายแต่เพียงจะเรียกให้ผู้ปกครองบ้านเมืองได้มองมาที่โป๊ะเท่านั้น หากมุ่งหมายว่าท่านเหล่านั้นจะได้เพ่งเล็งสำรวจตรวจตราถึงความปลอดภัยแห่งชีวิตและร่างกายของราษฎรในกรณีทั่ว ๆ ไปด้วย เปนต้นว่าเรื่องบังคับปลุกปล้ำทำอนาจารสตรีที่เดินผ่านท้องสนามหลวงในเวลาค่ำคืนและเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในวิสัยจะป้องกันได้โดยไม่ยากนั้น จะได้รับการสอดส่องป้องกันอย่างเข้มแข็งจริงจังให้เปนที่อุ่นใจแก่ประชาราษฎรเสียที

อิสสรภาพจากความกลัวและความปลอดภัยแห่งชีวิตนั้นเปนภาวะเบื้องตันที่ราษฎรในประเทศประชาธิปไตยควรได้รับประกันจากรัฐบาลและพนักงานของรัฐบาลว่าจะได้รับความคุ้มครองอย่างดีที่สุด

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 303.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 305-308.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :